แรงงานเพื่อนบ้าน (2)


แรงงานเพื่อนบ้าน (2)

ชะตากรรมชีวิตที่เคว้งคว้างกลางท้องทะเลของคนเรือ

 

          “เมื่อเราตัดสินใจที่จะออกไปทำงานบนเรือประมง เท่ากับว่าชีวิตของเราหายไปแล้ว 50  เปอร์เซ็นต์  ท่ามกลางแผ่นฟ้าและผืนน้ำทะเลที่กว้างใหญ่สุดหูสุดตา เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะต้องเจอกับปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างเพราะฉะนั้น เราต้องเอาชีวิตให้รอด ต้องรักษาชีวิตของตัวเองไว้ให้ดีที่สุด เป็นทางเดียวที่จะทำได้  เมื่อเราตัดสินใจก้าวย่างลงเรือ”   เสียงและความหมายจากบรรดาลูกเรือประมงที่ออกหาปลานอกน่านน้ำไทยไปหาปลาแถบเกาะต่างๆ ของประเทศอินโดนีเซียต่างถอดความรู้สึกออกมาเป็นเสียงเดียวกันในค่ำคืนหนึ่งที่เพิงร้านอาหารเล็กๆ ริมทางรถไฟมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

 “ ป๋าโต”   เป็นชื่อที่ลูกน้องหรือคนเรือหลายต่อหลายคนเอ่ยถึงเสมอเมื่อยามตกทุกข์ได้ยาก  หรือยามสบายใจลูกเรือจะอยู่จะกินหรือนอนแกจะเกี่ยวข้องในชีวิตลูกเรือเกือบหมด   ป๋าโตแกเป็นคนกว้างขวางในแวดวงชาวเรือในแถบเมืองมหาชัยพอสมควร   แกเช่าบ้านพักครึ่งไม้ครึ่งปูนริมทางรถไฟมหาชัย ซึ่งเป็นที่สัญจรไปมาของคนเรือเมื่อยามเรือเข้าฝั่ง และรอเรือจะออกฝั่งอีกครั้ง  ใกล้ๆ กับบ้านแกมีร้านเหล้า เบียร์ และเคล้าเสียงคาราโอเกะเล็กๆ เรียงรายทอดไปขนานกับทางรถไฟทั้งซ้ายและขวามากกว่าสิบร้าน  คนมาเที่ยวต้องรู้เส้นทาง  ร้านแถบนี้เชื่อไหมว่ามีชื่อเสียงดังไปถึงวงเวียนใหญ่ นั่นคือสถานีรถไปต้นทางจากกรุงเทพมหานคร สุดทางที่สถานีรถไปมหาชัย ซึ่งอยู่ห่างจากร้านรวงคาราโอเกะไม่ถึงสามร้อยเมตร

ผมได้รับคำแนะนำกับรุ่นพี่ที่ทำงานมูลนิธิฯ ที่ทำงานด้านแรงงานในมหาชัยบอกว่า   “หากอยากทราบเรื่องคนทำงานบนเรือ ต้องมาถามที่แกดู  แกเป็นคนใจอัธยาศัยดีมาก ถึงลูกถึงคน ตรงไปตรงมา”    

ยามค่ำของวันหนึ่ง  ผมและรุ่นพี่จึงเดินทางไปหาป๋าโตที่ริมทางรถไฟตามคำแนะนำของรุ่นพี่ 

“เอ้ย ไอ้น้องเข้ามาข้างในเลย”   คำทักทายแรกที่แกเปรยออกมาก่อนผมจะทักแก  แค่ประโยคแรกผมก็รู้สึกอยากสนทนากับแกแล้ว     ผมอาศัยใจกล้าหน้าด้าน ถามตรงไปเลย      “ป๋าโตครับ ป๋าลองเล่าชีวิตจริงของลูกเรือให้ฟังหน่อยได้ไหมครับว่า ลูกเรือประมงมันเกี่ยวข้องกับเรื่องค้าคนค้ามนุษย์อย่างไร”   ดูเหมือนประเด็นที่ผมถามแกคุ้นเคยดี ไม่มีท่าอิดออดถามคืน  และแกก็ตอบทันใด  “ป๋าเริ่มออกเรือประมงตั้งแต่อายุ 16 ปี  ป๋าน่าจะเป็นรุ่นบุกเบิกของการออกเรือประมงนอกน่านน้ำ การออกเรือสมัยก่อนๆ  เริ่มต้นออกเรือหาปลาในน่านน้ำเวียดนามก่อน การออกเรือในน่านน้ำเวียดนามนั้นเป็นอะไรที่ท้าทายมาก  เพราะมีความเสี่ยงอันตรายมาก เนื่องจากการออกเรือในน่านน้ำเวียดนามสมัยก่อนไม่มีการออกตั๋วเรือ ต้องใช้การลักลอบจับปลา ช่วงนั้นทหารเรือของเวียดนามถือว่าโหดจริงๆ  คือว่า  เมื่อมีเรือตรวจการของทหารเวียดนาม พอตรวจพบเรือประมงที่ออกหาปลา  เรือตรวจการจะตามประกบเรือหาปลาทันทีพร้อมทั้งกราดยิงกระสุนปืนอย่างนับไม่ถ้วน  ทำให้ลูกเรือเป็นจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิตที่น่านน้ำเวียดนาม  เรือตรวจการของทหารเวียดนามสมัยก่อนนั้น เราก็ดูไม่รู้คิดว่าเหมือนเรือเร็วทันสมัย แต่ที่ไหนได้มันเป็นเพียงเรือหาปลาที่ติดอาวุธเท่านั้น” แกหยุดหายใจสักพักแล้วพูดต่อ     “แต่ป๋ารอดมาได้อย่างไรไม่รู้นะ”     ทันใดมีเสียงลอดมาจากในร้าน “ป๋ามีของดีสิ ถึงรอดมาได้  ป๋าแน่จริงๆ เลย “ และตามด้วยเสียงสำทับแซวแทรกเรื่องราวสลับหัวเราะตาม   แกหันซ้ายขวามองไปรอบๆ ตัว ว่าจะมีใครอีกไหมมาแอบฟังแกเล่า      ป๋าโตหยุดถอนหายใจสักครู่ พร้อมยกแก้วมีสีน้ำอำพันจิบไปพลางๆ แก้เหนื่อย หยิบผ้าพันคอมาเช็ดเหงื่อ  หลับหูหลับตาสักพัก ระหว่างเช็ดเหงื่อ แกก็ ลืมตา เห็นบรรดาลูกเรือที่เป็นลูกน้องต่างทยอยมานั่งอยู่รายล้อมข้างๆ แกมากว่าสิบคน   ป๋าโตเริ่มฉุนเฉียวเล็กน้อยพลางแอบยิ้มแกมอารมณ์หยอกเอินเล็กน้อย ก่อนกระแทกเสียงไปยังลูกเรือเบาๆ     “เอ้ย ! ไอ้เดช  ไอ้แดง เดี๋ยวกูให้มึงพูดแทนกูเลย  แหม กำลังเล่าได้อารมณ์เชียว  เอ็งให้ข้าเล่าก่อนสิ  เดี๋ยวมึงคอยแทรกทีหลัง โอเคไหม เดี๋ยวก็เปรี้ยงให้หรอก”    เดชและแดงหน้าแดงหน้าหงายเล็กน้อยพลางอมยิ้ม คิดว่าแกไม่ทำอะไรหรอก แกปากร้ายใจดี    

  แกมองหน้าเดชและแดงสักพักแล้วแกก็เล่าต่อ   “จำไว้นะไป้น้อง  เรือที่ออกไปหาปลาที่น่านน้ำอินโดหรือที่อื่นๆ  เขาจะเรียกว่า  เรือลูก   เรือออกไปแต่ละครั้งใช้เวลาถึง 4 - 5 ปี เรือแต่ละลำจะมีทั้งลูกเรือทั้งไทยและเทศหรือพวกต่างด้าวพม่า ลาว เขมรนั่นแหละปนกัน    ที่มาของคนเรือแต่ละชาติมีความแตกต่างกันมากันหลายรูปแบบ ทั้งจากการมาแบบสมัครใจ แบบถูกนายหน้าหลอกมา หรือถูกบังคับมาเลยก็มี  วิธีการหลอกคนมาก็ต่างกันออกไป เช่นการมอมยา มอมเหล้า หลอกว่ามาทำงานที่นี้สิได้เงินดี งานสบาย ไม่มีค่าเช่าบ้าน ค่ากินอยู่   ส่วนพวกที่ถูกหลอกโดยนายหน้า กรณีที่เป็นคนพม่าจะมากันเป็นชุดๆ ของเขาเอง แต่ละเป็นชุดอาจมีมากกว่า 5 คนต่อชุด   อีกวิธีการมาของคนพม่าเช่น บางคนอาจถูกหลอกมาจากพม่า หรือโดนค้ามนุษย์มาตั้งแต่ต้น

 แต่ต่างชาติที่โดนหลอกมาทำงานประมงมากที่สุดคนส่วนใหญ่เป็นพม่า กัมพูชา และลาว”   แกนิ่งสักพัก แล้วมองมาที่ผมถามว่า “สงสัยใช่ไหมว่า คนไทยไม่น่าจะถูกหลอกลงเรือรึ?”     ผมตอบทันควัน  “ครับผม ผมก็ว่าจะถามเหมือนกัน”   แกรีบตอบ   “ จริงๆ แล้ว คนไทยนะ ที่ถูกหลอกมามากที่สุด”    “อ้าวจริงหรือครับป๋าโต”   ผมฟังถึงตอนนี้ผมเริ่มสับสนตัวเองเพราะที่เคยฟังมาส่วนใหญ่ใครเขาก็มักจะบอกว่าเป็นคนพม่าที่ถูกหลอกมาขายลงเรือ ไม่นาจะใช่คนไทยแล้วตอนนี้ 

แต่ผมจึงตั้งใจฟังป๋าโตแกเล่าต่อ         “ ฟังนะน้อง  แต่ก่อนเมื่อประมาณ เกือบ 20           ปีที่แล้ว คนที่ถูกหลอกมาส่วนมากมาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ สถานที่ที่โดนหลอกมากๆ คือ หัวลำโพง และหมอชิต โดยพวกนายหน้าจะชักชวนในกลวิธีต่างๆ  จนสามารถเอาตัวมาถึงที่มหาชัย”    หากคนถูกหลอกโชคดีเจอเถ้าแก่ดีๆ ก็รอดไป   “แต่ก็มีนะ คนไทยตกงานสมัครใจไปทำงานบนเรือก็เยอะเหมือนกัน  แต่บางคนก็ผ่านนายหน้าเช่นกัน  

สำหรับพวกที่มากับนายหน้า  ก่อนลงเรือ นายหน้าที่หลอกคนมาจะมารรับเงินจากเถ้าแก่ ซึ่งเป็นผู้ชาย  หรือเถ้าเก๋  แล้วเอาเงินไปซื้อของที่จำเป็นใช้ในเรือ แล้วพาส่งขึ้นเรือ”   

 ผมสงสัยเรื่องเถ้าเก๋ขึ้นมา  “ป๋าครับ ไอ้ที่ว่า เถ้าเก๋เป็นใครหรือครับ”    “ก็เป็นเมียเถ้าแก่ไง รู้ยัง เถ้าเก๋คุมอีกที”   ผมผงกหัวดูให้แกเห็นว่าผมเริ่มเข้าใจและผมก็ถามแกต่ออีก   “แล้วคนงานเขาจะได้รับเงินเดือนอย่างไรครับ”    ป๋าตอบทันควัน  “เงินเดือนของคนที่ออกเรือครั้งแรกจะเป็นเงินที่สามารถเบิกไปใช้ก่อนขึ้นเรือและเบิกให้ครอบครัวที่อยู่บนฝั่ง ในแต่ละเดือนจะได้รับเป็นเดือนๆ ไป ตามแต่ตำแหน่งงานและการทำงานของแต่ละคน เมื่อเรือครบกำหนดในการออกเรือจะมีการแบ่งส่วนในการขายปลาแล้วแบ่งส่วนให้ลูกเรือตามเปอร์เซ็นต์ หรือเขาเรียกว่า แบ่งส่วน  ตามแต่ยอดขาย เช่น ไต้ก๋ง  จะได้หนึ่งเปอร์เซ็นต์ จะลดหลั่นกันไปตามตำแหน่งงานโดยเฉลี่ยการออกเรือแต่ครั้งลูกเรือจะได้รับเงินรวมกันไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทในการขึ้นปลาแต่ละครั้ง   การรับเงินเดือนลูกเรือสามารถให้สำนักงานบริษัทเจ้าของเรือโอนเงินเข้าบัญชีคนไหนก็ได้ ตามที่ลูกเรือบอก เช่น เมีย แม่ หรือญาติตามแต่”    

ผมฟังจบทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า  เวลาลูกเรือแต่ละคนกลับมาใช้เงินกันอย่างมือเติบ  เที่ยวกินทั้งวันทั้งคืน บางคนแทนที่จะเก็บเงินกลับบ้าน กลับกลายเป็นหนี้สินกับเจ้าของร้านเหล้า คาราโอเกะต่ออีก ไม่วายที่ต้องลงเรือไปอีกครั้ง เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ 

 “นายจ้าง เถ้าแก่ที่ดีๆ  ก็มีนะเห็นว่าเวลาลูกเรือจะเข้ามาฝั่ง และอีกไม่กี่วันจะรับเงินเขาโทรไปเรียกภรรยา หรือคนในครอบครัวมารับ กลัวใช้เงินหมดก่อนกลับบ้าน”   แกบอกต่อ   “อีกเรื่องนะน้องที่ผมอยากจะบอกให้ฟังเกี่ยวกับเรือผี  และคนผี   คำพูดที่เกิดจากการรังสรรค์เป็นเรื่องราวอีกเรื่อง คือเรื่องที่เกี่ยวกับเรือผีและคนผี ที่ปัจจุบันก็ยังพบมากในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการออกจับปลาของเรือประมงในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซียนั้น จะออกจับปลาติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 เดือนต่อ 1 ครั้ง จากนั้นก็จะเข้ามาพักที่ฝั่งประเทศอินโดนีเซีย นี่ถือเป็นโอกาสที่ลูกเรือ ที่ไม่เต็มใจทำงานในเรือประมง ใช้เวลานี้เป็นช่วงหลบหนี หลังจากลูกเรือที่หลบหนีออกจากเรือ โดยคำจำกัดความของคนที่ไม่มีตั๋วเรียกว่าคนผี คนผีเป็นคือคนที่ตกเรือ คนที่หลบหนีออกจากเรือตั๋วที่ต่อหมดอายุแต่อยู่บนเรือ แต่ยังทำงานบนเรือ ซึ่งในการเข้าฝั่งแต่ละครั้งคนผีไม่สามารถอยู่บนเรือต่อไปได้และต้องอยู่บนฝั่งที่เรือเทียบคือ ไม่สามารถไปกับเรือได้อีกและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

“ในปัจจุบันคนผีมีอยู่มากในประเทศอินโดนีเซียตามเกาะต่างๆ  สวัสดิการต่างๆก็ยังไม่ได้รับ คนผีที่มีอยู่ตามเกาะต่างๆจะเป็นคนไทยที่โดนหลอกไป ในการทำงานบนเรือ การทำงานของลูกเรือนั้นลำบากมากและแทบจะไม่ได้พักเลย คือในการลากอวนแต่ละครั้งมีจำนวนปลามากและต้องใช้เวลาในการคัดแยกปลานานพอสมควรกว่าจะคัดปลาเสร็จก็ถึงเวลาลากอวนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งหากคัดปลาไม่ทันปลาที่ลากขึ้นมาใหม่ก็จะถูกทับๆกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

ป๋าโตยังพูดต่อไม่หยุดอีกว่า   “หากคัดปลาไม่ทันในปลาจำมีจำนวนมาก ขณะที่เปรียบเทียบว่า เยอะท่วมหัวใหญ่เกือบถึงแพดานห้องเลยก็ว่าได้ ซึ่งกว่าจะคัดปลาเสร็จใช้เวลานานกว่าจะเสร็จตี1-3 แทบไม่ได้พักกินข้าว ต้องทำงานไปกินข้าวไปด้วย บางครั้งทำงานจนกระทั่งเล็บหลุด แต่เล็บหลุดก็ยังต้องทำงานต่อไป ในการขนย้ายปลาเข้าฝั่งจะมีเรือแม่มารับปลาเพื่อนำปลาเข้าฝั่ง  ซึ่งเรือแม่จะไม่ตรวจสอบว่าเรือลำนั้นเป็นเรือผีหรือไม่ จะรับจากเรือทั้งหมดและนำปลาเข้าฝั่ง นำปลามาที่สมุทรสาคร หรือที่ๆ มีเจ้าของเรือมีท่าขึ้นปลาอยู่ มหาชัยจะมีเรือแม่มากและมีที่เดียวในประเทศที่เรือแม่จะนำมาปลามาถ่ายขึ้นฝั่ง”   ผมได้ฟังถึงตอนนี้ชักสนุก ตื่นเต้นมาก  โดยเฉพาะที่มีคำว่า  “เรือผี”

ป๋าโตแกมองไปยังกลุ่มลูกเรือที่นั่งรายล้อมแกฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ    “เอ้ย พวกเอ็งเคยขึ้นเรือผีไหม หากแกขึ้นก็เป็น คนผีด้วย ฮา ฮา ฮา....”   แกดูเหมือนได้ทีเอาคืนพวกลูกเรือบ้าง

จากที่ฟังแกเล่าต่อผสมกับอาการลูกเรือเริ่มมึนเมา และแกก็เริ่มเหนื่อยแล้ว ผมก็ฟังไปเรื่อยๆ และจับใจความได้ว่า   “ชะตากรรมของคนผีเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะกลับมาประเทศไทยได้ เพราะว่า กติกาที่ใช้ร่วมกันในการเดินเรือ (กฎการเดินสมุทร) คือ หากเรือลำไหนแอบรับลูกเรือที่ไม่ใช่ลูกเรือของตนขึ้นเรือ และถูกตรวจพบเรือลำนั้นจะถูกยึดตั๋วเรือและตั๋วคนทั้งลำในทันที เป็นเหตุให้ไม่สามารถออกหาปลาได้อีก จึงทำให้ไม่มีเรือลำไหนกล้าที่จะรับคนผีเหล่านั้นกลับมายังประเทศไทย บรรดาลูกเรือที่อยู่กับป๋าโตเผยข้อมูลว่า ในปัจจุบันมีคนผีที่อยู่ฝั่งประเทศอินโดนีเซียมากกว่า   1, 000 คน  คนผีเหล่านั้นไม่มีงานจะทำหรือมีงานทำแต่รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพจึงจำเป็นต้องหาวิธีการเอาตัวรอดด้วยวิธีการกินใบไม้ ขุดมันอยู่บริเวณเกาะนั้น  ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้”

“สุดท้ายป๋าโตได้บอกกับผมและรุ่นพี่ที่นั่งฟังอย่างสงบนิ่งไม่ผลิปากว่า  “การเป็นลูกเรือประมงนั้นหากคนที่มีใจรักก็จะสนุกไปกับการลงเรือประมงเพื่อจับปลานอกน่านน้ำ แต่หากคนโดนหลอกลงเรือประมงแล้วนั้น ชีวิตทั้งชีวิตจะกลับจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างทันที”

สักพักผมขอบคุณป๋าโต และปลุกรุ่นพี่กลับบ้าน  พี่เขาน่าจะหลับไปก่อนแล้วหลังเอ่ยปากคุยกับป๋าโตไม่นาน......

 

หมายเหตุ :  นี้เป็นเรื่องราวเรื่องจริงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4  ปีที่แล้ว  ท่านผู้อ่านคิดว่า  เหตุการณ์อย่างนี้ น่าจะยังคงมีอยู่ไหมในประเทศไทย ปี  2013-2015

 

สมพงค์  สระแก้ว

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (lpn)

21  ตุลาคม  2556

เรื่องราวนี้เขียนเมื่อ 4  ปีที่แล้ว   ตัดตอนบทความจากทีมงานน้อง นัฐพร  นิยม

 

หมายเลขบันทึก: 551555เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2013 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2013 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าครับ..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท