ชยพร ชัยพร ไชยพร


ชัยพร ไชยพร Jayavara जयवर

คำนี้มีความหมายดี และตอนนี้ใกล้จะปีใหม่ จึงขอนำเสนอคำที่เหมาะๆ กับโอกาสอย่างนี้

     ชยพร และ ชัยพร มักใช้เป็นชื่อผู้ชาย ถ้าตั้งชื่อผู้หญิงจะรู้สึกแปลกๆ แม้จะไม่มีข้อกำหนดก็เถอะ  อีกคำหนึ่งที่คล้ายกันก็คือ ไชยพร ดูเหมือนจะเห็นชื่อ ไชยพร มากกว่า ชัยพร เสียอีก


อินทรชิต ตัวหนังตะลุงของอินโดนีเซีย (ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Indrajit)


ความหมายศัพท์

ชยพร หรือ ชัยพร ประกอบด้วยคำสองคำ คือ ชย(ชัย) และพร

    “ชัย” ในภาษาสันสกฤต (และภาษาบาลี) สะกด ชย อ่านว่า ชะยะ เขียนแบบโรมัน jaya เขียนแบบเทวนาครีก็ जयแปลว่า ความชัย หรือชัยชนะ มาจากรากศัพท์เดิมคือ ชิ (ชิ เติมสระอะ เป็น ชะยะ) ซึ่งจะนำไปใช้เป็นกริยาได้ เช่น ชยติ. เขาชนะ, ชิตวา ชนะแล้ว (เช่น ชิตวา มุนินโท เมื่อพระพุทธเจ้าชนะแล้ว) ชิ+ต แปลว่า ผู้ชนะ เช่น อินทรชิต คือ ผู้เอาชนะพระอินทร์แล้ว

    คำว่า “ไชย” นั้น ไม่ปรากฏในภาษาสันสกฤต แม้ภาษาสันสกฤตจะมีสระไอก็ตาม ในภาษาสันสกฤต อาจมี ไช (ไม่มี ย) ซึ่งแผลงมาจาก ชิ ที่เอ่ยไปแล้วข้างต้น จึงไม่ค่อยมีศัพท์เดิมที่มีคำว่า ไช  เว้นแต่จะเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับ เช่น ชีมูต แผลงเป็น ไชมูต. ดังนั้น ไชย จึงเป็นคำที่เขียนแบบไทย (อาจได้รูปมาจากเขมร หรือภาษาอื่น อย่างไร ผมยังไม่ได้ค้น) ไม่ใช่ศัพท์สันสกฤตหรือบาลีแต่อย่างใด

    ส่วนคำว่า พร นั้น ในภาษาบาลีและสันสกฤต มักจะเป็น วร อ่านว่า วะระ เขียนแบบโรมัน vara เขียนแบบเทวนาครี वर(เพราะ ว และ พ มักจะสลับกันได้) คำนี้มีความหมายหลายอย่าง

    วร แปลว่า คำอวยพร หรือสิ่งที่มอบให้ เป็นสิ่งของก็ได้ หรือเป็นคำพูดที่แสดงความปรารถนาดีก็ได้

    วร ยังแปลว่า เจ้าบ่าว (นึกถึงภาษาอังกฤษ ในภาษาเก่าๆ  Goodman แปลว่าเจ้าบ่าว) ก็ได้ ในบทละครสันสกฤตเรื่องรักๆ บางเรื่องจึงเล่นคำ วร ที่แปลว่า พร กับที่แปลว่าเจ้าบ่าว

    อีกความหมายหนึ่ง วร แปลว่า ดีที่สุด มักวางไว้หลังคำอื่น เช่น คชวร แปลว่า ช้างที่เก่งที่สุด (ดุที่สุด อะไรๆ ที่สุด ฯลฯ)


ความหมายของคำ

  การแปลคำว่า ชัยพร นั้นสนุก เพราะแปลได้หลายอย่าง ตามใจชอบ ท่านใดชื่อชัยพร ลองเล่นกับการแปลนี้ดูนะครับ

    1. แปลแบบไทย คือ คำข้างหน้าเป็นหลัก ดังนั้น ชัยพร ควรแปลว่า ชัยชนะของพร, ชัยชนะจากพร, ชัยชนะของเจ้าบ่าว, ชัยชนะในฐานะเป็นเจ้าบ่าว ได้เหมือนกัน อิๆๆ

    2. แปลแบบสันสกฤต คำสมาสภาษาสันสกฤตและบาลี ไม่ได้ยึดคำหลังเป็นหลักอย่างเดียว อาจแปลได้หลายอย่าง ดังนี้

      ก) แปลแยกสองคำ แปลว่า ชัยชนะและพร, ผู้มีชัยชนะและมีพร

      ข) แปลยึดคำหลังเป็นหลัก แปลว่า พรแห่งความชนะ พรที่ได้จากการชนะ พรเพื่อชัยชนะ, เจ้าบ่าวที่มีชัยชนะ, ผู้เป็นเจ้าบ่าวจากการชนะ 

      ค) แปล วร ว่าดีที่ เยี่ยมที่สุด, แปลว่า ชัยชนะอันประเสริฐ, ชัยชนะอย่างยิ่ง, ผู้มีชัยชนะอันยอดเยี่ยม ผู้มีชัยอย่างยิ่ง

    อนึ่ง การเขียนอักษรเทวนาครี ชื่อชยพร และชัยพร ควรเขียนแบบนี้ जयबर (ชยพร) แต่ถ้าว่าตามภาษาบาลีสันสกฤต ก็คือ जयवर (ชยวร) ส่วนไชยพรนั้น น่าจะเขียน जैयबर

คำสำคัญ (Tags): #ชยพร#ชัยพร#ไชยพร
หมายเลขบันทึก: 514039เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2012 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2012 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มาขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงยิ่งครับ

ชยพร   แอคะรัจน์

เวลาอาจารย์เขียนอะไรแนวๆนี้แล้วสนุกมากคะ ได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน

แปลว่า พรจากชายา ได้มั้ยคะ :-)

ชายา หดเสียงเป็น ชย น่าจะได้, แต่ไม่มีกฎข้อนี้ครับ ;)

เมื่อวานเพื่อนโทรมาถามเรื่องชื่อลูก ว่าเขียนแบบนี้.... ผิดกติกาไหม

ผมบอกถ้าเราตั้งชื่อ เขียนแบบไหนก็ไม่ผิดหรอก เพราะเรากำหนดชื่อเองนี่นา

  • ขอบคุณสำหรับความรู้ของชื่อตัวเองครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท