เสียงจากนิสิต (1 หลักสูตร 1 ชุมชน : 1 หลักสูตร 1 ศิลปวัฒนธรรม)


กระบวนการดังกล่าว ไม่ใช่ผมเหนื่อยหนักกับการลงมือลงไม้ด้วยตนเอง แต่ตั้งใจอย่างแน่นหนักว่าจะหนุนเสริมให้นิสิตได้ฝึกทักษะของการเป็น “วิทยากรกระบวนการ” ผ่านเวทีในครั้งนี้แบบเนียนๆ รวมถึงการต้องการฝึกให้นิสิตได้บริหารจัดการวงโสเหล่กันตามวิถีที่เขาถนัด จะมีหัวหน้า มีเลขา หรืออื่นๆ ก็สุดแต่ใจของนิสิตจะร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้

(1)

 

วันที่ 27 กรกฎาคม 2556  เป็นอีกวันที่ผมรับหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  และโครงการ “1 หลักสูตร 1 ศิลปวัฒนธรรม”  ซึ่งทั้งสองโครงการ คือส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นั่นก็คือการบริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

วันดังกล่าวกลุ่มเป้าหมายหลักที่เข้าสู่การถอดบทเรียน คือ “นิสิต”
แน่นอนครับ-ฟังดูเหนือความคาดหมายไม่ใช่ย่อย  เพราะโดยปกติแล้ว การบริการวิชาการแก่สังคมนั้น ส่วนใหญ่มักจำกัดอยู่แต่เฉพาะกลุ่มอาจารย์ หรือนักวิชาการเป็นที่ตั้ง  หากแต่นโยบายเชิงรุกของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ปฏิรูปกระบวนการดังกล่าวใหม่  ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ “นิสิต” (ผู้เรียน) ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมการขับเคลื่อนร่วมกับ “อาจารย์” (ผู้สอน)

 

 

 

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง  เพราะกระบวนการขับเคลื่อนเช่นนี้ เป็นกระบวนการของการใช้ “(นิสิต)ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”  ซึ่งนิสิตสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยมีอาจารย์และชาวบ้านเป็นผู้คอยกำกับดูแล หรือแม้แต่เป็นผู้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน...

ในกระบวนการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งศิลปวัฒนธรรมนั้น พบว่านิสิตมีสถานะที่เกี่ยวข้องอยู่สองสถานะหลัก กล่าวคือ (1) เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ (2) เป็นผู้ช่วยอาจารย์ถ่ายทอดองค์ความรู้  ซึ่งทั้งสองสถานะนั้นดำเนินไปบนพื้นฐานของการ “เรียนรู้ร่วมกัน” หรือ “เรียนรู้คู่บริการ” เป็นที่ตั้ง

 

(2)

 

เวทีดังกล่าว เปิดตัวจากการที่ ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา (ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม) และนายสุนทร เดชชัย (ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต)  ได้มาพบปะให้กำลังแก่นิสิต  ถัดจากนั้นก็นำเข้าสู่กระบวนการละลายพฤติกรรมแบบ “บันเทิงเริงปัญญา”  เน้นให้รู้จักกันและกัน และเน้นให้รู้จัก “เนื้องาน” ของแต่ละคนว่า “ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร”  ซึ่งเป็นกระบวนการถางทาง หรือเตรียมความพร้อมสู่เวทีการเรียนรู้เชิงลึกร่วมกันในกลุ่มย่อย  โดยผมกำหนดไว้ 2 กลุ่มหลัก คือ โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนและโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งศิลปวัฒนธรรม และภายใต้กลุ่มหลักทั้งสองนั้น ได้แยกย่อยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ (2) กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (3) กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

 

 

 

การแยกกลุ่มเช่นนั้น  ผมมีความเชื่อว่านิสิตจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเชิงลึกกันมากขึ้น และเน้นกระบวนการของการให้นิสิตแลกเปลี่ยนกันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีบุคลากร หรือวิทยากรส่วนกลางไปทำหน้าที่เชื่อมโยงในวง “โสเหล่”  เพียงแต่ผมและทีมงานได้กำหนดประเด็นหลักไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า “นิสิตต้องโสเหล่กันในประเด็นใดบ้าง" รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้นิสิตแต่งเติมประเด็นต่างๆ ได้ด้วยตนเอง


 

กระบวนการดังกล่าว ไม่ใช่ผมเหนื่อยหนักกับการลงมือลงไม้ด้วยตนเอง  แต่ตั้งใจอย่างแน่นหนักว่าจะหนุนเสริมให้นิสิตได้ฝึกทักษะของการเป็น “วิทยากรกระบวนการ” ผ่านเวทีในครั้งนี้แบบเนียนๆ รวมถึงการต้องการฝึกให้นิสิตได้บริหารจัดการวงโสเหล่กันตามวิถีที่เขาถนัด จะมีหัวหน้า มีเลขา หรืออื่นๆ ก็สุดแต่ใจของนิสิตจะร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้  ซึ่งจะด้วยกลวิธีใดไม่สำคัญ เพียงแต่ต้องได้ผลลัพธ์มาสะท้อน หรือร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มอื่นๆ เป็นพอ ---

 

(3)

 

 

 

ภายหลังพิธีการเสร็จสิ้นลง แทนที่จะเคลื่อนด้วยกิจกรรม BAR : ประเมินความคาดหวังเหมือนเช่นทุกครั้ง  ตรงกันข้ามผมกลับใช้กิจกรรมอื่นเข้ามาแทน นั่นก็คือการถามทักกับนิสิตแบบตรงไปตรงมาเกี่ยวกับ ”ทัศนคติ” หรือ “มุมมอง”  ของนิสิตที่มีต่อโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน และโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งศิลปวัฒนธรรม  ซึ่งนิสิตได้สื่อสารกลับมาด้วยประเด็นดังต่อไปนี้

       คือ กระบวนการเรียนรู้และอยู่ร่วมกันของมหาวิทยาลัยกับชุมชน

·       คือ  กระบวนการพัฒนามหาวิทยาลัยและชุมชนแบบมีส่วนร่วมระหว่าง “อาจารย์ นิสิตและชาวบ้าน” หรือมแต่ภาคีอื่นๆ

·       คือ  กระบวนการทำงานพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยกับชุมชน

·       คือ กระบวนการเรียนรู้ “ประเพณีและวัฒนธรรม” ของชุมชนรอบมหาวิทยาลัย

·       คือ กระบวนการเรียนรู้นอกชั้นเรียนที่เน้นการเรียนรู้จากการ “ลงมือทำ” หรือ “ปฏิบัติการจริง”

·       คือ กระบวนการถ่ายทอดความรู้สู่สาธารณะ

·       คือ กระบวนการพัฒนาชีวิตของนิสิตโดยใช้กิจกรรมและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

·       คือ กระบวนการบ่มเพาะจิตสาธารณะแก่นิสิต

·       คือ กระบวนการกระตุ้นให้ชุมชนเห็นคุณค่าของตนเอง

 

 

 

 

แน่นอนครับ- คำถามดังกล่าว อาจหมายถึงการชั่งวัดให้เห็นถึงมุมมองของนิสิตที่มีต่อการงาน หรือกระบวนการเรียนรู้เหล่านั้น  ผมถามนิสิตด้วยความจริงใจ ส่วนเขาจะตอบกลับมาด้วยความสัตย์จริงหรือไม่นั้น- ผมไม่อาจหยั่งรู้ได้  แต่ที่แน่ๆ ก่อนนิสิตจะสื่อสารกลับมา  ผมได้เกริ่นกล่าวอย่างชัดแจ้งแล้วว่า  “ขอให้นิสิตได้ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและซื่อสัตย์ต่อกระบวนการเรียนรู้” ...

แต่ที่แน่ๆ ประเด็นที่นิสิตสะท้อนคืนกลับมานั้น ล้วนเป็นประเด็นบวกทั้งสิ้น  ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมอดแปลกใจไม่น้อยว่าทำไมไม่มีการสะท้อนประเด็นในเชิงลบบ้างเลย ซึ่ง “ไม่มี” หรือ “ยังไม่มี” หรือ “มี” แต่ไม่กล้าพูด (หรืออย่างไร)-

 

นั่นคือสิ่งที่ผมยังต้องถามทักอีกครั้งในเวทีถอดบทเรียนช่วงปลายน้ำ ---

หมายเลขบันทึก: 547307เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2013 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2013 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • กิจกรรมคงไม่มีเชิงลบ มีแต่เชิงบอกล่ะมั่งครับ
  • แต่เชิงลบเต็มที่ก็คงจะมีแค่เรื่องอาหารและที่พักเท่านั้นกระมัง

เห็นภาพนิสิตทำกิจกรรมแล้วชอบใจ คิดถึงตอนเป้นนิสิต

ดีใจและขอชื่นชมการทำงานของนิสิตครับ ดูแลสุขภาพบ้างนะครับ...

- เป็น จุดประกาย การขับเคลื่อน ที่ดีมาก ในสถาบันอุดมศึกษา ค่ะ

- ขอให้ สำเร็จ เป็นรูปธรรม โดยเร็วนะคะ จะได้ นำมาเป็น ต้นแบบ ให้กับ มหาวิทยาลัย  อื่นๆ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้  กันต่อไปได้ค่ะ

ชอบจังเลยกับ...กระบวนการนี้  ขอบคุณจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท