การแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกในผู้เรียนระดับประถมศึกษา


การแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกในผู้เรียนระดับประถมศึกษา

                              

                                                                                                                       

                                                                                                                                          เฉลิมลาภ ทองอาจ

                                                                                     โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ฝ่ายมัธยม

                                                                                                      คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



               ปัญหาการอ่านไม่ออกเป็นปัญหาที่มีมาอยู่ทุกยุคสมัย และสร้างความหนักใจให้แก่ครูและผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาไม่น้อย  ความหนักใจที่ว่าก็คือการทราบว่า หากนักเรียนอ่านไม่ออก ต่อไปภายหน้าพวกเขาก็ย่อมขาดพื้นฐานในการศึกษาหาวิชาความรู้ต่างๆ จะพัฒนาตนก็ต่อไปค่อนข้างจะยากลำบาก  ด้วยเหตุนี้ ครูในประดับประถมศึกษาจึงต้องเข้ามามีบทบาทหลักในการแก้ปัญหาดังกล่าว  แต่การเข้ามาจัดการกับปัญหานี้  จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อครูเข้าใจขั้นตอนและวิธีการจัดการเรียนการสอนเสริม เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก ที่นักวิชาการได้นำเสนอไว้  

               รองศาสตราจารย์ คุณหญิง สมจิตต์  ศรีธัญรัตน์  อดีตครูใหญ่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน  (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๒๓) เป็นนักการศึกษาผู้หนึ่งที่ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมา ท่านจึงได้เสนอแนวทางการสอนซ่อมเสริมนักเรียน ผู้มีปัญหาอ่านไม่ออกของโรงเรียน ณ ขณะนั้นไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อครูประถมศึกษาทุกคนในการที่จะนำไปปรับใช้กับนักเรียนของตนเอง  



              คุณหญิง ฯ เขียนไว้ในเอกสารเรื่อง การสอนซ่อมเสริม  ว่า แม้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก (กรณีเด็กในระดับประถมศึกษา) จะสร้างความหนักใจแก่ครูเพียงใด แต่ก็ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและแก้ไข เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานของการศึกษาเล่าเรียนทุกวิชา  คุณหญิงได้เสนอหลักการอันเป็นหลักวิชาการง่ายๆ แก่ครูโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ไว้สรุปได้ดังนี้

                1.  การพัฒนาทักษะการอ่านของนักเรียน  ให้เริ่มต้นจากวินิจัยระดับหรือสมรรถนะการอ่านที่นักเรียนมีอยู่ ณ ปัจจุบันเสียก่อน วิธีการวินิจฉัยก็คือ การให้นักเรียนทดลองอ่านหนังสือเล่มต่างๆ ถ้าเด็กอ่านเล่มใดไม่ได้ ก็ให้อ่านเล่มที่ง่ายกว่าลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพบหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง  ที่นักเรียนอ่านได้เกือบทั่งหมด นั่นก็คือระดับการอ่านที่นักเรียนมีอยู่จริง และให้นับระดับนี้เป็นจุดเริ่มในการพัฒนาการอ่านต่อไป 

               2.  เมื่อทราบระดับการอ่านของนักเรียนผู้นั้นแล้ว (ใช้คำว่าผู้นั้นแสดงให้เห็นการพัฒนาเป็นรายบุคคล) ให้นักเรียนอ่านหนังสือที่มีคำศัพท์เดิมและคำศัพท์ใหม่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อให้เกิดความคุ้นตา จนนักเรียนผู้นั้นสามารถที่จะเทียบเสียงอ่านและขยายไปสู่คำศัพท์ที่มีลักษณะการเขียนคล้ายกันได้ 

               3.  การอ่านแจกลูกและการเทียบเสียง ควรจะฝึกหัดหลังจากที่เด็กได้ทดลองอ่านเป็นคำหรือเป็นประโยคแล้ว เพราะการอ่านแจกลูกก่อน อาจทำให้เด็กติดที่รูปอักษรและเสียง ทำให้มัวแต่พะวงกับการประสมเสียงของอักษร จนไม่ได้พิจารณาความหมาย ดังนั้น ท่านเห็นว่า ควรให้ฝึกอ่านเป็นคำๆ เชื่อมโยงคำกับประโยค เมื่อพอทราบความ  หรือคล่องพอควรแล้ว  จึงค่อยมาฝึกเรื่องแจกลูกและเทียบเสียงคำ



                4. ครูผู้สอนต้องให้ความสำคัญกับการอ่านเพื่อความเข้าใจ คือ   การจับใจความหรือสรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านได้  วิธีการง่าย ๆ ที่คุณหญิงเสนอแนะ คือ การให้เวลานักเรียนอ่านหนังสือสักพักหนึ่ง จากนั้นให้ปิดหนังสือ แล้วให้นักเรียนผู้นั้นเล่าสาระสำคัญของเรื่องตามความเข้าใจของตนเอง โดยไม่ใช่ลักษณะของการท่องจำ แต่เป็นการพยายามอธิบายด้วยสำนวนภาษาของตนเองเป็นหลัก

                5.  โรงเรียนต้องมีหน้าที่จัดหาหนังสือที่สอดคล้องกับระดับการอ่านของนักเรียนและมีความสนใจ จูงใจให้พวกเขารักการอ่าน การพัฒนามุมหนังสือ และห้องสมุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในโรงเรียน  ห้องเรียนของโรงเรียนสาธิต มศว. ปทุมวัน จึงมีชั้นหนังสือที่น่าสนใจ ทั้งหนังสือที่เป็นผลงานรวมเล่มงานเขียนของนักเรียน และผลงานวิชาการที่โรงเรียนทำในวาระโอกาสต่างๆ ไว้ให้นักเรียนนำมาค้นคว้าศึกษาอยู่เสมอ

                 จะเห็นได้ว่า แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ได้ยากจนเกินไปและสามารถนำไปปรับใช้กับนักเรียนประถมศึกษาที่ปัญหาได้ทุกระดับ  ทั้งนี้ การจัดสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ที่ส่งเสริมให้เกิดการอ่าน เป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจใฝ่รู้ที่จะอ่านหนังสือ  ซึ่งทุกโรงเรียนก็ควรที่จะตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้ให้มาก


          

________________________________________________


หมายเลขบันทึก: 519092เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2013 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท