หลักการสอนจริยศึกษา โดย konnthainakrap (น่าสนใจ)


1. หลักการเบื้องต้นในการสอนจริยศึกษาซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากผลการค้นคว้าวิจัยและจากบาง

ส่วนของวิชาจิตวิทยาการศึกษามีดังนี้

 1.1 การสอนจริยศึกษาควรเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมในลักษณะบวก ไม่ใช่ ลักษณะลบ เช่นในการตั้งจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ควรระบุลงไปว่าเพื่อ เสริมสร้างและดำรงรักษาไว้ซึ่งความประพฤติที่ดีของนักเรียนทุกคนในระดับสูง สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ไม่บอกแต่เพียงว่าเพื่อให้นักเรียนทุกคนไม่ทำชั่วไม่ ทำบาปเท่านั้นรวมทั้งการยกตัวอย่างประกอบในการสอนก็เช่นเดียวกันครูอาจารย์ ควรจะยกตัวอย่างบุคคลที่มีความประพฤติดีดีกว่าไปยกย่องบุคคลที่มีความ ประพฤติไม่ดี

1.2 จุดประสงค์ที่สำคัญในการสอนจริยศึกษา คือ ความเป็นผู้ปฏิบัติตนของนักเรียนไม่ใช่สอนเพื่อให้ผู้เรียนได้รับแต่เพียงความรู้ไปเท่านั้น ครูอาจารย์ควรพยายามสอนให้นักเรียนคิดถึงวิชาจริยศึกษาไปในแง่ของการปฏิบัติมากกว่าในแง่ของการท่องจำวิชาความรู้ทั้งนี้เพราะการปฏิบัติมีผลต่อความประพฤติของผู้เรียนโดยตรง

1.3 ครูอาจารย์จัดประสบการณ์ทางการเรียนรู้ให้เหมาะสมหรือสอดคล้องกับพัฒนาการทางด้านสรีรวิทยา ทางด้านจิตวิทยาและทางด้านสังคมวิทยาของนักเรียน ทั้งนี้เพราะการประพฤติหรือการปฏิบัติครอบคลุมไปทั้งภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ และสังคมซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากในเรื่องความประพฤติตนให้มีจริยธรรม

1.4 บทเรียนที่ครูอาจารย์จะสอนนักเรียนนั้นควรจะได้คำนึงถึงความสนใจ ความต้อง การความสามารถ และภูมิหลังของนักเรียนด้วยเสมอ เพราะทั้ง 4 อย่างนี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญมากเกี่ยวกับตัวนักเรียนที่จะช่วยให้การเรียนรู้บรรลุเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใดการเรียนการสอนจริยศึกษาจะไม่ได้ผลเต็มที่ถ้าหากบกพร่องหรือขาดองค์ประกอบอย่างหนึ่งอย่างใดใน 4 อย่างนี้ไป

1.5 การสอนจริยศึกษาเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีนั้น ครูอาจารย์ ควรจัดให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในบทเรียน หรือมีการกระทำสิ่งต่าง ๆ รวมกัน รวมถึงการที่นักเรียนได้มีโอกาสแสดงออก ซึ่งความคิดเห็นต่าง ๆ อันเป็นผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือพัฒนาบุคลิกภาพได้อย่างแท้จริง เช่น การสอนเรื่องความเคารพ (คารวะ)ไม่ใช่เพียงแต่จะให้นักเรียนฟังคำอธิบาย และชมการสาธิตของครูเท่านั้นแต่นักเรียนควรจะได้มีส่วนร่วมโดยการฝึกปฏิบัติในการแสดงความเคารพด้วยตนเองรวมทั้งได้มีการอภิปราย และซักถามข้อสงสัยด้วย

1.6 การสอนจริยศึกษาแบบแก้ปัญหาจัดว่าเป็นสถานการณ์แห่งการเรียนรู้ที่ได้ผลดีแบบหนึ่งก็ต่อเมื่อปัญหานั้นเป็นเรื่องจริงและมีความหมายต่อตัวนักเรียนเท่านั้นเด็กในระดับประถมศึกษาเป็นวัยที่เริ่มมีความสามารถที่จะคิดในสิ่งที่เป็นรูปธรรมเริ่มรู้จักเหตุผล และค้นหาความจริง แม้จะยังคำนึงถึงวัตถุทางกายเป็นหลักอยู่ก็ตามแต่ก็เริ่มเปลี่ยนไปสู่วัยแสวงหาความจริงชอบค้นคว้าหาเหตุผลอันเป็นวัยของเด็กชั้นมัธยมศึกษา ดังนั้นการสนับสนุนให้เป็นผลประโยชน์ และโทษของการปฏิบัติการฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักแก้ปัญหาทางด้านจริยธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการเรียนวิชาจริยศึกษา เพราะการแก้ปัญหาจริยธรรมได้นั้นย่อมสร้างพฤติกรรมหรือพัฒนาบุคลิกภาพให้แก่นักเรียน ดังนั้นปัญหาที่ครูหยิบยกขึ้นมาจึงควรเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของชีวิตจริงในปัจจุบันซึ่งมีความหมายและความสำคัญต่อตัวเด็กเสมอ

1.7 จุดประสงค์ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนจริยศึกษาควรจะต้องมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์ในชีวิตจริงของนักเรียนเสมอกิจกรรมหลาย ๆอย่าง ที่ครูอาจารย์นำมาใช้ควรเป็นกิจกรรมที่นักเรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงของ นักเรียนได้ด้วยจะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ดียิ่งขึ้นอันที่จริง นักเรียนไม่ได้เรียนแต่เฉพาะเนื้อหาหัวข้อจริยธรรมเท่านั้นแต่นักเรียนจะเรียนวิธีการ หรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่ครูอาจารย์นำมาใช้เป็นวิธีการสอนจริยศึกษาด้วย

1.8 ครูอาจารย์ควรจะให้นักเรียนได้รู้จักสรุปแนวความคิดรวบยอดของเนื้อหา หัวข้อจริยธรรมและสามารถนำเอาแนวความคิดรวบยอดเหล่านั้น ไปใช้กับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆของชีวิตประจำวันได้ เพราะเนื้อหาหัวข้อจริยธรรมสำหรับแต่ละระดับการศึกษานั้นมีมากจนเป็นการยากที่นักเรียนจะจดจำ หรือหยิบยกนำไปใช้ได้หมดการสอนที่เน้นในเรื่องแนวความคิดรวบยอดมีความสำคัญมากสำหรับวิชาจริยศึกษา

1.9 นักเรียนแต่ละคนย่อมมีเอกลักษณ์โดยเฉพาะของตัวเอง นักเรียนจึงสามารถเรียนรู้ได้ตามอัตราและด้วยวิธีการสอนหรือวิถีทางของเขาเองเสมอ ดังนั้น กิจกรรมหรือวิธีสอนและสื่อสารการเรียนที่ผู้สอนจะนำไปสอนจริยศึกษา จึงจำเป็นต้องมีหลาย ๆอย่างแตกต่างกันไปด้วยเพื่อจะได้ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย konnthainakrap

 
หมายเลขบันทึก: 553143เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2013 13:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริยธรรมบางพรรคสอนอยากจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท