"ทัศนศึกษา"ต่างเรียนรู้


ที่มั่นใจยิ่งขึ้นเป็นเรื่องความมีเหตุผล ซึ่งมีไม่น้อยกว่าผู้ใหญ่ของพวกเขา หากเปิดโอกาสให้เขาคิด ให้เขาทำ หรือให้เขารับผิดชอบด้วยตัวเอง โดยไม่ใช้วิธีบังคับหรือออกคำสั่งจากครูแต่เพียงฝ่ายเดียว อย่าไปห่วงแต่ว่าจะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยบ้าง หรือไม่ดีเท่าที่เราออกคำสั่งควบคุม แต่ก็เป็นความปกติ ด้วยวัยและประสบการณ์ของเขา จะให้เท่าเรา เหมือนเรา โดยใช้มาตรฐานผู้ใหญ่ ซึ่งมากกว่าทั้งวัยและประสบการณ์ไปตัดสิน แบบไม่เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เลย ก็ดูกระไรอยู่ ไม่ใช่หรือ? โดยเฉพาะเราผู้ซึ่งเป็นครู

สามสี่ปีมานี้ โรงเรียนมีโครงการนำนักเรียนไปทัศนศึกษา ด้วยเงินงบประมาณตามนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาลที่ผ่านมา วิธีดำเนินการของโรงเรียนในแต่ละปีเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด แต่ยืนหลักการที่นักเรียนจะได้ไปทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ก่อนแบ่งเป็นระดับชั้น ม.3ไปกับม.3 ม.2ไปกับม.2 ฯลฯ ถัดมาเป็นแล้วแต่จะจับกลุ่มกันอย่างไร ใคร ห้องไหนจับกลุ่มกับห้องไหนก็ได้ ถ้าลงตัวในเรื่องความต้องการและจำนวนที่นั่งบนรถ

ปีก่อนโน้นผมพานักเรียนไปเชียงราย ไกลสุดไปถึงสามเหลี่ยมทองคำ ปีก่อนไปบางแสน ที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สำหรับปีนี้เริ่มตั้งแต่จัดการแล้วที่รู้สึกพอใจมาก เนื่องจากทั้งสถานที่ หรือการเลือกจะไปแบบค้างคืนหรือไม่ มาจากความคิดของนักเรียนทั้งห้องอย่างแท้จริง

เพื่อนครูซึ่งพานักเรียนไปด้วยกันเมื่อปีที่แล้วถาม ไปด้วยกันอีกไหม? นึกถึงข้อเสนอหัวหน้าห้องซึ่งเคยมาปรึกษา จึงตอบท่านไปว่า “ขอถามหัวหน้าห้องก่อน” เมื่อได้สอบถาม ที่เคยคิดวางแผน บัดนี้เหตุการณ์เปลี่ยน ทำให้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ผมจึงทำหน้าที่ครูที่ปรึกษาขอความเห็นจากนักเรียนทั้งห้อง นำเสนอ ถกเถียง และโหวตชนะกันฉิวเฉียดครับ สรุปปีนี้ส่วนใหญ่เลือกจะไปทางภาคเหนือกัน

ผมเล่าข้อเสนอให้ทั้งห้องฟัง ว่าเห็นอย่างไร จะไปกับน้องห้องอื่นๆเหมือนเมื่อตอนเราอยู่ ม.4 อีกหรือไม่ ทั้งหมดตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่าเราจะไปกันเอง ผมจึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อ โรงเรียนมีงบสนับสนุนให้กับการทัศนศึกษาครั้งนี้ ถ้าไปกลับจะได้คนละ 300 บาท ถ้าไปค้างคืนจะได้ 350 บาทต่อคน สุดท้ายส่วนใหญ่เลือกแบบเช้าไปเย็นกลับ

ผมถาม “ส่วนที่ว่าจะไปทางเหนือ แล้วจะไปที่ไหน?” หลายคนต่างนำเสนอสถานที่และจังหวัดต่างๆ ไม่ลงตัวครับ คนหนึ่งแนะ เราเลือกไปจังหวัดไหนก่อนดีกว่า แล้วค่อยเลือกสถานที่ ผมจึงสรุปความคิดเห็นที่พูดคุยกันมาค่อนข้างนานแล้ว “อย่างนั้นเราไปลำปาง” ให้ทุกคนไปสืบค้นสถานที่น่าท่องเที่ยวในจังหวัดลำปางและในจังหวัดที่เป็นเส้นทางผ่าน เช่น อุตรดิตถ์ แพร่ ตากมาเป็นการบ้าน แล้วพรุ่งนี้มาหารือ หาข้อสรุป พร้อมวางแผนเวลาในการเดินทางร่วมกันอีกครั้ง

ในที่สุดกำหนดการเดินทางคร่าวๆ ก็ได้เป็นดังนี้ ออกเดินทางตีหนึ่งครึ่ง เช้ามืดถึงลำปาง แวะตลาดทุ่งเกวียน รอเวลาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเปิด วกกลับมาไหว้พระทำบุญที่วัดพระธาตุลำปางหลวง กลับทางตาก แวะฟาร์มแกะ“Hugyou” เขื่อนภูมิพล ย่ำค่ำท้ายสุดก่อนกลับ จะเที่ยวชมประเพณีลอยกระทงสายที่ริมน้ำปิง จังหวัดตาก จากตากกลับมาโรงเรียนใช้เวลาเดินทางสัก 2 ชั่วโมง ถึงโรงเรียนคงราว 4 ทุ่ม ส่วนเวลาในแต่ละที่ ตรงไหนถูกใจหรือชอบเราก็อยู่กันนานๆ ตรงไหนไม่ชอบก็ลดเวลาลง ยังไงก็ได้ แล้วแต่พวกเรา ผมสรุปนัดแนะนักเรียนไว้อย่างนั้น

วันเดินทางผมถึงโรงเรียนก่อนเวลาสักชั่วโมงเห็นจะได้ แต่ไม่ทันนักเรียนบางคนซึ่งมารออยู่ก่อนแล้ว พวกเราออกเดินทางช้ากว่ากำหนดเล็กน้อย มิใช่จากนักเรียนครับ เพราะคนสุดท้ายมาถึงตีหนึ่งครึ่งพอดี ที่เสียเวลาไปบ้างมาจากรถบัส คนขับบอกนาฬิกาที่ตั้งไว้ไม่ยอมปลุก(ฮา)

หกโมงกว่าถึงลำปางตามเวลา หมอกซึ่งปกคลุมเส้นทางมาก่อนแล้วยังหนาตา หลังภารกิจเข้าห้องน้ำห้องท่าแล้ว พวกเราเริ่มกันที่ตลาดทุ่งเกวียน แต่ร้านรวงที่เปิดแล้วมีไม่กี่ร้าน จึงเตร็ดเตร่ ชื่นชมบรรยากาศยามเช้าซึ่งเข้าหนาวกับตลาดที่ยังเงียบเหงาอยู่ไม่นาน ตัดสินใจเดินทางต่อไปยังศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย แหล่งเรียนรู้แรกในการเดินทางครั้งนี้

เมื่อสายจัด ย้อนกลับเข้าเมืองลำปาง รถบัสพาเลยไปบนเส้นทางสายลำปาง-ตากเล็กน้อย วัดพระธาตุลำปางหลวงเด่นสง่ารออยู่แล้ว ท้องฟ้าใกล้เที่ยงสีจัดจ้านเป็นพิเศษ ก้อนเมฆขาวลอยฟ่องแต่งแต้ม งดงาม ไม่ใช่วันหยุดผู้คนจึงไม่มากนัก พ่อค้าแม่ขายเล่า ช่วงนี้นักท่องเที่ยวลดลงกว่าแต่ก่อน อาจเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีด้วย

รถบัสพาเราแล่นต่อไปบนทางเส้นเดิม อีกที่ที่นักเรียนต้องการจะแวะเที่ยวชม คือ ฟาร์มแกะ“Hugyou” ดำเนินการโดยเอกชน เก็บค่าบริการสำหรับผู้ที่ต้องการจะถ่ายภาพหรือให้อาหารฝูงแกะ ดูเด็กๆสนุกสนานกับที่นี่มาก ทั้งที่ในสายตาเราแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจกว่าที่อื่นๆ กิจกรรมถ่ายภาพหรือให้อาหารแกะก็ดูธรรมดา แปลกดีเหมือนกัน นี่กระมัง คนละวัย คนละความคิด ต่อไปเราคงต้องฟังพวกเขาให้มากขึ้นอีก

 

จากฟาร์มแกะนั่งรถต่อนานกว่าช่วงอื่น เพราะเขื่อนภูมิพลห่างจากที่นี่กว่าร้อยกิโลเมตร รถแล่นเรื่อยๆ ไม่ได้เร่งความเร็วมาก ในฐานะผู้รับผิดชอบชีวิตลูกศิษย์ในการเดินทาง รู้สึกปลอดภัยและสบายใจครับ เด็กๆที่นั่งเอียงเอนหลับปุ๋ยกันบนรถ เนื่องจากเดินทางมาทั้งคืน คงไม่รู้สึกรู้สาอะไรนักต่อเรื่องที่ครูกำลังคิดอยู่นี้

สี่โมงเย็นกว่าถึงเขื่อนภูมิพล อากาศขมุกขมัว ไม่ปลอดโปร่ง เหมือนฝนเหมือนหนาวคละเคล้ากันอยู่ เหล่าลูกศิษย์ที่ดูสะลึมสะลือ หรือหลับใหลเมื่อสักครู่ สดใส กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อได้ลงชมบรรยากาศ ความงดงามเหนือท้องน้ำบริเวณสันเขื่อน

อีกร่วมชั่วโมง พวกเราจึงมาถึงจังหวัดตากเป้าหมายสุดท้ายของการมาทัศนศึกษา งานประเพณีลอยกระทงสายที่นี่ มีชื่อเสียงในระดับประเทศ สองข้างถนนผู้คนจับจองที่นั่งบนทางเท้ายาวเหยียด เพื่อรอชมขบวนแห่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น

ผมนัดเวลานักเรียน อยู่ที่นี่สักสองชั่วโมงพอหรือเปล่า เดี๋ยวนี้หกโมง สองทุ่มเราออก สี่ทุ่มถึงโรงเรียน หลายคนบอกชั่วโมงครึ่งพอ ขณะหลายคนก็บอกสองชั่วโมงกำลังดีแล้ว อย่างนั้นสองชั่วโมงคงเดิมผมสรุป สองทุ่มตรงเจอกันที่รถ อย่าผิดเวลา อย่าให้ทุกคนรอ คนมาเที่ยวเยอะเบียดเสียด จัดการเวลาให้ดี พยายามอย่าไปคนเดียว ให้ไปเป็นกลุ่ม มีอะไรจะได้ดูแลกันได้ พูดพลางนึกในใจไปพลางครับ “ความจริงพวกเขาโตมากแล้ว ม.5 แล้ว อายุก็ 16-17 แล้ว” (ฮา)

อีก 5 นาทีจะสองทุ่ม ผมกับนักเรียน 4-5 คน กลับมาถึงรถเป็นกลุ่มรองสุดท้าย เหลือนักเรียนอีก 5 คนที่ยังมาไม่ถึง คงติดขบวนแห่ เพราะกว่าผมเองจะฝ่าผู้คนและขบวนออกมาได้ก็ต้องรีบสุดๆ จึงบอกคนขับรถว่า ยังมากันไม่ครบ น่าจะติดขบวนแห่ อาจจะช้า เพราะแม้แต่ผมเองเมื่อสักครู่ ก็หนักหนาสาหัส ชั่วความคิดแล่น นาฬิกาบอกสองทุ่มตรงตามเวลานัด เจ้า 5 คนปรากฏกายให้ทุกคนเห็นไกลๆ เสียงเพื่อนบอกต่อกัน มาแล้วๆ

คืนนั้นถึงโรงเรียนไม่เกินเวลา ก่อนลงจากรถเตือนให้ทุกคนดูแลความสะอาดหรือรับผิดชอบเก็บขยะตามปกติ แต่ต้องประหลาดใจ จากคำตอบของหัวหน้าห้อง เก็บกันแล้วครับ สะอาดแล้ว.. หลังเหลือบสายตาตรวจสอบ เป็นอย่างนั้นจริงๆ ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่น นักเรียนรับผิดชอบร่วมกันเอง โดยไม่ต้องอาศัยคำบอกกล่าวจากครูเลย

อีกหลายอย่าง ที่ผมเรียนรู้เด็กๆจากการเดินทางครั้งนี้ ที่มั่นใจยิ่งขึ้นเป็นเรื่องความมีเหตุผล ซึ่งมีไม่น้อยกว่าผู้ใหญ่ของพวกเขา หากเปิดโอกาสให้เขาคิด ให้เขาทำ หรือให้เขารับผิดชอบด้วยตัวเอง โดยไม่ใช้วิธีบังคับหรือออกคำสั่งจากครูแต่เพียงฝ่ายเดียว อย่าไปห่วงแต่ว่าจะไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยบ้าง หรือไม่ดีเท่าที่เราออกคำสั่งควบคุม แต่ก็เป็นความปกติ ด้วยวัยและประสบการณ์ของเขา จะให้เท่าเรา เหมือนเรา โดยใช้มาตรฐานผู้ใหญ่ ซึ่งมากกว่าทั้งวัยและประสบการณ์ไปตัดสิน แบบไม่เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้เลย ก็ดูกระไรอยู่ ไม่ใช่หรือ? โดยเฉพาะเราผู้ซึ่งเป็นครู

การนำนักเรียนไปทัศนศึกษาปีนี้ ยืนยันความเชื่อตัวเองอีกครั้งครับ ว่าการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือมีวิจารณญาณอย่างถูกต้อง ต่อเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่างๆที่ประสบอย่างหลากหลายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น จะจัดเฉพาะแค่ในห้องเรียนหรือในวิชาเรียน คงไม่ประสบผลสำเร็จแน่

หากแต่ครูเราต้องทำในทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ 

หมายเลขบันทึก: 554260เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2014 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

พี่ครูครับ

นักเรียนเสื้อสีสดมาก

การไปทัศนศึกษาจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ในชีวิตที่ต่างจากเราไป

แต่ไม่ควรไปไกลมากเกินไป

ต้องคิดถึงปัญหาเรื่องอุบัติเหตด้วยครับ

มีหน่วยงานท้องถิ่นหนึ่งพาคนในชุมชนไปดูงานเสียเงินหลายแสน

เสียดายเงินมากๆๆครับ

... การเดินทางไปทัศนศึกษา ..... เป็นการเรียนรู้...นอกห้องเรียน...เปลี่ยนบรรยากาศ....สนุกมากค่ะ... ได้ความรู้ใหม่ๆๆ ...ที่ผู้เรียน.."อยากเรียนรู้ + อยากไปมากๆค่ะ .... จำได้ จากสมัยเป็นเด็กๆ เป็นนักเรียนนะคะ .. แม้ว่าอายุุมากแล้วก็ยังชอบ (เพราะเบื่อห้องเรียนสี่เหลี่ยมนะคะ) .. ตอนเรียน ป.ตรี, ป.โท, ป.เอก .... เมื่อไหรjได้ไปนอกน้องเรียน..."นั้นคืดความสุขค่ะ" .... เป็นความจริงเลยค่ะ .... ตอนเนรียน ป.เอก ท่าน ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ ... พานั่งรถไฟฟ้า ไปร้านหนังสือ .... คิโนะคูนิยะ สาขาสุขุมวิท... ห้าง เอ็มโพเรียม .. มีความสุขมากค่ะ ... ดังนั้นคิดว่า ....นักเรียนของท่านอาจารย์ ... คงมีความสุข เหมืนหมอเปิ้น นะคะ ...


เอาขนม "ไหมฝันมาฝากค่ะ"


  • ขนาดบอกนักเรียนว่าครูไม่ชอบสีแดง แต่สุดท้ายมีครูแค่สองคน จึงโหวตแพ้เด็กๆทั้งห้องครับ (ฮา)
  • ระยะทางจากพิษณุโลกไปลำปางคงพอดีๆ คราวแล้วไปเชียงรายเหนื่อยนั่งรถสุดๆเลยครับ แต่เด็กๆสนุกอยู่ดี..
  • ที่พอรู้บ้าง หน่วยงานท้องถิ่นที่ไปหลายๆคณะ ดูแล้วพาไปเพื่อตอบแทนกันเท่านั้นครับ
  • ขอบคุณอ.ขจิตครับ
  • สำหรับที่โรงเรียนผม เรื่องไปทัศนศึกษา นร.หลายคนขาดโอกาสครับ เมื่อมีนโยบายศธ. ดีเหมือนกัน เติมเต็มให้กับอีกหลายๆคนได้ ที่สำคัญเด็กๆสนุกสนานเสมอครับ ถ้าได้ออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียนอย่างนี้..
  • ขอบคุณDr.Pleครับ

สนับสนุนการพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาค่ะ เพราะ

1. ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น สถานที่สำคัญ ชีวิตผู้คน วัฒนธรรมต่างถิ่น ฯลฯ

2. รัก สามัคคี ผูกพัน

3. ร่วมกันรับผิดชอบต่อหมู่คณะ ถ้าครูได้ให้เด็กๆ (โต) ร่วมกันวางแผน จัดการกันเอง

ประสบการณ์ทั้งหมดมีคุณค่ามากต่อการเติบโต จากประสบการณ์พี่ไปเที่ยวหลายๆ ประเทศได้เห็นครูพาเด็กๆ ออกไปทัศนศึกษาตั้งแต่ตัวน้อยๆ พี่จะยืนดูจนลับตา เพราะชอบมาก อยากให้เด็กๆ ของเรามีประสบการณ์แบบนั้นบ้าง ค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆ นะคะคุณครู (พี่ใส่รูปไม่ได้ค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท