"หญิงจ๋านิยม : Feminism"


โดยส่วนตัวแล้ว มองเห็น "หญิง" (Wifmann =Woman=female human) มีหลายมิติทั้งทางบวกและทางลบในปัจจุบัน เนื่องจากว่า ในสังคมมีภาพและพฤติกรรมเกี่ยวกับหญิงหลายๆมิติ อยู่ที่ว่า เราอยู่ในถิ่นไหน หากอยู่ในเมืองย่อมเห็นเสน่ห์ความงามหญิงเต็มที่ ในขณะเดียวกันก็มีภาพเชิงลบด้านบันเทิงของเธอเช่นกัน แต่ถ้าหากอยู่ชนบทเธอย่อมดูเป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ ใสซื่อ ตามอัตภาพ ที่ไม่เติมเสริมแต่งมากนัก ในขณะเดียวกัน สิทธิ์และความกล้าหาญของเธอมิได้ถูกหล่อเลี้ยงจากสังคม เธอจึงดูเหี่ยวเฉาและแห้งแล้ง เพราะบทบาทถูกบดบังจากชายแย่งไปหมด

ด้วยเหตุนี้กระมัง ที่กระตุ้นให้กลุ่มสตรีเพศจึงต้องเรียกร้อง "สิทธิ" (The Right) ขึ้นมา เพื่อเติมเต็มสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมชายให้สมบูรณ์ในสังคม กลุ่มนี้ต้องการให้ผู้หญิงมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ชาย ซึ่งตลอดเวลาในอดีตที่ผ่านมา ผู้ชายกุมบทบาท และแสดงบทพระเอกมาตลอด ส่วนหญิงเป็นแค่ตัวประกอบเท่านั้น โดยเฉพาะในทางศาสนา การเมือง การปกครอง จึงทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไม่โดดเด่นนัก อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติดั้งเดิมของหญิงก็ยังมีจุดด้อยกว่าเพศชาย จึงถูกเอาเปรียบอยู่ตลอดเช่นกัน

อันที่จริงจุดนี้ เริ่มเกิดมาตั้งแต่ยุคกรีกในสมัยของสำนักโซฟิสต์ (Sophists) ชื่อว่า โปรทากอรัส (Protagoras) กล่าวว่า "มนุษย์คือ ผู้วัดสรรพสิ่ง" (Man is the measure of things) และคนหนึ่งคือ โสเครตีส ที่เที่ยวสอนผู้คนให้รู้จักคุณค่าแท้ของตน ไม่ให้เชื่อพระเจ้า ให้เชื่อในความสำนึก หน้าที่ เสรีภาพของตน ต่อมาอริสโตเติ้ล(Aristotle) ก็ค้านครูของตนที่บอกว่า ทุกอย่างมาจากแบบ แต่เขาแย้งว่า มาจากสสารและพลังในตัวมนุษย์ทั้งสิ้น คำว่า "มนุษย์" (man) มิได้แยกว่า เพศใด แต่ดูเหมือนว่า เพศชายจะมีภาพเด่นกว่าหญิง และเราก็ไม่เห็นนักปรัชญาสมัยนั้นมาจากผู้หญิงเลย ทำให้อำนาจในเพศชายเป็นใหญ่มาตลอด ส่วนกลุ่มหญิงจ๋านิยม ก็เพิ่งเกิดเมื่อปลายค.ศ.1789-1830 ชื่อ โอแลมป์ เดอ กูจ ชาวฝรั่งเศส ที่เรียกร้องสิทธิจนตัวตายด้วยเครื่องประหารกิโยติน

เรื่องนี้เริ่มด้วยนัยของนักปรัชญากลุ่มที่เรียกว่า "มนุษยนิยม" (Humanism) ได้เปิดไฟฉายให้มนุษย์มองเห็นศักยภาพภายในของตนเอง ว่ามีพลังอะตอมอยู่ภายใน (กัมมันตภาพ) พร้อมที่จุดชนวนให้เกิดพลังได้ จึงทำให้มนุษย์หันเหจากพระเจ้ามาสู่ตัวเองมากขึ้น นี่คือ โอกาสหรือเวลาที่เพศหญิงจะต้องยืนขึ้นเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันของตนในหมู่ชาย ในขณะอำนาจทางศาสนจักรถูกท้าทายมากขึ้น ทำให้สตรีเพศกล้าที่เดินออกมาท้ากรกับชายและคณะโบสถ์

โดยเฉพาะคำกล่าวของนิเช่ที่บอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" (God is dead) เป็นที่สะเทือนต่อชาวคริสต์ที่ท้าทายเช่นนั้น นั่นหมายถึง พระเจ้าหมดความขลังแล้ว เขาจึงเรียกร้องให้มนุษย์เห็นความสำคัญต่อพวกเราเอง เรานี่แหละที่สุดยอดปลายตาล มิใช่พระเจ้าที่ไหนหรอก อันที่จริงนิเช่เรียกร้องให้ชาวคริสต์เคร่งครัดในประเพณีหรือคำสอนในพระเจ้านั่นเอง เพราะคนเสื่อมจากศาสนามากขึ้นจึงกล่าวกลายๆว่า พระเจ้าไม่มีแล้ว เพื่อให้คนตื่นตัว แต่กลับเป็นชนวนเหตุให้คนยุคหลังนำมาเป็นประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นในตัวมนุษย์แทน จึงเกิดภาพยนตร์เรื่อง "มหามนุษย์" (Superman) ขึ้นมานั่นเอง

เมื่อมนุษย์หันมาให้ความสำคัญความเป็นมนุษย์หรือคุณค่าภายในตัวเอง แล้วมนุษย์ชนิดไหนละที่จะเรียกว่า "มหามนุษย์" เพราะโลกมีหลายเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ หลายเพศ หลายวัย หลายศาสนา หลายความเห็น จึงต้องเลือกเอาว่าประเภทใดที่จะเรียกได้ว่า "มนุษย์" (Manhood) มันก็เกิดปัญหาอีกว่า จะใช้อะไรวัดเป็นมาตรฐานสากลว่า "มีคุณสมบัติ" เช่นนั้น ในแง่อดีตทางปรัชญา ตั้งแต่โสเครตีสมา เสนอว่า ชีวิตที่ไม่ได้พิจารณาตนเอง ไม่ได้สำรวจตัวเองอย่างลึกซึ้ง ย่อมไม่ควรค่าแก่การดำรงชีวิต หมายถึง มนุษย์ต้องรู้จักศึกษา เรียนรู้ตัวเองให้ลึกซึ้งในเรื่องสติ ปัญญา เหตุผล คุณธรรม ประจำตัว แต่มนุษย์ทุกคนไม่ได้มีคุณสมบัติแบบนี้เสมอไปทุกคน

ในแง่ศาสนา ก็มีแนวคิดหรือหลักคำสอนหลากหลายเสนอไว้ในเรื่อง การฝึกตนให้เป็นมนุษย์เช่น เชื่อพระเจ้า ปฏิบัติตามหลักการพระเจ้า ปฏิบัติตามศีลธรรม ศีลพรต บูชาบวงสรวงพระเจ้า จิตย่อมผูกมั่น พันใจจนกลายเป็นมนุษย์ได้ แต่ปัญหาคือ คำสอนทางศาสนาเป็นหลักอุดมคติเชิงนามธรรม ยากที่ปุถุชนหรือคนยุคใหม่จะเข้าถึงหรือปฏิบัติตามได้ จึงยากอีกเช่นกัน และยิ่งเหมือนจะห่างไกลแห่งโลกความจริงขึ้นอีกด้วย อีกทั้งมีหลากหลายวิธีการที่ขัดแย้งกัน แล้วความเป็นมนุษย์วิสัยอยู่ตรงไหน

ทางเลือกที่พอจะเข้าถึงตรงจุดนี้คือ "จิต" (Mind) หรือ "วิญญาณ" (Soul) การเข้าถึงความเป็นมนุษย์ภายในตัวเอง คือ ตรงจุดที่สุด แต่มันจะเข้าถึงได้อย่างไร ถ้าเราไม่รู้ว่า "จิต" คือ อะไร อยู่ที่ไหน ทำงานอย่างไร ที่จะมาเป็น "ความเป็น" (Being) เรา จึงต้องศึกษาคำว่าจิตอีกเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับมนุษย์ เพราะเรื่องนี้มีปัญหามาตลอดในประวัติศาสตร์การเข้าถึงจิต ในวงการทางศาสนา ในที่นี่ มีที่มาสองสายคือ ศาสนาและปรัชญา ศาสนานั้น กล่าวถึง ลักษณะความอ่อนแอทางจิตมาก่อนเมื่ออยู่ในป่าเขา เช่น มีความกลัว ความไม่รู้ปรากฎการณ์ของโลก ส่วนปรัชญาเป็นผู้เสนอแนวทางแก้ไข และการนำเสนอให้จิตมีช่องทางเดิน เช่น เพลโตบอกว่า มนุษย์มีสองส่วนคือ จิตแท้ และจิตหยาบ (กาย) อริสโตเติลมองว่า มีกาย (สสาร) และวิญญาณ ต่อมาก็มีผู้คิดเสนอทฤฎีเรื่องนี้มากมาย เช่น เดส์การ์ต ได้เสนอเรื่อง กายและจิต ต้องอาศัยกัน เฮเกล ก็กล่าวไว้เช่นกัน เหล่านี้เรียกว่า "จิตนิยม" (Idealism) ซึ่งก็ไม่ใช่ตรงกับคำว่า "สตรีนิยม" อยู่ดี

ฉะนั้น คำนี้ คงต้องวิเคราะห์ในตัวภาวะเพศเองว่า หมายถึงอะไร สิ่งที่เราเห็นในตัวมนุษย์คือ "สัญเพศ" (Sex sign) หรือ "เพศ" (Sex) เพราะมนุษย์ดั้งเดิมมีแค่สองเพศคือ "เพศชาย" (Male)และ "เพศหญิง" (Female) ในเชิงชีววิทยาเพศนี้เป็นช่องทางในการขยายเผ่าพันธุ์ ซึ่งธรรมชาติได้คัดเลือกสรรค์ให้เพศหนึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูสายพันธุ์ตนเองด้วยความใกล้ชิด ดังนั้น ธรรมชาติจึงแสดงสัญลักษณ์ชัดเจนว่า ใครเป็นเพศใด ทำหน้าที่อะไร ด้วยผลของสัญชาตญาณและการรังสรรค์เพศหญิงแห่งธรรมชาติให้เหมาะสมและเตรียมพร้อมสำหรับสืบสายพันธุ์ จึงทำให้เพศหญิงกลายเป็นเพศสวยงาม เพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม

ด้วยเหตุนี้เจ้าของเพศในยุคใหม่จึงหลงใหลหุ่นหรือความสมบูรณ์ของตนเอง ในขณะเดียวกันก็ทำให้เพศตรงข้ามหลงใหลด้วย แต่กระบวนการนี้เป็นไปในช่วงต้นของชีวิตเท่านั้น หลังจากให้กำเนิดเผ่าพันธุ์และมีอายุ ร่างกายก็จะทรุดลง ความงามก็จะสูญหายไป ซึ่งนั้นมิได้หมายถึงความเป็นมนุษย์มิใช่อยู่ที่เพศ ธรรมชาติจะบอกเองให้ดูระยะเบื้องต้นและตอนปลาย (ในครรภ์และตอนชราภาพ) คำว่า เพศ มิได้มีนัยสำคัญทางธรรมชาติ นอกจากคำว่า กลไกตามหน้าที่รักษาสายพันธุ์เท่านั้น 

ความเป็นมนุษย์จึงมิได้อยู่ที่เพศ หากแต่อยู่คุณภาพของจิตใจ และคุณลักษณ์ของปัญญาหรือจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคลนั่นเอง การที่เพศหญิงเรียกร้องภาวะเท่าเทียมจึงมิได้มีนัยในจุดนี้ หากแต่เกิดจากประเพณี วัฒนธรรม สังคม ทัศนคติ ศาสนา ฯ มากกว่า เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ยังแอบแฝงซ่อนอยู่ในมนุษย์ทุกๆคน อยู่ที่ว่าใครจะได้รับการฝึกฝน ขัดลับ แกะสลักด้วยความเพียรรู้ เพียรทำ ในกิจใดๆ จนบรรลุจุดสำเร็จ จนกว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์ด้วยกันประจักษ์แจ้ง มนุษย์จึงจะยอมรับศักยภาพตรงนั้น 

ช่องทางที่สตรีเพศจะสร้างความเท่าเทียมกับเพศชายคือ ๑) การเลี้ยงดูลูกผู้หญิงให้รู้จักสิทธิ ศักยภาพตน ๒) การศึกษาหาความรู้ เพื่อสร้างความไว้ใจและเชื่อใจแก่สังคม ๓) มีความกล้าหาญ มีอุดมการณ์ มีความคิดภาวะผู้นำ ๔) เข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม และสาธารณะให้มาก ทุ่มเทและมุ่งมั่น เพื่อประโยชน์ประชาชน ๕) ช่วยเหลือกลุ่มเพศเดียวกันเสมอเมื่อได้รับความไม่ยุติธรรม ๖) มี คุณธรรม มีหลักธรรม มีหลักการในการทำงานที่แน่วแน่ ๗) อย่าส่งเสริมให้คนอื่นหรือสังคมดูถูกและทำลายเกียนติยศ ศักดิ์ศรีของเพศแม่ ๘) พึงเตือนตนเสมอว่า เราคือ แม่ของโลก (มนุษย์) ๙) คุณค่าแท้อยู่ที่จิตใจและความสามารถ มิใช่รูปร่างหน้าตา ๑๐) เป็นภรรยาที่ดีของสามี

ส่วนในแง่ลบ ผู้เขียนอยากเสนอไว้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้ว่ากล่าวเพศแม่ แต่กล่าวถึงกระแสภาพรวม ที่เรา (ทั้งชายและหญิง) ร่วมกันสร้างขึ้นมาร่วมกันคือ-

๑) การแสดงออกทางเพศที่ก้ำเกินภาวะตนเอง (free dressing) ซึ่งมันมีผลกระทบต่อทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ผู้ชายมีแรงขับจากเพศเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะสันดานความเป็นเพศผู้ หากเพศหญิงช่วยกันเขย่า เย้ายั่ว ให้หัวใจเขาไหวหวั่น อะไรจะกระเทือน มีข่าวอยู่มากมาย เพราะการแต่งตัว การส่งเสริมเรื่องเพศ ทั้งภาพและเสียง แม้กระทั่งเด็กตัวน้อย แต่งตัวกันอย่างเสรี มันกลายเป็นการส่งเสริมหรือไม่ มิใช่เหตุผลแค่สวยงามหรือสมัยนิยม พ่อแม่ ครู ฯ คือ ผู้ควรชี้แนะ ผลคือ มันจะกระตุ้นให้เพศผู้กลายเป็นคนมักมากในกาม ท่วมท้นล้นใจ ขาดภาวะการคุมใจ ปัญหาครอบครัวจะตามมาและกลายเป็นเมืองเสรีเซ็กส์ได้   นี่มิใช่การเรียกร้องเสรีภาพหรือสิทธิเท่าเทียมชายหรอกนะ

๒) สังคมกำลังใหลหลงไปในเรื่องความงาม ความสวย ความสง่า ความเว่อร์ด้านโฆษณาเครื่องสำอาง (femalehood) ที่ทำให้สตรีไหวหวั่นไปกับเครื่องสำอางรุ่นใหม่หรือ อุปกรณ์สำหรับหญิงจ๋าจริงๆ เช่น กระเป๋าสตรี รองเท้า เครื่องสำอาง เสื้อผ้า รถราหน้าหญิง ศิลปะหญิง หนังสือสำหรับหญิง ห้องน้ำหญิง  คติ อุดมการณ์ ทัศนะ ฯ การหลอมกิจกรรม สิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามลักษณะเพื่อหญิงคือ การตีกรอบตัวเองให้เป็นเขตหรือเนื้อหาเฉพาะกลุ่มหญิงจ๋า ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของเพศหญิงไปในตัว จนมันได้สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชาย ทำให้ชายกลายพันธุ์อยากเป็นหญิงจ๋ากับเธอบ้าง แล้วต้องสร้างพื้นที่ อุปกรณ์สำหรับเพศนี้ขึ้นมากอีกกลุ่ม

๓) การจัดประกวดหญิงงามตามงานต่างๆ (miss contest) หรือส่งเสริมให้สตรีได้โอกาสแสดงความงามของตนที่มีอยู่ เป็นการเพิ่มคุณค่าของตนเอง เราภูมิใจมากที่เห็นหญิงใส่ผ้าชิ้นน้อย เดินอวดองค์ ตรงหน้าสื่อ จับจ้องตาเป็นมัน มันเป็นเรื่องส่งเสริมอะไรกันแน่ ผู้หญิงควรจะปกป้องร้องเรียนเรื่องกิจกรรมเหล่านี้ให้หมดไป ถ้าจะเรียกร้องสิทธิและคุณค่าของตนเอง ไม่ควรเชื่อตามคำอ้างประเพณี วัฒนธรรม นี่คือ ของฝรั่งชัดๆ

๔) สื่อต่างๆ มีแต่สิ่งเหล่านี้เป็นหลัก (erotic add) เกือบทุกโฆษณาจะมีผู้หญิงหุ่นสมบูรณ์เป็นพรีเซ็นเตอร์ กลายเป็นฟรีเซ็นเซอร์ไปเลย ดารา นักร้อง นางแบบ พริตตี้ โคโยตี้ งานบริการ สาวเชียร์แขก สาวบาร์ สาวอาบ อบ นวด ฯ แม้แต่ตามหน้าหนังพิมพ์ นิตยสาร ก็เต็มไปหมด ที่เลวร้ายคือ สื่ออินเตอร์เน็ต ฯ สิ่งเหล่านี้ มิได้เป็นผลดีต่อเด็กเยาวชน แต่มันคือ สิ่งหล่อหลอมทำให้พวกเขาเห็นเส้นทางเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

๕) ความอิสระแห่งเสรีภาพในร่างกายและอวัยวะชิ้นส่วนของตนเอง (free looking) คือ สมบัติของบุคคลนั้น แต่เมื่อเขาไม่ถือสิทธิตรงนี้ แล้วยังแสดงอวดโชว์ให้ผู้อื่นชม ก็ยากจะทัดทานกันได้ นั่นคือ ปัญหาและภาระที่รัฐมนตรีปวีณา ต้องแก้ไข การเดิน การนั่ง การกิน การดื่ม การแต่งตัว การพูด ฯ ล้วนแล้วแต่ขาดกิริยาน่าเคารพหรือน่าให้เกียรติ เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลและเล็กมาก ซึ่งไม่ใช่ประเด็นหลักที่กลุ่มหญิงจ๋า เรียกร้องกัน แต่มันคือ ขยะหน้าบ้านที่ค่อยๆ สะสมไปตามกาลเวลา

ประเด็นหลักที่กลุ่มหญิงจ๋าเรียกร้องคือ ๑) สิทธิเท่าเทียมชาย ๒) การกดขี่ทางเพศ ๓) สิทธิทางสังคม ๔) สิทธิแรงงานและค่าตอบแทน ๕) ความไม่ยุติธรรมสำหรับสตรี ๖) สิทธิทางศาสนาที่ผู้หญิงควรได้รับและไม่ได้รับ ๗) สิทธิด้านกฎหมาย ที่เอื้อให้ได้รับสิทธิในเรื่องสินทรัพย์ การเลี้ยงดู ในครอบครัว ๘) สิทธิการศึกษา ๙) สิทธิด้านการทำแท้งบุตรที่ไม่พึงประสงค์ และ ๑๐) สิทธิการปกป้องคุณค่าสตรีตาม Now ตั้งขึ้น

ทั้งหมดที่กล่าวและแสดงทัศนะมา ต้องขออภัยเพศหญิงทุกท่านที่อ่าน ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวถึงบุคคลใดเฉพาะ แต่ต้องการเสนอความคิดและวิพากษ์ประเด็นหญิงจ๋า เพื่อให้เกิดมุมมองหลายด้าน อีกมุมมองผู้เขียนก็อยากเรียกร้องสิ่งต่างๆในสังคมแทนกลุ่มนี้ด้วย อยากกระตุ้นให้สตรียืนหยัดกล้าหาญเหมือนอย่างกับผู้นำโลกหลายๆคนทั้งอดีตและปัจจุบันเช่น นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายฯ ของอังกฤษ, นางอังกิลา แมร์เคิล นายกฯ เยอรมัน, นางคริสตินา เฟอร์นาเดส เดอ เดิร์ชเนอร์ นายกฯ อาร์เจนินา, นางดิลมา รอสส์เซฟฟ์ นายกฯ บราซิล, นางจูเลีย กิลลาร์ด นายกฯ ออสเตรเลีย, นางชิค ฮาชินา อเจด นายกฯ บังคลาเทศ, นางโจฮันนา ชิเกอร์ดาร์ทธ์ นายกฯ ไอซ์แลนด์, นางลอล่า ชินชิลล่า นายกฯ คอสตาริกา, นางตารยา ฮาโลเน นายกฯ ฟินแลนด์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ประเทศไทย และนางนางอองซาน ซูจี เหล่านี้คือ ผู้นำหญิงที่กล้าหาญ ต่อสังคมที่หญิงจ๋าเรียกร้องกัน สู้ๆๆนะครับ

Feminism is the belief that all people are entitled to the same civil rights and liberties and can be intellectual equals regardless of gender. However, you should still hold the door for a feminist; this is known as respect or politeness and need have nothing whatever to do with gender discrimination.
หมายเลขบันทึก: 554241เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2013 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2013 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจคะแปล feminism ว่า หญิงจ๋านิยม ขอบคุณสาระดี ๆ จากบทความนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท