ยึดมั่นถือมั่นการสอน



          เช้าวันที่ ๒๔ มี.ค. ๕๖ ผมนั่งฟังการอภิปราย “แนวทางปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตให้สอดคล้องกับการศึกษาแพทย์ในศตวรรษที่ ๒๑”  ในการสัมมนาคณะกรรมการประจำคณะ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ซึ่งไปจัดที่จังหวัดตรัง  ฟังแล้วผมบอกตัวเองว่า การเปลี่ยนกระบวนทัศน์อาจารย์ จากการสอนไปสู่การเรียน นั้น ยากจริงหนอ

          บ่ายวันที่ ๒๓ ผมบรรยายให้ที่ประชุมฟัง เรื่องทิศทางการศึกษาแพทยศาสตร์ในอนาคต ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง  ตามด้วยการตอบข้อซักถามอีกครึ่งชั่วโมง  และสรุปประเด็นสำคัญคือ ครูต้องเลิกเชื่อว่าถ้าไม่สอนเนื้อสาระวิชา นศ. จะไม่รู้  ต้องออกแบบการเรียนรู้ ให้ นศ. เรียนจากการปฏิบัติและคิดเอง

          เช้าวันที่ ๒๔ อ. หมอจิตเกษม ก็สรุปประเด็นสำคัญของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ซ้ำอีก  แต่ก็มีการอภิปรายรายละเอียดไปที่การจัดการสอน  เมื่อประเมินว่า นศ. อ่อนด้านใด วงประชุมก็อภิปรายหาทางจัดชั่วโมงสอน  ผมฟังแล้วรำพึงอยู่ตลอดเวลา ว่าปลดเปลื้องการยึดมั่นถือมั่นการสอนนั้น ทำได้ยากจริงหนอ

          ทำให้ผมเกิดความคิดว่า  การปฏิรูปหลักสูตร ต้องทำโดยทีมคนที่ “converted” จำนวนน้อย  เช่น ๑๐ คน ยกร่างกรอบของหลักสูตร และการจัดกระบวนการเรียนรู้  เอาเข้ารับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำคณะ  แล้วจัด workshop ให้อาจารย์เข้าใจบทบาทใหม่ของตน  และจัดระบบเกื้อหนุนกระบวนการเปลี่ยนแปลง

          ไม่ใช่ให้คนที่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ เป็นผู้คิดหลักสูตรใหม่ 

          ตามด้วยการวิจัยวัดผล และวัดเปรียบเทียบการลงแรง ลงทุน  ระหว่างการเรียนแบบเดิม กับการเรียนแบบใหม่  ดูว่า มองในแง่ cost-benefit  และ cost-effectiveness แบบไหนดีกว่ากัน 

          การปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้  ให้เป็น 21st Century Learning ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของง่าย  ต้องการการจัดการการเปลี่ยนแปลง (change management) อย่างมียุทธศาสตร์  และมีการจัดการอย่างชาญฉลาด



วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๖

อาคารที่พัก ประสานใจ ๑  ห้อง บี ๒๐๑  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  หาดใหญ่



หมายเลขบันทึก: 536616เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยค่ะอาจารย์ "การปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้  ให้เป็น 21st Century Learning ในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ของง่าย  ต้องการการจัดการการเปลี่ยนแปลง (change management) อย่างมียุทธศาสตร์  และมีการจัดการอย่างชาญฉลาด"

ไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัย แต่เป็นทุกหน่วยงาน ครับ 

ใช่ค่ะ การปฏิรูปต้องเริ่มจากการเปิดใจก่อน เห็นด้วยค่ะ

คำสอนของอาจารย์เรียบง่ายและลึกซึ้งมากครับ ถ้าผมมีโอกาสบอกต่อให้เพื่อน ๆ ก็กลัวเสียจริงครับ ว่าเพื่อน ๆ จะจับประเด็นเหลือแค่ "ไม่ต้องสอนก็รู้ได้" อย่างที่อาจารย์ชี้เตือนใน narrated ppt

หากผมจะขออนุญาตแปรความสิ่งที่ต้องปฏิบัติ เพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ในเบื้องต้นว่า
๑. สร้างโอกาสให้ตั้งคำถาม ทดลองหาคำตอบ และลงมือใช้แก้ปัญหาโดยประจักษ์ 
             จะต้องวางตัวเป็นกัลยาณมิตร เพื่อสร้างความเชื่อใจจากผู้เรียนให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้
๒. เสริมสร้างทักษะการปฏิบัติที่ไม่สามารถพูดสอนได้
๓. จะสอน โดยไม่ให้เพียงแค่ความรู้เพื่อการเชื่อหรือจดจำ
๔. ชี้ให้เห็นว่าความจริงที่ย่อมเปลี่ยนแปลงตามเวลา
              เหมือนบทเรียนที่ต้องปรับปรุงตามสมัย จึงต้องพัฒนาความรู้อยู่เสมอ
๕. ชี้ให้เห็นว่าคำตอบย่อมไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว
              เหมือนแนวทางหรือมาตรฐานที่ต่างกันไปตามประเทศ จึงต้องเข้าใจในความแตกต่าง

ทั้ง ๕ ข้อนี้ จะผิดเพี้ยนไปจากแก่นแท้ที่อาจารย์ได้แสดงไว้หรือไม่ครับผม

ด้วยความเคารพอย่างสูง

เราสอนแบบนี้กันมานานเกินไป  อะไรที่จะทำให้เหนื่อยไม่เอาดีกว่า


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท