สถานการณ์ แนวโน้มด้านการเมือง 2555 - 2575


โครงการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย :

สถานการณ์ แนวโน้มด้านการเมือง”

นิยาม "การเมือง"” ตามนิยามที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ. 2542 มีว่า

“  (1) งานที่เกี่ยวกับรัฐหรือแผ่นดิน…

  (2) การบริหารประเทศเฉพาะที่เกี่ยวแก่นโยบายในการบริหารประเทศ…

  (3) กิจการอำนวย หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน…”

นอกจากนั้นยังมีการวิชการด้านการเมืองหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ เช่น

Politics as the "authoritative allocation of value" การเมือง คือ การหาข้อยุติในความขัดแย้งโดยสันติวิธี  คือต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของปัจเจกชนหรือพรรคพวก หรือการเมืองคือการกำหนดว่าใครได้อะไร เมื่อใดและอย่างไร โดย David Easton (http://en.wikipedia.org/wiki/David_Easton)

Politics is who gets what, when, and how.ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ นักทฤษฎีการเมืองคนหนึ่ง ได้นิยามการเมืองว่า เป็นการตัดสินว่า "ใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร" โดย Harold Lasswell (http://en.wikipedia.org/wiki/Harold_Lasswell)

“การจัดสรรอำนาจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

“การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการปกครอง  คือ การแสวงหาอำนาจ การต่อสู้แข่งขันกันให้ได้มาซึ่งอำนาจ  เป็นเรื่องของอิทธิพล (influence) และผู้มีอิทธิพล (influential)” ประทาน คงฤทธิศึกษากร 

“เป็นเรื่องของผลประโยชน์ และเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจ” ถวัลย์รัฐ วรเทพพุฒิพงษ์

“การจัดสรรคุณค่า (value) ให้กับสังคม” ไพศาล สุริยะมงคล

  จากนิยามการเมืองข้างต้นจะพบว่า การเมืองจะให้ความสำคัญกับ อำนาจและการจัดการด้านผลประโยชน์ของบุคคลที่อยู่ในการเมืองทั้งระบบ โดยการศึกษาครั้งนี้ผู้ทบทวนได้ศึกษาและสรุปสถานการณ์ด้านการเมืองในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ประกอบการศึกษาในโครงการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย โดยแยกศึกษาประเด็นทางการเมืองที่สำคัญ ดังนี้

1.  การเมืองระดับประเทศ

วิวัฒนาการทางการเมืองของไทย[1] เริ่มต้นพัฒนาจากการเมืองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบอบการปกครองจากสถาบันกษัตริย์ที่เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศมาเป็นระบอบระบอบประชาธิปไตย ช่วงระยะเวลาระหว่างพุทธศักราช 2475 – 2515 เป็นช่วงเวลาที่นักรัฐศาสตร์ไทยหลายๆ คนให้การยอมรับว่า เป็นยุค “รัฐข้าราชการ”โดยเริ่มต้นใช้อำนาจทางการเมืองอยู่ภายใต้กลุ่มข้าราชการระดับสูง โดยแนวความคิดนี้เกิดขึ้นมาจากการสร้างสังคมขึ้นมาสองแบบ คือ แบบแรกเรียกว่าสังคมแบบดั้งเดิม กล่าวคือสังคมที่มีลักษณะการปกครองแบบระบบอุปถัมภ์และแบบที่สองคือสังคมแบบสมัยใหม่หรือแบบประชาธิปไตย ช่วงระยะเวลานี้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและให้ความสนใจต่อความชอบธรรมของรัฐบาลเท่าใดนัก  ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา กลุ่มการเมืองกลุ่มใหม่ได้ถือกำเนิดโดยมีชนชั้นกลางเป็นตัวแปรสำคัญ เป็นภาพความสามัคคีระหว่างนักธุรกิจและข้าราชการ โดยนักธุรกิจในเมืองหลวงได้พยายามเข้าเป็นพันธมิตรกับข้าราชการเพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ กลุ่มธุรกิจได้ผลประโยชน์จากราชการคือเงินและสายสัมพันธ์ แสดงถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพึ่งพามาจนกระทั่งเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม และเริ่มต้นระบบด้วยการใช้เงินซื้อเสียงเลือกตั้ง บริจาคเงินให้กับพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ และหลังจากนั้นได้ใช้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นฐานในการทำธุรกิจ รวมทั้งการหาเงินจากการอนุมัติโครงการ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนทางธุรกิจแบบผูกขาด

เมื่อกล่าวถึงการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ตามหลักการ เสรีภาพทางการเมือง (Political liberty) ซึ่งตามแนวคิดของเสรีภาพทางการเมืองนั้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแนวคิดของเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนทั่วไปสำหรับประชาชน ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยจะจัดให้มีการคุ้มครองเสรีภาพทางการเมืองไว้ในกฎหมายของรัฐ ซึ่งประเทศไทยได้บัญญัติเสรีภาพทางการเมืองโดยที่ประชาชนสามารถมีเสรีภาพในการรวมตัวกันตั้งพรรคการเมือง ตามระบอบประชาธิปไตยไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร 2550

“มาตรา 65 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกัน จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ ทางการเมืองของประชาชน และเพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น ตามวิถีทาง การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูณนี้

การจัดองค์กรภายใน การดำเนินกิจการ และข้อบังคับของพรรคการเมือง ต้องสอดคล้อง กับหลักการพื้นฐานของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง กรรมการบริหาร ของพรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง ตามจำนวนที่กำหนดในกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเห็นว่ามติ หรือข้อบังคับในเรื่องใดของพรรคการเมือง ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้น จะขัดต่อสถานะ และการปฏิบัติหน้าที่ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือขัด หรือแย้ง กับหลักการพื้นฐานแห่งการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า มติ หรือข้อบังคับดังกล่าว ขัดหรือแย้ง กับหลักการพื้นฐาน แห่งการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มติ หรือข้อบังคับนั้น เป็นอันยกเลิกไป”

  จากการทบทวนวิวัฒนาการทางการเมืองจนถึงเสรีภาพทางการเมือง พบว่าการเมืองไทยยังติดกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ ระบบอุปถัมภ์และรักษาผลประโยชน์ อันเป็นผลสำคัญต่อปัจจัยด้านการเมืองระดับประเทศ

ปัจจัยสำคัญด้านการเมืองระดับประเทศ

1.  พรรคการเมืองไม่มีความเกาะเกี่ยวในเชิงอุดมการณ์ที่แนบแน่น[1]: เกิดการรวมตัวกันของนักการเมืองสังกัดพรรคเพื่อตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมาย (Legalistic party) แต่ขาดการเกาะเกี่ยวกันในเชิงอุดมการณ์ที่แนบแน่น ผลที่ตามมาคือ การเอาชนะกันในสนามเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ด้วยเหตุผลนี้เองที่เป็นที่มาของ “การซื้อ ส.ส.” จากการทบทวนบริบทพื้นฐานของประชาธิปไตยในประเทศไทย พบว่าวิถีประชาธิปไตยของเรานั้นกำเนิดจากการจัดตั้งพรรคการเมืองที่มาจากนักลงทุน ดังนั้นหลักการต่างๆ ในทางการเมืองที่สำคัญจึงมิใช่มาจากความต้องการของประชาชน ทำให้พรรคเป็นเครื่องมือหนึ่งของกลุ่มทุนเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการผูดขาดอำนาจทางการเมือง ทำให้ให้ประเทศไทยไม่มีระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงอันนำมาซึ่ง “เผด็จการรัฐสภาแบบทุนนิยม”

2.  การเมืองไทยขาดการทำหน้าที่เป็น ตัวแทนทางชนชั้น”: กล่าวคือ ในระบบการเมืองนั้นโดยตัวผู้ทำกิจกรรมทางการเมืองไม่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนของคนทั่วทั้งสังคมที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ทำให้พรรคการเมืองมีลักษณะเป็นเพียงพรรคการเมืองแบบภูมิภาคนิยมที่เข้ามาตามสัดส่วนเท่านั้น

3.  ไม่สามารถพัฒนาผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเป็นผลประโยชน์ของชาติ :พรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ในทิศทางการบริหารนโยบาย และส่วนใหญ่เห็นว่าการออกนโยบายหรือการวางแผนพัฒนาประเทศ เป็นหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายประจำ เช่น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น

4.  ไม่มีกระบวนการทำให้พรรคกลายเป็นสถาบันการเมือง (institutionalization) ความสามารถในการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา(adaptability) ซึ่งดูได้จากความยืนยาวในการทำหน้าที่ และความสามารถในการทำหน้าที่โดยไม่ถูกครอบงำจากองค์การอื่น) :ทำให้ไม่มีความสามารถในการสืบทอดอำนาจ หรือมีกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อเนื่อง

ตารางแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมืองจากสัดส่วนผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ระหว่าง 2475-2555[2]

  การปกครองระบอบประชาธิปไตย นั้นมีกิจกรรมขั้นพื้นฐานที่สมาชิกในสังคมต้องทำคือ “การเลือกตั้งที่ถือหลักการว่าอำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงมีสิทธิออกเสียงเลือกบุคคลมาเป็นผู้นำประเทศของตนเอง จะเห็นได้ว่าจากตารางแสดงดังกล่าวประชาชนในปัจจุบันนั้มีความ “ตื่นตัว” กันมากกับการใช้สิทธิทางการเมืองของตนเอง นั้นแสดงให้เห็นว่าท่าทีชองประชาชนมีความสนใจในการเมืองมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มการเมืองระดับประเทศ

1. พรรคการเมืองผสม[3] ประเทศไทยในอนาคตจะไม่มีรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองเดียว จะไม่มีการแข่งขันทางการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่ จะเป็นไปในลักษณะรัฐบาลผสมที่มีหลายพรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล การรวมกันกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลนั้น อันเป็นการใช้รัฐในรูปแบบนโยบายเป็นเครื่องมือทางการบริหารเพื่อที่จะเอื้ออำนวยความสะดวกในการแบ่งผลประโยชน์ให้กับตนเอง

2. กระบวนการกำหนดนโยบาย[4] จะใช้ช่องทางผลักดันนโยบายสาธารณะทางอื่นที่ไม่ใช่กระบวนการทางการเมือง เช่นใช้สถาบันการเมืองหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรงมาเป็นเครื่องมือต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องร้องนโยบายกับศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ, หรือสถาบันวิจัยนโยบายอย่าง TDRI บทบาทวิธีการผลักดันเชิงนี้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

3. นโยบายสัญญาประชาคมหรือนโยบายประชานิยม[5] ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันระบบประชาธิปไตยที่มีส่วนทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิทางการเมืองโดยวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมจากเดิมที่ให้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองรวมทั้งความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการสาธารณะของรัฐ เปลี่ยนเป็นสิทธิที่จะมีเข้าถึงสินทรัพย์ได้โดยตรงและง่ายมากยิ่งขึ้น อธิเช่น ค่าแรง 300 บาท หรือ สิทธิลดหย่อนในรถคันแรกหนึ่งแสนบาท อันเป็นปัจจัยให้ประชาชนขาดวินัยทางเศรฐกิจจากการเมือง

4. การเมืองยังไม่มีสเถียรภาพ[6] ขาดรูปแบบที่ชัดเจน และไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเทศไทยของเรายังขาดความเข้าใจต่อหลักการของระบบการเมืองการปกครองที่ได้นำรูปแบบมาใช้จากชาติในตะวันตก อีกทั้งระบบสังคมการเมืองของประเทศไทยในอดีตจนกระทั่งปัจจุบันมีความแตกต่างจากแนวคิดการเมืองดังกล่าวที่นำมาใช้ จึงยังเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งการเมืองของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยอยู่อย่างเดิม และมีแนวโน้มที่จะเกิดการปฏิรูประบบโครงสร้างการเมืองไทยในอนาคต

5. ระบบสาธารณสุข จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก เนื่องจากระบบสุขภาพเป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการหาเสียงของทุกพรรคการเมือง อีกทั้งยังเป็นสิทธิที่ถูกบัญญัติไว้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฉบับ 2550[7] ซึ่งรัฐโดยการเมืองยังคงต้องปฏิบัติตตาม

2.  การเมืองระดับท้องถิ่น

แนวคิดการกระจายอำนาจตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ถึง 2550 ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการที่สามารถที่จะสร้างนโยบายภาคประชาชนและจัดบริการสาธารณะได้ด้วยตนเอง จากแผนพัฒ 11 การกระจายอำนาจประสบความสาเร็จในเรื่องการเพิ่มรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีความล่าช้าในการถ่ายโอนภารกิจและมีความไม่ชัดเจนในการแบ่งบทบาทหน้าที่กับราชการส่วนกลาง ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีบทบาทที่จำกัดต่อการรองรับอำนาจ และศักยภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด

ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้นประชาชนกับการมีส่วนร่วมได้จะขยายตัวมากขึ้น แต่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเฉพาะกลุ่มที่มีผลประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น โดยประชาชนกลุ่มนี้จะรวมตัวกันร่วมเรียกร้องสิทธิที่พึงประสงค์ตามที่กลุ่มต้องการอย่างไม่เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้รัฐหรือผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งกับกลุ่มเองหรือให้เข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมกำกับโครงสร้างภาครัฐต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ที่จะมีส่วนกระทบกับกลุ่มกิจกรรมทางเศรฐกิจชุมชนของตนเอง

แนวโน้มเมืองระดับท้องถิ่น

  แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ภาครัฐเริ่มตระหนักถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน ทำให้คนไทยจะได้รับการพัฒนาศักยภาพทุกช่วงวัยและยุทธศาสตร์การสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเน้นที่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติกาหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้ส่งผลต่อการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนและการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต การขยายฐานรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง และการบริหารงานขององค์กรที่เน้นประสิทธิภาพเป็นหลักประกันว่าประชาชนในท้องถิ่นจะได้รับการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลในระดับชุมชน นอกจากนี้การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา เช่น การจัดทาแผนชุมชนโดยมีเวทีแลกเปลี่ยนร่วมกันคิด การร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างเป้าหมายร่วมกันของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (ซึ่งเป็นที่มาของการประกาศและบังคับใช้พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2551)

ในอนาคตได้มีการคาดการณ์ว่าการจัดการปกครองท้องถิ่นที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพรมแดนและการมีส่วนร่วมนั้น ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายกับหน่วยงานที่จะมีพันธกิจร่วมกัน ทำให้ให้การปกครองท้องถิ่นมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองจากการที่เคยเป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะ มาเป็นผู้จัดหาหรือผู้จัดซื้อการบริการดังกล่าวให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง[8]

3.  การเมืองระหว่างประเทศ

มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตเอเชียจะกลายเป็นผู้ครอบครองอำนาจในอีก 18 ปีข้างหน้า[9] ทั้งนี้อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ทิศทางการเมืองไทยในอนาคต” ในงานสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า 80 ปี รัฐธรรมนูญไทย” ใน 20-30 ปีข้างหน้าว่า “อาเซียนจะเป็นศูนย์กลางสำคัญที่สุดของตลาดลงทุน ตลาดการเงิน การบริการ การผลิต การบริโภค และจะมีความสำคัญและเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างสมดุลอำนาจเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งบังคับให้เศรษฐกิจไทยต้องแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น”[10] โดยการนี้จะส่งผลให้การเมืองระหว่างประเทศจะเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนหัวข้อ "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม" (One vision, one identity, one community) อีกทั้งยังจะนำไปสู่การเสริมสร้างความมั่นคงทางความสัมพันธ์ซึ่งจะไม่มีการแข่งขันกันสร้างกําลังทางทหาร ไม่สร้างข้อขัดแย้งที่ต้องใช้กําลังทหารระหว่างรัฐโดยเด็ดขาด โดยการจัดมีองค์กรหรือสถาบันที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในการจัดการเพื่อปองกัน ลด จัดการและแก้ปัญหาความขัดแย้งและภาวะไร้ระเบียบระหว่างสมาชิก ส่งผลให้เกิดความสงบสุขและปราศจากผู้ลี้ถัยจากการขัดกันในปัญหาด้านการแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐสมาชิก และสุดท้ายจะมีการเชื่อมรวมทางด้านเศรษฐกิจในระดับสูงเกิดขึ้นเพื่อสร้างอํานาจในกลุ่มประเทศและป้องกันการโจมตีจากภายนอกอาเซียน[11]

การเมืองระหว่างประเทศที่กล่าวมาแม้จะมีรูปแบบความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมกันโดยเฉพาะประเทศในอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่จะนำมาซึ่งการลงทุนเพื่อสร้างสมดุลต่ออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศนั้น แต่ก็ยังเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในทางระหว่างประเทศเท่านั้น ซึ่งประเทศภาคีต่างๆ อาจไม่ให้ความร่วมมือตามข้อตกลงที่กำหนดขึ้นก็เป็นได้

ปัจจัยแวดล้อมของการเมืองระหว่างประเทศ[12] จากเทคโนโลยีและการสื่อสารทำให้การติดต่อระหว่างรัฐต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ดังนั้นสภาพการณ์การเมืองภายในประเทศกับสภาพการณ์ระหว่างประเทศจึงมีความเกี่ยวพันกันมาก การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของรัฐๆ หนึ่ง อาจไม่ได้มากจากปัจจัยใดปัจจัยภายในประเทศ (Polity) ของหน่วยการเมืองประกอบไปด้วย (1) ผู้แสดง (Actors) ได้แก่ กลุ่มผู้นำ พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ข้าราชการ ทหาร ฯลฯ (2) ทัศนคติ (Attitude) ได้แก่ อุดมการณ์ วัฒนธรรมทางการเมือง มติมหาชน ฯลฯ (3) สถาบัน (Institutions) ได้แก่ สถาบันทางการเมือง สถาบันข้าราชการ สถาบันทหาร ระบบพรรคการเมือง ระบบการสื่อสาร ฯลฯ และ (4) กระบวนการ (Process) นอกจากนี้ปัจจัยภายในยังสามารถแบ่งได้ตามประเภทดังนี้ (1) ปัจจัยทางการเมือง (2) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ (3) ปัจจัยทางสังคม (4) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และ (5) ปัจจัยทางประวัติศาสตร์ แต่อาจจะเกิดขึ้นจากภายนอก (External Environment) ร่วมด้วย คือ (1) สภาวะแวดล้อมประชิด (Contiguous Environment) หมายถึงกลุ่มของหน่วยการเมืองที่ตั้งอยู่รายรอบหน่วยการเมืองหนึ่ง (2) สภาวะแวดล้อมภูมิภาค (Regional Environment) หมายถึงกลุ่มของหน่วยการเมืองที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเดียวกับหน่วยการเมืองหนึ่งๆ (3) สภาวะแวดล้อมสงครามเย็น (Cold War Environment) หมายถึงรูปแบบลักษณะที่เป็นผลมาจากการแข่งขันของมหาอำนาจ (4) สภาวะแวดล้อมด้านเชื้อชาติ (Racial Environment) หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติต่างๆ (5) สภาวะแวดล้อมด้านทรัพยากร หมายถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (6) สภาวะแวดล้อมด้านองค์การ (Organizational Environment) หมายถึงองค์การระหว่างประเทศและสถาบันระหว่างประเทศที่ตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ เหล่านี้ที่จะมีผลต่อการสร้างความสัมพันธ์และความมั่นคงทางการเมืองทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

4.  การทุจริตของการเมืองระดับประเทศและการเมืองระดับท้องถิ่น

จากผลการสำรวจ ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) จัดอันดับโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ซึ่งเป็นองค์การนานาชาติ โดยค่าดัชนียิ่งสูงมีค่าปลอดการคอร์รัปชั่นสูง และค่าต่ำหมายถึงประเทศหรือเขตแดนที่มีการคอร์รัปชันสูง จัดลำดับประเทศไทยอันดับที่ 88 ใน 176 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนนความโปร่งใสที่ประเทศไทยได้เพียง 37 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สะท้อนปัญหาการโกงกินในประเทศระดับสูง เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาคอรัปชั่นในประเทศที่น่าเป็นห่วง  “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต  ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,289 คน ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2555 เมื่อถามว่า “อาชีพ” ที่ประชาชนคิดว่ามีการ “คอรัปชั่น” มากที่สุด

อาชีพ” ที่ประชาชนคิดว่ามีนักการ “คอรัปชั่น” มากที่สุด

อันดับ 1  นักการเมือง /นักการเมืองท้องถิ่น  45.39%

อันดับ 2  ข้าราชการ  30.24%

อันดับ 3  ตำรวจ /ทหาร  12.86%

แม้ว่าระบบการตรวจสอบหรือป้องกันการทุจริต ในประเทศไทยที่มีทั้งระบบการป้องกันทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน อธิเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (The National Anti-Corruption Commission) ทั้งสังคมไทยยังมีระบบของศีลธรรมทางสังคมและศาสนาคอยเป็นตัวกำกับ เหล่านั้นเองที่ทำให้สังคมไทยยังมีความต้องการที่จะจัดการกับปัญหาการกระทำทุจริตในสังคมในปัจจุบัน

แนวโน้มการทุจริต

แนวโน้มการทุจริต[13] มีการคาดการณ์ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกในอีก 10 ปีข้างหน้าหมายความว่าสังคม การเมือง จะเกิดการเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น จนกระทั่งไม่อาจสงวนไว้ซึ่งจริยธรรมแห่งวิชาชีพและความไม่โปร่งใส จนกระทั่งเกิดการทุจริตคอรัปชั่นแพร่หลายมากขึ้นทั้งในรูปแบบและวิธีการที่ต่างกันไป อันทำให้ระบบเละเทะวุ่นวาย ทำให้กฎหมายขาดประสิทธิภาพในภาคการบังคับใช้ ไร้ศักยภาพและเสถียรภาพที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมจะเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น จนรัฐไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ทำให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันการทุจริต

ตารางแสดงตัวชี้วัดธรรมาภิบาลของประเทศ จาก 6 ส่วนข้อมูลที่สำคัญทางการเมือง เปรียบเทียบตั้งแต่ 2543-2554

ตั้งแต่ปี 2548 -2554 จะสังเกตได้ว่า การมีส่วนร่วมทางการเมือง เสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพของรัฐบาล คุณภาพของกฎหมาย การป้องกันการทุจริต ความน่าเชื่อถือทางการเมืองของประเทศไทยเราลดลงจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสถียรภาพทางการเมือง ในช่วงหลังที่ต่ำกว่าร้อยละ 25

5.  ปัจจัยแวดล้อมอื่นที่มีผลกระทบต่อการเมือง

ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการเมืองไทย กิจกรรมที่ทำให้เกิดการเร่งหรือชะลอการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง คือ นิสัยคนไทยกับวิถีชีวิตที่ยึดติดกับระบบอุปภัมภ์และขาดระเบียบวินัย รวมทั้งการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระบบการปกครองโดยสถาบันและศาสนา เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ



[1] ปฏิรูปพรรคการเมือง : การสังกัดพรรค การยุบพรรค และการตอบสนองความต้องการของปวงชน” จากสถาบันพระปกเกล้า 2555

[2] ที่มา: [1] สหรัฐอเมริกา http://en.wikipedia.org/wiki/Voter_turnout_in_the_United_States_presidential_elections

[2] ฟิลิปปินส์ http://en.wikipedia.org/wiki/Elections_in_the_Philippines

[3] สหราชอาณาจักร http://en.wikipedia.org/wiki/United_Kingdom_general_election,_2010

[4] ไทย http://en.wikipedia.org/wiki/Thai_general_election,_2011

[3] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคณะ, ธุรกิจ รัฐ และคอร์รัปชั่น (Business, Government and Corruption). 2545, สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ: กรุงเทพมหานคร. 2545

[4] อ.ดร. ประโยชน ส่งกลิ่น , อาจารยประจำสาขารัฐศาสตร (การบริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ )วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นโยบายสาธารณะยุคหลังสมัยใหม่, 2555

[5] เกษียร เตชะพีระ : กระบวนการกำหนดนโยบายของไทย ที่มา ที่เป็น และที่ไป  14 ธันวาคม 2555

[6] รายงานการประชุม “โครงการจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย: สถานการณ์ แนวโน้มด้านการเมือง” วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

[7] ระบบสาธารณสุขในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรฉบับ 2550

มาตรา 51  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขจากรัฐซึ่งต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์

มาตรา 52  เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจและสติปัญญา ตามศักยภาพในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ

เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว

การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิของเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น

เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา 53  บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรี และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา 54  บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา 55  บุคคลซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

มาตรา 80  รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้

(1) คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวและชุมชน รวมทั้งต้องสงเคราะห์และจัดสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพและผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพึ่งพาตนเองได้

(2) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสุขภาพที่เน้นการสร้างเสริมสุขภาพอันนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของประชาชน รวมทั้งจัดและส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เอกชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสาธารณสุข โดยผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรม ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

(3) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ก้าวหน้าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกของความเป็นไทย มีระเบียบวินัย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(4) ส่งเสริมและสนับสนุนการกระจายอำนาจเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์การทางศาสนา และเอกชน จัดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมและสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

(5) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยในศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ และเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยจากรัฐ

(6) ส่งเสริมและสนับสนุนความรู้รักสามัคคีและการเรียนรู้ ปลูกจิตสำนึก และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ ตลอดจนค่านิยมอันดีงามและภูมิปัญญาท้องถิ่น”

[8] แนวโน้มของการปกครองท้องถิ่นในกระบวนทัศน์ใหม่ พิสิษฐ์ จอมบุญเรือง, 2551

[9] จากสภาข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (เอ็นไอซี) เปิดเผยรายงาน "โกลบอล เทรนด์ส 2030"

[10] กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 ธันวาคม 2555

[11] สมชาย คุ้มพูล, ระบบทางการเมืองไทยที่พึงปรารถนาของผู้บริหารประเทศ และประชาชน,

[12] สิทธิพล เครือรัฐติกาล, แนวคิดเรื่องการเมืองเกี่ยวพัน (Linkage Politics) และโลกที่แบ่งเป็นสองส่วน (Bifurcated World) , , http://kositthiphon.blogspot.com/2008/12/linkage-politics-bifurcated-world.html

[13] ผาสุก พงษ์ไพจิตร  ,แผนการแก้ปัญหาคอรัปชั่นในระบบราชการ http://www.google.co.th/url?sa= XWoIV2UDzC 69,d.bmk

คำสำคัญ (Tags): #อนาคต#แนวโน้ม
หมายเลขบันทึก: 516719เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2013 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท