เห็ดพิษ..คิดก่อนกิน ...เห็ดเยื่อไผ่ (สีเหลือง)...ใครรู้่จักบ้าง??


เห็ดพิษ...คิดก่อนกิน!!! ..เห็ดเยื่อไผ่ (สีเหลือง)..ที่ปักษ์ใต้




เห็ดร่างแห  เห็ดเยื่อไผ่  เห็ดไผ่...เป็นเห็ดที่ชวนมอง มากกว่าชวนกิน !!  ธรรมชาติช่างรังสรรค์ให้ชื่นชม ...

 สังเกตว่าลักษณะเด่นของเห็ดชนิดนี้คือ การมีร่างแหสวยงามเป็นองค์ประกอบ นอกจากจะมีส่วนที่เป็นดอกเห็ดและก้าน  เนื่องจากพบได้ในหลากหลายที่ในทวีปต่างๆ ..  จึงเรียกขานกันหลายชื่อ รวมถึง Bamboo mushroom , Dancing mushroom , Veiled lady mushroom หรือ Netted stinkhorn mushroom,  Dictyophora indusiata (Pers.) .....  ดูจากชื่อก็อาจจะเดาได้ว่า ... เห็ดชนิดนี้มีลักษณะเป็นอย่างไร??    


เห็ดเยื่อไผ่ /เห็ดร่างแห  มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยว  หมวกเห็ดสีคล้ำและก้านมีสีขาวดูคล้ายฟองน้ำ  มีร่างแห คล้ายตาข่ายมีรูพรุนในเส้นตาข่าย ทำให้ตาข่ายดูโปร่งบาง  สีของร่างแห มีทั้งสีขาว และสีเหลืองอมส้ม

ร่างแหคลุมจากด้านล่างของหมวกเห็ดลักษณะคล้ายสุ่ม  ล้อมรอบก้านดอกเห็ด  ทำให้เมื่อยามลมพัดก็จะปลิวไหวล้อลม  ดูอ่อนช้อยคล้ายกับกระโปรง ร่ายรำไหวไปมา  หรือการมีร่างแห ดูแล้วคล้ายกับผ้าคลุมบางๆปิดหน้าของหญิงสาวในพิธีแต่งงาน (ตามแบบพิธีทางซีกโลกตะวันตก)  บางครั้งกลิ่น..ก็เป็นที่มาของชื่อ   เห็ดเยื่อไผ่ที่เห็นในภาพ  มีกลิ่นไม่น่ารื่นรมย์   ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล่อให้แมลงเข้าใกล้  โดยเฉพาะน้ำเหนียวๆที่่หมวกเห็ดและร่างแห   ทำให้สปอร์ของเห็ดจะติดไปกับแมลงที่ตามกลิ่นเข้ามาทักทาย  ย้ายที่ไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างแห  ( เห็ดเยื่อไผ่ ..ในภาพ นับแมลงได้ไม่น้อยกว่า  20 ตัว  พบทั้งในส่วนหมวกเห็ด และร่างแห ...สีแดงของตาแมลงวันดูจะตัดกันกับสีเหลืองของตาข่าย.. เห็นได้ชัดเจน )


b

ส่วนหมวกเห็ด พบแมลงตาแดง เกาะในแอ่งที่มีสารเหนียวๆ สปอร์ของเห็ดจึงติตตัวแมลงไป



การเจริญเติบโตของเห็ดร่างแหในธรรมชาติ   พบได้ในระบบนิเวศที่กระจายตามภูมิภาคต่งๆของโลก ทั้งเอเชีย อเมริกา อาฟริกา และมีการบันทึกไว้  เป็นภาพเคลื่อนไหว ทำให้สังเกต การเจริญพัฒนาของเห็ดชนิดนี้ได้อย่างน่่าทึ่ง ...น่าสนใจยิ่ง ....ลองคลิ๊กดูคลิ๊บ แล้วจะเห็นว่า ....เห็ดเยื่อไผ่เจริญพัฒนาในแต่ละส่วนอย่างไร 


 


เห็ดร่างแห/เห็ดเยื่อไผ่ (สีเหลือง) ทั้งหมดในบันทึกนี้  เป็นตัวอย่างชนิดที่พบได้ในภาคใต้   เป็นชนิดที่นำมารับประทานไม่ได้  เป็นเห็ดพิษ    การเจริญเป็นดอกเห็ดได้ในธรรมชาติ  พบได้เฉพาะช่วงเวลาหนึ่งๆในรอบปี  เมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม  

สังเกตได้ว่าหลังสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ติดต่อกันระยะหนึ่ง  จากนั้นตามด้วยมีฝนตก  สปอร์ของเห็ดที่บ่มเพาะ สร้างเส้นใยไมซีเลียมจากพื้นด้านล่าง ในตำแหน่งที่มีซากใบไม้ทับถม รวมถึงมีสภาพความชื้นสัมพัทธ์ เหมาะสม และแหล่งอาหารที่เกื้อกูลต่อการเจริญ  ส่วนใหญ่พบได้บริเวณที่มีซากใบไผ่  ตัวอย่างที่เก็บได้  พบบริเวณรอบโคนต้นไผ่ที่ทับถมด้วยใบไผ่ที่ผุสลาย  และเป็นดอกเห็ดที่ออกดอกช่วงเดือน ธันวาคม  ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว  เริ่มต้นฤดูฝนของภาคใต้ตอนล่าง..หากพบหนึ่งดอกก็จงมองหาดอกอื่นๆในบริเวณใกล้ๆกัน  


เห็ดร่างแห /เยื่อไผ่... พบได้ในทุกภาคของไทย  มีรายงานว่าพบได้หลายชนิด คือมีชนิดที่ร่างแหสีขาว  สีเหลือง หรือ สีแดง และ เฉพาะที่มีร่างแหสีขาว ยังมีชนิดที่มีความสั้น ยาวของร่างแหต่างกัน   มีทั้งชนิดที่นำไปปรุงเป็นอาหารได้  แต่ในขณะที่บางชนิดเป็นพิษ  

ส่วนชนิดที่นิยมนำมาปรุงอาหารได้แก่  เห็ดเยื่อไผ่ชนิดที่มีร่างแห สีขาว ทั้งชนิดความยาวของร่างแหสั้นและร่างแหยาว..


                                     

เห็ดร่างแหสีขาว... ดังภาพ..พบได้ในภาคใต้ และสังเกตพบเห็ดชนิดนี้บริเวณที่มีกอไฝ่ ในช่วงพค. สวยงามไ่ม่น้อยเลย...


คุณค่าทางอาหารของเห็ดเยือไผ่ชนิดสีขาว    มีโปรตีน 15-18 % และมีกรดอะมิโนถึง 16 ชนิด ที่เป็นชนิดที่ร่างกายสร้างไม่ได้ 7 ชนิด และมีวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง  และเป็นที่นิยมบริโภค  (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2190/


เป็นเพราะสรรพคุณมากหลาย  ปัจจุบันนี้มีเห็ดชนิดนี้ถูกเพาะขาย  โดยเฉพาะมีชื่อเสียงมากในประเทศจีน ทำให้ไม่ต้องรอเก็บจากธรรมชาติเท่านั้น   ซึ่งในระยะแรกๆราคาต่อกิโลกรัมแพงมาก  แต่ปัจจุบันนี้ก็หาซื้อได้ไม่ยากนัก    ส่วนประโยชน์ต่อสุขภาพ ...จากรายงานการวิจัยพบว่าสารเคมีในเห็ดร่างแหที่กินได้  ช่วยลดไขมันชนิดไม่ดี,  LDL (low density lipoprotein) ในเลือด  และเพิ่ม HDL (high density lipoprotein)  รวมทั้งมีผลดีต่อระบบภุมิคุ้มกันในร่างกาย http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3136395/?tool=pubmed


ประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้ลิ้มลองรู้จัก ...เห็ดเยื่อไผ่ ..

 เมื่อครั้งนานมาแล้ว  ได้แวะทานข้าวและสั่งเมนูอาหารจีนมีชื่อที่เขียนไว้ว่า   “ซุปเยื่อไผ่”  ... เมื่ออาหารจานนี้ถูกนำมาเสิร์ฟ ..เห็นครั้งแรก  ก็เป็นที่สงสัยว่า....เยื่อไผ่..???   ไม่ใช่คือสิ่งที่เห็น...ถามไถ่ก็ไม่มีข้อสรุป .หลังจากแสดงความคิดเห็นกัน  ถึงลักษณะ .." เยื่อไผ่"...จนในที่สุดกลับมาค้นคว้า  จึงทราบว่า  ถ้าเรียกให้ถูก ก็คือ  “ซุปเห็ดเยื่อไผ่”..  

ต่อมาเมื่อมีโอกาสซื้อเห็ดร่างแหมาปรุงเอง ก็จะเห็นว่า ส่วนร่างแหของเห็ดจะเป็นลักษณะเห็ดแห้ง  แตกหักง่าย และถูกบรรจุในบรรจุภัณฑ์พลาสติก   เมื่อนำออกมาแช่น้ำ  ก็จะอุ้มน้ำ  ก่อนใช้บีบน้ำออก ก็พร้อมใช้ปรุงอาหารได้ ...นุ่มน่ารับประทาน..

......โปรดสังเกต ...เฉพาะเห็ดเยื่อไผ่สีขาว เท่านั้นที่นำมาบริโภคได้.... 



ความเข้าใจที่ว่าเห็ดพิษ คือเห็ดที่มีสีสันสดใส อาจจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน  เพราะบางชนิดที่สีสันธรรมดา คล้ายเห็ดทั่วไป ก็เป็นเห็ดพิษที่เป็นอันตรายหากนำมาบริโภค  แต่เป็นข้อสังเกตว่า เห็ดพิษมักมีสีสันแปลกตา   

อย่างไรก็ตาม สารที่ออกฤทธิ์ในเห็ดพิษเหล่านี้ อาจจะมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ หากนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม (ความสัมพันธ์ของปริมาณสารและการตอบสนอง..Dose response relationship)   คำว่า "เห็ดพิษ"  ส่วนใหญ่เน้นว่าเป็นพิษเมื่อนำมาบริโภค  แต่สารเคมีในเห็ด หากนำมาศึกษาเพิ่มเติม ความเป็นพิษจากสารเหล่านั้น อาจจะมีคุณประโยชน์  โดยเฉพาะมีรายงานการวิจัยเกี่ียวกับสารสกัดของเห็ดร่างแห เมื่อนำไปทดสอบ  พบว่ามีคุณสมบัติทำให้ก้อนเนื้องอก ลดขนาดลง จึงเป็นโอกาสในการศึกษาวิจัย ต่อยอดต่อไป.  โดยเฉพาะการนำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อการรักษาโรค  หรือเยียวยาความผิดปกติของร่างกาย ....โปรดสังเกต..เห็ดเยื่อไผ่ีสีเหลือง  กินแ้ล้วเมา มีพิษ  ..


สารพิษที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อผู้บริโภค  ขึ้นกับว่าชนิดของสารพิษในเห็ดแต่ละชนิดจะออกฤทธิ์อย่างไร  ในระยะนี้ ได้ยินข่าวการรับประทานเห็ดพิษ  จนเป็นสาเหตุของการได้รับอันตราย มีอาการหลากหลายเนื่องมาจากสารพิษในเห็ด เหล่านั้น  ส่วนใหญ่เป็นเห็ดป่าที่เจริญได้ดี เมื่อย่างเข้าฤดูฝน  ซึ่งขณะนี้เริ่มต้นแล้วในภาคเหนือ อีสาน เห็ดป่า เจริญงอกงาม  อดใจไม่ไหว ที่จะเก็บมารับประทานหรือ  ซื้อขายในห้องตลาด  และเนื่องจากเป็นเห็ดป่าผู้บริโภคจึงต้องรู้จักเห็ดเหล่านั้นดีพอ  เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสม มารุ่นต่อรุ่น ใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน จึงควรระมัดระวังที่จะไม่เก็บเห็ดผิดชนิด ซึ่งในธรรมชาติมีลักษณะที่คล้ายกันมาก  ส่วนการรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นมีรายงานกล่าวได้มากมาย   ในช่วงฤดูฝนเริ่มต้น  แพทย์เตือน! หน้าฝนเห็ดชุกก่อนรับประทานต้องระวัง หากกินเห็ดพิษเข้าไปอันตรายถึงชีวิต

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/1367)



๑๔ มิย. ๒๕๕๖

วรรณชไม การถนัด

หมายเลขบันทึก: 539354เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เคยเห็นจ้ะ  กลิ่นเหม็นเขียวมาก ๆ  เพิ่งทราบว่ามีประโยชน์ ขอบคุณที่นำความรู้มาให้ได้ทราบจ้ะ

สวัสดีครับ อาจารย์

เป็นความรู้ใหม่ ที่น่าสนใจมากเลยนะครับ

ผมจะลองสังเกตดูที่สวนครับว่ามีมั้ย 

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณความรู้ที่เขียนให้อ่านได้รับรู้ค่ะ

เยื่อไผ่สีขาวที่ขายตามกิมหยงไม่กล้ากินเช่นกัน

รู้สึกแปลกๆ ...

ภาพนี้ในบันทึก สีสวยงาม ลวดลายดั่งงานศิลปะเชียวค่ะ 

ความเห็นจากชาวถ้ำค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณมะเดื่อ

ขอบคุณที่่แวะมาเยือนค่ะ  ..แถวบ้านคุณมะเดื่อไม่ทราบว่า มีรางแหสีอะไรนะค่ะ  ขาว??  เหลืองส้ม??

อืมม์...กลิ่นที่ไม่น่าอภิรมย์ของเห็ดชนิดนี้.. เป็นลักษะเด่นประจำของเห็ดร่างแห/เห็ดเยื่อไผ่ค่ะ  โดยเฉพาะน้ำเหนียวๆทีร่างแหและที่หมวกเห็ด ถ้าไปถูก จับ ละก็...กลิ่นติดมือละค่ะ  

หากแต่กลิ่นนี้...ได้ประโยชน์สองต่อสำหรับเห็ดนี้ค่ะ ..  ในเบื้องต้นก็ป้องกันตนเองจากการถูกทำลายของสัตว์อื่น...และ การล่อแมลงให้เข้ามาเยี่ยม เพื่อให้สปอร์ติดไปกับตัว  เมื่อไปตกที่ไหน สภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะเจริญได้เป็นดอกเห็ดรุ่นใหม่ค่ะ ...เป็นความสัมพันธ์ในเชิงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทั้งสองชนิด (เห็ด-แมลง) เลยเชียวค่ะ.. ในกลไกการส่งกลิ่นล่อแมลงของเห็ด.. ..มีเรื่องราวน่าสนใจมากค่ะ  :-))..

สวัสดีค่ะคุณแสงฯ

..หากดูจากสภาพอากาศและภูมิประเทศ สภาพสิ่งแวดล้อม แถวบ้านคุณแสงฯ ที่สุราษฏร์ก็น่าจะมีนะค่ะ  โดยเฉพาะในสวน หากคุณแสงฯจะมองหา  ก็ลองดูแถวๆกอไผ่ค่ะ  เห็ดร่างแหมีรูปลักษณ์ที่น่ามองค่ะ  หากน้องๆทั้งสองคนอยู่ใกล้ๆคุณพ่อแสงฯ ก็จะได้ชี้ชวนกันดูด้วยค่ะ .มีทั้งร่างแหสีขาวและสีเหลืองส้มหล่ะค่ะ เท่าที่เคยเจอนะค่ะ..แถวบ้านที่ชุมพร...

 ศิลปจากธรรมชาติที่รังสรรค์สำหรับเห็ดชนิดนี้ .. คือความประทับใจในเบื้องต้น  น่ารักจนลืมคิดที่จะเก็บไปกิน  แต่ที่สำคัญไปว่า..  ก็คือปัจจุบันนี้ด้วยศาสตร์ต่างๆพัฒนาไปมาก จึงคิดค้นหาสารเคมีต่างๆจากธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่นการแพทย์ การเกษตร การถนอมอาหาร  ฯลฯ   บ้านเรามีความร่ำรวยทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพมาก  ในเขตร้อนชื้น...ก็ควรรักษาดูแลกันไว้ค่ะ ...รองานวิจัยที่ศึกษาค้นคว้า..และเสริมคุณค่าให้มากขึ้นค่ะ....ขอบคุณที่แวะมาคุยด้วยค่ะ..:-))

สวัสดีค่ะน้องหนูรี

คนริมเล....คิดถึงคนถ้ำทะลุน๊า....พี่คิดว่าแถวบ้านน้องหนูรีก็น่าจะมีนะค่ะเห็ดชนิดนี้   แถวๆกอไผ่ ลองมองหานะค่ะ  เป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติ   ช่างชวนมอง สวยงาม ขณะเดียวกัน มีกลิ่นที่ไม่ชวนเข้าใกล้   เอ..แต่ก็มีคนเข้าใกล้นะค่ะ  อย่างน้อยก็มีพี่หนึ่่งคนล่ะ ที่เข้าไปมองใกล้ๆ   สังเกตด้วยความชื่นชม .. ได้เห็นปีละครั้งในช่วงนี้ก็เรียกได้ว่า... เป็นช่วงพิเศษแห่งการทักทาย จากเห็ดร่างแห  ไม่คิดจะกินนะค่ะ   

เห็ดเยื่อไผ่  นำไปประกอบอาหารเป็นเมนูน่าสนใจหลากหลาย  ขึ้นเหลานะค่ะน้องหนูรี    พี่ได้ลองซื้อมาทำอาหารก็อร่อยดีค่ะ    แช่น้ำนานหน่อยค่ะ  แต่ไม่ได้ซื้อที่กิมหยงนะค่ะ   แห่ะๆๆ ...ชอบกินเห็ดทุกชนิดก็เลยลองดู....แต่เห็ดร่างแหจากธรรมชาติยังไม่เคยคิดจะลองค่ะ  

..ขอบคุณที่แวะมาทักทายคนริมเลนะค่ะ...ช่วงที่นั่งตอบความเห็น  ฝนตกหนักเลย..แถวถ้ำก็คงตกเช่นกันแน่ๆเลยใช่ไหม๊เอ่ย    พี่ดูพยากรณ์อากาศทุกวัน  วันนี้ก็มีสํญญานว่าอย่างนั้น. ไม่ผิดคาด..ไปละค่ะ  ค่อยคุยกันใหม่นะค่ะ ว่าด้วยเรื่องอะไรดี ต่อไปที่จะเขียนบันทึก :-))

สีสวยมากเลยครับ สีเหลือง จัด  

ตอนช่วงนี้ชาวบ้านกินเห็ดพิษค่อนข้างมาก ถ้ามีข้อมูลให้ชาวบ้านก็จะดีมากเลยครับ

ชาวบ้านที่มีความรู้สะสมจะไม่ค่อยเก็บเห็ดที่ไม่รู้จัก

แต่เยื่อไผ่ที่พี่บอกอร่อยมากๆ

สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

.ค่ะ..น้องแอ๊ด .... สีสวยแต่พิษร้ายถ้ากิน   ใช้ความสวยให้มีประโยชน์บ้างค่ะ :-)) ..พี่เสนอในประเด็นเพิ่มเติมสำหรับบันทึกนี้ว่า  ประโยชน์ของเห็ดพิษก็มี หากเรานำสารเคมีที่่่ก่อเกิดอันตรายหากบริโภคมาใช้ประโยชน์ในเชิงการป้องกัน/รักษาโรคได้  โดยการใช้ปริมาณสารน้อยๆ และรับเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีการอื่นๆไม่ใช่กิน เช่นฉีดฯลฯ   ...เพราะมีรายงานการวิจัยนำเสนอไว้ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเห็ดร่างแห/เยื่อไผ่  ในการทดสอบระดับห้องปฏิบัติการ ...  ซึ่งก็สอดคล้องกันกันที่มีผู้กล่าวไว้ว่า สรรพสิ่งหากมองให้รอบด้านก็จะเห็นมิติ ทั้งคุณและโทษ ค่ะ

 อีกอย่างหนึ่งค่ะเพราะเห็นว่า ข่่าวคราวชาวบ้านได้รับอันตรายจากเห็ดพิษ ฟังแล้วน่าเป็นห่วง  จึงควรร่วมมือกันเตือน และให้ความรู้    เพราะการกินเห็ดพิษ ที่พบได้ในธรรมชาติ หลากหลายชนิด ในช่วงต้นฤดูฝน อาจจะเก็บ เห็ดพิษที่เป็นอันตรายต่อคนเราค่ะ  

 ได้ใช้โอกาสนี้   ยกตัวอย่างเห็ดเยื่อไผ่/เห็ดร่างแห  สีเหลือง ซึ่งพบได้ในหลายพื้นที่ของภาคใต้  แต่ไม่ทราบว่าที่อื่นมีการกระจายของเห็ดชนิดนี้หรือไม่่??   เลยใช้เห็ดเยื่อไผ่สีเหลืองเป็นเชิงสัญญลักษณ์ที่ได้ช่วยกันเตือนการเลือกกินเห็ดค่ะ ..ทั้งๆที่เห็ดเยื่อไผ่สีขาวนั้นกินได้ แต่ส่วนใหญ่ที่ีมีวางขาย แบบแห้ง ก็จะเป็นการเพาะเห็ดให้งอกด้วยสภาพเหมาะสม มักไม่เก็บจากธรรมชาติ  

อย่างที่น้องแอ๊ดกล่าวไว้ ชาวบ้านมีความรู้สะสม ก็จะไม่ค่อยเก็บเห็ดที่ไม่รู้จัก แต่ปัญหาที่มักเิกิดขึ้นก็คือ  ..เห็ดพิษกับเห็ดที่กินได้ในธรรมชาติบางครั้งคล้ายกันมาก   แยกกันยากหากไม่สังเกตให้ดี  เช่นเห็ดระโงกประเภทต่างๆ ทางอีสาน  ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีข้อมูลออกมาให้เห็นถึงความเป็นอันตราย  เพราะคล้ายกันมากๆๆเลย ในความเป็นเห็ด

...แห่ะๆๆ ...น้องแอ๊ด  หนุ่มชอบเพาะเห็ด  .. พี่ทราบจากบันทึกที่น้องแอ๊ดเขียนไว้ ว่าไปอาสาสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดไว้หลายโรงเรือน ที่โรงเรียนต่างๆ..  บอกไดว้ว่าปลอดภัยค่ะ เชื้อจากการเพาะหัวเชื้อ...ขอบคุณที่แวะมาเี่ยี่ยม บันทึกเห็ดพิษค่ะ :-))

เป็นความรู้ใหม่ สำหรับผม ขอขอบพระคุณ ที่นำมาแบ่งปันครับ

สวัสดีค่ะ อิงอยู่ที่ จ.พังงาค่ะ เจอเห็ดร่างแห สีขาวบ่อยมาก เพราะอิงอยู่ในสวนยางค่ะ แถวร่องยางก็จะเป็น ต้นไผ่ ทุกร่องเลยค่ะ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ากินได้ เพิ่งรู้วันนี้เองค่ะ แต่..อยากรู้ว่า ร่างแหสีขาวนี่ มันกินได้ทุกสายพันธุ์หรือเปล่าคะ คืออยากลองเก็บมากินดูน่ะค่ะ??

ที่ข้างบ้านมีค่ะ สีขาว ข้างบนออกสีคล้ำๆเขียวๆ อธิบายไม่ถูก แต่ร่างแหเปนสีขาว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท