บทบาทของมหาวิทยาลัย ต่อการปฏิรูปการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับก่อนปริญญา


วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เขาใช้ เน้นที่หลักการ Active Learning กับ Deliberate Practice คือเรียนโดย นศ. เป็นผู้ลงมือทำ (ไม่ใช่ครูสอน) และ นศ. ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังซ้ำแล้วซ้ำเล่า

บทบาทของมหาวิทยาลัย ต่อการปฏิรูปการศึกษาวิทยาศาสตร์ระดับก่อนปริญญา  

บทความเรื่อง Transformation is Possible if a University Really Cares  ลงพิมพ์ในวารสาร Science ฉบับScience Education  บอกเราว่า การปฏิรูปการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับก่อนปริญญาเป็นไปได้ หากมหาวิทยาลัยเอาจริง  นี่คือความท้าทายใหญ่ … ทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะเอาจริง   

คนที่เอาจริง คือนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ที่หันมาเอาจริงเอาจังในเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย คือ Carl Wieman  ผู้กล่าวว่า การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา ที่ทำกันในปัจจุบัน เป็นการสอนแบบ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” 

ตอนทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์ นั้นท่านทำที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ (UCB)  หลังจากนั้นก็ไปทำงานด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ University of British Columbia (UBC) ที่แคนาดา  โดยได้ตั้งCarl Wieman Science Education Initiative ขึ้นทำงานปฏิรูปการศึกษาวิทยาศาสตร์  และที่ UCB ท่านก็ได้ตั้ง Science Education Initiative ขึ้นเช่นกัน การดำเนินการปฏิรูปนี้ ทำมา ๑๕ ปี  มีผลดีมากมาย 

ดูวิดีทัศน์การบรรยายเรื่องการปฏิรูปการเรียนวิทยาศาสตร์ โดย Carl Wieman ที่นี่  ตอนที่ให้ความรู้มากคือการตอบคำถามตอนท้าย

วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เขาใช้ เน้นที่หลักการ Active Learning กับ Deliberate Practice  คือเรียนโดย นศ. เป็นผู้ลงมือทำ (ไม่ใช่ครูสอน)  และ นศ. ฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังซ้ำแล้วซ้ำเล่า   

กลไกจัดการการเปลี่ยนแปลงที่เขาใช้ คือ science teaching and learning fellow (STLF)  ซึ่งเป็นตำแหน่ง postdoc  เพื่อดำเนินการจัดการเปลี่ยนแปลงที่ UCB SEI จ้าง STLF 12 คน  และ UBC SEI จ้าง STLF เกือบ 24 คน 

STLF เหล่านี้ได้รับการฝึกให้ทำงานร่วมกับอาจารย์ผู้สอน  เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในกาจัดการเรียนรู้  เริ่มต้นจากการถามอาจารย์ผู้สอนว่า ในวิชานั้น ต้องการให้ นศ. รู้วิธีทำอะไรบ้าง (know how to do)  หรือทำอะไรได้บ้าง  ไม่ใช่ต้องการให้รู้อะไรบ้าง  แล้วจึงร่วมกันแปลเป้าหมายนั้น สู่การเขียนวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ (learning objectives)  

ขั้นตอนที่ ๓ คือการเขียนคำถาม multiple choice ที่จะช่วยให้ นศ. บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้น   ที่เรียกว่า clicker questions   คือเป็นคำถามที่เน้นถามหลักการที่ นศ. มักเข้าใจผิด  นักเรียนเรียนโดยการค้นคว้าหรืออ่านมาเอง  แล้วมาร่วมกันตอบคำถาม clicker  ซึ่งถ้ามีเครื่อง clicker ที่ทุกคนตอบคำถามแล้วคอมพิวเตอร์รวบรวมผลได้ทันที  ข้อใดที่ นศ. ตอบผิดมากอาจารย์อาจสอนแบบ micro lecture เพื่อให้ นศ. ได้เข้าใจ  คำถามข้ออื่นๆ ที่มีทั้งคนตอบถูกและผิด มีการอภิปรายในชั้น เพื่อทำความเข้าใจ ว่าทำไมคำตอบข้อนั้นจึงถูก ทำไมข้ออื่นๆ จึงผิด  การเรียนแบบนี้เขาเรียกว่า peer instruction  คือ นศ. สอนกันเอง 

นอกจากนั้น นศ. ยังได้รับการบ้านให้ไปอ่าน แล้วเขียนรายงานผลการเรียนรู้ 

วิธีเรียนแบบนี้ นศ. ชอบมาก เพราะเรียนรู้ได้ดีกว่า  แต่ยังจะต้องมีการประเมินโดยคนภายนอก อย่างเป็นทางการ เพื่อทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างวิธีใหม่กับวิธีเก่า อย่างเป็นวิทยาศาสตร์”  

 ศ. วีแมน ต้องการขยายวิธีการเรียนแบบใหม่นี้ (คือวิธี Active Learning + Deliberate Practice) ไปทั่วสหรัฐอเมริกา  โดยหาทางบังคับทางอ้อม  โดยเสนอให้ออกข้อบังคับ ให้มหาวิทยาลัย ที่รับเงินวิจัย จากรัฐบาลกลาง ของ สรอ. ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ว่าจัดการชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยของตนอย่างไร  หวังว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ จะปล่อยให้การเรียนการสอนในชั้นเรียนเป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบันไม่ได้  เพราะจะเกิดคล้ายๆ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยตามวิธีการจัดรูปแบบการเรียนการสอน 

แต่วิญญาณของคนมหาวิทยาลัยเหมือนกันทั่วโลก  คือไม่ชอบการบังคับ  จึงมีการคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง 

ศ. วีแมน ไม่ได้สร้างเฉพาะ SEI  ยังสร้าง PhETซึ่งเป็น interactive on-line laboratory ให้ครูและนักเรียนเข้าไปใช้ได้ฟรี  ครูวิทยาศาสตร์ของไทยน่าจะได้เข้าไปศึกษาว่า จะจัดให้นักเรียนไทยเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่  University.pdf

วิจารณ์ พานิช

๗ พ.ค. ๕๖




หมายเลขบันทึก: 535055เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 05:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท