ฟัง 4 แบบ


 

หลายครั้งที่ผมมีโอกาสได้พูดเรื่อง "การฟัง" บันทึกนี้จะทำให้ "การฟัง" ที่น่าจะทำให้การพูดเรื่องนี้บ่อยๆ ลดน้อยลงได้...... อย่างน้อยก็พูดสั้นลง เปลี่ยนเป็น "ชี้บ่ง" มาอ่านที่นี่แทน

การทำงานด้วย "KM" และ ทำงานอย่างเป็น "KM" มาตลอด 2 ปีกว่า คำสำคัญ 2 คำ ที่ต้องฝึกทำบ่อยที่สุดคือ "ฟัง" กับ "ถาม" ตามทุกบทบาทที่นี่ครับ

ผม ได้เรียนรู้ "การฟัง 4 แบบ" จากครู "ศรชัย ฉัตรวิริชัย" ครานั้น ท่านและ อ.ประสาท ประเทศรัตน์ มาพาทีม "จิตตปัญญาศึกษามหาสารคาม" เรียนรู้ ดูใจ ดูกาย ด้วย "รีเซ็ต" คำง่ายๆ แต่ทำยาก  หลังจากนั้นผมเองนำมาเผยแพร่หลายครั้งต่อหลายครั้ง ได้กล่าวถึงท่านบ้าง ไม่กล่าวถึงบ้าง ก็ขอกราบอภัยไว้ ณ โอกาส นี้ด้วยครับ 

ท่านบอกว่า เราอาจจำแนกวิธีการหรือลักษณะการฟังของคนออกได้เป็น 4 แบบ ดังรูป

 

หาก เราเขียนกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "เรื่อง" (แกนตั้ง บนเส้นกลางคือ "รู้เรื่อง" ด้านล่างคือ "จมเข้ามาในเรื่องราว" และพื้นที่สีขาวด้านบนคือ "นอกเรื่อง) และ "เวลา" ตั้งแต่เริ่มฟังตรงฝั่งซ้ายที่แกนตัดกัน เราแบ่งการฟังเป็น 4 แบบ ได้แก่

  • แบบที่ 1 ฟังแบบ "ฟังแต่ไม่ได้ยิน" หรืออาจบอกว่า "ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง"  เรียกแบบหลังนี้จะถูกต้องมากกว่า เพราะความจริงเราใช้ "ใจ" ฟัง เมื่อไหร่ที่ใจไม่ได้ "ตั้ง" เราเรียกว่า ไม่ได้ "ตั้งใจ"ฟัง เราก็จะไม่รู้เรื่อง แม้ว่าเครื่องมือที่เรียกว่า "หู" จะทำหน้าที่ "ได้ยิน"เสียงตามปกติ .... ท่านผู้อ่านลองสังเกตว่าเราไม่ได้ "รู้" ว่าเป็นเสียงอะไรทุกอย่างที่ผ่านหู คนที่ฟังแบบแรกนี้จึง "ไม่รู้เรื่อง"
  • แบบ ที่ 2 ฟังแบบ "ฟังแล้วคิดดักหน้า" หรืออาจเรียกได้ว่า ฟังแล้ว "ลอย" ลอยละล่องไปกับการคิด วิถีคิดเดิม ความรู้เก่า ความยึดติดเก่าๆ จะเข้ามาทำหน้าที่ แล้ว "ตัดสิน" ทันทีว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ "ตามที่ตัวเองคิด"  จากความจริงเรื่อง "จิต" ที่ทำหน้าที่จำ คิด รู้ รับ หรือจับทีละอย่าง จิตเกิดทีละขณะ เกิดทีละดวง ขณะคิดก็ไม่ได้ "รับ" (ในที่นี้คือไม่ได้ฟัง) ขณะ "จับ" ก็ไม่ได้ "รู้" วินาทีที่เผลอไปคิดทำให้จิตไม่ได้ฟัง 
  •  แบบที่ 3 ฟังแบบ "จม" ฟังแล้วจมเข้าไปในเรื่องราว สังเกตตอนเราดูละครน้ำเน่าซึ้งๆ ใจจะถูก "ดึง" เข้าไปมีส่วนร่วม ร้องไห้น้ำตาซึม หรืออยากตบอยากตีไปด้วย ไม่เชื่อลองจินตนาการตอนที่ดูละครเรื่อง "แรงเงา" ซิครับ...ฮา
  • แบบ ที่ 4 ฟังแบบนี้คือแบบที่เราต้องฝึกเอง โดยธรรมชาติเราจะ "ฟัง" แล้ว "คิด" และเมื่อเทียบเคียงกับ "จำ" สัญญาเดิม ก็จะทำให้เรา "รู้เรื่อง" นั่นคือ เราจะฟังและคิดสลับกัน ปัญหาคือจะทำอย่างไรไม่ให้ "ลอย" ออกไป หรือไม่ "จม" เข้าไปในเรื่อง คำตอบคือ เราต้อง "ฟังแบบรู้สึกตัว" ที่ครูบาอาจารย์ท่านเรียกว่า "รู้ตัวทั่วพร้อม" นั่นเองครับ 

ในชีวิตประจำวันของท่านผู้อ่าน ฟังแบบที่ 4 สักกี่เปอร์เซ็นต์ ครับ

ผมเองเรียกการฟังแบบที่ 4 นี้ว่า "ฟังแบบลึกซึ้ง"

 

หมายเลขบันทึก: 544455เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2013 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2014 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ฮ่า ๆ........ไม่รู้ครับว่ากี่เปอร์เซ็น กะว่าสัก 30% ที่เหลือไม่จมก็ลอย.....555  แต่ต่อไปคงจะต้องฝึกฟังแบบที่ 4 ให้มากครับ

...อ่านแล้วการฟังทั้ง 4 แบบ น่าจะสามารถนำมาบูรณาการใช้ร่วมกันได้...เพราะในการฟังแต่ละครั้งผู้ฟังจะต้องมีความสนใจ และตั้งใจที่จะฟังไม่เหม่อใจลอย...เป็นข้อ1...ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะฟังมาบ้าง...มาก่อนจึงจะทำให้เกิดความเข้าใจได้รวดเร็ว...เป็นข้อที่2...นึกเรื่องราว...นึกภาพตามอย่างถูกต้อง...เป็นข้อ3...และสุดท้ายใช้วิจารณญาณแยกแยะ...วิเคราะห์เรื่องที่ฟังให้ละเอียดรอบคอบ...นำไปสู่จุดมุ่งหมายของการฟังนะคะ...ขอบคุณค่ะ

อยากเรียนถามอาจารย์ ดร ว่าการฟังเพลงในรถผมคิดว่ามีประเภทการฟังอยู่ในทุกประเภท ลองวิเคราะห์หน่อยว่าแต่ละประเภทมีสักกี่เปอร์เซนต์ แล้วมีระดับใดที่จะปลอดภัยที่สุดในการขับถรถ คิดถึงตอนที่วัยรุ่นขับรถติดเครื่องเสียงๆดังๆวิ่งโชว์ ห่วงเขาครับ

 

การฟังแบบที่ 4 มีวิธีการฝึกไหมครับ

ตามที่ท่านอาจารย์ฤทธิไกรกล่าว..การฟังแบบต่างๆ..น่าสนใจมากค่ะ...

และขออ้างอิง ดร. พจนา แย้มนัยนา ที่ว่า

ทั้ง 4 แบบ น่าจะสามารถนำมาบูรณาการใช้ร่วมกันได้...เพราะในการฟังแต่ละครั้งผู้ฟังจะต้องมีความสนใจ และตั้งใจที่จะฟังไม่เหม่อใจลอย  ข้อ1...ต้องมีความรู้ในเรื่องที่จะฟังมาบ้าง...มาก่อนจึงจะทำให้เกิดความเข้าใจได้รวดเร็ว...ข้อที่2...นึกเรื่องราว...นึกภาพตามอย่างถูกต้อง...ข้อ3.และสุดท้ายใช้วิจารณญาณแยกแยะ...วิเคราะห์เรื่องที่ฟังให้ละเอียดรอบคอบ...นำไปสู่จุดมุ่งหมายของการฟังนะคะ...

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ฤทธิไกร และท่าน ดร. พจนา แย้มนัยนา ที่นำความรู้และแนวคิดดีๆมาให้ได้ศึกษาค่ะ

ไม่รู้ครับอาจารย์ว่าฟังแบบไหนดีที่สุด  อยู่ที่เรื่องที่จะฟังมากกว่า  และที่สำคัญถ้าฟังด้วยหูโอกาสที่เข้าหูซ้ายจะทะลุหูขวาก็มีมาก แต่ถ้าฟังด้วยใจได้ประโยชน์แน่นอน

เรียน ท่าน ผอ.ประยงค์ ครับ 

วิธีฝึกฟังแบบที่ 4 คือ การเจริญสติ นั่นเองครับ

การฟังเป็นการรับสาร  องค์ประกอบมันจึงมีทั้ง  ผู้ส่งสาร และ สาร  ดังนั้น  การที่คนจะฟังมันจึงขึ้นกับ "สารหรือเรื่อง" ว่าตรงกับความสนใจแค่ไหน "วิธีการ" คือผู้สื่อสารใช้วิธีการอย่างไร  เทคนิคแบบไหน  เร้าความสนใจได้เพียงใด องค์ประกอบต้องสมดุล และสอดคล้องกับจริตของผู้ฟัง ครับ !!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท