ครั้งหนึ่งในชีวิตกับการเรียนรู้การ "หยุดคิด" กับปราชญ์ของแผ่นดิน อ.ดร.ประมวล เพ็งจันทร์


วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๗ ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ (CADL) สำนักศึกษาทั้่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับโอกาสสำคัญจาก อาจารย์ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ ที่ผมยกย่องท่านเป็นปราชญ์ผู้ทรงคุณของแผ่นดิน มาร่วมเสวนาในหัวเรื่อง "วิถีสู่การรู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" โดยมี ผศ.ดร.อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน เป็นวิทยากรร่วม และมี ผศ.ธีระพงษ์ มีไธสง เป็นผู้ดำเนินรายการ กลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตที่ลงทะเบียนรายวิชาศึกษาทั่วไปกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และผู้สนใจ เราใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ ๓ ชั่วโมงบ่ายของวันสุดท้ายของเดือนแรกนี้ เพื่อการบ่มเพาะความดีในใจนิสิต

หลังจากที่ทราบข่าวดีว่าท่านจะมาที่มหาสารคามตามคำเชิญของเรา ผมสืบค้นด้วย google พบว่าเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับคนในยุคเรา ที่จะเรียนรู้จากปราชญ์ระดับนี้ในยุคไอซีที มีคลิป youtube ของท่านเยอะมาก  แต่แม้จะมีมาก ในใจผมก็ผุดเต็มไปด้วยคำถามมากมาย ว่าท่านมีวิธีการทำเรื่องนั้นๆ อย่างไร อะไรทำให้ทำเรื่องนั้นได้ มีคำตอบหลายอย่างให้กระจ่างใจหลังจากที่ได้มีโอกาสสนทนากับท่าน


ท่านอาจารย์ประมวล ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ วิธีติดต่อท่านระยะไกลวิธีเดียว คือโทรศัพท์คุยกับท่าน อ.สมปอง คู่ชีวิตของท่าน ต้องนับว่าเป็นโชคหรือบุญวาสนาของเราที่การติดต่อทุกอย่างราบรื่นอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่ท่านไม่รู้จักเรา ไม่รู้จักผม (ต้องขอบคุณ คุณดอกอ้อ มือโปรฯ ของ CADL) อ.ประมวลท่านวางแผนจะเดินทางไปอินเดีย ๑๕ วัน ก่อนกำหนดการมามหาสารคาม ๒ วัน ท่านทั้งสองขับรถจากเชียงใหม่ มาจอดไว้ที่ชัยภูมิบ้านเกิดของ อ.สมปอง ก่อนจะไป-กลับอินเดีย แล้วขับต่อมายังมหาสารคามในวันที่ ๓๐ ... ผมมีโอกาสได้คุยกับท่านทั้งสองในเย็นวันนั้นเอง ผมได้เรียนรู้และยกระดับความคิดและมุุมมองยิ่งกว่าอ่านหนังสือตำราหลายเล่ม...

 

 

 


เพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ได้ฟังท่านพูด ทั้งที่ท่านพูดกับผม และที่ฟังขณะท่านตอบคำถามหรือสนทนากับเพื่อนอาจารย์ ผมได้ความรู้ใหม่ ได้ศรัทธาและแรงบันดาลใจ ที่จะนำสิ่งที่ได้มาปรับปรุงพัฒนาตนเองต่อไป ....และอยากนำมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในบันทึกนี้ครับ

แต่ก่อนจะอ่าน ขอให้ท่านต้องระลึกไว้ในใจว่า นี่เป็นการจับความและตีความจากผมเท่านั้น อาจจะฟังผิดหรือเข้าใจผิดก็เป็นได้ ดังนั้น ไม่ควรยึดบันทึกนี้เป็นแหล่งอ้างอิงนะครับ ...เพราะผมเองก็สารภาพว่า แม้จะสนใจในวิถีและวิธีของท่าน แต่ถึงวันนี้นั้นยังไม่ได้อ่านหนังสือที่ท่านเขียน "เดินสู่อิสระภาพ"

หากเปรียบชีวิตเหมือนต้นไม้ อ.ประมวล เป็นต้นไม้ที่ปลูกโดยพ่อและแม่ แต่คนรดน้ำพรวนดินเป็นน้าสาวแท้ๆ ของท่าน ผู้พูดประโยคหนึ่งที่ท่านจำมาไม่ลืมว่า "ต้นไม้ต้นนี้กูไม่ได้ปลูก แต่กูรดน้ำ" น้าคนนี้เลี้ยงดูท่านมาตั้งแต่เด็ก "ไปอาบน้ำ แล้วมากินข้าว" เป็นประโยคที่น้าพูดกับท่านเป็นประจำ อ.สมปอง บอกว่า น้าคนนี้เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกับชีวิตของ อ.ประมวล ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้

เมื่อเดินจากเชียงใหม่ถึงสมุย ขณะที่ อ.ประมวล คลี่ห่อผ้าเช็ดหน้าแล้วกำเอาทรายที่เก็บไว้กว่า ๓๐ ปี วางคืนลงพื้นแผ่นดินบ้าน ท่านระลึกถึงน้าสาวจึงได้กำเอาทรายที่เหลือติดมือ ถือเดินไปหาท่านที่บ้าน ทันทีที่พบ อ.ประมวล น้าสาวตกใจ คำแรกที่น้าพูดกับท่านคือ "เกิดอะไรขึ้น เกิดอะไรขึ้น !!!!" ประมาณว่า ทำไมหลานเราถึงได้ผอมดำขนาดนั้น อ.ประมวลยื่นยื้อมือของน้ามาหาตัว แต่ด้วยความตกใจ เลยทำให้ท่านต้องยื้อย้ำอีกหลายครั้ง ท่านวางทรายที่ติดมือมา พร้อมกับบอกว่า " มันอยู่กับผมมา ๓๐ ปี แล้ว วันนี้ผมประสบความสำเร็จในทุกทาง เรียนหนังสือก็จบสูงสุด ทำงานก็มีเกียรติมีชื่อเสียง มีภรรยาก็ได้คนดีที่รักใคร่เป็นอย่างดี" ท่านได้นำชีวิตที่มีความหมายและคุณค่า กลับสู่บ้าน ท่านได้กลับบ้านแล้ว น้าสาวของท่านพูดประโยคเดิมว่า  "ไปอาบน้ำแล้วมากินข้าว"...... ผมฟังท่านเล่าเรื่องตอนนี้แล้ว รู้สึกถึงบ้าน ในชีวิตผมไม่มีอะไรที่จะไปเปรียบได้กับผ้าเช็ดหน้าห่อทรายของท่านได้เลย...... ศรัทธาในตัวท่านเพิ่มขึ้น แต่ศรัทธาในตนเองลดลง.....

อ.สมปองเล่าว่า นิสัยใฝ่เรียนรู้ อยากเรียนรู้ อยากเรียนหนังสือ ถือเป็นลักษณะประจำตัวมาตั้งแต่เด็กจนบัดนี้ของ อ.ประมวล แม้กระนั้นหลังจากจบ ป.๔ ท่านก็ไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกจากสมุยมาทำงานรับจ้างกรีดยางที่สุราษฎร์ฯ ฝีมือกรีดยางของท่านเป็นที่พอใจนายจ้างมาก เงินที่ได้แบ่งส่งกลับบ้านให้น้องได้เรียน "ถ้าผมเรียน จะเบียดเบียนน้องที่ควรจะต้องได้เรียน" เป็นคำพูดที่ท่านแทรกขึ้นระหว่างการเล่าเรื่องของ อ.สมปอง น้าสาวท่านซื้อที่ดินทำสวนยางและกำลังไปได้สวย แต่ชะตาของท่านต้องเปลี่ยนเพราะเกิดเหตุไฟไหม้สวนยางนั้น

ด้วยมีแรงบันดาลใจ มีนิสัยใฝ่รู้อยากเรียน ท่านจึงสังเกตหาโอกาส ท่านพบว่าการบวชทำให้ได้มีโอกาสเรียนเขียนอ่าน แต่ต้องบวชเณรก่อนเพราะตอนนั้นท่านอายุ ๑๗ ปี แต่ตอนหลังพอมีโอกาสท่านก็ไม่พลาด มีเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งจนผมฟังแล้วตะลึงใจ คิดไม่ถึงว่าคำว่า "อยากเรียน" จะทำให้ท่านท่องบทสวดในหนังสือทั้งเล่มตั้งแต่ปกหน้าถึงปกหลังแม้กระทั่งสำนักพิมพ์ได้ภายในคืนเดียว เพราะอยากบวช ผู้ใหญ่บอกว่าจะต้องท่องบทสวดให้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าบทไหน ให้มาทั้งเล่ม ท่านก็ท่องทั้งเล่ม ..... นี่ไม่ใช่เพียงนิสัยใฝ่เรียนรู้ แต่เป็นใจที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ถึงตอนนี้ ผมเริ่มเข้าใจบ้างแล้วว่า อะไรที่ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการเดินสู่อิสรภาพ....

ตั้งแต่เด็กจนถึงวันที่ลาออกจากราชการ อุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ ทำให้ท่านทำ ๒ อย่างมากกว่าคนทั่วไปคือ อ่านและคิด ครั้งหนึ่งมีพระถามท่านทำนองว่า รู้ธรรมะอะไรบ้างไหม อ่านหนังสืออะไรมา ท่านบอกว่าอ่านตำราของท่านพุทธทาส (ท่านเป็นศิษย์สวนโมกข์) เมื่อถูกทดสอบว่าอ่านเล่มไหน อ่านกี่เล่ม อ.ประมวลเลย ร่ายให้ฟังตั้งแต่เล่มแรกจนถึงเล่มสุดท้าย....  ผมถามท่านว่า อ่านหนังสือมากๆ ไม่ฟุ้งซ่านเหรอครับ... เสียดายที่ใจผมขณะถามไม่แน่วแน่มากนัก ทำให้ไม่ได้คำตอบ ความจริงคือผมวอกแวกจนลืมคำตอบของท่านไปแล้ว.....ขออภัยด้วยครับ

อาจารย์สุรเชษฐ์ น้อยฤทธิ์ ถามท่านว่า "ชีวิตคืออะไร" ท่านบอกว่า ตอนนี้ก็ไม่มีคำตอบ บอกให้ไม่ได้ เป็นอะไรที่มีความหมาย มีคุณค่า งดงาม  ถ้าเป็นเมื่อก่อนนั้น ท่านตอบได้ทุกคำถาม แม้แต่มีคนมาถามว่า พระนิพานคืออะไร ท่านตอบอธิบายเป็นฉากๆ แต่เมื่อท่านมาพิจารณาภายหลังว่า แม้จะรู้และตอบได้ทุกเรื่องเกี่ยวกับทุกข์และทางดับทุกข์ แต่ท่านก็ยังไม่ได้พ้นไปจากทุกข์เลย...ท่านบอกลูกศิษย์ท่านในชั้นเรียนสุดท้ายก่อนจะลาออกว่า  ต่อไปผมจะไม่สอนพวกคุณด้วยการสอนบอกด้วยวาจาอีกแล้ว.....

สิ่งที่ผมสงสัยที่สุด คือทำไมท่านเดินจาก อ.สมปอง ให้อยู่คนเดียว ทำไม อ.สมปอง ถึงได้อนุญาตให้ท่านเดิน เดินไปในแบบที่อาจจะไม่ได้มีวันกลับไปพบกันอีก ผมถาม อ.สมปองตรงๆ ในตอนร่วมทานอาหารเย็นกับท่าน แล้วพอมาเล่าบนเวที ใจผมก็มีคำตอบในที่สุด

ก่อนตอบคำถามนี้ อ.สมปอง เล่าเรื่องประวัติตั้งแต่เด็กจนถึงตอนท่านไปอินเดียแบบละเอียด ผมรู้สึกได้ถึงความเมตตาของท่าน ท่านคงรู้ว่าผมอยากรู้มาก ผมไม่รู้ว่าท่านเขียนไว้ที่ไหนหรือไม่ แต่ในใจผมรู้สึกว่าคงไม่มี เสียดายที่ผมไม่กล้าบันทึกเสียงไว้ (ไม่เป็นไรอาจจะมีก็ได้ครับ) ทั้งหมดที่ท่านเล่าประวัติ อ.ประมวลให้ฟัง ผมเข้าใจและมั่นใจว่าท่านต้องการบอกผมว่า อ.ประมวล อยากทำสิ่งนี้มากแค่ไหน (หมายถึงอยากเดินกลับบ้านไปสมุยที่เรารู้จัก)  สุดท้ายท่านก็ตอบว่า ท่านมีความความสุขมากแค่ไหนที่ได้ให้ผู้ที่ท่านรักในสิ่งที่เขารัก....

คำตอบที่ทำให้ผม "ลงใจ" ไม่ใช่แค่การให้ของ อ.สมปอง แต่เป็นวิธีการของท่านทั้งสองต่างหากครับ อ.สมปอง ถามประมาณว่า "จะไปจริงเหรอ ไหวเหรอ งั้นเธอไปเดินให้ดูซิ"... วันแรกท่านเดินไป-กลับดอยสุเทพ ตอนกลับต้องจ้างให้ "รถแดง" (ใครไปเชียงใหม่จะรู้ว่ารถแดงคือรถเมล์โดยสารประจำบนทางแต่ไม่มีเส้นทาง ปลายทางจะไปไหนให้แล้วแต่คนโดยสารจะบอก) ให้ไปส่งหน้าบ้าน อ.สมปอง ต้องออกมาช่วยพยุงขึ้นบ้าน ... ท่านออกเดินตี ๕ แบบนั้นทุกวัน เป็นเวลาเป็นเดือน... ผมฟังถึงตรงนี้ ก็ร้อง "อ้อ" การเตรียมตัว เตรียมพร้อม วางแผน เป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ ผมตั้งใจว่าจะรีบไปหาหนังสือเล่มนั้นมาอ่านโดยเร็ว เพราะนี่แหละคือตัวอย่างของการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชึวิตจริง... การเตรียมความพร้อมร่างกายของ อ.ประมวล เป็นการเตรียมความพร้อมทางใจของ อ.สมปอง และเมื่อร่างกาย จิตใจ และแผนการเดินทางของ อ.ประมวลพร้อม ภูมิคุ้มกันในใจของ อ.สมปองก็เพียงพอ รับกันพอดี....นี่คือคำตอบที่ผม "ลงใจ" ในตอนนี้แล้ว....

ขณะเดินไปห้องประชุมดุริยางค์ศิลป์ (สถานที่เสวนา) ผมถามท่านว่า ท่านเขียนบันทึกเรื่องราวยาวละเอียดในหนังสือนั้นอย่างไร (แม้จะยังไม่ได้อ่าน แต่ผมรู้ว่าหนังสือเล่มหนามาก) ท่านจดบันทึกตอนไหน ท่านบอกว่า ไม่ได้เขียนบันทึกในช่วงเดิน มาเขียนหนังสือในตอนหลัง วิธีการบันทึกความทรงจำของท่าน คือ ทุกๆ วันท่านจะต้องส่งไปรษณีย์บัตรกลับไปให้ อ.สมปอง ที่เชียงใหม่  ท่านตกลงร่วมกันว่า เมื่อไหร่ที่ไปรษณีย์ขาดหายไป นั่นให้เข้าใจว่าท่านได้ลาล่วงไปแล้วจากโลกนี้...ผมประทับใจวิธีนี้มาก แม้ไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่นอกจะได้บันทึกความทรงจำในแต่ละวันเป็นคำรวบยอดประสบการณ์แล้ว ยังเป็นการสื่อสารให้ อ.สมปอง รู้ดูอยู่ตลอด....อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านบันทึกไว้ขณะเดินทางคือ "ชื่อของผู้มีพระคุณ" (ผมใช้คำนี้เองครับ) ท่านจะให้ผู้คนที่มาเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือท่าน เขียนชื่อและที่อยู่ลงในสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ เผื่อว่าท่านจะได้มีโอกาสมาสืบหา ศึกษา หรือขอบคุณผู้คนเหล่านั้น หากมีชีวิตรอด... ผมไม่สงสัยแล้วครับว่า ท่านเขียนหนังสือแบบระลึกละเอียดเล่มหนานั้นได้อย่างไร....

ผมได้คำตอบยืนยันสมมติฐานของผมว่า แท้ที่จริงแล้วการเดินของท่านคือการภาวนานั่นเอง การเดินของท่านคือการปฏิบัติธรรม ท่านเป็นศิษย์ท่านพุทธทาส ต่อมาท่านได้ไปเรียนรู้การภาวนาแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางหลวงพ่อเทียนจากหลวงพ่อคำเขียน (วัดป่าสุคะโต พ่อแม่ครูอาจารย์ของพระไพศาล วิสาโร) กอปรกับอาณาปาณสติที่ท่านปฏิบัติ ท่านจึงพร้อมแบบที่ผมเรียกว่า "พอ" นั่นเอง......

ในการทำความเพียรในการเดินครั้งนี้ ท่านบำเพ็ญสัจจะบารมีหลายประการ (ในทางพุทธสัจจะคือพลังของใจ หากขาดไปใจจะอ่อนแอ)  เช่น

  • อยู่กับปัจจุบันขณะไม่ปล่อยความคิดไปในอดีตอนาคต อยู่กับการเดิน ภาวนากับการเดิน
  • ไม่ทำการใดที่เป็นเห็นให้ผู้อื่นเดือดร้อน ท่านจะไม่ขอความช่วยเหลือใดๆ จากใครด้วยกาย วาจา และใจ 
  • เคารพและนอบน้อม กับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคน ทุกตัว.... ไม่แม้แต่จะคิดตำหนิใดๆ 
  • ฯลฯ

 



เมื่อเสวนาจบแล้ว ผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้กล่าวปิด ผมสะท้อนบนเวทีต่อหน้านิสิตที่ "คงเหลือ" อยู่ไม่มากนักว่า ผมพยายามสังเกตใจของตนเองตลอดการเสวนา เกิดความรู้สึกซาบซึ้งถึงใจมากมายหลายจุดจนไม่อาจจะพูดให้ฟังได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดีมี ๓ สิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้แล้วประทับใจที่สุด

๑) คือได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวใยของใจและพฤติกรรมของมนุษย์ เพียงเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำทุกอย่างในชีวิต จะเกี่ยวพันธ์เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ กับผู้อื่นแบบที่อาจคาดไม่ถึง

ท่านเล่าตอนหนึ่งว่า วันหนึ่งชาวบ้านประชุมกันว่าจะให้ท่านนอนกับใครดี มีคนอาสาหลายท่าน ท่านถามคนแรกว่า ท่านอยู่กับใครมีลูกกี่คน  คนนั้นตอบว่าอยู่คนเดียว ท่านตอบตกลง เพราะหากไปพักในบ้านที่มีลูกหรือภรรยาอยู่ด้วย อาจเป็นเหตุให้พวกเขาต้องลำบาก แต่พอไปถึง ปรากฎว่า ลูกสาวของชาวบ้านคนนั้นโทรมา เลยลำบากต้องอธิบายกันยกใหญ่เพื่อให้ลูกสาวของแก่คลายความเป็นห่วงในความปลอดภัยของพ่อตนเอง..... ท่านบอกว่า "นี่ขนาดระวังแล้วนะเนี่ย"

๒) ความจริงแล้ว "วิถีสู่การรู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างสมีความสุข" นั้น สิ่งที่เราต้องทำจริงๆ อาจเฉพาะประการแรกคือ เรียนรู้ให้เข้าใจตนเอง เพราะเมื่อเข้าใจตนเองแล้วจะเข้าใจผู้อื่น และเมื่อเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นแล้ว จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคมได้เอง

อ.ประมวล ท่านบอกว่า สิ่งที่ต้องรู้คือ คุณค่า และความหมาย เมื่อรู้สิ่งนี้ในตนเอง จะเคารพในคุณค่า ความหมายของความรักจากผู้อื่น และจะมอบสิ่งนี้คืนกับไปให้ผู้อื่นในสังคมได้ นี่เองที่เป็นปัจจัยของความสุข

๓) เมื่อใดที่เรารู้สึกทุกข์ ท้อ ลังเล น้อยเนื้อต่ำใจ หรือดูถูกตนเอง เราต้องไม่ทรยศต่อความรักของคนที่รักเรา อย่างน้อยที่สุด ต้องไม่ดูถูกหรือทรยศต่อความรักของแม่ ของพ่อ ที่รอเราอยู่บ้าน...

ท่านเล่าว่า ตอนที่ยังสอนอยู่ ท่านได้ร่วมกินข้าวเที่ยงกับนักศึกษาที่โรงอาหารบ่อยๆ ตอนนั้นข้าวราดแกง ๑ อย่าง ๑๐ บาท ๒ อย่าง ๑๕ บาท นักศึกษาถามท่านว่า ทำไมอาจารย์ไม่สั่งกับ ๒ อย่างล่ะครับ ท่านตอบว่า ผมมีหนี้สินสหกรณ์ที่กู้เงินกลับไปช่วยพ่อที่บ้าน ทุกครั้งที่ท่านกินข้าวราดแกง ๑ อย่างนั้น ท่านจะคิดว่า ท่านเก็บเงิน ๕ บาทนั้นไว้ให้พ่อ....

 

 

หมายเลขบันทึก: 560762เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2014 02:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2014 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอาจารย์เจ้าของบทความ
โดยส่วนตัว นิยมชมชอบและชื่นชม อ.ประมวล อยู่แล้ว
เมื่อมาอ่านบทความนี้ ก็ยิ่งต้องย้อนกลับมาตัวเองมากๆ ว่า ชีวิตนี้ เรา"พอ"แล้วหรือยัง
เคารพในคุณค่าของความรักทั้งของตนเองและคนรอบข้างหรือยัง

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท