หอยเบี้ยจักจั่น เงินตราโบราณของสยาม


                  หอยเบี้ยจักจั่น หรือ หอยเบี้ยจั่น มีเปลือกแข็ง ผิวเป็นมัน หลังนูน ท้องแบน ช่องปากยาวแคบและไปสุดตอนปลายทั้ง 2 ข้าง เป็นลำราง ริมปากทั้ง 2 เป็นหยักคล้ายฟัน ไม่มีฝาปิด มีความยาวประมาณ 12-24 มิลลิเมตร มีถิ่นแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตอบอุ่นทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย  ดำรงชีวิตอยู่ตามแนวปะการังใกล้ชายฝั่ง กินอาหารจำพวกพลงก์ตอนและสาหร่ายทะเลที่ลอยมาตามกระแสน้ำ เปลือกหอยของหอยเบี้ยชนิดนี้ มีความสำคัญต่อมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนสิ่งของแทนเงินตราในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าคำว่า "เบี้ย" ในาษาไทยก็เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า "รูปี" ซึ่งเป็นหน่วยเงินตราของอินเดียมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล 

ปัจจุบัน เปลือกหอยเบี้ยจักจั่นยังนิยมสะสมกันเป็นของประดับและของสะสมกันอีกด้วย โดยมีชนิดที่แปลกแตกต่างไปจากปกติ คือ "ไนเจอร์" (Niger) ที่หอยจะสร้างเมลามีนสีดำเคลือบเปลือกไว้จนกลายเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลคล้ำทั้งหมด และชนิดที่มีราคาสูงที่สุด เรียกว่า "โรสเตรท" (Rostrat) หรือ หอยเบี้ยจักจั่นงวง คือ เป็นหอยเบี้ยจักจั่นในตัวที่ส่วนท้ายของเปลือกมิได้กลมมนเหมือนเช่นปกติ แต่สร้างแคลเซียมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาหลายปี จนกระทั่งยาวยืดออกมาและม้วนขึ้นเป็นวงอย่างสวยงามเหมือนงวงช้าง ซึ่งหอยในรูปแบบนี้จะพบได้เฉพาะแถบอ่าวด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมู่เกาะนิวแคลิโดเนีย ที่เดียวในโลกเท่านั้น มีการประเมินราคาของเปลือกหอยลักษณะนี้ไว้ถึง 25 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นราคาของเปลือกหอยที่มีค่าสูงที่สุดในโลกอีกด้วย วิธีการที่ให้ได้มาซึ่งหอยเบี้ยนั้น ในสมัยโบราณชาวเกาะแถบมหาสมุทรอินเดีย เช่น แถบหมู่เกาะมัลดีฟ ซึ่งพบหอยชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก (ทำให้หอยชนิดนี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของชนชาติแถบนี้แต่โบราณ) วิธีจับชาวเกาะจะเอาทางมะพร้าวจุ่มลงในทะเลข้ามวันข้ามคืน เมื่อนำทางมะพร้าวขึ้นมาจากน้ำจะมีเบี้ยเกาะอยู่ หลังจากจับหอยเบี้ยจั่นขึ้นมาแล้วจะนำเอาหอยไปฝั่งทราย นานนับปีจนเนื้อเยื่อย่อยสลายหมด จึงนำมาขัดล้างเป็นสินค้าส่งออก นับได้ว่าเบี้ยหอยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยนชุดแรกๆของโลก สันนิษฐานว่าในอดีตหอยเบี้ยเนื่องจากเป็นของหายากจึงมีราคาแพง นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ (มีการขุดพบตามหลุมศพคนโบราณหลายแหล่ง) ต่อมาหอยถูกเปลี่ยนจากของมีค่าเชิงเครื่องประดับเป็นเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนในที่สุด

                  สำหรับในสยามเรา มีหลักฐานว่ามีการใช้หอยชนิดนี้สำหรับเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน ในสมัยสุโขทัย ซึ่งพบจารึกกล่าวถึงสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ระบุว่า พระองค์ทรงผนวชที่วัดป่ามะม่วง และได้คิดพระราชทานทรัพย์เป็นเบี้ย 10 ล้าน และมีหลักฐานการใช้เบี้ยหอยเรื่อยมาจนถึงในสมัย รัชกาลที่ 3 ยังคงใช้เบี้ยหอยอยู่ จนกระทั่งการค้ากับต่างประเทศขยายตัวมาก ในการชำระเงินการค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศ มีการใช้เบี้ยทองแดงในต่างประเทศ จึงมีพระราชดำริให้ทำเบี้ยทองแดงจากประเทศอังกฤษมาเป็นตัวอย่าง 3 ชนิด ในปี จ.ศ.1197 หรือ .ศ.2378 เมื่อทอดพระเนตรแล้วไม่โปรดในลายตรา จึงมิได้นำออกใช้ แต่ก็ทรงพระราชประสงค์ที่จะทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากล แต่ยังไม่สำเร็จก็เปลี่ยนรัชกาล  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) การค้าระหว่างไทยกับต่างประเทศก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว พ่อค้าชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายมากขึ้นและได้นำเงินเหรียญของตนมาแลกกับเงินพดด้วงจากรัฐบาลไทยเพื่อนำไปซื้อสินค้าจากราษฎร แต่ด้วยเหตุที่เงินพดด้วงผลิตด้วยมือจึงทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและการค้าของประเทศเสียประโยชน์ พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะเปลี่ยนรูปเงินตราของไทยจากเงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ ในปี พ.ศ.2399  ได้ทดลองทำเหรียญรูปกลมแบนอย่างสากล โดยใช้ค้อนทุบตีโลหะให้เป็นแผ่นแบน แล้วตัดเป็นรูปเหรียญกลม ให้ได้ตามขนาดและน้ำหนัก แต่ผลิตได้ช้าและไม่เรียบร้อย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงมาตรา เงินตราไทย ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น คือ ชั่ง ตำลึง บาท บาท สลึง เฟื้อง เป็นระบบโดยใช้หน่วยเป็นบาท และสตางค์ คือ 100 สตางค์ เป็น 1 บาท ตั้งแต่ พ.ศ. 2441 อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงปัจจุบัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระบรมรูปของพระองค์ประทับลงบนเหรียญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์ไทยประทับลงบนเหรียญกษาปณ์ นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนมาใช้เงินตราในรูปแบบสมัยใหม่อย่างเป็นทางการในที่สุด

เครดิต  http://th.wikipedia.org

คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 545669เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

                ขอบคุณ บันทึกดีดีนีค่ะ ...

 

เป็นบันทึกที่ดีมีประโยชน์นะคะ...ขอบคุณค่ะ

มีเบี้ยหอยจั๊กจั่น1ตัวครับคล้ายที่ลงภาพครับ.

แหล่งที่มาปัจจุบัน มีที่ไหนบ้างครับ มีคนสนใจซื้อเป็นจำนวนมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท