ความรักที่แท้...สู่หัวใจแห่งกตัญญู


เช้าๆ อากาศเงียบ...ได้ยินแต่เสียงนกร้อง ข้าพเจ้าตั้งคำถามต่อตนเองว่า "ความกตัญญู" ที่เกิดขึ้นในใจคนนั้น จะมีกระบวนการเกิดขึ้นอย่างไร...ได้บ้าง? และถ้าหากเราจะส่งเสริมกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นขึ้นเราจะทำอย่างไร

ทำไมบางคนมีความกตัญญู...ทำไมบางคนไม่มี... หรือมีมากน้อยแตกต่างกัน

แล้วในขณะนั้นปิ๊งแว๊ปไปที่เรื่องศีล...ศีลเกี่ยวข้องอย่างไรกับความกตัญญู

ในชีวิตของการรักษาศีล ข้าพเจ้ามองเห็นความลึกซึ้งเกี่ยวเนื่องทำให้หัวใจของผู้คนนั้นอ่อนโยน และเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมได้ง่ายและละเอียด

ข้าพเจ้ามองว่าเรื่องของความกตัญญูนั้นเป็นเรื่องของความรักอันละเอียด เพราะเวลาที่เรารู้สึกถึงความซาบซึ้งกตัญญูนั้นหัวใจของเราโน้มเอียงไปทางด้านพลังบวก ... เราจะนึกถึงความดีความงามของคนที่เรารู้สึกกตัญญูด้วย ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่พ่อแม่ หรือผู้อาวุโส แต่หากหมายรวมทุกผู้ทุกนามที่นำความดีความงามมาแบ่งปันสู่เรา


ดั่งเช่น...ข้าพเจ้ามักนึกถึงแม่ออกคนหนึ่งที่มาวัดเป็นประจำ 

เวลาที่มาเจอกัน สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้ามักได้รับการปฏิบัติที่ดีเสมอจากแม่ออกท่านนี้ คือ ท่านมักหาน้ำพริกกับข้าวเหนียวมาให้ข้าพเจ้าทาน ไม่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย ทุกครั้งจะมีให้เสมอ เวลาที่ข้าพเจ้านึกถึงภาพเหตุการณ์นั้นคราใด หัวใจนี่ก็จะชุ่มชื่นหรืออ่อนโยน

หรือ...แม่ขาวตัวน้อยที่แบ่งขนมชิ้นเล็กๆ แต่ตั้งใจมาก...ไม่ได้ขึ้นกับปริมาณมากหรือน้อย แต่ใจที่ส่งที่มอบให้กัน ทำให้เป็นความทรงจำที่ดี และเมื่อนึกถึงทีไร ใจเราก็ปรารถนาที่อยากจะมอบสิ่งดีดีให้

ทำให้ข้าพเจ้าไปนึกถึงเรื่องความรัก...

หากเรามีความรักต่อใครเราก็อยากจะมอบสิ่งดีดีให้กับบุคคลนั้นๆ ... ปรารถนาที่จะทำหรือหยิบยื่นสิ่งดีดีให้ และเมื่อนึกถึงความรักที่เขามีให้เราหัวใจเราก็จะแจ่มชื่น หัวใจแช่มชื่นนี้จะนำไปสู่การกระทำที่ดีต่อกัน

เหมือนกับเรามีความรักต่อแม่เรา เรานึกถึงสิ่งดีดีที่แม่มอบให้เรา...เราก็ปรารถนาอยากจะตอบแทนแม่

ยิ่งได้รับความรักอันละเอียดบริสุทธิ์มากเท่าไร...หัวใจเราก็จะอ่อนโยน และนึกถึงคุณค่าความดีความงามในความรู้สึกนั้นๆ ซึ่งเป็นความเต็มอิ่มในหัวใจ


จากการใคร่ครวญพิจารณาเช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้านึกไปเชื่อมโยงกับศีลในข้อสาม ที่พูดถึงเรื่องของความรัก... การที่เรามีความรักที่แท้ จะนำมาซึ่งหัวใจแห่งกตัญญู

ดังนั้น ในทัศนะของการบ่มเพาะเรื่องความรักความกตัญญู ...ศีลข้อสามจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งและงดงามในการที่เราจะบ่มเพาะเด็กๆ...ให้เติบโตเจริญงอกงามในเรื่องดังกล่าว

ในขณะเดียวกัน...

สำหรับคนที่หัวใจแห้งผากจากความกตัญญู จิตใจไม่ได้นึกถึงในคุณค่าและความดีงามที่ผู้อื่นทำให้นั้น เราพึงน้อมหัวใจเรามอบความรักที่แท้เพื่อนำเขาไปสู่การสร้างความรักที่แท้อันละเอียดให้เกิดขึ้นในหัวใจของเขา บ่มเพาะเขาให้เขาได้ลิ้มรสและสร้างพลังแห่งความรักที่มีในใจ

และจากประเด็นนี้...ก็มักจะไปเชื่อมโยงกับศีลข้อแรกคือ ความเมตตาที่นำไปสู่การไม่เบียดเบียนและฆ่าสัตว์ นั่นคือ หัวใจที่ปราศจากความโกรธ... เมื่อโกรธน้อยลง ความรักความเมตตาก็จะมากขึ้น ที่สุดกระบวนการทางจิตใจก็จะเคลื่อนไปสู่การมีความรักที่แท้ ...เมื่อเกิดความรักที่แท้ หัวใจแห่งกตัญญูก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย

...

๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖





หมายเลขบันทึก: 540089เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 16:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวบเข้ามาอ่านแล้ว  ให้นึกถึงคำนี้คือ  กุศลเจตสิก  ครับ

ขอบพระคุณค่ะ อ.ยูมิ

อกุศลเจตสิก 14 1.โลภะ ความต้องการในสิ่งยั่วยุไม่รู้จักเต็ม 2.อิสสา ความริษยาในใจอยากได้เหมือนของผู้อื่น 3. มัจฉริยะ ตระหนี่หวงแหนยึดไว้แต่ผู้เดียวจนไม่เกิดคุณ 4. โทสะ ความหงุดหงิดโมโหร้ายพยาบาทหรืออาฆาต 5. อหิริกะ ความหน้าด้าน ไม่ละอายต่อการทำชั่ว 6. อโนตตัปปะ การกระทำความชั่วโดยไม่หวั่นกลัวต่อบาปกรรม 7. อุทธัจจะ ความคิดมากฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ 8. กุกกุจจะความกลุ้มใจ กังวลใจ กระวนกระวายใจ ร้อนใจ 9. ถีนะ ความหดหู่ เศร้าซึม ง่วงซึม จิตตก หมดกำลังทำงาน 10. มิทธะ ความท้อแท้ ถอดใจ หมดกำลังใจ 11. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในคำสอนที่จะปฏิบัติตาม 12. โมหะ ความโง่เขลา ความเข้าใจผิด เชื่อตามข้อมูลที่ผิดๆ 13. ทิฏฐิ ความเห็นที่ทำให้ตนหลงยึดติดอย่างเหนียวแน่น 14. มานะ ความหยิ่งทะนงตนจนไม่ยอมรับคำแนะนำจากใคร


กุศลเจตสิก 25 1. สัทธา มีความมั่นใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง 2. สติ มีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างไม่ประมาททั้งในเวลาจุติ 3. หิริ ละอายต่อการทำชั่ว ไม่หน้าด้าน 4. โอตัปปะ เกรงกลัวต่อบาปที่จะตามมาจากการกระทำของดัว 5. อโลภะ ความโลภลดลง ไม่ต้องการตามสิ่งยั่วยุ 6. อโทสะ ความโกรธลดลง ไม่หงุดหงิดโมโหร้าย 7. ตัตรมัชณัตตตา จิตนิ่งเฝ้าสังเกตอยู่กับสิ่งที่ทำโดยไม่วอกแวก 8. กายปัสสัทธิ ผิวพรรณผ่องใส มีราศีดี ร่างกายไม่เกร็งตัว 9. จิตตปัสสัทธิ จิตใจผ่องใส สุขภาพจิตดี สบายใจ 10. กายลหุตา ตัวเบา กายเบา ร่างกายผ่อนคลายทุกสัดส่วน 11. จิตตลหุตา สบายใจ มีจิตร่าเริงเบิกบาน ไม่เคร่งเครียดในใจ 12. กายมุทุตา ร่างกายอากัปกิริยานุ่มนวลอ่อนโยน ไม่แข็งกระด้าง 13. จิตตมุทุตา จิตใจดีนุ่มนวลมีอัธยาสัยดี มีเมตตาจิต 14. กายกัมมัญญตา ร่างกายเหมาะกับงานทุกอย่าง 15. จิตตกัมมัญญตา จิตใจเหมาะกับการใช้งานทางสมอง 16. กายปาคุญญตา ร่างกายทำงานได้คล่องแคล่วว่องไว 17. จิตตปาคุญญตา มีความคิดรวดเร็วลึกซึ้งละเอียดในทุกเรื่อง 18. กายุซุกตาคล่องแคล่ว มั่นคงอยู่กับการฝึกนั้นๆได้ 19. จิตตุซุกตา จิตมุ่งตรงไปกับสิ่งที่คิดอย่างมุ่งมั่น ไม่เสียสมาธิ 20. สัมมาวาจา การพูดมีความสุภาพนุ่มนวล ไม่ไร้สาระ 21.สัมมากัมมันตะ พฤติกรรมดี ไม่ก่อโทษให้ใครๆ 22. สัมมาอาชีวะ มีการประกอบอาชีพที่สุจริต ไม่ทุจริตฉ้อโกง 23. กรุณา มีความสงสารและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความลำบาก 24. มุฑิตา พลอยมีใจยินดีด้วยกับผู้อื่นที่ได้ดี ไม่ริษยา 25. ปัญญา ปัญญาที่รู้ความจริงของชีวิตได้อย่างถูกต้อง

เพื่อแบ่งปันก็เลยไป search เพิ่มเติมในคำที่อาจารย์ใช้ค่ะ

จาก  http://board.palungjit.com/f2/อกุศลเจตสิก-14-กุศลเจตสิก-25-a-119724.html

ผู้มีความกตัญญูย่อมนำมาซึ่งความเจริญค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท