พ่อแม่นั้นสำคัญไฉน (ต่อการปลูกฝังนิสัยลูก)


เด็กจะมีพฤติกรรมที่บ้าน กับที่โรงเรียนแตกต่างกัน ดังนั้นหากครูต้องการปรับปรุงพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียน เช่นลดความก้าวร้าว หรือขยันเรียนมากขึ้น การปรับปรุงความประพฤติที่บ้านจะไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่โรงเรียน การแก้ไขต้องเป็นการแก้ไขที่โรงเรียน (school-based intervention)

พ่อแม่นั้นสำคัญไฉน (ต่อการปลูกฝังนิสัยลูก)

บทความเรื่อง Do Parents Matter? เขียนโดยบรรณาธิการของ Scientific American, Jonah Lehrer  จากการสัมภาษณ์ Judith Rich Harris (ผู้เขียนหนังสือ The Nurture Assumption : Why Children Turn Out the Way They Do, 1998, revised 2009)     ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American ในปี ค.ศ. 2009    และพิมพ์ซ้ำในหนังสือ The Science of Education ในปี 2012  บอกว่าชีวิตของคนเรานั้น ซับซ้อนยิ่ง   มีปัจจัยที่หลากหลายซับซ้อน ที่กำหนดวิถีชีวิตคนแต่ละคน

เดิมคนเราเชื่อกันว่าพ่อแม่เป็นผู้ “ปั้น” หรือ “ปลูกฝัง” พื้นฐานชีวิตให้แก่ลูก    แต่หนังสือ The Nurture Assumption บอกว่าเราเข้าใจผิด   พ่อแม่มีบทบาทน้อยกว่าที่เราคิดมาก ในส่วนของการกำหนดพฤติกรรมของลูก    เพื่อน (peer group) ต่างหากที่มีอิทธิพลสูงมาก

เขียนแบบนี้ทะเลาะกันตาย   หนังสือ The Nurture Assumption จึงเขียนแบบ “ยั่วให้แย้ง”   เขียนแย้ง ความเชื่อทั่วไป เพื่อหาโอกาสอธิบายเหตุผล    ซึ่งก็ได้ผล เกิดการทำความเข้าใจ หาหลักฐานอิทธิพลของการเลี้ยงดู ของพ่อแม่ กันกว้างขวางกว่าเก่า

ถ้าถามความเห็นของผม ผมว่าพ่อแม่มีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชีวิต ๕ - ๗ ปีแรก    ที่บรรยากาศความรักความอบอุ่นใกล้ชิด จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของสมอง    สร้างความสมดุลระหว่าง วงจรสมองส่วน “บนลงล่าง” (เหตุผลความยับยั้งชั่งใจนำ)  และส่วน “ล่างขึ้นบน” (อารมณ์ความรู้สึกนำ)    แล้วเมื่อลูกเริ่มพัฒนาสังคมกับเพื่อน เรียนรู้ที่จะค่อยๆ ดำรงชีวิตอิสระจากพ่อแม่ในช่วงวัยรุ่น ความสำคัญ หรืออิทธิพลของพ่อแม่จะค่อยๆ ลดลง    แต่ผมเชื่อว่าอิทธิพลของพ่อแม่จะไม่มีวันหมดไป  

กลับมาที่บทความจากการสัมภาษณ์    เป้าหมายของบทความนี้ ต้องการเปรียบเทียบบทบาทของครู กับบทบาทของพ่อแม่    นักจิตวิทยาตั้งแต่ ฟรอยด์ มาถึง สกินเนอร์ ต่างก็โทษพ่อแม่ (เน้นที่แม่) หากลูกเกเร หรือก่อปัญหาสังคม แต่แฮร์ริสเถียง ว่าการเลี้ยงลูกมีได้หลายวิธี และยังไม่มีหลักฐานว่าวิธีไหนดีกว่ากัน

เขียนอย่างนี้ผมขอเถียงบ้าง   ว่าเรารู้แน่ว่าหลักการเลี้ยงลูกที่ถูกกับการเลี้ยงลูกที่ผิดแยกกันได้ชัดเจน   วิธีที่ผิดคือ ทำให้ลูกขาดความรักความเอาใจใส่    ไม่รู้จักฝึกพัฒนาการด้านจิตใจให้แก่ลูก ดังที่ผมตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People  ออกเผยแพร่ในบันทึกชุด สอนเด็กให้เป็นคนดี    

กลับมาที่ แฮร์ริส ใหม่    เขาบอกว่าเขาต้องการเน้นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์   เขาค้นคว้าอย่างละเอียด พบว่าความเชื่อเดิมๆ นั้น เมื่อค้นหาหลักฐาน พบว่าอ่อนเต็มที   และผลการวิจัยใหม่ๆ ที่มีหลักฐานแข็งแรง ค้านความเชื่อเดิม    หลังจากนั้นก็มีงานวิจัยที่รัดกุมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มมีความเข้าใจว่า พันธุกรรม (nature) มีบทบาทมากในการกำหนดบุคลิก    การศึกษาอิทธิพลของการเลี้ยงดู (nurture) โดยพ่อแม่จึงต้อง ระมัดระวังให้มาก   เพราะจะปะปนกับอิทธิพลของปัจจัยด้านพันธุกรรมได้ง่าย

แฮร์ริส เสนอ Group Socialization Theory และขยายความให้ชัดเจนขึ้นว่า   พัฒนาการทางสังคมของแต่ละคน ประกอบด้วย ๓ ขั้นตอน คือ  (๑) ความสัมพันธ์ (relationship)  ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกอยู่ในส่วนนี้ (๒)​ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (socialization)   (๓) ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน เพื่อแข่งขันร่วมมือเปรียบเทียบ จนรู้ว่าตนเองถนัดเรื่องอะไร

ทีนี้ก็มาถึงบทบาทครู   แฮร์ริสมีข้อเสนอที่น่าสนใจมาก ว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่บ้าน กับที่โรงเรียนแตกต่างกัน    ดังนั้นหากครูต้องการปรับปรุงพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียน เช่นลดความก้าวร้าว  หรือขยันเรียนมากขึ้น   การปรับปรุงความประพฤติที่บ้านจะไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมที่โรงเรียน   การแก้ไขต้องเป็นการแก้ไขที่โรงเรียน (school-based intervention)    

เขาอธิบายพฤติกรรมของนักเรียนในชั้นเรียนว่า   เด็กมีแนวโน้มจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือเด็กเรียน (pro-school group)  กับเด็กเบื่อเรียน (anti-school group)    แล้วกลุ่มเด็กเบื่อเรียนก็จะค่อยๆ เรียนล้าหลังลง    ครูต้องรู้วิธีป้องกันไม่ให้ชั้นเรียนเกิดการแบ่งกลุ่มเช่นนี้   ซึ่งหากชั้นเรียนเล็ก (เช่น ๒๐ คน) ครูจะดูแลได้ง่ายกว่าชั้นเรียนใหญ่ (เช่น ๔๐ คน)

 เขาไม่ได้เขียนว่า วิธีป้องกันเด็กไม่ให้แบ่งกลุ่ม ออกเป็นกลุ่มเด็กเบื่อเรียน ทำอย่างไร   ผมเข้าใจว่าสภาพเช่นนี้เกิดในชั้นมัธยม เมื่อนักเรียนกำลังแสวงหาตัวตน   ว่าตนเองถนัดเรื่องอะไร    หากครูช่วยส่งเสริมให้ศิษย์ค้นพบความถนัดและความชอบของตนเอง ผ่านการเรียนแบบลงมือปฏิบัติ    นักเรียนทุกคนจะได้เป็นคนสำคัญ (คนเด่น) ในบางเรื่อง   ไม่มีใครเลยที่ไม่เด่น   สภาพเบื่อห้องเรียนก็จะไม่เกิดขึ้น   ย่อหน้าสุดท้ายนี้เป็นการเดาของผมเอง   น่าจะมีคนนำไปเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๕๖

 

  

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 557906เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2014 05:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2014 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

This is a support for the case of "parent education" or in a wider sense "people development at large" (not economy, not technology but much more fundamental "quality of people").

"""เป็นเรื่อง..ที่น่า..คิด..ว่า"""....ระหว่าง..ทฤษฎี..และ..ปฏิบัติ..การเรียนรู้(ด้วยพ่อแม่หรือโรงเรียน)..สัญชาติญาณ..ความเป็น..ธรรมชาติ....(ใน..ยุคนี้..ที่..มนุษย์มี..วิวัฒนาการในรูปแบบที่ล้ำยุค..เก่าออกไป)...จะ..มีรูปแบบอย่างไร..ที่จะ..นำมา..ใช้..ในความเป็นอยู่ปัจจุบัน..ให้สมบรูณ์....(แค่เป่า..นกหวีด..อย่างที่ทำกันอย่างเดียว..คงไม่ได้...อ้ะะหรือจะโยน..ให้นัก..วิจัย..เขียนเป็น..บทวิทยานิพนธ์.แค่.แลก..ค่าตอบแทนเป็นเกียรติยศ..ก็คงไม่ได้..อะไรเช่นกัน...).......น่าคิดๆๆๆๆ..อะไร..จะเป็นทางออก..ของ..มนุษย์และสังคมประชาธิปไตย..แห่งความขัดแย้ง......ในวันนี้

ขอบพระคุณมากครับ เป็นบันทึกที่น่านำไปถ่ายทอดกับพ่อแม่ที่พาลูกมาปรึกษากับนักกิจกรรมบำบัด แล้วเมื่อตรวจประเมินก็พบว่า "ต้นแบบของลูกที่ก้าวร้าวอยู่ที่พ่อแม่ที่บังคับลูกจริงๆ" ขอกราบสวัสดีปีใหม่แด่ท่านอาจารย์ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท