เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๕ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖



๓๐  มีนาคม  ๒๕๕๖

เรียน เพื่อนครู ผู้บริหาร และผู้อ่านที่เคารพรักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๒๕  มีนาคม  ๒๕๕๖  ตื่นเช้าแต่ก็ออกจากบ้านเกือบ ๗ นาฬิกา เดินทางไปโรงแรมทวินทาวเวอร์  ย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง เพื่อร่วมประชุมกับคณะทำงานของ สำนักงาน ก.ค.ศ. พิจารณาร่างระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการจ่ายเงินวิทยพัฒน์ ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  เรื่องเงินวิทยพัฒน์นี้บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗  มาตรานี้จะว่าด้วย ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ใดมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ ให้กระทรวงเจ้าสังกัด ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษาดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติตามควรแก่กรณี  เพื่อประโยชนในการเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน  ก.ค.ศ. อาจกำหนดให้ข้ราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ที่มีผลงานหรือผลการปฏิบัติงานดีเด่นหรือผู้ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้ได้รับเงินวิทยพัฒน์ได้ ตามระเบียบที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ยังไม่มีระเบียบเรื่องนี้ออกมาใช้บังคับเลย ทำให้ครูทั่วไปที่ไม่ได้อ่านตัวบทตามมาตรานี้เข้าใจผิดคิดไปว่า เงินวิทยพัฒน์จะจ่ายให้ครูโดยคำนึงถึงคุณวุฒิพิเศษบางวิชาเอก โดยจะจ่ายเพิ่มให้รายเดือนเหมือนวิทยฐานะ เอาเข้าจริงจะต้องแสดงถึงความเก่งและความดีจนถึงขนาด จึงจะเข้ากรณีที่จะรับเงินวิทยพัฒน์ได้  สำนักงานก.ค.ศ.ร่างต้นฉบับไว้แล้ว พวกเราจึงสะดวกในการพิจารณาแก้ไขและเพิ่มเติม  วันนี้คุยกันลึกถึงหลักการสำคัญ ใช้เวลาเต็มวันจนความคิดตกผลึก พรุ่งนี้ผมไม่สามารถเข้าประชุมได้ เพราะมีงานสำคัญที่มิอาจหลีกเลี่ยง คณะจะนำความคิดในวันนี้ไปดำเนินการต่อจนเสร็จ


วันอังคารที่ ๒๖  มีนาคม  ๒๕๕๖  อากาศร้อนจนอุณหภูมิขึ้นไปถึง ๔๐ องศาเซนเซียส เป็นฤดูที่ตื่นเต้นเร้าใจสมัยที่เรียนจบตัวประโยค คือ ป.๖  ม.๓ และชั้นอื่น ๆ เพราะต้องลุ้นเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนใหม่ สมัยผมคู่แข่งไม่มาก แต่สนามก็มีน้อยเช่นกัน ต้นไม้ทิ้งใบเหมือนพวกเราเพื่อนร่วมรุ่นที่ไปคนละทางตามแต่ใครจะมีความมุ่งหมายเช่นไร วันนี้ทิ้งการประชุมของสำนักงาน ก.ค.ศ. มาร่วมประชุมคณะกรรมการสรรหากรรมการเขตพื้นที่การศึกษาผู้ทรงคุณวุฒิที่กำลังจะหมดวาระลง  มีผู้ว่าราชการจังหว้ดปทุมธานีเป็นประธาน กรรมการสรรหาอื่นอีก ๘ คน ผอ.เขตไม่ได้เป็นกรรมการสรรหา แต่มาเพื่ออำนวยความสะดวกในฐานะเจ้าภาพ วันนี้ประชุมนัดเดียว ๓ คณะ คือ สพป. ๒ เขตและ สพม. ๑ เขต  ดำเนินการไปตามลำดับ ตามระเบียบกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ไป สพฐ. ๑๔ คน คณะกรรมการ กพฐ. เลือกให้เหลือ ๗ คน และจะแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา 


บ่ายประชุม อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามีเรื่องพิจารณาเกี่ยวกับอัตรากำลัง และการอนุมัติผลด้านที่ ๑และด้านที่ ๒ ของการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ย้ายผู้บริหารโรงเรียน ๑ ราย พิจารณาโทษทางวินัยข้าราชการครู ๑ ราย  มีการถามกันมากในอนุกรรมการถึงเรื่องอื้อฉาวโด่งดังเกี่ยวกับการทุจริตสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย  แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบในเบื้องต้นว่า หลังจากดูคะแนนที่ สพฐ. ส่งมาให้พบว่า ผู้ที่มีภูมิลำเนานอกเขตพื้นที่(ภาคอีสาน) และได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้เป็นครูผู้ช่วยไปแล้ว ๗ ราย ได้คะแนนสูงกว่าผู้เข้าสอบทั่วไปมาก เรียกว่าทิ้งห่างกันหลายช่วงตัว ตรงข้ามกับวิชาเอกที่ชาวปทุมธานีเขต ๑ สอบได้ลำดับ ๑ คะแนนหนี ๖๐ %ไปไม่มาก ส่วนที่บอกว่าคะแนนสูงกว่าปกติจะถึงขั้นทุจริตหรือเปล่าต้องดำเนินการพิสูจน์กันเป็นขั้นเป็นตอนไป แต่ในเบื้องต้นตั้งแต่กระบวนการรับข้อสอบ การดำเนินการสอบ ไปจนส่งกระดาษคำตอบยังไม่พบสิ่งผิดปกติในพื้นที่ของเรา ผมลองเขียนบทวิเคราะห์เรื่องนี้แบบง่าย ๆ ตามที่ได้เรียนมาจากวิทยาลัยการยุติธรรมทางปกครอง สำนักงานศาลปกครอง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางกฎหมายปกครอง ดังนี้ 

" ข่าวการทุจริตการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วย ที่ ก.ค.ศ. ออกหลักเกณฑ์ให้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบ ตรวจกระดาษคำตอบ จัดลำดับที่ แล้วส่งให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประกาศผลการสอบคัดเลือกนั้น เป็นข่าวที่กำลังเข้มข้น เพราะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเร่งรัดในการหาคนผิดมาลงโทษ และไม่ให้คนทุจริตได้รับราขการครู เพราะเป็นเรื่องที่ผิดทั้งทางโลกและทางธรรมหากจะปล่อยให้คนทุจริตลอยนวลเป็นครูสอนเยาวชนไทยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนับเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผู้ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งไปแล้วโดยมิชอบก็อาจถูกเพิกถอนคำสั่ง อีกทั้งได้ขอความร่วมมือจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าหาพยานหลักฐานในเรื่องนี้ด้วย หลายฝ่ายมุ่งความสนใจไปยังการกระทำของบุคคลที่เปรียบเสมือนตัวละครในเรื่องนี้ นับแต่เลขาธิการ กพฐ. รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ ผู้อำนวยการ สพร. ผู้อำนวยการเขต กรรมการคุมสอบ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ต้องกระทำเพราะบุคคลเหล่่านี้จะต้องเฉลยคำตอบให้กับโจทย์ปัญหาที่สังคมสงสัย แต่สิ่งที่ถูกละเลยไปเหมือนกำลังหาคำตอบที่ถูกของคำถามที่ผิด ก็คือ ตัวละครเหล่านี้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยครั้งนี้ด้วยกฎหมายใดให้อำนาจไว้ และกฎหมายที่ว่านั้นมีเนื้อหาสาระและเจตนารมณ์อย่างไร ใครคือตัวการสำคัญซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา จึงขอนำมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อให้วิญญูชนทั้งหลายได้ใช้วิจารญาณเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

  โดยที่ปฐมเหตุของปัญหาเริ่มที่มาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้ราชการครู พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติว่า "มาตรา 50 ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาไม่สามารถดำเนินการสอบแข่งขันได้ หรือการสอบแข่งขันอาจทำให้ไม่ได้บุคคลต้องตามประสงค์ของทางราชการ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาอาจคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยวิธีอื่นได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด"  ความในมาตรานี้เป็นกรณีที่ต่อเนื่องมาจากมาตรา ๔๗ ที่บัญญัติเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน "มาตรา 47 ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  ในกรณีที่หน่วยงานการศึกษาใดมีความพร้อมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามอบให้หน่วยงานการศึกษานั้นเป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน  หลักสูตร วิธีการสอบแข่งขัน และวิธีดำเนินการที่เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ตลอดจนเกณฑ์ตัดสินการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ การนำรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ในบัญชีอื่น และการยกเลิกบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด"  ทั้งสองมาตรารวมทั้งมาตราอื่น ๆ ก็เขียนร้อยเรียงขึ้นตามหลักการกระจายอำนาจสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ตามกฎหมายการศึกษาแม่บท คือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

  ทั้งสองมาตราจึงให้อำนาจในการดำเนินการสอบแข่งขันและการดำเนินคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการครูแก่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และเป็นการกำหนดอำนาจไว้ในกฎหมายที่มีระดับศักดิ์"พระราชบัญญัติ"  แต่กฎหมายนี้ทั้งสองมาตรา ก็มีเงื่อนไขให้ ก.ค.ศ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลไปออกหลักเกณฑ์ วิธีการ สำหรับการนี้  สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือ คำว่า "ดำเนินการสอบแข่งขันและดำเนินการคัดเลือก" ที่กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีขอบเขตอำนาจตามกฎหมายอย่างไร  โดยที่หลักกฎหมายปกครองมีความเคร่งครัดในการการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ไว้จำกัดเฉพาะที่กฎหมายกำหนด ไม่เหมือนกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะตรงข้าม กล่าวคือ หากกฎหมายไม่ห้ามไว้ก็กระทำได้  จึงต้องวินิจฉัยว่าทุกกิจกรรมตั้งแต่ต้นจนจบในกระบวนการสอบแข่งขันและการคัดเลือกตามมาตรา ๔๗และมาตรา ๕๐ เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา และอำนาจตามกฎหมายนี้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ทางปกครองอื่นใดได้ด้วยกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ  เมื่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ จึงจะต้องเป็นผู้กระทำ(Action) ด้วยกลไกทางกฎหมายขององค์คณะโดยใช้หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่ ก.ค.ศ.กำหนด และต้องสามารถใช้ดุลพินิจได้โดยชอบตามควรแก่กรณีในเรื่องที่มีความจำเป็น หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน่าที่อื่นใดจะมาใข้ดุลพินิจแทนหรือก้าวล่วงไปในเขตอำนาจหน้าที่นี้ ไม่น่าจะกระทำได้

  สำหรับ ก.ค.ศ. มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๔๗ และ มาตรา ๕๐ ให้เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการ หรือเงื่อนไข ในการสอบแข่งขันและการคัดเลือก ขอบอำนาจหน้าที่ของ ก.ค.ศ. จึงมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการใช้ดุลพินิจโดยชอบไปออกหลักเกณฑ์และวิธีการให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ไปดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดในมาตราดังกล่าว แปลว่าทุกหลักเกณฑ์ทุกวิธีการและทุกเงื่อนไข ที่ ก.ค.ศ. กำหนดจะต้องให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ดำเนินการการเท่านั้น ไม่อาจขยายขอบเขตอำนาจการดำเนินการไปให้หน่วยงานปกครองหรือเจ้าหน้าที่อื่นใดกระทำการแทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้ เพราะหากทำได้ก็จะเป็นกรณีมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ทำการแทน ซึ่งโดยหลักกฎหมายปกครองการจะมอบอำนาจหน้าที่ใดให้แก่ผู้ใดได้ ผู้มอบอำนาจต้องมีอำนาจหน้าที่ที่จะมอบนั้น  สำหรับกรณีสอบแข่งขันและการคัดเลือก เมื่อพิจารณาตามลายลักษณ์อักษรที่กฎหมายบัญญัติและเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา  ก.ค.ศ.จึงมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเท่านั้น อำนาจหน้าที่อื่นนอกจากนี้กฎหมายมิได้บัญญัติไว้ ฉะนั้นการที่ ก.ค.ศ. ไปใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ ดังที่ปรากฏใน ข้อ ๑๐ ของหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ส่งมาพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ด่วนที่สุด ที่ ๐๒๐๖.๒/ว.๑๒ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕ หรือที่พวกเราเรียกกันสั้น ๆ ว่า ว.๑๒  "ข้อ ๑๐ ให้ส่วนราชการดำเนินการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ การตรวจกระดาษคำตอบ การประมวลผลการสอบ การกำหนดองค์ประกอบและตัวชี้วัด การประเมินประวัติและผลงาน รวมทั้งกำหนดนโยบายหรือแนวทางบริหารจัดการในการดำเนินการคัดเลือกเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม"  การดำเนินการตามข้อ ๑๐ ถือเป็นสาระสำคัญของการ"ดำเนินการคัดเลือก" ครูผู้ช่วยในครั้งนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติมาตรา ๕๐ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา การที่ ก.ค.ศ.ได้อาศัยเหตุที่กฎหมายให้อำนาจในการออกหลักเกณฑ์และวิธีการมาบิดเบือนกฎหมายไปมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ส่วนราชการไปดำเนินการเป็นการก้าวล่วงไปในแดนอำนาจของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการก่อตั้งองค์กรอำนาจขึ้นใหม่โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมติ ก.ค.ศ. ไม่อาจไปลบล้างอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้ ส่งผลให้หลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๑๐ และกระทำของส่วนราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ ๑๐ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ด่วนที่สุด ที่ ๐๒๐๖.๒/ว.๑๒ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๕  เป็นกฎและการกระทำที่ไม่มีอำนาจ จึงเป็นกฎและการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการกระทำของส่วนราชการดังกล่าวถือเป็นการเตรียมการจัดทำคำสั่งทางปกครอง ซึ่งมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙  บัญญัติว่า “การพิจารณาทางปกครอง” หมายความว่า การเตรียมการและการดําเนินการ ของเจ้าหน้าที่เพ่ือจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง  และมาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังกำหนดให้คำสั่งทางปกครองจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น คำว่าเจ้าหน้าที่ก็บัญญัติไว้ว่า  "เจ้าหน้าที่” หมายความว่าบุคคลคณะบุคคลหรือนิติบุคคลซ่ึงใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นใดของรัฐก็ตาม  เมื่อการเตรียมการจัดทำคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศผลการสอบครูผู้ช่วยซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่สืบเนื่องมาจากการเตรียมการจัดทำคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย อาจถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนได้ บทสรุป ความคิด ความเห็น ความหวังดี เพื่อให้เกิดการกระทำการใด ๆในทางปกครอง จะต้องคำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมายเป็นอันดับแรก " บทวิเคราะห์นี้ผมเพียงลองเขียนเป็นแบบฝึกหัดเพื่อเตรียมสอบตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ที่กำลังรับสมัครครับ ไม่ได้มุ่งหมายจะสนับสนุนหรือคัดค้านใคร หากจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็นำไปเป็นแนวทางแก้ไขในสิ่งผิด สร้างนิติรัฐและนิติธรรมให้เกิดขึ้นบ้างในวงการครูเรา ปิดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดอื่น ๆ ก็ผิดตามไปด้วย แม้ปิดเม็ดแรกถูก เม็ดต่อไปก็ต้องระวังอย่าให้ผิด (กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงในชีวิตจริงเดี๋ยวจะเครียดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ)

วันพุธที่ ๒๗  มีนาคม  ๒๕๕๖  ความร้อนจัดทำเอาเริ่มป่วยเป็นหวัด เขาเรียกว่าหวัดแดด  หมอบอกว่าหวัดแดด หรือ พิษแดด เป็นอาการที่เกิดจากการได้รับพิษร้อนจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายต้องสิ้นเปลืองพลัง เพื่อขับพิษร้อนออกจากร่างกาย เมื่อความร้อนและความชื้นสะสมอยู่ในร่างกาย จะส่งผลต่อการย่อยและดูดซึมอาหารของม้ามและกระเพาะอาหารอีกด้วย กลายเป็นเหตุให้สุขภาพทรุดโทรมลงได้  อาการหวัดแดดมักสับสนระหว่างอาการ “ไข้หวัด” กับ “หวัดแดด” ซึ่งจะมีอาการที่คล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก กล่าวคือ มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เหมือนกัน แต่ไข้หวัดจะมีอาการ น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ เพิ่มเข้ามา ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อไวรัส การตากฝน หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน ในขณะที่หวัดแดดจะมีอาการตาแดง เนื้อตัวร้อน มีสาเหตุจากการตากแดดเป็นเวลานาน การเปลี่ยนอุณหภูมิฉับพลันของกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น  จะอย่างไรก็ช่างเถอะหายากินไว้ล่วงหน้าปลอดภัยที่สุด  คุณคนึง ย้อยเสริฐสุด ผอ.สกสค.สงขลา อดีต ผอ.สพป.ตรัง เขต ๒ โทร.มาคุยบอกว่านอนอยู่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หมอตัดม้ามไปแล้ว เพราะป่วยตืดเชื้อ เลยต้องปลอบใจว่าตัวเองก็เคยตัดปอดทิ้งไปแล้วเหมือนกัน ยังมีชีวิตรอดมาทุกวันนี้  คนโบราณเชื่อว่าแมวมี 9 ชีวิต ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเห็นแมวตกจากที่สูงแล้วไม่ตาย แล้วทำไมแมวตกจากที่สูงแล้วถึงไม่ตาย? ถ้าตอบตามสามัญสำนึกก็คงตอบว่า เพราะแมวสามารถพลิกตัวแล้วเอาขาลงพื้นได้ทุกครั้ง ไม่เหมือนเวลาคนตกจากสูงที่มักจะเอาหัวลงก่อนทุกที แล้วถ้าเราเพิ่มความสูงขึ้นล่ะ? อย่างเช่นปล่อยแมวลงมาจากตึกใบหยกแมวจะยังมีชีวิตรอดรึเปล่า? ความคิดนี้ดูโหดร้ายขึ้นมาทันที แต่นักวิทยาศาตร์เองก็เคยสงสัยเรื่องนี้เช่นเดียวกัน  "แมวตกจากที่สูงแค่ไหนถึงจะตาย?" ในปี 2532 นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Jared Diamond ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้ในวารสาร Nature โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Why cats have nine lives (ทำไมแมวถึงมี 9 ชีวิต)  เป็นผลการศึกษาจากแมว 115 ตัว ซึ่งตกจากตึกความสูงต่างๆ ตั้งแต่ 2 ชั้น จนถึง 32 ชั้น!  พบว่าแมว 104 ตัว (90%) มีชีวิตรอด และได้รับบาดเจ็บไม่มากนัก หลายคนคงเดาว่าแมวที่ตายนั้น คงเป็นตัวที่ตกมาจากตึกชั้น 31-32 แต่เปล่าเลย แมวที่ตายส่วนใหญ่ตกลงมาจากชั้น 7 ! และที่ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ตกลงมาจากชั้น 4-9! ในขณะที่แมวที่ตกมาจากชั้นสูงๆ (20-32) กลับได้รับบาดเจ็บน้อยกว่า  เป็นผลการศึกษาที่ขัดแย้งกับความรู้สึกทั่วไปอย่างมาก  ใครอยากเข้าใจเรื่องนี้ต้องคิดคำนวณเชิงฟิสิกส์กันหน่อย ที่ยกมาเพียงอยากเล่าให้ฟัง 

 

วันพฤหัสบดีที่ ๒๘  มีนาคม  ๒๕๕๖  วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาความดีความชอบ เต็มวัน กรรมการเปลี่ยนหน้ากันไป แต่ประธานคนเดิม วันนี้เป็นเรื่องของการวางหลักในการพิจารณา จัดสรรโควตาให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ตามตัวเลขบังคับ ๑๕ % สำหรับเศษหาก ๐.๖ ขึ้นไปก็จะปัดให้อีก ๑ ท้ายสุดเหลือให้จัดสำหรับโรงเรียนที่ตัวเลขไม่ถึงเกณฑ์ ได้เพียง ๒ เป็นหลักคณิตศาสตร์ง่าย ๆ เพราะพื้นฐานเขามาอย่างนี้ จะไปพลิกแพลงใช้หลักรัฐศาสตร์ หลักนิติศาสตร์ หรือหลักพฤติกรรมศาสตร์ ยิ่งหาข้อยุติที่ยอมรับกันทุกฝ่ายยากมาก สำหรับข้าราชการบนสำนักงานเขต มี ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มมีวิทยฐานะ กับบุคลากรที่มาจากข้าราชการพลเรือนเดิม มีกรรมวิธีที่แตกต่างกันออกไปเพราะกลุ่มแรกรับเงินเดือนเหมือนครู คิดเป็นขั้น กลุ่มหลังเขาคิดเป็นร้อยละ  ได้อาศัยท่านรองฯสมมาตร ชิตญาติ กับผู้อำนวยการกลุ่มช่วยกันคำนวณ  ผมเองถูกยาแก้หวัดเข้าไปอยู่ในอาการครึ่งหลับครึ่งตื่น  แต่ก็ทำกันจนแล้วเสร็จ ครูกลุ่ม ค.ศ.๒ ค.ศ.๓ และ ค.ศ.๔ ที่เงินเดือนเต็มขั้นโชคดี ก.ค.ศ. ออกกฎให้เลื่อนสไลด์ไปได้อีกหนึ่งอันดับ เป็นความกรุณาของรัฐบาลที่ให้เฉพาะพวกเราที่ใช้เงินเดือนครูเท่านั้น ทางที่ดีโปรดเงียบ อย่าไปคุยเกทับข้าราชการกลุ่มอื่นเป็นอันขาด


วันศุกร์ที่ ๒๙  มีนาคม  ๒๕๕๖  เช้ามีงานทอดผ้าป่าที่โรงเรียนอนุบาลปทุมธานี กำหนดการเดิมท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาเป็นประธานฝ่ายฆราวาส แต่ติดราชการจนต้องมอบนายอำเภอเมืองปทุมธานี เป็นประธานแทน กลับจากโรงเรียนอนุบาลปทุมธานี ได้รับหนังสือจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ให้ตรวจสอบว่าการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยที่ผ่านมามีการทุจริตหรือไม่ ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อสืบข้อเท็จจริง และขอความอนุเคราะห์ท่านนิพนธ์ ดวงขวัญ อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษา เดินทางกลับที่พัก เพราะจะช่วยจัดกระเป๋าเดินทางและของใช้จำเป็นให้กับคุณครูที่บ้าน ซึ่งจะเดินทางไปฝึกทักษะทางภาษา ที่ melton College เมืองยอร์ก ประเทศอังกฤษ  เป็นโครงการที่ อบจ.นนทบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดให้กับครูภาษาอังกฤษทุกสังกัดในเขตจังหวัดนนทบุรี  


บ่ายเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทีมหน้าห้องช่วยกันไปส่ง กว่าจะเสร็จเรียบร้อยก็เกือบหกโมงเย็น  กลับมาทานข้าวเย็นที่ร้านนิตยาไก่ย่างย่านสะพานพระนั่งเกล้า ไก่ย่างเจ้านี้สู้ร้านเวียดนาม ปทุมธานีไม่ได้ ถ้าให้เรียงลำดับตำหรับไก่ย่าง อันดับหนึ่ง ไก่ย่างเขาสวนกวาง ร้านมังกรหลวงด้านข้างมหาวิทยาลัยของแก่น จังหวัดขอนแก่น  อันดับสอง ไก่ย่างวิเชียรบุรี ร้านบัวตอง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์  อันดับสาม ไก่ย่างร้านเวียดนาม ปทุมธานี ใครเจอที่ไหนอร่อยกรุณาบอกมาจะได้ตามไปชิม

กำจัด  คงหนู
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 531709เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2013 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

แวะมาอ่าน มาเติมความรู้

ขอบพระคุณบันทึกยาว ๆ ที่หลากหลายความรู้ค่ะ

เพิ่งจะเปิดพบ เรื่องเล่าจากเจ้าพระยา เมื่อเกษียณแล้ว อ่านแล้วสนุกและได้ความรู้เพิ่ม ขอชมเชย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท