ทำไมการขึ้น VAT ถึงทำร้ายคนจน


VAT หรือ Value - added Tax หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีที่เก็บในสินค้าและบริการ ภาษีชนิดดังกล่าวเป็นหนึ่งในรายรับที่สำคัญของรัฐในทุกประเทศ ยกตัวอย่างโครงสร้างภาษีประเทศอังกฤษ VAT นับเป็นรายรับสำคัญอันดับ 3 ของประเทศรองจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรืออย่างในอเมริกา จะเรียกภาษีชนิดนี้ว่า Sales Tax  บทความนี้เขียนขึ้นเพื่ออธิบายว่าเหตุใดการเพิ่มขึ้นของ VAT จึงทำร้ายคนจนมากกว่าคนรวยซึ่งไม่ได้สนับสนุนหลักของการเก็บภาษีที่ดีที่สามารถช่วยกระจายรายได้ในสังคมที่เหลื่อมล้ำอย่างประเทศไทยได้                การเก็บภาษีใช้หลัก 2 อย่างคือเก็บตามที่ใช้ (Usage Rule) และ เก็บตามความสามารถในการจ่าย (Ability to Pay) ซึ่งหลักเก็บตามที่ใช้เป็นพื้นฐานของ VAT ในเมื่อคุณใช้สินค้าและบริการชนิดใดชนิดหนึ่ง คุณก็ควรที่จะเสียสละบางส่วนเพื่อคืนกลับไปยังระบบเศรษฐกิจVAT หากมองแบบผิวเผินจะเป็นในลักษณะของ Proportional Tax หรือภาษีที่ถูกเก็บเท่ากันหมดในทุกคน เป็นภาษีที่ไม่ขึ้นอยู่กับรายได้ ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย รายได้เท่าไหร่ก็จะต้องจ่ายภาษีใน "อัตรา" เดียวกัน และ "จำนวน" เดียวกัน ในสินค้าเดียวกันที่นำมาเปรียบเทียบ ดังนั้นจะดูเหมือนว่า VAT นั้น ยุติธรรมสำหรับสังคมเพราะทุกคนถูกปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าความเท่ากันบางครั้งมันคือความไม่เท่าเทียม อย่างไรก็ตาม ความไม่ยุติธรรมของ VAT เกิดจากการที่เมื่อคิด "จำนวนภาษี" ที่คนที่มีรายได้ต่างกันจะต้องจ่าย มาเป็นสัดส่วนของ "รายได้" จะพบว่าคนจนเสียภาษีในอัตราที่ "สูง" กว่าคนรวย ดังแสดงในตารางด้านล่าง

กำหนดสินค้าราคา 10 บาท
  รายได้ แบบเก่า (VAT=7%) แบบใหม่(VAT=10%)
VAT(%) จำนวนเงินที่จ่ายVAT สัดส่วนภาษีที่จ่ายต่อรายได้(%) VAT(%) จำนวนเงินที่จ่ายVAT สัดส่วนภาษีที่จ่ายต่อ(%)
A 50 7 0.7 1.4 10 1 2
B 100 7 0.7 0.7 10 1 1
C 500 7 0.7 0.14 10 1 0.2

  ที่มา: ผู้เขียน                ตารางดังกล่าวแสดงประชาชน 3 คน ผู้มีรายได้ต่างกันคือ 50 บาทต่อเดือน, 100 บาทต่อเดือน และ 500 บาทต่อเดือน การเก็บ VATที่ 7% ในสินค้าที่มีราคา 10 บาท (ทุกคนต้องจ่ายเงิน 10 บาทให้คนขายเท่ากันไม่ว่าเป็นคนที่มีรายได้สูง/ต่ำ) จะทำให้คนที่มีรายได้น้อยหรือในที่นี้เรียกว่าคนจน เสียภาษีที่ 1.4% ของรายได้(50 บาท) ขณะที่ผู้มีรายได้สูงกลับเสียภาษีใน "อัตรา" ที่น้อยกว่าคือ 0.7 แล 0.14 ตามลำดับ ดังนั้น VAT ที่เราดูเหมือนว่ามันยุติธรรม ทุกคนเก็บเท่ากันในจำนวนบาท แต่ท้ายที่สุดแล้ว พอมาคิดในแบบรายได้กลับกลายเป็นว่าคนจนเสียภาษีสูงกว่า...เข้าลักษณะ Regressive Tax Structure ซึ่งบั่นทอนคุณภาพของการกระจายรายได้ (Income Distribution) ในสังคม
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเพิ่ม VAT?จากตาราง จะเห็นว่าเมื่อเพิ่ม VAT แล้ว คนจนหรือคนที่มีรายได้น้อยกว่าเสียภาษีแพงกว่าคนที่รวยกว่า การกระจายรายได้ถูกบั่นทอนตามโครงสร้างเดิม แต่ที่เปลี่ยนแปลงคือ ทั้งคนจนและคนรวยจะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งมีข้อถกเถียงดังนี้
1. ในทางวิชาการคลังสาธารณะ รายรับของรัฐประกอบด้วยภาษีเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นค่าปรับต่างๆ หรือจากรัฐวิสาหกิจ การลงทุนของรัฐ สลากกินแบ่งรัฐบาล โรงกลั่นสุรา(ประเทศสหรัฐอเมริกา) โดยภาษีส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วมักเป็นภาษีที่เก็บจากรายได้ของประชาชน หรือ ภาษีทางตรง หรือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ( Individual Income Tax) ซึ่งแตกต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ที่จากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า รายรับของรัฐอันดับหนึ่งมาจาก VAT ซึ่งผมแสดงให้ดูแล้วว่า VAT นั้นทำร้ายคนจน ดังนั้นระบบภาษีของประเทศไทยจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการเก็บแบบ Progressive Taxหรือแบบก้าวหน้านั้น ผู้มีรายได้สูงกว่าจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าในส่วนเกินในแต่ละช่วงชั้น (Bracket) ซึ่งเป็นการเก็บตามหลักความสามารถในการจ่าย)
2. ในทางเศรษฐมหภาคนั้น ภาษีมีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ภาษีทำให้การบริโภคลดน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการเก็บภาษีสูงขึ้น ประชาชนจะเหลือเงินหลังถูกหักภาษี (disposable income) ลดลง จึงทำให้การบริโภคต่ำ และเมื่อตัวแปรทางเศรษฐกิจอย่างการบริโภคน้อยลง จีดีพีซึ่งถูกวัดทางรายจ่ายจึงถูกคาดว่าจะต่ำตามไปด้วย (เว้นแต่ในปีนั้นรัฐแทรกแซงผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ)
3. ความคิดเห็นส่วนตัว ทางสองข้อนั้น จะเห็นว่า VAT ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ และอาจทำให้การบริโภคลดลง แต่จากข่าวที่แนบมาเห็นว่ารัฐกำลังคาดหวังรายได้จากการขึ้นภาษี แน่นอนครับว่าทำได้หากรัฐขึ้นภาษีในสินค้าจำเป็นซึ่งมีค่าความยืดหยุ่นต่ำ แต่อย่างลืมครับว่า VAT เวลาขึ้นจะขึ้นในทุกสินค้าและบริการ เลือกไม่ได้ว่าอันไหนยืดหยุ่นมากยืดหยุ่นน้อย ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประชาชนมีโอกาสที่จะ "ลด" การบริโภคอย่างรวดเร็ว หากมีการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าจากการที่รัฐขึ้นภาษี และหากเกิดขึ้น การคาดหวังในรายได้จากภาษีของรัฐอาจล้มเหลว เพราะการบริโภคในประเทศจะขึ้นหรือลดก็ขึ้นอยู่กับว่าซื้อหรือไม่ซื้อ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเสถียรภาพของรายได้ (Income Stability) ประเทศไทย รายรับขึ้นอยู่กับ VAT มีความแน่นอนในการเก็บต่ำ หากรสนิยมผู้บริโภคเปลี่ยน ซื้อน้อยลง แน่นอนว่ารายรับรัฐย่อมลด รายรับไม่พอ ต้องกู้และนำไปสู่การเพิ่มภาษีอย่างบ้าคลั่งในอนาคต แต่..ในหลายๆประเทศที่รายรับของรัฐมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประชาชนต้องทำงานและสละบางส่วนของเงินเดือนมาเพื่อส่วนรวมผ่านการบริหารของรัฐ แน่นอนครับว่ารายรับด้วยวิธีนี้มีเสถียรภาพมากกว่า มั่นคงมากกว่า ยืนยาวมากกว่าและที่สำคัญที่สุด..ช่วยสนับสนุนการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมในสังคมมากกว่าครับ
ทางแก้..                การที่รัฐมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย เรียกว่า Government Deficit มีทางคือ หากไม่เพิ่มรายได้รัฐ ก็จะต้องลดค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่าAusterity Program หรือรัฐรัดเข็มขัด การเพิ่มรายได้รัฐทำได้โดยขึ้นภาษี ก็มีทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีในสินค้าและบริการ ภาษีนำเข้าส่งออก ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีสรรพามิต เป็นต้น หรือหากไม่เป็นภาษี อาจเป็นการเก็บค่าบริการเพิ่มขึ้นในบริการของรัฐ เช่น ทางด่วน หรือในรัฐวิสาหกิจ หรืออย่างการพิมพ์เงิน หรือ QE ในอเมริกา และทางออกสุดท้ายคือ "การกู้" การกู้ 2 ล้านล้านบาทในตอนนี้ แน่นอนครับว่าอนาคตจะต้องใช้คืน และใช้คืนด้วยการขึ้นภาษีในอนาคตอย่างแน่นอนครับ หลีกเลี่ยงไม่ได้(ถ้า proposal ผ่านนะครับ)                 อย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย ควรเลือกเฟ้นทางภาษีที่ช่วยเพิ่มรายได้รัฐอย่างแท้จริง และ ช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องไปตกที่ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยทำพร้อมๆกับการลดรายจ่ายรัฐที่ไม่จำเป็น โครงการที่ทำแล้ว"ขาดทุน" ก็สมควรเลิกทำครับ ประชานิยมอาจทำให้ชนะการเลือกตั้งแต่ท้ายที่สุดแล้วคนที่บอบช้ำก็อาจจะเป็นประชาชน
จึงขอฝากไว้ครับ
ผู้เขียน: วรรณพงษ์  ดุรงคเวโรจน์ ติดต่อ [email protected]
เอกสารอ้างอิงDavid N Hyman, Public FinanceBudget Spending and Tax, Online : [ http://static.guim.co.uk/sys-images/Guardian/Pix/pictures/2013/3/20/1363800264587/Budget-spending-and-tax-r-001.jpg]ข่ากระทรวงการคลัง. ผลการเก็บรายได้รัฐบาล ปีงบประมาณ 2555 สืบค้นออนไลน์ :http://www.mof.go.th/home/Press_release/News2012/121.pdfไทยรัฐ. กรณ์ค้านขึ้น VAT รีดคนจนชดเชยรัฐถลุงเงิน. สืบค้นออนไลน์:http://www.thairath.co.th/content/eco/378289

หมายเลขบันทึก: 555259เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท