CADL กับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ๑


การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษใหม่ ทำให้สังคมไทยที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เกิดวิกฤติการเมืองประชาชนมีความเห็นแตกแยกเป็นฝักฝ่ายอย่างชัดเจน คุณธรรมและจริยธรรมของสังคมตกต่ำอย่างที่ไม่เป็นมาก่อน ปัญหาสำคัญที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงคืออุปนิสัยของคนไทยที่ไม่ "พอเพียง" นั่นเอง

ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของศูนย์พัฒนาวิชการเพื่อการเรียนรู้ (Center of Academic Development for Learning: CADL) คือการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ถานศึกษาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยใช้การจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) เป็นเครื่องมือในดำเนินการใน ๓ แนวทางหลัก ได้แก่ ๑) นักสร้างเครือข่าย ๒) เป็นนักขับเคลื่อน และ ๓) นักวิชาการ

ในบทบาทนักสร้างคือค่าย  CADL ทำหน้าที่เป็นทั้ง "คุณเอื้อ" และ "คุณอำนวย" อำนวยให้เกิดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายหนุนเสริมการขับเคลื่อนฯ ขึ้นในพื้นที่ ปัจจุบันสำนักศึกษาทั่วไปมีข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานด้านการศึกษา ๖ หน่วยงานได้แก่ เทศบาลเมืองมหาสารคาม องค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต ๑, ๒, ๓ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต ๒๖ นอกจากนี้ยังมีโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิยามกัมมาจลในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (ปศพพ.) สู่โรงเรียนในเขตพื้นที่อีสานตอนบนจำนวน ๒๖ โรงเรียน

สำหรับบทบาทนักขับเคลื่อนฯ ทีม CADL เป็น"คุณอำนวย" ที่มีบทบาทในลักษณะวิทยากรกระบวนการ หรือเรียกว่า "กระบวนกร" เป็น "คุณกิจ" ทำหน้าที่ออกแบบกิจกรรมและกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้รู้และเข้าใจ ปศพพ.ด้านการศึกษา สร้างแรงบันดาลใจในการนำไปปฏิบัติกับตนเอง และนำผลสำเร็จที่ภาคภูมิใจไปเผยแพร่ขยายผลสู่ผู้อื่น โดยมุ่งเป้าไปยังโรงเรียนในโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และนิสิตในโครงการเด็กดีมีที่เรียนเป็นอันดับแรก

ส่วนบทบาทนักวิชาการ CADL เน้นการรายงานผ่านบันทึการทำงาน การสะท้อนผล และเขียนบทสังเคราะห์ชี้นำแนวทางขับเคลื่อนฯ ผ่านสื่อในสังคมออนไลน์ Facebook กลุ่ม "SEEN อีสาน" และ เว็บไซต์ของมูลนิธิสยามกัมมาจล http://www.scbfoundation.com/ และ http://www.gotoknow.org/blog/porpieng

จากประสบการณ์ขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมา CADL พบว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลัก ปศพพ. ว่าเป็นอันเดียวกันกับ "เกษตรทฤษฎีใหม่" เมื่อไหร่ที่กล่าวถึง "พอเพียง" ต้องมีที่ดิน ๑ แบ่งเป็น ๔ ส่วน ปลูกพืช ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง ฯลฯ  ไม่เข้าใจว่าหลัก ปศพพ. เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ ที่สามารถน้อมนำมาใช้กับทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน แม้แต่การไหว้ทักทายครูประจำวันหน้าโรงเรียน หากรู้เหตุผลว่าทำไมต้องไหว้ ไหว้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมคือ "พอประมาณ"  จะทำให้นักเรียนมีกริยามารยาทงาม และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทย ถือเป็นภูมิคุ้มกันในตนและคนในสังคมด้วย เป็นต้น ความเข้าใจไม่ถูกส่งผลให้การขับเคลื่อนผิดทาง เกิดความเข้าใจว่าการขับเคลื่อน ปศพพ. เป็นหน้าที่ของใครคนใดที่ได้รับมอบหมาย เข้าใจว่าเป็นภาระงานเสริมเพิ่มเติมจากงานหลัก

CADL ดำเนินการทั้ง ๓ บทบาทนี้พร้อมๆ กันอย่างบูรณาการโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ การปลูกฝังอุปนิสัย "พอเพียง" ให้กับนักเรียนและนิสิต ด้วยหวังว่าเยาวชนเหล่านี้ที่น้อมนำหลัก ปศพพ. มาเป็นหลักคิด และหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของตน จะเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญที่จะพัฒนาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นวิกฤตและเจริญรุ่งเรืองต่อไป

หมายเลขบันทึก: 556277เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2013 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2014 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท