หวั่นมาลาเรียระบาด ป่วยทะลุ 3 หมื่นคนต่อปี เตือนระวังเด็กเล็ก แรงงานต่างด้าว พื้นที่แนวชายแดน


 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2555 ดร.นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียทั่วโลก พบว่าในแต่ละปีจำนวนประชากรที่ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลกมีประมาณ 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 90 เกิดขึ้นในแอฟริกา ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และในทวีปแอฟริกาก็มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น  ส่วนสถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย ปี 2554 พบผู้ป่วยทั้งหมด 33,408 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วยคนไทย จำนวน 15,396 ราย  ผู้ป่วยชาวต่างชาติ จำนวน 18,012 ราย  แยกเป็นรายจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับ จังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 2,676 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 9,484 ราย  จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 1,250 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 1,733 ราย  จังหวัดศรีสะเกษ ผู้ป่วยไทย 816 ราย  จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ป่วยไทย 811 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 524 ราย  และจังหวัดยะลา ผู้ป่วยไทย 714 ราย ตามลำดับ  ล่าสุดสถานการณ์ในปี 2555 นี้(ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2555) พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,043 ราย โดยแยกเป็นผู้ป่วยคนไทย จำนวน 1,483 ราย  ผู้ป่วยชาวต่างชาติ จำนวน 1,560 ราย จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุดยังคงเป็นจังหวัดตาก ผู้ป่วยไทย 296 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 736 ราย  รองลงมาคือจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยไทย 144 ราย ผู้ป่วยต่างชาติ 254 ราย ตามลำดับ

ด้วยในช่วงวันที่ 23–27 เมษายน 2555 เป็นสัปดาห์รณรงค์ป้องกันอย่าให้ยุงกัด เพื่อกำจัดการแพร่โรคมาลาเรีย  ซึ่งจะตรงกับ “วันมาลาเรียโลก” ในวันที่ 25 เมษายนของทุกปี  และในปีนี้คำขวัญวันมาลาเรียโลก ปี 2555  คือ "Sustain Gains, Save Lives: Invest in Malaria"  แปลเป็นไทยคือ “คงไว้ซึ่งชัยชนะ รักษาไว้ซึ่งชีวิต ร่วมลงทุนพิชิตโรคมาลาเรีย” ซึ่งคำขวัญนี้เป็นการย้ำถึงรอยเชื่อมต่อของการดำเนินงานด้านมาลาเรียที่มีการทุ่มเทอย่างมาก ว่าการที่แผนที่โรคมาลาเรียจะเล็กลงเรื่อยๆเหมือนทศวรรษที่ผ่านมา หรือว่าจะเพิ่มขนาดขึ้น ขึ้นกับสิ่งสำคัญที่สุดคือ การลงทุนในด้านต่างๆ เช่น การค้นหาเครื่องมือและวิธีการที่ดีกว่าในการควบคุมโรค หรือการวิจัยเพื่อป้องกันและควบคุมโรค เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จะมีกิจกรรมการรณรงค์วันมาลาเรียโลกในปีนี้ คือ การดำเนินกิจกรรมรณรงค์ในระดับหมู่บ้านซึ่งเป้าหมาย คือ หมู่บ้านที่ตั้งในพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนของประเทศไทย เช่น จังหวัดตาก กาญจนบุรี ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน ยะลา ชุมพร เพชรบุรี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดจันทบุรี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรณรงค์โรคมาลาเรียร่วมกันระหว่างประเทศไทย ประเทศพม่าและประเทศกัมพูชา เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้งสามประเทศได้ทราบถึงภัย วิธีการป้องกันตนเอง การควบคุมโรคมาลาเรียและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เช่น การให้สุขศึกษาแก่ประชาชน ให้ความรู้เป็นรายกลุ่ม สาธิตการชุบและการใช้มุ้งชุบสารเคมีอย่างถูกต้อง การค้นหาและตรวจรักษามาลาเรีย เป็นต้น

          ดร.นายแพทย์พรเทพ  กล่าวต่อไปว่า  โรคมาลาเรีย จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค  ส่วนแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง ส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่มีบริเวณเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชันมีลำธาร  โดยยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรีย กัดและปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดคน ซึ่งเป็นวิธีตามธรรมชาติที่พบมากที่สุด หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง  ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย  ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว  เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ 

“ขอแนะนำประชาชนที่เป็นเจ้าของสวนยางพารา และนำแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานแปลกหน้าเข้ามากรีดยางหรือทำงานอื่นๆ ขอให้พาแรงงานเหล่านั้นไปรับการเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อน เพื่อป้องกันตนเองและคนในสังคม เพราะโรคมาลาเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยาและฉีดยาจนครบ  ส่วนวิธีการป้องกันทำได้โดยการนอนกางมุ้งและป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น การสวมเสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด การใช้ยาทากันยุงหรือยาจุดกันยุง  เป็นต้น  หากเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง หรืออยู่ในป่าเขา ให้ใช้มุ้งชุบสารเคมี ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในระยะเวลาอันสั้น แต่มุ้งนี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน และที่สำคัญเมื่อป่วยต้องรีบมาเจาะเลือดตรวจหาเชื้อ และขอให้กินยาจนครบถ้วนเพื่อป้องเชื้อดื้อยา  หากสงสัยอาการของโรคมาลาเรียสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร 0 2590 3333” ดร.นายแพทย์พรเทพ  กล่าวทิ้งท้าย

ข้อความหลัก " นอนในมุ้ง ทายากันยุง ไข้สูงหนาวสั่นรีบไปพบหมอ ป้องกันโรคไข้มาลาเรีย

กรมควบคุมโรค  ห่วงใย  อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี

ที่มา http://dpc9.ddc.moph.go.th/crd/news/2555/04_22_malaria.html

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 530003เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 07:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท