น้อยไจยา - ด้วยรักที่ผูกใจไว้เป็นหนึ่งเดียว



...

นอกเหนือไปจากตำนานความรักที่เลื่องลือของหมะเมี๊ยะและเจ้าน้อยศุขเกษมแล้ว น้อยไจยาและแม่นางแว่นแก้วก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของความรักที่งดงาม แสนไพเราะที่ขับกล่อมผู้คนแถบบ้านฉันมาตั้งแต่ฉันเป็นเด็ก

ชายหญิงคู่หนึ่งยืนพรอดรักกันอยู่บนเวทีแบบบ้านๆ ฝ่ายชายใส่เสื้อม่อห้อม กางเกงผ้าสะโหร่งมีผ้าขาวม้ามัดเอว แม่หญิงใส่เสื้อแขนกระบอกนุ่งผ้าซิ่น มวยผมแซมด้วยดอกเอื้องสีเหลือง ทั้งคู่กำลังแสดงการฟ้อนรำประกอบเพลงน้อยไจยาซึ่งเปิดบรรเลงกล่อมผู้คนที่นั่งล้อมวงบนเสื่อพลาสติกสีแดงทานอาหารขันโตกอยู่หน้าเวทีซึ่งตั้งอยู่กลางลานวัด จำได้ว่าชายหนุ่มกับหญิงสาวที่กำลังแสดงเป็นน้อยไจยาและแม่นางแว่นแก้วก็เป็นคู่รักกันในชีวิตจริง อะไรจะโรแมนติกไปมากไปกว่านี้ เด็กตัวเล็กๆ อย่างฉันก็ได้แต่ยืนดูการแสดงบนเวทีจากนอกบริเวณรั้วไม่ไผ่แต่งแต้มด้วยดอกไม้ต้นไม้ที่กั้นไว้ให้แขกเหรื่อเข้าไปนั่งทานอาหารเย็นกัน บรรยากาศงานเลี้ยงต้อนรับคณะผ้าป่าหรือกฐินจากกรุงเทพหรือทางใต้ของวัดแถบบ้านยังแจ่มชัดอยู่ในความทรงจำ 

นอกจากการแสดงการฟ้อนน้อยไจยาแล้ว ในงานวัดเช่นนี้เท่าที่จำได้ก็ยังมีการรำอธิษฐาน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนแม้ว บางครั้งก็มีการฟ้อนกลองสะบัดชัยอีกด้วย ช่างฟ้อนทั้งหลายก็คือสาวน้อยสาวใหญ่ในหมู่บ้านนั่นเอง มีอยู่ครั้งหนึ่งฉันก็ได้รับทาบทามให้ไปเป็นช่างฟ้อนเล็บกับเขาด้วย แต่อนิจจาด้วยความสวยที่มีจำกัดตั้งแต่เด็ก พอไปออดิชั่นครั้งแรกครูสอนช่างฟ้อนในหมู่บ้านก็ตัดสินใจไม่อาจเลือกฉันให้เป็นหนึ่งในบรรดาช่างฟ้อนได้ ความหวังที่จะได้เป็นสาวงามเมืองเหนือฟ้อนเล็บอ่อนช้อยบนเวทีเพื่อให้แขกบ้านแขกเมืองได้ประทับจิตประทับใจดับวูบไปในทันที ฉันจึงต้องมายืนดูการฟ้อนน้อยไจยาข้างๆ เวทีต่อไป

ผ่านไปเกือบสามสิบปี ฉันก็ได้มานั่งฟังเพลงน้อยไจยาอีกครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อน เราบังเอิญได้ขับรถผ่านไปแถบอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ก็เลยชวนกันแวะไปที่สวนหลวงราชพฤกษ์ เพื่อเดินชมพืชพรรณไม้ดอกไม้ประดับหลังจากทำธุระเสร็จในเวลาเย็น พอดีว่าที่นั่นกำลังมีการจัดงานเทศกาลดอกไม้บาน และมีดนตรีโฟล์คซองคำเมืองบรรเลงในค่ำวันนั้น เราจึงเข้าไปนั่งฟังเพลงคำเมืองที่ขับขานบนลานกว้างหน้าหอคำหลวงโดยคุณคำหล้า ธัญยพร และทีมสะล้อซอซึง

นอกเหนือไปจากความอ่อนช้อย การเกี้ยวพาราสีของคู่รักที่แสดงบนเวทีเมื่อครั้งก่อน ค่ำวันนั้นฉันได้นั่งฟังเนื้อเพลงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความสงสัย ความน้อยเนื้อต่ำใจ การใส่ใจถามไถ่ การให้ความมั่นใจซึ่งกันและกัน ความเป็นหนึ่งเดียวหลากหลายอารมณ์ของความรักอยู่ในเพลงเพลงนี้ ซึ่งยาวกว่าสิบแปดนาที เหมือนการดูละครเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว 

ว่ากันว่าเรื่องราวของน้อยไจยาเดิมเป็นละครซอที่แต่งขึ้นโดยท้าวสุนทรพจนกิจ (ใหม่ บุญมา) ในสมัยพระราชชายาเจ้าดารารัศมี โดยจัดการแสดงครั้งแรกที่วัดสวนดอก ในงานคล้ายวันประสูตรของพระราชชายาเจ้านั่นเอง เรื่องราวในละครซอมีอยู่ว่าแม่นางแว่นแก้วกับน้อยไจยานั้นเป็นคู่รักกันมาก่อน แต่ทางพ่อแม่ของนางแว่นแก้วได้ทำการหมั้นหมายยกลูกสาวให้กับส่างนันตา พ่อค้าที่รู้จักมักคุ้นกัน แม่นางแว่นแก้วกับน้อยไจยาจึงนัดพบกันที่น้ำตกห้วยแก้ว เพื่อปรึกษาหารือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่บังเอิญส่างนันตามาพบเข้าจึงนำเรื่องราวไปบอกให้พ่อแม่นางแว่นแก้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ส่างนันตาจึงได้นำความไปฟ้องศาล และในที่สุดศาลก็ตัดสินให้นางแว่นแก้วเลือกคู่ครองได้เอง และนางแว่นแก้วกับน้อยไจยาก็ได้แต่งงานกันในที่สุด


...

พ่อครูจรัล มโนเพ็ชร นำเอาบทละครซอดังกล่าวมาแต่งเป็นเพลงคู่ที่พูดคุย ตัดพ้อ หยอกล้อและให้คำมั่นสัญญาระหว่างน้อยไจยากับนางแว่นแก้วอย่างไพเราะชวนฟัง
...
...
(ช) ตั๋วปี้น้อย จักขอถาม .....
ต๋ามกำลม เปิ้นมาเล่าอู้ ..... ว่านายมีจู๊ บ้านวังสิงห์คำ
ฝ่ายตางปู๊น เปิ้นมาใส่ผะจ๋ำ ..... บ้านวังสิงห์คำ เปิ้นมาหมั้นก่ไว้แล้ว ....
ตางฝ่ายปั้นตั๋ว น้องนางแว่นแก้ว ..... ก่ตกลงแล้ว บ่ไจ้กาหา
เปิ้นจะกิ๋นแขก แต่งก๋านก่วิวาห์ ..... เมื่อใดจา ปี้น้อยไข้ฮู้เก๊า....
ส่วนใจยา บ่สมเปิ้งเจ้า ..... เพราะเขียมเข้าของ .. เงินทอง
ฝ่ายตางนาย บ่หมายเกี่ยวข้อง ..... มาละหมองต่ำ ต้อยเหนอ

(ญ) ตั๋วน้องนี้ บ่ล้าไหลหลง ..... ก๋านตกลง ก่ยังบ่แล้ว
จึงเจิญตั๋ว ปี้มาห้วยแก้ว ..... เพราะไข้ฮู้ กำฟู่กำจ๋า
จึ่งเจิญน้อย ปี้มาเปิกษา ..... จะว่าใดจา ตั๋วน้องก่ไข้ฮู้....
ก๋านตี้มาฟู่อู้ ..... จะเอาเป๋นจู๊ กาว่าเอาเป๋นเมีย
หรือจักลบล้าง ลืมลายหน่ายเสีย ..... บ่เอาเป๋นเมีย 
หรือจักทิ้งเสียแล้ว ....
หรือเอาเป๋น เมียนางจ๊างแก้ว ..... อยู่เป๋นกู้ข้าง เตียมคิง
ขอบอกนาย หื้อแน่ใจ๋จริง ..... บ่อำพรางนาถ น้องเหนอ
....
...

นานมากแล้วที่ฉันไม่ได้ฟังบทเพลงนี้ บางครั้งเราก็ต้องจากไปเพื่อที่จะได้กลับมา กลับมาซึมซับเอาความงดงามนี้ใส่ไว้ในหัวใจอีกครั้ง

อากาศที่เริ่มเย็นลงในยามค่ำของปลายฤดูหนาว บวกกับเสียงอ้อยอิ่งของสะล้อ เสียงขลุ่ยที่นุ่มหู เสียงกีตาร์ที่คลอเคลียร์ไปกับเสียงร้องหวานหูของคุณคำหล้า ทำให้ฉันนึกภาคภูมิใจเหลือเกินที่ได้เกิดมาเป็นคนเมือง ได้มีโอกาสได้สัมผัสความงดงามของงานดนตรีที่สร้างสรรค์มาจากวรรณกรรมของคนเมือง ถ่ายทอดมาเป็นบทเพลงโดยพ่อครูคนเมือง เล่าขานถึงความรักของคนเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยซื่อสัตย์ ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ การเปิดใจพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อจะได้ฝ่าฟันอุปสรรคที่มีอยู่ไปด้วยกันโดยมีความรักเป็นที่ตั้ง

ถึงแม้แม่ญิงคนเมืองอย่างฉันจะไม่ได้มีวาสนาได้สัมผัสความรักอันงดงามเช่นนี้จากชายคนเมืองเหนือ แต่ก็รู้สึกดีใจกับแม่ญิงทุกคนที่ได้เกาะกุมหัวใจของหนุ่มคนเมืองเอาไว้ค่ะ

ขอให้ทุกท่านพบ มี และช่วยกันรักษาความรักที่มีดั่งน้อยไจยาและแม่นางแว่นแก้ว

สุขสันต์วันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงค่ะ

...


...


..


...

น้อยไจยา - จรัล - สุนทรี

http://www.youtube.com/watch?v=mO6nRsk0N-c

หมายเลขบันทึก: 518692เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2013 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

"น้อยใจยา" ตำนานและเอกลักษณ์สำคัญของชาวล้านนาจริง ๆ ครับ ;)...

เพลงโปรดของคุณมะเดื่อจ้าาา

ไพเราะและงดงามแต้ๆเจ้า...

แวะเข้ามาแล้ว..คิดถึงเชียงใหม่นะครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

ไพเราะมากค่ะ...นาน ๆ ได้ฟัง หรือเลือดบรรพบุรุษมันยังอยู่ในกายของพี่ก็ได้นะคะ คิดถึงบรรยากาศเชียงใหม่ค่ะ

ชอบทั้งสองเพลง และเพลงอื่นของคุณจรัล สุนทรี ครับ

ขอบคุณบทความรักดีดีครับ


ชอบจัง กลับมาเชียงใหม่เหรอครับ และไม่ลืมที่จะเก็บเกี่ยวความสุขของที่นี่แบบสุดๆ อีกด้วย การเล่าเรื่องราวน้อยใจยา ประทับใจมากๆ ผมเองยังคิดว่า หากได้ไปชมเพลงนี้ที่เดียวกันกับคุณปริม ก็ยังไม่ได้รับรู้ความเป็นไปเป็นมา เท่าบันทึกนี้เลย ยอดจริงๆ ครับ

มาอีกครั้งค่ะ เมืองเหนือมีมนต์เสน่ห์ไม่จืดจาง แม้ว่าความเจริญ การพัฒนาแบบสมัยใหม่จะมีไปทุกทิศ แต่รากวัฒนธรรมเมืองเหนือนั้นมีรากลึก 

เพลงเหนือ ดนตรีสะล้อซอซึง ไพเราะ ฟังแล้วเย็นใจ 

ฝากภาพจากยอดดอยแม่สะลอง สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน (พี่เพิ่งทำภาพแทรกแบบใหม่เป็นวันนี้เองค่ะ)


ที่เห็นในห่อ เรียกว่า มันสาคู เราไม่ค่อยได้พบเห็นกันค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์วัส,

ตอนแรกจะใช้ "น้อยใจยา" แต่พอได้อ่านเรื่องราวแล้วเห็นตามว่าชายหนุ่มน่าจะชื่อ "ไจยา" ที่มาจากคำว่า "ไชยา" ซึ่งหมายถึงชัยชนะ ก็เลยลองพิมพ์ด้วยสระ ไ แทนที่จะใช้สระ ใ ค่ะ

ไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิดเหมือนกันค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณมะเดื่อ

เมื่อตอนเป็นเด็ก จะได้ยินเพลงนี้บ่อยค่ะ พอโตขึ้นไม่ได้ฝังใจมากมาย พอเริ่มแก่ก็ยิ่งรู้สึกว่าเพราะค่ะ อิอิอิ

ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณรอยยิ้มของท่านอาจารย์วิชญธรรม ที่มอบให้บันทึกแห่งรอยยิ้มค่ะ

ท่านอาจารย์ชยพรมาจากเชียงใหม่เหมือนกันกาเจ้า ;))


สวัสดีค่ะคุณพิชชา

แม่นแล้วเจ้า ม่วนขนาดเจ้า

ขอบคุณเจ้า

สวัสดีค่ะอาจารย์นุ

เชียงใหม่หน้าหนาวมีเสน่ห์จริงๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่บุษยมาศ

ภาษา ดนตรี วิถีชีวิตแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ และรากเหง้าของเรา สายใยเล็กๆ แต่เหนี่ยวแน่นค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพ่อน้องซอมพอ

เพลงอมตะของหมูเฮาจาวเหนือน่อเจ้า

;))

สวัสดีค่ะคุณเพชร

ปลายเดือนที่แล้วกลับไปทำธุระที่เชียงใหม่สองวันค่ะ เลยได้มีโอกาสซึมซับเอาบรรยากาศความหนาวเย็นก่อนเข้าหน้าร้อนด้วยค่ะ

ยิ่งแก่ตัวขึ้นก็ยิ่งชื่นชมงานเหล่านี้นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพี่นุช

ยิ่งความเจริญผ่านเข้ามามากมายเท่าใด เราก็ยิ่งเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่มีอยู่มากขึ้นนะคะ

ขอบคุณภาพสวยๆ จากเชียงรายค่ะ เห็นภาพแล้วอุดมสมบูรณ์จริงๆ นะคะ อยากกลับไปเยือนอีกค่ะ

จำรสชาติของมันสาคูได้เลือนลาง จืดๆ หน่อยใช่ไหมคะพี่นุช


ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่มาอ่านและให้กำลังใจบันทึกนี้นะคะ

เพราะรักโลกนี้จึงสวยงามค่ะ

ม่วนขนาดเจ้า

ฟังแล้วเปิงอกเปิงใจ๋เจ้า  :)

สวัสดีค่ะ

แวะมาฟังเพลงไพเราะ เย็น ๆ

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมบ้านสวนค่ะ

ฟังแล้วชื่นใจ ไม่ได้ฟังนานแล้ว ขอบคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท