ป่าชุ่ม-ดินหอม ; ใจเดิมเดิมที่ยังค้าง “หายใจเข้าลึกๆ”


“หายใจเข้าลึกๆ” ... คือ คำพูดของหลวงปู่ที่บอกต่อลูกศิษย์ 

และก็มักเป็นอากัปกิริยาที่ข้าพเจ้ามักใช้เสมอเช่นกัน ... ถอนหายใจออกยาวๆ และหายใจเข้าลึกๆ... ซึ่งข้าพเจ้ามักจะชอบถอนหายใจออกก่อน เพราะความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะหายใจออกนั้น คือ ความเบาโล่งโปร่งสบาย และพร้อมที่จะเปิดพื้นที่รับออกซิเจนและสิ่งต่างๆ เข้าไปในจิตวิญญาณใหม่ด้วยความตื่นรู้อันสดชื่นและเบิกบาน

ประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ปรากฏขึ้นในใจ คือ รอยที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณ ยาแห่งการเยียวยาที่ข้าพเจ้ามอบให้กับตนเอง คือ ความอดทน ... อันเป็นความอดทนที่ปรากฏขึ้นจากสภาพความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้น เหตุแห่งความเจ็บปวดที่ปรากฏนั้นมาจาก ... อาการของจิตที่เต็มไปด้วยพิษอันเป็นอกุศลเจตสิค (อาการด้านลบๆ ...ต่างๆ นานาที่อาบดวงจิตนี้ไว้)

นี่คือ อาการที่ข้าพเจ้าทำได้ดีที่สุดในอายุ ๔๐ ปี  คือ ดำรงอยู่กับลมหายใจและเพื่อทำความเข้าใจ


เมื่อตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเคยสงสัยว่าอาการเล่านี้มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ ณ ขณะนั้นน่าจะมีความสุขในครอบครัวที่แวดล้อมไปด้วยแม่และพ่อ ... การสวมกอดของแม่ และความอบอุ่นปลอดภัยจากพ่อ แต่บางเสี้ยวเวลาอาการเหล่านี้ก็จะปรากฏ

ข้าพเจ้าพยายามหาคำตอบ พร้อมลงมือแสวงหาคำตอบ ถึงกับลงทุนเข้าไปเรียนทางด้านจิตใจ แต่...ความรู้ที่ได้ ในความรู้สึกของข้าพเจ้าในทัศนะของข้าพเจ้าเองมองว่า ...มันยังไม่ถึงใจ 

ก็เริ่มต้นแสวงหาหนทางใหม่ 

มีเพื่อนรุ่นพี่บอกว่า “หลวงตามหาบัว” ท่านจะตอบคำถามต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจเราได้ แล้วก็แนะนำให้ข้าพเจ้าฟังเทศน์หลวงตาและไปกราบท่าน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เข้าใจรู้สึกว่าฟังเข้าใจยาก ... ก็เกิดเป็นคำถามกับตนเองว่า “ชาตินี้จะไม่มีวาสนาฟังธรรมหลวงตาให้เข้าใจได้เลยเหรอ”... เจ็บปวดในหัวใจมาก ทำไมฟังแล้วไม่เข้าใจ คล้ายความรู้สึกว่าได้รับความรู้ในลักษณะเดียวกับตอนที่ไปเรียนหนังสือเลย ... เป็นเพียงผิวๆ แต่ยังไม่สามารถตอบคำถามอะไรให้กับตัวเองได้


จวบจบมาพลิกกับตัวเองใหม่ว่า ... ลองรักษาศีล ฝึกสมาธิ และฝึกฝนทางปัญญาดู ตามทฤษฎีที่ว่าไว้ ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าต้องทำอย่างไร ก็อาศัยศึกษาวิถีปฏิบัติตามพระภิกษุสายหลวงตาที่ท่านปฏิบัตินั่นแหละแต่มาประยุกต์ให้เหมาะกับความเป็นวิถีชีวิตเรา ท่านเดินจงกลม แต่เราใช้วิ่งแต่วิ่งแบบเจริญสติ ... ศีลก็อาศัยศีล๕ ให้ครบและฝึกฝนลองใช้ชีวิตแบบศีลแปด ไปด้วย เวลาที่มีปัญหาก็ใช้การขบคิดใคร่ครวญ แต่ในตอนนั้นยากมาก ก็อาศัยว่าใช้การเขียนบันทึกเพื่อเกลาความคิด เกลาหัวใจ ... เพราะเคยเห็นงานวิจัยเขาบอกว่า การเขียนช่วยจัดระบบกระบวนการทางปัญญาของคนเรา

ฝึกฝนเรื่อยมา...

สิ่งที่ได้กับตนเองคือ มองเห็นอาการของใจ ที่มันมักวิ่งไปทางด้านขั้วลบ(เรียกเอาเอง) ซึ่งก็คือ ด้านอกุศลเจตสิค(มาทราบชื่อภายหลังว่าอาการของจิตแบบลบๆ แบบออกแนวชั่วๆ ้เขาเรียนว่าเช่นนี้) 

พอเริ่มรู้อาการของจิตแล้ว...ก็เริ่มล่ะ เริ่มหาวิธีแก้วิธีดัด 

พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “อดทนข่มใจ” ... “ให้ฝืนใจกูขัดใจกู” แต่ใจเรานี่มันก็แปลกนะ ชอบที่จะให้เราตามใจอยู่เรื่อยๆ ไป เจ็บปวดต่อการฝึกฝนแต่ก็อดทน แรกๆ ก็เลยได้กำไรกับตนเอง คือ เรื่องความอดทน


จากที่เป็นคนไม่ชอบวิ่ง วิ่งไม่ได้ วิ่งไม่ทน ครั้งแรกของการวิ่งได้ไกลมาก คือ วิ่งเป็นระยะทาง ๔ กิโลเมตร ดีใจสุดๆ และเริ่มตระหนักว่าศักยภาพของมนุษย์นั้นมีอย่างเต็มเปี่ยม จากนั้น...ก็เริ่มออกวิ่ง ทั้งเช้าและเย็นรอบๆ บึงแก่นนครบ้าง ถนนในมหาวิทยาลัยบ้าง ... วิ่งไปวิ่งมาจิตที่ว้าวุ่นก็ค่อยๆ สงบ มีปรากฏการณ์อันน่าตื่นเต้นที่ตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาของเราไม่เคยเจอ ... เพื่อนรุ่นพี่ก็แนะนำให้ไปกราบเรียนถามหลวงตา แต่่ท่านไม่ตอบ จึงได้ไปกราบเรียนถามคุณยายจันดี น้องสาวท่าน... มาถึงตอนนี้ได้เริ่มเปิดประตูทางปัญญาอย่างเห็นแสงรำไร ...

เริ่มเลย...เริ่มตั้งใจทำความเข้าใจ โห...เราสั่งสมอะไรมันไว้นี่มากมายเลย แกะออกล้างออกหรือเปล่านะเนี่ยะ คือ ...คำถามที่ถามในตนเอง เอาน่ามีผู้คิดค้นพบคำตอบนี้มาก่อนแล้ว และเป็นคำตอบที่อยู่ยืนยาวนานมาสองพันกว่าปี และปัจจุบันก็มีผู้พิสูจน์ประจักษ์แจ้งชัดเป็นเชิงรูปธรรมให้เห็นถึงการฝึกจิตและอานุภาพของปัญญาที่ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ

แม้ใช้เวลาทั้งชีวิต...ที่อาจจะเรียนไม่จบ แต่ก็น่าจะดีกว่าที่จะไม่ลงมือเรียน ลงมือทำ ลงมือปฏิบัติศึกษาค้นคว้าเข้าไปทำความรู้จัก อันมีเป้าหมายล้างดวงจิตนี้ให้สะอาดเท่าที่จะสะอาดได้

...

๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 541804เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบบรรยากาศแบบนี้จ้งเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท