นักวิชาการหนุน “ทักษิณ” ถอย ใช้กระบวนการสันติลดวิกฤติ


                (ข้อความข่าวจาก นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 กันยายน 2549 หน้า 1, 3)

                นักวิชาการ หวั่นสังคมวิกฤติ เกิดสงครามกลางเมือง แนะ ทักษิณ ถอย ดับความแตกแยก เหตุวิกฤติหลักมาจาก ผู้นำ และลดการผูกขาด ขจัดกลุ่มทุนการเมืองที่ได้อภิสิทธิ์กว่ารายอื่น ขณะเดียวกัน ต้องยึดหลักสมานฉันท์ในการแก้ปัญหา รวมทั้งอภิวัฒน์สื่อกันอย่างจริงจัง 

                กรุงเทพธุรกิจ ได้จัดโครงการเสวนา วาระรัฐบาลใหม่ ในหัวข้อ ทางออกฝ่าวิกฤติความขัดแย้งของชาติเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อารง สุทธาศาสน์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาโลกอิสลาม และดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิถีทรรศน์ 

                นายไพบูลย์ กล่าวว่า ถ้าพูดถึงความขัดแย้งระดับชาติในปัจจุบัน มี 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายเอากับฝ่ายไม่เอา กลุ่มที่ 2 คือความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่องมาถึงกลไกของรัฐ นโยบายของรัฐ แล้วก็ต่อไปถึงสังคมไทยด้วย กลุ่มที่ 3 เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายและโครงการสาธารณะซึ่งมีอยู่มาก แบบที่ 3 ที่จริงเป็นเรื่องปกติในนานาประเทศจะมีอยู่เสมอ คือ ความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบาย และโครงการสาธารณะ แต่สำหรับประเทศไทยมันถูกโยงเข้าไปในเรื่องกลไกของรัฐนโยบายของรัฐและอื่นๆ 

                ซึ่งเหล่านี้เกี่ยวพันไปถึงระบบ โครงสร้าง ทัศนคติ จิตสำนึกลึกลงไป ฉะนั้นถ้าเผื่อว่าจะแก้ไขหรือผ่อนคลาย ไม่ใช่เรื่องที่จะคิดง่ายๆ ทำง่ายๆ เช่น บางคนบอกปฏิวัติรัฐประหารคงไม่ใช่ หรือว่าเลือกตั้งให้รู้ไปว่าฝ่ายไหนชนะฝ่ายไหนแพ้ก็ไม่ใช่ หรือบอกว่ายอมกันเถอะแล้วมาจับมือกันก็ไม่ใช่ 

                สาเหตุขัดแย้งที่ใหญ่มากเป็นสาเหตุเชิงโครงสร้าง หมายถึงระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ที่เราเป็นสังคมเชิงดิ่ง สังคมเชิงอุปถัมภ์ สังคมเชิงอำนาจ และยังมีเรื่องของกิเลส ความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากรวย ความโกรธหรือความเป็นปฏิปักษ์ความอาฆาตมาดร้ายต่อกัน 

                ทางออกที่คิดได้คือ พยายามให้อยู่ด้วยกันได้อย่างร่มรื่น อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติ อย่างมีความสมานฉันท์ แต่เหตุที่รัฐบาลนี้มีปัญหามากในแง่ของความไม่ลงตัวเกิดความขัดแย้งขึ้นเพราะว่าไม่มีความสมาน สมานนี่แปลว่ารัฐบาลกับประชาชนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกลมกลืนเข้าหากัน นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลไม่ได้มองตัวเองว่าอยู่เหนือประชาชน หรือว่าแปลกแยกจากประชาชน และคำว่าประชาชนต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมด ถ้ารัฐบาลไปมองว่าประชาชนบางส่วนไม่ใช่พวก ประชาชนบางส่วนเป็นศัตรู นี่แปลว่าไม่สมาน

แนะผู้นำถอย-พักรบเปิดสมานฉันท์ 

                นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ทางออกที่สรุปได้มี 4 ทางคือ ข้อ1 ทำตัวสมานโดยเฉพาะคนที่มีอำนาจในการจัดการ ข้อ 2 ทำให้มีการลดกิเลสและนำไปสู่ความซื่อสัตย์ ความสุจริต ความมีคุณธรรมจริยธรรม ข้อ 3 จัดกระบวนการและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น กระบวนการที่เรียกว่าสันติวิธี และข้อ 4 ผู้นำควรตัสินใจดำเนินการในทางที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น 

                การแก้ปัญหาวันนี้ ผู้นำต้องถอยออกมา พักรบ เปิดช่องให้ใจ เชื่อว่าหลังกลับจากต่างประเทศ ท่านคงคิด และอาจทำอะไรอย่างที่เราคาดไม่ถึงได้ สิ่งหนึ่งที่ผมอยากเสนอให้พิจารณา คือ จัดประชุมครม.สัญจรที่สวนโมกข์ ไชยา ประชุมเสร็จก็นิมนต์พระมานำปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาร่วมกัน เพื่อจะได้เกิดปัญญาที่ถือเป็นก้าวแรกของการเปิดช่องให้ใจ นอกจากนั้น ต้องมีการปฏิรูประบบ และอภิวัฒน์วัฒนธรรม นายไพบูลย์ กล่าว

วิกฤติส่วนตัวผู้นำส่งผลระดับชาติ 

                ดร.อารง กล่าวว่า ถ้าเราจะดูวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เราจะต้องย้อนไปดูอดีตสักนิดนึงว่าเรื่องทั้งหมดมันเกิดจากวิกฤติของผู้นำเพียงคนเดียวเท่านั้นเอง คนอื่นไม่เกี่ยว เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้นำเท่านี้เอง มีหรือไม่มีอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ว่าตั้งข้อสงสัย แต่ผู้นำแทนที่จะคลี่คลายก็ผลักวิกฤติตัวเองให้เป็นวิกฤติทางการเมือง ให้เป็นวิกฤติของชาติ เรื่องก็บานปลายใหญ่โต ทุกระบบก็ขัดแย้งกันหมด หากไม่แก้ไข อาจจะเลวร้ายถึงสงครามกลางเมือง 

                ดังนั้นทางออกจุดแรกคือ การเว้นวรรคทางการเมืองของผู้นำ เพราะผู้นำในขณะนี้คนจำนวนมากกลืนเข้าไปไม่ได้หมือนคนเป็นไข้ กินของดีก็คายออก กินของไม่ดีก็คายออกเพราะฉะนั้นการที่หลายคนพูดว่าผู้นำจะต้องเว้นวรรคในทางการเมืองเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันปั่นจากวิกฤติของผู้นำเพียงคนเดียว 

                เว้นวรรคแล้วก็ต้องทำลายระบอบด้วย คือ จุดเริ่มต้นถ้าไม่เว้นวรรคคลี่คลายไม่ได้หรอก ที่สำคัญท่านผู้นำต้องใจกว้างพอ ไม่ต้องมาตำหนิท่านหรอก แต่การถอยมาสักระยะหนึ่งจะคลี่คลายได้จุดหนึ่ง ประการที่สอง การเลือกตั้งนี่สำคัญ ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี มันก็จะคลี่คลายจุดเดือดได้อีกจุดหนึ่งเหมือนกัน ส่วนรัฐบาลใหม่ ควรทำอะไรให้มันแตกต่างจากรัฐบาลชุดนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้หลายๆ คนได้ทำนั้น เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยกค่อนข้างจะมาก

ชี้กลุ่มทุนเป็นปัจจัยความขัดแย้ง 

                ด้าน ดร.ผาสุก กล่าวยอมรับว่า กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจของไทย เป็นตัวประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งในการเมือง และสังคมไทย พอเราพูดถึงความขัดแย้ง ถึงแม้ในช่วงระยะต้นๆ เราจะพบว่ากลุ่มทุนจะเงียบ ไม่ออกมาแสดงอะไร แต่ความขัดแย้งมันคุกรุ่นอยู่ก่อนแล้ว เช่นเมื่อวันก่อน คุณบัณฑูร ล่ำซำ ลุกขึ้นมาพูดว่าทุนเทศทับทุนไทย อันนี้มันเป็นตัวแสดงความขัดแย้งระหว่างการแข่งขันของทุนต่างประเทศกับทุนไทย 

                ปัจจุบันใครใกล้ชิดกับอำนาจ ก็สามารถเข้าถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ หรือสัมปทานบางอย่าง หรือว่าสิทธิพิเศษอะไรบางอย่าง ก็อาจอยู่รอดปลอดภัยได้ดีกว่าคนอื่นๆ ตรงนี้มันนำไปสู่ความขัดแย้ง บางคนจะวิเคราะห์ออกมาว่ามันเป็นการขัดแย้งระหว่างทุนเก่ากับทุนใหม่ แล้วก็ให้คำจัดความว่าทุนเก่าคือ ทุนอาจจะโยงกับศักดินาแต่ที่พูดชัดเจนคือ เป็นทุนแบบดั้งเดิม อันนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือ ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับว่า คุณเป็นทุนที่อยู่วงนอก หรืออยู่วงในของการเมือง

ชี้ทางออกกำจัดผูกขาด-อภิสิทธิ์ 

                ดร.ผาสุก อธิบายว่าที่ตอนนี้ มันกลายเป็นเรื่องของทุนนิยมพรรคพวก ส่วนทุนวงนอกตอนแรกๆ ก็ต้องเงียบเสียงไว้ก่อน เพราะถ้าขืนเสียงดังก็อาจจะถูกตัดขา หรือตัดหู แต่ระยะต่อมาเราเริ่มได้ยินเสียงแล้วว่าทุนที่อยู่วงนอกเริ่มบอกแล้วว่า ตอนนี้ทำอะไรมันติดขัดไปหมดเลย มีการแทรกแซงเต็มไปหมด 

                ความขัดแย้งตอนนี้มันเริ่มถึงจุดที่กลุ่มทุนที่อยู่วงนอกเริ่มรู้สึกว่าทนไม่ได้แล้ว จึงเริ่มประสานกับส่วนอื่นๆ ที่มีความไม่พอใจในเรื่องอื่นๆ และจากจุดนี้ต่อไปดิฉันคิดว่าเมื่อกลุ่มทุนที่เป็นผู้ขัดแย้งแสดงชัดเจนขึ้น ก็เป็นจุดวิกฤติของอำนาจรัฐบาลปัจจุบันดร.ผาสุก กล่าว 

                ทางออกในประการแรก คือ โยงกับเรื่องนักธุรกิจวงนอกวงใน ก็คือจะต้องกำจัดการผูกขาดทั้งหลาย การเข้าถึงอภิสิทธิ์ทั้งหลายโดยรูปธรรม 

                สิ่งสำคัญอีกอันที่ต้องตามมาก็คือ การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันที่ทำให้เกิดเอาเงินภาษีของประชาชนไปเข้ากระเป๋าตัวเอง หรือนำไปใช้อย่างสาดเสียเทเสีย อันนี้เป็นเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างจริงจังดร.ผาสุก กล่าว

เทียนชัย หนุนพลังประชาชนสู้ 

                ดร.เทียนชัย เห็นว่า ไม่คิดว่าคุณทักษิณจะลาออก ไม่มีทาง เราต้องอยู่กับท่านอีกนาน เพราะคนๆ นี้เงินมันเยอะ เงินกับอำนาจมันอยู่ด้วยกัน ทางออกผมคิดว่ามันอยู่ที่ประชาชน คำถามคือ ปัจจุบันประชาชนจะแสดงอำนาจที่เราเรียกประชาธิปไตยออกมาได้อย่างไร อย่างมีพลังที่สุดที่เราสามารถจะแสดงได้ มันคือตัวที่จะดุลอำนาจ และจะไปควบคุมพฤติกรรมต่างๆ ที่มันเลวร้ายทั้งหมด 

                เขายังกล่าวอีกว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การอภิวัฒน์สื่อ เพราะบทบาทของสื่อนี่สำคัญมากในยุคโลกาภิวัตน์ ทางออกที่สอง เป็นขบวนการทางสังคม ที่กลุ่มทางสังคมต้องออกมาช่วยกันแสดง ไม่ใช่พวกอาจารย์เท่านั้นที่ต้องออกมา แต่ว่าจะต้องมีองค์กรทางสังคมอื่นๆ แสดงบทบาทกัน อย่างเช่น สภาพัฒน์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 ก.ย. 49

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 51936เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2006 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท