ถ้ำเอลโลรา: พลังศรัทธาแห่งสามศาสนา


ถ้ำเอลโลราหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกจากพลังความเชื่อและศรัทธาทางศาสนา

ถ้ำเอลโลรา: พลังศรัทธาแห่งสามศาสนา

     ในอดีตสิ่งที่ยิ่งใหญ่มักเกิดจากพลังความเชื่อและศรัทธาทางศาสนา ถ้ำเอลโลรามหาวิหารถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ไม่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์เราเองล้วนๆ ซึ่งเกิดจากพลังศรัทธาของทั้งสามศาสนาคือศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดูและศาสนาเชนซึ่งมีความแตกต่างทางความเชื่อคนละอย่างและใช้เพียงเครื่องมือธรรมดาเท่าที่จะหาได้เจาะภูเขาทั้งลูกให้กลายเป็นวิหารหรือสิ่งเคารพสักการะของศาสนาซึ่งมีอายุพันกว่าปีมาแล้วและยังปรากฎหลักฐานให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันนี้

      หลักจากที่ดิฉันได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาในโครงการศึกษาดูงานพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในประเทศอินเดีย ณ ถ้ำอชันตา-เอลโลร่า แดนพุทธมรดกโลก ของนักศึกษาหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาพระพุทธศาสนา รุ่นที่ในช่วงวันที่ 25-29 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น วันนี้ดิฉันจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมถ้ำเอลโลร่าซึ่งมีความมหัศจรรย์และสวยงามไม่แพ้ถ้ำอชันตาเลยค่ะ 


   ถ้ำเอลโลร่า ( Ellora Caves) หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่น( ภาษามราฐี ซึ่งเป็นภาษาราชการ ในรัฐมหาราษฎร์) ว่า “ เวรุฬเลณี ” เป็นชื่อของกลุ่มถ้ำจำนวน 34 ถ้ำของศาสนาสำคัญของอินเดีย 3 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธ  ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และศาสนาเชน ในบรรดาถ้ำ 34 ถ้ำนั้น ถ้ำที่  1-12 เป็นถ้ำเก่าแก่ที่สุดคือเป็นถ้ำของศาสนาพุทธนิกายมหายานสร้างโดยชาวพุทธมหายานของอินเดียประมาณ พ.ศ.1093 – 1293 ( 550 – 750 ค.ศ.) 

      ถ้ำเอลโลร่า  ตั้งอยู่เชิงเขาแห่งเทือกเขาจารานานทรี แต่ละถ้ำทอดยาวตามแนวแห่งจากเหนือจรดใต้ เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์โดยเจาะภูเขาหินทั้งลูกจนกลายเป็นถ้ำมีความยาวจากทิศใต้ไปทางเหนือประมาณ 2 ก.ม.เศษ  ถ้ำเอลโลร่าอยู่ในรัฐมหาราช ซึ่งมีเมืองมุมไบหรือบอมเบยเป็นเมืองหลวง อยู่ห่างจากเมืองมุมไบประมาณ400 ก.ม.เศษ และห่างจากเมืองออรังคาบาดประมาณ  27 กิโลเมตร 

     ถ้ำเอลโลร่า  ไม่เหมือนถ้ำอชันตาเพราะเป็นที่รู้จักกันมานาน ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูมักไปกราบไหว้สักการะเป็นประจำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไม่เคยถูกทอดทิ้งเพราะอยู่ใกล้ตัวเมืองและเส้นทางการท่องเที่ยวซึ่งเป็นย่านชุมชน ในขณะที่ถ้ำอชันตาถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลาร่วมนาน 1,000 ปี ตามพุทธศาสนาที่เสื่อมถอยไปจากประเทศอินเดีย จนเพิ่งถูกค้นพบและเป็นที่รู้จักเมื่อ พ.ศ.2362 ( ค.ศ. 1819) นี้เอง

      ถ้ำเอลโลร่านี้เป็นถ้ำของฝ่ายมหายานอันเป็นพุทธศาสนาในยุคหลัง  ดังนั้นเมื่อมีการแกะสลักพระพุทธรูปจะต้องมีรูปสลักพระพุทธรูปจะต้องมีรูปสลักของพระโพธิสัตว์ยืนอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวาเป็นบริวารตามคติมหายาน แทนอัครสาวกซ้ายขวาคือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร จึงมีพระโพธิสัตว์มากที่สุด คือ รูปแกะสลักพระศรีอริยเมตไตยโพธิสัตว์ มี 26 รูป ที่ถ้ำพุทธเบอร์2 มี 2 รูป ,เบอร์ 4 มี 2 รูป ,เบอร์ 5 มี 12 รูป, เบอร์ 6 มี 3 รูป, เบอร์ 8 มี 3 รูป ,เบอร์ 10 มี2 รูป ,เบอร์ 11 มี 6 รูป และเบอร์ 12 มี 7 รูป ส่วนรูปพระอวโลกิเตศวรมีมากที่สุดถึง 110 รูป และรูปพระมัญชุลีศรีโพธิสัตว์อีก 32 รูป ( รูปหินแกะสลัก)

     ถ้ำเอลโลร่าได้ถูกยกเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี พ.ศ.2526 ( 1983) ปีเดียวกันพร้อมกับถ้ำอชันตา


ถ้ำเอลโลร่า เป็นถ้ำของสามศาสนา คือ

1.ถ้ำพระพุทธศาสนานิกายมหายาน  ตั้งแต่ถ้ำที่ 1-12 แบ่งเป็นถ้ำวิหาร 11 ถ้ำและถ้ำเจดีย์ (( ไจตยะ) อีก 1 ถ้ำคือถ้ำที่ 10 ( ถ้ำวิศวกรรม)  ถ้ำเก่าแก่ที่สุด เป็นถ้ำของศาสนาพุทธ ( นิกายมหายาน สร้างโดยชาวพุทธมหายานของอินเดีย ประมาณ 1093 – 1293 หรือ ค.ศ.550-750 )

2.ถ้ำศาสนาฮินดู มี 17 ถ้ำตั้งแต่ 13 – 29 ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างถ้ำศาสนาพุทธกับศาสนาเชน สร้างขึ้นราว พ.ศ.1100 – 1300 ( ค.ศ.600 – 875 ) ในบรรดา 17 ถ้ำของฮินดู  ถ้ำที่ 16 มีชื่อว่า “ ไกลาศ ” เป็นถ้ำที่สำคัญที่สุดและอาจถือได้ว่าเป็นถ้ำที่สำคัญของเอลโลร่าทั้งหมด เพราะมีถ้ำไกรลาศเพียงแห่งเดียวที่มีการซื้อบัตรเข้าชม ส่วนถ้ำอื่นๆเปิดให้เข้าชมฟรีทั้งหมดค่ะ

3.ถ้ำศาสนาเชน มีทั้งหมด  5 ถ้ำ ตั้งแต่ 30 – 34 เป็นของศาสนาเชนนิกายทิคัมพร ( นิกายพระเปลือยกาย) ค่ะ


สรุปถ้ำเอลโลร่า

ถ้ำพุทธศาสนา  ถ้ำที่ 1-12 จำนวน 12 ถ้ำ

ถ้ำพุทธที่เป็นพุทธศาสนานิกายมหายาน แบ่งเป็นถ้ำวิหาร 11 ถ้ำและถ้ำเจดีย์ (( ไจตยะ) อีก 1 ถ้ำคือถ้ำที่ 10 ( ถ้ำวิศวกรรม)

ถ้ำที่เก่าแก่ที่สุด  ถ้ำที่2

ถ้ำที่กว้างที่สุด  ถ้ำที่5

ถ้ำศาสนาฮินดู  ถ้ำที่ 13-29 จำนวน 17 ถ้ำ ถ้ำที่16 มีชื่อว่าถ้ำไกลาศ เป็นถ้ำที่สำคัญที่สุด และถ้ำที่สำคัญที่สุด และถ้ำที่ 29 เป็นถ้ำที่กว้างใหญ่ที่สุด

ถ้ำศาสนาเชน  ถ้ำที่ 30 -34 จำนวน 5 ถ้ำ ถ้ำที่ 32 สำคัญที่สุด


เวลาเปิดทำการ

ถ้ำเอลโลร่าจะเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น  ยกเว้นวันอังคาร

อัตราค่าเข้าชม

  เฉพาะถ้ำที่16 ( ไกลาส) ชาวอินเดีย 10 รูปี ชาวต่างประเทศ 250 รูปี เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู

               

  ถ้าท่านใดได้เดินทางไปประเทศอินเดีย   ก้ออย่าลืมหาโอกาสไปเยี่ยมชมถ้ำเอลโลร่า พุทธมรดกโลกแห่งนี้นะคะ เพราะถือเป็นของขวัญที่ล้ำค่าสำหรัญชีวิตจริงๆค่ะ   บ๊าย บาย พบกันใหม่ทริปหน้าจะพาไปเยี่ยมชาวพุทธใหม่ ที่ัหันมานับถือศาสนาพุทธตามดร.อัมเบดก้า นะคะ

หมายเลขบันทึก: 543817เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท