หลวงคงคณานุการ (แฉล้ม สมิตะมาน)อดีตนายอำเภอราษีไศล ภาค ๑


หลวงคงคณานุการ (แฉล้ม สมิตะมาน)  อดีตนายอำเภอราษีไศล (๒๔๖๑-๒๔๖๓ ,๒๔๖๖-๒๔๗๕)

ชาติภูมิ 

นามเดิม นายแฉล้ม  นามสกุล  สมิตะมาน  เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๓๘ ตรงกับ วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ จ.ศ.๑๒๕๗

เกิดที่ตำบลบ้านปูน (ย่านวัดคฤหบดั) อำเภอบางกอกน้อย  จังหวัดธนบุรี

 บิดาชื่อ นายเจิม มารดาชื่อ นางแสง

ชีวิตครอบครัว

   สมรสกับ นางรำพัน ซึ่งเป็นหลานของหลวงวรพันธ์ ธำมะรงเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔ มีบุตร ธิดา รวม ๘ คน คือ

  ๑ เด็กหญิงคงคา  สมิตะมาน   (ถึงแก่กรรมเมื่อยังเยาว์)   ๒ นายเฉลย  สมิตะมาน 

  ๓ นางวรรณฉวี    สมิตะมาน                     ๔ นางสาวนิจ  สมิตะมาน 

  ๕ นางสาวชลิตา  สมิตะมาน                     ๖ นายฉลอง  สมิตะมาน

  ๗ นายเฉลิม  สมิตะมาน                            ๘ นางสาวพูลสุข  สมิตะมาน 

บุตรบุญธรรม

       ได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาวอำเภอราษีไศลและอำเภอใกล้เคียงให้มีการศึกษาจนได้ประกอบอาชีพการงานคือ

       ๑ นายเชิด หงส์โสภา เดิมชื่อ พรหมา  เชิดชู นำมาจากอำเภอลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) ได้รับการชุบเลี้ยงจนได้รับราชการเป็นครู ลาออกรับบำเหน็จ แก่ตัวแล้วอุปสมบทอยู่ที่วัดป่าสาละวัน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครราชสีมา

      ๒.นายสา จันดา ได้รับการชุบเลี้ยงจนเข้ารับราชการเป็นครู ลาออกรับบำเหน็จเมื่อแก่ตัวแล้วอุปสมบทอยู่ที่วัดบ้านส้มป่อย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ

      ๓ นายภูมิ ธรรมโคตร ได้รับการชุบเลี้ยง จนเข้ารับราชการเป็นครู อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองหมี อำเภอราษีไศล ลาออกรับบำเหน็จพักอาศัยอยู่ที่บ้านหนองหมี

การศึกษา

    เริ่มเข้าเรียนหนังสือไทยและเรียนเลขที่วัดคฤหบดี กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ มีพระสุทธี เป็นผู้สอน

    พ.ศ.๒๔๔๗ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ในโรงเรียนคฤหบดี สอบไล่ได้ประโยคประถมเมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๕๐ โดยมีราชบุรุษน้อม เป็นอาจารย์และผู้สอน

    พ.ศ. ๒๔๕๑ เข้าเรียนชั้นปีที่ ๑ มัธยมวิทยา ในโรงเรียนสวนกุหลาบ (เวลานั้นตั้งอยู่ในกรมพระราชวังบวรฯ) และปีนั้นเองกระทรวงธรรมการได้ให้โรงเรียนสวนกุหลาบ ไปรวมเข้ากับโรงเรียนราชบูรณะ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อเข้าเรียนชั้นปีนี้ ๑ ปี ครูประจำชั้นชื่อว่า นายทองอยู่ วุฒิ ป.ป. เป็นครูสอน

   เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๕๒ สอบไล่ได้ชั้นปีที่ ๒ มัธยมวิทยา มีขุนประการวุฒิสิทธิ์ เป็นครูประจำชั้นและสอนภาษาไทย หลวงวิจิตรวรศาสตร์ สอนภาษาอังกฤษ

   เดือนพฤษภาคม  ๒๔๕๓ สอบไล่ได้ “ประโยคมัธยม” (ชั้นปีที่ ๓) ซึ่งมีนายช่วน เป็นครูสอนภาษาไทย และหลวงวิจิตรวรศาสตร์เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

    วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๕๓ กระทรวงธรรมการได้ฝากเข้าเรียนในโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ต่อมาได้ตั้งเป็นจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) แผนกรัฐศาสตร์ศึกษา วิชาการปกครอง มีรองเสวกเอกหลวงบรรณวาทวิจิตร เป็นครูประจำสอนภาษาไทย รองเสวกโทขุนสนิทราช สอนภาษาอังกฤษและมีเสวกตรีพระบรมราชบำรุง กับนายชิลยาด เป็นครูร่วมสอนด้วย

     เมื่อเดือนกุมภาพันธ์  ๒๔๕๖ ได้เข้าชื่อ สมัครเป็นนักเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรม

     วันที่  ๕ ธันวาคม ๒๔๕๗ ทางโรงเรียนส่งไปฝึกระเบียบการปกครอง ณ ที่ว่าการอำเภอรอบกรุง    เมืองกรุงเก่า มีรองอำมาตย์เอกหลวงพิทักษ์ฤทธิรงค์ เป็นครูสอน

     วันที่ ๒๑ กันยายน  ๒๔๕๘ ทางโรงเรียนเรียกตัวกลับมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เข้ารับราชการ

ประวัติการรับราชการ

     ๑.วันที่  ๕ ตุลาคม ๒๔๕๘ ตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน มณฑลอุบลราชธานี รับเงินเดือนขั้น – อัตรา ๘๐
บาท ซึ่งมีพระยาศรีธรรมราช เป็นผู้บังคับบัญชา (พนักงานผู้ใหญ่)

      ๒.วันที่  ๑ กรกฎาคม ๒๔๖๑ ตำแหน่ง นายอำเภอคง (ราษีไศล) จังหวัดขุขันธ์(ศรีสะเกษ) รับเงินเดือนขั้น
๔ อัตรา ๑๐๐ บาท มีพระยาศรีธรรมราช เป็นผู้บังคับบัญชา

      ๓.วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๒ ตำแหน่งนายอำเภอคง (ราษีไศล) จังหวัดขุขันธ์(ศรีสะเกษ)รับเงินเดือนขั้น ๓ อัตรา ๑๕๐ บาท มีพระยาวิเศษไชยชาญ เป็นผู้บังคับบัญชา

     ๔.วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓ นายอำเภอลุมพุก (คำเขื่อนแก้ว) จังหวัดอุบลราชธานี รับเงินเดือนขั้น ๓ อัตรา ๑๕๐ บาท มีพระยาประทุมเทพภักดี เป็นผู้บังคับบัญชา

    ๕.วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๖๖ นายอำเภอคง (ราษีไศล) จังหวัดขุขันธ์(ศรีสะเกษ) รับเงินเดือนขั้น ๓ อัตรา ๑๕๐ บาท มีพระยาศรีสมัตถการ เป็นผู้บังคับบัญชา

    ๖.วันที่  ๑ มกราคม ๒๔๗๓ นายอำเภอคง (ราษีไศล) จังหวัดขุขันธ์(ศรีสะเกษ) รับเงินเดือนขั้น ๒

อัตรา ๒๐๐ บาท มีพระศรีพิชัยบริบาล เป็นผู้บังคับบัญชา

     ต่อจากนั้นได้ย้ายไปรับตำแหน่งต่างๆ อีก คือ

    -นายอำเภอเมืองร้อยเอ็ด       -นายอำเภอบางกะปิ

    -ปลัดจังหวัดกระบี่

การรับพระราชทานยศ

     ๑.วันที่ ๒๖ ธันวาคม  ๒๔๕๙  ได้รับยศรองอำมาตย์ตรี

     ๒.วันที่ ๑๓ ตุลาคม  ๒๔๖๔  ได้รับยศรองอำมาตย์โท

     ๓.วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๓    ได้รับยศรองอำมาตย์เอก

ยศพิเศษ

    ได้รับพระราชทานตราตั้ง เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๕๘ เป็น มหาดเล็กพิเศษในรัชกาลที่ ๖

บรรดาศักดิ์

   วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๖๒ เป็น ขุนคงคณานุการ (ส) ศักดินา ๘๐๐ มีพระยาวิเศษไชยชาญ เป็นพนักงานผู้ใหญ่

   วันที่ ๑ มกราคม ๒๔๖๗ เป็น หลวงคงคณานุการ (ส) ศักดินา ๘๐๐ มีพระยาวิสุทธิ์ราชรังสรรค์ เป็นพนักงานผู้ใหญ่

ลำดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และ เหรียญตรา

   วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๕๘ ได้รับเข็มไอยราพรต มีพระยาศรีธรรมราช เป็นพนักงานผู้ใหญ่ 

   วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕ ได้รับเหรียญเบ็ญจมาภรณ์ มีพระยาวิสุทธิราช เป็นพนักงานผู้ใหญ่

   วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๖๙ได้รับเหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ ๗ มีพระยาวิสุทธิราชเป็นพนักงานผู้ใหญ่

   วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ ได้รับเหรียญศาลทูลมาลา มีพระยาวิสุทธิราช เป็นพนักงานผู้ใหญ่

อสัญกรรม 
  
หลวงคงคณานุการ ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๐ ที่บ้านซอยรางน้ำ กรุงเทพมหานคร สิริอายุ๘๒ ปี

ผลงานด้านการพัฒนาท้องถิ่น

  ๑.การจัดรูปผังเมือง(เขตสุขาภิบาล)ของอำเภอราษีไศล

      แต่เดิมมีถนนหลักอยู่สายเดียว คือ ถนนบริหาร ตามแนวแม่น้ำมูล จากตะวันออกไปตะวันตก ใช้เดินทางติดต่อกันในเขตตัวเมืองเท่านั้น บริเวณภายนอกยังเป็นทางเดินเท้าและทางเกวียนคดเคี้ยว หลวงคงคณานุการ ได้ริเริ่มวางผังเมืองโดยยึดถนนบริหาร ซึ่งมีอยู่เดิมเป็นหลักตัดถนนซอยต่อไปตามแนวทิศตะวันออก ไปทิศตะวันตก ตามแนวทิศเหนือ ไปทิศใต้ ตัดกันเป็นตารางหมากรุก คือ

 -ต่อถนนบริหาร  ตามแนวทิศตะวันตก ไปทิศตะวันออก ไปจนสุดเขตอำเภอ

 -ถนนกตะศิลา ถนนตามแนวเหนือ-ใต้ อยู่ทางทิศตะวันออกของ โรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) ติดกับศาลปู่ตา

 -ถนนหน้าวัดกลาง

 -ถนนสุระมิตร จากถนนบริหารออกนอกตัวเมืองไปสู่ตำบลเมืองแคน

 -ถนนคงสถิต จากถนนบริหารไปบ้านหว้าน บ้านน้ำอ้อม

 -ถนนอินทร์ทอง ข้างตลาดสด เดิมเป็นที่ดินของนายทั่ง  อินทร์ทองและญาติ

 -ถนนรัฐประชา (เดิมชื่อถนนทองสุทธิ์) เดิมเป็นที่ดินของบรรพบุรุษ นามสกุล “ทองสุทธิ์”

       ไปสู่ตำบลที่อยู่ติดต่อกับ    อำเภอมหาชนะชัย

 -ถนนหน้าวัดท่าโพธิ์ ออกทิศเหนือสู่บ้านดู่ 

  ซอยที่ตัดกับถนนต่างๆ ตามแนวตะวันออก – ตะวันตกทำให้เกิดที่ดินเป็นแปลงๆ มีถนนติดต่อเชื่อมกันเป็นตารางอย่างสวยงาม คือ

    -ซอย ๑                       -ซอย ๒

    -ซอย ๓ (ซอยหน้าบ้านนายอำเภอ) เดิมชื่อว่า ถนนคงคิด สร้างเป็นถนนแบบพิเศษเพราะอยู่นอกสุด แบ่งถนนออกเป็น ๓ ส่วน ด้านทิศใต้สุดเป็นถนนเรียบธรรมดา สำหรับคนเดินและรถ ส่วนกลางเป็นแนวต้นไม้ซึ่งจะให้ร่มเงา ส่วนเหนือสุดเป็นทางเกวียนโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นแนวความคิดที่ยอดเยี่ยม น่ายกย่องมากในสมัยนั้น   แต่น่าเสียดายที่ถนนสายนี้ได้ปรับปรุงพัฒนาสภาพถนนจึงเปลี่ยนแปลงไป ในการขอที่สำหรับตัดถนนใหม่แต่ละสายนั้น
ท่านได้ออกไปประชุมชี้แจงกับเจ้าของที่ดินเชิญชวนขอความร่วมมือ พูดจาเกลี้ยกล่อมให้รู้คุณประโยชน์ของการสร้างถนน ท่านได้ประชุมอยู่ตั้งแต่เช้าจรดเย็น เป็นเวลาหลายวัน จนชาวบ้านเห็นชอบให้ความร่วมมือในการตัดถนนต่างๆ  เสร็จเรียบร้อยเป็นรากฐานทำให้เมืองราษีไศลมีผังเมืองที่ถูกต้องสวยงามสะดวกแก่การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าจนกระทั่งทุกวันนี้

การตัดถนนให้ต่อเชื่อมกับหมู่บ้านรอบนอก และอำเภออื่น

   -ถนนบริหาร เดิมมีอยู่เฉพาะในตัวเมือง ได้ตัดต่อออกไปทางทิศตะวันตกไปสู่บ้านด่านและเข้าเชื่อมต่อกับเขตอำเภอสุวรรณภูมิ ทางทิศตะวันออก ไปสู่บ้านยางชุมน้อย (อำเภอยางชุมน้อยในปัจจุบัน)บ้านอีปาด ทุ่งมั่ง ข้ามแม่น้ำมูลไปถึง อำเภอกันทรารมย์

  -ถนนรัฐประชา (ทองสุทธิ์)ทางทิศเหนือ ไปสู่อำเภอฟ้าหยาด (มหาชนะชัย) ทางทิศใต้ข้ามแม่น้ำมูลไปยังบ้านหนองอึ่ง  บ้านหัวช้าง เข้าเขตอุทุมพรพิสัย

     ถนนที่ได้ริเริ่มตัดไว้เหล่านี้ ต่อมาได้เป็นเส้นทางหลักให้แก่หน่วยงานของรัฐ ที่จะก่อสร้างถนนในสมัยต่อมา ซึ่งสามารถขยายเขตถนนเหล่านั้นตามแนวเดิม ทำให้ไม่ต้องสูญเสียเวลาและงบประมาณชดเชยค่าที่ดินให้แก่ชาวบ้าน
จนเกิดปัญหาเหมือนกับที่อื่นๆ

ผลงานด้านการปกครอง

     ในสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ถึง ๒๔๗๕ นั้น ชาวอำเภอคง (ราษีไศล)ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า ท่านนายอำเภอ หลวงคงคณานุการ ได้ปกครองโดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

    ๑.ออกตรวจท้องที่โดยสม่ำเสมอ ใช้เกวียนพาหนะเทียมโค ซึ่งท่านได้เลี้ยงไว้เองหลายคู่การเดินทางไปยังตำบลต่างๆ ใช้เกวียน ๒ เล่ม เล่มแรก สำหรับตัวท่านเองโดยสาร เล่มที่สอง สำหรับขนสัมภาระและเสบียงอาหารซึ่งจัดเตรียมเอาไปเองโดยไม่ต้องไปรบกวนหาเอาจากชาวบ้าน อันเป็นลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ดียิ่งของท่านประการหนึ่งสมควรแก่การสรรเสริญ  การเดินทางรอนแรมไปตามตำบลหมู่บ้านต่างๆ นั้น ใช้เวลาหลายวันหลายคืน สถานที่พักแรมเป็นศาลา ซึ่งอยู่กลางหมู่บ้านต่างๆครั้นเมื่อไปถึงจะพบกับ กำนัน หรือ  ผู้ใหญ่บ้าน โดยตรง มีงานราชการท่านจะติดต่อ สั่งงานกันตัวต่อตัว ทำให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งกว่าใช้วิธีอื่น ทำให้ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ โดยแท้จริง ทราบปัญหาและแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

    ๒.การปราบปรามโจรผู้ร้ายแต่งตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท่านหลวงคงคณานุการ จะเดินทางออกไปแต่งตั้งด้วยตนเองเช่นเมื่อครั้งมีการจัดแบ่งเขตอำเภอราษีไศล กับอำเภออุทุมพรพิสัย ได้แบ่งตำบลหนองอึ่ง กับตำบลบัวหุ่ง มาขึ้นกับอำเภอราษีไศล  ท่านได้ออกเดินทางไปแต่งตั้งกำนันของ ๒ ตำบลนี้ด้วยตัวท่านเอง โดยเลือกเอาคนที่เก่งกล้า  มีอิทธิพลมากที่สุดในตำบลนั้นแม้จะเป็นนักเลงลักขโมยเก่งก็ตาม แต่งตั้งให้เป็นกำนัน เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้วให้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบ หากมีโจรผู้ร้ายในเขตรับผิดชอบของตน ต้องจับกุมตัวส่งให้อำเภอ
หลังจากนั้นต่อมาประมาณ ๒ เดือน นายผุย คำพันธุ์ กำนันตำบลหนองอึ่ง ก็สามารถจับผู้ร้ายลักทรัพย์พร้อมด้วยของกลางมาส่งอำเภอ ๑ ราย ต่อมาอีก ๒ เดือน นายเฮด ห้วยจันทร์ กำนันตำบลบัวหุ่ง ได้นำกระบือมาส่งอำเภอ ๒ ตัว
ซึ่งสกัดจับได้จากผู้ร้ายลักข้ามแม่น้ำมูลมา แต่ไม่ได้ตัวคนร้าย
เพราะคนร้ายได้หลบหนีไปก่อน

    ๓.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ทำงานเข้มแข็ง ปฏิบัติงานได้ผลดี ในด้านการปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ปููนบำเหน็จความชอบตอบแทนให้โดยขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นประทวนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีผลงานเหล่านั้น เท่าที่ปรากฏ คือ

  ตำบลเมืองคง

   -นายวัด ท่าโพธิ์ กำนันตำบลเมืองคง ได้ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ขุนแมนเมืองคง

   -นายพัน นราวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๖(บ้านโนน) ได้เป็น หมื่นคงบุรคาม 

 ตำบลส้มป่อย

   -นายสาย  ศุภสอน กำนันตำบลส้มป่อยได้ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ขุนประสบส้มป่อย

   -นายน้อย จิตมั่น ผู้ใหญ่บ้านหนองหมี ตำบลส้มป่อย ได้เป็น หมื่นถิรกิจบำรุง

ตำบลอื่นๆ

   -ตั้ง นายเว  ผาสุก เป็น ขุนชำนาญบ้านเชือก  ตำบลดู่ (สมัยก่อน)

   -ตั้ง ขุนอุดม  บ้านผึ้งขุนบรรเทา บ้านปลาขาว  ตำบลหนองแค

   -ตั้ง ขุนชำนาญ บ้านขาม  ตำบลกุง

      ๔.การประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านทุกตำบล จะประชุมที่อำเภอใน วันที่ ๓ ของทุกเดือนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่งตัวด้วยผ้าจูงกระเบนสีม่วง  สวมเสื้อราชปะแตนสีขาว ติดตราราชสีห์กำนันติดขนาดใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านติดขนาดเล็กลงตามลำดับ

    เมื่อเข้าประชุมจะให้กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านเสนอข้อขัดข้อง และผลงานที่ปฏิบัติตามหน้าที่ และรับข้อราชการของอำเภอไปปฏิบัติ

     ๕.วิธีการจับตัวส่งผู้ร้ายข้ามเขตอำเภอมีผู้ร้ายคนหนึ่งหนีข้ามเขตมาจากอำเภอฟ้าหยาด(มหาชนะชัย)
ท่านทราบตัวจึงได้นำมาชุบเลี้ยงไว้ใช้ที่อำเภอจนตายใจแล้ว จึงสั่งให้ไปส่งหนังสือราชการที่อำเภอฟ้าหยาด ส่งให้ฝ่ายปกครองอำเภอนั้น(เนื้อหาหนังสือคือส่งตัวคนร้าย)จับกุมตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย

     ๖.การตั้งและแก้นามสกุล

   -ที่บ้านส้มป่อย ตำบลส้มป่อย มีคนใช้นามสกุลเดิมว่า ชัยวัฒน์ ไปซ้ำกับนามสกุลที่มีอยู่ก่อนแล้ว จึงเปลี่ยนให้ใหม่เป็น โพธิ์วัฒน์

   -ที่บ้านบึงหมอก  ตำบลส้มป่อย มีนามสกุลเดิมว่า มหาศิริ ไปซ้ำกับนามสกุลอื่นอีกเช่นกัน จึงเปลี่ยนใหม่
เป็น บุญมานัส

   -ที่บ้านหนองหมี มีคนยังไม่มีนามสกุล เจ้าตัวนั่งรออยู่ที่โคนต้นโพธิ์ จึงตั้งนามสกุลให้ว่า เหง้าโพธิ์

     ๗.การปักเขตแดนที่สาธารณะประจำตำบลและหมู่บ้าน

        ท่านได้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของทางราชการ เพื่อจัดหาที่สาธารณะไว้ใช้ร่วมกันในตำบลและหมู่บ้านโดยประกาศจับจองที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ไว้ใช้ร่วมกัน เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้สั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านสำรวจที่ดินมาให้อำเภอแล้วประกาศจับจองหาผู้คัดค้าน ถ้าไม่มีผู้คัดค้านท่านก็ได้จัดทำทะเบียนเป็นที่สาธารณะไว้ต่อไป เมื่อท่านได้ออกไปตรวจท้องที่ จะเรียกตัว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาสอบถามด้วย หากเป็นที่ตกลงกันเรียบร้อยท่านจะให้จัดทำเสาไม้เนื้อแข็งสลักข้อความไว้แล้วให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคนสำคัญ ไปปักไว้เป็นหลักฐาน ให้รู้ว่าเป็นที่สาธารณะแปลงใดมีเนื้อที่ เขตแดนเท่าใด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีที่ดินสาธารณประโยชน์ในท้องที่อำเภอราษีไศลเป็นจำนวนมากมีเขตแดนที่แน่นอนให้ กำนัน ผู้บ้าน ดูแลรักษาไว้ หากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่ปฏิบัติตามจะได้รับการลงโทษแต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต่อมาเมื่อสิ้นสมัยของท่านแล้วมี กำนันผู้ใหญ่บ้านบางท่านมิได้ปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านได้ริเริ่มเอาไว้นั้นปล่อยให้หลักไม้ที่ท่านให้ปักไว้นั้นผุพัง สูญหายไปแล้วไม่จัดทำหลักเขตขึ้นใหม่แล้วนำไปปักไว้แทนที่อีก จึงทำให้มีการบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์เป็นปัญหาข้อพิพาทวุ่นวาย
ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ และสำหรับหลักฐานทะเบียนที่ดินเขตหวงห้ามสาธารณะประโยชน์ของอำเภอที่ท่านทำไว้นั้นขณะนี้ยังสามารถตรวจสอบได้ เพราะได้เก็บรักษาไว้อย่างดีที่สำนักงานที่ดินของอำเภอพร้อมที่จะนำออกเป็นเอกสารยืนยันอ้างอิงได้

     ๘.การริเริ่มให้มีตัวแทนแม่บ้าน ผู้ช่วยแม่บ้าน

       ในหมู่บ้านที่ท่านออกไปตรวจท้องที่และพักแรม ได้ให้ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หาตัวแม่บ้านคนสำคัญของหมู่บ้านนั้น มารับคำแนะนำและอบรมให้รู้จักการทำงานของแม่บ้าน ทำให้แม่บ้านคนนั้นมีความรอบรู้เฉลียวฉลาดขึ้น
สามารถนำเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่แม่บ้านคนอื่นได้ เป็นการให้การศึกษาอบรมแก่แม่บ้านอีกทางหนึ่ง
ซึ่งได้ผลดีมาก แม้ในปัจจุบันยังไม่มีนักปกครองคนใดสามารถจัดทำได้

ด้านการศึกษา

      ๑.การขยายการศึกษาในระยะ ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ถึง พ.ศ.๒๔๖๖ ได้เริ่มประกาศใช้ พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทางราชการให้ขยายตั้งโรงเรียนประถมศึกษาออกมาตามหัวเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ท่านนายอำเภอหลวงคงคณานุการ ได้สนองนโยบายของรัฐ โดยเดินทางออกไปจัดตั้งโรงเรียนในตำบลต่างๆ ในระยะแรกได้อาศัยศาลาวัดของหมู่บ้าน เป็นอาคารเรียน ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนประชาบาลตำบล......ต่อด้วยเลขลำดับที่ตั้งขึ้นในตำบลนั้น และวงเล็บ ชื่อวัดบ้านที่เป็นอาคารเรียน เช่น  โรงเรียนประชาบาลตำบลไผ่ ๑ (วัดบ้านไผ่)โรงเรียนประชาบาลตำบลไผ่ ๒ (วัดบ้านสร้างปี่) ดังนี้เป็นต้น

      นอกจากนี้ในตัวตำบลเมืองคงก่อนนั้นมีโรงเรียนอยู่เพียงโรงเรียนเดียวคือ โรงเรียนเมืองคง ซึ่งต่อมาท่านได้ขนานนามใหม่ว่า โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ตามนามบุตรีไว้เป็นอนุสรณ์ บุตรีคนแรกของท่านชื่อ คงคา ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคใดไม่ปรากฏ โรงเรียนนี้ยังไม่เป็นที่เพียงพอที่จะรับนักเรียนเข้าเรียนได้  จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหนึ่งโรงเรียน ครั้งแรกอาศัยอาคารที่ว่าการอำเภอที่สร้างยังไม่เสร็จ เป็นที่เรียนชั่วคราว ต่อมาจึงได้ย้ายไปอาศัยศาลาวัดท่าโพธิ์ เป็นที่เรียน และต่อมาเป็นโรงเรียนท่าโพธิ์มิตรภาพที่ ๒๐๔ ในปัจจุบัน

     ๒.การจับจองที่ดินไว้ใช้ประโยชน์ทางการศึกษาท่านเป็นผู้ที่มองกาลไกล เล็งเห็นความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาซึ่งจะต้องใช้ที่ดินเป็นจำนวนมากและบริเวณกว้าง ท่านจึงได้จับจองที่ดินไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา ดังต่อไปนี้

     -ที่ดินทางทิศเหนือของตัวเมือง ห่างออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ซึ่งมีเนื้อที่กว้าง ๑๕ เส้น ยาว ๒๐ เส้น ติดถนนด้านทิศตะวันตกของถนนรัฐประชา ออกไป อำเภอมหาชนะชัย เนื้อที่ประมาณ ๓๐๐ ไร่ ในครั้งนั้น ท่านได้จับจองไว้เป็นที่ทำสวนกสิกรรมของโรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา)ซึ่งในปัจจุบันได้เป็นที่สร้างโรงเรียนราษีไศล(ร.ร.มัธยมประจำอำเภอ)  และโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์มิตรภาพที่ ๒๐๔ เป็นที่ก่อสร้างที่ทำการสื่อสาร ที่ทำการเกษตรอำเภอ ที่ทำการไฟฟ้า และบ้านพักนายอำเภอราษีไศล



    -จับจองที่ดิน ขอบริจาค และจัดซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิม โดยเฉพาะที่ดินของโรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) ประมาณ ๑๐ กว่าไร่ ด้านตะวันออกติดกับถนนกตะศิลา นั้นเจ้าของไม่ยอมยกให้ ท่านจึงขอซื้อ เป็นจำนวนเงิน ๑๕๐ บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบบาทถ้วน)โดยสั่งให้ครูใหญ่โรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) นำเอาเงินของโรงเรียนไปจ่ายให้แก่เจ้าของที่ดินได้ที่ดินโรงเรียนเป็นเนื้อที่ทั้งหมด ๔๐ ไร่

    -จับจองที่ดินไว้เพื่อสร้างโรงเรียนบ้านดู่ กว้าง ๑๐ เส้น ยาว ๑๐ เส้น แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น

    ๓.การพัฒนาตัวครู ได้ให้ครูปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างแก่คนทั่วไป โดยให้คติแก่ครูถือเป็นแนวทางปฏิบัติว่า

                                 จะสอนเขาเราต้องรู้เพราะผู้สอน

                            ต้องทำก่อนลูกศิษย์กิจผู้สอน

                            คือทำได้สอนได้ไม่โคลงคลอน

                            ได้แต่สอนทำไม่ได้มิใช่ครู

       ท่านได้คอยสอดส่องควบคุมความประพฤติ การรักษาวินัยของครูอย่างเคร่งครัด ห้ามมิให้ครูดื่มสุรา จนเมาเอะอะอาละวา และเล่นการพนัน หากว่าครูผู้ใดประพฤติผิด จะเรียกตัวให้มาพบที่อำเภอ เพื่อว่ากล่าวตักเตือน หากทำผิดสองครั้ง สามครั้ง จะลงโทษโดยเด็ดขาด คือไล่ออกจากราชการไปเลย

     ๔.การจัดให้โรงเรียนร่วมมือกับวัดและหมู่บ้าน ในระยะนั้นโรงเรียนประถมศึกษา ได้อาศัยศาลาวัดใช้เป็นอาคารเรียน ท่านจึงวางนโยบายให้โรงเรียนร่วมมือกับวัดโดยใกล้ชิด พระกับครูต้องร่วมมือกัน รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านที่โรงเรียนนั้นตั้งอยู่ ดังนั้นทั้งครู พระในวัด และชาวบ้านมีความผูกพันกัน ครูพักอยู่ในวัดอาศัยอยู่กับพระกินข้าวจากก้นบาตรพระที่ชาวบ้านนำมาทำบุญ จึงทำให้ลดปัญหาเรื่องที่พักครู และอาหารการกิน กลับเป็นการประหยัดค่าใช้สอยแก่ครู หากมีครูผู้ใดประพฤติตัวไม่ถูกต้อง ท่านจะเรียกตัวมาพบที่อำเภอ อบรมตักเตือนให้แก้ไขปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ โรงเรียน วัด และชาวบ้าน จึงมีความสัมพันธ์ ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

      ๕.การจัดห้องสมุดให้ชาวบ้านได้อ่านหนังสือท่านริเริ่มโดยขอเปิดห้องว่างของห้องแถวนายตือ แซ่จึง นำเอาหนังสือส่วนตัวจากบ้านไปวางให้ชาวบ้านอ่าน ให้ครูฝึกหัดที่เรียนจบมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูมาอยู่ฝึกงานที่อำเภอ และให้ผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่บรรณารักษ์วันละคน ต่อมาภายหลังแม้ว่าท่านจะย้ายและเกษียณอายุแล้ว ท่านยังส่งหนังสือมาให้ ตอนหลังๆ นี้ท่านได้ส่งหนังสือต่างๆ มาให้อาจารย์สมุห์เสน ที่วัดกลางใช้ศาลาการเปรียญวัดกลางเป็นห้องสมุด ให้ชาวบ้านได้อ่านหนังสือ อาจารย์บรรยงค์ สารพันธ์ เป็นผู้คอยดูแลให้ความช่วยเหลือกับทางวัดตลอดระยะเวลานั้น มีชาวบ้านสนใจไปอ่านหนังสือที่ศาลาวัดกลางอยู่เป็นเวลานาน จนท่านชราภาพลง

      ๖.การลูกเสือได้สั่งให้โรงเรียนตั้งกองลูกเสือขึ้นและจัดให้มีดนตรีสำหรับนำแถวและแสดงในงานชุมนุมและพักแรม มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งมีลูกเสือไปพักแรมเดินทางไกลูกเสือเดินทางด้วยความเหน็ดเหนื่อย เมื่อผ่านไปพบสวนอ้อยของชาวบ้านเข้าเกิดความหิวขึ้น จึงเข้าไปหักกินอ้อยของชาวบ้านในสวนนั้น เมื่อท่านทราบเข้าจึงได้เรียกตัวลูกเสือเหล่านั้นมาพบและอบรมสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือน มิให้ทำเข่นนั้นอีกต่อไป

      ๗.การออกตรวจโรงเรียนในทางที่ออกตรวจท้องที่ตามหมู่บานต่างๆ นั้น เมื่อเดินทางไปถึงในเวลากลางวัน ในหมู่บ้านที่มีโรงเรียน จะออกไปตรวจโรงเรียนโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า ท่านกวดขันการทำงานของครู ควบคุมการศึกษาให้มีคุณภาพโดยใกล้ชิด  เมื่อพบปัญหาข้อบกพร่อง จะสั่งแก้ไขให้เรียบร้อยถูกต้อง ครูทุกคนให้ความเคารพเชื่อฟังเป็นอย่างดี ดังที่ปรากฏตามสมุดหมายเหตุรายวันของโรงเรียนต่างๆ ที่ท่านได้บันทึกการตรวจไว้อย่างชัดเจน

ด้านการศาสนา

    ท่านนายอำเภอหลวงคงคณานุการได้บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาภายในอำเภอ  ซึ่งนำมากล่าวได้ดังนี้

    ๑.การบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทจำลองที่แก่งทิศใต้วัดบ้านส้มป่อยใหญ่  ตำบลส้มป่อย   และได้จับจองที่ไว้เป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานไว้จนทุกวันนี้

    ๒.การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกลางตำบลเมืองคงโดยทำพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต ให้เป็นวัดที่สมบูรณ์ ได้ให้ความอุปถัมถ์บำรุงตลอดระยะเวลาที่เป็นนายอำเภออยู่โดยมิได้ขาด

    ๓.ได้สร้างพระไตรปิฎกถวายให้แก่วัดกลาง จำนวน ๕๐ กัณฑ์ ในนามของบุตรี ที่ชื่อ คงคา ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเยาว์วัยที่อำเภอราษีไศล

    ๔.การจัดทำบุญตามประเพณีของท้องถิ่นเช่นงานถวายต้นเทียนเข้าพรรษาสั่งให้โรงเรียนต่างๆ จัดทำ จัดให้มีขบวนแห่งานกฐิน มีวงแคน ฆ้องกลอง ขบวนคนใหญ่ หัวโต นำขบวน ซึ่งเป็นของแปลกตาน่าสนใจ ทำให้ชาวบ้านสนุกสนาน ครึกครื้น สุขใจร่วมทำบุญตามวัดต่างๆ มากขึ้น

ด้านศิลปะดนตรี

       ๑.การตั้งวงดนตรี เมื่อก่อนยังไม่มีวงดนตรีในอำเภอราษีไศล เมื่อท่านได้มารับตำแหน่งนายอำเภอนี้  จึงได้ริเริ่มจัดตั้งวงดนตรีขึ้น เนื่องจากตัวท่านเอง เคยเป็นนายทหารวงดุริยางค์มาก่อน จึงตั้งวงแตรวงขึ้น ควบคุมฝึกซ้อม
และซ่อมเครื่องดนตรีด้วยตนเอง เมื่อมีงานสำคัญของอำเภอได้นำเอาแตรวงมาบรรเลงในโอกาสต่างๆเป็นประจำและได้เคยนำไปร่วมบรรเลงในงานชุมนุมลูกเสือที่จังหวัดศรีสะเกษ สร้างชื่อเสียงให้แก่อำเภอเป็นอย่างมาก

      ๒. การตั้งวงแคนในหนึ่งวง จะมีแคนขนาดต่างๆ ตั้งแต่เล็กไปหาใหญ่ประมาณ ๑๒ เลา ให้ครูที่มีความรู้ สามารถเป่าแคนมาเป็นคนฝึกหัด คัดเลือกนักเรียนชายที่เห็นสมควรมาฝึกสอน จนสามารถเป่าเป็นเพลงต่างๆ ได้ ส่วนมากจะให้แคนวงเป่าเพลงไทยเดิม เช่นเพลงลาวดวงเดือน เพลงเขมรไทรโยค ทำให้เกิดเสียงและทำนองเพลงไพเราะดีมาก หากแคนในวงเกิดชำรุดเสียหายท่านก็จะให้ช่างแคนมาซ่อมแซมโดยท่านเป็นผู้อุปการะช่างแคน
จัดอาหารที่อยู่อาศัยให้ด้วย ทำให้อำเภอราษีไศลสมัยที่ท่านอยู่นั้นมีแคนวงอยู่หลายวง นำออกเป่าในงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี



       ๓. การส่งเสริมศิลปะพื้นเมือง ตั้งหมอลำหลวงของอำเภอขึ้น  โดยมีความเป็นมาดังนี้

        ในสมัยนั้น รัฐเก็บเงินจากราษฎรคนละ ๖ บาทต่อปี นำไปแบ่งเป็น โยธา ๔ บาท ศึกษาพลี ๒ บาท
ผู้ใดไม่ให้เงินก็จะเรียกตัวมาเกณฑ์โยธา ๑๕ วัน มีชาวบ้านที่ไม่มีเงินเสียเข้ารัชชูประการ ๕ คน คือ

      -นายเหง้า  ลูกอินทร์  -นายพิลา หินกอง   -และ นายสง ตาแสง          จากบ้านบึงหมอก

      -นายสิงห์   บ้านหนองแค   

      -นายสิงห์ มายา  บ้านตัง

     ทั้ง ๕ คนนี้ถูกเรียกมาทำงานโยธาที่อำเภอ ๑๕ วัน แต่ท่านทราบว่า คนทั้ง ๕ นี้ มีความสามารถเป็นพิเศษ
คือ

     -นายเหง้า  -นายพิลา  -และนายสง  เป็นหมอลำชั้นดี

     -ส่วนนายสิงห์  บ้านหนองแค มีความสามารถดีดพิณ สีซอและเป่าแคน

     - นายสิงห์ มายา  บ้านตัง มีใบหน้ายาว ปากเบี้ยว ตาโปน  จึงเป็นตัวตลก

     ท่านจึงรวมเอา ๕ คนนี้ตั้งเป็น คณะหมอลำหลวงของอำเภอและให้ฝึกซ้อม ไม่ต้องออกทำงานโยธา
ส่งเสริมให้เล่นจนชำนาญ นำออกแสดงในงานของอำเภอให้ชาวบ้านได้ชมอย่างสนุกสนานเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านเป็นอันมาก

     ส่งเสริมการลำพื้นเมืองแบบดั้งเดิมของอำเภอ มีลีลาทำนองลำเป็นกลอนที่ไพเราะ เป็นแบบฉบับที่แตกต่างจากการลำโดยทั่วไป หมอลำที่มีชื่อได้แก่ หมอลำนาม บ้านตัง  เวลาลำจะนั่งยองๆ  เอามือกุมข้างหู ลำใส่แคนให้คนฟัง

 การสร้างบ้านพักข้าราชการ
     ไม้และแรงงานได้มาจากราษฎรที่ค้างเงินรัชชูปการ ตะปูและอุปกรณ์ต่างๆ ใช้เงินเบ็ดเตล็ดของอำเภอซึ่งเก็บจาก ค่าตั๋วพิมพ์รูปพรรณโค กระบือ  ทำให้มีบ้านพักของข้าราชการในอำเภอ โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด

 การจัดเมล์ตำบล

     

หมายเลขบันทึก: 535059เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท