Literacy: ทฤษฎีพื้นฐานสู่การเรียนการสอน




Literacy: ทฤษฎีพื้นฐานสู่การเรียนการสอน


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


           ภาษาเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารระหว่างบุคคล  ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ อักษร เสียงและความหมาย  การเรียนรู้ภาษาจึงเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เรื่องเสียง คือทราบว่า  อักษรต่าง ๆ มีเสียงอย่างไร ประสมกันแล้วออกเสียงว่าอย่างไร  ทราบว่าคำที่เกิดขึ้นจากการประสมเสียง  มีความหมาย  นัยตรงหรือนัยซ่อนแฝงอย่างไร และรวมถึงเข้าใจว่า เมื่อนำคำมาเรียบเรียงเป็นข้อความต่าง ๆ แล้ว มี “อรรถ” คือเนื้อหา และก่อให้เกิด “รส” แห่งความรู้สึกอย่างไรบ้าง  เรื่องของการสอนให้ผู้เรียนรู้ภาษาหรือรู้หนังสือ จึงเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นทั้งพันธกิจที่สำคัญ  ของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของ  ทุกสังคม

             การรู้หนังสือ (literacy) มิได้มีความหมายแต่เพียงการที่บุคคลสามารถอ่านหนังสือออก หรือเขียนหนังสือได้แต่เพียงอย่างเดียว  แต่จะต้องสามารถอ่านหรือแปลความหมายจากสื่อลักษณะต่าง ๆ และอ่านแล้ว ก็จะต้องเข้าใจความหมาย อธิบาย ทำนาย วิเคราะห์ วิจารณ์และประเมินคุณค่าของสิ่งที่อ่านได้  เช่นเดียวกันกับการเขียน ที่จะต้องสามารถเขียนสื่อความในรูปแบบหรือวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ทั้งการเขียนสรุปสาระสำคัญ เขียนอธิบาย เขียนโน้มน้าว เขียนโต้แย้ง หรือเขียนเพื่อสืบค้นองค์ความรู้ใหม่ ๆ เป็นต้น  คำว่าการรู้หนังสือ จึงเป็นคำใหญ่ ที่รวมความสามารถทางปัญญาหลายประการเข้าไว้ด้วยกัน และการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเกิดการรู้หนังสือ จึงมิใช่เรื่องของการสอนอักษร รู้ว่าอักษรตัวนี้อ่านอย่างนี้ หรือเขียนอย่างนี้เท่านั้น แต่จะต้องลงลึกไปถึงความหมายต่าง ๆ ที่ซ่อนแฝงอยู่ภายในอักษรหรือหนังสือเหล่านั้นด้วย เช่นนี้ จึงจะเรียกว่ารู้หนังสือ ซึ่งที่จริงแล้ว ควรจะเรียกว่า “เข้าใจหนังสือ” มากกว่า 

             เมื่อบุคคลเข้าใจหนังสือแล้ว เขาผู้นั้นก็จะเกิดความเข้าใจในกระบวนการต่าง ๆ ของการอ่านและการเขียน สำหรับในด้านการอ่าน บุคคลจะเข้าใจว่า สิ่งที่จะอ่านคืออะไร จะอ่านเพื่ออะไร  จะอ่านอย่างไร จะแก้ปัญหาระหว่างการอ่านอย่างไร  และจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเข้าใจแล้ว  ส่วนในด้าน  การเขียน  เมื่อบุคคลเข้าใจหนังสือ ก็จะเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่จะเขียนคืออะไร  จะเขียนเพื่ออะไร  จะเขียนอย่างไร จะแก้ไขอย่างไรเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการเขียน และจะประเมินอย่างไรว่าสิ่งที่เขียน  สื่อความได้ตรงกับที่คิดไว้หรือไม่  กระบวนการเหล่านี้ มีลักษณะเป็นขั้นตอนที่จะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกันไป  โดยตลอด ด้วยเหตุนี้ การจัดการเรียนการสอนให้บุคคลรู้หนังสือหรือเข้าใจหนังสือ จึงมิใช่งานของใคร  ก็ได้  แต่จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ  เกี่ยวกับกลวิธีที่จะพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่าง  การอ่านและเขียน  ซึ่งก็แน่นอนว่า มีกลวิธีหรือแนวทางที่แตกต่างกันออกไป ตามทฤษฎีที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานการพัฒนา 



              ทฤษฎีการเรียนรู้เป็นทฤษฎีหลักที่สามารถนำมาอธิบายการรู้หนังสือว่าคืออะไร และเกิดขึ้นในแต่ละบุคคลได้อย่างไร  นักวิชาการด้านการรู้หนังสือนำทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มต่าง ๆ มาใช้ศึกษาวิจัยพฤติกรรมการอ่านและเขียน ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการรู้หนังสือ หรือการอ่านและการเขียน แตกต่างกันออกไปด้วย ผลที่ตามมาจากความแตกต่างนี้ก็คือ  เกิดเทคนิค แนวทาง  หรือวิธีการจำนวนมาก ๆ  ที่สามารถนำมาใช้ส่งเสริมการรู้หนังสือ ทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาอธิบายการรู้หนังสือที่สำคัญ ประกอบด้วย ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  ทฤษฎีการสร้างความรู้  ทฤษฎีภาษาศาสตร์สังคม และทฤษฎีประมวลผลข้อมูล ซึ่งแต่ละทฤษฎีมีมุมมองต่อการรู้หนังสือ และเสนอแนวทางการรู้หนังสือไว้  แตกต่างกันไป

              แม้การอ่านและการเขียนจะมีกระบวนการบางอย่างที่เกิดขึ้นภายในระบบปัญญาของบุคคล  แต่นักทฤษฎีกลุ่มพฤติกรรมนิยม (behaviorism)  กลับเห็นว่า  ประเด็นเรื่องการรู้หนังสือกลับมิใช่กระบวนการภายใน แต่ควรที่จะพิจารณาจากสิ่งที่บุคคลแสดงออกให้ปรากฏ  อันเป็นผลจากการที่ผู้สอนเข้าไปจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง  การคัดเลือกหนังสือให้ผู้เรียนอ่าน  และการแบ่งเนื้อหาที่อ่านออกเป็นบท ๆ จากง่ายไปยาก แล้วให้ผู้เรียนฝึกหัดอ่านไปที่ละบท  โดยไม่ข้ามบทจนกว่าจะอ่านบทเดิมได้ถูกต้องทั้งหมด การให้ผู้เรียนอ่านในลักษณะเดิมซ้ำ ๆ ประกอบการเสริมแรงหากอ่านถูกต้อง เหล่านี้คือ วิธีการที่นิยมใช้ในการสอนอ่านตามแนวคิดพฤติกรรมนิยม สำหรับการสอนเขียนก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ  เน้นการให้ผู้เรียนได้ฝึกหัดเขียนคำหรือข้อความจากง่ายไปยาก  แบ่งบทเรียนการสอนเขียนเป็นบทเรียนย่อย ๆ (minilessons) มีชุดการสอนทั้งชุดฝึกหัดและทดสอบ ทั้งในรูปแบบสอบก่อนเรียนและหลังเรียน  เพื่อเสริมแรงผู้เรียน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการรู้หนังสือตามแนวคิดพฤติกรรมนิยม ได้รับการวิจารณ์ว่า ค่อนข้างให้ความสำคัญกับกระบวนการภายในระบบปัญญา ที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่านและการเขียนค่อนข้างน้อย ภายหลังทฤษฎีนี้ จึงยังคงนำมาใช้เฉพาะส่วนของการฝึกหัดเพื่อให้เกิดทักษะ  หรือความคล่องแคล่วในการอ่านและการเขียน ส่วนเรื่องการฝึกหัดทักษะทางปัญญาอันเกิดขึ้นภายในนั้น ควรที่จะใช้ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งมีจุดเน้นที่ระบบโครงสร้างปัญญามากกว่า 



              ความรู้ที่ยังคงขาดความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการอ่านและการเขียน  คือกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในระบบปัญญา นักวิชาการยังไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ว่า ระหว่างที่บุคคลเขียนหรืออ่านนั้น องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในทำงานอย่างไร ดังนั้น เท่าที่จะกระทำได้  จึงเป็นแต่เพียง  การสันนิษฐาน และเสนอเป็นแบบจำลอง (model) เพื่ออธิบายกระบวนการเหล่านี้เท่านั้น ทฤษฎี  การสร้างความรู้ (constructivism)  เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะเสนอแบบจำลอง โดยอธิบายว่า  การอ่านการคือสร้างความหมายใหม่จากตัวบท  และการเขียนคือการสร้างความหมายออกให้เป็นสัญลักษณ์ หรือปรากฏเป็นข้อความ  ด้วยเหตุนี้  การอ่านและการเขียนจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้ ที่ได้มาจากประสบการณ์เดิมเป็นพื้นฐาน  ต่อเติมเสริมแต่งให้สมบูรณ์ขึ้น  ความรู้เดิมจะช่วยให้ผู้เรียนอ่านข้อความจากเรื่องใหม่ได้เข้าใจมากขึ้น เช่นเดียวกันกับที่ความรู้เดิม จะเป็นพื้นฐานให้สามารถรังสรรค์ข้อเขียนต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ได้ง่ายยิ่งขึ้น การอ่านและการเขียนหากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งตามทฤษฎีก็คือ  การ “สร้างสิ่งใหม่” บนฐานเดิมที่ผู้อ่านหรือผู้เขียนมีอยู่นั่นเอง  เมื่อการพัฒนาการอ่านและการเขียนมีความเกี่ยวข้องกับการวางพื้นฐาน  นักทฤษฎีกลุ่มนี้จึงเห็นว่า  การพัฒนาการรู้หนังสือจึงต้องเริ่มต้นจากการพัฒนารากฐานด้านความรู้ให้มั่นคงเสียก่อน เทคนิควิธีที่นิยมใช้จึงประกอบด้วยการกระตุ้นความรู้เดิมก่อน ระหว่างและหลังการอ่าน เช่น  การใช้เทคนิคการสอนแบบแลกเปลี่ยนบทบาท (reciprocal teaching) เทคนิคแผนผัง K-W-L  ([Know-บอกสิ่งที่รู้อยู่เดิม  Want-บอกสิ่งที่ต้องการจะรู้ และ Learned-บอกสิ่งที่ได้เรียนรู้) การเชื่อมโยงสิ่งที่ผู้เรียนเคยทราบมาแล้ว ก่อนที่จะลงมืออ่าน  หรือเขียน  การให้ผู้เรียนแลกความคิดที่เกิดขึ้นจากการอ่านทั้งของตนเอง  และทั้งกับที่ได้พูดคุยสนทนากับผู้เรียนคนอื่น ๆ โดยการจัดทำบันทึกการอ่าน (reading log)  การแลกเปลี่ยนผลงานการเขียน  ให้ผู้เรียนคนอื่นช่วยพิจารณาหรือใช้ประสบการณ์ของเขาพิจารณา ก่อนที่จะนำมาปรับแต่งขัดเกลาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นต้น 


             กลุ่มทฤษฎีการสร้างความรู้ เป็นทฤษฎีที่เชื่อมั่นในศักยภาพของการสร้างความรู้ในแต่ละบุคคล แต่จะเห็นได้ว่า เป็นทฤษฎีที่อธิบายในลักษณะปัจเจกมาก คือ เน้นไปที่ประสบการณ์ของแต่ละคนมากกว่า ภายหลังนักทฤษฎีอีกกลุ่มหนึ่งจึงได้เสนอว่า เรื่องของการรู้หนังสือ หาได้จำกัดขอบเขตให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวเท่านั้น แต่คนอื่น ๆ หรือกลุ่มอื่น ๆ ที่รวมอยู่ในสังคมรอบข้าง ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาการรู้หนังสือทั้งสิ้น ทฤษฎีนี้เรียกกันต่อมาว่าทฤษฎีภาษาศาสตร์สังคม (sociolinguistics) ซึ่งอธิบายว่า การรู้หนังสือเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่เกิดขึ้นจริงระหว่างการดำรงชีวิตร่วมกับบุคคลอื่น ๆ วิถีชีวิตที่มีการพบปะ พูดคุย  สนทนาระหว่างบุคคล คือกิจกรรมที่จะช่วยพัฒนาการรู้หนังสือ  การสอนอ่านและการสอนเขียน สามารถพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น หากสอนในลักษณะที่เป็นกิจกรรมทางสังคม  และครูผู้สอนคงเหลือบทบาทแต่เพียงช่วยเสริมต่อศักยภาพ  เพื่อให้ผู้เรียนได้อ่านและเขียนร่วมกับผู้อื่น  ที่มีประสบการณ์มากกว่า เทคนิควิธีการที่ทฤษฎีนี้นิยมนำมาใช้ในการพัฒนาการรู้หนังสือ เช่น  เทคนิควงวรรณกรรม (literature circles) หรือการอ่านเป็นกลุ่ม ซึ่งให้ผู้เรียนที่อ่านหนังสือเรื่องเดียวกันมาสนทนาร่วมกัน  เทคนิคการอ่านแบบแลกเปลี่ยนกัน (shared reading) การอ่านเป็นคู่ (buddy reading) เป็นต้น  กล่าวโดยสรุป  จุดเน้นของทฤษฎีนี้คือ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้อ่านและเขียนร่วมกับผู้เรียนคนอื่น ๆ หรือผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่า 



               นักทฤษฎีกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มทฤษฎีประมวลผลข้อมูล (information processing) ซึ่งเชื่อว่า การอ่านและการเขียน คือ  กระบวนการรับ-ส่ง จัดเก็บ และเรียกคืนข้อมูลมาใช้ การอ่านและการเขียนจึงเป็นเรื่องการประมวลผลข้อมูล และการทำให้ข้อมูลนั้นมีความหมาย หรือสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิต ที่สำคัญคือเชื่อว่า การอ่านและการเขียนเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน แยกออกจากกันไม่ได้ ในการพัฒนาการรู้หนังสือตามทฤษฎีประมวลผลข้อมูล จึงเน้นการพัฒนาการอ่านและการเขียนควบคู่กันไป ในด้านการอ่านนั้น ผู้เรียนจะสร้างความหมายจากข้อมูลสองส่วน คือ ข้อมูลโดยตรงจากข้อความที่อ่าน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่ผู้เรียนมีเก็บไว้ในหน่วยความทรงจำระยะยาว ดังนั้น ความหมายที่เกิดขึ้นจากการอ่านจึงเป็นความหมายที่เกิดจากการผสมกันของข้อมูลทั้งสองส่วนนี้ สำหรับการเขียน ทฤษฎีกลุ่มนี้อธิบายว่า การเขียนคือการเรียกคืนข้อมูลหรือความรู้เดิมต่าง ๆ มาจัดการหรือเรียบเรียงเสียใหม่ ในขั้นตอน  การเขียน  จึงต้องมีกิจกรรมทางปัญญา คือ การวางแผน สร้างข้อความ  และปรับปรุงแก้ไขข้อความที่เขียนอยู่โดยตลอด ซึ่งแต่ละกิจกรรม ผู้เขียนก็จะต้องดำเนินการจัดการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาศัยเทคนิคหรือกลยุทธ์ทางปัญญาต่าง ๆ ผู้จะพัฒนาการรู้หนังสือในกลุ่มนี้ มักจะนิยมใช้เทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลจากการอ่าน หรือข้อมูลสำหรับที่จะนำไว้ใช้เขียน เช่น  เทคนิคการอ่านภายใต้การแนะนำ (guided reading) การใช้แผนภาพกราฟิก (graphic organizer) การใช้กลยุทธ์ทางปัญญา (cognitive strategies) ต่าง ๆ เป็นต้น

                ทฤษฎีการเรียนรู้ที่อธิบายการอ่านและการเขียนเท่าที่ได้กล่าวมาข้างต้น มักนำมาใช้ในลักษณะผสมผสาน มากกว่าที่จะแยกใช้แต่ละทฤษฎีโดยตรง  ด้วยเหตุว่า  การสอนการรู้หนังสือนั้น เกี่ยวข้องกับกระบวนการภายนอก อันได้แก่ปัจจัยแวดล้อมผู้เรียนในด้านต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการภายใน โดยเฉพาะกระบวนการสร้างความหมายดังที่กล่าวมา  แนวทางในการจัดการเรียนการสอน จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแนวทางสมดุล (balanced  approach) คือผสมผสานทฤษฎีต่าง ๆ ในการเรียนการสอนไว้ด้วยกัน  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักการของแต่ละทฤษฎีจะแตกต่างกัน แต่ผู้สอนจะต้องไม่ลืมว่า การสอนภาษาหรือการสอนให้ผู้เรียนรู้หนังสือ มีหลักการพื้นฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องที่สำคัญอยู่ ๔ เรื่อง ได้แก่  การสอนระบบเสียง  การสอนระบบโครงสร้างหรือการสัมพันธ์ประโยค  การสอนระบบความหมาย  และการสอนระบบการใช้ภาษาในสังคม  การรู้หนังสือจึงต้องดำเนินการไปตามหลักการดังกล่าว แล้วใช้เทคนิควิธีของแต่ละทฤษฎีมาสนับสนุน เช่นนี้จึงจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการรู้หนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพ




_______________________________

 


หมายเลขบันทึก: 541633เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 00:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท