คณะทำงานเพื่อจัดทำรายงานเรื่องการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย
โครงการจัดทำรายงานการศึกษาปัญหาการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย คณะอนุกรรมการเด็กฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

กานต์ เสริมชัยวงค์ : ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย


แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาข้างต้น เด็กจำนวนหนึ่งที่เกิดนอกสถานพยาบาลของรัฐ และนอกศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวฯ ก็ยังไม่ได้รับเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ นอกจากนั้นได้มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออกหนังสือรับรองการเกิด ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนการเกิดซึ่งเป็นการรับรองโดยรัฐ และมิได้มีการเกิดข้อมูลไว้ในระบบทะเบียนราษฎร์แต่อย่างใด

ปัญหาของเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย

     การจดทะเบียนการเกิดเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กที่เกิดมา เพราะเป็นการรับรองการมีตัวตนอยู่บนโลกนี้โดยรัฐที่เด็กเกิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐที่เด็กเกิดนั้นในการรับรู้ถึงความมีตัวตนของเด็กในดินแดนของตนเอง และสำหรับเด็กที่เกิดมาในการได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งในอนาคต เนื่องจากการจดทะเบียนการเกิดจะทำให้ทราบถึงรากเหง้าของเด็ก รวมถึงการได้รับความช่วยเหลือ คุ้มครอง ได้รับโอกาสในการพัฒนา และการมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง 

     ในประเทศไทยยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิด ซึ่งทำให้เด็กนั้นไม่มีตัวตน และประเทศไทยก็ไม่ทราบถึงจำนวนที่แท้จริงของเด็กกลุ่มนี้ที่อยู่ในประเทศไทย โดยอาจแบ่งเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดออกได้เป็น 2 กรณีใหญ่ๆ กล่าวคือ

1.  เด็กมีสิทธิได้รับการจดทะเบียนการเกิด แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น พ่อแม่เด็กไม่ได้แจ้งเกิดต่อเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจถึงกฎหมายทำให้ไม่รับการแจ้งเกิด

2.  เด็กไม่มีสิทธิได้รับการจดทะเบียนการเกิด โดยผลของหนังสือสั่งการของกรมการปกครอง ซึ่งได้แก่เด็กที่เกิดจากผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย (ปัญหาการถูกจำกัดสิทธิ) 

จะเห็นได้ว่าปัญหาในกลุ่มแรกเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ซึ่งมีแนวทางและกลไกในการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว แต่ปัญหาในกลุ่มที่สองเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยกลไกในระดับนโยบายในการแก้ไขปัญหา ซึ่งควรจะได้พิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาเป็นลำดับต่อไป 

สาเหตุของการถูกจำกัดสิทธิ

        พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ หรือเจ้าบ้าน ในการแจ้งเกิดของเด็กที่เกิดในประเทศไทย  

  แต่ในกรณีของเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะไม่จดทะเบียนการเกิดให้ แม้ว่าเกิดในประเทศไทย ทั้งนี้โดยผลของหนังสือสั่งการ ออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ส่วนการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท. 0310.1/ว.8 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2545 และ ที่ มท.0310.1/ว.15 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2545 

 

การดำเนินการแก้ไขเยียวยา

        โดยตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนการเกิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามดำเนินการแก้ไขเยียวยาแล้วบางส่วน ดังต่อไปนี้

·    สำนักบริหารการทะเบียน ส่วนการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือ ที่ มท.0310.1/6984 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2545 ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานงานให้สถานพยาบาลของรัฐออกหนังสือรับรองการเกิดให้กับเด็กที่คลอดที่สถานพยาบาลในทุกกรณี รวมถึงกรณีที่พ่อแม่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

·    สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือ ที่ มท 0204.2/1731 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี และ ที่ มท 0204.2/5676 ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 ถึงประธานคณะกรรมการประสานงานองค์การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย กำหนดให้องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพในศูนย์ที่พักพิงผู้หลบหนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่า มีหน้าที่ในการออกหนังสือรับรองการเกิดให้แก่เด็กที่เกิดในศูนย์ฯ ดังกล่าว

แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาข้างต้น เด็กจำนวนหนึ่งที่เกิดนอกสถานพยาบาลของรัฐ และนอกศูนย์ที่พักพิงชั่วคราวฯ ก็ยังไม่ได้รับเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ  นอกจากนั้นได้มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออกหนังสือรับรองการเกิด ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนการเกิดซึ่งเป็นการรับรองโดยรัฐ และมิได้มีการเกิดข้อมูลไว้ในระบบทะเบียนราษฎร์แต่อย่างใด

เหตุผลสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนการเกิดสำหรับเด็กที่เกิดจากผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

 ·    การจดทะเบียนการเกิดและออกสูติบัตรให้กับเด็กกลุ่มนี้ มิได้เป็นผลทำให้เด็กได้รับสัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนแต่อย่างใด แต่จะเป็นเอกสารสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งตามหลักสายเลือด กล่าวคือได้สัญชาติตามพ่อแม่ของตน

·    ข้อมูลที่ได้จากการจดทะเบียนการเกิด จะช่วยเอื้อในการติดตามและส่งตัวเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว ในกรณีพลัดหลง หรือเด็กตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

·    การจดทะเบียนการเกิดจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรู้ถึงจำนวนเด็กที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งอาจใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวางแผนให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กกลุ่มนี้ในขณะที่ยังอยู่ในประเทศไทย

·    การจดทะเบียนการเกิด จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กในการติดตามพ่อแม่กลับประเทศต้นทางของตนเองได้ (ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยปัจจุบันในการขึ้นทะเบียนผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย) หรือไปประเทศที่สามในกรณีที่เป็นลูกของผู้ลี้ภัย

·    สิทธิได้รับการจดทะเบียนการเกิด เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และได้รับการรับรองในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก

·    ท่าทีของรัฐบาลไทยที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงการตระหนักในความสำคัญของปัญหาและการดำเนินการให้มีการจดทะเบียนการเกิดสำหรับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย  

ข้อเสนอแนะ

           เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ หรือเจ้าบ้าน ในการแจ้งเกิดของเด็กที่เกิดในประเทศไทย โดยกำหนดโทษไว้กรณีไม่ปฏิบัติตาม แม้ว่าพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการออกกฎกระทรวงยกเว้นหน้าที่ดังกล่าวได้ ปัจจุบันได้มีการกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) บังคับใช้อยู่ ซึ่งยกเว้นหน้าที่ในการแจ้งการเกิดเฉพาะแก่คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเท่านั้น ดังนั้นการดำเนินการแก้ไขให้เด็กทุกคนได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย สามารถกระทำได้โดย 

·    ยกเลิก หนังสือสั่งการที่ ออกโดยสำนักบริหารการทะเบียน ส่วนการทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท. 0310.1/ว.8 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2545 และ ที่ มท.0310.1/ว.15 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2545

·    ออกหนังสือชี้แจง การบังคับใช้ พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ในเรื่องการจดทะเบียนการเกิด โดยกำชับความสำคัญของการรับแจ้งการเกิด และการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย โดยไม่มีข้อยกเว้น

·    จัดประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อพิจารณาระบบการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร ว่ามีความเหมาะสมหรือควรมีการพัฒนาในทิศทางใด เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และอาจพิจารณาแนวทางดำเนินการ เพื่อประสานงานกับประเทศต้นทางในกรณีส่งเด็กกลับคืนพร้อมกับครอบครัว และการดำเนินการเพื่อให้เด็กได้สัญชาติตามพ่อแม่ของตนเอง

--------------------------------------------

ข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย

โดย นายกานต์  เสริมชัยวงค์ 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม  พ.ศ.2547

--------------------------------------------

ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก รายงานการสัมมนาคุ้มครองสิทธิเด็กเรื่อง ปัญหาการจดทะเบียนการเกิด จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ

หมายเลขบันทึก: 54492เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2006 20:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอให้สังเกตว่า ข้อเสนอนี้ทำใน พ.ศ.๒๕๔๗ บางข้อเสนอจึงได้รับการยอมรับโดยกรมการปกครองแล้ว แต่ในหลายสถานการณ์ ยังเป็นปัญหาอยู่

ในลำดับต่อไป คุณกานต์จะมาสรุปนโยบายที่กำหนดได้รับการดำเนินการในค่ายพักพิง

โปรดรออ่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท