รายงานส่ง จากดูงาน ศูนย์กระจายสินค้า โกลด์ซิตี้


สุรศักดิ์ จินาพันธ์" โกลด์ ซิตี้ มั่นใจธุรกิจรองเท้ายั่งยืนด้วย Supply Chain

อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าของไทยเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังถูกประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีค่าแรงต่ำกว่าเบียดออกจากเวทีโลก แต่สำหรับ "สุรศักดิ์ จินาพันธ์" ทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัท โกลด์ ซิตี้ ฟุตแวร์ จำกัด ที่ก่อตั้งมายาวนานถึง 60 ปี กลับไม่คิดเช่นนั้น โดยมีการปรับตัวตลอดเวลาทั้งทางด้านการผลิต การตลาด ด้วยการแสวงหาระบบต่าง ๆ มาเป็นเครื่องมือช่วยธุรกิจ ทั้งระบบไอที การใช้ lean และการใช้ supply chain management ซึ่งล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดังรายละเอียดต่อไปนี้

โดย นายสุรศักดิ์ จินาพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลด์ ซิตี้ ฟุตแวร์ จำกัดกล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2493 ตนจะขอกล่าวถึงเรื่อง lean ซึ่งบริษัทประยุกต์คอนเซ็ปต์ของ lean มาได้หลายปีแล้ว คำว่า lean มีหลายความหมาย ทั้งความคล่องตัว คุณภาพ รวมถึงความมั่นคงด้วย ซึ่งการทำอาชีพนี้ต้องถามตัวเองว่ามีความรู้พอเพียงหรือไม่ คำว่าพอเพียงของเราคือพร้อมอย่างมืออาชีพในการทำธุรกิจรองเท้า

ในประเทศบริษัทเราทำรองเท้านักเรียนยี่ห้อ Gold City รองเท้าลำลอง รองเท้าฟุตบอล ธุรกิจของเราทำไปทำมาเราทำซัพพลายเชนได้ดีจนกลายเป็นว่าโรงงานรองเท้าหลาย ๆ แห่งที่ทำไม่ไหว ทำการตลาดไม่เก่ง มาบอกให้เราทำ supply chain driver ให้หน่อยได้ไหม เขารับหน้าที่ผลิตอย่างเดียว คือให้เรารับหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าในประเทศทั้งร้านค้าส่ง (ยี่ปั๊ว) ร้านค้าปลีก (ซาปั๊ว) โมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ โลตัส

บางทีลูกค้าเหล่านี้มาคุยกับเราให้ช่วยผลิตรองเท้าแบบนี้ให้หน่อยได้ไหม ก็ถือว่าเป็นธุรกิจใหม่ที่ลูกค้าเป็นคนเริ่มเดินมาหาเราก่อน หรือเราเห็นว่าสินค้าประเภทนี้ น่าจะขายได้ แต่ไม่อยากทำเอง ก็ไปให้เครือข่ายทำให้

ในบรรดาธุรกิจ 5 กลุ่ม ทั้งอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเม็ดพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจรองเท้าจะมีความซับซ้อนพอ ๆ กับธุรกิจยานยนต์ ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม บางกลุ่มโตด้วยการทำมาตรฐาน HACCP บางกลุ่มโตด้วย ISO บางกลุ่มโตด้วย TQM แต่ในกลุ่มรองเท้าจะมีรุ่นเยอะ ชิ้นส่วนเยอะ ปีกเยอะ มีข้างซ้าย ข้างขวา เพราะการประกอบจะเหลืออะไรไม่ได้เลย ต้องทำให้เข้ากันทั้งระบบ ทั้งเรื่องซัพพลายเชน เรื่องวัตถุดิบ เรื่องแรงงาน เรื่องเครื่องจักร ต้องสมบูรณ์แบบมาก ๆ

ต่อมาคือเรื่องไอที ERP บริษัทใช้มา8 ปี เรามองว่าเป็นตัวช่วยทั้งองค์กรให้พูดภาษาเดียวกัน รักกัน ไม่มีการเมือง พนักงานคิดเป็นบวก เป็นแท็กติกพื้นฐานที่ทำให้ ERP เป็นโปรแกรมที่มีชีวิต ใช้แล้วมี ความสุข เรื่องต่อมาคือเรื่องการคาดการณ์ ยอดขาย (sales forecast) บริษัทค่อนข้างก้าวหน้ามาก ซึ่งเมื่อก่อนใช้ระบบ Data Warehouse คือใช้การวิเคราะห์ใน หลายมุม

ข้อมูลหลาย ๆ มุมที่นำมาวิเคราะห์ เช่น พฤติกรรมลูกค้า ดูรายสินค้า รายแบรนด์ รายจังหวัด รายรุ่น รายไซซ์ รายสี รายประเทศ ดูรายการทำกำไรสูงหรือทำกำไรต่ำ รายแฟชั่น รายพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญบริษัทคาดการณ์ว่าเดือนหน้า จะเกิดอะไรขึ้น ดูจากอณูเล็ก ๆ แล้ว consolidate รวมกันขึ้นมาเป็นอณูใหญ่ ๆ ช่วยในการคาดการณ์ คือเราไม่ได้ใช้วิธีการคาดการณ์จากข้างบนลงไปล่าง ที่ดูจากยอดขายรวมทั้งระบบ เช่น ยอดขายรวม 500 ล้านบาทแล้วเราจะทำอย่างไรบ้าง

เดี๋ยวนี้การทำ sales forecast ของบริษัทก้าวหน้ามาก จะมีการเอาข้อมูลย้อนหลัง 36 เดือนมาคิดกับสูตรคณิตศาสตร์ 20 สูตร แล้ว run ไปเพื่อมาวิเคราะห์ว่า SKU นี้ 36 เดือนย้อนหลังมันแมตช์กับสูตรคณิตศาสตร์ตัวไหน มีสมการคณิตศาสตร์เยอะ สูตรไหนมีความแปรปรวนต่ำก็ยึดสูตรนั้น พอถึงเดือนหน้าก็ทำอย่างนี้ใหม่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องเซฟตี้สต๊อกเดี๋ยวนี้เราเอาแค่ casual sales มาลบด้วย forecast แล้วดูความแปรปรวนมาเป็นตัวชี้สต๊อกสูงหรือต่ำ หากตัวไหนผิดปกติระบบจะจัดการหรือวิเคราะห์เพิ่ม

การ forecast แม้จะทำเดือนละครั้ง แต่ล่าสุดยอด forecast ของบริษัทลงไปถึง รายสัปดาห์ด้วย ฝ่ายผลิตก็ต้องไปวางแผนการผลิตให้สอดคล้อง รวมทั้งมีการแจ้งซัพพลายเออร์ที่ส่งวัตถุดิบรายสัปดาห์ด้วย

ยอดขายมีการทบทวนทุกวัน มีการแจ้งซัพพลายเออร์รายเดือนว่าเดือนหน้าจะมี P/O คำสั่งซื้อเท่าใด จะได้เตรียมวัตถุดิบได้ถูกต้อง 

ที่มา:ประชาชาติธุรกิจ

หมายเลขบันทึก: 515453เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2013 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท