ทฤษฎีหลักสูตร


ทฤษฎีหลักสูตร

  หลักสูตรเปรียบเสมือนเข็มทิศของครูในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนว่าต้องจัดไปในทิศทางใด                       จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนคืออะไร ดังนั้นผู้สอนจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษา  ทำความเข้าใจกับหลักสูตรให้แน่ใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน สำหรับความหมายของหลักสูตรนั้นได้มีการให้คำนิยามกันมาตั้งแต่สมัยโบราณซึ่งความหมายของหลักสูตรก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคและกิจกรรมของมนุษย์ในยุคนั้นๆ แต่เดิม “หลักสูตร” (Curriculum) คือสิ่งใดก็ตามที่ต้องการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ สิ่งนั้นคือหลักสูตร ดังนั้นในสมัยก่อน การตกปลา ล่าสัตว์ ปลูกผัก ก็ถือได้ว่าเป็นหลักสูตรของสมัยนั้น ต่อมาเมื่อโลกเจริญพัฒนามากขึ้นจึงมีการให้คำนิยามเกี่ยวกับหลักสูตรใหม่ โดยกำหนดว่าหลักสูตรคือรายวิชาหรือเนื้อหาที่กำหนดไว้ให้ผู้เรียนได้เรียน แต่ในปัจจุบันความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมาก โดยยึดหลักที่ว่า หลักสูตรคือประสบการณ์ที่จัดให้ผู้เรียน เพื่อให้มีพัฒนาการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนั้นในการเรียนการสอนจึงต้องมีจุดมุ่งหมาย แนวทาง วิธีการ เนื้อหาสาระในการจัดกิจกรรมและมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาการในด้านต่างๆ ตามจุดมุ่งหมายตามที่ได้กำหนดไว้

  จากคำกล่าวที่ว่า การศึกษาเป็นตัวชี้วัดถึงการพัฒนาของประเทศ จึงถือได้ว่าการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยตัวที่กำหนดแนวทางในการศึกษาก็คือหลักสูตรหรือแม่บทนั่นเอง หลักสูตรเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ถ่ายทอดเจตนารมณ์หรือเป้าประสงค์ของการศึกษาของชาติ ลงสู่การปฏิบัติเป็นสิ่งที่นำเอาความมุ่งหมายและนโยบายการศึกษา ไปแปลงเป็นการกระทำขั้นพื้นฐานในโรงเรียน โดยการจัดการศึกษานั้นถึงแม้ว่าแต่ละโรงเรียนจะมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ย่อมมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือมุ่งให้เยาวชนหรือนักเรียนในแต่ละวัยและแต่ละระดับการศึกษาได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกันโดยมีแนวทางที่กำหนดไว้ว่า ควรเรียนรู้อะไร เนื้อหาสาระมากน้อยเพียงใด ควรฝึกฝนอบรมให้มีทักษะด้านใดและควรมีพัฒนาการในด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญาอย่างไร

  หลักสูตรเป็นสิ่งที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าก่อนนำมาใช้ โดยต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและจุดประสงค์ให้แน่นอนว่าต้องการให้เกิดผลอย่างไรแก่ผู้เรียน ดังนั้นในการออกแบบองค์ประกอบของหลักสูตรจึงต้องมีองค์ประกอบหลายๆอย่างประกอบกัน เช่น การกำหนดเนื้อหา วิธีการเรียนการสอน สื่อการสอน จุดมุ่งหมาย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะรวมกันทำให้หลักสูตรที่ใช้นั้นประสบความสำเร็จได้ดีเพราะฉะนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถ  มีประสบการณ์กว้างขวางต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีประสบการณ์หลายฝ่าย ไม่ใช่การกระทำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

  องค์ประกอบที่สำคัญของหลักสูตรคือ 1.เป้าประสงค์และนโยบายการศึกษา ซึ่งก็คือสิ่งที่รัฐต้องการทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษา  2.จุดมุ่งหมายของหลักสูตร 3.รูปแบบและโครงสร้างหลักสูตร 4.จุดประสงค์ของวิชา 5.เนื้อหา  6.จุดประสงค์การเรียนรู้ 7.ยุทธศาสตร์การเรียนการสอน 8.การประเมินผล 9.วัสดุหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน

บรรณานุกรม

  ธำรง บัวศรี. (2542). ทฤษฎีหลักสูตร. กรุงเทพฯ : บริษัท ธนธัชการพิมพ์ จำกัด.


คำสำคัญ (Tags): #ทฏษฎี
หมายเลขบันทึก: 541700เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณนะคะ ที่กล้าหาญในการนำเสนอในชั้นเรียนเป็นคนแรก
จากที่เขียนมา แสดงว่าคุณมีความเข้าใจเรื่องความเป็นมาและความสำคัญของหลักสูตร และเข้าใจว่าหลักสูตรคืออะไีร แต่เรื่องทฤษฎีหลักสูตรยังไม่เห็นความชัดเจนนะคะ ลองหาอ่านเพิ่มเติมอีกหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท