Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อยากอธิบายกิจกรรมทางวิชาการที่ประชาคมวิจัยการจัดการประชากร นิติธรรมศาสตร์ จะลงทำงานที่สงขลาค่ะ โปรดแนะนำค่ะ


สงขลาศึกษา : ความเคลื่อนไหวทางวิชาการ ๔ ประการ ตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ จนถึงวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เอกสารประกอบการสร้างโครงกฎหมายเคลื่อนที่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิ Hanns Seidel แห่งประเทศเยอรมัน

เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151809691663834

-----------------------------------------------------------

เนื่องจากโครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1] มีภารกิจที่จะต้องสนับสนุนทางวิชาการแก่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปซึ่งกำลังที่จะมาถึงใน ค.ศ.๒๐๑๕/พ.ศ.๒๕๕๘  ดังนั้น จึงบรรลุถึงข้อตกลงกับภาควิชาการและภาคประชาสังคมในจังหวัดสงขลาที่จะทำกิจกรรมทางวิชาการเพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางวิชาการอันนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อทำความเข้าใจในผลกระทบของ “ประชาคมอาเซียน” โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่อาจสร้างทั้งโอกาสในการพัฒนา ปัญหา อุปสรรค และผลกระทบต่อกฎหมายไทย

ด้วยเหตุผลข้างต้น ประชาคมวิจัยฯ จึงตัดสินใจที่จะทำกิจกรรมทางวิชาการ ณ จังหวัดสงขลา ๔ ประการ ดังต่อไปนี้

ในประการแรก สมาชิกส่วนหนึ่งของประชาคมวิจัยฯ จะทำการลงพื้นที่ในจังหวัดสงขลาเพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับ “ประชาชนอาเซียน” ซึ่งยังประสบปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ๒ กลุ่ม[2] กล่าวคือ (๑) กลุ่มบุคคลที่เคยหนีภัยความตายจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเรียกกันในอดีตว่า “โจรจีนคอมมูนนิสต์มลายา” และในปัจจุบันเรียกว่า “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” และ (๒) กลุ่มชาวเขาและชนกลุ่มน้อยไร้รัฐไร้สัญชาติที่อาศัยในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย แต่ได้เดินทางมาทำงานตามแนวชายแดนระหว่างจังหวัดสงขลาและมาลาเซีย ทั้งนี้ โดยปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/ค.ศ.๒๕๕๕ มนุษย์ทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ดังนั้น ภาควิชาการในจังหวัดสงขลาจึงมีภารกิจทางวิชาการที่จะศึกษาและแสวงหาองค์ความรู้ที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติให้แก่บุคคลดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับบุคคลทั้งสองกลุ่ม จึงมีความจำเป็นที่จะต้องลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่การกำหนดและพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายในโอกาสต่อไป และภารกิจนี้เป็นไปของประเทศไทยตามกฎบัตรอาเซียนและแผนปฏิบัติการในส่วนที่เป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั่นเอง การลงพื้นที่เพื่อทำความรู้จัก จะทำในวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

ในประการที่สอง สมาชิกส่วนหนึ่งของประชาคมวิจัยฯ ได้ขอเข้าพบท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเพื่อขอข้อคิดเห็นและข้อแนะนำสำหรับประเด็นที่ควรจะยกขึ้นมาทำกิจกรรมทางวิชาการในจังหวัดสงขลา ซึ่งโดยการประสานงานทางโทรศัพท์กับท่านผู้ว่าฯ แล้ว เวลาที่จะเข้าพบ ก็คือ ในวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๐๐ น.

ในประการที่สาม ประชาคมวิจัยฯ ได้ร่วมมือกับคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และคุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตจากประเทศเบลเยี่ยม[3] เพื่อเปิดพื้นที่ทางวิชาการเพื่อแสวงหาองค์ความรู้เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่คนสงขลา โดยการตั้งเวทีสาธารณะเพื่อทบทวนสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงทั้งที่เป็นโอกาสและปัญหาของคนสงขลา ตลอดจนเพื่อทบทวนข้อความรู้ในการจัดการสถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบ เราตั้งชื่อเวทีสาธารณะของเราว่า “โครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรอาเซียน: ตอนจับประเด็นศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างสันติสุขแก่ประชากรสงขลา และและสร้างหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้นี้สู่ชุมชนสงขลาและเวทีนี้จะทำกันในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๙.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. ณ ห้อง LW ๓๐๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา

ในประการที่สี่ ประชาคมวิจัยฯ ได้ร่วมมือกับนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และมวลมิตรในจังหวัดสงขลาที่จะทำกิจกรรมการสร้าง “โรงเรียนกฎหมายเคลื่อนที่” ณ จังหวัดสงขลา ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิ Hanns seidel แห่งประเทศเยอรมัน กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่ความรู้กฎหมายให้แก่ชุมชนในประเทศไทยที่คาดว่า จะมีปัญหาการปรับตัวในความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อสงขลาเป็นชุมชนชายแดนติดกับมาเลเซียทั้งโดยอาณาเขตทางบกและทะเล และไม่ไกลจากเมียนม่าร์/พม่า สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย ตลอดจนบูรไน การสร้างองค์ความรู้ทางกฎหมายให้แก่คนในสงขลาจึงน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เราจึงได้ขอความกรุณานายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เพื่อช่วยทำงานประสานงานสร้างโรงเรียนกฎหมายเคลื่อนที่ ณ จังหวัดสงขลา ในราววันที่ ๒๓ – ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖ ในช่วงเวลานี้ จึงอยู่ในช่วงที่จะรับฟังความต้องการของประชาชนสงขลาในส่วนที่เกี่ยวเนื้อหาของบทเรียนทางกฎหมายที่ต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราอยากสร้างโรงเรียนจากความต้องการของชุมชน

ในท้ายที่สุด โครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรประสงค์ที่จะให้กิจกรรมทางวิชาการที่จะเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลาเป็นไปโดยมีส่วนร่วมของคนสงขลา เพราะเราเชื่อว่า การทำงานพัฒนาจะยั่งยืนหากมีส่วนร่วมของคนจากทุกภาคส่วนและความยั่งยืนของการพัฒนาบนองค์ความรู้ที่ถูกต้องก็ย่อมนำมาซึ่งสันติสุขที่ยั่งยืนของมวลมนุษยชาติอีกเช่นกัน



[1] มีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมทางวิชาการร่วมอันนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่บุคคลธรรมดา/มนุษย์ ตลอดจนนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนที่มนุษย์ได้ก่อตั้งขึ้น กล่าวคือ (๑) การให้ความเห็นทางวิชาการที่นักศึกษา/นักวิจัยด้านการจัดการประชากรที่ร้องขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาคมวิจัยฯ (๒) การให้ความเห็นต่อการจัดการปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เกิดขึ้นจริงและมีการร้องขอความเห็นมา (๓) การจัดเวทีวิชาการเพื่อทำความเข้าใจต่อข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการประชากร (๔) การลงพื้นที่ศึกษาปัญหาจริงที่เกี่ยวกับการจัดการประชากร (๕) การสร้างห้องเรียนเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการจัดการประชากร และ (๖) กิจกรรมทางวิชาการอื่นใดที่นำไปสู่การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการประชากร ซึ่งสมาชิกประชาคมวิจัยนี้ประกอบด้วยคณาจารย์ ๔ คนจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวคือ (๑) รองศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (๒) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ  วรปัญญาอนันต์ (๓) อาจารย์ ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน และ (๔) อาจารย์ ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา และคณะเลขานุการจำนวน ๔ คน กล่าวคือ (๑) นางสาวศิวนุช สร้อยทอง (๒) นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (๓) ปรางค์สิรินทร์ เอนกสุวรรณกุล และ (๔) วิกานดา พัติบูรณ์

[2]เราตระหนักดีว่า ในจังหวัดสงขลา ก็มีบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ กลุ่มชาวโรฮิงญาและกลุ่มแรงงานต่างด้าว อีกด้วย ซึ่งในการแสวงหาข้อมูลด้านข้อเท็จจริงนั้น เราก็มีอยู่แล้วตามสมควร จึงอาจไม่มีการลงพื้นที่เพื่อพบผู้ด้อยโอกาสทั้งสองกลุ่มนี้

[3]ซึ่งเรากำลังเสนอให้ท่านเข้าทำกลุ่มศึกษาสถานการณ์ด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายทะเลภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะสถานการณ์ในทะเลสาปสงขลา


หมายเลขบันทึก: 544551เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

Will there be "reports back to the people of Sonhkla" (in a simple non-academic, possibly local language)?

I have seen too many research teams come and go without 'courtesy' of letting the people what they have been "seen" and "written" about in research. (If someone come to check up your home, would you not like to hear what it's about and what the result is?)

ทำแน่นอนค่ะ การบอกกล่าวผลของความคิดจากการวิจัยสู่คนในพื้นที่ศึกษา

ครูของเราชื่อ "วิจารณ์ พานิช" ค่ะ

ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ท่านตีก้นลายเลยค่ะ 

อาจช้าบ้าง แต่การสร้างทำงานครั้งนี้เพื่อชุมชนสงขลาแน่นอนค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท