dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

เด็กปฐมวัยกับความก้าวหน้าด้านสื่อในศตวรรษที่ 21


 

เด็กปฐมวัย กับความก้าวหน้าด้านสื่อในศตวรรษที่ 21

        ความก้าวหน้าในด้านสื่อและเทคโนโลยีในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และประเทศไทยก็อยู่ในภาวะดังกล่าวเช่นกัน เวลาอ่านหรือฟังข่าวต่างประเทศครั้งใดอดนึกถึงประเทศไทยของเราไม่ได้ ได้อ่านข่าวชิ้นหนึ่งปรากฏว่า ซีซีทีวีเผยว่าพบเด็กทารกจีนเพียง 3-4 ขวบเป็นสายตาสั้น สาเหตุจากการจ้องดูและเล่นแทปเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือนาน โดยรายงานข่าวกล่าวว่าปัจจุบันแทปเล็ตและโทรศัพท์มือถือกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เลี้ยงเด็ก เพราะผู้ปกครองเห็นว่าช่วยให้ลูกของตนมีความเพลิดเพลิน สามารถนิ่งอยู่กับที่ได้นาน นอกจากนั้นหากครั้งใดที่ลูกงอแงก็มักจะใช้วิธีชวนให้ดูชมสิ่งต่างๆจากแทปเล็ตซึ่งพกพาง่ายเสมือนเป็นพี่เลี้ยงของลูก   และข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างๆในจีนพบว่า มีแม่จำนวนมากพาลูกที่ยังเล็กมาตรวจวัดสายตา ด้วยอาการของลูกน้อยที่ยังเล็กมากจ้องเพ่งมองสิ่งต่างๆในระยะใกล้ จึงสงสัยมาตรวจวัดด้วยวิธีของจักษุแพทย์ จึงได้รู้ว่าลูกของตนนั้นสายตาสั้นเสียแล้ว

       ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญฯแนะนำว่า ระยะห่างของการใช้สายตาจ้องดูหน้าจออิเล็กทรอนิกส์นั้นควรจะอยู่ที่ระยะมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นๆไป ซึ่งถ้าหากมีอาการเพ่งจ้องใกล้กว่าระยะดังกล่าว ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าเด็กน้อยจะสายตาสั้น นอกจากนั้นไม่ควรมองดูหน้าจอนานติดต่อกันเกิน 20 นาทีหรือเฉลี่ย 1 ชั่วโมงต่อวัน อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญฯเตือนว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการจ้องมองดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดเพราะจะทำให้เกิดอาการเสื่อมของดวงตาก่อนวัยอันควร เช่น ต้อกระจก วุ้นตาเสื่อม ฯลฯ

      สำหรับเด็กไทยเราจะทำอย่างไรในเมื่อพวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่จำเป็นต้องพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพในสภาพแวดล้อมที่เป็นความเจริญทางเทคโนโลยีแบบไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่ เป็นวัยของการวางรากฐานชีวิตมนุษย์ ในเมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องข้อมูลข้างต้น ดังนั้นเราต้องหันกลับมาพัฒนาเด็กเล็กๆอย่างถูกต้องด้วยการให้เด็กมีความสามารถใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น การเห็น การได้ยิน ตลอดจนการสัมผัส ฯลฯ เราซึ่งเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลและเลี้ยงเด็กจึงควรรู้ถึงกิจกรรมหรือวิธีการที่จะพัฒนาเด็กเล็กๆและสามารถนำมาใช้กับเด็ก แทนการใช้แทปเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ  ดังเช่น 

-  ฝึกให้เด็กใช้กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เช่น ยิ้ม ขมวดคิ้ว ทำตาโต เล่นเกมการทำหน้าตาแปลกๆ แล้วเลียนแบบเด็ก

-  จัดกิจกรรมหรือเกมที่เด็กได้ฝึกฝนการใช้ประสาทสัมผัส เช่น ปิดตาหาเพื่อน เกมปิดตาตีหม้อ ส่งถ้วยน้ำโดยไม่หก โยนลูกบอลลงตะกร้า เป็นต้น

-  ฝึกการใช้กล้ามเนื้อเล็กอย่างต่อเนื่อง เช่น การต่อบล็อก เล่นภาพตัดต่อ เล่นเกมการศึกษา            

 

-   ส่งเสริมและชักชวนให้เด็กได้สำรวจอากาศจากการสังเกตและการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส เช่น ทัศนศึกษา การสำรวจสภาพอากาศบริเวณรอบตัวเด็ก และสภาพแวดล้อมเด็ก

-  จัดกิจกรรมให้เด็กได้วาด ขีดเขียน ปั้น ระบายสี ตัด ปะ ฉีก  หรือกิจกรรมที่ฝึกการใช้ประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา เช่น ร้อยลูกปัด ผูกและแก้ปมเชือก ร้อยดอกไม้ พับผ้า พับกระดาษ เป็นต้น

   ดังนั้นกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถพัฒนาเด็กให้มีความสามารถใช้ประสาทสัมผัส ได้อย่างมีคุณภาพเพราะเด็กวัยนี้การพัฒนาประสาทสัมผัสมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของเด็กที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ 

  

หมายเลขบันทึก: 554073เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท