ปัญหาการอ่านของเด็กไทย : ใคร? รับผิดชอบ


          “หนังสือเป็นเสมือนคลัง ที่รวบรวมเรื่องราวความรู้ ความคิดวิทยาการ ทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึกรักษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือ แพร่ไปที่ใด ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่น หนังสือจึงเป็นสิ่งมีค่าและมีประโยชน์อันประมาณมิได้ ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์” (พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ 2515.) จากพระราชดำรัส ทรงเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ เนื่องจากหนังสือได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ ที่ต้องการค้นคว้าไว้มากมาย การอ่านจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาบุคคล ช่วยให้เกิดความงอกงามทางความคิดและสติปัญญาการอ่านทำให้คนฉลาด รู้จักคิด และมีโลกทัศน์กว้างไกล เกิดความรู้มีความรู้ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัยและมีความสุข แต่ในปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาเด็กไม่อ่านหนังสือ หรืออ่านหนังสือน้อย มักเป็นคำถามที่คาใจผู้ใหญ่หลายคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา คำตอบนั้นมีมากมายหลายเหตุผล และแทบจะทุกเหตุผลได้ผ่านความคิดแสวงหาแนวทางแก้ไขพร้อมทั้งทดลองปฏิบัติมาแล้ว แต่กระนั้นสถานการณ์การอ่านของเด็กและเยาวชนก็ยังไม่ดีขึ้น จากงานวิจัยของ Cook, Gina A : (2010). Williams, Rebecca และ Berry : (2006). พบว่าปัญหาของการอ่านขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยสำคัญคือ ฐานะความเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวที่มีรายได้น้อย ผู้ปกครองมีภาระไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการอ่านอ่าน ปัญหาจากครูผู้สอน ไม่กำหนดเรื่องให้อ่าน ไม่ปลูกฝังให้รักการอ่าน หนังสือมีราคาแพง ห้องสมุดไม่มีหนังสือที่ต้องการ ทำให้เด็กเกิดปัญหาด้านการอ่าน นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากตัวเด็กเอง เช่น ความรู้ อารมณ์ การเข้าสังคม การจับประเด็นสำคัญจากการอ่านไม่ได้และไม่มีเวลาอ่าน เนื่องจากมีภารกิจส่วนตัวมากต้องหารายได้พิเศษช่วยเหลือตนเอง และแบ่งเวลาไม่เป็น โรงเรียนจึงพยายามที่จะช่วยเด็กๆ แก้ปัญหาเรื่องการอ่าน ทั้งตัวเด็กเองและปัจจัยภายนอก

          จากปัญหาดังกล่าวทำให้เด็กไทยไม่ใส่ใจกับการอ่าน ไม่มีนิสัยรักการอ่าน ส่งผลให้นักเรียนไม่มีความรู้ ขาดทักษะในการอ่าน ขาดทักษะในการคิด ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ และคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ ข้อมูลจากงานวิจัยของไทยก็ระบุว่า เด็กไทยมีปัญหาด้านการอ่าน อ่านหนังสือไม่ออก อ่านติด ๆ ขัด ๆ เด็กป.3 ส่วนใหญ่ของประเทศไทยอ่านหนังสือพิมพ์ไม่คล่อง (อุษณีย์ อนุรุทธิ์วงศ์. 2556) ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่จัดทำตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2548 จะพบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคนหรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุผลว่าชอบดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุมากกว่า ขณะที่เด็กที่มีอายุ 10-14 ปี กว่า 60% ให้เหตุผลในการไม่อ่านหนังสือว่า เพราะไม่ชอบ จากงานวิจัยของ Stevenson, Kara. (2011) และ พัฒน์นรี อัฐวงศ์ และคณะ. (2556) พบว่าการพัฒนาการอ่านของเด็ก ควรเริ่มทำตั้งแต่เด็กอายุน้อยๆ เพราะการอ่านและทำความเข้าใจให้ได้นั้นเป็นเรื่องยาก ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด การส่งเสริมของครอบครัว การทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีภาพและเสียงประกอบ และอุปกรณ์ช่วยในการอ่าน ทำให้เกิดความพร้อมในการอ่าน และมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน นอกจากนี้การอ่านอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้านเช่นกัน การอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง จดจำชื่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีทักษะในการมองตัวอักษร การทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม ร่วมคิดร่วมอ่าน ทำให้เด็กมีการพัฒนาในหลายด้าน การส่งเสริมการอ่านแบบกว้างขวาง เช่น การพัฒนาทักษะอ่าน การมีทัศนคติต่อการอ่านในทางบวก มีความกระตือรือร้นในการอ่าน มีแรงจูงใจในการอ่าน และได้รับความเพลิดเพลินจากการอ่าน ช่วยให้เด็กมีทักษะทางภาษาหลายอย่างดีขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะการอ่านให้สูงขึ้นและมีผลต่อพัฒนาการทางความคิดอีกด้วย (Kim, Hoyeon: 20) 

          จากการศึกษาดัชนีการอ่านของไทยทั้ง 3 ด้านคือ พฤติกรรมการอ่าน ความสามารถในการอ่าน และผลลัพธ์จากการอ่าน ของ รศ.ดร.วรรณี แกมเกตุ ตัวชี้วัดเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์การอ่านของคนไทย แต่ละช่วงวัย แต่ละอาชีพ แต่ละระดับการศึกษา มีดัชนีภาพรวมและดัชนี 3 ด้านย่อยอยู่ในระดับใด ผลที่พัฒนาขึ้นภายใต้กรอบของตัวชี้วัดทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะ ในเชิงนโยบายในการติดตามสถานการณ์การอ่านในโอกาสหรือปีต่อๆ ไป รวมทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาหรือส่งเสริมนิสัยการอ่านของเด็กไทย ได้อย่างตรงจุด (วรรณี แกมเกตุ: 2553)

          ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการอ่านของเด็กไทย องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จึงควรมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจการอ่านหนังสือ และต้องมียุทธศาสตร์ในการสนับสนุน และแก้ไขปัญหาการไม่อ่านหนังสือของเด็กไทยให้มากขึ้นในทุกด้าน และที่สำคัญการปกป้องเด็กจากสื่อที่เป็นภัย และขจัดอุปสรรคต่อการอ่านหนังสือของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องของเกม และสื่ออื่นๆ ที่ยากแก่การควบคุม ก็ล้วนมีความสำคัญและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด 

คำสำคัญ (Tags): #ปัญหาการอ่าน
หมายเลขบันทึก: 567248เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท