ทฤษฎีหลักสูตร


  • จากที่ผมนายสมพงศ์ ได้ไปศึกษาและสืบค้นเรื่อง ทฤษฎีหลักสูตร ซึ่งได้ไปสืบค้นที่หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากสอนที่โรงเรียนเสร็จประมาณ 17.00 ก็ไปจุฬาต่อเลย ในบันทึกการเรียนรู้ของผมครั้งนี้ มี 2 ส่วนคือ ส่วนที่สืบค้นในหนังสือที่มีชื่อว่า "หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร" โดย ผศ. ชูศรี สุวรรณโชติ และอีกส่วนหนึ่งสืบค้นในอินเทอร์เนต ถ้าผมพิมผิดหรืออ้างอิงผิดประการใด ขออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ
  • จากเรื่องที่ไปศึกษา ซึ่งกว่าจะมาเป็นหลักสูตรและเนื้อหาให้เราเรียน ต้องอาศัยทฤษฎีการศึกษามาช่วยในการจัดการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมไม่เข้าใจว่าทฤษฎีหลักสูตร เกี่ยวข้องกับการศึกษายังไง และทำไมต้องมี เป็นประเด็นที่อยากรู้มากจริงๆ จึงได้ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่ไปสืบค้นมา และจึงทำให้รู้ว่า ทฤษฎีหลักสูตรสำคัญมากสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวกับการศึกษา ถ้ารู้และเข้าใจจะทำให้บุคคลเหล่านั้นสามารถพัฒนาหลักสูตรที่ดีได้
  • ปล. ส่วนเนื้อหาที่ผมไปสืบค้น ตามข้างล่างครับ

ความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีหลักสูตร[จากการสืบค้นในหนังสือ]

ทฤษฎีหลักสูตรเป็นเรื่องใหม่ของวงการศึกษาทฤษฎีหนึ่ง และเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีการศึกษา แต่ความกว้างในการใช้ทฤษฎีการศึกษายังมีไม่มากนัก จนในบางครั้งนักการศึกษาและนักพัฒนาหลักสูตรจนลืมไปว่าการจัดทำหลักสูตรไม่ต้องอาศัยทฤษฎีหลักสูตร เพราะถือกันว่า การจัดทำหลักสูตรเป็นเรื่องของกระบวนการ

1.  ความหมายของทฤษฎี

ก่อนอื่น คงจะต้องทำความเข้าใจคำว่า “ทฤษฎี” คืออะไร

ความหมายที่เฮอร์เบอร์ท ไฟเจล(Herbert Feigl อ้างจาก เจริญผล สุวรรณโชติ  2530  :  4) กล่าวไว้ คือ “ทฤษฎี  คือ  การกำหนดข้อสันนิษฐานซึ่งได้รับมาจากวิธีการของตรรกวิทยาคณิตศาสตร์  ทำให้เกิดกฏเกณฑ์ที่ได้มาจากการทดลอง และการทดลองไม่ใช่เกิดมาจากการเรียนรู้จากที่หนึ่งที่ใด”

หรือ ทฤษฎีในความหมายของ โลแกน และ โอเลมสเตด(Logan and Olmstead อ้างถึง สันต์  ธรรมบำรุง 2527  :  97) ได้ให้ความหมายว่า  “ทฤษฎีหมายถึงข้อความหนึ่งข้อความใดที่กำหนดไว้อย่างมีเหตุผล เชื่อถือได้ และได้มีการถกเถียงกันมาก่อน ก่อนที่จะลงความเห็นว่าสมควรที่จะกำหนดเรียนว่า “ทฤษฎี”

หรือ ทฤษฎีในความหมายของ เฟรด เคสลินเกอร์(Fred N. Keslinger อ้างถึง  :  สันต์  ธรรมบำรุง, 2527  :  97) “ทฤษฎี คือ การผสมผสานของความคิดรวบยอดที่แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่มีระบบ และเกิดความจริงจนสามารถพิสูจน์ได้”


http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/925/812/large_Untitled.jpg

รูปที่  1 แสดงแนวการเกิดทฤษฎี

แนวการเกิดของทฤษฎีจากรูปที่ 1 เกิดขึ้นมาจากการคิดค้นเพื่อหาข้อเท็จจริงบางประการตามความต้องการของผู้คิดค้นที่ได้ตั้งสมมติฐานหรือข้อสันนิษฐานตามแนวเชื่อของตนเองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาจะต้องเป็นไปในทำนองเช่นนั้น จากนั้นก็ทดลองทำหรือดำเนินการตามสิ่งที่ตั้งข้อสันนิษฐานไว้แล้ว และเริ่มสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยละเอียดแล้วนำผลที่เกิดนั้นมาประมวลผสมผสานเข้ากับแนวความคิด และเมื่อกระทำซ้ำกันหลายหนจนเกิดความแน่นใจและได้ผลเช่นเดิมมุกครั้งจึงนำมาเขียนเป็นข้อกำหนดเป็นทฤษฎี

2.  ลักษณะของทฤษฎี

2.1  ทฤษฎีไม่ใช่เป็นเรื่องราวของคุณธรรม

2.2  ทฤษฎีไม่ใช่ปรัชญา

2.3  ทฤษฎีไม่ใช่ความฝัน

2.4  ทฤษฎีไม่ใช่กิจการกระทำของบุคคล

2.5  ทฤษฎีไม่ใช่การแบ่งแยกประเภท

3.  การกำหนดทฤษฎีหลักสูตร

3.1  รากฐานในการวางหลักสูตร

ในการกำหนดรากฐานในการวางหลักสูตร จะประกอบด้วยรากฐานที่สำคัญทั้งหมด

3 รากฐาน คือ

3.1.1  รากฐานทางด้านจิตวิทยา

3.1.1.1  ทฤษฎีที่เกี่ยวกับการพัฒนาของมนุษย์

มนุษย์มีการพัฒนาทางด้านกายภาพตามลำดับตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งถึงวัยชรา สำหรับแฮวิกเอิร์ส นักการศึกษาที่สำคัญคนหนึ่งที่ได้ศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ด้วยการยึดแนวคิดของอีริกสัน ได้แบ่งช่วงมนุษย์ออกเป็น 6 ช่วงอายุด้วยกัน คือ

(1)  วัยทารกและวัยเด็กเล็ก นับอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี

วัยเด็กเล็ก เริ่มจัดการศึกษาอย่างมีระบบตั้งแต่อายุ 3-6 ปี การพัฒนาของร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตใจ เป็นอย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้มีความสามารถในการจดจำสิ่งต่างๆได้ด้วยการกระทำซ้ำๆ ด้วยอารมณ์สนุกสนาน การจัดการศึกษาของเด็กในวัยนี้ไม่ใช่เพื่อการเสริมสร้างสติปัญญาและถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับเขาเหล่านั้น

(2)  วัยเด็กกลาง เริ่มตั้งแต่อายุ 6-12 ปี

วัยนี้เป็นวัยที่ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษา เด็กวัยนี้เริ่มมีความพร้อมในด้านร่างกาย แขน สายตา การจัดการศึกษาในเด็กวัยนี้ จะต้องมุ่งเน้นด้าน การพัฒนาด้านลักษณะนิสัย ทักษะในชีวิต ด้านการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ด้านเพศศึกษา การดำรงชีวิตชีวิตประจำวัน และพัฒนาด้านสรีรร่างกาย

(3)  วัยรุ่น อายุระหว่าง 12-18 ปี

  วัยเด็กตอนปลาย หรือวัยรุ่น วัยนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์อย่างที่สุด สำหรับการจัดการศึกษา ในฐานะที่เด็กเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองเข้าสู่งานอาชีพและการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองให้รู้จักเลือกอาชีพที่จำเป็นต้องศึกษาเล่าเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพของตนเอง

(4)  วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 18-30 ปี

(5)  วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง อายุระหว่าง 30-60 ปี

(6)  วัยผู้ใหญ่ตอนปลาย อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

3.1.1.2  ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา

(1)  ทฤษฎีการวางเงื่อนไข(Conditioning) หรือทฤษฎีพฤติกรรม(Behaviorism)

  ทฤษฎีการวางเงื่อนไขถึงแม้จะเป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นมานานแล้วพอสมควรคือ หลังคริสต์ศตวรรษที่ 20  ก็ตาม แต่ทฤษฎีนี้ก็มีนักการศึกษาและนักจิตวิทยายอมรับและนำมาใช้กับการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาหลักสูตรจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีการวางเงื่อนไขเป็นบ่อเกิดของทฤษฎีย่อยที่สำคัญคือ ทฤษฎีเชื่อมโยงและการตอบสนองของธอร์นไดค์

  สำหรับนักจิตวิทยาและนักการศึกษาที่วงการศึกษาของไทยนำมาใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือ สกินเนอร์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดทฤษฎีการวางเงื่อนไข ซึ่งมีหลักการปฏิบัติดังนี้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดจะต้องใช้เครื่องเสริมแรงเข้ามาช่วยเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมนั้น

(2)  ทฤษฎีสติปัญญา(Cognitive Theory)

ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญาที่ใช้กันมากในปัจจุบัน คือ

1)  ทฤษฎีเกสตอล์ท(Gestalt Theory) ถือว่าความสำคัญของส่วนรวมมากกว่าส่วนย่อย การจัดการศึกษาของทฤษฎีเกสตอล์ท จึงมีลักษณะการสอนจากส่วนรวมให้เห็นความสำคัญของวิชาต่างๆในลักษณะรวมแล้วจึงแยกรายละเอียดออกเป็นส่วนย่อยๆ

2)  ทฤษฎีสนาม(Lewin’s Field Theory) เป็นทฤษฎีที่คำนึงถึงตัวบุคคลกับสิ่งแวดล้อมทางจิตวิทยา ซึ่งทั้งสองจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกันและจะขยายตัวออกไปสู่วงจรของชีวิตที่กว้างขวาง

  ทฤษฎีสติปัญญาในยุคหลังๆ ได้มีนักจิตวิยารุ่นใหม่หลายคนที่ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังและกว้างขวาง เช่น เพียเจต และบรูนเนอร์ ทั้งสองคนนี้ได้กล่าวโดยสาระสำคัญ ดังนี้

  เพียเจต ได้กำหนดว่าสติปัญญาของมนุษย์อาจจะแบ่งได้เป็น 4 ขั้นด้วยกันแต่ละขั้นตอนจะกำหนดอายุโดยประมาณเท่าๆกัน แต่การพัฒนาสติปัญญาของแต่ละคนจะไม่เท่ากันอาจจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วหรือย่างช้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

  บรูนเนอร์ ได้แบ่งการพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ออกเป็น 3 แบบกล่าวคือ

-  การเรียนรู้ด้วยการกระทำบรูนเนอร์ได้พัฒนาทฤษฎีให้เป็นขั้นตอนยิ่งขึ้นด้วยการเน้นให้เห็นว่า การเรียนรู้ด้วยการกระทำนั้น เป็นขั้นที่การเรียนรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัสด้วยกันทั้งสิ้น การเรียนในขั้นนี้จึงเป็นการเรียนในขั้นเด็กเล็ก

-  การเรียนรู้ด้วยการมองดู คำว่า มองดูในที่นี้ไม่ใช่เป็นการมองดูด้วยตาตามความหมายของการมองดู แต่มีความหมายถึงการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสามารถจำแนกสิ่งต่างๆได้อย่างมีเหตุผล

-  การเรียนรู้ด้วยการใช้สื่อทางสัญลักษณ์

3.1.2  รากฐานทางปรัชญา

3.1.2.1  จิตนิยม(Idealism) เป็นปรัชญาที่ยึดถือเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ ถ้าหากมนุษย์ไม่มีจิตแล้วการรับรู้ต่างๆก็ไม่เกิด จิตจะเป็นประสาทสัมผัสที่สำคัญในการรับรู้เรื่องราวต่างๆและนำมาพิจารณาให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยการอาศัยจิตเป็นผู้พิจารณา จุดมุ่งหมายของการศึกษาในลัทธิจิตนิยมจึงเน้นการฝึกจิตจึงเน้นที่ตัวครู คือ เน้นคุณภาพและประสบการณ์ของครูในด้านหลักสูตร

3.1.2.2  สัจจนิยม(Realism) เป็นปรัชญาที่เน้นวัตถุธรรม มีความเชื่อว่าความจริงหรือความรู้เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ ดังนั้น การที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ก็จะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งแบ่งเป็น 2 พวก คือ เน้นด้านเหตุผล ซึ่งจะนำเอาตรรกวิทยามาเกี่ยวข้อง อีกพวกคือ ธรรมชาตินิยม พวกนี้เชื่อว่าสิ่งต่างๆย่อมมีจริงอยู่ในธรรมชาติ

3.1.2.3  ปฏิบัตินิยม(Pragmatism) เป็นปรัชญาที่มุ่งเน้นพิจารณาด้านการนำไปปฏิบัติ มีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ

1)  Experimentalism ถือเอาการทดลองแล้วนำไปปฏิบัติแล้วทำให้เกิดผลดีเป็นสำคัญ

2)  Instrumentalism ถือเอาการใช้เครื่องมือประกอบทำให้เกิดการกระทำที่แสดงออกมาเป็นสำคัญ

3)  Progressive ถือการเรียนรู้ต้องอาศัยประสบการณ์

3.1.2.4  ภววาทนิยม(Existentialism) หรือบางครั้ง เรียกว่า อัตถิภาวนิยม เป็นปรัชญาที่มีความเชื่อในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ที่ไม่แน่นอน  และเชื่อว่าความรู้เกี่ยวกับจริยศาสตร์ ควรเป็นเรื่องสมัครใจและความเป็นอิสระในการปฏิบัติและเชื่อถือ

3.1.3  รากฐานทางสังคม

  การจัดการศึกษาทุกระดับเป็นการจัดการศึกษาให้กับมนุษย์ในแต่ละวัย และแต่ละบุคคลที่ต้องการรับการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมมนุษย์ สังคมจึงมีส่วนสัมพันธ์และมีความหมายต่อการจัดการศึกษาเป็นอันมากในเมือการวางหลักสูตรเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อระบบการจัดการศึกษาของแต่ละหมู่พวก การจัดวางหลักสูตรจึงต้องตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม การศึกษาจึงจะมีผลกระทบต่อสังคมโดยตรงในหลายๆด้าน ในขณะเดียวกัน สังคมในทุกๆด้านก็มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ดังรูป

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/925/813/large_12.jpg

รูปที่  2 อิทธิพลของสังคมต่อการศึกษา

3.2  หลักการและวิธีการในการวางหลักสูตร

3.2.1  หลักในการเลือกเนื้อหาวิชา

3.2.2  หลักในการเลือกวิชา

  การเลือกวิชา หมายถึง การกำหนดเนื้อหาวิชา(Subject Matter) เป็นรายการหรือเนื้อความหรือรายละเอียดวิชาที่มีอยู่ในวิชา หลักในการเลือกวิชา มีดังนี้

3.2.2.1  หลักในการลำดับขั้นตอนของเนื้อหาวิชา

  แนวทางในการกำหนดหลักการและวิธีการในการเรียงลำดับขั้นตอนของเนื้อหาวิชาที่เหมาะสมมีดังนี้

1)  จัดตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการของผู้เรียน

2)  จัดตามความยากง่ายของเนื้อหาวิชา

3)  จัดตามการเปลี่ยนแปลงจุดประสงค์ของการศึกษา

3.2.2.2  หลักในการกำหนดเวลาเรียน

3.2.2.3  หลักในการวางหลักสูตร

อ้างอิง

ชูศรี  สุวรรณโชติ.(2554).หลักสูตรและการพัฒนาหลักสูตร.กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์อักษรไทย.

ทฤษฎีหลักสูตร(Curriculum Theories) [ค้นหาจากอินเทอร์เนต]

การวางแผนพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อและทฤษฎีต่าง ๆ ทางการศึกษาซึ่งมีนักการศึกษา ได้กำหนดไว้หลายแนว ดังนี้

1. หลักสูตรเป็นวิชาและเนื้อหาวิชา ผู้มองหลักสูตรในแนวนี้คือ ผู้ที่ยึดลัทธิสัจนิยม(Perennialism) และสาระนิยม (Essentialism) ตลอดจนผู้ที่ถือว่าการศึกษาคือการฝึกวินัยทางจิต (Mental Discipline) ซึ่งเห็นว่าหลักสูตรในโรงเรียนควรประกอบด้วยวิชาที่สำคัญที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณลักษณะแห่งความเป็นมนุษย์และเป็นการฝึกสมอง เช่น วิชาที่ยาก ๆ โดยเฉพาะการศึกษาโครงสร้างของวิชาต่าง ๆ ที่จัดเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เช่น โครงสร้างของวิชาคณิตศาสตร์เป็นตรรกศาสตร์ โดยเฉพาะการหาเหตุผลแบบอนุมาน ข้อสังเกตสำหรับการกำหนดหลักสูตรในแนวนี้ คือ ไม่ได้ให้ความสนใจและความสำคัญในผู้เรียน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร)

2. หลักสูตรเป็นประสบการณ์ ยึดลัทธิก้าวหน้านิยม (Progressivism) โดยเชื่อว่าวัฒนธรรมคือ สิ่งแวดล้อมของสังคม คนจะต้องยอมรับสภาพของสังคม และปรับสภาพสังคมให้ดีขึ้น จึงยึดหลักนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (child centered) โดยดูความสนใจของผู้เรียนเป็นหลักในการสอนและการจัดประสบการณ์ให้เขา หลักสูตรจึงหมายถึงประสบการณ์ทั้งมวลที่นักเรียนพึงจะได้รับภายใต้การนำของครู

3. หลักสูตรเป็นจุดประสงค์ ถือว่าการสอนเป็นหนทางอย่างหนึ่งที่จำนำไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนด

4. หลักสูตรเป็นแผนการ หลักสูตรคือแผนการที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดจากความตั้งใจและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเพ่งเล็งไปที่จุดมุ่งหมายของการศึกษา รวมถึงการจัดวางหลักสูตรการนำหลักสูตรไปใช้ในด้านการปฏิบัติ คือ การสอน และการประเมินผลหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับสภาพท้องถิ่น

5. หลักสูตรเป็นระบบการผลิต มองการให้การศึกษาเช่นเดียวกับระบบการผลิตสินค้า โดยคำนึงถึงทุนที่ได้ลงไปกับผลที่ตามออกมา จึงพยายามทำหลักสูตรให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด เช่น เขียนในรูปจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม มีการวิเคราะห์งาน วิเคราะห์กิจกรรมดังเช่น หลักสูตรระดับมัธยมศึกษา พ.ศ. 2521

นอกจากทฤษฎีที่กล่าวมาแล้วยังมีทฤษฎีที่สำคัญที่เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ประกอบด้วย
1.ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข 
2.ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 
3.ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด 
4.ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย

อ้างอิง

วชิราภรณ์  อำไพ.2556.ทฤษฎีหลักสูตร.เข้าถึงได้จาก : https://sites.google.com/site/wachirapornampai/thvsdi-hlaksutr. 1 กรกฎาคม 2556.

สรุปการศึกษาค้นคว้า เรื่อง ทฤษฎีหลักสูตร

  ทฤษฎีหลักสูตร จะช่วยให้การบริหารงานเกี่ยวกับหลักสูตรมีคุณค่า มีหลักเกณฑ์ มีหลักการ มีระบบมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร การใช้หลักสูตร การประเมินหลักสูตร การจัดบุคลากรเกี่ยวกับหลักสูตร และการทำให้องค์ประกอบของหลักสูตร ที่จะนำไปใช้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในหัวข้อต่อไปนี้

1.  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตร(Actors)

1.1  นักวางแผนหลักสูตร

1.2  ครู

1.3  ผู้เรียน

1.4  ผู้บริหาร

1.5  ผู้นิเทศการศึกษา

1.6  บุคคลที่สนใจทั่วไป

2.  หลักสูตร(Artifact)

2.1  เนื้อหา

2.2  วัสดุประกอบการสอน

2.3  เครื่องอำนวยความสะดวก

2.4  วิธีสอน

3.  การปฏิบัติ(Operation)

3.1  การนำหลักสูตรไปใช้

3.2  การประเมินหลักสูตร

สันต์  ธรรมบำรุง.(2527).หลักสูตรและการบริหารหลักสูตร.กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา.

  สรุปแล้วจากการที่ผมนายสมพงศ์ สินศาสตร์ได้สืบค้นทั้งในหนังสือและในอินเทอร์เนตเรื่อง ทฤษฎีหลักสูตร ซึ่งในตอนแรกก่อนที่จะอ่าน ผมเข้าใจว่า” ไม่รู้ทฤษฎีหลักสูตรมีเพื่ออะไร” หลังจากนั้นพอได้ศึกษาและอ่านหลายๆเล่ม จึงทำให้รู้ว่าทฤษฎีหลักสูตรมีความสำคัญกับบุคคลหลายฝ่าย เพราะถ้าคนเหล่านั้นรู้และเข้าใจในแต่ละทฤษฎี คงจะทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น ซึ่งมีความสำคัญจริงๆสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวกับการศึกษา


หมายเลขบันทึก: 541343เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะคุณสมพงศ์ ...อาจสรุปได้ว่า...จากการศึกษาค้นคว้ามาก็มีความชัดเจนในเรื่องของทฤษฎีหลักสูตรนะคะ ว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1.ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความสุข 
2.ทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 
3.ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด 
4.ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุนทรียภาพและลักษณะนิสัย

ครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรที่สอนจึงจะทำให้สามารถวิเคราะห์หลักสูตรได้ สามารถกำหนดความชัดเจนในเรื่องของเนื้อหาในแต่ละสาระวิชาฯ และจำนวนคาบได้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำกำหนดการสอน และแผนการจัดกิจกรรมฯ ต่างๆอย่างเป็นระบบ และการนำแผนฯไปสอนก็ต้องมีการประเมินเป็นระยะๆว่าการจัดกิจกรรมเป็นไปตามทฤษฎีหลักสูตรหรือไม่ สอนแล้วผลสัมฤทธิ์ของเด็กเป็นอย่างไร? พอสิ้นปีก็นำผลการประเมินต่างๆนั้นมาใช้วิเคราะห์หลักสูตร เพื่อนำไปปรับปรุง กำหนดการสอน และแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้ต่อไป....ทำเป็น cycle ทุกปีการศึกษา...

ศึกษาได้กว้างขวางดีค่ะ หวังว่าสิ่งที่เรียนรู้มานี้จะทำให้คุณสมพงษ์ตระหนักในความสำคัญของหลักสูตรและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง  อ้อ..เอกสารของ ผศ.ชูศรี นั้น ช่วยตรวจสอบปี พ.ศ.ที่พิมพ์ด้วยนะคะว่า 2554 หรือ 2544 กันแน่  เพราะท่านเป็นอาจารย์ที่สวนสุนันทาซึ่งเกษียณไปประมาณสิบปีแล้ว  ถ้าอยากคุยกับท่านตัวเป็นๆ จะติดต่อเชิญท่านมาพบในชั้นเรียนค่ะ

@ คุณ ดร. พจนา ขอบคุณมากครับ สำหรับข้อเสนอแนะ ผมจะได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไปครับผม


@ อาจารย์ ดร.รสสุคนธ์ พอดี ผมเห็นหนังสือ 2 เล่ม อีกเล่มหนึ่งอ่านแล้วงงๆ ผมเลยวางไปเลย ส่วนเอกสารของ อาจารย์ ชูศรี พออ่านแล้วรู้สึกว่า มันเข้าใจง่าย เพราะแบ่งหัวข้อชัดเจน เดี๋ยวผมจะตรวจสอบปีที่พิมพ์อีกครั้งนะครับ 

ปล.ขออนุญาตนำเทคนิคการพูด การสอนในรูปแบบของอาจารย์มาสอนเด็กนักเรียนนะครับ

นายนี่สุดยอด...เยี่ยมจริงๆ...คนแรกเลยนะนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท