สงบจิตใจและพฤติกรรม


วิธีที่ถอนลงไปถึงรากถึงโคน ในอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม "วิถีธรรมะ" คือ คำตอบที่ดีที่สุดเท่าที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามา นับตั้งแต่สนใจเรียนทางด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษา

เพราะนี่คือ การถอนออกจากรากเหง้าของกิเลสที่อาศัยการเติบโตในแต่ละวันได้อย่างรวดเร็วมาก

ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน เราจะใช้ชีวิตแบบตกเป็นทาสของกิเลสอย่างไม่รู้ตัวนับตั้งแต่แบบหยาบ ไปจนถึงแบบละเอียด

__________________________________________________________________________________

"สงบจิตใจและพฤติกรรม"

เป็นหัวข้อที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะใช้ไต่ลงไปในจิตใจของเด็กและเยาวชนที่มาร่วมในโครงการบรรพชาสามเณรเทอดพระเกียรติ ๕ ธันวาคม ณ วัดป่าหนองไคร้

จากในเบื้องต้นที่ได้ไปพบเด็กๆ ในวันปฐมนิเทศน์ที่ทางศาลเด็กๆ เจ้าภาพนั้น ได้สอบถามที่มาที่ไปแยกหมวดของการทำผิดศีลได้ดังนี้

* เสพสารเสพติด

* ลักทรัพย์ ปล้น พกอาวุธ

* ทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาท

* พรากผู้เยาว์

จะเห็นได้ว่า เด็กๆ เหล่านี้ ทำผิดศีล๕ อันเป็นศีลเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ ดั่งเช่น 

=> การทำร้ายร่างกายและทะเลาะวิวาท นั้น คือ การทำผิดศีลข้อ ๑ และข้อ ๔ 

=> การลักทรัพย์ ปล้น พกอาวุธ นั้นคือ การทำผิดศีลข้อ ๒

=> การพรากผู้เยาว์ คือ การทำผิดศีลข้อ ๓

=> และ การใช้สารเสพติด คือ การทำผิดศีลข้อ ๕

เด็กๆ ส่วนมากอายุ ๑๕-๑๘ ปี และดูเหมือน ๑๕ ปีจะมีจำนวนเยอะมาก การตระหนักรู้ว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นคือ ความผิด แต่ไม่เกิดในระดับสำนึก นี่คือ โจทย์หรือประเด็นที่ข้าพเจ้าจะต้องใคร่ครวญ เพราะจากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับเด็กๆ ในหลายๆ กลุ่มพบว่า เด็กที่มักทำผิดศีลอยู่ประจำ ใจนี้จะไม่ได้เกิดหิริโอตะปะ สำนึกในการกระทำผิดนั้นของตนเองเลย แต่จะคิดว่า "ตนเองไม่ผิด" จิตใจค่อนข้างจะกระด้างมาก 

หากผู้ใหญ่ไม่ตระหนักไม่ใส่ใจ ไม่เคียวเข็ญให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องนี้เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่จิตใจก้าวร้าว กระด้าง ขาดความอ่อนโยน 

เมื่อเด็กทำผิดและผู้ใหญ่ทำเฉยเมยต่อความผิดนั้นของเด็ก ถือว่าเป็นการกระทำการที่รุนแรงต่อเด็กอย่างมาก เพราะนั่นกำลังบ่มเพาะหัวใจอาชญากรตัวน้อย (อาจดูเขียนโอเวอร์ไปแต่ก็เกิดขึ้นให้เห็นจริงอย่างถ้วนหน้าในสังคมปัจจุบัน)

Tool หรือเครื่องมือที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะนำมาใช้ในการ "สงบจิตใจและพฤติกรรม" นั่นก็คือ

"สมาธิ" ...

หลายๆ ครั้งที่ข้าพเจ้ามักจะใช้ "สมาธิ" ในเด็ก แต่เป็นการทำในช่วงเวลาสั้นๆ ๕-๑๐ นาที แต่ทำบ่อยๆ คล้ายๆ กับการค่อยๆ บ่มใจให้อ่อนลง เพื่อเตรียมพร้อมจะใช้กระบวนการคิดแทรกเข้าไป

ในกระบวนการทุกครั้งที่ทำ ส่วนมากข้าพเจ้าไม่ค่อยเน้นการให้องค์ความรู้ สอน หรือบรรยาย

หากแต่ใช้สถานการณ์จริงในการให้เด็กๆ ได้ลงมือเรียนรู้และทำความเข้าใจเข้าไปในจิตใจของเขา ให้เขาได้เผชิญหน้ากับโจทย์หรือปัญหาจริงของเขา ให้เขาได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ โดยข้าพเจ้ามักใช้บทบาทของความเป็นกัลยาณมิตร "พี่เลี้ยง" ค่อยๆ ประคองให้เขาดำเนินไปแบบไม่โดดเดี่ยว และไม่หลงทาง

ดังนั้นในชั่วโมงการเรียนรู้ ของโครงการบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติในหลวง ๕ ธันวาคม นี้...ในครั้งแรกที่จะได้ถวายความรู้เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ของสามเณร คือ การใช้สมาธิ นำไปสู่การ "สงบจิตใจและพฤติกรรม" จากนั้นค่อยเริ่มสำรวจเข้าไปในตัวเอง ทำความรู้จักตัวเอง และค้นหาหนทางของการแก้ไขตนเอง

จากนั้นในจำนวนเวลาที่เหลือตลอดการบวชจึงค่อยใส่กระบวนการฝึกทางปัญญาแบบโยนิโสมนสิการ

หลวงปู่เมตตาให้แนวคิดในการทำงานว่า "แม้สามารถช่วยได้เพียงคนเดียวก็ดีแล้ว"

...

๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 554927เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 14:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2013 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This is really a world breaker "...การตระหนักรู้ว่าการกระทำที่ได้ทำลงไปนั้นคือ ความผิด แต่ไม่เกิดในระดับสำนึก นี่คือ โจทย์หรือประเด็นที่ข้าพเจ้าจะต้องใคร่ครวญ..."

We seem not teach our children common "Don'ts" (under various names: siilas, sins,...) anymore. And when we do say, our children don't see we do what we say --and so nor strongly impressed--. Examples in social media (including movies, TV dramas, ...) say "money is good", all else can be manipulated to make money!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท