สายเลือดมโนราห์


แม้แก้วจะหน้าตาไม่งามตามสมัยเหมือนอย่างเพื่อนรุ่นๆ มัธยมปลายของเธอ แต่ทุกคนก็ชมว่าเธอมีนิ้วงามกว่าใครอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่เธอกรีดนิ้วร่ายรำมโนราห์
น้ำตาไม่เคยเอ่ยคำ ตอนที่น้ำตาของแก้วไหลรินลงมาเป็นรอยทางบนแก้มที่รองพื้นไว้ขาวนวล เธอเพียงกลบรอยนั้นด้วยการโปะแป้งบางๆ ซ้ำอีกชั้น ก่อนที่การแสดงของเธอจะเริ่มขึ้นหน้าเสาธง


แก้วเป็นเหลนมโนราห์ชั้นศิลปินแห่งชาติจังหวัดพัทลุง เธอเกิดทันทวดได้เหยียบยอดอกประทับครูมโนราห์ไว้ตั้งแต่แบเบาะ ก่อนที่ต้นตระกูลมโนราห์จะชิงตายเสียตั้งแต่เธอไม่รู้ความ ถึงอย่างนั้น ใครๆ ในตระกูลก็มักจะมีความเชื่อกันว่าวิญญาณของทวดสถิตอยู่กับเธอ


แม้แก้วจะหน้าตาไม่งามตามสมัยเหมือนอย่างเพื่อนรุ่นๆ มัธยมปลายของเธอ แต่ทุกคนก็ชมว่าเธอมีนิ้วงามกว่าใครอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่เธอกรีดนิ้วร่ายรำมโนราห์


แก้วไม่ชอบมโนราห์ เธอรำมโนราห์ก็เพราะเกิดในครอบครัวมโนราห์ ในวันที่คณะมโนราห์อื่นๆ ชวนตายหายจากกันไปเป็นสิบๆ คณะของครอบครัวเธอก็ยังจำต้องยึดอาชีพมโนราห์อยู่เหมือนเก่า นั่นด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าเป็นตระกูลมโนราห์ที่สืบเชื้อสายมาจากบรมครูมโนราห์ศิลปินแห่งชาติโดยตรง


ใช่ คณะมโนราห์ยังพอมีอยู่ แต่คนจ้างยิ่งมีน้อยกว่าเสียอีก


ทุกเย็น เมื่อกลับไปถึงบ้าน พ่อของแก้วซึ่งตอนนี้ก็อายุ 52 ปีแล้ว จะต้องบังคับให้เธอไปขับบทมโนราห์ให้ปู่ของเธอฟังไม่น้อยกว่า 20 บทก่อนทำภารกิจอื่นๆ เสมอ แก้วไม่เคยเข้าใจพ่อ พ่อยึดติดอยู่แต่กับมโนราห์มาทั้งชีวิตของพ่อ และกว่าครึ่งชีวิตนั้นพ่อก็รับเล่นอยู่แต่กับบทพรานบุญ ปรกติแล้วพ่อของแก้วเป็นคนพูดน้อยและค่อนข้างดุ ยิ่งหนวดของพ่อดกแข็งเหมือนเส้นเหล็ก ยิ่งทำให้พ่อดูมีอำนาจเหลือเกินในบ้าน นั่นผิดกับเวลาพ่อสวมหน้ากากไม้สีแดงรูปพรานบุญฟันหัก ตอนนั้นพ่อจะเป็นอีกคน กระดูกของพ่อจะขยับได้เหมือนไม่มีกระดูก ลีลาท่าย่างน่าตื่นตาไปเสียหมด ทั้งกิริยาอาการก็ชวนขันทุกครั้งที่พรานบุญในร่างพ่อออกมาทะลึ่งอยู่หน้าโรง พรานบุญพุงป่อง กับเชือกปะกำจับกินนรี คนเฒ่าคนแก่มีภาพจำเกี่ยวกับพ่อแบบนั้น


พ่อเคยบอกกับแก้วว่าพ่อไม่เคยหัดเป็นพรานบุญ แต่ทุกครั้งที่พ่อใส่หน้ากาก พรานบุญจะสอนพ่อหน้าโรงมโนราห์เสมอ พ่อเชื่อเป็นตุเป็นตะยิ่งกว่าคนดูว่าเวลาพ่อใส่หน้ากาก พ่อเป็นพรานบุญจริงๆ


น่าเสียดายที่พรานบุญในเวลานี้ไม่มีสง่าราศีเอาเสียเลย พุงที่เคยพอกพูนก็เหลือไว้แต่รอยเส้นเหี่ยวๆ หนังตาอิดโรย และพ่อเริ่มเปลี่ยนนิสัยที่จะสวมเสื้อเชิ้ตแทนการนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียวเวลาอยู่กับบ้าน พรานบุญไม่มีพุงก็เหมือนพ่อค้าไม่มีทองหยอง หลังๆ พ่อจึงไม่รับแสดงบทพรานบุญอีก แต่จนแล้วจนรอดก็หาใครปั้นตัวเป็นพรานบุญแทนพ่อไม่ได้สักที โชคดีในชะตากรรมอันโหดร้าย ที่มีคนจ้างมโนราห์แสดงปีละไม่เกิน 3 หน ดังนั้นเวลาที่ต้องแสดง พ่อก็ต้องไปจ้างพรานบุญมาจากคณะอื่น ซึ่งก็จ้างไม่ยาก เพราะพรานบุญที่เหลืออยู่ก็ว่างงานกันทั้งนั้น


ก่อนจะสิ้นสุดยุคพรานบุญของพ่อ แก้วรู้มาว่าปู่ก็เคยเป็นพรานบุญมาก่อน พ่อเล่าให้แก้วฟังว่าเมื่อก่อนชาวบ้านเขาเรียกปู่ของแก้วว่า พริ้ม เทวา พริ้มคือชื่อของปู่ ส่วนเทวานั้นหมายความว่าเขายกย่องการร่ายรำของปู่เหมือนเทวดาลงมารำให้แลพรรนั้นเชียว


แก้วมองไปที่ร่างของปู่ พริ้ม เทวา ซึ่งโรคอัมพาตได้เข้าสต๊าฟร่างของแกไว้หลายปีแล้วด้วยความหดหู่ใจ เธอไม่เคยรู้ว่าปู่รู้สึกอย่างไรกับกลอนมโนราห์ที่พ่อบังคับให้เธอคอยขับให้ปู่ฟังอยู่ทุกวัน จะรับรู้ได้บ้างสักนิดหรือเปล่าก็ตอบไม่ได้ บางคราวเธอจึงขับเป็นกลอนออกมาในทำนองตัดพ้อต่อชะตาชีวิตให้ปู่ฟัง


ว่าออออปู่เหอปู่หนอปู่ เป็นพรานบุญเจ้าชู้ปากหวาน


มัดย่าพาหนีไม่ทันนาน ก็เกิดผลสำราญได้พ่อมา


เป็นเชื้อมโนราห์มโนรี จนเหมือนไม้เสียบผีใครอิจฉา


ที่เขาชมเพราะเขาสมสุขอุรา แต่หลังฉากมีน้ำตาของโหม(พวก)เรา


ไม่ทิ้งเชื้อถึงหลานยังงานหนัก มัวแต่หลงจมปลักในเรื่องเขลา


เล่นโนราห์ก็เหมือนเล่นกับเงา เหลือแต่คนขี้เมายังไม่แล


ยังจะให้สืบสานถึงหลานอีก ทั้งที่ปีกมโนราห์ท่าหักแน่


แต่พรานบุญพริ้มเทวาไม่น่าแช(ช้า) คงแหงแก๋พร้อมกลองทับกับโนราห์


พรานบุญรุ่นปู่นอนนิ่งเพียงกะพริบตา พรานบุญรุ่นพ่อก็สิ้นท่า เคยอาศัยเชือกปะกำไล่จับได้นางมโนราห์ทุกคราวแสดง แต่วันนี้แม่ของแก้ว ซึ่งว่าตามจริงก็เปรียบได้กับนางมโนราห์ของพ่อ เพิ่งจะขนข้าวของฝ่าสายฝนพรำกลับบ้านเก่านครศรีธรรมราชไปแต่แรกเช้า ไม่เห็นเชือกปะกำของพ่อจะได้แสดงอิทธิฤทธิ์มัดแม่ไว้ได้


คนที่เคยแปลกหน้าต่อกัน ใครบ้างจะเลือกทนอยู่กับความจน แม่ไป แต่แก้วเลือกอยู่กับปู่และพ่อ เธอไม่เอ่ยคำใดเมื่อไปถึงโรงเรียน แต่น้ำตาก็เอ่อท้นออกมา น้ำตาไม่รอเอ่ยคำ


วันนี้เป็นวันครู แก้วกลืนข้าวไม่ลงมาแต่เช้า ผู้ว่าราชการจังหวัดรับหน้าที่ประธานกล่าวเปิดพิธี หน้าเสาธงคือนักเรียนและครูสามพันกว่าคน ที่ยืนอยู่บนเสาธงคือผู้ว่าฯ และมีแก้วถือพานดอกไม้อยู่เบื้องหลัง


แดดร้อนเปรี้ยง ผู้ว่าฯพูดไม่วางไมค์เกือบครึ่งชั่วโมง จิตใจแก้วเบาโหวง ท้องก็ว่าง จากนั้นหน้าเริ่มมืด เมื่อลมร้อนพัดวูบเข้ามา ภาพที่เคยปรากฎชัดก็ถูกกลบด้วยสีดำ


มีนักเรียนหลายคนเป็นลมและถูกประคองออกจากหน้าเสาธงก่อนจะถึงคราวของแก้ว ที่จริงแก้วมีหน้าที่จะต้องรำเปิดพิธีหลังจากประธานกล่าวจบ แต่นี่เธอไม่ได้กินข้าว ซ้ำยังเป็นลมแดด ท่าว่าวันนี้ผู้ว่าฯจะต้องรำเสียเอง ขณะแก้วกำลังได้รับการปฐมพยาบาลด้วยแอมโมเนียจากเพื่อนเวรห้องพยาบาล


เสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหวตอนที่ผู้ว่าฯกล่าวจบ เหมือนจะย้ำเตือนให้ประธานในพิธีรีบลงจากแท่นโดยเร็ว จากนั้นเสียงกลองทับ รำมะนา ปี่ชวา จึงบรรเลง มีตัวแทนขึ้นตีโพนเปิดพิธีดังตุ้มตุ้มถี่กระชั้น


ไม่ใช่แอมโมเนีย แต่เป็นเสียงโพน ปี่ กลองทับ รำมะนา นั้นเองที่ทำให้แก้วรู้สึกตัว ในรู้สึกนั้นเธอพาตัวเองขึ้นไปรำป้ออยู่บนแท่นเสาธงเหมือนบินลงมาจากป่าหิมพานต์ แก้วลืมรู้สึกหิว ลืมโศกเศร้า ท่วงทำนองร่ายรำเหมือนประดิษฐ์ขึ้นตามธรรมชาติโดยสายเลือด และราวกับว่าสิ่งนี้เป็นทิพย์เหนือทุกสิ่งปวง รวมกระทั่งเหนือจิตและวิญญาณของเธอ


ไม่มีใครหน้าเสาธงเป็นลมอีกเช่นกัน ทุกดวงตาจับจ้องท่ารำราวต้องมนต์สะกด เหมือนน้ำชุ่มจากสวรรค์ที่หลั่งรินลงโชลมเปลวแดดให้ร้อนคลาย นานมาแล้วที่เด็กนักเรียนไม่ได้เห็นมโนราห์ แต่เมื่อพวกเขาได้เห็นในวันนี้ หลายคนประทับภาพอยู่ในใจแล้ว


ทุกคนชมว่านิ้วมือของแก้วงามกว่าใครเสมอ วันนี้เหมือนแก้วจะฟ้อนเกี่ยวดอกฟ้าให้คนชม


เธอร่ายรำ และดนตรีบรรเลง มโนราห์ตื่นแล้วในเช้านั้น
คำสำคัญ (Tags): #เรื่องสั้น
หมายเลขบันทึก: 54541เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2006 02:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เหมือนฉันเลยบ้านฉันก็รำมโนราห์กันทั้งบ้านเหมือนกัน  ฉันกับพี่สาวจะต้องไปซ้อมรำทุก ๆ ตอนเย็น  ส่วนพ่อก็ต้องไปเป็นลูกคู่ตีทับ  บ้านฉันต้องทำอย่างนี้เป็นประจำแหละจนต้องแยกย้ายกันไปเรียนต่อนั่นแหละถึงได้เลิก

สนุกมากครับ

แม้เนื้อหาบางอย่างผิดพลาดไปหน่อย

แต่ก็ไม่ทำให้เสียอรรถรสในการอ่านครับ

ขอชื่นชมครับ ผมชอบ

อ่านแล้วรู้สึกเต็มตื้นไปกับแก้ว

ที่เคยหมองก็กลับใส เป็นแก้วที่กระจ่างชัดในรากเหง้าความเป็นมาของตัวเอง

เหนือสิ่งอื่นใดคือธำรงไว้ซึ่งสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัว

ในยุคสมัยที่ผู้คนยังมีความเคารพต่อกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตาย มีความเคารพธรรมชาติในฐานะแม่ผู้ให้ชีวิตและเลี้ยงดู การคำนึงถึงแต่ความสุขส่วนตัวและเห็นแก่ได้เป็นสิ่งน่ารังเกียจ ในช่วงเวลาที่ทวด(พุ่ม เทวา?)ยังมีชีวิตอยู่หรือแม้กระทั่งช่วงที่คณะมโนราห์ของปู่และพ่อยังมีงานชุก อำนาจของศิลปะและบทบาทของศิลปินช่วยยึดโยงสายสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้รวมตัวกันเหนียวแน่นเป็นกลุ่มเป็นก้อน หรือจะกล่าวให้สวยหรูแต่ไม่เกินจริงได้ว่ามีส่วนช่วยให้ลูกหลานรักใคร่และสามัคคีปรองดองกัน

ในดินแดนแถบภาคใต้(โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา) ส่วนใหญ่ของคนพื้นถิ่นจะสืบสายย่านมาจากครูหมอโนราห์ ครูหมอเป็นผีบรรพบุรุษเช่นเดียวกับผีตายายแต่ชั้นสูงกว่ามีอำนาจดลบันดาลทุกข์สุขของลูกหลาน ลูกหลานคนใดเจ็บไข้ไม่สบายผู้ใหญ่ในบ้านจะบนบานผีบรรพบุรุษให้ช่วยแก้ไขให้หายและปกป้องคุ้มครองให้อยู่ดีมีสุข หากมีใครในวงศ์ตระกูลทำผิดทำนองคลองธรรมหรือไม่สืบทอดศิลปะการรำมโนราห์ผีบรรพบุรุษก็จะมาทักมาท้วงให้เจ็บไข้ไม่สบายได้เช่นกัน เมื่อคณะมโนราห์ทำพิธีไหว้ครูประจำปี ผู้ที่เคยบนบานไว้ก็สามารถไปร่วมพิธีเพื่อแก้บนได้ หรือครอบครัวไหนฐานะดีก็จัดการรับคณะมโนราห์มารำแก้บนที่บ้าน เครือญาติและเพื่อนบ้านสามารถมาร่วมพิธีได้เช่นกัน

ในการแสดงมโนราห์ นอกจากผู้รำจะมีหน้าที่เป็นศิลปินให้สาระบันเทิงแก่ผู้ชมแล้วหน้าที่สำคัญอีกประการคือ เป็นสื่อกลางเชื่อมลูกหลานกับบรรพบุรุษรุ่นก่อน ๆ ในพิธีเข้าทรง บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วอาจเลือกประทับทรงในร่างของลูกหลานที่มาเข้าร่วมพิธี (ในปัจจุบันหากเป็นข่าวในรายการโทรทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญคงลงความเห็นว่าเป็นอุปาทาน และให้ใช้วิจารณญาณในการรับชม...เพราะไม่รู้จะพิสูจน์ยังไงในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้และประสบการณ์หรือถึงมีก็พูดตามที่คิดและรู้สึกไม่ได้ เนื่องด้วยอยู่ในโลกที่หลักฐานและข้อเท็จจริงสำคัญกว่าอารมณ์ความรู้สึก)ในช่วงของการประทับทรงนี้เองที่ลูกหลานและบรรพบุรุษมีโอกาสไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบต่อกัน เป็นช่วงเวลาที่โลกในอดีตเชื่อมโยงเข้าด้วยกันกับโลกปัจจุบัน ณ ที่นั้นผู้คนต่างตระหนักว่าไม่ได้มีเพียงโลกนี้โลกเดียว ยังมีสิ่งอื่นคุณค่าอื่นนอกเหนือจากที่ตาเนื้อจะมองเห็นได้ ในโลกทัศน์ดังกล่าวมนุษย์จึงไม่อหังการ์มุ่งที่จะเอาชนะผู้อื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่นจนถึงขั้นทำลายล้าง

นอกเหนือจากพิธีกรรมที่ดูขลังและศักดิ์สิทธิ์แล้วคุณค่าดังกล่าวยังแฝงอยู่ในเรื่องเล่ารวมทั้งในศิลปะแขนงอื่น ๆ การเสพงานศิลป์จึงได้ทั้งสาระและความบันเทิง ในวิถีชีวิตที่ศิลปะยังมีความสำคัญเช่นที่กล่าวมานี้ ผู้เสพในฐานะผู้เรียนรู้ชีวิตย่อมมีโอกาสตกผลึกทางความคิดและเกิดภูมิรู้ด้วยตัวเองซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่ตัดขาดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ (รายละเอียดเกี่ยวกับมโนราห์ยังมีอีกมาก)

เช่นเดียวกับแก้ว (เข้าเรื่องเสียที)วันที่เธอร่ายรำพลิ้วไหวดุจต้องมนต์และตรึงสายตาคนดูไว้ดั่งโดนสะกด ก็คือวันที่เสียงทับเสียงกลองมโนราห์ประสานเป็นจังหวะเดียวกับเสียงเต้นของหัวใจซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดสายเลือดมโนราห์ให้ไหลไปทั่วตลอดทั้งร่าง ณ ขณะนั้นเธอเป็นมโนราห์เต็มตัวทั้งชีวิตและจิตวิญญาณอย่างไม่ต้องหาเหตุผลเรื่องสัญชาตญาณหรืออุปาทานมาอธิบาย การเคี่ยวเข็ญให้หมั่นฝึกฝนของพ่อและความสำนึกถึงความเป็นลูกหลานตระกูลมโนราห์ได้ประสานเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว

ยุคสมัยที่แก้วเติบโตขึ้นมากับยุคที่มโนราห์ยังได้รับความนิยมช่างต่างกันมากเหลือเกิน การเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ทั้งของตัวเองและผู้อื่นลดน้อยถอยลง ธรรมชาติก็ไม่ได้เป็นแม่ผู้ให้ชีวิตและเลี้ยงดูเช่นแต่ก่อน หากแต่ถูกเปลี่ยนฐานะมาเป็นทาสผู้รับใช้ให้ความสะดวกสบายแก่ชีวิตมากน้อยตามกำลังความสามารถของแต่ละคน ในโลกทัศน์เช่นนี้การกอบโกยผลประโยชน์และเบียดเบียนผู้อื่นเพื่อความสุขส่วนตัวได้กลายเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินชีวิต บ้างก็อ้างเพื่อความอยู่รอด บ้างก็ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรม มิพักต้องพูดถึงความสามัคคีปรองดองของคนในสังคมและประเทศชาติ สถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยทางสังคมที่เล็กที่สุดก็ยังแตกสลายเช่นที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของแก้ว เมื่อแม่จากพ่อไปแก้วก็ยังอยู่กับพ่อยอมให้พ่อเคี่ยวเข็ญขับกลอนมโนราห์ให้ปู่ซึ่งเป็นอัมพาตฟัง แม้ในบทขับที่มีเนื้อหาประชดประชันชะตากรรมของศิลปินมโนราห์ในยุคสมัยปัจจุบันก็ยังแฝงสารสำคัญว่าแก้วเป็นศิลปินโดยสายเลือดมีพรสวรรค์ในการขับกลอนมโนราห์(วิภูเองก็คงเป็นหนึ่งในสายเลือดมโนราห์เช่นกัน?แถมยังมีพรสวรรค์ในทางสร้างสรรค์งานศิลป์ตั้งแต่เด็กเช่นเดียวกับแก้วเสียด้วย ผู้อ่านคนนี้ก็มีสายเลือดมโนราห์หากแก้วมีตัวตนอยู่จริงก็คงพอจะนับญาติกันได้เพียงแต่ถนัดเป็นผู้เสพมากกว่า เช่นที่กำลังทำในตอนนี้)แก้วเป็นสาวน้อยที่ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางสังคมสูงและอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตจึงเป็นธรรมดาที่จะมีความขัดแย้งในใจ ในวันที่แก้วเป็นลมและสายเลือดมโนราห์ถูกปลุกให้ตื่นผู้อ่านก็ได้รู้ว่าความขัดแย้งนั้นคลี่คลายไปพร้อมกันนั้นแก้วก็ได้ปลุกสายเลือดมโนราห์ในตัวผู้ชมให้ตื่นขึ้นด้วยเช่นกัน(วิภูเองก็ได้ปลุกผู้อ่านให้ตื่นและเติบโตไปด้วยกันในเส้นทางของการสร้างเสพงานศิลป์)

บนเส้นทางแห่งการสืบทอดศิลปะการแสดงมโนราห์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งภายนอกคือสภาพสังคมและภายในคือความขัดแย้งในใจ การตื่นของแก้วจัดได้ว่าเป็นการตื่นรู้ที่ยิ่งใหญ่ แก้วตระหนักแล้วว่าตนเป็นลูกพ่อ เป็นหลานปู่ เป็นเหลนทวด เป็นทายาทตระกูลมโนราห์ นี่คือรากเหง้าของเธอ ส่วนการผลิดอกออกผลหรือผลผลิตของความเติบโตทางความคิดและจิตใจ เรื่องเล่าของวิภูก็เป็นสิ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าคนที่มีรากย่อมไม่หลุดลอย

พอดีเป็นคนพัทลุงเหมือนกัน อ่านแล้วอดพรั่งพรูความคิดออกมาไม่ได้

ยินดีด้วยกับความก้าวหน้าของเจ ดูเหมือนจะเติบโตขึ้นทั้งภายในและภายนอกเลยนะ(ฮิฮิ)

รวมเล่มเมื่อไหร่ส่งข่าวมาบ้างนะจ๊ะ

สุภาวดี พลชะนะ มีแก้ว

การcommentงานนี้โดยอ่านเพียงรอบเดียวมีข้อดีข้อเสียอย่างละ 1 ประการ

ข้อดีคือ แรงกระทบทางอารมณ์ที่ได้รับ(จากความประสานของเนื้อหาที่โดนใจกับรูปแบบที่ลงตัว)กระตุ้นความรู้สึกนึกคิดให้ตื่นตัวรับสารทางปัญญาและอารมณ์เต็มที่

ข้อเสียคือ ขาดความละเอียดรอบคอบในการนำเสนอความเห็นต่อเรื่องสั้นเรื่องนี้

ส่วนสำคัญที่ขาดหายไปอย่างน่าเสียดายคือ รายละเอียดของการสร้างงานส่วนของกลศิลป์ ขณะที่เขียนก็ตระหนักถึงข้อบกพร่องนี้ดีเพียงแต่หากพรรณารายละเอียดส่วนของกลวิธีทางวรรณศิลป์พ่วงเข้าไปด้วย comment นี้จะมีความยาวมาก (ไม่รู้คนอื่นเขาเขียนกันสั้นยาวแค่ไหน พอดีเพิ่งเข้ามาในโลก Cyber ได้ไม่นาน เท่าที่สำรวจดูคร่าว ๆ โดยมากก็เห็นเขียนกันสั้น ๆ ) เมื่ออ่านเที่ยวเดียวข้อวิจารณ์จึงมีข้อบกพร่องอย่างไม่น่าให้อภัย นั่นคือ ผิดพลาดในรายละเอียดเรื่องของเวลา วันที่แก้วรำมโนราห์หน้าเสาธงเป็นวันเดียวกับที่แก้วต้องประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ นั่นคือ แม่หอบผ้าหอบผ่อนหนีพ่อไปตั้งแต่เช้ามืด

"น้ำตาไม่เคยเอ่ยคำ" แต่ก็เป็นสิ่งที่สื่ออารมณ์ความรุ้สึกและบ่งบอกว่า ความสะเทือนใจที่ได้รับมีมากมายและรุนแรงเพียงใด

ยิ่งทุกข์ที่ก้าวข้ามสาหัสเพียงใด ปิติสุขที่ตามมาก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

ขอคารวะแด่บันทึกนี้ ที่ถ่ายทอดอารมณ์ศิลปินโดยสายเลือด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท