ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๖๒. Home School ที่วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม สู่ชีวิตผู้ประกอบการสังคม


          วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ ภายใต้การนำของพระอาจารย์สรยุทธ มีกิจกรรมด้านการพัฒนาหลายอย่าง รวมทั้งHome School และกำลังร่วมมือกับสถาบันอาศรมศิลป์ ให้นักเรียนเรียนต่อยอดระดับปริญญาตรีในหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม

          นี่คือก้าวใหญ่ของสังคมไทย ของการศึกษาไทย ที่โยงการรับใช้สังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง เข้ากับอุดมศึกษา ให้นักศึกษาเข้าเรียนฟรี ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยถือว่า “ได้รับทุน” จาก ๔ แหล่ง คือ (๑) จากศิลปาจารย์ผู้มีจิตอาสา เข้ามาจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ผมคิดว่าท่านเหล่านี้ได้เรียนรู้ และอิ่มใจจากการทำงานรับใช้สังคม (๒) สถาบันอาศรมศิลป์ (๓) มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชน และ (๔) แผ่นดินไทย

          จะเห็นว่า ของฟรีไม่มีในโลก แต่หลักสูตรผู้ประกอบการสังคมของสถาบันอาศรมศิลป์กับมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชน ตีความกลับทาง ให้การเข้าเรียนไม่ต้องเสียเงิน แต่ไม่ใช่ฟรี มีความผูกพัน ว่าการเข้ามาเรียนเป็นการผูกพัน ว่าจะเข้ามาเรียนเพื่อฝึกใช้ชีวิตเป็นผู้ประกอบการสังคม เพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม

          หลักสูตรผู้ประกอบการสังคม “มีเป้าหมายในการพัฒนาคนและประชากรของประเทศให้มีคุณภาพ ช่วยลดปัญหา ความยากจน ปัญหาการละทิ้งถิ่นฐานอีกทั้ง เป็นการช่วยแก้ปัญหา ‘บัณฑิต’ ตกงาน เพราะหลักสูตรนี้จะสอนให้ผู้เรียนมีอาชีพ หรือ ประกอบการธุรกิจ ที่สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง และหลักสูตรนี้ยังมีหน้าที่บ่มเพาะ ให้ผู้เรียนมีนิสัย หรือจรรยาบรรณของวิชาชีพ ว่าด้วยการเอื้อเฟื้อและแบ่งปันให้แก่สังคมรอบตัวผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝัง เรื่องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการทำงานจิตอาสา ให้กับชุมชนและจะต้องนำรายได้จากเงินกำไร ส่วนหนึ่งมาช่วยเหลือและแบ่งปันให้สังคม”

          เป็นความท้าทาย ว่าหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมจะผลิต “บัณฑิต” ที่มีความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ ๒๑ ผนวกกับการมีจิตวิญญาณ และทักษะการเป็น “ผู้ประกอบการสังคม” ในท่ามกลางสังคมแห่งความเป็นจริง ที่เป็นสังคมเงินนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม

          ผมคิดถึง mastery learning คือเรียนแล้วรู้จริง และบรรลุ Transformative Learning คือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องรู้เท่าทันสภาพความเป็นจริงของสังคม และต้องมีพื้นความรู้ความเข้าใจศาสตร์ต่างๆ เป็นพื้นฐาน เพียงพอที่จะออกไป ใช้ชีวิตขวนขวาย หาความรู้ใหม่ที่เหมาะสม สำหรับใช้ในการดำรงชีวิตการเป็นผู้ประกอบการสังคมได้

          ผมเสนอต่อสภาสถาบันอาศรมศิลป์ว่า หลักสูตรผู้ประกอบการสังคมต้องจัดการศึกษาแบบ Competency-Based ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ผู้เรียนต้องพิสูจน์ตนเองว่ามีสมรรถนะ (competency) ขั้นต่ำอะไรบ้าง จึงจะได้รับปริญญา และสถาบันฯ จะต้องพัฒนาชุดเครื่องมือวัดสมรรถนะเหล่านั้น สำหรับนำมาใช้งาน ดีที่สุดคือให้นักศึกษาใช้วัดตรวจสอบตนเอง เพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการเรียน ซึ่งเป็นการเรียนด้วยตนเอง และเรียนเป็นทีมกับเพื่อนนักศึกษา และมีศิลปาจารย์เป็นผู้แนะนำ หรือ “โค้ช” นั่นคือ ศิลปาจารย์ต้องรู้วิธีประเมินสมรรถนะเหล่านั้น และคอยประเมินนักศึกษาเป็นรายคนอยู่ตลอดเวลา (Embedded Formative Assessment) สำหรับใช้ feedback ให้กำลังใจ และให้นักศึกษาเรียนถูกทาง

          ผมคิดว่า จะต้องมีการดำเนินการ เพื่อทำให้เหล่าศิลปาจารย์ เข้าใจปรัชญา ค่านิยม และ สมรรถนะที่จำเป็น สำหรับศิลปาจารย์ ในหลักสูตรนี้ กระบวนการ “พัฒนา” ศิลปาจารย์ จึงมีความสำคัญมาก โดยเหล่าศิลปาจารย์ต้องมองว่า การได้เข้ากระบวนการนี้ เป็นกำไรชีวิต เพราะทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการเป็น “โค้ช” ของการเรียนรู้ ในแนวทางใหม่ ที่เป็นแนวทางแห่งศตวรรษที่ ๒๑ การทำหน้าที่โค้ชการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ถือเป็นการรับใช้สังคมอย่างหนึ่ง เป็นการสร้าง “ทุน” (Assets) สั่งสมไว้ในสังคม ให้แก่ลูกหลาน

วิจารณ์ พานิช

๑๕ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 568806เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท