โจทย์ ... ที่นำไปสู่กระบวนการ


ทันทีที่ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในศาลา ๔ ได้พบกับเด็กๆ กว่า ๘๑ ชีวิต... 

ท่าทาง...พฤติกรรม คำพูด การแสดงออก นำมาซึ่งการตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เด็กๆ เหล่านี้มีที่มาอย่างไรกันนะ"  

ช่วงวัยเด็กคงเป็นเด็กที่น่ารัก ตัวเล็กๆ ใสใส ... แล้วชีวิตเขาก็มีจุดเปลี่ยน

"ความเป็นวัยรุ่น" ที่ถูกบีบคั้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและฮอร์โมน บวกกับการไม่ได้รับการบ่มเพาะข้อมูลด้านกุศลกรรมมากพอ เมื่อมีสภาวะเข้ามากระทบจึงได้เติบโตแบบผิดรูปไปบ้าง

สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นร่วม ก็คือ พลังของพวกเขายังมีอยู่เต็มเปี่ยม แล้วเราจะแปรเปลี่ยนพลังของเขาไปได้อย่างไรบ้าง...

ข้าพเจ้าปรารถนาจะได้เห็นใบหน้าที่อ่อนโยน แววตาที่เป็นประกาย รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

จากคำถามและเป้าหมาย...

ทำให้กระบวนการภายในปัญญาของข้าพเจ้าหมุนติ้วๆ อย่างรวดเร็ว (Information Processing) จากนั้นนำไปสู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการ (Intervention)

ซึ่งกระบวนการที่ใส่เข้าไปดำเนินไปภายใต้ความคิดความเชื่อในเรื่อง "อิทัปปจยตา" + "โยนิโสมนสิการ" และใช้มรรค ๘ เป็นเครื่องมือในการเดินเรื่อง


ซึ่งในการดำเนินโครงการนั้น ... ในการจัดการโครงการทางองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ในฐานะของข้าพเจ้าเป็นลูกศิษย์วัด ที่พอมีความรู้ความสามารถอยู่บ้างจึงถวายตัวทำงานรับใช้พระพุทธศาสนา อาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับทางวัด แต่แท้ที่จริงแล้วผู้เชี่ยวชาญในวิถีพุทธนั่นน่ะคือ "หลวงปู่" และพระอาจารย์พิทยา ทินนาโภ ที่เรารู้จักกันในนามพระอาจารย์ต้อ ... จะว่าข้าพเจ้าก็เป็นเพียงลูกมือ ลูกทีม ลูกวัด อาศัยความรู้ที่พอมีถ่ายทอดกระบวนการที่ทำท่านออกมาสู่สาธารณชนเท่านั้น

ความเกี่ยวข้องในการบริหารโครงการนั้นไม่มีเลย และไม่มีความเกี่ยวข้องใดใดกับเรื่องการเงินหรืองบประมาณ


จากนั้น...

ข้าพเจ้าเรื่มเก็บข้อมูลของเด็กๆ ... ผ่านการสังเกต พูดคุย สอบถาม จากทั้งตัวเด็ก เพื่อน และครูพี่เลี้ยง(เป็นการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ รวบรวมได้ว่าสาเหตุเชิงปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กต้นกล้าอาสาเหล่านี้มีแนวโน้ม เสี่ยง หรือข้องเกี่ยวกับยาเสพติดหลายประเด็นด้วยกัน 

อาทิเช่น ครอบครัวนี่เป็นสาเหตุหลักเลย กลุ่มเพื่อนซึ่งสำหรับวัยรุ่นเรื่องเพื่อนนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตเขาหากผู้ใหญ่เข้าใจจะเข้าถึงใจเด็ก ทักษะชีวิตอันเป็นรอยผ่านต่อระหว่างความเป็นเด็กและผู้ใหญ่ ประสบการณ์ชีวิตที่อาจมีเพียงด้านเดียวหรือการพลิกแพลงในชีวิตมีน้อย พฤติกรรมนิสัยที่ลึกลงไปในจิตวิญญาณของเด็กๆ ก็มีส่วน

หากพูดกันบนฐานของพุทธศาสนา ก็ต้องมองไปที่เรื่อง "กรรม" ... อิทัปปจยตาจะอธิบายปรากฏการณ์เชิงสาเหตุนี้ได้

"มันมีเหตุมันจึงมีผล" สิ่งใดใดในโลกนี้ไม่มีคำว่าบังเอิญ


จากนั้นฐานคิด ที่มาที่ไป...

ถูกแปลงออกมาเป็นตารางฝึกอบรม ที่สามวันแรกเน้นในเรื่องการให้ข้อมูล การให้ความรู้ ...หรือที่ภาษาการเรียนรู้ใช้คำว่า "Information / Data " ในเรื่องที่ใกล้ตัวของเขามากๆ เช่น เรื่องยาเสพติด เรื่องสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน เรื่องกฏหมายยาเสพติด ... และเรื่องศีล กรรม เป็นต้น สามวันแรกนี้เป็นกระบวนการที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า "บอกความรู้"

อีกสามวันหลัง เน้นในเรื่อง "การสร้างความรู้" + ทักษะชีวิต

เป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ฝึกฝน ฝึกกระบวนการคิดทางปัญญา ตามแบบโยนิโสมนสิการ

และทุกๆ วันเด็กๆ จะอยู่ภายใต้ศีล ซึ่งพระอาจารย์แปลงศีล ๕ ออกมาเป็นข้อระเบียบปฏิบัติของการใช้ชีวิตอยู่ในวัด


จะอย่างไรก็ตาม...

กระบวนการที่เกิดขึ้นยังมีคำถามอยู่ว่า ... เมื่อเด็กกลับไปอยู่บ้านล่ะ จะเป็นอย่างไร ที่บ้านพร้อมเปิดรับกระบวนการเรียนรู้ที่เขาได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นจากที่นี่หรือเปล่า

ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงว่า ... คล้ายเรานำผ้าขาวมาซัก สะอาดมากน้อยตามรอยเปื้อนแต่ละชิ้น จากนั้นเมื่อส่งผ้ากลับคืนเจ้าของ เจ้าของผ้าจะรู้จักวิธีรักษาผ้าให้สะอาดหรือเปล่า หากให้ดีก็ควรจะนำเจ้าของผ้ามาเรียนรู้วิธีการรักษาผ้าให้ขาวสะอาด

ก็เช่นเดียวกันในเด็กๆ ต้นกล้าอาสาเหล่านี้ ... เราจะรักษาความคงทนที่เราใส่กระบวนการเข้าไปได้มากน้อยยาวนานเพียงใด หากว่าครอบครัวไม่ได้รับไม้ต่อจากแนวทางของกระบวนการ

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมองว่า ... ถ้าหากมีการเรียนรู้เช่นนี้เกิดขึ้นอีก ควรทำกระบวนการกับผู้ปกครองก่อน แล้วค่อยมาใส่กระบวนการในเด็กๆ ... จากนั้นก็เชิญผู้ปกครอบมาเรียนรู้ร่วมกันตามแนวทางวิถีพุทธนี้ไปพร้อมกันเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงในจิตใจและปัญญาของเด็ก


บทสรุป...

ของการทำงานครั้งนี้ จึงไม่น่าจะเป็นการทำงานที่มั่ว เพราะมีฐานแนวคิดของกระบวนการผ่านการพิสูจน์มาแล้ว ๒๕๕๖ ปี ยาวนานมากพอประจักษ์แจ้งในใจของคนที่มีปัญญา 

ในส่วนของคำกล่าวอันรุนแรงต่อพระพุทธศาสนา ที่ว่า พระอาจารย์และดร.กะปุ๋ม อยากได้เงินค่าหัวเด็กที่คิดต่อรายหัวคนละไม่ต่ำกว่า ๓ พันกว่าบาทนั้น สามารถตรวจสอบได้ พระสายวัดป่าท่านไม่ถือเงิน และข้าพเจ้าไม่ใช่พระหากแต่ยึกตามแนวปฏิบัติของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ การบริหารจัดการเรื่องเงินรวมถึงการจัดการโครงการเป็นเรื่องขององค์การบริหารส่วนตำบล และข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้มีส่วนรับรู้ใดใด ในการจัดงานนี้ ไม่มีแม้ชื่อ หรือคำกล่าวเชิญร่วมประชุมเตรียมการใดใด ที่มาที่ไปของโครงการเป็นมาอย่างไร ก็ไม่ได้ล้วงลูกที่จะรู้หรือก้าวก่ายในงาน

มีผู้พยายามจะนำรายชื่อของเด็กไปลงระบบ บสต. ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของทางวัด ดังนั้นวัดและพระอาจารย์จึงไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

เมื่อได้พูดคุยกับผู้บริหารโครงการคือ ทาง อบต. ก็ได้รับข้อมูลว่าโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องลง บสต. 

และการติดต่อประสานงานระหว่างวัดและทาง อบต.ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์หารือใดใดทั้งสิ้น การประชุมเตรียมงานต่างๆ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้มีชื่อเป็นคณะทำงานหรือเข้าประชุมใดใด

เพราะทางวัดเอง พระอาจารย์ท่านก็บอกว่าข้าพเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นเพียงวิทยากรเครือข่ายมาช่วยทางวัด และข้าพเจ้าก็ชักชวนผู้คนมาร่วมการสร้างกุศลครั้งนี้ด้วย

แม้แต่...ยอดผ้าป่าที่ทางโครงการนำถวายต่อทางวัด ก็ไม่ได้รับรู้เห็นใดใด ไม่ได้ร่วมรับรู้ทั้งสิ้น

ข้าพเจ้ามาร่วมกระบวนการที่นี่

เพราะที่นี่ เป็นพื้นที่สร้างคน ซ่อมคน...ให้ได้มากเท่าบุญบารมีที่เขามี

อกุศลทั้งปวงที่เกิดขึ้นในหัวใจของผู้พยายามกล่าวหา สร้างความ ให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นเพราะความไม่รู้ในใจของบุคคลนั้นเอง แต่...ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็น่าจะประจักษ์แจ้งในดวงจิตดวงใจของใครหลายคนที่ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน

...

ด้วยหัวใจที่นอบน้อม

๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖



หมายเลขบันทึก: 542657เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อนุโมทนาบุญกับอ.กะปุ๋ม และเป็นกำลังใจในบุญที่มีเสมอครับ

ขอบพระคุณครับสำหรับบทความนี้ครับ

ความจริงจะพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยการกระทำและกาลเวลานะคะ พี่โอ๋ขอเป็นกำลังใจให้แม่ชีกะปุ๋มด้วยความชื่นชมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท