ช่วยผมตอบที, ข้อมูลจาก กจ., แท่ง กศน., เบิกพัฒนาผู้เรียนเกินรายหัว, ผู้รักษาการฯเซ็น รบ., "ชีวิต" กับ "ผู้เรียน" คนละเรื่อง, จบแล้วเรียนซ้ำ, เบี้ยเลี้ยง นศ.ไปต่างจังหวัด, แผนการสอนแบบไหน, ผู้ประเมินถามครูว่าสอนวิธีใด, ลืมรหัสฐานข้อมูลความต้องการฯ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  12  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 23 ม.ค.56 อ.อภิชาต กศน.อ.ลาดบัวหลวง  โทร.มาถามผมว่า ผอ.กศน.อ.ลาดบัวหลวง ย้ายไป  ผู้ปฏิบัติงานแทนจะลงนามออกใบ รบ.ได้หรือไม่  ถ้าได้ จะออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษ คำว่าปฏิบัติราชการแทน เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร

             กรณีนี้
             1)  ผู้ปฏิบัติงานแทน ผอ.กศน.อำเภอ/เขต ต้องใช้คำว่า “รักษาการในตำแหน่ง” จึงจะถูก ไม่ใช่ปฏิบัติราชการแทน และไม่ใช่รักษาราชการแทน ( ผู้จะรักษาราชการแทน ต้องเป็น รอง ผอ.  แต่ กศน.อ./ข. ไม่มีรอง ผอ. )
             2)  มีบางคนบอกว่า ผู้รักษาการในตำแหน่ง ไม่สามารถลงนามในบางเรื่อง เช่น ลงนามในใบ รบ.  ที่จริงเป็นความเข้าใจผิด  ที่ถูกคือ “ผู้รักษาการในตำแหน่ง มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาการนั้น”  เพียงแต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ และไม่เร่งด่วน คอยได้ ผู้รักษาการในตำแหน่ง ก็อาจจะรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงกลับมาตรวจสอบและลงนามเองก็ได้

             หลังจากนั้น วันเดียวกัน อ.วิไลวรรณ โรงเรียนลาดบัวหลวงไพโรจน์วิทยา ภรรยาของ อ.อภิชาต เข้ามาเขียนถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  การออก ปพ.1 ภาษาอังกฤษ มีแต่รักษาการผู้อำนวยการ จะใส่ตำแหน่งใน ปพ.ว่าอะไร  ( สงสัย อ.อภิชาต จะถามภรรยา แล้วภรรยาก็มาถามผมต่ออีก )
             และก็มีคุณ Jay Sanpet ตอบ อ.วิไลวรรณ ว่า  ใช้ Acting Director ( รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ )

             ในเรื่องการรักษาการในตำแหน่งนี้ มีอีกประเด็นหนึ่งที่ ผอ.กศน.อำเภอบางท่านเข้าใจผิด คือ กรณีที่จังหวัดออกคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ไว้ล่วงหน้าเป็นการถาวร โดยแต่งตั้งมากกว่า 1 คน ระบุว่าใครเป็นผู้รักษาการฯคนที่ 1 ใครเป็นคนที่ 2 นั้น  ไม่ได้หมายความว่าให้ ผอ.กศน.อำเภอเลือกว่าในแต่ละครั้งจะให้คนใดรักษาการ หรือให้สลับกัน  ( การเลือกแต่งตั้ง ไม่ใช่อำนาจของ ผอ.กศน.อำเภอ แต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้รักษาการฯก็คือผู้เดียวกับผู้แต่งตั้ง ผอ.ตัวจริง  โดยในส่วนของ กศน. มอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด เป็นผู้แต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ )  ที่ถูกคือ ผู้รักษาการฯต้องเป็นคนที่ 1  เว้นแต่คนที่ 1 ก็ไปราชการหรือปฏิบัติงานไม่ได้ด้วย จึงจะให้คนที่ 2 รักษาการฯ


         2. วันเดียวกัน ( 23 ม.ค. ) กศน.อ.แห่งหนึ่ง ( ไม่ต้องการให้ผมเปิดเผย ) ให้ผู้ที่จบปริญญาตรีแล้ว 1 คน กับผู้ที่จบ ม.ปลายไป 1 ปีแล้วอีก 1 คน มาลงทะเบียนเรียน กศน.ม.ปลาย เพราะ 2 คนนี้เก่งกีฬาต้องการให้เข้ามาเป็นนักกีฬา กศน. เพื่อจะได้แข่งชนะไปถึงระดับจังหวัด ภาค และถึง กศน.เกมส์ระดับประเทศ ( เนื่องจากมีระเบียบ กศน.เกมส์ว่าต้องเป็นนักศึกษา กศน. )
             แล้วถามผมว่า ทำอย่างนี้ได้ไหม

             ครั้งแรกผมตอบว่า กลุ่มพัฒนา กศน. เคยบอกผมว่า ไม่ได้ เพราะ
             1)  กศน.ขั้นพื้นฐาน เปิดสำหรับผู้ ด้อย/ขาด/พลาด โอกาสทางการศึกษา ไม่ใช่สำหรับผู้ที่มีโอกาสเรียนจบไปแล้ว
             2)  รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้เรียนฟรีคนละรอบเดียว

             ( ผู้ที่จบระดับ ม.ปลายต้องส่งเกรดเข้ากระทรวง ถ้าจบ 2 แห่ง เกรดอาจไปชนกันที่กระทรวง  กลุ่มพัฒนา กศน.เคยบอกผมว่า แม้แต่จบ ปวช.ซึ่งน่าจะคนละสายกัน ก็มาเรียน กศน.ประถม-ม.ปลาย ไม่ได้
             กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นเพียงการศึกษาเรียนรู้ “ขั้นพื้นฐาน” สำหรับเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือให้มีความสามารถในการรู้ด้วยตนเองเพื่อการดำเนินชีวิต  เคยมีกรณีที่ไม่ให้เขาเรียนอีกแล้วเขาไปฟ้องศาลปกครอง ปรากฏว่าเขาแพ้ ศาลบอกว่าเขาได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐไปแล้ว   ถ้าต้องการเรียนเพิ่มเติมเป็นบางวิชาจึงจะให้เรียนได้ การเรียนเพิ่มเติมจะไม่ถือว่าได้วุฒิอีกใบ ไม่ถือว่า “จบการศึกษา” อีกครั้ง )

             แต่ผู้ถาม ถามผมต่อว่า
             ผิดระเบียบอะไร ตรงไหน ( ต้องการเอกสารอ้างอิงว่าผิดระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับไหนข้อไหน )

             จะตอบว่ายังไงดี ช่วยหน่อยครับ
             - บางคนบอกว่า จบ ปวช. น่าจะเรียนได้เพราะคนละสาย
             - บางคนบอกว่า จบสายสามัญในระบบก็น่าจะเรียนได้เพราะคนละหลักสูตร
             - บางคนบอกว่า จบ กศน. ก็น่าจะเรียนใหม่ได้ถ้าคนละหลักสูตร เช่นจบหลักสูตร 44 มาเรียนหลักสูตร 51 ใหม่
             - บางคนบอกว่า จบ กศน.หลักสูตรเดียวกันก็น่าจะเรียนได้ ถ้าเลือกวิชาเลือกต่างกัน
             - บางคนบอกว่า จบ กศน.หลักสูตรเดียวกันเลือกวิชาเดียวกันหมดก็น่าจะเรียนได้ เพื่อให้ความรู้แน่นขึ้น เกรดดีขึ้น
             - บางคนบอกตรง ๆ เลย ว่า ให้เรียนได้ เพื่อให้มีนักศึกษาครบ 60-70 คน ( ไม่อย่างนั้นจะให้ครูของเราออกจากงาน ตกงาน หรือไง งบประมาณเงินอุดหนุนรายหัวไม่ใช่เงินพ่อเงินแม่ )

             จะตอบ จะสรุป อย่างไรดีครับ ที่สามารถอ้างอิงได้

             ( เนื่องจาก มี กศน.อำเภอ ถามแบบนี้อีกเป็นระยะ ๆ   วันที่ 15 ก.พ.56 ผมจึงถามกลุ่มพัฒนา กศน.อีก  คุณกิตติพงษ์ตอบว่า
               "กศ.ขั้นพื้นฐาน เรียนในระดับเดิมอีกไม่ได้ แม้ไม่ได้มีระเบียบหลักเกณฑ์ห้ามไว้ชัดเจน  แต่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณของประเทศ   ควรเรียนต่อในระดับที่สูงกว่า จึงจะเป็นประโยชน์มากกว่า  หรือไม่ก็เรียนแบบเรียนเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่ต้องการนำผลการเรียนบางวิชาไปสมัครศึกษาต่อบางสาขา )


         3. คืนวันเดียวกัน ( 23 ม.ค. ) กรณีคล้ายกัน  คุณรัชกิจ กศน.อ.คลองหลวง ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  นักศึกษาจบ ม.ปลายจาก กศน.แล้วต้องการกลับมาเรียน ม.ปลายอีกโดยใช้วุฒิ ม.ต้นสมัคร สามารถมาเรียนได้ไหม

             ผมร่วมตอบว่า  จริงๆ แล้ว ไม่ได้  โดยเดิมนั้นโปรแกรม ITw จะตรวจสอบกรณีนี้ ตรวจจากเลขประจำตัวประชาชน ถ้าซ้ำกับผู้ที่จบแล้วโปรแกรมจะไม่ยอมให้ขึ้นทะเบียน  ( ข้อจำกัดของโปรแกรมคือตรวจสอบได้เฉพาะเรียนซ้ำใน กศน.อำเภอเดิมถ้าเปลี่ยนอำเภอโปรแกรมก็ตรวจสอบไม่ได้ )  แต่ปัจจุบันเพิ่งจะมีการแก้ไขโปรแกรมใหม่ตั้งแต่รุ่น 5 ธ.ค.55 นี้เองโดยโปรแกรมยอมให้คนที่จบแล้วมาเรียนระดับเดิมในหลักสูตร English Program ได้


         4. คืนวันเดียวกัน ( 23 ม.ค. ) คุณปิติพล ครูอาสาฯ กศน.อ.เชียงม่วน ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  นำนักศึกษาจัดกระบวนการเรียนรู้นอกสถานทีต่างจังหวัด มีระเบียบค่าเบี้ยเลี้ยงให้นักศึกษาไหม หากมีคิดวันละเท่าไหร่

             ผมเข้าไปร่วมตอบว่า  ไม่มีระเบียบให้นักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน เบิกเบี้ยเลี้ยง ( ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนปกติ )


         5. เย็นวันที่ 24 ม.ค.55  คุณสมัย ครู กศน.ตำบล ที่ อ.ผักไห่นี้ ถามผมว่า ลืมรหัสผ่านเข้าฐานข้อมูลความต้องการทางการศึกษาและกิจกรรมการเรียนรู้ จะทำอย่างไร  บังเอิญผมจำได้จึงบอกไป แต่คุณสมัยบอกว่าที่อื่น ๆ ก็ลืม จะทำอย่างไร
             ผมตอบว่า  ถ้าลืมรหัสผ่าน ก็ต้องโทร.ไปถามที่หน่วยงานที่ตั้งเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของเขตนั้น เช่น ถ้าเป็นภาคกลาง เครื่องเซิร์ฟเวอร์จะตั้งอยู่ที่กลุ่มแผนงาน กศน.  ก็ต้องโทร.ไปถามผู้ดูแลเซิร์ฟเวอร์ที่กลุ่มแผนงาน 02-2802924


         6. คืนวันเดียวกัน ( 24 ม.ค. ) คุณนงค์นุช ครู กศน.ตำบล ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  สมศ.จะเข้าประเมิน กศน.อำเภอพุทธมณฑล ในวันที่ 3-5 ก.พ.56  ตอนนี้งานประกันยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรเลย โดยเฉพาะเรื่องแผนการสอนที่เป็นแบบบูรณาการทุกรายวิชา ทราบว่าจะถูกติงมากเลยใช่มั๊ย  มีข้อเสนอแนะมั๊ย  หนูคงไม่ปรับแล้วเพราะใช้แผนบูรณฯมาตลอด

             ผมตอบว่า  จะแผนแบบบูรณาการหรือแผนแบบรายวิชาก็ได้ทั้งนั้นครับ (แต่ไม่ใช่แผนรวมที่ทำเป็นพิธีไว้ในเล่มรวม ครูไม่ได้นำไปใช้จริง )แผนที่ใช้จริงต้องระบุว่าแผนไหนใช้สอนวันที่เท่าไรเสนอผู้บริหารพิจารณาก่อนใช้ และมีบันทึกหลังสอนเป็นประจำแต่ละครั้ง  ( วิธีสอน ต้องเน้นให้ผู้เรียน “คิดวิเคราะห์” )


         7. วันที่ 25 ม.ค.56 คุณ “แป๋ม นาวาทอง” กศน.บ้านตาขุน ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  จัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป้า 50 คน แต่จ่ายจริง ประมาณ 25,000 บาท ซึ้งเบิกเกินรายหัวจัดสรรคได้ไหม

             ผมตอบว่า  ท่านรอง ผอ.สนง.กศน.จ.อยุธยา บอกว่าเราต้องทำแผนการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยกำหนดเป้าฯให้รวมทุกคนจึงจะใช้เงินเต็มตามยอดที่ได้รับจัดสรรได้แต่อาจแยกเป็นหลายกิจกรรมหรือหลายโครงการย่อยโดยบางกิจกรรมใช้เงินเกินรายหัว และบางกิจกรรมใช้เงินต่ำกว่ารายหัว
             เช่น สมมุติว่า นศ.ทั้งหมด 250 คน ยอดเงินรวม 30,000 บาท อาจแยกเป็น 2 กิจกรรมหรือ 2 โครงการย่อย คือ
             1)  เข้าค่าย 50 คน ใช้เงิน 25,000 บาท
             2)  กิจกรรมพัฒนาความรู้ในสาระความรู้พื้นฐาน จัดอยู่ภายในตำบล/อำเภอ 200 คน ใช้เงิน 5,000 บาท
             ถ้ารวมทุกกิจกรรมหรือทุกโครงการย่อยแล้ว ผู้เรียนได้พัฒนาทุกคน วงเงินรวมไม่เกินที่ได้รับจัดสรร  ก็ได้
             ( ตามกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนของสำนักงาน กศน. ข้อ 3.3 กำหนดว่าถ้าจัดกิจกรรมในรูปแบบศึกษาดูงาน ให้ไปในพื้นที่ภายในจังหวัด/ภาคเดียวกัน  ข้อ 4 ย่อหน้าท้าย ไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้เรียน ซึ่งต่างจากกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต )


         8. วันที่ 28-30 ม.ค.56 ผมไปเข้าร่วมประชุม พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้สำหรับคนต่างด้าว ที่ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงาน กศน. กรุงเทพฯ






         9. วันที่ 30 ม.ค.56 ผมเข้าไปถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  สมมุติว่าเราเป็นครู กศน. ถ้าผู้ประเมินฯถามว่าใช้รูบแบบวิธีสอนวิธีใดหรือแบบใด จะตอบว่ายังไง
             มีบางคนตอบว่า ใช้ 5 รูปแบบของ กศน.เรา ( ตนเอง พบกลุ่ม ทางไกล อัธยาศัย ) แต่ผมว่ารูปแบบนี้เป็นรูปแบบการเรียน ไม่ใช่วิธีสอน (บางอย่างก็ชื่อเหมือนกับชื่อวิธีสอนด้วย )

             ที่จริง "วิธีสอน" หรือ "รูปแบบการสอน" มีมากมาย ( นับไม่ถ้วน ) เราเองก็สามารถคิดวิธีสอนวิธีของเราเองขึ้นมาได้
             ถ้ากรรมการประเมินฯถามอย่างนี้ เราอาจจะตอบว่าใช้วิธีสอนแบบบูรณาการก็ได้
             หรือตอบว่า
             "ใช้วิธีสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์โดยใช้วิธีสอนหลาย ๆ วิธีให้เหมาะสมกับแต่ละเนื้อหาสาระ เช่นสอนแบบกระบวนการกลุ่ม แบบสาธิต แบบฝึกปฏิบัติจริง แบบศึกษาด้วยตนเองแบบโครงงาน แบบใช้แหล่งเรียนรู้ แบบใช้ภูมิปัญญา แบบใช้คำถาม แบบบรรยาย"
             ( วิธีสอนแบบบรรยาย เป็นวิธีเดียวที่ไม่ได้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญผู้เรียนไม่ได้คิดวิเคราะห์แต่บางเนื้อหาก็ต้องใช้วิธีบรรยายบ้างเพื่อประหยัดเวลา )

             อย่างไรก็ตาม เมื่อตอบไปอย่างไร "แผนการสอน" ของเรา ก็ต้องมีลักษณะที่สอดคล้องกับวิธีสอนที่เราตอบด้วยนะ


        10. วันเดียวกัน ( 30 ม.ค. ) ผมเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน. ดังนี้

             10.1  ผมถามว่าใกล้จะรับสมัครสอบ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต รอง ผอ.สถานศึกษา หรือยัง  ท่านบอกว่า ใกล้แล้ว  ตอนนี้ท่านปลัดกระทรวงลงนามแล้ว แต่เนื่องจากประกาศที่เสนอไปกำหนดจะรับสมัครวันที่ 10 ก.พ.นี้ ซึ่งไม่ทันแล้ว ต้องแก้กำหนดการเป็นรับสมัคร 26 ก.พ.- 7 มี.ค.56 ( www.nfe.go.th/main_doc/t2-1.pdf , www.nfe.go.th/main_doc/t3-1.pdf )

             10.2  ผมถามให้มั่นใจว่า การที่จังหวัดแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.กศน.อ./ข. ไว้ล่วงหน้าถาวรโดยระบุผู้รักษาการฯคนที่ 1 คนที่ 2 นั้น  ต้องให้คนที่ 1 เป็นผู้รักษาการฯใช่หรือไม่  ท่านตอบว่า ใช่  คนที่ 2 จะรักษาการได้เฉพาะต่อเมื่อคนที่ 1 ก็ไม่อยู่ปฏิบัติงานด้วยเท่านั้น

             10.3  ผมถามว่าการอบรมวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ผู้ที่เป็นชำนาญการยังไม่ครบ 2 ปีเต็ม จะเข้าอบรมด้วยได้หรือไม่  ( รู้สึกว่าผมเคยตอบใครไปนานแล้วว่า ไม่ได้  แต่ชักลืม )  ท่านตอบว่า ไม่ได้

              10.4  วันนี้มีผู้โทร.มาถามผมว่า  ตามที่มีคำสั่งมอบอำนาจใหม่ให้ ผอ.กศน.อ./ข. จัดซื้อ/จัดจ้างได้ 2 ล้านบาทนั้น  ถ้าซื้อเกิน 1 แสนบาท  การอนุมัติให้เบิกจ่ายเงิน จะอ้างคำสั่งใหม่ฉบับเดียวกับการอนุมัติจัดซื้อ/จัดจ้างใช่หรือไม่ และ ผอ.กศน.อ./ข.อนุมัติทั้งสองขั้นตอนใช่หรือไม่
                    เนื่องจากผมไปประชุมอยู่กรุงเทพฯ ไม่มีคำสั่งมอบอำนาจจะดู จึงถามต่อไปที่ กจ.กศน.  จนท.กจ.กศน.บอกว่า  อ้างคำสั่งมอบอำนาจฉบับใหม่ฉบับเดียวทั้งขั้นตอนการจัดซื้อ/จัดจ้าง และขั้นตอนการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน  ไม่ต้องอ้างคำสั่งมอบอำนาจการซื้อ/จ้างฉบับเดิม  และ ผอ.กศน.อ./ข.เป็นผู้อนุมัติทั้ง 2 ขั้นตอน  ( อย่างไรก็ตาม จนท.กจ.กศน. ย้ำว่า ถึงแม้ ผอ.กศน.อ./ข.จะมีอำนาจซื้อ/จ้างถึง 2 ล้านบาท ก็ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ถ้าจัดซื้อ/จัดจ้างในวงเงินครั้งหนึ่งเกิน 1 แสนบาท ก็ซื้อโดยวิธีตกลงราคาไม่ได้ )

             ( วันที่ 28 ม.ค.56 ท่าน ศน.พิมพา บอกผมว่าการประเมินภายนอกฯในเดือน ม.ค.56 นี้ บางอำเภอรู้ผลเป็นการภายในแล้ว ว่า "ไม่ผ่าน"
               และท่าน อ.อ้อย ชลีนารถ ศกพ. บอกผมว่า เงินครูสอนเด็กเร่ร่อน เพิ่มเป็นเดือนละ 11,680 บาท ย้อนหลังตั้งแต่ ต.ค.55 โอนให้จังหวัดประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว ครูสอนเด็กเร่ร่อนที่จะได้ 11,680 บาท ต้องสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน เดือนละไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง  ถ้าสอนต่ำกว่านี้ให้เบิกตามรายหัวผู้เรียน )


        11. คืนวันเดียวกัน ( 30 ม.ค.56 ) คุณศรัณยพงศ์ หัวหน้า กศน.ตำบล กศน.อ.เมืองจันทบุรี ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ตามกรอบการจัดกิจกรรม กพช. มีเรื่องเกี่ยวกับก่อนจบให้ นศ.เรียนคอมพิวเตอร์ 40 ชม. ทุกระดับ บังคับทุกคนเลยใช่มั๊ย  ส่วนมาก นศ.ทำงานห้างหยุดไม่ได้ ตอนนี้เรียนคอมวันพุธ พอวันอาทิตย์ก็เรียนปกติ ทำให้ นศ.ได้รับความเดือนร้อน ขอทางออกครับ   ผอ.บอกว่าหนังสือมาแบบนี้ก็ต้องจัด ทีแรกท่านให้เรียนเฉพาะ ม.ปลาย พอมีหนังสือมาจัดทุกระดับเลย สงสารเด็ก ที่จะจบทำงานห้างแทบทั้งนั้นเลย ผอ.ท่านบอกต้องมาให้ครบห้ามขาดเด็กเครียดเลย 

             ผมบอกว่า หนังสือมาจากไหน ขอดูหน่อย หนังสือที่ผมมีอยู่ ส่วนกลางไม่ได้กำหนดแบบนี้    คุณศรัณยพงศ์ ได้โพสท์กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ผมดูที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/studentqualityframe56.doc

             ผมตอบว่า   อย่ามั่วให้ผมปวดหัวซีครับ ถามเรื่องกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) แต่เอากรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มาให้ดู มันคนละเรื่องกัน
             ถ้าเป็นกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต (กพช.) จะส่งมาตามหนังสือที่ ศธ 0210.04/5242 ลงวันที่ 21 พ.ย.55  ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/QualityOfLife.pdf 
             และ กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนนี้ เขาก็มีกิจกรรมให้ทำได้ 9 กิจกรรม ไม่ได้บังคับว่าต้องทำให้ครบหมดทั้ง 9 กิจกรรม โดยกิจกรรม ICT นี้ เป็นเพียง 1 ใน 9 กิจกรรมที่ให้ทำได้


        12. วันที่ 31 ม.ค.56 มีข่าวเกี่ยวกับแท่ง กศน. ว่า  ศธ.ปรับโครงสร้างใหม่ยกฐานะ กศน.แท่งที่ 6 ชี้เหตุภาระงานมาก “พงศ์เทพ” ระบุมีการดำเนินการมาแต่ก่อนที่มารับตำแหน่ง ยันการปรับโครงสร้างครั้งนี้ไม่ใหญ่เช่นตอนปรับปี 42 ด้าน “พนิตา” คาดการผลักดันโครงสร้างอาจใช้เวลานานถึง 2 ปี
              นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ว่า การผลักดันเรื่องนี้น่าจะใช้เวลานานอาจจะถึงสองปีเพราะหลังจากที่ ศธ.ได้เสนอร่างการปรับโครงสร้าง ศธ.ไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แล้วก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุกรรมการชุดที่มีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะต้องมีการเชิญ ศธ.ไปชี้แจงอีกหลายครั้ง และหากได้ข้อสรุปจาก ก.พ.ร.แล้วจึงจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นจะนำเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อ ซึ่งในขั้นตอนนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเพราะจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันกับ ศธ.เพื่อแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ และเมื่อเสร็จแล้วจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นชอบจึงจะนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นตนไม่แน่ใจว่า 2 ปีจะดำเนินการเรื่องนี้เสร็จหรือไม่
             ด้าน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ขึ้นเป็นนิติบุคลภายใต้สำนักงานปลัด ศธ.และยก กศน.เป็นแท่งที่ 6 เป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการมาก่อนที่ตนจะมาแล้ว และยืนยันว่าเป็นการปรับโครงสร้างเล็กไม่ได้มีการปรับรื้อใหญ่โตเหมือนปี 2542 ทั้งนี้ กรณีของ กศน.เป็นการดูภาระงานที่มาก ซึ่งตนก็เห็นว่ามีเหตุผลที่จะยกเป็นแท่ง

หมายเลขบันทึก: 517947เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2013 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

 ขอบคุณอาจารย์ครับผม..ชัดเจน..ฉับไว..ทันเหตุการณ์เสมอ..ขอถามเพิ่มเติมอาจารย์ดังนี้ครับ
          จากข้อความที่ว่า....ท่าน อ.อ้อย ชลีนารถ ศกพ. บอกผมว่า เงินครูสอนเด็กเร่ร่อน เพิ่มเป็นเดือนละ 11,680 บาท ย้อนหลังตั้งแต่ ต.ค.55 โอนให้จังหวัดประมาณ 2 อาทิตย์แล้ว ครูสอนเด็กเร่ร่อนที่จะได้ 11,680 บาท ต้องสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน เดือนละไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง  ถ้าสอนต่ำกว่านี้ให้เบิกตามรายหัวผู้เรียน )
หมายความว่า
1.ต้องสอน นศ.กศน.ปกติเดือนละไม่กว่า 72 ชั่วโมง
2.หรือว่าสอนกศน.พื้นฐาน ให้เด็กเร่ร่อน เดือนละไม่กว่า 72 ชั่วโมง...ที่ผ่านมาเด็กเร่ร่อนไม่ได้มีชื่อในการสอบปกติเลย
ขอบคุณครับผมอาจารย์

 



หมายถึง ต้องสอน กศน.ขั้นพื้นฐาน ให้เด็กเร่ร่อนครับ
ก็เพราะที่ผ่านมาครูสอนเด็กเร่ร่อน "หลายคน" ไม่ได้สอน กศน.ขั้นพื้นฐานให้เด็กเร่ร่อนนี่แหละ กลุ่มแผนงานเขาจึงจะให้จ่ายแค่ 9,140 บาท

ขอบพระคุณสำหรับความรู้มากมายที่ได้รับจากการแบ่งปันของอาจารย์ค่ะ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ  

ขอบคุณข่าวสารที่่ท่านได้แจ้งให้รับทราบทุกครั้ง  รวดเร็ว  ทันใจ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท