แนวคิดเรื่องการเมืองในพระพุทธศาสนา


             การศึกษาวิชารัฐศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาขาสังคมศาสตร์นั้นได้เริ่มต้นอย่างจริงจังโดยนักคิดที่เป็นปรัชญาเมธีในโลกตะวันตกที่มีการจดบันทึกคำพูดและรวบรวมเป็นหนังสือนับพันปีมาแล้ว  และต่อมาได้จัดเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ เป็นทฤษฎี เป็นหลักวิชาสำหรับนักวิชาการรุ่นหลังได้ค้นคว้า วิจัย โดยสร้างทฤษฎีและแนวความคิดใหม่ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

              ปรัชญาเมธีที่โด่งดังชาวกรีกที่เป็นที่รู้จักในยุคที่ปรัชญากรีกรุ่งเรืองไม่ว่าจะเป็นโสเครตีส เพลโต อริสโตเติลเป็นผู้พยายามอธิบายแนวคิดและปรัชญาในการปกครอง ความเป็นรัฐ อำนาจรัฐ กำเนิดของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับการเมืองอันที่จริงแล้วน่าสังเกตว่า นักปราชญ์ นักคิดเหล่านี้กำเนิดในยุคสมัยหลังพุทธกาลนับร้อยปีทั้งสิ้น

              ชาวกรีกได้รับการยอมรับจากโลกว่าเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมสูงส่งในยุคโบราณเป็นต้นกำเนิดแห่งความรู้ในวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปะวิทยาการทุกแขนงกลายเป็นมรดกล้ำค่าที่ชาวยุโรปและโลกนำมาประยุกต์ใช้จนเป็นต้นแบบของสรรพวิชาในปัจจุบันปรัชญาเมธีชาวกรีกที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น ก็คือ อริสโตเติล ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์มีชีวิตอยู่ในสมัย พ.ศ.๑๕๙-๒๒๑ โดยเป็นลูกศิษย์คนสำคัญของเพลโต ซึ่งมีชีวิตอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๑๖-๑๙๖

                ในขณะที่โลกตะวันตก ชนชาติกรีกโบราณได้ยกย่องโสเครตีส เพลโตและอริสโตเติล ส่วนในซีกโลกตะวันออก จีนโบราณก็ยกย่องขงจื้อและเหลาจื้อเป็นสุดยอดปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ของจีน  อินเดียโบราณก็มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูหรือผู้รู้แจ้งโลก ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนาที่เป็นบ่อเกิดปัญญาญาณในการช่วยมนุษย์ให้พ้นจากวัฎจักรแห่งความทุกข์  ไม่เพียงแต่เท่านั้น คัมภีร์ที่ถือว่าเก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดในโลก โดยได้รับศึกษา การรักษาและการสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบันก็คือพระไตรปิฎกได้บรรจุวิทยาการต่าง ๆ รวมทั้ง ประวัติศาสตร์และความเจริญของมนุษย์ในทุกด้าน นอกจากนั้นยังได้บันทึกพุทธจริยาวัตรอันงดงามของพระพุทธองค์ตลอดเวลา ๔๕ พรรษา ที่ทรงรอนแรมจาริกไปทั่วชมพูทวีป เพื่อเผยแผ่สัจธรรมอันล้ำค่าต่อมนุษยชาติ

                 นอกจากความรู้เกี่ยวกับสัจธรรมของชีวิตแล้วคัมภีร์พระไตรปิฎกยังได้บรรจุความรู้ในด้านสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ในพระสูตรต่าง ๆ หลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ ปกครองหมู่คณะ และปกครองตนเองนั้นก็มีอยู่จำนวนมาก เช่น ที่กล่าวไว้ในพระสูตรที่เกี่ยวกับกษัตริย์ลิจฉวีอปริหานิยธรรม  กูฏทันตสูตร  จักวัตติสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑  พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)  อธัมมิกสูตร (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุตกนิบาต) ว่าด้วยพระราชาผู้ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

                 ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงความหมายของการเมือง ว่าเป็นเรื่องที่ควรเนื่องด้วยธรรมะ  นักภาษาศาสตร์   นักนิรุกติศาสตร์หรือแม้แต่พวกนักรัฐศาสตร์เองก็อธิบายความหมายของการเมืองไว้พอจะจับใจความสำคัญได้ว่า หมายถึง การจัดการโดยทำให้คนที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ๆ นั้น ได้อยู่ร่วมกันด้วยสันติสุขด้วยความสงบสุขอย่างแท้จริงนี่คือความหมายของคำว่าการเมืองที่ถูกต้องและบริสุทธิ์  แต่ถ้าความหมายของการเมืองมันเปลี่ยนเป็นไม่ถูกต้อง ไม่บริสุทธิ์ มันก็กลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เรื่องการแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกันระหว่างคนหมู่มากนั่นเอง

                  สำหรับพระพุทธศาสนาแล้วถือว่า การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ หรือเรื่องเกี่ยวกับประเทศชาติและสังคม แม้แต่ชุมชน หมู่บ้าน ครอบครัวของบุคคลแต่ละคนนั้น การเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่รับรู้ไม่รับผิดชอบ  เพราะฉะนั้นพุทธบริษัทถือว่า โลกนี้มันมีประโยชน์แก่เราและเพราะเราได้เกิดมาบนโลกนี้  เราจึงมีหน้าที่ที่จะต้องกตัญญูต่อโลกหรือสังคม มนุษย์มีหน้าที่ต้องช่วยให้โลกหรือสังคมดีขึ้น  พุทธบริษัทจึงมีเหตุผลที่ทำให้ต้องสนใจในสิ่งที่เรียกว่า ”การเมือง”

                 สำหรับประเด็นเรื่องการทำหน้าต่อสังคมนั้น มีพระพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับพระองค์เองอยู่มากมายหลายแห่งว่า “ตถาคตเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขของมหาชน ของสัตว์ทั้งหลายทั้งเทวดาและมนุษย์”  นอกจากนั้นยังมีพระพุทธวจนะอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งลดระดับลงมาว่า “บุรุษอาชาไนยเกิดขึ้นมาในโลกนี้ก็เพื่อประโยชน์แก่มหาชน”  หมายความว่า มนุษย์ที่ประเสริฐและมีความสามารถไม่ใช่เกิดมาเพื่อตัวเอง แต่เกิดมาเพื่อมหาชนซึ่งรวมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  คำว่าบุรุษอาชาไนยนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะพระพุทธเจ้าอย่างเดียว   ใครก็ตามที่เป็นผู้มีสติปัญญาระดับสูง  บุคคลนั้นก็ถูกเรียกว่า บุรุษอาชาไนย เป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อประโยชน์แก่มหาชน ไม่ใช่เกิดมาเพื่อตนเอง   ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากเรื่องของการเมืองแต่ต้องเป็นการเมืองที่บริสุทธิ์ หรือประกอบอยู่ด้วยธรรมะคือเป็นการเมืองที่แท้จริงอย่างที่กล่าวมาแล้ว ไม่ใช่การเมืองที่ใช้ในความหมายเป็นอุบายคดโกงเอาเปรียบผู้อื่นและมีพระพุทธวจนะที่ตรัสถึงประโยชน์ไว้ว่า“อตฺตตฺถํ หิ สมฺปสฺสมาเนน อลเมว  อปฺปมาเทน  สมฺปาเทตุ  ฯลฯ เมื่อเห็นประโยชน์ตนก็ทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท, เมื่อเห็นประโยชน์ผู้อื่นก็ทำประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท   เมื่อเห็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายคือทั้งตนและผู้อื่นก็พึงทำประโยชน์ทั้งสองฝ่ายให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”พระพุทธวจนะนี้หมายถึงให้นึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นด้วย นั่นก็คือเป็นเรื่องปัญหาทางการเมือง หรือปัญหาร่วมกันของสังคมนั่นเองที่ทุกคนจะต้องช่วยกันปลดเปลื้อง

                      การนึกถึงประโยชน์ของสังคมนั้นเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทเมื่อมีความคิดและความเข้าใจอย่างนี้แล้วมันก็จะหลีกเลี่ยงเรื่องของการเมืองไปไม่ได้   ในปัจจุบันโลกกำลังเดือดร้อนด้วยปัญหาต่าง ๆ  เพราะฉะนั้นถ้ามีหนทางที่จะช่วยกันได้ก็ต้องช่วยกันแม้ยังมองไม่เห็นหนทางที่จะช่วยได้ ก็จะต้องคิดหาทางออกของปัญหาให้พบ  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ต้องสนใจสิ่งที่เรียกว่า การเมือง   ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วบุคคลนั้นก็จะเป็นคนไร้ประโยชน์หรือเป็นคนที่มีประโยชน์น้อยที่สุด  กล่าวได้ว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าและจะกลายเป็นบุคคลที่เอาเปรียบ เป็นบุคคลหนึ่งในโลกที่เป็นคนคดโกงไม่ได้ทำหน้าที่ของตนถือได้ว่าเป็นบุคคลที่อกตัญญูนั่นเอง

                     ตามหลักการของพระพุทธศาสนาทุกคนต้องหวังดีต่อโลก ต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกและกระบวนการนั้นคือสิ่งที่เรียกว่าการเมือง  เป็นการจัดการสังคมทั้งในระดับโลกให้มันถูกต้อง ให้เกิดความสงบสุข หรือในระดับที่ต่ำลงมาก็เป็นการจัดการความเป็นไปในประเทศ ให้เกิดความถูกต้องและมีความสงบสุข  สรุปความว่า การเมืองคือระเบียบปฏิบัติที่ทุกคนต้องช่วยกันจัดการบ้านเมืองหรือสังคมให้หมดปัญหา  ปัญหานั้นก็คือสิ่งที่สร้างวิกฤตการณ์หรือความอยู่ร่วมกันอย่างไม่ผาสุก  กระบวนการช่วยกันจัดการบ้านเมืองหรือโลกให้หมดปัญหา นี้เป็นเรื่องของการเมืองที่บริสุทธิ์ตามแนวพระพุทธศาสนา   ดังนั้นการเมืองไม่ใช่เครื่องมือสำหรับแย่งชิงเอาผลประโยชน์ของผู้อื่นมาเป็นของตนหรือของพวกของตน

                     การใช้ระบบการเมืองของมนุษย์ในโลกโดยที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ระบบการเมืองที่บริสุทธ์ กับระบบการเมืองที่ไม่บริสุทธิ์ หรือการเมืองของสัตบุรุษกับการเมืองของคนพาล  ถ้าเป็นระบบการเมืองที่บริสุทธิ์ก็คือการเมืองที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา เป็นการเมืองของสัตบุรุษ  คำว่า สัตบุรุษ คือผู้รักความสงบและความจริง ผู้แสวงหาความสงบและความจริง  ผู้รู้ความสงบและความจริง  เป็นบุคคลที่อยู่ด้วยความสงบและความจริง เป็นความสงบตามความหมายทางธรรม ซึ่งพระพุทธศาสนาเรียกว่าสัตบุรุษมีพระพุทธวจนะที่ตรัสเอาไว้ว่า “เนสา  สภา  ยตฺถ  น  สนฺติ  สนฺโต  ในที่ใดไม่มีสัตบุรุษ ในที่นั้นไม่เรียกว่าเป็นสภา”  คำว่าสภานี้เป็นคำที่มีความหมายศักดิ์สิทธิ์มากตามพระบาลี คือ สถานที่เป็นที่ประชุมแห่งสัตบุรุษ จึงจะเรียกว่าสภา  เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนี้  ถ้ามีสภาอย่างที่ว่านี้  ก็มีสัตบุรุษและก็มีนักการเมืองคือสัตบุรุษ เป็นการเมืองที่ทำให้โลกนี้สงบได้จริงเหมือนกันฉะนั้น การเมืองระบบอย่างที่หนึ่ง คือ การเมืองของสัตบุรุษประกอบกับรัฐสภาที่แท้จริงในความหมายของพระพุทธศาสนา และเป็นไปเพื่อสันติอันแท้จริงของสังคม

                     หากเราจะวิเคราะห์ประเทศแต่ละประเทศ ทั้งหมดตกอยู่ในอันตรายหรือความโชคร้ายที่จะไม่เป็นไปเพื่อศีลธรรมคือว่าตกอยู่ในห้วงแห่งความกลัว ข้อแรกก็คือความกลัวความพ่ายแพ้  ไม่กล้าที่จะมุ่งพัฒนาไปสู่การเมืองที่มีศีลธรรม  สนใจแต่เรื่องการเมืองที่เป็นผลประโยชน์ทำให้ละเลยระบบการเมืองที่ประกอบด้วยธรรม เพราะฉะนั้นจึงตกอยู่ในภาวะจำเป็นที่จะต้องละทิ้งคุณธรรม ประเทศทั้งหลายในโลกโดยเฉพาะประเทศที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา จำเป็นจะต้องทิ้งสัจธรรมความจริง ความยุติธรรมหรือธรรมะ เพื่อเอาตัวรอดกันก่อนและนักการเมืองหรือนักปกครองก็ต้องปรับตัวไปเป็นแบบนั้นทั้งหมด

                    หากทุกคนรู้จักการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎของธรรมชาติแล้วจะเห็นว่า การเมืองก็คือธรรม  ระบบธรรมที่จะช่วยให้มนุษย์อยู่เป็นปกติสุข  เป็นแขนงหนึ่งของธรรมทั้งหลาย  การที่หลักธรรมเกี่ยวกับการเมืองไม่แพร่หลายในสังคม เพราะว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ตกเป็นทาสของวัตถุคือความสุขในทางกามคุณ  จึงถือว่าเป็นความเข้าใจผิดพลาดอย่างยิ่งว่า การเมืองไม่เกี่ยวกับศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  การเมืองที่บริสุทธิ์และถูกต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกศาสนา ในทางพระพุทธศาสนาจะต้องมีระบบการเมืองของธรรมะระบบการปกครองที่จะช่วยให้โลกนี้มีธรรมะ

                    หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ สันติภาพ เสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพในพระพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของหลักการเหล่านี้เอาไว้ดังนี้

                    สันติภาพ คือ ความเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่สันติภาพขั้นต้นที่สุดจนกระทั่งถึงสันติภาพขั้นสุดท้าย คือ พระนิพพานซึ่งเป็นสันติภาพสูงสุด ในความหมายของพระพุทธศาสนาคำว่า เสรีภาพ ก็เช่นเดียวกัน ความหมายตรงกับคำว่า วิมุตติ ความหลุดพ้นไปจากการครอบงำของกิเลส นี่คือเสรีภาพในทางพระพุทธศาสนา

                    สมภาพถือเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งโดยมีความหมายว่ามนุษย์ทุกคนมีสมภาพอยู่ตรงที่ว่า ทุกคนล้วนมีปัญหาตามธรรมชาติเหมือนกันหมดคือ ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องเป็นทุกข์ และก็มีหน้าที่ที่จะต้องต่อสู้ เพื่อให้หลุดรอดจากความทุกข์ นอกจากนั้นต้องมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่นด้วยคำว่า สมภาพ เป็นความหมายในระบบการปกครองคณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้า สิทธิของภิกษุในทางการปกครองของพระพุทธศาสนานี้มีความเสมอภาคกันหมดไม่ได้อยู่ที่การมีพรรษามากหรือการมีพรรษาน้อย เป็นผู้บวชใหม่หรือบวชนาน

                     ส่วนภราดรภาพนี้ก็คือความเป็นพี่น้องกันโดยธรรม  ในทางพระพุทธศาสนาไม่มีความเป็นพี่น้องชนิดไหนจะยิ่งไปกว่าการเป็นพี่น้องโดยธรรม  พุทธบริษัทถือว่าเป็นพี่น้องกันโดยธรรมในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท ชาวพุทธจะถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนบิดามารดา  พุทธบริษัทเป็นบุตรธิดาของพระองค์  เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนจึงเป็นพี่น้องกันโดยธรรม   นี้คือภราดรภาพโดยธรรม  เป็นหลักการที่จะทำให้เกิดความรักใคร่ ช่วยเหลือสมัครสมาน สามัคคีกัน ในฐานะที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันเป็นพื้นฐาน

หมายเลขบันทึก: 571556เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2014 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2023 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท