ทางเลือกจากการศึกษา



นักวิชาการอเมริกันแนะเตรียมความพร้อมด้านการทำงานให้เด็กตั้งแต่ระดับมัธยม ช่วยให้เด็กรู้จักตัวตนมองเห็นเส้นทางชีวิตในอนาคต และยังช่วยแก้ปัญหาเด็กลาออกกลางคัน ไม่ต้องเข้าสู่การทำงานโดยไม่มีความพร้อม (เดลินิวส์ออนไลน์. สอนอาชีพในมัธยมแก้เด็กออกกลางคัน. วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556 เวลา 16:23 น)

    วันนี้ได้อ่านข่าวเรื่องของการแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคันเพราะฐานะไม่อำนวยเลยจัดเด็กเหล่านั้นเข้าสู่โปรแกรมการอาชีพ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  การจัดการศึกษานี่ได้จำกัดจำนวนนักเรียนอยู่ที่ 150 - 200 คน โดยผู้ที่จะจัดการศึกษาประเภทนี่ต้องทำความเข้าใจว่า "โรงเรียนฝึกอาชีพมิใช่โรงเรียนอาชีวะศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้ค้นคว้าตนเอง และรู้จักตัวตนว่าจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด"


ขนาดโรงเรียนของเจ้านายยังส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอาชีพ แล้วการพัฒนาการศึกษาในชนบทมุ่งแต่จะเตรียมคนเพื่อวัดค่า GPA เท่านั้นหรือ ? (ภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ออนไลน์)

     จำได้ว่าในสมัยหนึ่งที่ข้าพเจ้ายังศึกษาอยู่ระดับมัธยม (เกือบ 40 ปี สืบมาจนประมาณปี 2539 กว่า ๆ) การศึกษาในสมัยนั้นก็ยังมีวิชาชีพให้เลือก ข้าพเจ้าพิมพ์ดีดได้ ดีดลูกคิดเป็น ทดลองวิทยาศาสตร์ ซ่อมเก้าอี้ ทำปลั๊กไฟฟ้าเป็น ก็เพราะทางโรงเรียนมีวิชาเหล่านี้ให้เราได้ศึกษา ชอบบัญชี พิมพ์ดีด ก็ไปเรียนพาณิชย์ ชอบวิทย์ คณิตภาษา ก็เรียนต่อ ม.ศ.4-5 ส่วนชอบไฟฟ้า ซ่อมโต๊ะ อาจไปเรียนช่างก่อสร้างหรือช่างกล แต่ถ้ายังไม่อยากไปตอนนี้ก็เรียนต่อ สายสามัญแล้วสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ีมีฐานะ เรียนดี) นั้นคือหนทางเลือกที่เคยปรากฎ

     มาคิดถึงคำพูดของเนติวิทย์ที่กล่าวหาระบบการศึกษาที่สร้างค่านิยมคลั่งชาติ หรือไม่ให้เด็กรู้จักคิด ผมว่าส่วนหนึ่งคงไม่ใช่เพราะระบบอย่างเดียว แต่อยู่ที่ผู้รับผิดชอบนั่นคือผู้บริหาร และครูที่จะชี้นำ โดยไม่รังเกียจทั้งภาคสามัญ และอาชีวะ เพราะครูต้องเป็นครูแนะแนว ชี้ช่่อง บอกทาง ให้คำปรึกษาแก่ศิษย์ไปตามความถนัด เหมาะสมกับเขาเหล่านั้น เรื่องของระบบจริง ๆ ก็อาจมีปัญหา แต่สำคัญว่าเราต้องสอนให้เขารู้จักคิด จะมีกี่คนที่คิดแบบเนติวิทย์ เพราะส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการป้้อนข้อมูล ไม่ค่อยไขว้คว้าอย่างจริงจัง เอาความสะดวกด้วยการ C & P ไม่ใช่ C & D ก็เลยทำให้คิดน้อยไปนิด

     ฉะันั้นจึงขอแนะนำโดยน่าจะนำวิธีการสอนและคิดแบบพระพุทธเจ้ามาใช้ คือ พุทธวิธีการสอน และวิธีคิดแบบปรโตโฆษะ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้จริงและเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาแล้ว กล่าวโดยย่อคือ

สรุปวิธีสอนของพระพุทธเจ้า 

ในวิธีการสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงพิจารณา เนื้อหาที่จะสอนก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมคำสอนได้อย่างชัดเจนโดยเรียงจากเรื่องง่าย จากเรื่องที่รู้อยู่แล้วไปสู่เรื่องที่ลุ่มลึกต่อไป โดยใช้เหตุผลที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้และยังเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนอีกด้วยต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงพิจารณา ผู้เรียน เพื่อการแสดงธรรมให้เป็นที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนจะรับรู้และเข้าใจ ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความแตกต่างของผู้เรียน ก่อนที่จะเข้าสู่การสอนนั้นพระองค์ยังสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนเพื่อชักจูงให้ผู้เรียนมีความสนใจพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอนด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมทีเดียว แต่จะทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบหรือผู้มาเฝ้าด้วยเรื่องที่เขารู้เข้าใจดี หรือสนใจอยู่เช่น เมื่อทรงสนทนากับควานช้าง ก็ทรงเริ่มสนทนาด้วยเรื่องวิธีฝึกช้าง เป็นต้นวิธีการสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้ามีวิธีการสอนอยู่ 4 แบบ คือ สอนแบบสากัจฉา หรือสนทนา สอนแบบบรรยาย สอนแบบตอบปัญหา และสอนแบบวางกฎข้อบังคับ 

      นอกจากนั้น พระองค์ทรงใช้เทคนิคในการสอนคือ การยกอุทาหรหรือนิทานประกอบ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา การใช้อุปกรณ์การสอน การเล่นภาษาเล่นคือหรือการให้ความหมายใหม่ 
     อุบายเลือกคนและปฏิบัติรายบุคคล การรู้จักจังหวะและโอกาส และความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการด้วยลักษณะการสอนที่มีความเข้าใจง่าย ลุ่มลึก ทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดประโยชน์สูงสุด นำหลักธรรมไปใช้ได้ถูกต้อง ตามหลักทางพุทธปรัชญา  (พระธรรมปิฏก. ป.อ. ปยุตฺโต, 2544 : 45)

ข้อสรุปเกี่ยวกับการสอนมีดังนี้

1. ปัญญาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นภายในตัวของผู้เรียนเอง

2. ผู้สอนทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ช่วยชี้นำทางการเรียน

3. วิธีสอน อุบาย และกลวิธีต่างๆ เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องผ่อนแรงการเรียนการสอน

4.  อิสรภาพในทางความคิดเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างปัญญา

เหล่านี้เป็นวิธีการสอนที่พระพุทธองค์ทรงได้กระทำมาแล้วทั้งสิ้น

     มากล่าวถึงจุดประสงค์ที่นำเสนอคือ อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาทางการศึกษาให้ถูกวิธี ไม่ใช่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปตามความคิดความเห็นของ รมต.เท่านั้น ควรกำหนดหลักสูตรที่ตรงจุดประสงค์เหมาะสมกับคนของเราให้มากกว่าการสนองตอบต่อหน้าตาของประเทศ ความใหม่อยู่ที่ตัวผู้จบการศึกษา แค่หัดให้เขาใช้จินตนาการเป็น รู้จักคิดเป็นจริง ๆ ไม่ว่าจะมาจากการจำก่อนหรือหลัง เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีวิชาใดเลยที่จะไม่จำ เนื่องจากการกระทำใด ๆ ก็ต้องเรียนรู้ต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว และนำมาดัดแปลง หรือมีใครปฏิเสธ  ลองทบทวนกันดูเถิดนักการศึกษา ณ วันนี้ข้าพเจ้ายอมที่จะกลับไปใช้กระบือไถนาดีกว่าเป็นหนี้ค่าน้ำมันรถไถ แถมยังปลอดมลภาวะอีกต่างหาก


เฒ่าดอกไผ่

หมายเลขบันทึก: 542642เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2013 12:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

..... ขอบคุณ ความรู้ดีดี ภาพสวยได้เห็น บรรยากาศงดงาม นะคะ

ขอบใจกับกำลังใจและคำขอบคุณด้วย ท่าน Dr.Ple และหวังว่าจะได้คำชี้แนะในการนำเสนอครั้งต่อไป เจริญธรรม

การศึกษาในระบบเราคับแคบไป

ถ้ามีการศึกษาทางเลือกมากๆๆคงดีนะครับ

เห็นด้วย คิดว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น บางอย่างมีแต่ยังไม่มีการเผยแพร่ให้เห็นก็เยอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท