การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ สไตล์ ศตวรรษที่ 21


                                         

เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการการศึกษาเป็นอย่างมาก ในศตวรรษก่อนหน้านั้นมีทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสอนใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทฤษฎีที่ได้รับความนิยมและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivism) ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ รวมไปถึงผลการวิจัยทางด้านสมอง (Brain research) ซึ่งให้มุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากเดิม จากการสอนที่เน้นให้ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียน โดยอาศัยความสามารถและจิตวิทยาการสอนส่วนตัว มาเป็นการให้ครูนำความรู้ทางด้านจิตวิทยาของการเรียนรู้มาใช้ในการจัดเตรียมการสอนการสอน โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี (Instruction) ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการที่ผู้เรียนจะต้องลงมือปฏิบัติและกระทำด้วยตนเอง

การจัดการเรียนรู้แนวใหม่ สไตล์ ศตวรรษที่ 21 สามารถทำได้จริงหรือไม่ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในการเรียนรู้มากขึ้น การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของไทย ไดมีพัฒนาการ มาเป็นระยะ ๆ ตามกาลเวลาในสมัยต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง การศึกษาสมัยปฏิรูปการศึกษา (2435-2475) สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักสูตรพุทธศักราช 2521-2524

หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524

(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) มาจนถึงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และไดเปลี่ยนเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หลักสูตรดังกล่าว เป็นหลักสูตรแกนกลางที่ใช้ในการจัดการศึกษาให้กับเยาวชนไทย และถึงแม้ว่าจะมีการจัดอบรมครูเกี่ยวกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานหลายต่อหลายครั้ง ก็ยังไม่สามารถทำให้ครูเข้าใจถึงหลักสูตรแกนกลางอย่างถ่องแท้ว่าควรจะพัฒนาผู้เรียนไปในทิศทางใดจึงจะเหมาะสม ถูกต้อง และให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามความต้องการได้

หากจะพูดถึงผู้เรียนในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนหลักสูตรบ่อยครั้งและใช้หลักสูตรไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และสภาพท้องถิ่น ส่งผลให้เด็กและเยาวชนขาดแรงจูงใจในการศึกษา ขาดต้นแบบที่ดี มีความมั่นใจในตนเองในทางที่ผิด มีค่านิยมและพฤติกรรมตามเพื่อนในกลุ่ม เห็นคุณค่าของวัตถุ ผู้มีทรัพย์สินและอำนาจมากกว่าความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เด็กและเยาวชนจึงมีค่านิยมรักความสะดวกสบายมากกว่าความพยายาม ขาดวินัยและไม่ชินกับการทำงานหนัก บริโภคข้อมูลข่าวสารและสื่อสารสนเทศอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา เช่น ขาดแบบแผนการดำเนินชีวิต ใช้สื่อที่

ไม่เหมาะสม เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อโฆษณา บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและมีการเลียนแบบพฤติกรรมอย่าง

ไม่เหมาะสม เป็นหน้าที่ของครูที่จะจัดการเรียนรู้แนวใหม่ เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานทางการศึกษาเสียที คำว่า “โรงเรียนมาตรฐานสากล” เข้ามีมีบทบาทมาก เนื่องจาก ปี 2558 ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียนซึ่งการจัดการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ครูต้องเน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามมาตรฐานสากล มีคำถามเกิดขึ้นว่า การจัดการเรียนรู้จะเป็นไปได้หรือไม่ ในเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา

แนวคิดในศตวรรษที่ 20 ที่กล่าวถึง ความหมายของการเรียนการสอน เอาไว้ว่า

1. การเรียนการสอนต้องคำนึงถึงการเรียนรู้ของผู้เรียน

2. การเรียนการสอนเป็นการถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติต่าง ๆ โดยมีการเตรียมการ วางแผนตามหลักวิชา มีขั้นตอนและกระบวนการสอนที่เป็นแบบแผนชัดเจน มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม โดยให้ครู เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ และทักษะต่าง ๆ

การนำทฤษฎี หลักการ และแนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสอนจากอดีต มาสู่ศตวรรษที่ 21 แนวคิดเหล่านั้นยังมีอิทธิพลต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เพียงแต่ครูผู้สอนจะนำทฤษฎีการเรียนรู้เหล่านั้น มาสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนอย่างไร

ทิศนา แขมมณี รองศาสตราจารย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียนรู้ในช่วงศตวรรษที่ 20 และการประยุกต์สู่การสอนว่า “ทฤษฎีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 20 นั้น เริ่มมีลักษณะของความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีการทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นลำดับ และสามารถจัดทฤษฎีการเรียนรู้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 4 กลุ่ม คือ

1. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)

2. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพุทธินิยม หรือกลุ่มความรู้ความเข้าใจ (Cognitivism)

3. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)

4. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มผสมผสาน (Eclecticism)”

ซึ่งทฤษฎีเหล่านี้ ครูหลายท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้

หากกล่าวถึงศตวรรษที่ 21 ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายความสามารถของครู เพราะเป็นยุคที่ต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ สามารถรับรู้ได้เพียงแค่คลิกที่ปลายนิ้ว ครูจำเป็นต้องปรับแนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนรักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทักษะชีวิต ทักษะการคิด และทักษะทางด้านไอที อย่างถูกต้องและเหมาะสม

The Flipped Classroom หรือ การจัดการเรียนรู้แบบ “พลิกกลับ” คือวิธีการเรียนแนวใหม่ที่พลิกจากการเรียนในตำราการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ คือ เริ่มจากครูผู้สอน สอนในห้องเรียน ให้นักเรียนกลับไปทำการบ้านส่ง มาเปลี่ยนเป็นการจัดการเรียนรู้แบบพลิกกลับนั้น คือ ให้ผู้เรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองผ่าน “เทคโนโลยี” ที่ครูจัดหาให้ก่อนเข้าชั้นเรียน และมาทำกิจกรรมโดยมีครูคอยแนะนำในชั้นเรียนแทน จะเน้นให้ผู้เรียนได้เห็นและปฏิบัติจากประสบการณ์จริง ทำให้ผู้เรียนมีการจดจำและเกิดทักษะการเรียนรู้ได้ดีกว่าที่จะเรียนแบบเดิม ๆ

เกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า “การจัดการเรียนการสอนแบบพลิกกลับนั้น ในประเทศไทยทำได้หรือไม่” คำตอบที่ได้คือ ทำได้หากเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐ ในเรื่องการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัยให้กับโรงเรียนทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะในตัวเมือง หรือนอกเมือง ทุกโรงเรียนต้องได้รับการจัดสรรอุปกรณ์อย่างครบถ้วน เท่าเทียม ตามจำนวนนักเรียนที่มีอยู่จริง ความร่วมมือจากครูผู้สอน ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยอมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อว่าครูไทยมีความรู้ ความสามารถมากในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน การเรียนรู้แบบพลิกกลับนั้น ต้องให้ผู้เรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ดังนี้

1. ทักษะพื้นฐาน (Core Skills) ได้แก่ สื่อสารสองภาษา การดำเนินงาน การแก้ปัญหา การใช้ ICT และการทำงานร่วมกับผู้อื่น

2. ทักษะการเรียนรู้และพัฒนาตน (Personal Learning & Development Skills) ได้แก่ เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง ตระหนักรู้ในตนและรู้จักตนเอง มีทัศนะเชิงบวกต่อการเรียนรู้ จัดการหรือควบคุมตนเองได้ และคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

3. ทักษะพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคมโลก (Citizenship Skills) ได้แก่ มีส่วนร่วมกับกิจกรรมชุมชนหรือสังคม เคารพความหลากหลาย มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดความเท่าเทียม ความยุติธรรมในสังคม ศึกษาหรือเห็นปัญหาในสังคม และลงมือทำเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เข้าใจว่าสิทธิมาพร้อมความรับผิดชอบและปฏิบัติตามนั้น และมีขันติต่อความหลากหลายไม่เลือกปฏิบัติ

4. ทักษะการทำงาน (Employability Skills) ได้แก่ วางแผนงานหรือกิจกรรมได้ มีทักษะการจัดการตนเองและผู้อื่น ตรงเวลา มีวินัย ทำงานด้วยตนเองได้ จัดลำดับความสำคัญของงานและทำงานได้ตามเวลา สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ตั้งใจเตรียมการล่วงหน้าและยืดหยุ่น และมีจริยธรรมในการทำงาน

ในศตวรรษที่ 20 ทักษะที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิด คือ ทักษะพื้นฐาน แต่เมื่อจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้เรียนจะต้องมีทักษะด้านต่าง ๆ ดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทักษะที่เกิดขึ้นล้วนแต่เป็นทักษะที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน และเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดทักษะนั้น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการจัดการเรียนรู้แนวใหม่สไตล์ศตวรรษที่ 21 นั้นโรงเรียนขนาดใหญ่ หลายโรงเรียนได้เพิ่มรายวิชาที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะได้ โดยใช้ชื่อวิชาว่า การค้นคว้าอิสระ หรือ Independent Study หรือเป็นที่รู้จักกันว่าวิชา IS ซึ่งเป็นหลักสูตรรายวิชาที่มีสาระการเรียนรู้ที่สถานศึกษาสร้างขึ้นให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนวิชาตามความถนัด ตามความสนใจ ตามความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื้อหาที่ต้องจัดการเรียนรู้มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1. IS1 การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ในวิชานี้ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ ในการเลือกประเด็นปัญหา ตั้งสมมติฐาน ค้นคว้า การแสวงหาความรู้ จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ และฝึกทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ให้กับตนเองได้

2. IS2 การสื่อสารและการนำเสนอ เป็นการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องจากวิชาแรกโดยผู้เรียนนำสิ่งที่ได้ศึกษา ค้นคว้าจาก IS1 มาเขียนรายงาน หรือเอกสารทางวิชาการ และนำเสนอเพื่อสื่อสาร ถ่ายทอดความรู้ที่ตนไปศึกษามา ให้ผู้อื่นเข้าใจได้

3. IS3 การนำความรู้ไปใช้บริการสังคม เป็นการนำความรู้เพื่อนำไปให้บริการทางสังคม นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา จากรายวิชา IS1 และ IS2 มาประยุกต์ใช้และทำประโยชน์ให้แก่สังคม

การจัดการเรียนรู้แนวใหม่นี้ มิได้ละทิ้งทฤษฎีการเรียนรู้แบบเดิม ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม ที่เกิดจากการตอบสนองจากสิ่งเร้า การเรียนรู้ที่เกิดจากการเชื่องโยงระหว่างสิ่งเร้า ทฤษฎีของธอร์นไดค์ ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีถ้าผู้เรียนมีความพร้อม หากผู้เรียนไม่มีความพร้อม การเรียนรู้แนวใหม่ก็จะไม่เกิด หากผู้เรียนไม่มีแรงจูงใจ หรือ แรงขับ หรือเลือกที่จะเรียนในแบบที่ตนเองอยากเรียน ด้วยตนเองแล้วนั้น การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน

ทฤษฎีการเรียนรู้สมัยใหม่ที่มาจากหนังสือ How Learning Works หนังสือเล่มนี้จะขึ้นต้นด้วยคำพูดของ Herbert A. Simon ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ นอกจากท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้วท่านเป็นนักจิตวิทยาการเรียนรู้ด้วย ท่านบอกว่า “การเรียนรู้เป็นผลของการกระทำคือ การลงมือทำและการคิดของผู้ที่จะเรียนเท่านั้น ครูช่วยได้แต่เพียงช่วยทำให้เขาทำและก็คิดเพื่อที่จะเรียน ครูไม่สามารถ

ทำให้เขาเรียนได้

หนังสือ How Learning Works กล่าวสรุปมาจากผลงานวิจัยหลายพันเรื่องและก็ได้หลัก 7 ประการของการสอนที่ดี คือ

1. ต้องเข้าใจความรู้เดิมของผู้เรียน ครูต้องหาวิธีการตรวจสอบความรู้เดิมของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด

2. การจัดระบบความรู้ที่เรียกว่า KnowledgeOrganization มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนต้องมีการจัดระบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

3. แรงจูงใจ ครูจะต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เรียน

4. การเรียนที่ถูกต้องคือการเรียนจนรู้จริง

5. การสอนโดยการปฏิบัติและมีการป้อนกลับ ครูที่ดีทั้งหลายจะรวมตัวร่วมกันออกแบบการเรียน ดูว่าต้องการให้เรียนรู้อะไร ออกแบบอย่างไร ให้เด็กทำอะไร และเพื่อให้ได้อะไร และวัดได้อย่างไรว่าจะได้

เพื่อจะให้เด็กลงมือปฏิบัติ แต่ว่าปฏิบัติเฉย ๆ ไม่เพียงพอ ครูต้อง ป้อนกลับข้อมูลให้แก่นักเรียน เรียนแล้วเกิดความสุข เกิดความมั่นใจในตัวเอง รู้ว่าตรงไหนตัวทำได้ดี รู้ว่าตรงไหนตัวจะต้องปรับปรุง ศิลปะการป้อนกลับ ที่เรียกว่า Feedback นี้สำคัญอย่างยิ่ง

6. พัฒนาการของนักเรียนและบรรยากาศในห้องเรียน

7. ผู้เรียนต้องสามารถกำกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในกระบวนการครูจะต้องสามารถทำให้เกิดความสามารถหรือทักษะในการกำกับการเรียนรู้ให้กับตัวเอง ที่สำคัญคือ ให้รู้ว่าตัวเองมีวิธีการเรียนอย่างไรและปรับปรุงวิธีการเรียนของตัวเองได้

สรุปแล้วการจัดการเรียนรู้แนวใหม่สไตล์ศตวรรษที่ 21 มิได้ละทิ้งทฤษฎีการเรียนรู้ที่มีอยู่เดิม เป็นการเพิ่มการเรียนรู้ที่สามารถศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ผ่านเทคโนโลยีเพื่อให้ทันยุคทันสมัยเพียงเท่านั้น เพียงแต่ครูผู้สอนเลือกที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างไรที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะที่เพิ่มขึ้นมาในศตวรรษที่ 21 ได้ อย่างน้อยต้องมีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเลือกตามความถนัด ตามความสนใจ สุดท้ายแล้วผู้เรียนต้องนำความรู้ที่ได้รับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำรงอยู่ของชีวิตได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพต่อไป

จงเห็นความสำคัญในตัวเด็กและเห็นว่าเด็กมีความสำคัญ ทุกอย่างอาศัยซึ่งกันและกัน "ถ้าสิ่งหนึ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งย่อมสำคัญด้วย" นี่แหล่ะคือกฎของธรรมชาติ..จึงอย่าถือว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น..ณเดช อุดม

ประภาศรี แสงอนุศาสน์

ขอขอบพระคุณแหล่งความรู้ที่ประสิทธิประศาสตร์วิชา

ทิศนา แขมมณี. ศาสตร์การสอน

http://wachum.org/dewey/300/edthai2.pdf

http://www.kroobannok.com/blog/29716

คำสำคัญ (Tags): #ศตวรรษที่ 21
หมายเลขบันทึก: 568454เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท