(7) อมรจัง!


"คนหนึ่งระวัง อีกคนหนึ่งไม่ระวังก็ใช้ไม่ได้ ทำงานมันต้องประสานกัน พูดกัน เข้าใจไหม" "นี่แหละมันจะไม่ผ่านเอชเอเพราะทำอะไรทีมใครทีมมัน"

ปีงบประมาณ 51-52 ดิฉันปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วยจิตเวชชาย 2 เป็นหอผู้ป่วยจิตเวชรับใหม่ ผู้ป่วยจึงมีอาการรุนแรงวิกฤติฉุกเฉิน กล่าวคือ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากแต่ควบคุมตนเองได้น้อย

วันนี้จะขอแนะนำให้รู้จักพระเอกของเรื่อง เป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ (ในบทความนี้จะขอใช้คำว่า 'เจ้าหน้าที่' แทนคำว่า 'ผู้ช่วยเหลือคนไข้') ร่างกายกำยำ ผิวคล้ำ เสียงดัง ปากตรง ชื่อ นายอมร จูมวันทา เขาเป็นคนพูดตรงไปตรงมาอย่างจริงใจ จึงไม่ค่อยน่าฟังเท่าไร แต่ดิฉันแอบเอ็นดูเขาเป็นพิเศษ ดิฉันเรียกเขาว่า 'อมรจัง' ซึ่งดูเหมือนอมรจังจะพึงพอใจกับชื่อใหม่ที่ตั้งให้นี้มาก ก็มีอมรจังคนดีนี่แหละที่กล้าแนะนำตักเตือนหัวหน้าเสมอ อย่างเช่น ถ้าดิฉันเข้าไปในหอผู้ป่วยช่วงวันหยุดหรือตอนกลางคืน หากพบอมรจังก็จะได้รับการทักทายว่า

"มาอีกแล้ว ทำไมไม่รู้จักอยู่บ้านอยู่ช่องกับลูกกับผัวบ้าง" "อย่างงี้.. คนทำงานเขาไม่คุ้น รำคาญตาย"

ถ้าจะให้เหมือนต้องทำเสียงสูงขึ้นจมูกด้วยนะ สรุปแล้วอมรจังห่วงหัวหน้า ห่วงลูกผัวของหัวหน้า ห่วงคนทำงาน หรือรำคาญกันแน่

เช้าวันหนึ่ง ในการรับ-ส่งเวร มีการทบทวนความเสี่ยงผู้ป่วยฆ่าตัวตายระดับ 3 หรือระดับรุนแรง พวกเราเรียกกันย่อๆ เพื่อความสะดวกว่า 'เอสสาม' (S3 = Suicide 3) จากเหตุการณ์โดยย่อว่า..

ผู้ป่วยหญิงคนหนึ่ง (รับการรักษาอยู่ที่หอผู้ป่วยหญิง) ขอมาเยี่ยมบุตรชายที่หอผู้ป่วยจิตเวชชาย 2 เมื่อเจ้าหน้าที่พาผู้ป่วยหญิงมาถึงหน้าตึกก็บอกว่าตนจะเดินกลับไปก่อน ให้ผู้ป่วยเดินเข้าไปเอง

"แล้วเดินกลับตึกเองนะ ไปให้ถูกตึกล่ะ"

ดิฉันกำลังก้มๆ เงยๆ ดูต้นไม้อยู่ที่สนามหน้าตึก ได้ยินเสียงนั้นก็อดร้องถามไม่ได้ว่าผู้ป่วยเฝ้าระวังความเสี่ยงอะไรหรือเปล่า คำตอบคือ "ระวัง ไอสาม" (I 3 = Injury 3 หรือ เฝ้าระวังความเสี่ยงผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บระดับ 3 ระดับรุนแรง) ดิฉันรับประสานมาก่อนหน้านี้ว่าจะมีผู้ป่วยหญิงที่มีประวัติพยายามผูกคอตายซ้ำๆ หลายครั้งมาขอเยี่ยมบุตรชาย อย่างไรเสียก็ต้องเป็น 'เอสสาม' ถึงจะมี 'ไอสาม' ด้วยก็ตาม จึงตรวจสอบกลับไปที่หอผู้ป่วยหญิงอีกครั้งให้แน่ใจ ได้คำตอบตรงกันว่า 'เอสสาม' จึงดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปตามหน้าที่

เช้าวันต่อมา ได้นำเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นตัวอย่างทบทวนการเฝ้าระวังความเสี่ยงฆ่าตัวตายระดับ 3 โดยตั้งคำถามเปิดประเด็นการทบทวนกับทีมงานว่า

"เจ้าหน้าที่หญิงคนที่มาส่งผู้ป่วยทราบหรือไม่ว่าผู้ป่วยเฝ้าระวังความเสี่ยงฆ่าตัวตายระดับ 3"

"ถ้าทราบ เหตุใดจึงตอบว่าเฝ้าระวังได้รับบาดเจ็บระดับ 3"

"ถ้าไม่ทราบ การปฏิบัติต่อผู้ป่วยจะแตกต่างกันไหม มีผลเสียอะไรหรือไม่"

"ถ้าเราเป็นเจ้าหน้าที่หญิงคนนั้น ควรทำอย่างไร"

ที่หอผู้ป่วยจิตเวชชาย 2 เพิ่งทำการทบทวนเรื่องนี้ไปเมื่อวันก่อน นายสืบสันต์ เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งสามารถตอบได้อย่างคล่องแคล่ว ดิฉันจึงให้คนอื่นตอบบ้าง แล้วให้สืบสันต์เป็นคนให้ข้อมูลเสริมหากเพื่อนตอบได้ไม่ครบถ้วน ตอบกันไปตอบกันมา อมรจัง ที่นั่งเงียบอยู่นานรู้สึกรำคาญก็โพล่งออกมาอย่างตรงประเด็นว่า

"นี่แหละมันจะไม่ผ่านเอชเอ เพราะทำอะไรทีมใครทีมมัน" (เอชเอ = HA)

ดิฉันรู้สึกประทับใจมากที่มีผู้สรุปสิ่งที่เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ให้แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เข้าใจถูกต้องหรือไม่ จึงขอให้อมรจังเพิ่มรายละเอียดให้อีกหน่อย อมรจังอธิบายเสียงดังว่า

"คนหนึ่งระวัง อีกคนหนึ่งไม่ระวังก็ใช้ไม่ได้ ทำงานมันต้องประสานกัน พูดกัน เข้าใจไหม"

เออ..เข้าใจ เข้าใจแล้ว และก็ขอบใจมากที่ช่วยสรุปให้เข้าใจหลักการทำงานของเอชเอให้ประสบความสำเร็จ

แหม.. อยากโคลนนิ่ง อมรจัง!


ที่มา : ปรับปรุงจากเรื่องเดิมชื่อเดียวกันโดยผู้เขียนเอง เผยแพร่ในตลาดนัดความรู้ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ปี 52

หมายเลขบันทึก: 521836เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2013 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2015 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท