pr_kpru
งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

Arranged marriage : เรื่องเล่าจากต่างแดนตอนที่7


ประเพณีแต่งงานแบบคลุมถุงชนนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีความหมายลึกๆแฝงอยู่นะครับ

เรื่องเล่าจากต่างแดน  ตอนที่ 

(ส่งตรงจากประเทศอินเดีย)

Arranged marriage

โดยประดิษฐ์  นารีรักษ์

ตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในคอลัมม์ที่แล้วว่าจะเขียนเกี่ยวกับการแต่งงานของชาวอินเดียให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบกันถ้วนหน้า

คำภาษาอังกฤษยกมาเป็นหัวข้อที่ว่า Arranged marriage อ่านว่า อะเรนจ แมร์ ริจ แปลตรงตัวแบบไม่อ้อมค้อมและชวนให้ปวดหัวนิดๆได้ว่าการแต่งงานที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วหรือแปลแบบรวบรัดให้เข้าใจง่ายตามภาษิตไทยก็คือ คลุมถุงชนนั่นแหละครับ ถ้าคิดว่าศัพท์นี้ยากและจำยากล่ะก็สามารถใช้ได้อีกศัพท์คือ forced marriage อ่านว่า ฟอร์ซท แมร์ริจ ความหมายเหมือนกัน ลองอ่านคำนิยามตามที่ให้ไว้ในไมโครซอฟเอนคาร์ต้าฉบับซีดีรอมดูนะครับ Arranged marriage, custom of families choosing marriage partners
for their members, sometimes in advance of marriageable age แปลได้ใจความว่าการแต่งงานแบบคลุมถุงชนนั้นก็คือประเพณี
การเลือกคู่ครองให้สมาชิกในครอบครัว บางทีก็เลือกไว้ล่วงหน้าก่อนถึงอายุที่เหมาะสมจะแต่งงาน นั่นก็หมายความว่า มีแฟนตั้งแต่ยังไร้เดียงสาเชียวแหละ  ตามประวัติศาสตร์การแต่งงานแบบคลุมถุงชนหรือแบบพ่อแม่จัดให้ก็ไม่ได้มีแต่ในอินเดียนะครับมีกันอยู่หลายประเทศทีเดียวแม้แต่ในประเทศไทยในอดีต
ก็เคยมีแต่ปัจจุบันคงไม่มีแล้วเพราะยุคสมัยมันเปลี่ยนไปส่วนมากจะเลือกคู่ครองกันเอง ได้ดีบ้างไม่ดีบ้างก็แล้วแต่เวรกรรมของแต่ละคนพ่อแม่ไม่มีสิทธิ์มายุ่งเกี่ยวหรือมีก็เพียงแค่คอยดูอยู่ห่างๆ เพราะวัยรุ่นยุคเด็กแนวมีความมั่นใจในตนเองมาก บางทีมากจนกระทั่งไม่เชื่อคำเตือนพ่อแม่ผู้ได้ชื่อว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน
ประเพณีแต่งงานแบบคลุมถุงชนนั้น ในความเป็นจริงแล้วมีความหมายลึกๆแฝงอยู่นะครับ ทำไมในหลายประเทศจึงมีการแต่งงานแบบคลุมถุงชนและทำไมพ่อแม่จึงจัดหาคู่ครองให้ลูกๆ ตัวเองโดยบางทีลูกไม่มีสิทธิ์แม้แต่ยกมือประท้วง นั่นก็เพราะว่าพ่อและแม่ถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือบรรดาลูกๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพ่อและแม่ที่ต้องหาคู่ครองให้ ถ้าหาถูกใจลูกๆ ก็ดีหน่อย แต่ถ้าหาเจ้าสาวขี้เหร่หาที่ติมิได้ หรือเจ้าบ่าวที่สุดแสนจะบรรยายความขี้เหร่ก็ซวยล่ะครับ ต้องทนอยู่กันไปจนตายไปข้างหนึ่ง ในประเทศไทยก็มีนะครับผมได้รับฟังจากผู้สูงวัยท่านบอกว่าหาให้แล้ว อยู่กินกันไปเดี๋ยวก็รักกันเองประการต่อมา การแต่งงาน แบบนี้เป็นการรวมสองตระกูลเข้าด้วยกันหรือที่เราเรียกว่า เป็นทองแผ่นเดียวกันนั่นหมายความว่าแต่งงานกันแล้ว จะอยู่จู๋จี๋กันสองคนเท่านั้น ไม่ได้ต้องมองถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและผลประโยชน์ของวงศ์ตระกูลด้วย แม้แต่ในสมัยพุทธกาลก็มีการแต่งงานแบบนี้ เช่นเจ้าชายสิทธัตถะ (พระนามที่ใช้ก่อนจะบรรลุ ธรรมเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) เจ้าชายจากตระกูลศากยะแต่งกับพระนางพิมพาหรือยโสธรา เจ้าหญิงจากตระกูลโกลิยะ ก็เพราะประสงค์จะสร้างความแน่นแฟ้นของ ทั้งสองตระกูลและอีกอย่างตระกูลทั้งสองนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกันนั่นแหละและมีวรรณะเสมอกัน เอาแค่นี้ก็แล้วกันนะครับเดี๋ยวจะร่ายยาวไปจนถึงเรื่องวรรณะโน่นอีก ประเทศจีนในอดีตก็มีนะครับการแต่งงานแบบนี้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะเจอในวันแต่งงาน เป็นวันแรกเท่านั้นและถือเป็นวันที่ลุ้นระทึกที่สุดในชีวิตว่าจะได้คู่ครองที่สวยหรือหล่อหรือเปล่า ตามประเพณีที่เราทราบกันดีว่าผู้หญิงอินเดียไปสู่ขอชายนั้นก็มีส่วนจริงครับโดยฝ่ายเจ้าสาวจะต้องให้สินสอดแก่เจ้าบ่าว คำว่าสินสอดในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Dowry อ่านว่า ดาว รี ถามว่าทำไมถึงให้แก่เจ้าบ่าวล่ะ ตอบว่ามันเป็นประเพณีครับ และประเพณีที่ฝ่ายเจ้าสาวให้สินสอดแก่เจ้าบ่าวนี้ มีทั้งในประเทศอียิปต์, ประเทศกรีซ, ประเทศอินเดีย และประเทศจีนและรวมทั้งยุโรปในอดีตด้วย ปัญหาก็คือว่าครอบครัวไหนที่มีลูกสาวเยอะล่ะก็ต้องทำใจ ประเทศแถบยุโรป ในอดีตลูกสาวที่เกิดมาเกินโควต้าก็ต้องส่งไปสำนักแม่ชี ที่จีนหรืออินเดียบางทีก็ต้องจำใจส่งเจ้าหนูน้อยสู่สวรรค์ตั้งแต่ยังเล็กเลยล่ะครับ ที่อินเดียการแต่งงาน แบบคลุมถุงชนหรือแบบพ่อแม่จัดให้ก็ยังมีปรากฏอยู่จนปัจจุบันแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ มีบางส่วนเท่านั้นที่พ่อแม่เล็งลูกสะใภ้หรือลูกเขยไว้แล้ว เมื่อลูกถึงวัยอันควรก็จัดแต่งงานทันทีโดยที่ลูกๆไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ ส่วนสินสอดที่ฝ่ายหญิงให้แก่ฝ่ายเจ้าบ่าวก็แล้วแต่จะเจรจากัน ทราบว่าบางทีก็เป็นรถยนต์หรือแล้วแต่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะเรียกร้อง ทราบมาอีกว่าหากฝ่ายเจ้าสาวจ่ายค่าสินสอดให้ไม่ครบในวันแต่งก็มีสิทธิ์ผ่อนได้ครับ แต่ประเพณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนะครับ ซึ่งบรรดานักสิทธิมนุษยชนกำลังจับจ้องอยู่ ล่าสุดนี้ประเทศอังกฤษออกกฏหมายดำเนินคดีกับพ่อแม่ที่บังคับลูกแต่งงานแล้วเพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและถือว่าผิดกฏหมายอาญาทีเดียว

………………………………………….

หมายเลขบันทึก: 56472เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 16:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อยากถามว่าใครอยากไปอินเดียบ้าง
  • เผื่อมีสาวมาขอผมครับ
  • ขอบคุณครับผม

คิดว่า forced marriage กับ arranged marriage คือ อย่างแรก ชอบไม่ชอบต้องแต่ง ส่วนอย่างหลังคือ แม้พ่อแม่จะจัดให้พบปะกนไปมาหาสู่กันแล้ว แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชอบ ก็ยังปฏิเสธได้อยู่ แน่นอน พ่อแม่อาจจะเริ่มจากอย่างหลัง เมื่อถึงวินาทีสุดท้าย หากลูกไม่ชอบแล้วยังบังคับให้แต่ง ก็กลายเป็นอย่างแรกไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท