การวิเคราะห์วรรณกรรม: มิติอันหลากหลาย


การวิเคราะห์วรรณกรรม: มิติอันหลากหลาย*

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          ศิลปกรรมที่นำเสนอผ่านหน้ากระดาษ  ใช้อักษร คำ และความในประโยค ร้อยเรียงเพื่อสร้างจินตนาการ สื่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียน และบางครั้งก็เร้าอารมณ์ของผู้อ่านได้อย่างประหลาดก็คือ  “วรรณกรรม”  คำนี้มีความหมายครอบคลุมคำที่เราใช้มาแต่เดิม คือ  “วรรณคดี” ซึ่งหมายถึงหนังสือแต่งดี ทั้งในด้านภาษา  รูปแบบการนำเสนอ และด้านความคิด  แต่เนื่องจากวรรณกรรมมีขอบเขตกว้างกว่าวรรณคดี        ที่มีเวลาเป็นเครื่องกำหนด ว่าจะต้องเป็นเรื่องราวที่ตกทอดมาแต่อดีต  ในที่นี้จึงขอใช้คำว่าวรรณกรรมเป็นคำเรียกโดยรวม  เพื่อให้จัดวรรณคดีเข้าไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของบรรดาหนังสือทั่วไปด้วย  

 

          วรรณกรรมเท่าที่สอนอยู่ในปัจจุบันนั้น  มีวิธีการเรียนการสอนที่ไม่ต่างจากเดิมมากนัก  ครูวรรณกรรมมักจะเป็นผู้ที่เปิดประเด็น และนำผู้เรียนเข้าสู่เนื้อหา ด้วยการบอก เล่า หรืออธิบายในบางประเด็น แล้วชี้ให้เห็นว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ ดีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีสาระเนื้อหาอะไรที่เป็นแก่นสารบ้าง ท้ายที่สุดก็จะพูดถึงวรรคทอง หรือประโยคที่แสดงสาระสำคัญของเรื่อง แนวของการจัดการสอนดังกล่าว ปรากฏอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัด ในชั้นเรียนวรรณกรรมของกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ที่เมื่อไรก็ตาม มีการสอนวรรณคดี ก็จะปรากฏว่า ครูภาษาไทยดูจะเป็นผู้รับผิดชอบอะไร ๆ ไปเสียทั้งหมด คือ  เป็นทั้งผู้สรุป ผู้เล่า  ผู้อธิบาย  และผู้วิเคราะห์ไปในคราวเดียว ซึ่งหากจะหันกลับไปมองผู้เรียนนั้นเล่า  ก็น่าตกใจว่า ผู้เรียนคงเหลือแต่เพียงสถานภาพเดียวเท่านั้นคือเป็น “ผู้ฟัง” และเป็นการฟังที่ง่ายไปสักหน่อย เพราะฟังโดยไม่ต้องคิดต่อเนื่องอย่างใดทั้งสิ้น  ที่จริงแล้ว  วรรณคดีไม่ควรที่จะเรียนหรือสอนในลักษณะเช่นว่าเลย ตรงกันข้าม ผู้เรียนในฐานะผู้อ่านนั้นต่างหาก ที่จะต้องกระตือรือร้น (active) ที่จะ “คิดวิเคราะห์” ประเด็นหลายต่อหลายอย่างในเรื่อง  เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนถ่องแท้ นี่เองจึงจะเรียกได้ว่า  สมประสงค์ของการใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือพัฒนาความคิดความอ่านอย่างแท้จริง   

 

          นักภาษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนอ่านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านคือความหมาย  อันเป็นสิ่งประสมกันระหว่างความหมายตามอักษร ซึ่งปรากฏแก่ตา กับความหมายที่เกิดจากการปรุงแต่งของอารมณ์ ความรู้สึก  และประสบการณ์ส่วนตัวในอดีตของผู้อ่าน ซึ่งปรากฏแก่จิตใจ  ทั้งสองส่วนปรุงแต่งให้เกิดอรรถรสบางอย่างในขณะที่อ่าน และทำให้ความคิดของผู้อ่านได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง  ขอให้พิจารณาตัวอย่างข้อความจากวรรณกรรมเรื่องสามก๊กต่อไปนี้ ซึ่งเป็นตอนที่เตียวหุยคิดสังหารตนเองเสีย ด้วยได้ละทิ้งหน้าที่ดูแลภรรยาเล่าปี่ อันเป็นเหตุให้ลิโป้ผู้เป็นศัตรู  สามารถควบคุมตัวพี่สะใภ้ไว้ได้ ณ เมืองชีจิ๋ว

 

 

                      “เตียวหุยได้ยินกวนอูว่าดังนั้นก็นิ่งไปมิได้ตอบคำ  คิดอัปยศแก่ทหารทั้งปวง

                   จึงชักเอากระบี่ออกจะเชือดคอตาย  เล่าปี่เห็นก็ตกใจวิ่งเข้ากอดเอาเตียวหุยไว้

                   แล้วชิงเอากระบี่เสียจากมือ  แล้วจึงว่าคำโบราณกล่าวไว้ว่า  ธรรมดาภรรยา

                   อุปมาเหมือนอย่างเสื้อผ้า  ขาดแลหายแล้วก็จะหาได้  พี่น้องเหมือนแขนซ้ายขวา

                   ขาดแล้วยากที่จะต่อได้  แล้วเราก็ได้สาบานไว้ต่อกันว่า  ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน

                   ซึ่งเสียเมืองชีจิ๋วและภรรยาเราไปทั้งนี้ก็เป็นแต่การภายนอก  จะฆ่าตัวเสียนั้นใช่

                   ของทั้งนี้จะคืนมาก็หามิได้  ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ก็จะได้คิดอ่านทำการสืบไป  จะมา

                   ตายเสียเปล่า ๆ ไม่ควรเลย แล้วเล่าปี่ก็ร้องไห้ กวนอู เตียวหุยเห็นเล่าปี่ร้องไห้

                   ก็ร้องไห้ด้วย”

                                                                    (สามก๊กฉบับหอพระสมุด: เจ้าพระยาพระคลัง)

         

           ข้อความที่ยกมาข้างต้น ก่อให้เกิดความรู้สึกอย่างรุนแรง จากการที่ผู้เขียนสร้างความขัดแย้งอย่างน้อยถึงสองประการ ประการแรก คือ การฉายภาพในด้านอ่อนแอของผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักรบ  เพราะธรรมดาทหารนั้น เป็นชายชาญย่อมต้องเข้มแข็ง แม้จะประสบเหตุเภทภัยอันตรายใด ๆ ก็ไม่ควรจะสำแดงให้ปรากฏว่า เป็นผู้อ่อนแอ หรือมีใจอ่อนไหวโลเล แต่นี่ ผู้เขียนกลับบรรยายภาพของเตียวหุย ผู้เป็นน้องชายร่วมสาบานของเล่าปี่ในลักษณะที่อ่อนแออย่างที่สุด  เรียกว่าอยู่ในขั้นอับอายจนไม่อาจสู้หน้าพี่ร่วมสาบานทั้งสองได้  เพราะตนเองได้กระทำความผิดอันใหญ่หลวง ซึ่งถือว่า  เป็นความบกพร่องในหน้าที่ความรับผิดชอบของทหารอย่างร้ายแรง ในขณะที่อ่านนั้นเอง  ดูเหมือนว่า การกล่าวถึงการร้องไห้ของชายชาติทหาร จะยิ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนความขัดแย้งประการที่สอง คือการเสนอคุณค่าในเชิงเปรียบเทียบ ระหว่างภรรยากับพี่น้อง  เห็นได้ชัดว่า ภาพของความเปรียบที่กล่าวถึง อาจจะผิดไปจากค่านิยมของสังคมทั่วไป ที่อาจเห็นว่าภรรยาสำคัญมากกว่า แต่การณ์กลับมิเป็นเช่นนั้น เพราะเล่าปี่แสดงความคิดในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า ภรรยานั้น แม้เมื่อผู้เป็นสามียังมีชีวิตอยู่ ก็ยังอาจหาใหม่ได้ต่อไป  แต่พี่น้องนั้นเล่า หากขาดหรือสูญเสียไปแล้ว ก็ยากที่จะหาทดแทนได้  การวิเคราะห์ให้เห็นมุมความคิดที่ลึกซึ้งเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้วรรณกรรม  ซึ่งแม้จะยกมาเพียงช่วงเดียวนี้มีคุณค่ายิ่ง  ดังนั้น เราจึงอาจกกล่าวได้ว่า หนังสือหรือวรรณกรรมทุกเรื่อง ย่อมมีประเด็น     ต่าง ๆ ให้วิเคราะห์  ให้คิด ให้พินิจพิจารณา ตราบเท่าที่เราในฐานผู้อ่านประสงค์  ครูผู้สอนวรรณกรรมจึงสามารถนำข้อเท็จจริงนี้ ไปประยุกต์เพื่อจัดการเรียนการสอนวรรณกรรมได้ในชั้นเรียนของตนเองได้

 

 

          สิ่งที่ครูผู้สอนวรรณกรรมควรนำมาให้ผู้เรียนวิเคราะห์ หรือพิจารณาเพื่อพัฒนาความคิดขณะที่อ่านวรรณกรรมมีหลายประการ วรรณกรรมจึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาความคิดของผู้เรียนได้หลากหลายมิติ  ทั้งการให้ผู้เรียนวิเคราะห์ความเป็นมาของเรื่อง  วิเคราะห์สาเหตุหรือวัตถุประสงค์ในการเขียนของผู้ประพันธ์  วิเคราะห์รูปแบบหรือกลวิธีการประพันธ์  วิเคราะห์แนวคิดหรือแก่นเรื่อง  วิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ และวิเคราะห์โครงสร้างเรื่อง ซึ่งการวิเคราะห์ในแต่ละมิติมีรายละเอียดดังนี้ 

 

 

          ๑.  การวิเคราะห์ความเป็นมาของเรื่อง  อันที่จริงแล้ว ส่วนที่เรียกว่ามีบทบาทน้อยที่สุดในการศึกษาวรรณกรรมคือที่มาหรือความเป็นมาของเรื่อง  ทั้งนี้เนื่องจากเป็นเพียงส่วนสนับสนุน หาใช่สาระสำคัญแต่อย่างใดไม่  อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่มาและการวิเคราะห์เกี่ยวกับปูมหลังของวรรณกรรมแต่ละเรื่อง ก็อาจเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เนื่องจากจะช่วยให้เราเข้าใจวัตถุประสงค์ของการนำวรรณกรรมมาใช้ เพื่อกิจบางประการเป็นการเฉพาะ  ตัวอย่างเช่น  วรรณกรรมเรื่องสามก๊ก ฉบับหอพระสมุด ซึ่งเรียบเรียงโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) วรรณกรรมเรื่องนี้หากพิจารณาในแง่ประวัติจะพบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริให้แปลและแต่งไว้เป็นสมบัติสำหรับพระนครที่สร้างใหม่  เดิมมีความเข้าใจว่า พระราชประสงค์คือเพื่อให้ข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร เห็นแบบฉบับอันพึงปฏิบัติในการประกอบการกิจต่าง ๆ        อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของเรียงความร้อยแก้วชั้นเยี่ยม  แต่นักวิชาการในชั้นหลัง โดยเฉพาะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ได้วิเคราะห์ความเป็นมาของเรื่อง แล้วเสนอเป็นแนวคิดว่า วรรณกรรมเรื่องสามก๊กนั้น แท้ที่จริงแล้ว  สื่อให้เห็นแนวคิดเรื่องการปราบดาภิเษกของรัชกาลที่ ๑ ว่า เป็นสิ่งที่ชอบธรรม  เนื่องจากทรงเป็นผู้มี      บุญญาธิการ กอปรด้วยปัญญาบารมี  อีกทั้งทรงเป็นผู้กำจัดภัยพิบัติต่าง ๆ ให้แก่ราชสำนัก ดังเช่นที่เล่าปี่ได้กระทำเพื่อรักษาราชสมบัติของพระเจ้าเหี้ยนเต้ แต่ภายหลังเล่าปี่ก็ได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ในวงศ์ฮั่นเสียเอง เป็นต้น ดังที่ได้ยกตัวอย่างมานี้  การแปลวรรณกรรมเรื่องสามก๊ก  เมื่อวิเคราะห์ที่มาแล้ว  จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในฐานะเครื่องมือการปกครองของชนชั้นนำ มากกว่าประโยชน์ทางด้านหนังสือ  หรือทางศิลปกรรมดังที่เข้าใจมาแต่เดิม 

 

 

(สามก๊ก  ฉบับ หอพระสมุด โดยเจ้าพระยาพระคลัง)

 

          ๒.  การวิเคราะห์สาเหตุหรือวัตถุประสงค์ในการเขียนของผู้ประพันธ์ แม้จะมีผู้กล่าวอ้างว่า วรรณกรรมบางเรื่อง แต่งขึ้นมาโดยผู้เขียนไม่ได้กำหนดกะเกณฑ์ลงไปว่า จะเขียนวรรณกรรมนั้นไปเพื่ออะไร หรือใช้เป็นเครื่องมือสำหรับอะไร แต่เขียนเพราะอยากจะเขียนเท่านั้น วรรณกรรมเช่นนี้อาจถือว่าเป็นวรรณกรรมบริสุทธิ์  ที่กลั่นกรองออกจากจิตใจของผู้เขียนโดยแท้ อย่างไรก็ตาม มีน้อยนัก ที่วรรณกรรมทั่วไปจะเข้าลักษณะของวรรณกรรมบริสุทธิ์เช่นว่า เพราะธรรมชาติของผู้เขียน ก่อนที่จะลงมือเขียน เขาย่อมประพันธ์เรื่องราวต่าง ๆ เพื่อรับใช้จุดประสงค์  หรือความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งของตนเอง เช่น เพื่อ       สั่งสอน เพื่อให้แบบอย่าง  เพื่อตำหนิ  เพื่อประชดเสียดสี  เพื่อกระตุ้นให้คิด  เพื่อโน้มน้าวใจ เพื่อ       หลอกลวง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ครูวรรณกรรมจะต้องฝึกหัดให้ผู้เรียนวิเคราะห์วัตถุประสงค์ในการเขียน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจภาพรวมของวรรณกรรมนั้นว่า เหตุใดจึงดำเนินเรื่องไปในลักษณะต่าง ๆ จะเห็นได้ว่า  วรรณกรรม   บางเรื่อง ผู้เขียนมิได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนอย่างชัดเจน ผู้อ่านจึงจำเป็นจะต้องวิเคราะห์จากนัยต่าง ๆ ที่แฝงอยู่  เพื่อพิจารณาว่า  นอกจากแง่มุมด้านเนื้อหา วรรณศิลป์  หรือกลวิธีการประพันธ์ต่าง ๆ นานาที่ปรากฏแล้ว   ผู้เขียนประพันธ์วรรณกรรมนั้นขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ใด  วรรณกรรมบางเรื่องมีเนื้อหาสนุกสนานน่าติดตาม แบะใช้ภาษาวรรณศิลป์ที่งดงามไพเราะก็จริงอยู่ แต่อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เนื้อหาเสียดสีบุคคลหรือสังคม ณ  ขณะนั้นก็เป็นได้ ตัวอย่างเช่น วรรณกรรมเรื่องสั้นหลายเรื่องในวรรณกรรม       “ฟ้าบ่กั้น” ของลาว คำหอม  (คำสิงห์  ศรีนอก)  เรื่องราวต่าง ๆ ในเรื่องสั้นชุดนี้  สะท้อนให้เห็นสภาพ       การเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ทางชนชั้น และการแสวงหาประโยชน์ของชนชั้นปกครอง  ซึ่งเหยื่อก็คือชาวบ้านร้านตลาด ชาวนาชาวไร่  ที่ผู้เขียนให้ภาพว่าเป็นผู้โง่เง่า ไร้ปัญญา และตกเป็นทาสของคนเมืองหรือรัฐ          ได้โดยง่าย  ดังที่กล่าวมานี้ เมื่อผู้เรียนวิเคราะห์ว่า อะไรคือวัตถุประสงค์ของการเขียนเรื่อง ก็จะก่อให้เกิดความเข้าใจว่า  วรรณกรรมเรื่องนั้นกำลังกล่าวถึงอะไร และมีเนื้อหาที่ลงลึกไปถึงสิ่งใด เรื่องใดหรือบุคคลใด      มากกว่ารับรู้แต่เพียงภาพตามถ้อยคำที่บรรยายเท่านั้น    

 

(ลาว  คำหอม)

 

          ๓.  การวิเคราะห์รูปแบบ   คำว่า “รูปแบบ” คือแบบแผนที่ปรากฏแก่ตา  รูปแบบของวรรณกรรม คือแบบแผนในการเขียน หรือกรอบอันเป็นเส้นเกณฑ์ที่แบ่งเรื่องของการใช้คำวรรคตอนและการเรียบเรียงให้เป็นข้อความ  หากเป็นวรรณกรรมร้อยแก้ว  รูปแบบการเขียนอาจแบ่งเป็นความเรียง เรียงความ  สารคดี     บทบรรยาย  บทละคร  ข่าว ประกาศ  บทโฆษนา  นวนิยาย เรื่องสั้น เป็นต้น  ส่วนวรรณกรรมร้อยกรอง     คำว่ารูปแบบมักหมายถึงฉันทลักษณ์ ที่ผู้เขียนนำมาใช้ เช่น กลอน โคลง ร่าย กาพย์ ฉันท์  เป็นต้น  การจัดการเรียนการสอนวรรณกรรม ควรฝึกหัดให้ผู้เรียนวิเคราะห์รูปแบบของวรรณกรรมนั้นด้วย ทั้งนี้      หลักสำคัญของการวิเคราะห์รูปแบบ  คือ   จะต้องมิใช่การระบุแต่เฉพาะรูปแบบการเขียนหรือการแต่งเท่านั้น เช่น ระบุได้ว่า เรื่อง  “พระอภัยมณี” เป็นกลอนสุภาพ  เรื่อง “ลิลิตตะเลงพ่าย” เป็นโคลงสี่สุภาพและ        ร่ายสุภาพ   แต่จะต้องสามารถบอกความสัมพันธ์ในเชิงสาเหตุด้วยว่า เหตุใดผู้เขียนจึงเลือกใช้ฉันทลักษณ์    หรือรูปแบบเหล่านั้น ในการนำเสนองานของตน เหตุใดสุนทรผู้จึงไม่แต่งพระอภัยมณีเป็นร้อยแก้ว  หรือเป็นนิทานในลักษณะบทบรรยายทั่ว  ๆ  ไป หรือเหตุใด สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงไม่นิพนธ์เหตุการณ์       ยุทธหัตถีของพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาด้วยกลอนสุภาพ หรือคำประพันธ์ชนิดอื่น ๆ การหาคำอธิบายของคำถามเหล่านี้ ล้วนแต่นำไปสู่การวิเคราะห์รูปแบบทั้งสิ้น  ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาและรูปแบบนำเสนอแล้ว  ยังจะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจด้วยว่า  สารอย่างหนึ่ง เมื่อนำเสนอผ่านวิธีการหรือรูปแบบที่ต่างกันแล้ว ย่อมมีพลังหรืออำนาจในการสื่อที่แตกต่างกันด้วย  ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญ ย่อมจะเลือกใช้รูปแบบการนำเสนอที่เหมาะสมกับสารมากที่สุด เพราะจะทำให้ผู้อ่านได้รับสารที่เด่นชัด      ตรงประเด็น และเข้าใจความต่าง ๆ ที่นำเสนอในสารนั้นได้อย่างชัดเจน ตรงกับที่ผู้เขียนต้องการ

 

          ๔.  การวิเคราะห์แนวคิดหรือแก่นเรื่อง  แก่นเรื่องหรือแนวคิดสำคัญของเรื่อง คือแก่นหลักอันสำคัญที่ร้อยเรียงทุกเรื่องราวของวรรณกรรมให้ดำเนินไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล จากจุดเริ่มต้น นำไปสู่ปมขัดแย้งสูงสุด และที่สุดแล้ว ก็ไปถึงจุดคลี่คลาย  แก่นเรื่องโดยพื้นฐานที่ปรากฏในวรรณกรรมมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความดีความชั่ว  ปัญญา หรือกิเลสตัณหาของมนุษย์  วรรณกรรมบางเรื่อง การวิเคราะห์แก่นเรื่องมักไม่ซับซ้อนมาก เช่น วรรณกรรมจำพวกนิทาน แก่นเรื่องที่พบมาก  เช่น  คนโง่ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด  พึงเอาชนะ    ความชั่วด้วยความดี  ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เอาตัวรอดจากเภทภัยต่าง ๆ ความฉลาดอาจแพ้แรงอุตสาหะ  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมขนาดยาว ที่มีเหตุการณ์จำนวนมากอยู่ในเรื่อง  อาจมีแนวคิด   รองอื่น ๆ เสริมอยู่ก็ได้ และอาจจะไม่ปรากฏแนวคิดหลักอย่างเด่นชัด  การวิเคราะห์แก่นเรื่องจึงซับซ้อนและ     ยากกว่า  อย่างไรก็ตาม  การจัดการเรียนการสอนวรรณกรรม การฝึกให้ผู้เรียนวิเคราะห์แก่นเรื่องยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอยู่นั่นเอง  ผู้อ่านจะต้องสามารถบอกได้ว่า  อะไรคือสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอ  อะไรคือแก่นแกนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ดำเนินไป และนำไปสู่ปมหรือบทสรุปบางประการของเรื่อง  ตราบใดที่ผู้อ่านไม่ทราบว่า เรื่องที่อ่านนำเสนอแนวคิดอะไร หรือผู้เขียนต้องการบอก กล่าว เล่า สื่ออะไรมายังตนเองแล้ว         ก็นับได้ว่าเป็นการอ่านที่ผิวเผินอยู่มาก ไม่เรียกว่าเกิดความเข้าใจในการอ่าน  และอาจจะถึงขั้นที่ว่า เป็นการอ่านที่อาจจะไม่ก่อคุณค่าใด ๆ ในทางปัญญาของผู้เรียนเลย  ด้วยเหตุนี้  ครูผู้สอนวรรณกรรมจึงต้องถือการวิเคราะห์แนวคิดหรือแก่นเรื่องนี้เป็นพันธกิจสำคัญ อันจะขาดเสียไม่ได้ในชั้นเรียนการอ่านวรรณกรรม    ของตน  และพึงตระหนักว่า ชั้นเรียนใดที่ครูมุ่งหมายจะสอนวรรณกรรม แต่ไม่มีกิจกรรมให้ผู้เรียนวิเคราะห์แก่นเรื่องวรรณกรรมที่อ่านแล้วไซร้ ยังจะเรียกว่าเป็นชั้นเรียนวรรณกรรมที่แท้จริงหาได้ไม่ และการสอนนั้นหาได้เป็นการศึกษา เป็นแต่เพียงการอ่านและรับรู้ความหมายแบบดาด ๆ เท่านั้น   

 

 

          ๕.  การวิเคราะห์คุณค่าด้านต่าง ๆ วรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ๆ นั้น หากปรับมุมมองใหม่ ก็เป็นแต่เพียงหนังสือหรืองานเขียนอันมีผู้ประพันธ์ขึ้น  จะมีคุณค่าหรือไม่ เป็นแต่เพียงเกณฑ์ภายนอกที่มีผู้นำเข้าไปตัดสิน ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนบทความจึงเห็นว่า  คุณค่าของวรรณกรรมอยู่ที่ผู้ประเมินพิจารณา  วรรณกรรมเรื่องหนึ่ง    ในสายตาผู้อ่านหรือผู้ประเมินคนหนึ่ง  ก็อาจจะมีคุณค่าอย่างหนึ่ง ซึ่งก็แตกต่างจากผู้ประเมินคนอื่นได้  คุณค่าของวรรณกรรม จึงอาจจะมิใช่คุณค่าที่มีอยู่เดิม หรือจำฝังอยู่ในวรรณกรรมนั้น  ๆ นับแต่เริ่มต้นเขียนหรือตีพิมพ์ แน่นอนว่า ขณะเขียน ผู้เขียนหรือนักประพันธ์ย่อมจะรังสรรค์งานเขียนของตน ให้มีความโดดเด่น     โดยใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ ที่ก่อให้เกิดรสคำ  หรือรสความตามความถนัด เอกลักษณ์และลีลาเฉพาะตน แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะยังไม่เรียกว่าเกิดคุณค่า จนกว่าจะมีผู้มาใช้เกณฑ์อย่างหนึ่งประเมิน แล้วจึงตีค่าออกมาว่ามีมูลค่ามากหรือน้อย  ซึ่งผู้ตีค่าก็อาจตีต่างไปจากผู้เขียนก็เป็นได้  ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์คุณค่าจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องเกณฑ์ที่จะนำมาใช้  เกณฑ์ความรู้สึกดูเหมือนจะเป็นเกณฑ์อย่างแรก ที่ผู้อ่านทุกคนใช้ในการตีความวรรณกรรมว่า ชอบไม่ชอบ สนุกไม่สนุก ดีไม่ดี คุ้มหรือไม่คุ้มกับที่อ่าน  เป็นต้น  จากนั้นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์มากสักหน่อย ก็จะเริ่มใช้เกณฑ์ด้านอื่น ๆ ที่มีผู้วางบัญญัติไว้  มาตีค่าเรื่องที่อ่าน เช่น เกณฑ์ด้าน   การใช้คำ  การใช้โวหาร  การใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์  การสะท้อนสังคม การสะท้อนความเชื่อ ค่านิยม  วัฒนธรรม  ประเพณี  เป็นต้น  การสอนให้ผู้เรียนวิเคราะห์คุณค่า จึงว่าด้วยการสอนเกณฑ์เหล่านี้  หลายครั้งที่พบปัญหาว่า  ครูวรรณกรรมมักจะให้ผู้เรียนวิเคราะห์คุณค่าวรรณกรรมหลังจากที่ถอดความ หรือว่ากันด้วยเนื้อหาเสร็จแล้ว  แต่ลืมไปว่า การวิเคราะห์หรือการตีคุณค่านี้ ต้องดำเนินไปพร้อมกับเกณฑ์อันเป็น      เครื่องมือด้วย  เมื่อไม่มีเกณฑ์  ไม่มีกรอบ แล้วให้ผู้เรียนมุ่งตีค่าไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีหลักเกณฑ์ ก็ดูจะประดักประเดิดเต็มที่ เป็นการพิจารณาคุณค่าแบบเดาสุ่ม ที่สุดแล้ว  ก็จะเขวและปราศจากทิศทาง  ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะใช้ตีคุณค่าของวรรณกรรมมีอยู่จำนวนมาก ครูจะต้องรู้จักเลือก  และแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักด้วยว่า หากจะเลือกตีค่าหรือพิจารณาคุณค่าของวรรณกรรมในด้านหนึ่ง ๆ แล้ว  เกณฑ์ที่พวกเขาจะต้องใช้คืออะไร และจะนำเกณฑ์เหล่านี้ไปวัดค่าในเนื้อหาของวรรณกรรมได้อย่างไร เหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ครูผู้สอนวรรณกรรมจะต้องเตรียมตัวก่อนการสอนทั้งสิ้น

 

          ๖.  การวิเคราะห์โครงสร้างเรื่อง  วรรณกรรมจำพวกเรื่องเล่า หรือเรื่องที่แต่งขึ้นโดยมีองค์ประกอบประกอบด้วยตัวละคร ฉาก เหตุการณ์  ปมขัดแย้ง  จุดเริ่มต้น และจุดคลี่คลาย ถือว่าเป็นวรรณกรรมที่มีโครงสร้าง  ครูสามารถให้ผู้เรียนฝึกหัดวิเคราะห์โครงสร้างต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อพัฒนาการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนเพื่อพัฒนาการคิดเชื่อมโยงว่า  โครงสร้างเหล่านี้ส่งอิทธิพลแก่กันและกันอย่างไร  เช่น  ตัวละครแต่ละตัวมีพฤติกรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากบุคลิกและบทสนทนา ที่สะท้อนให้เห็นแนวคิดสำคัญของเรื่องได้อย่างไร     อะไรเป็นเหตุจูงใจให้ตัวละครเกิดพฤติกรรม กระทั่งนำไปสู่ปมขัดแย้ง  หรือจุดสูงสุดของเรื่อง หรือฉากแต่ละฉากสนับสนุนพฤติกรรมการแสดงออกของตัวละครแต่ละตัวอย่างไร เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม เท่าที่นิยมปฏิบัติในการวิเคราะห์วรรณกรรม ผู้สอนมักให้ผู้เรียนวิเคราะห์ตัวละครเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  แต่การวิเคราะห์เป็นแต่ในชั้นบรรยาย หรือการบอกแต่เพียงลักษณะนิสัยทั่วไป ๆ หาได้ลงลึกในระดับของพฤติกรรม หรือปัจจัยในเชิงสาเหตุ ที่ทำให้ตัวละครคิด พูด ปฏิบัติหรือกระทำแต่อย่างใดไม่  ผู้สอนที่จะพัฒนาผู้เรียนให้สามารถวิเคราะห์ตัวละครในเชิงสาเหตุได้นั้น จะต้องให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อเรื่องและเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยภาพรวมเสียก่อน ว่าตัวละครใด สัมพันธ์กับตัวละครใด และตัวละครแต่ละตัว แสดงออกหรือมีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิดของเรื่องอย่างไรบ้าง  ยกตัวอย่างเช่น  ตัวละคร “นายล้ำ” ในบทพระราชนิพนธ์ละครพูดเรื่อง “เห็นแก่ลูก”    พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครูผู้สอนน่าจะตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของนายล้ำว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้นายล้ำแสดงพฤติกรรมเห็นแก่ลูก ด้วยการไม่เปิดเผยความจริงว่าตนเองเป็นบิดา  อาศัยแค่คำพูดของบุตรีคือแม่ลออที่ว่า ได้วาดภาพบิดาของตนเองไว้ ว่าเป็นคนดี ใครจะว่าเลวนั้นเป็นไม่เชื่อ เพียงเท่านี้ จะทำให้นิสัยบางอย่างที่หยั่งลึกมายาวนานเปลี่ยนได้เชียวหรือ  คำถามนี้ จะทำให้เกิดมุมมองใหม่ต่อตัวละคร และการถกเถียงกันเพื่อสาเหตุดังกล่าวนี้เอง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาปัญญาความคิด ดังที่เป็นเป้าหมายหลักอันสำคัญที่สุดของการสอนวรรณกรรมในทุกระดับชั้น

 

 

 

          คำถามสำคัญที่ว่า เราจะสามารถจัดการเรียนการสอนการคิดในชั้นเรียนวรรณกรรมได้หรือไม่นั้น คำตอบคือได้ และการคิดระดับใดเป็นสิ่งที่เราควรจะมุ่งเน้น ก็สามารถตอบได้ว่า ควรเป็นการคิดระดับ      ความเข้าใจและการคิดระดับสูง คือ การคิดวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และหากถามต่อไปว่า ควรให้ผู้เรียนวิเคราะห์อะไรในวรรณกรรม คำตอบก็คือสิ่งที่ได้กล่าวไว้โดยตลอดเนื้อหาของบทความ คือ วิเคราะห์ที่มา วิเคราะห์วัตถุประสงค์ วิเคราะห์รูปแบบ  วิเคราะห์แนวคิด  วิเคราะห์คุณค่า และวิเคราะห์โครงสร้างของเรื่อง  โดยแนวคิดของการวิเคราะห์ ก็คือการจำแนกแยกแยะลงไป เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์หรือความเป็นเหตุเป็นผล อันจะช่วยให้เข้าใจว่า ผลเกิดแต่เหตุใด หรือเหตุจะนำไปสู่ผลอย่างไรบ้าง  การวิเคราะห์วรรณกรรมดังที่กล่าวมานี้ จึงมีได้หลากมิติ ขึ้นอยู่กับว่าครูผู้สอนจะให้ความสำคัญกับมิติใดเป็นพิเศษ



ความเห็น (3)

*  บทความเรื่องนี้ เป็นบทความเรื่องที่ 100 ของผู้เขียน ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่เป็นสมาชิก Gotoknow ผู้เขียนตระหนักเสมอว่า บทความที่เขียนนั้น ควรจะเป็นบทความที่อย่างน้อยจะต้องถูกต้องตามรูปแบบการเขียน ใช้สำนวนภาษาระดับมาตรฐาน   มีรูปแบบและองค์ประกอบที่ถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม แม้จะเขียนมาถึงเรื่องที่ 100  แล้วก็ตาม ผู้เขียนก็ยังประสบปัญหาบางประการอยู่บ้าง แต่ก็มิได้ท้อถอย กลับตั้งใจที่จะพัฒนางานเขียนของตนให้ดียิ่งขึ้น  บทความส่วนใหญ่จึงเป็นบทความเชิงวิชาการ ที่สามารถนำไปอ้างอิงได้ตามหลักวิชา ทั้งนี้  หากบทความทั้งหมด ก่อให้เกิดคุณูปการต่อผู้อ่านในทางใดแล้ว ผู้เขียนขออุทิศคุณงามความดีเหล่านั้นแด่ตายาย ผู้สนับสนุนและให้รากฐานทางปัญญาความคิดแก่ผู้เขียนมาตลอด 

    ทั้งนี้ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณหน่วยงาน องค์กร และผู้อ่านทุกท่าน ที่ได้ติดตาม ให้ข้อเสนอแนะและให้กำลังใจในการทำงานเพื่อวงการการสอนภาษาไทยตลอดมา

    เฉลิมลาภ ทองอาจ
   13 ส.ค. 2556

สุดยอดมากเลยครับ  ครบร้อยเรื่องพอดี  อาจารย์เก่งมาก

ครูภาษาไทยเข้ามาอ่านมากเลยครับ

ขอบพระคุณครับอาจารย์ ผมยังต้องพัฒนาอีกมากครับ การเขียนนี่บางทีขนาดว่าเขียนบ่อยแล้ว บางทีก็ยังรู้สึกไม่พอใจอยู่นั่นเองครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท