การกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์กับเสรีภาพในการแสดงออก


              การกำกับดูแลสื่อในประเทศเสรีประชาธิปไตยมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อมาตรการในการกำกับดูแลมีผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนซึ่งเสรีภาพดังกล่าวถือว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะล่วงละเมิดมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศทางยุโรปะวันตกที่เห็นว่าเสรีภาพดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนและเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาการเมืองภายในประเทศ เนื่องจากถูกใช้เป็นหลักการที่นำมาค้นหา ตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองการปกครองและการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น

              เสรีภาพในการแสดงออกนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะสิทธิของประชาชนที่จะสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างเต็มที่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเข้าถึง ได้รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารหรือแนวคิดของตน ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูด ลายลักษณ์อักษรหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ถูกกีดกันทั้งที่เป็นการกีดกันทางกายภาพ เช่น การจับกุม การปิดสถานที่ในการแสดงความคิดเห็น การขับไล่ หรือการกีดกันทางกฎหมาย เช่น กฎหมายในการห้ามแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะซึ่งอาจจะเป็นทางการเมือง ทางเพศ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น รัฐจะต้องให้การสนับสนุนและคุ้มครองความเป็นอิสระของบรรณาธิการสื่อจากอิทธิพลของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายเอกชนในการสร้างแรงกดดันแก่บรรณาธิการ

              แต่เดิมกิจการวิทยุและโทรทัศน์จำเป็นจะต้องอาศัยคลื่นความถี่ในการแพร่สัญญาณภาพและเสียงไปยังเครื่องรับสัญญาณที่ตั้งอยู่ตามบ้านเรือนประชาชน ทว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดและเมื่อมีการจัดสรรออกไปแล้วย่อมไม่สามารถนำมาจัดสรรใหม่ได้ในระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น ผู้ใดที่ได้ถือครองคลื่นความถี่ก็จะเป็นผู้ผูกขาดไปโดยปริยายซึ่งทำให้ตลาดการให้บริการกิจการวิทยุและโทรทัศน์ไม่มี (เกือบจะไม่มี) การแข่งขันเลย ด้วยเหตุผลข้างต้น (ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งในหลายเหตุผล) รัฐจึงอาศัยเหคุดังกล่าวในการเข้ามากำกับดูแลเพื่อรักษาสมดุลของในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่นและระดับปัจเจกชน             

             อย่างไรก็ดี เมื่อเทคโนโลยีทางด้านวิทยุและโทรทัศน์พัฒนาขึ้น การแพร่สัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ก็มีช่องทางเพิ่มมากขึ้นซึ่งไม่จำเป็นจะต้องอาศัยคลื่นความถี่แบบเดิม กล่าวคือ การแพร่สัญญาณผ่านสัญญาณดาวเทียมและสายเคเบิลและอินเทอร์เน็ต ซึ่งวิวัฒนาการดังกล่าวมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบที่มีการผูกขาดคลื่นความถี่ที่มีมาแต่เดิมและทำให้เหตุผลข้างต้นที่เป็นเหตุผลในการกำกับดูแลอ่อนลงไปโดยปริยาย แต่เกิดคำถามตามมาว่าควรจะลดความเข้มข้นในการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ลงให้เท่ากับระดับการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์โดยใช้วิธีการอย่างอื่นที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (ดาวเทียม สายเคเบิลและอินเทอร์เน็ต) หรือไม่ และเสรีภาพในการแสดงออกควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันผ่านสื่อที่มีช่องทางแตกต่างกันหรือไม่

              แนวคิดในการกำกับดูแลและเสรีภาพในการแสดงออกตามที่ปรากฏในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้เปลี่ยนแปลงไป การสร้างความสมดุลระหว่างเสรีภาพในการแสดงออกในสื่อวิทยุและโทรทัศน์กับเหตุผลในการกำกับดูแลที่อยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม จริยธรรมหรือความมั่นคงของรัฐทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดทางด้านสื่อเสรีเรียกร้องให้รัฐจะต้องสนับสนุนและคุ้มครองความเป็นอิสระของบรรณาธิการสื่อจากอิทธิพลของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐหรือฝ่ายเอกชน จึงกลายเป็นภาระหน้าที่หลักของรัฐในการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับความเป็นอิสระของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานกำกับดูแลที่จะต้องแสดงถึงความเป็นกลางอย่างแท้จริง ซึ่งทางปฏิบัติทำได้ค่อนข้างยากเนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลเป็นผู้ใช้อำนาจและมักจะกลายเป็นคู่กรณีเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้บริบทในสังคมที่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้มข้น ยิ่งไปกว่านั้น การกำกับดูแลสื่อที่อยู่ในระบอบเศรษฐกิจแบบเสรีก็จะมีความยากมากยิ่งขึ้นเพราะกิจการสื่อสารมวลชนกลายเป็นกิจการเชิงพาณิชย์ที่สามารถทำกำไรและผลประโยชน์ให้กับเจ้าของกิจการจำนวนมหาศาลและอาจจะมีแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ทำลายความเป็นอิสระของสื่อได้

              หลักการสำคัญสำหรับหน่วยงานกำกับดูแล คือ การสร้างการกำกับดูแลที่สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและสนับสนุนให้สื่อต่างๆ สามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแล ทว่า การกำกับดูแลที่เกินความพอดีอาจจะถูกตีความว่าเป็นการคุกคามหรือแทรกแซงสื่อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการกำกับดูแลนั้นมีผลโดยตรงต่อความเป็นอิสระของบรรณาธิการ ดังนั้น เพื่อป้องกันข้อครหาในเรื่องการแทรกแซงสื่อ หน่วยงานกำกับดูแลควรจะลดการกำกับดูแลแบบการตรวจสอบเนื้อหาก่อนการแพร่สัญญาณลง เพราะ การกำกับดูแลรูปแบบดังกล่าวโดยส่วนใหญ่จะมีผลเป็นกระทบกับสิทธิและเสรีภาพในการเผยแพร่เนื้อหาสู่สู่สาธารณชนอย่างเลี่ยงไม่ได้            

              การกำกับดูแลที่มีลักษณะของการแทรกแซงทางเนื้อหาน้อยที่สุดและโปร่งใสที่สุดคือ คือ การกำกับดูแลแบบภายหลังที่มีการเผย แพร่เนื้อหาไปแล้วและผู้ที่มีอำนาจในการวินิจฉัยในเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหาควรจะต้องเป็นศาล (มิใช่หน่วยงานกำกับดูแล) และทุกๆครั้ง ที่มีการตัดสินว่าการกระทำใดเป็นการแสดงออกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะต้องให้คำอธิบายที่ชัดเจนเพื่อสร้างความโปร่งใสว่าปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ/อำนาจทางการเมืองและประชาชนจะได้สามารถเข้าใจบรรทัดฐานทางกฎหมายว่าเขาสามารถแสดงออกทางความคิดในเรื่องใดและในระดับใดได้

หมายเลขบันทึก: 546375เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณความรู้ที่นำมาแบ่งปันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท