วิเคราะห์ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผน


วิเคราะห์ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผน


ขุนช้าง

         ขุนช้างมีลักษณะรูปชั่วตัวดำหัวล้านมาแต่กำเนิด นิสัยเจ้าเล่ห์เพทุบายเป็นบุตรของขุนศรีวิชัยและนางเทพทองซึ่งมีฐานะร่ำรวยมาก ขุนช้างแม้จะเกิดมาเป็นลูกเศรษฐีแต่ก็อาภัพถูกแม่เกลียดชังเพราะอับอายที่มีลูกหัวล้าน จึงมักถูกแม่ด่าว่าอยู่เสมอและไม่ว่าจะเดินไปทางใดก็จะเป็นที่ขบขันล้อเลียนของชาวบ้านทั่วไปเสมอ พอเป็นหนุ่มก็ได้นางแก่นแก้วเป็นภรรยาอยู่ด้วยกันได้ปีกว่านางก็ตาย จึงหันมาหมายปองนางพิมพิลาไลยแต่นางไม่ยินดีด้วยและได้แต่งงานกับพลายแก้ว แต่ขุนช้างก็ยังไม่ลดความพยายามคงใช้อุบายจนได้แต่งงานกับนางสมใจปรารถนา ข้อดีของขุนช้าง คือรักเดียวใจเดียวและเลี้ยงดูนางวันทองเป็นอย่างดีทำให้นางวันทองเริ่มเห็นใจขุนช้าง


ขุนแผน

          ขุนแผนเดิมชื่อพลายแก้วเป็นบุตรของขุนไกรพลพ่ายและนางทองประศรีมีรูปร่างหน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด ด้วยลักษณะนิสัยเป็นคนเจ้าชู้และมีคารมคมคาย จึงง่ายต่อการพิชิตใจหญิงสาวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของพลายแก้ว  มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือม้าสีหมอก ได้บวชเณรและเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลยจนสุดท้ายไปเป็นศิษย์สมภารคง วัดแค มีความรู้ทางโหราศาสตร์ ปลุกผี อยู่ยงคงกระพันคาถามหาละลวยทำให้ผู้หญิงรักตลอดจนวิชาจากตำรับพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถเทศนได้ไพเราะจับใจอีกด้วย  ต่อมาสึกจากเณรแล้วแต่งงานกับนางพิมพาลาไลย ไม่นานก็ถูกเรียกตัวไปเป็นแม่ทัพรบกับเชียงใหม่  ครั้นได้ชัยชนะกลับมาก็ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้านแต่ปรากฎว่าภรรยาแต่งงานใหม่กับขุนช้าง  ภายหลังขุนแผนต้องโทษถูกจำคุกถึง ๑๕ ปี จึงพ้นโทษ และทำสงครามกับเชียงใหม่อีกครั้งเมื่อชนะกลับมาก็ได้ตำแหน่งเป็นพระสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี


นางวันทอง

           นางพิมพิลาไลยเป็นหญิงรูปงามแต่ปากจัดเป็นบุตรของพันศรโยธาและนางศรีประจัน  ต่อมาได้แต่งงานกับพลายแก้วซึ่งภายหลังมีลูกชายด้วยกัน คือ พลายงาม  และได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวัน ต่อมานางถูกแม่บังคับให้แต่งงานใหม่กับขุนช้างทำให้ถูกประนามว่าเป็นหญิงสองใจ นางวันทองเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ  เมื่อมีคดีฟ้องร้องถึงสมเด็จพระพันวษา ซึ่งพระองค์ให้นางเลือกว่าจะอยู่กับใครแต่นางตัดสินใจไม่ถูกจึงถูกสั่งประหารชีวิต
นางวันทองมีลักษณะสาวชาวบ้านจึงเป็นคนซื่อ ไม่ค่อยฉลาดเท่าใดนัก ทำอะไรก็ทำตามประสาหญิงชาวบ้าน แต่สังคมไทยมีความจำกัดให้ผู้หญิงอยู่ในกรอบของประเพณี จึงทำให้ดูเหมือนว่านางวันทองไม่รักนวลสงวนตัว อย่างไรก็ตาม นางวันทองก็ยังมีภาพลักษณ์ด้านดีที่เห็นได้ชัด คือ ความละเอียดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรับรู้ถึงความดีของผู้อื่นที่ปฏิบัติต่อนาง ดังจะเห็นได้จาก  ถึงแม้นางจะไม่ได้รักขุนช้างแต่ด้วยความดีของขุนช้างและความผูกพันที่อยู่กันมา 15 ปี ทำให้นางเป็นห่วงเป็นใยความทุกข์สุข และความรู้สึกของขุนช้างไม่น้อย   นางวันทองยังเป็นแม่ที่ดี คือเมื่อเห็นลูกกำลังกระทำผิดก็ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย ดังจะเห็นได้จากตอนที่พลายงามบุกขึ้นเรื่อนขุนช้างในยามวิกาล  นอกจากนี้นางวันทองยังเป็นคนกล้าที่จะยอมรับชะตากรรมของตัวเอง มีน้ำใจเมตตา และให้อภัยโดยไม่เคียดแค้น   


สมเด็จพระพันวษา
             สมเด็จพระพันวษา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายุคนี้เป็นยุคที่บ้านเมืองเจริญรุ่งรือง มีความอุดมสมบูรณ์ราษฎรทั้งหลายอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข บรรดาประเทศใกล้เคียงก็อ่อนน้อมเพราะยำเกรงบารมี
ครั้งสมเด็จพระพันวษานารากร ครองนครกรุงศรีอยุธยา  เกษมสุขแสนสนุกดังเมืองสวรรค์ พระเดชนั้นแผ่ไปในทิศา
เป็นปิ่นภพลบโลกโลกาครอบครองไพร่ฟ้าประชากร  เมืองขึ้นน้อยใหญ่ในอาณาเขตเกรงพระเดชทั่วหมดสยดสยอน
ต่างประเทศขอบเขตพระนครชลีกรอ่อนเกล้าอภิวันท์   พร้อมด้วยโภไคยไอศูรย์ สมบูรณืพูนสุขเกษมสันต์
พระองค์ทรงทศพิราชธรรม์ ราษฎรทั้งนั้นก็ยินดี
            สมเด็จพระพันวษามีนิสัยโกรธง่าย แต่พระองค์ก็นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความยุติธรรมต่อพวกทหาร เสนาอำมาตย์ และราษฎรพอสมควร เมื่อมี คดีฟ้องร้องกัน ก็จะให้มีการไต่สวนและพิสูจน์ความจริง


นางสายทอง

             นางสายทองเป็นพี่เลี้ยงนางพิมพิลาไลย ได้เลี้ยงดูกันมาตั้งแต่เด็ก ๆจึงมีความรักใคร่สนิทสนมกันมากเหมือนพี่น้องแท้ๆนางช่วยเป็นแม่สื่อให้พลายแก้วกับนางพิมพิลาไลย รักกัน และรู้เห็นเป็นใจให้ทั้งสองแอบไปพบกันหลายครั้งต่อมานางก็ตกเป็นภรรยาของพลายแก้วนางสายทองเป็นเพื่อนคอยปลอบใจยามที่นางพิมพิลาไลยโศกเศร้าเพราะความอาลัยรักและห่วงใยพลายแก้วที่จากไปทำสงครามในแดนไกลแต่นางไม่ได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับพลายแก้ว อย่างใกล้ชิดในฐานะสามีภรรยาเลยแม้ว่าพลายแก้วจะมีหน้าที่ราชการสูงขึ้น ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน และได้เลื่อนเป็นพระสุรินทรฤาไชย นางสายทองก็ยังอยู่กับนางศรีประจัน แม่ของนางพิมพิลาไลยเช่นเดิม


นางลาวทอง

            นางลาวทอง เป็นลูกของแสนคำแมน นายบ้านจอมทอง แห่งเชียงใหม่ แม่ชื่อนางศรีเงินยวงพ่อยกนางให้เป็นภรรยาของพลายแก้วเพื่อตอบแทนบุญคุณที่กองทัพของพลายแก้วไม่ได้รุกรานผู้คนในหมู่บ้านให้เดือดร้อนพลายแก้วพานางกลับมาที่กรุงศรีอยุธยา ด้วย เมื่อได้ตำแหน่งขุนแผนแสนสะท้านแล้วก็พานางไปที่สุพรรณบุรี ครั้นได้พบกับนางวันทองก็โต้เถียงกันอย่างรุนแรงขุนแผนโกรธที่นางวันทองพูดก้าวร้าวล่วงเกิน จึงพานางลาวทองไปอยู่ที่กาญจนบุรีต่อมานางป่วยหนักขุนแผนจึงออกจากวังมาเยี่ยมทำให้ขุนช้างมีโอกาสใส่ความขุนแผนนางจึงถูกพรากเข้าไปอยู่ในวังทำหน้าที่ปักสะดึงกรึงไหมแต่เมื่อขุนแผนขออภัยโทษให้นางเป็นอิสระ สมเด็จพระพันวษาก็ไม่พอใจสั่งจำคุกขุนแผนไว้ นางลาวทองจึงต้องพลัดพรากจากขุนแผนเป็นเวลานานถึง ๑๖ปีจนกระทั่งขุนแผนพ้นโทษจึงได้กลับมาอยู่ด้วยกันอีก


นางบัวคลี่

           นางบัวคลี่ เป็นลูกสาวของหมื่นหาญกับนางสีจันทร์ นางมีรูปโฉมงดงามราวกับสาวชาววังเจ้าเมืองกรมการแห่ง กาญจนบุรีรู้กิตติศัพท์ความงามของนางก็ส่งคนมาสู่ขอแต่พ่อของนางไม่ยอมยกให้ เมื่อขุนแผนเดินทางไปเสาะหาของ ๓ อย่าง คือ กุมารทองดาบฟ้าฟื้น ม้าสีหมอก ได้มาพบนางบัวคลี่เข้าก็มีความพอใจและทำนายดูก็รู้ว่าลูกคนแรกที่เกิดกับนางจะเป็นผู้ชายขุนแผนจึงเข้าฝากตัวเป็นลูกสมุนกับพ่อของนาง และได้นางเป็นภรรยา จนนางตั้งทองต่อมาพ่อของนางเห็นว่าขุนแผนมีวิชาอาคมเหนือกว่าก็เกรงว่าจะถูกยึดอำนาจจึงสั่งให้นางบัวคลี่วางยาพิษฆ่าขุนแผนเสียนางก็เชื่อฟังพ่อยอมทำตามแต่ผีพรายของขุนแผนมาบอกขุนแผนจึงรู้ตัวก็แค้นเคืองที่นางคิดไม่ซื่อ จึงแกล้งทำเป็นถูกยาพิษและไม่สบาย ครั้นนางนอนหลับก็ใช้มีดผ่าท้องของนางควักเอาลูกในท้องออกมาทำพิธีปลุกเสกเป็นกุมารทอง


นางทองประศรี

             นางทองประศรี เดิมเป็นชาวบ้านวัดตระไกรพอแต่งงานกับขุนไกรพลพ่ายก็ย้ายไปอยู่กินด้วยกันที่สุพรรณบุรีแล้วให้กำเนิดลูกชายคนหนึ่งคือ พลายแก้ว เป็นหญิงที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยว ทรหดอดทนในคราวที่ขุนไกรผู้เป็นสามีประสบเคราะห์กรรมถึงถูกประหารชีวิตนางทองประศรีรู้ข่าวก็รีบพาลูกหนีเข้าป่ามุ้งหน้าไปหาญาติของขุนไกรที่กาญจนบุรีแล้วตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินอย่างขยันขันแข็งค่อยเก็บหอมรอมริบ จนมีฐานะดีขึ้นและเลี้ยงลูกชายคนเดียวอย่างเอาใจใส่ คอยอบรมสั่งสอนให้เป็นคนดีอยู่เสมอ



หมายเลขบันทึก: 520717เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2013 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เด็กหญิงณิชารีย์ (น้องปิ่นเพชร)


อยากรู้ว่าภรรยาคนแรกของขุนศรีวิชัยคือใครค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท