เพื่อนภาษา : (๒) เป็นคนไทย พูด อ่าน เขียนภาษาไทย ให้ถูกต้อง


ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย แต่พอมีประสบการณ์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตร สู่เป้าหมายการใช้ภาษาไทยในการพูด การอ่านและการเขียนอย่างถูกต้อง ประสบการณ์ดังกล่าว ได้มาจากการเรียนโดยตรงและโดยอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ภาษาไทยแบบเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในทุกที่ทุกเวลา จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว

   

           "ภาษาไทย" แสดงถึงอารยธรรมของประเทศไทย

ในบทบรรยายพิเศษของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง “ความสำคัญของคนไทยกับภาษาไทย” ได้กล่าวถึง ความสำคัญของภาษาซึ่งสรุปความใน ๒ ประการได้ว่า ภาษาแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองของประเทศ ประเทศไทยมีภาษาเป็นของตนเองมานานกว่า ๗๐๐ ปี นับแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ ในภูมิภาคนี้ ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีทั้งภาษา สำเนียงและอักขระเป็นของตนเอง เราจึงน่าจะภูมิใจและพยายามรักษาภาษาไทยให้คงอยู่ อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำรัสว่า ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์ที่แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มากไปกว่าการพูดภาษาเดียวกัน และได้กล่าวถึงสภาพปัญหาการใช้ภาษาไทยประการหนึ่ง ว่า “ปัจจุบันคนไทยปล่อยปละละเลยมากในเรื่องการใช้ภาษาไทยทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มักจะมีการใช้กันแบบผิด ๆ...ทำให้ภาษาไทยที่บรรพบุรุษสร้างสมมา ด้อยค่าลงไปทุกวัน” (word_charuaypon_110) 

                

         (ขอบคุณ "ภาพ Glitters จาก www.kapook.com  และทุุกภาพที่นำมาจากการสืบค้นทาง Internet)

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง น่าจะเกิดจาก "การขาดพื้นฐานที่ดีทางภาษา" เพราะ "คุณสมาน เขียว" ได้ให้ข้อมูลที่สรุปได้ว่า ผลการสอบระดับชาติในปีการศึกษา ๒๕๕๕ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จำนวน ๔๙๖,๑๙๖ คน จากโรงเรียนประถมศึกษา ๒๘,๒๔๐ โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า นักเรียนได้คะแนนสอบภาคความรู้ความสามารถทางภาษา (Literacy) ร้อยละ ๔๒.๙๔ โดยร้อยละ ๑๖.๓๙ เป็นผู้มีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง และชี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า นักเรียนมีทักษะความสามารถในการอ่าน การเขียนและการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของตนเอง อยู่ในเกณฑ์ที่น่าวิตก และได้กล่าวถึงผลการวิจัยที่สรุปได้ว่า เด็กในระดับประถมและมัธยมศึกษา มีพฤติกรรมสนใจการอ่านอยู่ในระดับต่ำ และใช้เวลาในชีวิตประจำวันไปกับการดูโทรทัศน์ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์และการสื่อสารทางระบบออนไลน์กันมากขึ้น (http://www.gotoknow.org/posts/543776) ผู้เขียนประทับใจเทคนิคการสอนของ "คุณครูนิชรา พรมประไพ" ในบันทึกเรื่อง "ภาษาไทยใกล้ตัว" ที่ได้ใช้วิธีการตั้งคำถามต่างๆ ให้นักเรียนหาคำตอบจากชื่อของตนเอง (http://www.gotoknow.org/posts/543815ถ้าครูภาษาไทยได้ใช้เทคนิคการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Learning) เช่นนั้นแล้ว น่าจะทำให้ผู้เรียนชอบเรียนภาษาไทย มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะทางภาษาสูงขึ้น แน่นอน

       หน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง

“ราชบัณฑิตยสถาน(The Royal Institute of Thailand) เป็นหน่วยงานระดับชาติ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง  ดังพันธกิจความว่า "ประการที่ ๕ ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการจัดทำพจนานุกรมศัพท์วิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และงานวิชาการอื่น ๆ" และ "ประการที่ ๖ กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย การอนุรักษ์ภาษาไทยมิให้เปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม และการส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น" (http://www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=40&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=

    

บทบาทเชิงรุกของ "ราชบัณฑิตยสถาน" ในการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ได้แก่ การจัดรายการโทรทัศน์ "สายตรวจภาษา" (ดูรายละเอียดได้ในบันทึก "โครงการเพื่อนภาษา : (๑)" ) และการจัดรายการวิทยุ "รู้ รัก ภาษาไทย" รายการ "สายตรวจภาษา" ที่ผู้เขียนได้ชมในวันเสาร์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ พิธีกรได้เข้าไปในตลาดลาดพร้าว กทม. แล้วถามแม่ค้าและคนจ่ายตลาดว่า สิ่งนี้ (ชูหัวผักกาดขาวให้ดู) เรียกว่าอะไร มีคนวัยสาวที่ตอบด้วยความมั่นใจว่า "หัวไชเท้า" (เขียนให้ดูด้วย ซึ่งก็ตรงกับคำตอบในใจของผู้เขียน) แต่คำเฉลย คือ คำว่า "หัวไช้เท้า" และตัวอย่างรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ที่ผู้เขียนรับฟังเสมอ ๆ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทุกวันในช่วงเวลาประมาณ ๐๗.๒๗-๐๗.๒๘ น. ในวันพุธที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ได้เสนอคำว่า “กลับลำ” ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า "กลับลำ ใช้เป็นคำเปรียบเทียบ หมายถึงเปลี่ยนความตั้งใจอย่างกะทันหัน ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เคยวางแผนไว้ เช่น ผู้จัดการเพิ่งแจ้งในที่ประชุมเมื่อวานนี้เอง ว่า จะะขยายโครงการ แต่พอมาวันนี้ เกิดกลับลำว่าจะไม่เปิดสาขาใหม่แล้ว" (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=5621) และในวันพฤหัสบดีที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ได้เสนอคำว่า “เป่านกหวีด” ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “เป่านกหวีด ใช้เป็นคำเปรียบเทียบ หมายถึงส่งสัญญาณให้หมู่คณะเริ่มทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งพร้อมกัน เช่น การสังหารผู้นำของประเทศ เป็นการเป่านกหวีดที่ทำให้เกิดการประท้วงทั่วประเทศ” (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=5622)

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภาษาไทย แต่พอมีประสบการณ์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรสู่เป้าหมายการใช้ภาษาไทยในการพูด การอ่านและการเขียนให้ถูกต้อง ประสบการณ์ดังกล่าว ได้มาจากการเรียนโดยตรงและโดยอ้อม การเรียนโดยตรง คือ การเรียนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาโทในระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี ส่วนการเรียนโดยอ้อม เป็นการเรียนรู้ผ่านกระบวนการผลิตผลงานทางวิชาการ ได้แก่ งานแปล การเขียนบทความ ตำรา รายงานการวิจัย ฯลฯ การเป็นกรรมการตรวจผลงานทางวิชาการของครู เป็นกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจให้คำแนะนำเครื่องมือวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ  ตลอดจนการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาไทยให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีแทบทุกสาขาวิชา ในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ภาษาไทยแบบเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในทุกที่ทุกเวลา จากแหล่งเรียนรู้หลากหลายรอบตัว ปัญหาการใช้ภาษาไทยในการพูด การอ่านและการเขียน ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรต่อไปนี้ ได้มาจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง จากข้อมูลที่ได้เปิดรับสื่อฯ และจากข้อมูลการอ่านงานเขียนใน "GotoKnow" เป็นหลัก 

การใช้ภาษาไทยในการพูด

     

พูดไม่ชัด ตัดคำ ทำเสียงเพี้ยน ไม่เปลี่ยนท่า ภาษาหยาบคาย ความหมายคำไม่ถูกต้อง ไม่มองผู้ฟัง คำฝรั่งปะปน พูดวกวนไม่กระจ่าง ติดอ่างเอ้ออ้า หน้าตาดุดัน อารมณ์ขันไม่มี” เป็นปัญหาของ "การพูดในที่ชุมชน (Public Speaking)" ที่ผู้เขียนนำไปอภิปรายกับนักศึกษา ในกิจกรรมการพัฒนาทักษะการพูด ข้อความที่ขีดเส้นใต้เป็นปัญหาทางภาษา “พูดไม่ชัด” ตัวอย่างเช่น นักจัดรายการวิทยุ-โทรทัศน์ ดีเจ วีเจ หลายคนออกเสียงตัว “ฉ” คล้ายเสียงตัว “Ch, Sh” ในภาษาอังกฤษ “ตัดคำ” เช่น การออกเสียงคำว่า “มหาวิทยาลัย” เป็น “มหาลัย” (พอพูดตัดคำก็เลยเขียนตัดคำตามไปด้วย ดังที่นักศึกษาของผู้เขียน เขียนในหน้าประวัติส่วนตัวใน GotoKnow ว่า “หมาลัย”) "ทำเสียงเพี้ยน" คือ ออกเสียงผิดไปจากอักขระที่เขียน ทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น ออกเสียง “ร” เป็น “ล” ได้แก่ ออกเสียง "รัก" เป็น "ลัก", "เรียน" เป็น "เลียน" ฯลฯ และออกเสียงคำควบกล้ำ "คร", "คล" เป็น "ค" เช่น "ครับ" เป็น "คับ",  "ครู" เป็น "คู", และ "คลุก" เป็น "คุก" เป็นต้น "ความหมายคำไม่ถูกต้อง" เช่น นักศึกษาต้องการยกคำพังเพยที่หมายถึง "การไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนได้มา" ซึ่งควรใช้คำพังเพยว่า “ไก่ได้พลอย” แต่กลับใช้คำว่า “กิ้งก่าได้ทอง” ซึ่งหมายถึง คนที่ได้ดีแล้วลืมตน เป็นต้น จากปัญหาที่พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่เวลาพูด จะออกเสียง “ร” เป็น "ล" และไม่ออกเสียงคำควบกล้ำ (เพราะภาษาอีสานไม่มีคำควบกล้ำ) ผู้เขียนจึงได้ทำแบบฝึกให้นักศึกษาฝึกออกเสียง "ร ล" และเสียง "คำควบกล้ำ ร ล ว" ก่อนที่จะฝึกพูด ได้แก่ รำลึก ลำเรือ ร่วงหล่น  ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ปราบปรามกลั่นกรอง กล่อมเกลา แกว่งไกว  ขรุขระ ขลุกขลัก ขวนขวาย   และ ครอบครอง คลาดแคล้ว เคว้งคว้างเป็นต้น

การพูดไทยคำ-อังกฤษคำ โดยเห็นเป็นของโก้เก๋ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรปฏิบัติในการพูด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้คำที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เพราะไม่มีการบัญญัติศัพท์เป็นคำไทย ก็ต้องแปลความหมายให้ผู้ฟังเข้าใจ เพราะการพูดเป็นการสื่อสาร ซึ่งมีจุดประสงค์เบื้องต้น คือ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร มีอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในประเทศ ได้ไปปาฐกถาให้ครูฟังผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งผู้เขียนได้บันทึกเป็นวีดิทัศน์แล้วนำไปให้ครูฟัง ปาฐกถาดังกล่าวองค์ปาฐกพูดคำภาษาอังกฤษโดยไม่มีคำไทยควบไป ๑๖ คำ ในเวลาประมาณ ๑๐ นาที  เมื่อชมวีดิทัศน์จบตอน ผู้เขียนได้หยุดเพื่ออภิปรายกับครูถึงประเด็นที่ได้ฟัง และพบว่า ไม่มีใครตอบได้เลยแม้เพียงคำเดียวว่า คำภาษาอังกฤษที่อดีตนายกฯ พูด แต่ละคำหมายถึงอะไรdกd

การใช้ภาษาไทยในการอ่าน

    

การอ่านออกเสียงคำให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ตามที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องถือปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกาศข่าว/อ่านข่าววิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งมีอิทธิพลและควรเป็นแบบอย่างในการอ่านภาษาไทยให้ถูกต้อง คำที่ไม่มีนักศึกษาคนใดเลยของผู้เขียน อ่านออกเสียงได้ถูกต้อง แม้กระทั่งนักศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย คือ คำว่า "ขวนขวาย" ซึ่ง "ว" ต้องออกเสียงเป็นเสียงพยัญชนะควบกล้ำกับเสียงพยัญชนะ "ข" (เป็น ขฺว ดังภาพบน ซึ่งเป็นภาพจากรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ในอดีต ที่ราชบัณฑิตยสถานเคยจัดทำเป็นรายการโทรทัศน์ ซึ่งผู้เขียนได้ติดตามบันทึกเป็นวีดิทัศน์เพื่อใช้เป็นสื่อจัดการเรียนรู้ทางภาษาให้กับนักศึกษา) แต่นักศึกษาจะเข้าใจผิดว่า "ว" เป็น "สระ-อัว ลดรูป"  เลยอ่านว่า "ขวน" แบบเดียวกับคำว่า "กวน ชวน ทวน ฯลฯ" แม้แต้ผู้ประกาศข่าวและนักจัดรายการโทรทัศน์ ก็มีไม่น้อยที่ออกเสียงคำดังกล่าวแบบเดียวกับนักศึกษา

การแบ่งวรรคตอนไม่เหมาะสมในการอ่าน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้เขียนพบจากการเปิดรับสื่อฯ  ผลเสียของการอ่านไม่ถูกวรรคตอน คือ ทำให้ฟังไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากที่ผู้เขียนต้องการสื่อ ดังประโยค "ยานี้ดี กินแล้วแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน" ซึ่งถ้าแบ่งวรรคตอนการอ่านเป็น "ยานี้ดี  กินแล้วแข็ง  แรงไม่มี  โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน" ความหมายก็จะกลับเป็นตรงกันข้าม รายการ "ก้าวทันข่าว" ทางสถานีวิทยุ อสมท. เวลา ๐๗.๓๐-๐๘.๐๐ น. ที่มีสุภาพสตรีสองนางมาอ่านข่าวหน้าหนึ่งจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ให้ฟัง สุภาพสตรีนางหนึ่งจะอ่านไม่ถูกวรรคตอนให้ได้ยินทุกครั้งที่ฟัง อย่างเช่น ข้อความว่า "ย้ายฟ้าผ่า" ตามด้วย "ชื่อนายตำรวจ" แทนที่เธอจะอ่านข้อความทั้งหมดติดต่อกันไปเลย เธอกลับอ่านแบบเว้นวรรค ซึ่งถ้าจะวรรคก็ควรอ่านว่า "ย้ายฟ้าผ่า (วรรค) พันตำรวจเอก..."  เพราะคำว่า "ฟ้าผ่า" ใช้ขยายคำว่า "ย้าย" จึงต้องอ่านให้ติดคำว่า "ย้าย" เพื่อให้มีความหมายว่า ย้ายแบบรวดเร็วชนิดตั้งตัวไม่ติด แต่เธอกลับอ่านว่า "ย้าย (วรรค)  ฟ้าผ่าพันตำรวจเอก..." ทำให้ความหมายกลายเป็นว่า ฟ้าผ่านายตำรวจไปเลย นอกจากนั้น เธอยังอ่านคำว่า "หนังสือพิมพ์เดลินิวส์" โดยออกเสียง "ส" ในตอนท้าย ในทำนองเดียวกับผู้อ่านข่าวกีฬาทางโทรทัศน์ (ชาย) ส่วนใหญ่ ที่ออกเสียงว่าคำว่า "ฟุตบอล" แบบกระดกลิ้น เหมือนการออกเสียงคำว่า "football" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการอ่านของราชบัณฑิตยสถาน ที่ชี้ว่า ทั้งสองคำใช้เป็นคำไทยไปแล้ว และให้ออกเสียงแบบคำไทย คือไม่ออกเสียงพยัญชนะท้ายคำ  ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๖ สุภาพสตรีคนเดิม ก็อ่านข่าวว่า "...แพ้โหวตสามร้อยหนึ่งต่อ..." แทนที่จะอ่านว่า "...สามร้อยเอ็ด..."  ตามหลักที่ว่า "การอ่านจำนวนเลขตั้งแต่ ๒ หลักขึ้นไป ถ้าเลขตัวท้ายเป็นเลข ๑ ให้ออกเสียงว่า "เอ็ด"     

การใช้ภาษาไทยในการเขียน

   

"การเขียนให้ถูกต้อง"  เป็นเรื่องที่พวกเรา "ชาว GotoKnow " ควรให้ความสนใจมากที่สุด จากบันทึกเรื่อง “GotoKnow ติดปีก  (http://www.gotoknow.org/posts/544306)  "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์" ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติล่าสุดของ GotoKnow ณ เดือนมิถุนายน ปี ๒๕๕๖ ว่า “...ปัจจุบันมีผู้ใช้รวมประมาณ ๑๙๐,๐๐๐ คน ...บันทึก ๕๐๐,๐๐๐ รายการ ความเห็น ๒,๗๐๐,๐๐๐ รายการ…GotoKnow เป็นเว็บไซต์อันดับ ๑ - ๒ ด้านการศึกษาของไทย..." ข้อมูลดังกล่าว แสดงถึงความก้าวหน้าของ GotoKnow ในด้านปริมาณ ส่วนในด้านการพัฒนาทางคุณภาพนั้น จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือจาก "สมาชิก GotoKnow" ทุกท่าน ในการผลิตงานเขียนให้กอปรด้วยสารประโยชน์ และมีความถูกต้องทางภาษา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ สมกับที่เป็นเว็บไซต์อันดับ ๑-๒ ด้านการศึกษาของไทยดังบันทึกของ "คุณ T.Miti" เรื่อง "Social Cognitive Theory (Bandura's Theory)" และของ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" เรื่อง "4 H Club" Future Farmers of Thailand... 

การเขียนสะกดการันต์ไม่ถูกต้อง ด้วยสาเหตุที่ผู้เขียน "ใช้แนวเทียบผิด" (ซึ่ง "อาจารย์ Wasawat Deemarn" ใช้ภาษาน่ารัก ๆ เห็นภาพพจน์ ว่า "เขียนผิดเพราะคิดว่าเป็นญาติกัน") ปรากฏให้เห็นบ่อยๆ ในงานเขียนของพวกเรา "ชาว GotoKnow" ตัวอย่างเช่น เขียนคำว่า "ผูกพัน" ผิดเป็น "ผูกพันธ์" เพราะนำไปเทียบกับคำว่า "สัมพันธ์" เขียน "ไต้หวัน" ผิดเป็น "ใต้หวัน" เพราะนำไปเทียบกับคำว่า "ทิศใต้" เขียน "ถั่วพู" ผิดเป็น "ถั่วพลู" เพราะนำไปเทียบกับคำว่า "หมากพลู" และเขียนคำว่า "สีสัน" ผิดเป็น "สีสรร" เพราะนำไปเทียบกับคำว่า "เลือกสรร" เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายคำที่เราเขียนผิดกันบ่อยๆ เช่น คลิ๊ก (คลิก) โน๊ต (โน้ต) บล๊อค (บล็อก) ฯลฯ...คำในวงเล็บคือคำที่ถูกต้อง หลายคนก็สับสนระหว่าง "พระปรางค์ : สิ่งก่อสร้าง" กับ "ปราง : แก้ม" (ผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย สามารถโทรศัพท์สอบถามราชบัฑิตยสถานได้ที่ หมายเลข ๑๑๑) ตัวอย่างการตอบ “คำถามที่ถามบ่อย” ของราชบัณฑิตยสถาน เช่น "เกม หรือ เกมส์" คำตอบ คือ เกม มีความหมายว่า การแข่งขันที่มีกติกากำหนด เช่น เกมกีฬา การเล่นเพื่อความสนุก เช่น เกมคอมพิวเตอร์ ... คำว่า เกม เป็นการรับคำต่างประเทศมาใช้นานแล้วจนถือเป็นคำไทย จึงมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน และให้ใช้ตามนั้น แต่กรณีที่เป็นการทับศัพท์ทั้งคำ เช่น เอเชียนเกมส์ ถือเป็นชื่อเฉพาะ เป็นการถอดรูปศัพท์อังกฤษเป็นไทยทั้งศัพท์ ให้ถอดเรียงตัวตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ ถ้าในภาษาอังกฤษมี s ภาษาไทยก็มี ส์ ได้" : ผู้ตอบ นัยนา วราอัศวปติ  (http://www.royin.go.th/th/faq/index.php?GroupID=&SystemModuleKey=110&PageShow=5&TopView=)

   

การใช้ภาษาไทยในการเขียนให้ถูกต้องนั้น ทุกท่านสามารถทำได้ โดยการใช้บริการ “เพื่อนภาษา” ของ“ราชบัณฑิตยสถาน” ที่ http://www.royin.go.th/th/home/ ซึ่งเมื่อเข้าไปยังหน้า Hompage จะพบบริการค้นคำไทยในพจนานุกรม ณ ปัจจุบันเป็นการค้นออนไลน์จาก "พจนานุกรมฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๒" นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ว่า "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว " จัดพิมพ์เสร็จแล้ว พร้อมแจกจ่ายเป็นครั้งแรก โดยจะจ่ายแจกไปยังสถานศึกษา ทุกระดับ ทุกแห่ง และหน่วยงานราชการต่างๆ (http://www.royin.go.th/th/news/news-content.php?ID=871) นอกจากการสืบค้นพจนานุกรมแล้ว กัลยาณมิตรยังสามารถคลิกเข้าไปศึกษาแนวปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการเขียน ได้แก่ ศัพท์บัญญัติวิชาการ การเขียนคำย่อ การเว้นวรรค และการใช้คำราชาศัพท์ เป็นต้น    

   

เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ผู้เขียนได้อ่านบันทึกที่ผู้เขียนเล่าว่า ตนเองได้ทำหน้าที่พิธีกรในงานฌาปนกิจศพ และได้นำข้อความข้างล่างไปอ่านในงาน (คำที่ระบายสี คือ คำที่คลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับ)                                         

                                                          พฤษภกาษร         อีกกุญชรอันปลดปลง

                                                      โททนเสน่ห์คง          สำคัญหมายในกายมี

                                                          นรชาติวางวาย     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ 

                                                       สถิตทั่วแต่ชั่วดี        ประดับไว้ในโลกา

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์วันจันทร์ที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้ลงข้อเขียนของ "ครูลิลลี่" ซึ่งได้ให้ความรู้ว่า บทประพันธ์ดังกล่าวมาจากหนังสือ “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” พระนิพนธ์ใน "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส" ดังต้นฉบับที่แสดงในภาพบน แต่มักมีผู้นำไปใช้แบบผิดๆ คำที่ไม่ถูกต้องที่ครูลิลลี่กล่าวถึง ตรงกับคำคลาดเคลื่อนในบันทึกของกัลยาณมิตรที่ผู้เขียนยกมา อนึ่ง ครูลิลลี่ได้ให้ความหมายของคำไว้ว่า พฤษภ แปลว่า วัว; กาสร แปลว่า ควาย; กุญชร แปลว่า ช้าง; โท แปลว่า สอง; ทนต์ แปลว่า ฟัน; เสน่ง แปลว่า เขา; นรชาติ แปลว่า คน และ อินทรีย์ แปลว่า ร่างกาย (http://www.thairath.co.th/content/edu/327697)

การใช้คำราชาศัพท์ในการเขียน นับว่าเป็นเรื่องยาก ถ้าจะใช้จึงควรศึกษาและนำไปใช้ให้ถูกต้อง คำราชาศัพท์บางคำใช้แตกต่างกันตามลำดับชั้น บางคำใช้เหมือนกันทุกลำดับชั้น ตัวอย่างคำราชาศัพท์ที่ใช้เหมือนกันทุกลำดับชั้น ได้แก่คำว่า ชอบ, รัก, เอ็นดู = โปรด; เรียน, เขียน, อ่าน = ทรงพระอักษร; สุขสบาย = ทรงพระเกษมสำราญ ฯลฯ และคำที่เกิดจากการใช้ “ทรง” เติมหน้าคำสามัญ เพื่อทำให้เป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงกราบ และ ทรงเจิม เป็นต้น (http://www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=13&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=)

   

การใช้คำราชาศัพท์ จะต้องใช้ทุกคำที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ แต่คำบรรยายพระราชประวัติของ "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" ในเอกสารที่ผู้เขียนได้มาจาก "วัดอรุณราชวรารามฯ" มีการใช้คำสามัญปนมาด้วย ดังความตอนหนึ่งว่า "...แม้ว่า จะทรงกอบกู้ชาติได้อิสรภาพแล้ว แต่ความระส่ำระสายยังแผ่คลุมทั่วแดนไทย ฉะนั้น นับแต่เสวยราชย์เป็นต้นมา พระองค์ต้องต่อสู้แก้ปัญหาความยากจน...ด้วยความอดทน..." คำที่ระบายสีชมพูคือคำราชาศัพท์ ส่วนคำที่ระบายสีฟ้าคือคำที่ใช้ภาษาสามัญ ซึ่งควรเปลี่ยนเป็นราชาศัพท์ว่า “ทรงต่อสู้” และ “พระวิริยะอุตสาหะ” ตามลำดับ

ผู้เขียนได้อ่านบันทึกใน GotoKnow เกี่ยวกับการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี ๒๕๕๖ ซึ่งจัดโดย สาขาวิชาการสอนภาษาไทยวิทยาลัยศาสนศาสตร์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดทางภาคอีสาน วัตถุประสงค์ในการจัดงานข้อ ๒ – ๔ ระบุว่า “๒. เพื่อสดุดี เชิดชูเกียรติพ่อขุนรามคำแหงองค์ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย ๓. เพื่อสดุดี เชิดชูเกียรติสุนทรภู่ จินตกวีเอกของไทยและของโลก ๔. เพื่อสดุดี เชิดชูเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะเป็นรัตนราชกวี” จะเห็นว่า มีการใช้คำสามัญ คือคำว่า "สดุดี เชิดชูเกียรติ" กับทั้ง “ท่านสุนทรภู่” และกับพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ สำหรับพระมหากษัตริย์แล้ว น่าจะใช้คำว่า “เทิดพระเกียรติ” และคำว่า "เป็น" ซึ่งเป็นคำสามัญ ควรใช้ราชาศัพท์ว่า "ทรงเป็น"

การใช้คำราชาศัพท์นั้น จะไม่ใช้กับคนสามัญหรือสิ่งอื่น ดังเรื่องเล่าที่ว่า แม่ค้าขายกบ (ลิเกเก่าที่ใช้คำราชาศัพท์ได้อย่างคล่องแคล่ว) ได้กราบบังคมทูล "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

</

หมายเลขบันทึก: 544216เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2013 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

ขอบคุณครับอาจารย์

บางคำง่ายๆใช้ทุกวัน แต่พอมาเขียน งง... ไม่แน่ใจ

อย่าง คำว่า สามารถ บางครั้งเมาภาษา ไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ..เขียนยังไงกันแน่

  • สวัสดีครับอาจารย์แม่
  • ภาษาเขียนว่าผิดบ่อยแล้ว
  • แต่ภาษาพูดออกเสียงผิดมากยิ่งกว่าครับ

สวัสดีค่ะพี่ผศ.วิไล...น้องพจนา ...เสนอโครงการเครือข่ายชุมชนคนทำงานในเมืองคัลการี่ ประเทศแคนาดา เพื่อเผยแพร่ภาษา และวัฒนธรรมไทย ทางwww.Gotoknow หากผ่านการคัดเลือกขอเรียนเชิญพี่ผศ.วิไลเป็นคณะทำงานนะคะ...ขอบคุณค่ะ

สวัสดียายไอดิน

นึกไม่ถึงเลยว่าจะได้เรียนรู้ภาษาไทยจากผู้รู้อย่างยายไอดิน...ที่แล้วมาป๋าเดมักจะเขียนผิดมาตลอด..ต่อไปนี้จะพยายามให้ผิดน้อยที่สุดครับ...ขอบคุณท่านนะคร้าบ.....

คุณมะเดื่อสอนภาษาไทย แต่ ไม่ได้เรียนมาโดยตรง ต้องพกพจนานุกรมตลอดจ้ะ  ขอบคุณ

พี่ไอดิน ฯ  มาก ๆ 

-เรื่องภาษาใครจะมาสู้คุณยายละเอียด 555

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน...

-ตามมา"เป็นเพื่อนภาษา 2" ครับ 55

-"...นักเรียนมีทักษะความสามารถในการอ่าน การเขียนและการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาของตนเอง อยู่ในเกณฑ์ที่น่าวิตก."

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ..

-วันนี้ผมไปสัญจร...เก็บ"บะมั่น"มาฝากอาจารย์แม่ไอดินด้วยล่ะคร้าบ!!!!

-บ้านอาจารย์แม่ไอดินเรียก"บะมั่น"ว่าอะไรครับ??

เข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการครับอาจารย์ :)

ขอบคุณ "คุณ พ.แจ่มจำรัส" มากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ และความเห็น ต้องขออภัยจริง ๆ ค่ะ ที่ตอบช้ามาก เพราะมีปัญหาการใช้ Internet เลยเพิ่งลงบันทึกได้เสร็จสมบูรณ์ค่ะ 

คุณพิชัยเป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้ภาษาเขียนได้อย่างสละสลวย และอ่านแล้วทำให้มีอารมณ์คล้อยตามถ้อยคำที่ผ่านสายตา หลายๆ บันทึกที่ทำให้รู้สึกทึ่ง เพราะรู้สึกราวกับว่า ได้อ่านงานเขียนของนักเขียนมืออาชีพ อย่างที่เคยบอกกับคุณพิชัยไปแล้วค่ะ

ขอบคุณ "คุณวศิน" มากนะคะ ที่เข้ามาให้กำลังใจอาจารย์แม่

  • คุณวศินบอกว่า "ภาษาเขียนว่าผิดบ่อยแล้ว แต่ภาษาพูดออกเสียงผิดมากยิ่งกว่าครับ"
  • อาจารย์แม่ว่า ส่วนใหญ่งานเขียนใน GotoKnow จะเป็นการพิมพ์ผิดเพราะความพลั้งเผลอแล้วขาดการตรวจแก้ไข มากกว่าการเขียนสะกดการันต์ผิดนะคะ
  • แล้วที่คุณวศินว่า ตนเองพูดออกเสียงผิดมากกว่าเขียนผิดน่ะ ไม่ทราบออกเสียงคำประเภทไหนนะคะ (ภาษาอังกฤษง่ายกว่าไหมคะ สงสัยอย่างคุณวศินนี่ คงตรงกับสำนวนที่ว่า "English is a piece of cake." นะคะ)
  • นักศึกษาทางบ้านอาจารย์แม่คงจะมีปัญหาการออกเสียงคำควบกล้ำมากกว่านักศึกษาในภูมิภาคอื่นๆ เพราะภาษาอีสานไม่มีคำควบกล้ำค่ะ 
  •   

ขอบคุณกำลังใจจาก "น้อง ดร.พจนา แย้มนัยนา" มากนะคะ

"โครงการเครือข่ายชุมชนคนทำงานในเมืองคัลการี่ ประเทศแคนาดา เพื่อเผยแพร่ภาษา และวัฒนธรรมไทย" มีคุณค่าน่าสนับสนุนมาก ๆ เลยค่ะ GotoKnow น่าจะให้การสนับสนุนนะคะ เพราะเท่ากับเป็นการเผยแพร่เกียรติภูมิของชาติไปด้วยในตัว อีกอย่าง ผู้เสนอโครงการก็มีคุณสมบัติเป็นที่น่าเชื่อถือ ทั้งคุณวุฒิ ประสบการณ์ ผลงาน และภาพลักษณ์ที่แสดงออกใน GotoKnow 

พี่รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือค่ะ ที่น้องพจนาบอกว่า ถ้าโครงการผ่านจะเชิญพี่เป็นคณะทำงาน

ขอบคุณ "ป๋าเด" มากนะคะ ที่เที่ยวนี้มอบดอกไม้ ว่าแต่ว่า ชอบบันทึกนี้หรือเปล่าล่ะคะ สงสัยจะไม่ค่อยชอบ เพราะเนื้อหายาวมาก (ด้วยความจำเป็นที่จะต้องยาว เพราะประเด็นเยอะกว่าเพื่อนภาษา : [๑] มาก) ยายไอดินฯ บอกแล้วนะคะว่า ต้องชอบถึงควรมอบดอกไม้ ถ้าไม่ชอบแล้วไม่มอบ ก็ไม่ว่ากัน

ป๋าเดบอกว่า "นึกไม่ถึงเลยว่า จะได้เรียนรู้ภาษาไทยจากผู้รู้อย่างยายไอดิน..." ยายไอดินฯไม่ใช่ "ผู้รู้" นะคะ เป็น "ผู้ชอบเรียนรู้" ต่างหากค่ะ

ป๋าเดบอกว่า "ที่แล้วมาป๋าเดมักจะเขียนผิดมาตลอด..ต่อไปนี้จะพยายามให้ผิดน้อยที่สุดครับ"...ดีมากค่ะ

ป๋าเดบอกว่า "เรื่องภาษาใครจะมาสู้คุณยายละเอียด 555" ประโยคนี้ เหน็บแนมกันหรือเปล่าคะ อิอิ...แต่พี่สาวก็เรียกยายไอดินฯ ว่า "คุณนายละเอียดเหมือนกันนะคะ"

 

โอ้โฮ! อาจารย์แม่ไอดินฯ ยังไม่ได้อ่านบันทึกของ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" ตั้ง ๕ เรื่องเชียวเหรอนี่ เพราะที่ผ่านมา มัวแต่ไปเพลินเมืองกรุงกับลูกสาว ที่พาไปปั่นจักรยานในสวนรถไฟ และพาไปกราบพระที่วัดอรุณฯ กลับอุบลฯ ก็วุ่นอยู่กับการหาทางลงบันทึกนี้ให้จบ เพราะมีปัญหาการใช้ Internet สุดๆ เลยค่ะ

"บะมั่น" ของคุณเพชรน่ะ บ้านอาจารย์แม่ไอดินฯ เรียกว่า "บักสีดา" เด๊อค่า วันที่ไปปั่นจักรยานที่สวนรถไฟ กทม. ได้ไปแวะตลาด อตก. ซื้อบักสีดาสาลี่และบักสีดาไร้เมล็ดรวมกัน ราคากิโลฯละตั้ง ๘๐ บาทแน่ะ ที่ตลาดอุบลฯ แค่ ๓๐ บาทเองนะคะ ที่ฟาร์มก็ปลูกไว้ทาน และอนุรักษ์พันธุ์ค่ะ แต่ไม่ค่อยได้ผล ลูกที่เนื้อในสีชมพูน่ะ มีที่สวนของอาจารย์แม่ไอดินฯ ตอนเป็นเด็กด้วยนะคะ 

รู้สึกเป็นเกียรติมากค่ะ ที่ "คุณแว้บ" เห็นคุณค่า และสมัครเข้าร่วมโครงการ "เพื่อนภาษา"

เท่าที่ได้อ่านงานเขียนของคุณแว้บ ก็เห็นว่า เป็นงานที่มีความพิถีพิถัน ใช้ภาษาได้ถูกต้องเหมาะสม และพิมพ์ตกหล่นน้อยมาก อย่างที่คุณแว้บบอกไว้นั่นแหละนะคะ ว่า ปกติจะจะอ่านทวนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการเขียนของตนอยู่เสมอ

ขอบคุณกำลังใจจาก "น้องมะเดื่อ " มากนะคะ และขอโทษด้วยที่ตอบไม่ตามลำดับ เหตุเพราะตอบตามลำดับไปแล้ว ตอนหลังพบว่ามีพิมพ์ตกหล่น เลยลบแล้วตอบใหม่ค่ะ

น้องบอกว่า "สอนภาษาไทย แต่ ไม่ได้เรียนมาโดยตรง ต้องพกพจนานุกรมตลอด"พี่เองก็เปิดพจนานุกรมตลอดนะคะ เพราะมีหลายๆ คำที่เราไม่ค่อยได้ใช้ ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเขียนถูก จึงต้องเปิดดูเพื่อความแน่ใจค่ะ

 

แล้วที่น้องบอกว่าไม่ได้เรียนภาษาไทยมาโดยตรง พี่สาวของพี่ไอดินฯ ทั้งสองคนก็ไม่ได้เรียนภาษาไทยโดยตรงนะคะ แต่ทั้งคู่ก็ได้รับการยอมรับว่าสอนภาษาไทยได้ดีเยี่ยม และเป็นอาจารย์ ๓ จากการส่งผลงานด้านการสอนภาษาไทยทั้งสองคนค่ะ (ชื่อตำแหน่งในยุคนั้น)

ลูกศิษย์ปริญญาโทสาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา ของพี่ก็เหมือนกัน จบปริญญาตรีสาขาวิชาสังคมศึกษา แต่สอนคณิตศาสตร์และได้เป็นครูชำนาญการพิเศษด้านการสอนคณิตศาสตร์ค่ะ พี่ว่า มันอยู่ที่การสั่งสมประสบการณ์ และการพัฒนาตนเองในภายหลังมากกว่า นะคะ

 

 

ขอบคุณ "กัลยาณมิตร GotoKnow" ทั้ง ๗ ท่าน ที่กรุณาให้กำลังใจ "ไอดินฯ" เสมอมา...

 "อ.นุ"  "น้อง ดร.โอ๋-อโณ" "ลูกขจิต"  "อ.Watsawat Deemarn"  "คุณอักขณิช"  "คุณเขียวมรกต" และ "คุณอานนท์ ภาคมาลี " และขอบคุณดอกไม้จากกัลยาณมิตรใหม่ "คุณสุดปลายฝัน" ด้วยนะคะ

 

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-ตามมาอีกรอบ 55555

-อย่าลืมตามไปอ่านบันทึกของผมให้ครบนะครับ...เีดี๋ยวจะตามไม่ทันสถานการณ์ปัจจุบันนนะคร้าบ!!!!5555

-วันเสาร์ที่ผ่านมาผมพาน้อง ๆ ดำนา ครับ..

-อาจารย์แม่ไอดินไปช่วยสอนน้อง ๆ ดำนา ด้วยกันนะครับ..

อาจารย์แม่ไอดินฯ ไปอ่านมาแล้วนะคะ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" เรื่อง "4 H Club" Future Farmers of Thailand...เยี่ยมจริงๆ ค่ะ" อาจารย์แม่ไอดินฯ ประทับใจมากและจะ Print ไปให้คณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการสถานศึกษาเรียนรู้ เผื่อจะเป็นแรงกระตุ้นให้นำไปทำบ้าง และจะนำบันทึกนี้มาเป็นตัวอย่างบันทึกที่มีคุณค่าด้านสาระและความถูกต้องในการใช้ภาษาเขียนด้วยนะคะ 

  

อาจารย์แม่ไอดินฯ ประทับใจที่คุณเพชรฯ สอนเด็กให้ไหว้ผู้ใหญ่ และชอบภาพเด็กๆ หัดดำนา ทำให้หวนคิดถึงตอนที่ตนเองเคยลองดำนากับอา ในขณะที่อายุพอๆ กับเด็กผู้หญิงในภาพล่างขวานั่นแหละค่ะ ความน่ารักก็น่าจะสูสีนะคะ (อิอิ) แต่อาจารย์แม่ไอดินไว้ผมหน้าม้า (ฝีมือแม่ตัดให้ค่ะ)

-สวัสดีครับอาจารย์แม่ไอดิน..

-กลับมาอีกรอบ ฮ่า ๆ 

-ตามมาบอกว่าแก้ไขตามคำแนะนำแล้วนะครับ

-ยินดีมาก ๆ ครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเพื่อนภาษา

ขอบคุณ "คุณเพชรน้ำหนึ่ง" มากนะคะ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง ใน "โครงการเพื่อนภาษา" ตอนนี้ อาจารย์แม่ไอดินพร้อมแล้วที่จะ Print บันทึกเรื่อง "4 H Club" Future Farmers of Thailand....ของคุณเพชรฯ

พรุ่งนี้อาจารย์แม่ไอดินจะเข้าเมืองเพื่อไปขอต้นไม้ที่สวนวนารมย์สำหรับปลูกที่วัดในวันแม่ และซื้อโต๊ะ-ม้าหินอ่อนบริจาคให้กับหมู่บ้าน (ตั้งที่ศาลากลางบ้านที่สร้างใหม่เสร็จแล้ว ลำดับต่อไปอาจารย์แม่ก็จะรับผิดชอบหาต้นไม้ไปปลูกและจัดสวนหย่อมให้ด้วยค่ะ) เลยได้โอกาสนำเอกสารที่ Print ไปสำเนาเพื่อมอบกรรมการสถานศึกษา และคณะกรรมการหมู่บ้านค่ะ

 

ขอบใจ "โจ" มากนะจ๊ะ ที่ยังติดตามให้กำลังใจอาจารย์ อาจารย์คิดถึงพวกเรานะ

ช่วงนี้สอบกลางภาคกันอยู่หรือเปล่าจ๊ะ อาจารย์เข้าไปดูงานที่เคยมอบให้พวกเราเขียนบันทึกเนื่องในโอกาสวันแม่ปีที่แล้ว ช่วงนี้ก็มีกิจกรรมให้ร่วมเขียนบันทึก "รักแม่" (ดูรายละอียดในหน้าแรก) อยากให้โจเขียนบ้างจัง โจรักแม่หรือเปล่าล่ะจ๊ะ ถ้ารักก็เขียนบันทึกให้อ่านบ้าง จะได้ดูด้วยว่า ฝีมือเขียนของโจยังดึงดูดให้อยากอ่านเหมือนเดิมหรือเปล่า 

ขอบคุณมากนะคะ สำหรับดอกไม้กำลังใจ จาก "ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์"

ชอบบันทึก "เพื่อนภาษา : (2)"จริง ๆ นะยายละเอียด..เฮ้ยไม่ใช่ ยายไอดิน 555 -ขออนุญาตSaveเอาไว้อ่านอย่างละเอียดอีกครั้งนะคร้าบ.....

 

สวัสดีค่ะ

คิดถึงนะคะ

 

สวัสดียายไอดินฯ

-นานเหลือเกินที่ไม่ได้ยินคำว่า "ตะพึดตะพือ" ทำให้คิดถึงอีสานบ้านเรานะคร้าบ....

ขอบคุณ "น้องอิน" มากนะคะ ที่มาเยี่ยมพี่ (ภาพประจำตัวนี้ สวยน่ารักมากนะคะ)

คิดถึงน้องอินเหมือนกันค่ะ วันก่อนๆ เห็นมีคนชื่อ "น้องอิน" เขียนบันทึก พี่ดีใจมากเพราะคิดว่าเป็นน้องอินคนนี้ แต่พอเข้าไปดูแล้ว กลับพบว่าเป็นคนละคนกับน้องอินคนนี้

"ป๋าเด" ไปเอาคำว่า "ตะพึดตะพือ" มาจากไหนคะ ยายไอดินฯ หาไม่เจอ ถ้ามีจริงก็เสียชื่อยายละเอียดไปเลยนะคะนี่

อ้อ! ยายไอดินฯ นำบันทึกเรื่อง "๑๐๗. วันภาษาไทยแห่งชาติ" ของป๋าเดมาเป็นบันทึกที่เกี่ยวข้องกับบันทึกนี้แล้วนะคะ จะได้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่อง "คำที่ใช้ สระใ-ไม้ม้วนค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

เป็นความรู้ ควบคู่จิตสำนึกในภาษาของชาติไทย ในการสื่อสารของพลเมือง..หากเข้าใจภาษาตนเองดีพอ ความคิด ทัศนะ ความเข้าใจกัน คงลดปัญหาการไม่เข้าใจกันบ้าง..อีกอย่างภาษาสะท้อนปัญญาของพลเมืองของชาติด้วย..บัดนี้ เราใช้ภาษาในรูปแบบวาทกรรมที่แอบแฝงหรือประหวัดมากไปหรือไม่ ... ปัญหาการสื่อสารจึงเกิดขึ้นมา..ผู้เขียนได้นำเอาปัญหานี้มาเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ในแง่ "ปัญหาภาษาไทยต่อการสื่อสารภาษาธรรม" ด้วยครับ ยอมรับภาษาไทยของวัยรุ่นคือ ปัญหาหัวหอกของสังคมจริงๆ แต่นี่คือ จุดที่เราได้คิดให้รอบคอบกับสังคมยุคใหม่ต่อไป น่าคิดมากที่อ.ไอดินฯ ไม่ว่าภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน และภาษาไทย ฯ ที่นำเสนอ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท