แลหลังการนิเทศการศึกษาเมื่อคราเริ่มแรก


            ได้อ่านหนังสือ “ชีวิตและงาน จรูญ  เอกอินทร์” อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นศึกษานิเทศก์ทั้งกรมสามัญศึกษา และสปช.ในยุคบุกเบิก มีศึกษานิเทศก์รุ่นเก่าๆหลายคนเขียนเล่าเหตุการณ์การนิเทศในช่วงนั้น ก็เลยอยากเก็บนำมาเล่าต่อ

         อาจารย์กมล  ดิฐกมล อดีตหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ และรองอธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2500 ไว้ในหนังสือเล่มนี้ ความตอนหนึ่งว่า
  “ ...สมัยนั้นศึกษานิเทศก์เป็นกำลังสำคัญของกรมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การนิเทศโรงเรียนและการอบรมครูประจำการเป็นภารกิจหลัก เพราะครูโรงเรียนประถมศึกษาโดยส่วนรวมยังมีคุณวุฒิต่ำ สถาบันฝึกหัดครูที่สอนถึงระดับปริญญายังไม่มี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ซึ่งพัฒนามาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นราว พ.ศ.2495
  ดังนั้นครูประจำการของกรมสามัญศึกษาทั่วประเทศจึงมีวุฒิระดับประโยคครูประถมศึกษา(ป.ป.)เป็นส่วนใหญ่ วุฒิ ป.ม.มีเป็นส่วนน้อย วุฒิปริญญานั้นเกือบจะไม่มีเลย
   การนิเทศโรงเรียนและการอบรมครูประจำการในครั้งนั้นจึงมีความสำคัญและความจำเป็นมาก อาจกล่าวได้ว่าสถานภาพของโรงเรียนประถมศึกษาที่พัฒนามาถึงระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากผลงานทางด้านการนิเทศการศึกษาในยุคแรก
  หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษาท่านแรก(ที่ดูแลการนิเทศโรงเรียนประถมศึกษา)คือ ดร.สาย  ภานุรัตน์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของการนิเทศการศึกษา ท่านเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาและเป็นเสมือนครูอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทางด้านนิเทศการศึกษาให้แก่คณะศึกษานิเทศก์...”
                              
     
ในช่วงเวลานั้นได้มีโครงการใหญ่โครงการหนึ่งคือ โครงการกรุงเทพ-ธนบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่ปรับปรุงโรงเรียนประถมศึกษา  โดยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เรามีโครงการปรับปรุงการประถมศึกษาโครงการแรกคือโครงการฉะเชิงเทรา เริ่มเมื่อ พ.ศ.2497 ในระยะแรกๆมีโรงเรียนประถมศึกษาต่างๆไปศึกษาดูงานเป็นประจำ ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยคณะกรรมการดำเนินงานปรับปรุงการประถมศึกษา จึงกำหนดให้มีโครงการกรุงเทพ-ธนบุรี ขึ้นอีกโครงการหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2500
  โครงการกรุงเทพ-ธนบุรี มีแนวทางในการปรับปรุง 3 ประการคือ
   1.การปรับปรุงบริเวณอาคารสถานที่  คือโรงเรียนมีรั้วรอบขอบชิด มีไม้ดอกไม้ประดับและไม้ยืนต้นรอบรั้วโรงเรียน เพื่อให้เกิดบรรยากาศด้านกายภาพที่สะอาด สดชื่น ร่มรื่น สวยงาม น่าอยู่น่าเรียน
  2.การปรับปรุงด้านพลานามัย  โดยให้มีการฟื้นฟูปรับปรุงวิชาในหมวดพลานามัย 2 วิชา คือ พลศึกษา กำหนดให้มีการเรียนการสอนทุกวันวันละครึ่งชั่วโมง ให้มีการแข่งขันกีฬาสีในโรงเรียนด้วย  และสุขศึกษา ให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ตัดเล็บ ตัดผม การแต่งกาย เน้นเรื่องอนามัยนักเรียน แก้วน้ำดื่มต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนกิริยามารยาทต้องสะอาดเรียบร้อย
  3.การปรับปรุงอุปกรณ์การสอนและวิธีสอน โรงเรียนในโครงการดังกล่าวจะจัดทำอุปกรณ์การเรียนการสอนไว้มากมาย  ซึ่งเรื่องนี้เกิดปัญหาในภายหลังคือ ครูไม่ได้นำอุปกณ์การสอนออกมาใช้ จะเก็บไว้ในตู้บ้าง แขวนไว้บ้าง นำมาประดับไว้ในห้องเรียนบ้าง เช่น อุปกรณ์วัดสายตา ครูจะนำมาติดไว้ประจำห้องเรียน ทำให้ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการตรวจวัดสายตา  เนื่องจากนักเรียนจะจำตัวอักษรในการวัดสายตาได้หมดหรือเกือบหมด
  สมัยนั้นโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดรวมโรงเรียนที่โอนไปให้โรงเรียนเทศบาลด้วย จะสังกัดกองการประถมศึกษา กรมสามัญศึกษา เรื่องนี้อาจารย์จรูญ เอกอินทร์ ซึ่งเป็นศึกษานิเทศก์ใหม่ๆในขณะนั้น รับผิดชอบการสอนวิชาพลศึกษาในโรงเรียนโครงการกรุงเทพ-ธนบุรีได้เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า
  “...จำนวนโรงเรียนในโครงการกรุงเทพ-ธนบุรี มีจำนวนเท่าใดจำไม่ได้ แต่ในสายที่ ดร.สาย ภานุรัตน์ ส่งให้ไปปฏิบัติงาน(ไปสอนประจำ)มีหัวหน้าสายชื่อ นายสมาน  แสงมลิ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนวัดนิมมานนรดี  ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปสอนพลศึกษาประจำอยู่ 5 โรงคือ โรงเรียนวัดนิมมานนรดี  โรงเรียนวัดทองศาลางาม  โรงเรียนวัดหนัง  โรงเรียนมงคลวนาราม และโรงเรียนคฤหบดี ...สอนประมาณ 1 ปี นับเป็นประสบการณ์ที่ปูพื้นฐานการเป็นศึกษานิเทศก์ได้อย่างดี..” 
                                            
         
ศึกษานิเทศก์ในสมัยนั้นต้องปฏิบัติงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในส่วนภูมิภาคได้มีการแบ่งการนิเทศเป็นสายๆตามภาคการศึกษา(ต่อมาเรียกเขตการศึกษา)ทั้ง 12 ภาคการศึกษาทั่วประเทศ
  ผมได้เขียนบทกลอนไว้ในหนังสือ “สี่ปีที่เรือนราชมนู” ที่อาจารย์นิรันดร์  นวมารค ศึกษานิเทศก์รุ่นแรกๆได้แต่งเอาไว้บทหนึ่ง แม้จะเป็นการเขียนเพื่อความคึกครื้นสนุกสนาน แต่ก็สะท้อนให้เห็นชีวิตการทำงานของศึกษานิเทศก์ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี
   “เป็นศึกษานิเทศก์พิเศษแสน      ต้องวางแผนงานเฉพาะให้เหมาะสม
   ทั้งภาคต้นภาคปลายหมายนิยม   ให้ครูชมว่าเขาได้อะไรดี
  ถึงหน้าร้อนเราเลี่ยงไปเชียงใหม่   หนาวลงใต้ไปยะลาว่าเต็มที่
   ไปอุดร อุบล ยลธานี                    ตามที่มีกำลังตั้งงบมา
  นอนรถไฟไปสบายก็หลายหน      ไปรถยนต์ตู้โอ่ โตโยต้า
  ถ้าแค่เพชร ประจวบ รวบเวลา        ใช้รถยนต์หลายคราพากันจร
  ได้ไปชมชนบทแสนสดสวย         ได้ไปช่วยเพื่อนครูรู้ทางสอน
  ได้นำเอาปัญหามาว่าวอน             ให้กรมร้อนใจช่วยด้วยใจจริง”
         จะเห็นได้ว่าการทำงานของศึกษานิเทศก์แต่ไหนแต่ไรมา ล้วนทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงนโยบายของกรมไปสู่การปฏิบัติที่โรงเรียน  โดยมีแผน โครงการเป็นตัวนำ ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ก็มีการอบรม  ผลิตสื่อ วิจัย และนิเทศติดตามผล แล้วก็สรุปรายงานกรม ซึ่งก็เหมาะกับบริบทในยุคนั้นๆ ที่มีความจำกัดของจำนวนศึกษานิเทศก์
         การตั้งศึกษานิเทศก์สมัยนั้นต้องมีการสรรหาและคัดเลือกคนมาเป็นศึกษานิเทศก์จากครูที่เก่งและมีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง โดยต้องผ่านการฝึกอบรมศึกษานิเทศก์ใหม่อย่างเข้มข้น ระยะแรกอบรมถึง 45 วัน และต่อมาเมื่อจำนวนคนเข้ามาเป็นศึกษานิเทศก์มีมากขึ้นจึงลดจำนวนวันลงมา อย่างเช่นในรุ่นของผมต้องผ่านหลักสูตรฝึกอบรม 23 วัน โดยต้องไปฝึกงานการนิเทศการศึกษาที่สถานศึกษาด้วย และจะมีอาจารย์พี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ศึกษานิเทศก์ในยุคนั้นๆจึงได้รับการยอมรับศรัทธาจากโรงเรียนอย่างมาก และสามารถสอนแนะ(coaching)ครูได้อย่างเต็มที่
  ---------------------------------------  

หมายเลขบันทึก: 541691เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากให้ศึกษานิเทศก์แบบนี้กลับมาค่ะ

คิดถึงท่านศน ธเนศด้วยครับ

จากบุญถึง

ศน.ปัจจุบัน ป.โท. ป.เอก แต่ความรู้ไม่แน่น มีช่องว่างเรื่องประสบการณ์และขาดทักษะการสื่อสาร ที่จำเป็น จึงพบว่า จะมีปัญหากับครูที่โรงเรียนต่างๆอยู่บ่อยครั้ง.. แล้วยิ่ง สพฐ.เรียกประชุมอบรมบ่อยๆ โอกาสที่จะได้พัฒนาตนเอง ผมเชื่อว่าจะน้อยลง จะทำงานใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท