มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

ธรรมจากพระโอษฐ์เป็นคำกลอน


 

พระธรรมจากพระโอษฐ์

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ขอบูชาธรรม

ทรงเอื้อนโอษฐ์โปรดแสดงแถลงไข

กรุ่นกลิ่นไอพระธรรมเป็นคำสอน

เหมือนหยดหยาดสายพิรุณพสุนธร

พลันคลายร้อนอภิรมย์อยู่ร่มเย็น

ดวงจันทร์แจ่มพ้นผ่านม่านเมฆหมอก

เปล่งแสงออกสว่างจ้าทั่วหล้าเห็น

องค์พระพุทธบริสุทธิ์ผุดผ่องเพ็ญ

พระทรงเป็นดั่งจันทร์งามอร่ามตา

เสียงพระธรรมสอนสั่งยังดังแว่ว

ตรับฟังแล้วสุขสันต์จิตหรรษา

โสมนัสยิ่งยินดีแสนปรีดา

เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง

พระธรรมจากพระโอษฐ์โปรดสดับ

จงน้อมรับกันเถิดเกิดผลยิ่ง

ชูพระธรรมเป็นหนึ่งไว้พึ่งพิง

จะเนานิ่งสงบสุขทุกคืนวันฯ

ททโตปุญฺญํปวฑฺฒติ

สํยมโตเวรํนวียติ

กุสโลวชหาติปาปกํ

ราคโทสโมหกฺขยานิพฺพุโตฯ  ที. ม. ๑๐/๑๒๗/๑๕๗

บุญเจริญแก่ผู้ให้

เวรไม่ก่อแก่ผู้สำรวม

คนฉลาดละกรรมชั่ว

เขาดับแล้วเพราะสิ้นราคะโทสะโมหะ.

กุศลผลบุญช่วยอุ่นเอื้อ

ตามก่อเกื้อแก่ผู้ให้ไม่หวังผล

ผลิแย้มบานอยู่ภายในดวงกมล

พาผ่านพ้นทุกข์ภัยในทุกทาง

เวรระงับดับลงอย่าสงสัย

หากจิตไม่เกาะเกี่ยวเที่ยวบาดหมาง

บาปอกุศลนิดหน่อยก็ปล่อยวาง

ย่อมเริศร้างจากกิเลสหมดเภทภัยฯ

อภิตฺถเรถกลฺยาเณ

ปาปาจิตฺตํนิวารเย

ทนฺธํหิกรโตปุญฺญํ

  ปาปสฺมึรมตีมโนฯ  ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๐

พึงรีบทำความดี

ห้ามจิตจากความชั่ว

เพราะเมื่อทำบุญช้าไป

ใจย่อมยินดีในบาป.

บุญคุณงามความดีเริ่มที่จิต

หากเกิดคิดจะทำอย่าหวั่นไหว

รีบขวนขวายขณะนั้นในทันใด

ก่อนจิตใจเดียดฉันท์เปลี่ยนผันแปร

เมื่อทำบุญล่วงกาลเนิ่นนานนัก

จิตก็จักตกต่ำเดี๋ยวย่ำแย่

ยินดีในบาปเชียวเลิกเหลียวแล

ยากจะแก้กลับลำมาทำดีฯ

  ปุญฺญญฺเจปุริโสกยิรา

กยิราเถนํปุนปฺปุนํ

ตมฺหิฉนฺทํกยิราถ

  สุโขปุญฺญสฺสอุจฺจโยฯขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๐

หากพึงทำบุญ

ก็พึงทำบ่อยๆ

ทำความพอใจในบุญนั้น

เพราะการสั่งสมบุญ

นำความสุขมาให้.

บุญกุศลเสริมราศีดูดีนัก

จงพิทักษ์รักษาอย่าเสื่อมสูญ

หมั่นเพียรทำบ่อยบ่อยค่อยเพิ่มพูน

ทวีคูณกอปรเกื้อเพื่อหนุนนำ

การสั่งสมบุญกุศลผลเป็นสุข

ผ่อนคลายทุกข์เศร้าหมองหน้าผ่องขำ

ปลูกนิสัยใฝ่บุญเป็นประจำ

จะสุขล้ำสำราญเบิกบานใจฯ

หากพึงทำบุญ

ก็พึงทำบ่อยๆ

ทำความพอใจในบุญนั้น

เพราะการสั่งสมบุญ

นำความสุขมาให้.

บุญกุศลเสริมราศีดูดีนัก

จงพิทักษ์รักษาอย่าเสื่อมสูญ

หมั่นเพียรทำบ่อยบ่อยค่อยเพิ่มพูน

ทวีคูณกอปรเกื้อเพื่อหนุนนำ

การสั่งสมบุญกุศลผลเป็นสุข

ผ่อนคลายทุกข์เศร้าหมองหน้าผ่องขำ

ปลูกนิสัยใฝ่บุญเป็นประจำ

จะสุขล้ำสำราญเบิกบานใจฯ

อุปนียติชีวิตมปฺปมายุ

ชรูปนีตสฺสนสนฺติตาณา

เอตํภยํมรเณเปกฺขมาโน

  ปุญฺญานิกยิราถสุขาวหานิฯองฺ.ติ. ๒๐/๔๙๓/๑๙๘

ชีวิตถูกชรานำเข้าไปหาความมีอายุสั้น

ผู้ที่ถูกชรานำเข้าไปย่อมไม่มีที่ต้านทาน

เมื่อบุคคลเล็งเห็นภัยในความตายนี้

ควรทำบุญทั้งหลายซึ่งนำความสุขมาให้.

เมื่อคราวแก่คร่ำคร่าน่าหดหู่

ชีวิตอยู่อีกไม่นานก็ผ่านผัน

ใกล้ความตายทุกขณะยากประกัน

จะเหลียวหันมองหาคว้าสิ่งใด

เพื่อมาช่วยต้านทานห้ามหาญหัก

คอยปกปักปัดป้องคุ้มครองให้

แคล้วคลาดปราศจากมรณภัย

รู้ใช่ไหมว่าควรทำบำเพ็ญบุญฯ

โถกํโถกํขเณขเณ

กมฺมาโรรชตสฺเสว

  นิทฺธเมมลมตฺตโนฯ ขุ. ธ. ๒๕/๒๘/๔๗

นักปราชญ์ทำกุศลทีละน้อยอยู่ทุกขณะ

ขจัดมลทินของตนออกได้โดยลำดับ

เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทองออก.

บุญกุศลเล็กน้อยค่อยสั่งสม

ปราชญ์ชื่นชมเป็นนิจจิตสุขี

ทุกขณะหมั่นกระทำแต่กรรมดี

มลทินมีขจัดออกนอกจากตน

เหมือนช่างทองทำงานงามวิจิตร

ค่อยกอปรกิจดีหนอพอเกิดผล

กำจัดสิ่งมัวหมองมองหมดมล

ทองเปล่งล้นเหลืองอร่ามงามจับตาฯ

อิธโมทติเปจฺจโมทติ

กตปุญฺโญอุภยตฺถโมทติ

โสโมทติโสปโมทติ

ทิสฺวากมฺมวิสุทฺธิมตฺตโนฯขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๗

คนทำบุญไว้บันเทิงในโลกนี้

บันเทิงในโลกหน้าบันเทิงในโลกทั้งสอง

คนทำบุญนั้นมองเห็นกรรมบริสุทธิ์ของตน

บันเทิงเบิกบานอย่างยิ่ง.

คนที่สั่งสมบุญสุนทรกุศล

สุขมากล้นบันเทิงรื่นเริงร่า

อยู่โลกนี้ทุกยามงามโสภา

อยู่โลกหน้าระรื่นสุดชื่นบาน

คนทำบุญยิ้มย่องหน้าผ่องใส

อยู่ที่ใดก็ปรีดิ์เปรมเกษมศานต์

มองเห็นความผุดผ่องครองดวงมาน

ปีติซ่านสุขสมอารมณ์เย็นฯ

มตฺตาสุขปริจฺจาคา

ปสฺเสเจวิปุลํสุขํ

จเชมตฺตาสุขํธีโร

สมฺปสฺสํวิปุลํสุขํฯขุ. ธ. ๒๕/๓๑/๕๓

หากมองเห็นความสุขไพบูลย์

เพราะสละความสุขพอประมาณ

ปราชญ์มองเห็นความสุขไพบูลย์

ก็ควรสละความสุขพอประมาณนั้นเสีย.

หากเห็นสุขกว้างใหญ่ไพบูลย์ยิ่ง

เป็นสุขจริงกว่าสุขใดอยู่ในหล้า

สุขเพียงพอประมาณผ่านเข้ามา

มองเห็นว่าเล็กน้อยควรปล่อยไป

สุขแม้เพียงเล็กน้อยปล่อยไปเถิด

เพราะไม่เกิดคุณค่าในคราไหน

ยอมสละเริศร้างเหินห่างไกล

ควรยึดไว้แต่สุขยิ่งที่จริงเทียวฯ

มนาปทายีลภเตมนาปํ

อคฺคสฺสทาตาลภเตปุนคฺคํ

วรสฺสทาตาวรลาภีจโหติ

เสฏฺฐนฺทโทเสฏฺฐมุเปติฐานํฯองฺ. ป. ๒๒/๔๔/๕๖

ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของที่พอใจ

ผู้ให้ของที่เลิศย่อมได้ของที่เลิศ

ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของที่ดี

และผู้ให้ของที่ประเสริฐ

ก็ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ.

เมื่อให้ของดีมีค่าน่าชมชื่น

คนก็ตื่นตารับไม่ผลักไส

ย่อมได้ของดีตอบน่าชอบใจ

งามวิไลสมตามคุณความดี

เมื่อให้ของล้ำเลิศประเสริฐนัก

คนก็รักยกย่องว่าผ่องศรี

ย่อมได้ของอิ่มเอมน่าเปรมปรีดิ์

และถึงที่ประเสริฐเลิศกว่าใครฯ

นเวกทริยาเทวโลกํวชนฺติ

พาลาหเวนปฺปสํสนฺติทานํ

ธีโรจทานํอนุโมทมาโน

เตเนวโสโหติสุขีปรตฺถฯขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๘

คนตระหนี่ไปสู่เทวโลกไม่ได้

คนพาลไม่สรรเสริญทานเลย

ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทาน

เพราะการอนุโมทนาทานนั่นเอง

ท่านจึงเป็นสุขอยู่ในโลกหน้า.

คนตระหนี่ถี่เหนียวหน่วงเหนี่ยวทรัพย์

ยากจะลับสู่สวรรค์เมืองชั้นฟ้า

คนพาลมักติฉินมัวนินทา

มุ่งกล่าวหาทานนี้ไม่ดีเลย

ส่วนปราชญ์ทานโมทนาเปล่งสาธุ

มิได้ลุล่วงล้ำทำเปิดเผย

คอยบันเทิงเริงรื่นอย่างชื่นเชย

สุขเสวยอยู่โลกหน้าอำภาพรายฯ

หิโตพหุนฺนํปฏิปชฺชโภเค

ตํเทวตารกฺขติธมฺมคุตฺตํ

พหุสฺสุตํสีลวตูปปนฺนํ

ธมฺเมฐิตํนวิชหาติกิตฺติฯองฺ. ป. ๒๒/๔๒/๕๑

สัตบุรุษครอบครองโภคทรัพย์

เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน

เทวดาย่อมรักษาเขาผู้ธรรมคุ้มครอง

เป็นพหูสูตสมบูรณ์ด้วยศีลและจริยาวัตร

เกียรติก็ไม่ละทิ้งเขาผู้ตั้งอยู่ในธรรม.

โภคทรัพย์มากมายหลากหลายสิ่ง

คนดีจริงปกป้องครอบครองอยู่

เพื่อประโยชน์สูงล้ำคอยค้ำชู

แก่พหูชนหญิงชายชาวประชา

เทวดาปกป้องคุ้มครองเขา

ผู้ขัดเกลาศีลมั่นหมั่นรักษา

ทรงความรู้คู่ธรรม์งามจรรยา

ย่อมเลิศหล้าเกริกก้องเกียรติคุณฯ

หนนฺติโภคาทุมฺเมธํ

โนเจปารคเวสิโน

โภคตณฺหายทุมฺเมโธ

หนฺติอญฺเญวอตฺตนํฯขุ. ธ. ๒๕/๓๔/๖๓

โภคทรัพย์ฆ่าคนทรามปัญญา

แต่ไม่ฆ่าผู้แสวงหาฝั่ง

คนทรามปัญญาฆ่าตน

เหมือนคนฆ่าคนอื่น

เหตุเพราะอยากได้โภคทรัพย์.

โภคทรัพย์ทั้งหลายทำร้ายฆ่า

คนปัญญาต่ำทรามน่าหยามหยัน

แต่ผู้หาฝั่งอำไพไม่ฆ่าฟัน

ประหารหั่นเพียงคนทรามตามพันพัว

คนต่ำทรามปัญญาฆ่าตนก่อน

ทำคนอื่นเดือดร้อนปลิ้นปล้อนทั่ว

เหตุเพราะโภคทรัพย์จับตามัว

เขาความชั่วนำทางอยากอย่างเดียวฯ

เนสาสภายตฺถนสนฺติสนฺโต

เงินทองเป็นของมายา

ข้าวปลาเป็นของจริง

สนฺโตนเตเยนวทนฺติธมฺมํ

ราคญฺจโทสญฺจปหายโมหํ

ธมฺมํวทนฺตาจภวนฺติสนฺโตฯสํ. ส. ๑๕/๗๒๕/๒๗๐

ที่ใดไม่มีสัตบุรุษที่นั้นไม่ชื่อว่าสภา

คนเหล่าใดไม่กล่าวธรรม

คนเหล่านั้นไม่ชื่อว่าสัตบุรุษ

สัตบุรุษละราคะโทสะโมหะ

กล่าวธรรมอยู่.

ที่ใดว่างร้างไร้สัตบุรุษ

ผู้พิสุทธิ์กล่าวธรรมอันล้ำค่า

ที่นั้นมองไม่เห็นเป็นสภา

จะเสาะหาสาระใดย่อมไม่มี

สัตบุรุษกล่าวธรรมชี้นำถูก

เพียรเพาะปลูกสรรค์สร้างทางสุขี

ละความโลภโกรธหลงคงความดี

ตามวิถีแห่งปราชญ์องอาจจริงฯ

โอวเทยฺยานุสาเสยฺย

อสพฺภาจนิวารเย

สตํหิโสปิโยโหติ

อสตํโหติอปฺปิโยฯขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๕

ควรแนะนำพร่ำสอน

ห้ามจากธรรมของอสัตบุรุษ

คนนั้นเป็นที่รักของเหล่าสัตบุรุษ

แต่ไม่เป็นที่รักของพวกอสัตบุรุษ.

พึงกล่าวย้ำพร่ำสอนในทางถูก

เพื่อเพาะปลูกความดีเป็นศรีศักดิ์

คนชั่วคอยห้ามปรามอย่าถามทัก

คนดีรักชื่นชมนิยมพลัน

คนนั้นใกล้คนดีเป็นที่รัก

คนชั่วชักเคืองขุ่นมองหุนหัน

ไม่เคยชอบสักนิดเพราะผิดกัน

ก็อย่าหวั่นหวาดกลัวคนชั่วเลยฯ

หมายเลขบันทึก: 512559เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 

ธมฺมํจเรสุจริตํ

นนํทุจฺจริตํจเร

ธมฺมจารีสุขํเสติ

อสฺมึโลเกปรมฺหิจฯขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๘

ควรประพฤติธรรมให้สุจริต

ไม่ควรประพฤติให้ทุจริต

ผู้ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ

ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า.

ประพฤติธรรมสำคัญมั่นสุจริต

เพื่อให้จิตบริสุทธิ์ผุดผ่องผล

อย่าประพฤติทุจริตคิดพิกล

หรือฉ้อฉลขึ้นมามันน่าอาย

ประพฤติธรรมงดงามมีความสุข

พ้นผองทุกข์พาลภัยห่างไกลหาย

ทั้งโลกนี้โลกหน้าอำภาพราย

ความเลวร้ายหลบรี้หลีกหนีไกลฯ

ยถาปิรหโทคมฺภีโร

วิปฺปสนฺโนอนาวิโล

เอวํธมฺมานิสุตฺวาน

วิปฺปสีทนฺติปณฺฑิตาฯขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๕

ห้วงน้ำลึกใสไม่ขุ่นมัวฉันใด

บัณฑิตทั้งหลายฟังธรรมก็ผ่องใสฉันนั้น.

แหล่งน้ำลึกไหลเรียบดูเงียบเฉย

ไม่ขุ่นเลยเขียวครามสายน้ำใส

ฝูงมัจฉาแหวกว่ายอยู่ภายใน

มองทีไรก็ระรื่นแช่มชื่นตา

เหมือนธรรมเพราะเหมาะฟังหากตั้งจิต

หมู่บัณฑิตร่วมสดับตรับหรรษา

เกิดปีติอิ่มเอมเปรมปรีดา

ดูดวงหน้างามวิไลผ่องใสจริงฯ

สุโขวิเวโกตุฏฺฐสฺส

สุตธมฺมสฺสปสฺสโต

อพฺยาปชฺชํสุขํโลเก

ปาณภูเตสุสญฺญโมฯขุ. อุ. ๒๕/๕๑/๘๖

วิเวกเป็นสุขของผู้ยินดีที่ได้สดับธรรม

พิจารณาเห็นอยู่ความไม่เบียดเบียนกัน

หมั่นสำรวมในสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขในโลก.

ความราบเรียบเงียบสงบแสนสงัด

คนยินดีสัมผัสสุขหนักหนา

ได้ฟังธรรมซาบซึ้งตรึงอุรา

พิจารณาเห็นอยู่รู้ความจริง

ความไม่เบียดเบียนกันห้ำหั่นฆ่า

สำรวมกายวาจาในทุกสิ่ง

โลกนี้ร่มเย็นนักน่าพักพิง

อยู่เนานิ่งสงบสุขทุกคืนวันฯ

สพฺพทานํธมฺมทานํชินาติ

สพฺพํรสํธมฺมรโสชินาติ

สพฺพํรตึธมฺมรตีชินาติ

ตณฺหกฺขโยสพฺพทุกฺขํชินาติฯขุ. ธ. ๒๕/๓๔/๖๓

ให้ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง

รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง

ความสิ้นตัณหาชนะทุกข์ทั้งปวง.

ธรรมเป็นทานชนะการให้ทั้งหมด

เฉพาะรสพระธรรมยิ่งฉ่ำหวาน

ชนะรสทั้งปวงชื่นดวงมาน

ตลอดกาลอย่าเปรียบเทียบอะไร

ความยินดีในธรรมชำนะนี่

ความยินดีทั้งหลายหายสงสัย

สิ้นตัณหาพาชนะเหนืออื่นใด

ทุกข์น้อยใหญ่ทั้งปวงหลุดร่วงลาฯ

สนฺตกาโยสนฺตวาโจ

สนฺตมโนสุสมาหิโต

วนฺตโลกามิโสภิกฺขุ

อุปสนฺโตติวุจฺจติฯขุ. ธ. ๒๕/๓๔/๖๖

ภิกษุที่กายวาจาใจสงบ

ตั้งมั่นดีมีอามิสในโลกคืนคาย

เราเรียกว่าผู้สงบระงับ.

ภิกษุกายวาจาใจผ่องใสนิ่ง

ไม่สุงสิงสุขสงบพานพบเห็น

ยืนเดินนั่งอภิรมย์อยู่ร่มเย็น

ช่างผ่องเพ็ญยิ่งนักประจักษ์ตา

เธอเป็นคนตั้งมั่นมิหวั่นหนอ

อามิสก็คายคืนตื่นหรรษา

อยู่เหนือสิ่งสมมุติผุดโสภา

เราเรียกว่าผู้สงบพบเห็นธรรมฯ

ธรรมคือสภาพทรงความจริง (ธาเรตีติธมฺโม)

เห็นความจริงก็เท่ากับเห็นธรรม

ทว่าน้อยคนนักที่จะเห็น

ทั้งนี้เพราะสายตาของมนุษย์

ถูกม่านอวิชชาปิดจึงตกหลุมพราง

ติดกับดักของโลกสมมติ

หลงโลกบัญญัติกันอยู่เสมอ

ไม่สามารถพบเห็นความจริงของโลกปรมัตถ์

แท้ที่จริงโลกปรมัตถ์หรือโลกความจริงนั้น

ก็อยู่กับโลกสมมติโลกบัญญัตินี่เอง

แต่ถูกปกปิดด้วยม่านอวิชชา

การเห็นธรรมมิใช่เรื่องเหนือวิสัย

เพียงเพียรมองโลกสมมติ

โลกบัญญัติด้วยสายตาวิปัสสนา

เมื่อม่านอวิชชาค่อยๆคลี่ออก

โลกปรมัตถ์ในมุมมองใหม่

ก็แจ่มชัดขึ้นเอง

อย่างไรก็ตาม

คนที่ประจักษ์แจ้งโลกปรมัตถ์

ก็ยังคงอยู่ร่วมกับโลกสมมติ

โลกบัญญัติเหมือนเดิม

เพียงแต่“ทรรศนะ” เปลี่ยนไป

มองโลกสมมติโลกบัญญัติ

ด้วยสายตาสงบนิ่งเยือกเย็น

ไม่รุ่มร้อนวุ่นวายเหมือนแต่ก่อน

คนเช่นนี้แหละไม่ถูกเกี่ยวด้วย

“เหยื่อล่อคืออามิส” และ

“สายน้ำโลกธรรม”

คือลาภเสื่อมลาภยศเสื่อมยศ

สุขทุกข์นินทาสรรเสริญ

ก็ไม่สามารถพัดขึ้นพัดลง

เขาย่อมตั้งมั่นอยู่อย่างสงบสุข

ปลอดภัยจากการบีบคั้น

ของทุกข์และภัยอันตรายต่างๆ

เหมือนลิ้นอยู่ในปากอสรพิษร้าย

คนที่อยู่กับโลกร้อนด้วยความสงบเยือกเย็นอย่างนี้

นอกจากท่านจะเรียกว่า“ผู้สงบ” แล้ว

ยังเรียกว่า“คนเหนือโลก”

สพฺพาทิสาอนุปริคมฺมเจตสา

เนวชฺฌคาปิยตรมตฺตนากฺวจิ

เอวํปิโยปุถุอตฺตาปเรสํ

ตสฺมานหึเสปรํอตฺตกาโมฯสํ. ส. ๑๕/๓๔๘/๑๐๙

ค้นหาด้วยจิตตลอดทิศทั้งหมด

ก็ไม่พบใครๆซึ่งเป็นที่รักยิ่งกว่าตน

สัตว์เหล่าอื่นก็รักตนมากเหมือนกัน

ฉะนั้นผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่น.

เสาะสืบค้นสิ่งใดทั่วใต้หล้า

รักยิ่งกว่าตัวตนพบหนไหน

ตนรักตัวของตัวยิ่งกว่าใคร

หาสิ่งใดมาเปรียบเทียบไม่มี

หมู่สัตว์ต่างรักตัวกลัวตายสิ้น

ห่วงชีวินอยู่มิวายหาหน่ายหนี

ย่อมรักตัวกว่าใครใครในปฐพี

รู้อย่างนี้อย่าบีฑาเข่นฆ่ากันฯ

สุขกามานิภูตานิ

โยทณฺเฑนวิหึสติ

อตฺตโนสุขเมสาโน

เปจฺจโสนลภเตสุขํฯขุ. ธ. ๒๕/๒๐/๓๒

ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน

เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย

ซึ่งใคร่ความสุขด้วยอาชญา

ผู้นั้นละจากโลกนี้ไปย่อมไม่ได้ความสุข.

เสาะหาสุขเพื่อตนคนนั้นเล่า

แต่กลับเฝ้าเบียดเบียนสัตว์กำจัดเสีย

ด้วยอาชญากระทำเหยียบย่ำเยีย

ทุกข์นัวเนียแน่นอนต้องร้อนรน

เสาะหาสุขทุกข์เกิดแก่สัตว์อื่น

จะแช่มชื่นอย่างไรเพราะใจหม่น

ละโลกนี้จากไปแสนไกลคน

ทุกข์ย่อมท้นท่วมทับอยู่ทรมานฯ

ปรทุกฺขูปธาเนน

โยอตฺตโนสุขมิจฺฉติ

เวรสํสคฺคสํสฏฺโฐ

เวราโสนปริมุจฺจติฯขุ. ธ. ๒๕/๓๑/๕๓

ผู้ใดปรารถนาความสุขเพื่อตน

ด้วยการเข้าไปตั้งความทุกข์ไว้ในผู้อื่น

ผู้นั้นเป็นคนระคนเกี่ยวข้องกับเวร

ในที่สุดก็หนีไม่พ้นเวร.

ปรารถนาความสุขทุกถ้วนหน้า

คนในหล้ารักสุขเกลียดทุกข์แน่

หากรักสุขเหตุไฉนไม่เหลียวแล

หยิบยื่นแต่ความทุกข์หาสุขใจ

ผู้ให้ทุกข์มากล้นแก่คนอื่น

จะขมขื่นเวรข้องมองเห็นไหม

มิอาจนำพาตนผ่านพ้นภัย

สุดท้ายไซร้เวรสนองต้องรับกรรมฯ

อตฺตนาโจทยตฺตานํ

ปฏิมํเสตมตฺตนา

โสอตฺตคุตฺโตสติมา

สุขํภิกฺขุวิหาหิสิฯขุ. ธ. ๒๕/๓๔/๖๖

จงเตือนตนด้วยตนเอง

จงสงวนตนด้วยตนเอง

ภิกษุเอ๋ยเธอนั้นคุ้มครองตน

มีสติระลึกรู้จักอยู่เป็นสุข.

จงเตือนตัวของตนให้พ้นผิด

ตนเตือนจิตด้วยตนผลสนอง

สงวนตนไว้งามตามครรลอง

หมั่นคุ้มครองตนเถิดเกิดผลดี

ภิกษุเอ๋ยเธอนั้นหมั่นระลึก

ธรรมจงตรึกประจักษ์เป็นสักขี

เมื่อผ่านพ้นผองภัยปลอดไพรี

จะเปรมปรีดิ์อภิรมย์อยู่ร่มเย็น

อตฺตาหิอตฺตโนนาโถ

โกหินาโถปโรสิยา

อตฺตนาหิสุทนฺเตน

นาถํลภติทุลฺลภํฯขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๖

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

คนอื่นไหนเล่าจะพึงเป็นที่พึ่งได้

จริงทีเดียวตนที่ฝึกดีแล้ว

ได้ที่พึ่งที่ได้ยาก.

ตนพึ่งตนนั่นแลจริงแท้นัก

ตนนั้นรักตนแท้แน่นอนกว่า

คนอื่นใดไหนเล่าเขาจะมา

ให้พึ่งพาพำนักอยู่พักพิง

ตนฝึกตนนั่นแลแน่ที่สุด

ไม่ยื้อยุดกับใครในทุกสิ่ง

ได้ที่หนึ่งพึ่งตนเห็นผลจริง

ได้เพริศพริ้งเพราะตนฝึกฝนดีฯ

อตฺตทตฺถํปรตฺเถน

พหุนาปินหาปเย

อตฺตทตฺถมภิญฺญาย

สทตฺถปสุโตสิยาฯ ขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๗

ไม่ควรยังประโยชน์ตนให้เสื่อม

เพราะประโยชน์คนอื่นแม้มาก

รู้จักประโยชน์ตนแล้ว

ก็ควรขวนขวายเฉพาะประโยชน์ตน.

ประโยชน์ตนรักษาอย่าให้เสื่อม

ไม่ต้องเอื้อมประโยชน์ใดของใครเขา

แม้มากมายเพียงใดก็ไม่เอา

ประโยชน์เรานั้นแท้ดีแน่นอน

เมื่อรู้จักประโยชน์ตนหมั่นขวนขวาย

จงมุ่งหมายกระทำตามคำสอน

อย่าหลีกรี้หลบเลี่ยงเล่นเกี่ยงงอน

ควรรีบร้อนเร่งทำสำเร็จเร็วฯ

อตฺตานเมวปฐมํ

ปฏิรูเปนิเวสเย

อถญฺญมนุสาเสยฺย

นกิลิสฺเสยฺยปณฺฑิโตฯ ขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๖

ควรยังตนนั่นแหละ

ให้ตั้งอยู่ในคุณสมควรก่อน

ต่อมาจึงค่อยพร่ำสอนคนอื่น

บัณฑิตไม่ควรเศร้าหมอง.

ควรทำตัวของตนให้พ้นผิด

ตั้งในกิจดีหนอพอเหมาะสม

ให้คนอื่นชื่นชิดคิดชื่นชม

เป็นปฐมทีเดียวเพื่อเหนี่ยวนำ

หากทำตนเศร้าหมองมิผ่องใส

หาระวังระไวไถลถลำ

สั่งสอนใครไหนเล่าเขาจะจำ

คงต้องช้ำเพราะตนนั้นหม่นมัวฯ

อตฺตานญฺเจตถากยิรา

ยถญฺญมนุสาสติ

สุทนฺโตวตทเมถ

อตฺตาหิกิรทุทฺทโมฯขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๖

หากทำตนให้เหมือนอย่างที่สั่งสอนคนอื่น

คนนั้นชื่อว่าฝึกตนเป็นคนฝึกดีแล้ว

ทราบว่าตนแลฝึกได้ยาก.

จะสั่งสอนใครใครอย่างไรเล่า

แต่ตัวเราสิมองเห็นเป็นไฉน

ทำเหมือนตนสั่งสอนก่อนปะไร

เพราะหากไม่ทำตามก็ทรามลง

ตนฝึกตนคนอื่นชมชื่นนัก

ควรตระหนักฝึกไว้มิให้หลง

ตนนั่นแหละฝึกยากหากปล่อยปลง

รู้แล้วจงฝึกฝนตนจริงจริงฯ

สุกรานิอสาธูนิ

อตฺตโนอหิตานิจ

ยํเวหิตญฺจสาธุญฺจ

ตํเวปรมทุกฺกรํฯขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๗

กรรมไม่ดีไม่เป็นประโยชน์

กรรมนั้นทำได้ง่าย

ส่วนกรรมใดดีเป็นประโยชน์

กรรมนั้นกลับทำได้ยากยิ่ง.

กรรมดูมัวหม่นไหม้ไร้ประโยชน์

ก่อเกิดโทษเศร้าหมองตนมองเห็น

ช่างทำง่ายดายนักไม่ยากเย็น

เพราะมันเป็นกรรมชั่วยั่วยุคน

ส่วนกรรมดูดีเลิศไม่เกิดโทษ

มองเห็นเป็นประโยชน์โสตถิผล

กลับยิ่งทำลำบากยากเหลือทน

เพราะต้องหมั่นฝึกฝนฝืนตนทำฯ

สาธุปาเปนทุกฺกรํ

ปาปํปาเปนสุกรํ

ปาปมริเยหิทุกฺกรํฯขุ. อุ. ๒๕/๑๒๔/๑๖๗

ความดีคนดีทำง่าย

ความดีคนชั่วทำยาก

ความชั่วคนชั่วทำง่าย

ความชั่วพระอริยะทำยากยิ่ง.

ความดีมีประโยชน์โทษไม่เกิด

คนดีเปิดใจพลันด้วยหรรษา

รับทำได้ง่ายนักประจักษ์ตา

คนชั่วว่าแสนยากหากทำดี

ความชั่วมัวหม่นหมองมองทรามนัก

คนชั่วมักทำง่ายไม่หน่ายหนี

ดูสิทำฉับพลันในทันที

ส่วนอริยะหลบรี้ไม่มีทำฯ

 

นตฺถิโลเกรโหนาม

ปาปกมฺมํปกุพฺพโต

อตฺตาเตปุริสชานาติ

สจฺจํวายทิวามุสาฯอง. ติ. ๒๐/๔๗๙/๑๘๙

ขึ้นชื่อว่าความลับไม่มีในโลก

สำหรับผู้ทำบาปกรรม

นี่พ่อหนุ่มจริงหรือเท็จ

ตัวเธอเองรู้ดี.

ชื่อว่าความลับไม่มีในโลก

ความโสโครกกรรมชั่วที่มัวหมอง

ซุกซ่อนเร้นอย่างไรมิใฝ่ปอง

ตนนั้นต้องรู้แน่อยู่แก่ใจ

จะจริงเท็จอย่างไรคนไม่ทราบ

แต่เป็นบาปตนรู้อยู่ใช่ไหม

รีบปิดบังอำพรางทิ้งวางไว

สุดท้ายไซร้กรรมชั่วเผยตัวเองฯ

อถปาปานิกมฺมานิ

กรํพาโลนพุชฺฌติ

เสหิกมฺเมหิทุมฺเมโธ

อคฺคิทฑฺโฒวตปฺปติฯ ขุ. ธ. ๒๕/๒๐/๓๓

คนพาลทรามปัญญา

ทำกรรมต่ำช้าอยู่ก็ไม่รู้สึก

ภายหลังเดือดร้อน

เพราะกรรมของตนเอง

เหมือนดังถูกไฟไหม้.

คนพาลทรามปัญญาต่ำช้านัก

ทำบาปหนักเพียงใดก็ไม่สน

อยู่เยาะเย้ยประชาช่างหน้าทน

แต่หาพ้นบาปกรรมตนทำมา

ภายหลังรับผลกรรมที่ทำชั่ว

รู้สึกตัวหวาดหวั่นพรั่นพรึงผวา

เหมือนดั่งถูกไฟสุมรุ่มร้อนอุรา

ทุกข์เผ็ดกล้าแผดเผารุมเร้าตายฯ

นตํกมฺมํกตํสาธุ

ยํกตฺวาอนุตปฺปติ

ยสฺสอสฺสุมุโขโรทํ

วิปากํปฏิเสวติฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๓

คนทำกรรมใดแล้ว

เดือดร้อนในภายหลัง

หน้าชุ่มด้วยน้ำตาร้องไห้

เสวยผลของกรรมใด

กรรมนั้นทำแล้วไม่ดี.

ทำกรรมใดกลัดกลุ้มเกิดรุ่มร้อน

ยามหลับนอนเป็นทุกข์หาสุขสม

ในภายหลังนั่งเหงาเศร้าระทม

ต้องตรอมตรมชอกช้ำกลืนน้ำตา

เสวยผลกรรมใดใจหมองหม่น

พร่ำเพ้อบ่นรำพันหายหรรษา

กรรมนั้นไม่ดีเลยจงเอ่ยลา

รีบออกมาเร็วไวอย่าไปทำฯ

อิธโสจติเปจฺจโสจติ

ปาปการีอุภยตฺถโสจติ

โสโสจติโสวิหญฺญติ

ทิสฺวากมฺมกิลิฏฺฐมตฺตโนฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๗

คนทำบาปเศร้าโศกในโลกนี้

เศร้าโศกในโลกหน้า

เศร้าโศกในโลกทั้งสอง

คนทำบาปนั้นเห็นกรรมเศร้าหมองของตน

เศร้าโศกเดือดร้อนอยู่.

คนที่เที่ยวก่อกรรมกระทำบาป

ชั่วซึมซาบซบเซาโศกเศร้าหมอง

โลกนี้สวยอย่างไรไม่น่ามอง

โลกหน้าต้องสิ้นสุขอยู่ทุกข์ทน

พวกคนบาปทราบกรรมที่ตนก่อ

ขวัญหนีฝ่อเกรงกลัวทั่วทุกหน

มองเห็นความเศร้าหมองเป็นของตน

ทุกข์มากล้นเดือดร้อนนอนเดือดดาลฯ

โยอปฺปทุฏฺฐสฺสนรสฺสทุสฺสติ

สุทฺธสฺสโปสสฺสอนงฺคณสฺส

ตเมวพาลํปจฺเจติปาปํ

สุขุโมรโชปฏิวาตํวขิตฺโตฯสํ.ส. ๑๕/๖๓๙/๒๔๓

คนใดประทุษร้ายนรชนที่ไม่ประทุษร้าย

เป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส

บาปย่อมย้อนกลับมาหาคนนั้นผู้พาลแท้

ประดุจธุลีละเอียดที่ซัดทวนลม.

คนไม่ประทุษร้ายใครควรไกลห่าง

หากคิดล้างทำร้ายตายขื่นขม

เขาบริสุทธิ์ผุดผ่องต้องนิยม

ไปขู่ข่มเข่นฆ่าย่อมจาบัลย์

บาปย้อนคืนคนพาลผู้ผลาญแท้

ตกถึงแก่ความพินาศน่าหวาดหวั่น

เหมือนซัดฝุ่นผงธุลีที่ลมพลัน

ฝุ่นผงนั้นต้องกลับมาเข้าหาตัวฯ

อกตํทุกฺกตํเสยฺโย

ปจฺฉาตปฺปติทุกฺกตํ

กตญฺจสุกตํเสยฺโย

ยํกตฺวานานุตปฺปติฯขุ. ธ. ๒๕/๓๒/๕๖

ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า

เพราะทำแล้วเดือดร้อนในภายหลัง

ส่วนความดีทำนั่นแหละดี

เพราะทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง.

กรรมชั่วอย่าล่วงเลยเพิกเฉยเสีย

มันเคล้าเคลียด้วยทุกข์หาสุกใส

ยิ่งเลิกทำยิ่งดีควรหนีไกล

เพราะทำให้เดือดร้อนนอนเศร้าตรม

ส่วนกรรมดีทำดีมีความสุข

พาสิ้นทุกข์สร่างเคราะห์ช่างเหมาะสม

ภายหลังไม่เดือดร้อนนอนระทม

อยู่อย่างร่มเย็นแท้ดีแน่นอนฯ

ปาณิมฺหิเจวโณนาสฺส

หเรยฺยปาณินาวิสํ

นาพฺพณํวิสมเนฺวติ

นตฺถิปาปํอกุพฺพโตฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๙/๓๑

ถ้าที่ฝ่ามือไม่มีแผล

คนก็นำยาพิษไปได้ด้วยฝ่ามือ

เพราะยาพิษไม่แทรกซึมสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล

บาปก็เช่นกันไม่มีแก่คนไม่ทำ.

หากฝ่ามือนั้นขาดจากบาดแผล

ย่อมดีแน่ยาพิษแม้ติดถือ

หาแทรกซึมลงไปในฝ่ามือ

แม้ฉุดยื้อกำไว้อย่าได้กลัว

บาปก็ดุจเดียวกันเช่นนั้นแน่

หาเกิดแก่คนที่ไม่มีชั่ว

แม้มันจะประชิดตามติดตัว

ก็ไม่กลั้วเกลือกทำให้ช้ำตรมฯ

ยสฺสปาปํกตํกมฺมํ

กุสเลนปิถียติ

โสอิมํโลกํปภาเสติ

อพฺภามุตฺโตวจนฺทิมาฯขุ. ธ. ๒๕/๒๒/๓๘

คนทำกรรมต่ำช้า

ปกปิดเสียได้ด้วยกุศล

เขาย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสว

เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆ.

คนหลงทำกรรมชั่วเมามัวผิด

แต่ปกปิดไว้ได้ด้วยกุศล

ไกลจากกรรมชั่วนั้นในบัดดล

กลายเป็นคนดีงามทุกยามไป

เขาย่อมยังโลกนี้ให้ดีเลิศ

งามบรรเจิดพราวพร่างสว่างไสว

เหมือนจันทร์พ้นเมฆหนามาอำไพ

ทอแสงไล้อาบหล้าทั่วสากลฯ

กายสุจึวาจาสุจึ

เจโตสุจิมนาสวํ

สุจึโสเจยฺยสมฺปนฺนํ

อาหุนินฺหาตปาปกํฯ องฺ. ติ. ๒๐/๕๖๑/๓๕๒

ผู้มีกายสะอาดวาจาสะอาด

ใจสะอาดปราศจากอาสวะ

เป็นผู้สะอาดถึงพร้อมด้วยความสะอาด

บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นผู้ล้างบาป.

กายวาจาของผู้ใดใสสะอาด

ใจก็ปราศจากชั่วความมัวหมอง

อาสวะภายในไม่ฟูฟอง

ดูผุดผ่องโสภาสิ้นอากูล

คนสะอาดเช่นนี้ดีนักหนา

ท่านบอกว่าปวงบาปหายสาบสูญ

ถูกชำระล้างออกหยุดพอกพูน

ย่อมจำรูญแจ่มจ้าเกินกว่าใครฯ

อุฏฺฐานวโตสติมโต

สุจิกมฺมสฺสนิสมฺมการิโน

สญฺญตสฺสจธมฺมชีวิโน

อปฺปมตฺตสฺสยโสภิวฑฺฒติฯขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๑๘

ยศเจริญแก่คนขยันหมั่นเพียร

มีสติการงานสะอาด

ใคร่ครวญแล้วทำสำรวมระวัง

ครองชีพอยู่โดยธรรมและไม่ประมาท.

ผู้พากเพียรขยันหมั่นประกอบ

การงานชอบสะอาดปราศโทษผอง

มักใคร่ครวญแล้วทำตามครรลอง

และอยู่ครองชีพงามตามชอบธรรม

ผู้ระวังสังวรห่อนพลั้งพลาด

ไม่ประมาทรู้ตื่นทุกคืนค่ำ

ยศเจริญแก่เขาเราจดจำ

ว่าช่างล้ำเลิศหล้ายิ่งกว่าใครฯ

ฉนฺทาโทสาภยาโมหา

โยธมมํอติวตฺตติ

นิหียติตสฺสยโส

กาฬปกฺเขวจนฺทิมาฯที. ปา. ๑๑/๑๗๗/๑๙๖

ผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก

ความชังความกลัวความหลง

ยศของผู้นั้นย่อมเสื่อม

ดุจดวงจันทร์ในข้างแรม.

ไม่ประพฤติชอบธรรมประจำจิต

เฝ้าครุ่นคิดรักโลภและโกรธหลง

มักอคติลำเอียงไม่เที่ยงตรง

จะดำรงอยู่ในใจของใครนาน

เขาย่อมเสื่อมจากยศหมดเชื่อถือ

เหลือแค่ชื่อแค่เสียงเพียงเรียกขาน

ดั่งดวงจันทร์ข้างแรมยามวิกาล

ควรมองผ่านไม่ค้อมคบเคารพเกรงฯ

ฉนฺทาโทสาภยาโมหา

โยธมฺมํนาติวตฺตติ

อาปูรติตสฺสยโส

สุกฺกปกฺเขวจนฺทิมาฯที. ปา. ๑๑/๑๗๗/๑๙๖

ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก

ความชังความกลัวความหลง

ยศย่อมเจริญแก่ผู้นั้น

ดุจดวงจันทร์ในข้างขึ้น.

หมั่นประพฤติชอบธรรมประจำจิต

เลิกครุ่นคิดรักโลภและโกรธหลง

ไม่อคติลำเอียงมั่นเที่ยงตรง

ย่อมยืนยงอยู่ในใจของคนนาน

ยศเจริญแก่เขาเรานับถือ

อยากเรียกชื่อออกเสียงแซ่ซ้องขาน

ดั่งดวงจันทร์ข้างขึ้นเห็นชื่นบาน

น่าพบพานค้อมคบเคารพเกรงฯ

โหติปานสขานาม

โหติสมฺมิยสมฺมิโย

โยจอตฺเถสุชาเตสุ

สหาโยโหติโสสขาฯที. ปา. ๑๑/๑๘๕/๑๙๘

เพื่อนในโรงสุราก็มี

เพื่อนกล่าวแต่ปากว่าเพื่อนก็มี

ส่วนคนใดเป็นสหาย

ในยามที่เกิดความต้องการ

คนนั้นจัดว่าเป็นเพื่อนแท้.

เพียงแค่คำว่า“เพื่อน” พูดง่ายมาก

ออกจากปากเท่านั้นหามั่นหมาย

ยามทุกข์ยากจากไปไม่เสียดาย

จะร่วมตายอย่าหวังดังตั้งใจ

คราวทุกข์ยากอยากเอ่ยเผยถึงเพื่อน

อย่าแชเชือนช่วยเหลือตามวิสัย

มาร่วมสุขความทุกข์ทุกครั้งไป

นี่แหละไซร้เพื่อนแท้ที่ต้องการฯ

โนเจลเภถนิปกํสหายํ

สทฺธึจรํสาธุวิหาริธีรํ

ราชาวรฏฺฐํวิชิตํปหาย

เอโกจเรมาตงฺครญฺเญวนาโคฯ ม. อุ. ๑๔/๔๔๓/๒๙๖

ถ้าไม่ได้สหายที่ฉลาดรักษาตัวร่วมทาง

ซึ่งเป็นปราชญ์อยู่อย่างงดงาม

พึงเป็นเพียงผู้เดียวเที่ยวไป

เหมือนพระราชาทรงสละพระราชสมบัติ

และเหมือนช้างมาตังคะในป่า.

พึงอยู่เพียงคนเดียวเที่ยวไปเถิด

หากประเสริฐชนไม่เห็นเป็นสหาย

ผู้ฉลาดมานำทางอันพร่างพราย

ผู้มุ่งหมายอยู่กับธรรมประจำใจ

เหมือนองค์ไท้ไม่ประสงค์คงครองราชย์

ทรงประกาศสละพลันหาหวั่นไหว

เหมือนช้างงามเยื้องย่างอย่างวิไล

อยู่ภายในป่าเปลี่ยวแต่เดียวดายฯ

เอกสฺสจริตํเสยฺโย

นตฺถิพาเลสหายตา

เอโกจเรนจปาปานิกยิรา

อปฺโปสฺสุกฺโกมาตงฺครญฺเญวนาโคฯ ม. อุ. ๑๔/๔๔๓/๒๙๖

การเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า

เพราะไม่มีความเป็นสหายในคนพาล

พึงเป็นเพียงผู้เดียวเที่ยวไปและไม่ควรทำบาป

เหมือนช้างมาตังคะขวนขวายน้อยในป่า.

อยู่เพียงตัวคนเดียวยังดีกว่า

หากคนบาปหยาบช้ามาเป็นสหาย

อยู่เพียงตัวคนเดียวแม้นเปลี่ยวกาย

ก็ไม่ตายตกตามพวกพาลชน

พึงเป็นเพียงผู้เดียวเที่ยวไปเถิด

อย่าให้เกิดกรรมทรามเลยสักหน

เหมือนช้างงามหลีกลี้หนีผู้คน

เดินดั้นด้นในป่าเปลี่ยวอยู่เดียวดายฯ

นภเชปาปเกมิตฺเต

นภเชปุริสาธเม

ภเชถมิตฺเตกลฺยาเณ

ภเชถปุริสุตฺตเมฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๕

ไม่ควรคบมิตรชั่ว

ไม่ควรคบบุรุษต่ำทราม

ควรคบมิตรดี

ควรคบบุรุษสูงสุด.

ชื่อว่ามิตรชั่วช้าอย่าคบคุ้น

ประเดี๋ยวคุณความดีจะหนีหาย

มิตรต่ำทรามห่างไกลอย่าใกล้กราย

ความเลวร้ายจะตามมาช่างน่ากลัว

มิตรดีดีเห็นไหมคบไว้เถิด

เพราะก่อเกิดความดีทุกที่ทั่ว

คนประเสริฐควรประชิดตามติดตัว

นี้คือหัวใจพบการคบคนฯ


 

นิหียติปุริโสนิหีนเสวี

นจหาเยถกทาจิตุลฺยเสวี

เสฏฺฐมุปนมํอุเทติขิปฺปํ

ตสฺมาอตฺตโนอุตฺตรึภเชถฯ องฺ. ติ. ๒๐/๔๖๕/๑๕๘

คบคนเลวเลวลง

คบคนเสมอกันไม่เสื่อม

คบคนสูงกว่าพลันเด่นขึ้น

ฉะนั้นควรคบคนที่สูงกว่าตน.

เที่ยวคบหาคนเลวที่เหลวไหล

ย่อมไถลลงต่ำทรามน่าหยามหยัน

คบคุ้นเป็นเพื่อนเกลอคนเสมอกัน

ย่อมไม่บั่นทอนทำเสื่อมต่ำลง

คบหาคนสูงกว่าน่ายกย่อง

ก็จะต้องสูงตามงามเหมือนหงส์

ช่วยชูเด่นเป็นประจำให้ดำรง

คนนั้นจงคบเถิดเกิดผลดีฯ

นิธีนํวปวตฺตารํ

ยํปสฺเสวชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึเมธาวึ

ตาทิสํปณฺฑิตํภเชฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๕

ควรเห็นคนที่คอยชี้โทษ

เหมือนบอกขุมทรัพย์

มักกล่าวข่มขี่มีปัญญา

ควรคบคนเช่นนั้นผู้เป็นบัณฑิต.

เห็นคนที่ชี้โทษโปรดปรานเถิด

เพราะเหมือนเปิดขุมทรัพย์แสนนับค่า

เป็นคนดีศรีบัณฑิตเปี่ยมปัญญา

จะค้นหาคนเช่นนี้ได้ที่ใด

เขาคอยย้ำพร่ำสอนอยู่เป็นนิตย์

ชี้ถูกผิดฉะฉานกล่าวขานไข

บอกโทษโปรดอย่าพลั้งระวังระไว

ควรคบไว้คนเช่นนี้ดีแน่นอนฯ

นเตนปณฺฑิโตโหติ

ยาวตาพหุภาสติ

เขมีอเวรีอภโย

ปณฺฑิโตติปวุจฺจติฯ ขุ. ธ. ๒๕/๒๙/๔๙

คนมิได้ชื่อว่าบัณฑิต

เพียงเพราะพูดมาก

คนที่เกษมปลอดจากเวรภัย

นั่นต่างหากเราเรียกว่าบัณฑิต.

จะพูดมากเพียงใดก็ไร้ค่า

แม้วาจาถ้อยคำล้ำสมัย

พูดได้ดีแหลมคมเที่ยวข่มใคร

ยิ่งมิใช่บัณฑิตน่าชิดชม

คนเกษมปลอดภัยในทุกที่

ห่างเวรีหายทุกข์อยู่สุขสม

นั่นบัณฑิตทรงสิริน่านิยม

เขาอุดมคุณค่าอย่าดูแคลนฯ

นารตีสหตีธีรํ

นารตีธีรสํหติ

ธีโรจอรตึสหติ

ธีโรหิอรตึสโหฯ องฺ. จ. ๒๑/๒๘/๑๗

ความยินดีครอบงำธีรชนไม่ได้

ความไม่ยินดีก็ไม่ครอบงำธีรชน

ธีรชนย่อมครอบงำความไม่ยินดี

เพราะธีรชนเป็นผู้ครอบงำความไม่ยินดี.

ธีรชนคนดีศรีบัณฑิต

จะยึดติดความยินดีณที่ไหน

ความยินร้ายหลายอย่างร้างลาไป

มิยึดยื้อถือไว้ให้ทุกข์ทน

บัณฑิตวางเรื่องดีหนีเรื่องร้าย

ไม่สำคัญมั่นหมายเลยสักหน

ฉลาดละชนะภัยในสกล

จึงผ่านพ้นด้วยดีทุกที่ทางฯ

เสโลยถาเอกฆโน

วาเตนนสมีรติ

เอวํนินฺทาปสํสาสุ

นสมฺมิญฺชนฺติปณฺฑิตาฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๕

ภูเขาหินล้วนแท่งทึบ

ไม่หวั่นไหวเพราะสายลมฉันใด

บัณฑิตก็ไม่หวั่นไหว

เพราะนินทาและสรรเสริญฉันนั้น.

แสงแดดแผดร้อนจ้าน่าหวาดหวั่น

สายลมพลันพัดแรงยากแข็งขืน

ภูเขาหินยังตั้งมั่นทุกวันคืน

หาเป็นอื่นหวั่นไหวอย่างใดเลย

เหมือนบัณฑิตจิตใจใสสะอาด

ก็หาหวาดไหวหวั่นตั้งมั่นเฉย

จะนินทาสรรเสริญเชิญชมเชย

ท่านไม่เคยแฟบฟูอยู่มั่นคงฯ

โยพาโลมญฺญตีพาลฺยํ

ปณฺฑิโตวาปิเตนโส

พาโลจปณฺฑิตมานี

สเวพาโลติวุจฺจติฯ  ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๓

คนโง่เห็นว่าตนเองโง่

ก็พอจะฉลาดได้บ้าง

แต่คนโง่ถือว่าตนฉลาดนี่สิ

เรียกว่าโง่ขนานแท้.

คนโง่เห็นตนโง่มากโขนัก

หยุดชะงักไม่แสดงเที่ยวแข่งขัน

รีบหลบหลีกปลีกหนีได้ท่วงทัน

คนโง่นั้นพอฉลาดอาจเติบโต

ส่วนคนเขลาถือมานะว่าฉลาด

ทำวางมาดอวดใครใครใหญ่อักโข

ไม่กลัวดีหรือร้ายหวังได้โชว์

นั่นแหละโง่ยิ่งนักจมดักดานฯ

ยาวชีวมฺปิเจพาโล

ปณฺฑิตํปยิรุปาสติ

นโสธมฺมํวิชานาติ

ทพฺพีสูปรสํยถาฯ ขุ. ธ. ๒๕/๑๒/๒๓

ถ้าคนโง่เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิต

แม้ตลอดทั้งชีวิต

ก็ไม่รู้แจ้งพระธรรม

เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง.

คนโง่เขลาเบาปัญญาหาฉลาด

ใกล้ชิดปราชญ์เพียงใดก็ไม่รู้

ฟังคำสอนพันครั้งนั่งเฉยดู

แม้จะอยู่ยาวนานสักปานใด

ไม่แจ้งธรรมล้ำเลิศเลยสักนิด

โมหะปิดบังตาพาหลงใหล

เหมือนทัพพีไม่รู้รสอะไร

นั่งอยู่ใกล้เสียเปล่าไม่เข้าทีฯ

อปฺปสฺสุตายํปุริโส

พลิวทฺโทวชีรติ

มํสานิตสฺสวฑฺฒนฺติ

ปญฺญาตสฺสนวฑฺฒติฯ ขุ. ธ. ๒๕/๒๑/๓๕

คนการศึกษาน้อยนี้

แก่เปล่าเหมือนโคถึก

เนื้อของเขาเจริญ

แต่ปัญญาหาเจริญไม่.

คนนี้ดูต่ำต้อยด้อยศึกษา

กลับวางท่าใหญ่โตโอ่อ่าหลาย

เจริญแต่เนื้อหนังช่างน่าอาย

คงแก่เฒ่าเปล่าตายไปตามกาล

เขาดูช่างตัวโตเหมือนโคถึก

ไม่รู้สึกรู้สาหาแตกฉาน

ในความรู้ปัญญาวิชาชาญ

อยู่เกียจคร้านไปวันวันเท่านั้นเองฯ

คนที่ไม่ยอมศึกษาหาความรู้

ปล่อยให้กาลผ่านไปเปล่า

วันๆวุ่นวายอยู่กับเรื่องปากเรื่องท้อง

ในสมองคิดหาแต่อาหาร

เอร็ดอร่อยมารับประทาน

เวลาตักข้าวเข้าปากก็เคี้ยวหมุบหมับ

ตะกรุมตะกรามแสดงอาการว่า

ช่างอร่อยเหลือคนใช้ปากนำหน้า

ตกเป็นทาสของลิ้นอย่างนี้

จงรู้เถิดว่า“ดวงปัญญาดับสูญ”

แม้ล่วงกาลยาวนานเพียงใด

สติปัญญาก็ไม่ผลิงอกเลย

ซ้ำย่ำอยู่กับที่กลายเป็น“คนโง่พันปี”

และคนโง่พันปีนี้ก็กลายเป็นตอวัฏฏะ

ฝังลึกขุดไม่ขึ้นประเทศใด

ก็ตามเต็มด้วยคนประเภทนี้

ประเทศนั้นนับว่าด้อยพัฒนาที่สุด

เมื่อเทียบอัตราส่วนก็น่าใจหาย

คนเห็นแก่ปากแก่ท้องมากกว่า

คนเห็นแก่สติปัญญา

คนมี“รสนิยมทางปัญญา”น้อยนัก

อสาเรสารมติโน

สาเรจาสารทสฺสิโน

เตสารํนาธิคจฺฉนฺติ

มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจราฯขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๖

คนเหล่าใดรู้สาระว่าหาสาระมิได้

และเห็นสิ่งที่หาสาระมิได้ว่าเป็นสาระ

คนเหล่านั้นดำริผิดเที่ยวไป

ไม่บรรลุธรรมที่เป็นสาระ.

สาระอสาระประจักษ์แท้

คนใดแลกลับกันน่าหวั่นหนอ

มองอสาระเป็นสาระเฝ้าพะนอ

สาระพอจะเห็นเป็นอสาระไป

คนนั้นช่างโง่เขลาเข้าใจผิด

มิจฉาปิดดวงตาพาหลงใหล

สารธรรมส่องสว่างทางอำไพ

ดูสิไม่เห็นเลยเฉยเมยเมินฯ

อุปาติธาวนฺตินสารเมนฺติ

นวํนวํพนฺธนํพฺรูหยนฺติ

ปตนฺติปชฺโชตมิวาธิปาตา

ทิฏฺเฐสุเตอิติเหเกนิวิฏฺฐาฯ ขุ. อุ. ๒๕/๑๔๕/๑๙๕

คนพวกหนึ่งแล่นเลยไป

ไม่ถึงธรรมที่เป็นสาระ

พอกพูนเครื่องผูกใหม่ๆ

ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเห็นแล้วฟังแล้ว

เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมัน.

พวกหนึ่งแล่นเลยไปมองไม่เห็น

สิ่งที่เป็นสารธรรมสำคัญยิ่ง

พอกพูนเครื่องผูกใหม่ไว้แอบอิง

ไม่ยอมทิ้งจากลาช่างน่าอาย

สิ่งที่เห็นที่ฟังจำฝังจิต

เฝ้ายึดติดถือมั่นสำคัญหมาย

เหมือนแมลงผันผกตกลงตาย

อยู่ภายใต้น้ำมันไฟมอดไหม้ตนฯ

เพชรเป็นแร่ธาตุที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก

แต่เพชรก็ยังถูกเจาะเจียระไนและ

ทำลายได้ไม่ยาก

ความเชื่อที่มนุษย์ก่อขึ้นมา

กระทั่งกลายเป็น“กำแพงความเชื่อ”

ต่างหากที่ทำลายได้ยาก

และยิ่งกำแพงความเชื่อนั้นก่อขึ้น

มาพร้อมกับความเห็นผิดก็ยิ่งยาก

ทำลาย“ศรัทธาบอดบวกทิฐิผิด”น่ากลัวที่สุด

มันจะรั้งลงต่ำและปิดกั้นทุกอย่าง

คนจำพวกนี้คือ“คนนอกสายตา”

พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์โปรด

คนเราควรสำรวจความเชื่อและ

ความเห็นอยู่เนืองๆว่า

ขณะนี้ตนรับความเชื่ออะไรไว้

ผูกอยู่กับความเห็นชนิดใดและ

เริ่มยึดมั่นถือมั่นหรือไม่มิฉะนั้น

จะยากต่อการเปิดใจรับ

ฟังทรรศนะความเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น

แม้ประกอบด้วยสาระ

จะเป็นเพราะข้อจำกัด

ทางอินทรียภาพทางตาหูหรือเปล่า

จึงทำให้มนุษย์รู้เห็นความจริงเพียงบางส่วน

และกระโจนเข้าไปยึดติด

ตเถวขนฺติโสรจฺจํ

ธมฺมายสฺมึปติฏฺฐิตา

ตมริยวุตฺติเมธาวึ

หีนชจฺจมฺปิปูชเยฯ สํ.ส. ๑๕/๔๑๐/๑๔๕

ธรรมคือขันติและโสรัจจะ

ตั้งอยู่ในคนใด

ควรบูชาคนนั้นผู้มีปัญญา

ซึ่งประพฤติตนดุจพระอริยะ

แม้ชาติกำเนิดจะต่ำต้อยก็ตาม.

คนที่อดทนงามสงบเสงี่ยม

รู้จักเจียมตัวอยู่อย่างเหมาะสม

สำรวมกายวาจาได้น่าชม

หมั่นอบรมเป็นนิจจิตใจดี

มายกย่องคนนั้นด้วยกันเถิด

ว่าประเสริฐกว่าใครในทุกที่

แม้ชาติเกิดต่ำต้อยก็ตามที

คนเช่นนี้ควรเชิดชูบูชาจริงฯ

 

พระพุทธพจน์เรื่อง สัญญาวิโมกข์

  ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงเป็นผู้ตั้งใจดีมีสติระลึกนึกถึงธรรมะ 5 ประการตลอดทุกลมหายใจเข้าออก ทำไว้ในจิตใจให้มาก ๆ ตลอดเวลา มีความรู้ปัญญาชาญฉลาด พิจารณาธรรม 5 ประการนี้ ภิกษุพึงหวังผลได้ 2 อย่าง คือ เป็นพระอรหัตผลในปัจจุบันนี้ แต่ถ้ายังมีความยึดถือในร่างกายเหลืออยู่ ก็พึงหวังผลได้เป็นพระอนาคามีผล ธรรม 5 ประการ คือ

  1. อสุภสัญญา ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความเหม็นสกปรกน่ารังเกียจน่ากลัวของร่างกายเหมือนซากศพทั้ง ๆที่ยังไม่ตาย จิตจะไม่หลงรักร่างกายเขา ร่างกายเรา

  2. อาหาเรปฏิกูลสัญญา ภิกษุพึงพิจารณาอาหารก่อนลงมือฉันให้เห็นว่าอาหารทั้งหลายมาจากซากพืชซากศพ ที่มาประกอบเป็นอาหารเป็นของสกปรกมาจากธาตุดินที่สกปรก จิตจะได้ไม่หลงติดในรสอร่อยของอาหาร

  3. สัพพโลเกอภิรัตสัญญา ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่มีความยินดีชอบใจใจรูป รส กลิ่น เสียง ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญสุขใด ๆ ในโลก ไม่ติดใจในร่างกายเรา ร่างกายเขา ซึ่งเป็นเพียงที่อาศัยชั่วคราวของจิตเรา ร่างกายตายจิตเราก็ต้องไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ มีบุญก็ไปสวรรค์ มีบาปก็ไปนรกเป็นต้น ภิกษุไม่พึงยึดมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก ไม่มีสิ่งใด ๆ ในโลกนี้น่าอภิรมย์มีแต่ความเสื่อมสลายสูยหายทุกอย่าง

  4. อนิจจสัญญา ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็นความเปลี่ยนแปลง แปรปรวนไม่คงที่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งร่างกาย อารมณ์ของใจ รวมทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญสุข ไม่มีอะไรใด ๆในโลกเป็นที่พึ่งได้จริง เพราะ ผุพังเสื่อมสลายหายไปหมดในที่สุด

  5. อนัตตสัญญา ภิกษุพึ่งเป็นผู้มีความคิด ความเห็นพิจารณาดูว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตไม่มีชีวิตเดินทางเข้าไปหาความเสื่อมสลายสูญหายตายจากกัน ไม่มีอะไรหลงเหลือ คงที่ คงทนสักหนึ่งอัน ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีแต่ความตายตลอดเวลา ตายไปทีละน้อย ๆ ให้มี มรณะสัญญาอยู่ในใจ จิตของภิกษุทั้งหลายจะค่อย ๆคลายความยึดถือผูกพันในขันธ์ 5 ร่างกายและทุกสิ่งทุกอย่างใด ๆ ในโลกพระไตรปิฎก เรื่อง มหาสติปัฏฐานสูตร (เล่มที่ 22 หน้า 144)

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย คือร่างกายขันธ์ 5 รูปกับนาม เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย คือ จิตเลิกละไม่หลงรูปนามร่างกายเสีย สิ่งอันนั้นคือ ขันธ์ 5 ร่างกายที่จิตเธอละเลิกไม่สนใจกายเรา กายเขาแล้วจะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล มีความสุขมากไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

  คำว่า นิพพาน แปลว่า ดับ

  1. ดับจากกิเลสในขณะที่มีชีวิตอยู่

  2. ดับขันธ์ 5 รูป-นาม ออกจากจิต คือ แยกจิตสะอาดออกจากกายขันธ์ 5 ที่สกปรก

  3. อารมณ์จิตบริสุทธิ์ไม่ได้ดับไปด้วย

  พระนิพพานเป็นทิพย์วิเศษกว่าสวรรค์ พรหม พ้นจากอำนาจวัฏฏสงสาร อำนาจกฎของบาปกรรม จิตที่เข้าแดนทิพย์นิพพานมีรัศมีดั่งดวงประทีปแห่งความดี ดวงไฟยิ่งโชติช่วงชัชวาล มีรูปทิพย์กายทิพย์ในสว่าง จะเปลี่ยนแปลงรูปทิพย์ให้มีรูปลักษณะใหญ่เล็กมากน้อย จะไปไหนได้รวดเร็วว่องไว จะเปลี่ยนรูปทิพย์กายทิพย์ให้ว่างเปล่าไม่มีรูปลักษณ์ก็ได้ แต่จิตพระนิพพานไม่มีวันตาย วันสูญสลาย มีความสุขสบายตลอดกาล ไม่มีอะไรมารบกวนได้ ดังนั้นพุทธบริษัท ทุกท่านควรหมั่นรำลึกถึงพระนิพพานเพราะทำให้จิตสะอาดปราศจากกิเลสเศร้าหมอง จิตเบิกบาน เพราะจิตมีพระนิพพานอยู่ในจิตใจ

  นิพพานนัง ปรมัง สูญญัง แปลว่า พระนิพพานเป็นโลกุตตรธรรมว่างจากกิเลสทั้งสิ้น ว่างจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ว่างจากบาปกรรม กรรมตามไม่ถึง การนึกถึงพระนิพพานเป็นกรรมฐานที่ง่ายทำได้ทุกอิริยาบถ เป็นคุณสมบัติของพระอริยสาวกพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ดังนั้นผู้ที่ปรารถนาพ้นทุกข์ จึงควรมีพระนิพพานไว้ในใจตลอดไป ถ้าแม้ตายบุญวาสนาบารมีไม่ถึงพระนิพพานก็เป็นปัจจัยอุปนิสัยในเทวโลก พรหมโลก ปฏิบัติธรรมยกระดับจิตเข้าสู่แดนทิพย์นิพพานได้โดยง่าย ไม่ต้องมาลำบากลำบน เริ่มต้นเป็นคนดังชาตินี้อีก

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพระสาวกแต่ละท่านดังนี้

  กุลลเถรคาถา ดูก่อนกุลลภิกษุท่านจงดูร่างกายอันกระสับกระส่ายไม่สะอาดเป็นของเปื่อยเน่ามีของสกปรกโสโครกไหลเข้าไหลออกอยู่อันหมู่คนพาลพากันชื่นชม ร่างกายเราเป็นฉันใด ซากศพนั้นก็เป็นฉันนั้น

  สีหะเถระคาถา ดูก่อนสีหะ ท่านจงอย่าประมาท อย่าเกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน จงหมั่นอบรมกุศลธรรมให้เกิดขึ้นในจิต จงละความพอใจรักใคร่ในอัตภาพร่างกายที่มีแต่ความเสื่อมสลายเสียโดยเร็วเถิด

  เอรกะคาถา ดูก่อนเอรกะ กามคือ ความรักใคร่พอใจในรูปร่างกาย ความลิ้มรสกลิ่นหอม เสียงเพราะ สัมผัสอ่อนนุ่ม มีแต่ความทุกข์ เพราะเป็นของแปร ปรวนตลอดเวลา กามนี้ไม่ใช่ความสุขจริง ผู้ใดไม่สนใจกาม ผู้นั้นชื่อว่าไม่สนใจทุกข์ จะมีแต่ความสุขจริง

  มาลุงกยปุตตเถรคาถา ดูก่อนมาลุงกยปุตต ตัณหาคือความอยากย่อมมีแก่คนสัตว์ผู้ประมาท บุคคลผู้มีจิตตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ย่อมเร่ร่อนไปในภพน้อยใหญ่ เหมือนลิงอยากได้ผลไม้ย่อมเร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น จงทำตามพระพุทธพจน์ อย่าปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จงเจริญญาณ อานาปานุสติ เอาชนะกิเลส เห็นโทษทุกข์ของร่างกายนี้ กำจัดมารความพอใจในความสุขกายทั้งหลาย ผู้ที่ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่พิจารณาร่างกายเราเขา ตายแล้วย่อมไปแออัดยัดเยียดเศร้าโศกกันในนรก

  สิริมัณฑคาถา ดูก่อนสิริมัณฑ โลกถูกมัจจุราชเผาสุม ถูกชรารุมล้อม ถูกศรตัณหาทิ่มแทง ถูกความปรารถนาแผดเผาทุกเมื่อ ไม่มีสิ่งใดต้านทานได้ มีความเดือนร้อนอยู่เป็นนิตย์ เหมือนคนกระทำ ได้รับอาชญาเดือดร้อนอยู่ฉะนั้น

  ชรา พยาธิ มรณะ ทั้ง 3 ดุจกองไฟตามเผาไหม้หมู่สัตว์โลกไม่มีกำลังต่อต้าน ไม่มีกำลังจะหนีไปได้ ดังนั้นบุคคลควรใช้เวลาทุกลมหายใจให้เป็นประโยชน์ รีบเร่งพิจารณาโทษของตัณหาร่างกายและเลิกละไม่สนใจโลกร่างกายอีกต่อไป

  สัพพกามีเถระ ดูก่อนสัพพกามีเถระ สัตว์สองเท้านี้เป็นสัตว์ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นเต็มไปด้วยซากศพพืชสัตว์ต่าง ๆ อยู่ในท้องมีของโสโครกไหลออกทั่วร่างกาย

  กามคุณทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มีปรากฎในรูปร่างกายชายหญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก เหมือนพรานเนื้อดักเนื้อด้วยเครื่องดักเครื่องล่อฉะนั้น ปุถุชนใดมีจิตกำหนัดเข้าไปซ่องเสพหญิงนั้น ปุถุชนย่อมติดอยู่ในกรงขังเวียนว่ายตายเกิด ก่อภพก่อชาติขึ้นใหม่เพิ่มอีก ส่วนบุคคลใดงดเว้นไม่ติดพันหญิงนั้น บุคคลนั้นมีสติระงับตัณหา เราเห็นโทษในกามทั้งหลาย สลัดตนจากกามทั้งปวงได้บรรลุความหมดสิ้นกิเลส จิตมีสุขยอดเยี่ยม

  ท่านสัพพกามีเถระกล่าวดังนี้ การถือตัวว่า ดีกว่าเขา เลวกว่าเขา ว่าเสมอเขา เราละเลิกแล้ว การถือตัวว่าเป็นเขาเป็นเรานั้นเราตัดขาดแล้ว การถือตัวต่าง ๆทั้งหมดเราตัดขาดแล้ว เพราะได้เห็นองค์พระโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า มีฤทธิ์รุ่งเรือง บรรลุสันติธรรมอันยอดเยี่ยมไม่ปรารถนาอวดคุณวิเศษแก่ใคร ๆ เป็นผู้ฝึกบุรุษให้รู้ธรรมอย่างรวดเร็ว

  องคุลีมารคาถา องค์พระสวัสดิโสภาคย์ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสหลังจากที่ท่านองคุลีมารซึ่งเคยฆ่าคนถึง 999 คน ได้เข้าบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธองค์แล้วได้ปฏิบัติธรรมบรรลุเสวยวิมุติสุขเป็นพระอรหันต์ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ว่าดังนี้

  ผู้ใดประมาททำบาปในตอนนั้น ภายหลังเขาไม่ประมาท ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกบังฉันนั้น บาปกรรมที่เคยทำไว้แล้วย่อมถูกปิดกั้นไว้ด้วยบุญกุศล ผู้นั้นย่อมทำให้โลกนี้สว่างไสว

  นันทาเถรีคาถา ดูก่อนน้องหญิงนันทา เธอจงพิจารณาอัตภาพร่างกายอันกระดูก 300 ท่อนยกขึ้นแล้ว อันกระสับกระส่ายไม่สะอาดเป็นของเน่าเปื่อย จงอบรมจิตให้ตั้งมั่นมีอารมณ์เดียวด้วย อสุภภาวนา

  อนึ่ง เธอจงอบรมจิต บรรเทาซึ่งอนุสัย คือ มานะ คือ ยึดมั่นในตัวตน เพราะการละมานะตัวตนว่าดีเสียได้จักเป็นผู้สงบสุข  พระไตรปิฎก เล่มที่ 17 หน้า 14

เรื่อง สัญโญชนปหานสูตร

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมาธิที่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกอันภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีประโยชน์เพื่อละสังโยชน์ 10 ซึ่งเป็นกิเลสร้อยรักให้จมอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิด

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจริญสมาธิด้วยอานาปานสติ ด้วยการเอาจิตพิจารณาดูลมเข้าลมออกแล้วให้มากนั้นจะทำให้จิตตั้งมั่นแน่วแน่มีปัญญาสละละกิเลส ย่อมยังวิชชา และวิมุตติความสุขให้บริบูรณ์

  ธรรมทาส คือ ธรรมที่พระอริยสาวกกระทำแล้ว มีความเจริญทั้งในโลกนี้โลกหน้า มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางในเบื้องหน้าคือ

  1. เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใส มั่นคงในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

  2. ประกอบด้วยศีล 5 ครบบริบูรณ์ 

  3. ระลึกนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกไม่ประมาทในชีวิต

  4. มีจุดหมายปลายทางในชีวิต คือ ทำความดีทุกอย่างเพื่อพระนิพพาน

  ธรรมทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน พระไตรปิฎกเล่มที่ 19 หน้า 993

อวิชชาสูตร

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่รู้ว่าร่างกายขันธ์ 5 โลกนี้ทั้งโลกเป็นทุกข์ ความไม่รู้สาเหตุของทุกข์ คือ จิตเข้าไปติดกับกาย ความไม่รู้วิธีดับทุกข์ ไม่รู้หนทางจะให้ความทุกข์หมดไปเรียกว่า มีอวิชชา

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความรู้ที่เห็นแล้วว่าร่างกายมีแต่ปัญหา มีแต่ทุกข์ร้อน ความรู้ในเหตุแห่งทุกข์คือ ความอยากมีร่างกายดีงามแข็งแรง ร่ำรวย ความรู้ในทางดับทุกข์ด้วยการปล่อยวางสละร่างกายให้คืนไปเป็นธาตุเดิมของธรรมชาติคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ต้องการร่างกายขันธ์ 5 อีกต่อไป เบื่อหน่ายที่จะมีร่างกายเราเขานี้ เรียกว่า มี วิชชา มีความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดังนั้น เธอพึงกระทำความเพียรพยายามให้รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปร่างกายนี้เป็นเหตุของทุกข์ ดับความอยาก คือ ดับทุกข์ ไม่สนใจร่างกายเป็นนิโรธ มีศีล สมาธิ ปัญญา ดูร่างกายวัตถุทุกอย่างสูญสลายในที่สุดเป็นมรรคผลเป็นหนทางไปสู่พระนิพพานพระไตรปิฎก เรื่อง อวิชชาสูตร (เล่มที่ 19 หน้า 607)

สมาธิสูตร

  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ มีจิตตั้งมั่น พิจารณารูปร่างกายสัตว์สิ่งของ ตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วผุพังเสื่อมสลาย มีความเกิดความดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จิตของภิกษุทั้งหลาย ไม่เพลิดเพลินไม่ยินดีไม่ติดใจไม่อยากได้หมดไป อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ ภพภาวะการมีการเกิดดับ ชาติการเกิดแต่ละชาติจึงดับ ถ้าไม่มีชาติการเกิด ความทุกข์ทั้งมวลจึงดับ

  ภิกษุทั้งหลาย รูปร่างกายที่เป็นอดีต อนาคตไม่คงที่เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ ไม่มีใครบังคับได้ จะกล่าวไปไยกับรูปกายในปัจจุบันเล่า อริยสาวกผู้ได้ฟังได้เห็นอยู่นี้ ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินในรูปปัจจุบัน อนาคต ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อคลายกำหนัด ดับรูปปัจจุบันออกจากจิต เพราะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในรูปขันธ์ 5 ปัจจุบัน จิตจึงหลุดพ้นจากกิเลส ย่อมมีญาณรู้ว่าจิตหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว ภพชาติสิ้นไม่เกิดอีกแล้ว กิจอื่นที่จะเกิดอีกไม่มีแล้ว

  พระธรรมกถึก คือ ผู้ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ไม่พึงกระทบกระทั่งผู้อื่น ไม่กล่าวคุณความดีของตนในที่ชุมชนเพื่อมุ่งลาภผล ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน พูดพอประมาณ มีจริยามารยาทงาม ประพฤตินอบน้อม มีปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นผู้แสดงธรรม เพื่อความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดจากร่างกายเราร่างกายบุคคลอื่น มีศีล 5 ครบ พึงถึงพระนิพพานไม่ยากเลย

  ภิกษุผู้ใดได้บรรลุนิพพานในปัจจุบัน คือ ภิกษุผู้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เพราะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในขันธ์ 5 รูปร่างกาย ไม่ยึดถือมั่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของตนต่อไป

  พระอรหันต์มีความรู้สึกของความทุกข์ ความเจ็บปวด หิว ไม่สบายของร่างกายขันธ์ 5 ทุกอย่าง แต่ท่านมีอารมณ์เดียว คือ อารมณ์รู้แล้วละเลิกไม่เก็บเป็นกังวลใจ นิ่ง เฉยในความทุกข์ของร่างกาย รักษาดูแลร่างกาย ไม่ให้ทุกข์ทรมานจนเกินไป จิตปล่อยวางว่างไม่สนใจกาย มีจิตเป็นสุข รู้ว่ามีกายเป็นชาติสุดท้าย ถ้ากายยังไม่ตายก็มีชีวิตอยู่เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้เข้าใจความจริงของโลกเป็นทุกข์ ความจริงของพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า

  พระนิพพานเป็นเอกันตบรมสุข มีความสุขอย่างยิ่ง แต่ว่า คนที่จะถึงพระนิพพานได้ ต้องพยายามตัดโลภะ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง คิดไตร่ตรองดูให้เห็นว่า ร่างกายไม่มีสาระ แก่นสาร มีแต่โทษเพราะแปรปรวนตลอดเวลา มีความไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นทุกข์แล้วแตกสลายตายไปในที่สุด จิตเราบังคับกายไม่ได้เลย มองให้เห็นว่า จิตกับกายเป็นคนละส่วนกัน กายไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่กาย ถ้าตัดสินใจว่า กายไม่ใช่เรา ไม่มีในเรา ไม่เป็นของเราเสียได้แล้ว ก็ตัดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกออกจากจิตได้หมดก็ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์

  ท่านพระอนุรุทฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระพิชิตมารเพียงเท่านี้ ก็เข้าป่าเจริญสมณธรรมคือ กรรมฐาน ทรงจิตให้เป็นสมาธิดีแล้วก็พิจารณาว่า ร่างกายขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ร่างกายเป็นเพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมกันชั่วขณะเรียกว่า คน แล้วก็เสื่อมทรุดโทรมตายในที่สุด ยังไม่ตายก็เป็นทุกข์ดูแลทำความสะอาด มีโรคภัยเบียดเบียน ร่างกายนี้เหม็นเน่าไม่มีสาระแก่นสารประโยชน์อันใด มีแต่ความเร่าร้อนหาความสุขกายใด ๆ ไม่มี ท่านพิจารณาตามกระแสพระสัจธรรมขององค์พระจอมไตรโลกนาถเพียงเท่านี้ ปรากฏว่าได้บรรลุเป็นพระอรหัตผล เป็นพระขีณาสพในพระพุทธศาสนาเป็นเลิศในฌานสมาบัติพระไตรปิฎก เล่มที่ 17 หน้า 17

  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถามปัญหาและทรงตอบปัญหาเองให้พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า

  1. ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีอะไรเป็นต้นเหตุ มีอะไรเป็นแดนเกิด

  ธรรมทั้งปวงมีความพอใจเป็นต้นเหตุ มีการทำไว้ในใจเป็นแดนเกิด

  2. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่รวม มีอะไรเป็นหัวหน้า

  ธรรมทั้งปวงมีความรู้สึกสุข ๆทุกข์ ๆ เป็นที่รวม และมีสมาธิเป็นหัวหน้า

  3. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่ และมีอะไรเป็นแก่นสาร

  ธรรมทั้งปวงมีสติความระลึกนึกถึงเอาไว้เป็นใหญ่ และมีวิมุติความหลุดพ้นจากทุกข์เวียนว่ายตายเกิดเป็นผลดี คือเป็นสุขอย่างยิ่ง

  4. ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมีอะไรเป็นที่สิ้นสุดหรือจบลงได้

  ธรรมทั้งหมด มีพระนิพพานความสุขยอดเยี่ยมตลอดกาลเป็นที่จบ

  องค์พระไตรโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอน ท่านกัปปะว่า

  ดูก่อนกัปปะ เราจะบอกธรรมเป็นที่พึ่งแก่คนสัตว์ทั้งหลาย ผู้ดำรงอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อมีกิเลส มีภัยใหญ่ ความป่วย ความชรา ความตายครอบงำแล้ว ธรรมอันเป็นที่พึ่งแก่ท่าน แก่คนสัตว์ทั้งหลายนั่นคือ นิพพาน อันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาความอยาก ไม่มีอุปาทาน ความยึดมั่นถือไว้ในจิตใจ พระนิพพานเป็นโลกุตตรธรรม เป็นที่หมดสิ้นไปแห่งชรามัจจุราชนี้นั้น จึงชื่อว่า นิพพานเป็นที่พึ่งของคนสัตว์

  พระอรหันต์ขีณาสพเหล่าใด รู้ทั่วถึงนิพพานนั้นแล้ว เป็นผู้มีสติระลึกถึงนิพพานอันเข้าใจแล้ว จิตของพระอรหันต์ขีณาสพ ก็ไม่อยู่ในอำนาจขันธมาร กิเลสมารต่อไป

  ท่านอุทยะกราบทูลถาม ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอก ธัญญวิโมกข์ อรหัตวิโมกข์ คือ ธรรมที่ทำลายอวิชชา เพื่อจิตบรรลุเป็นพระอรหันต์นั้นคืออะไร

  พระพุทธศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตอบว่า

  ดูก่อน อุทยะ เราขอบอก ธัญญวิโมกข์เป็นเครื่องละ กามฉันทะ โทมนัส บรรเทาความง่วง ความรำคาญ ธรรมอันนั้นคือ รู้นิ่งเฉย รู้เท่าทันกิเลส มีอุเบกขาในความทุกข์กาย ทุกข์ใจ มีความตรึกตรองในธรรม จิตมีนิพพานเพราะหมดความรัก ความอยากใด ๆ ในโลก มีสติไม่เพลิดเพลินหรือทุกข์ร้อนในความรู้สึกใดๆ ทำอย่างนี้ไปอยู่เสมอ จิตจึงจะพ้นจากขันธ์ 5 ชื่อ ว่า อรหัตวิโมกข์ หรือ ธัญญวิโมกข์พระไตรปิฎก เล่มที่ 30หน้า 21

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

  อมตะนิพพาน คือ ความสงบจากความคิดฟุ้งซ่านทั้งปวง ความสละคายคืนกิเลสทั้งปวง ความหมดสิ้นความอยากในโลกทั้งสาม ความคลายกำหนัดออกจากเครื่องร้อยรัด

  พระนิพพานไม่มีรูป วัตถุ รูปคน ขันธ์ 5 ไม่มีดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ว่ามีอายตนะทิพย์ของนิพพาน ตา หู จมูก ลิ้น กายนิพพาน จิตนิพพานยังมีอยู่ กายเป็นกายธรรมกายนิพพาน ละเอียดงดงามกว่ากายเทพ กายพรหม มีแสงสว่างไสว กายนิพพานเบายิ่งกว่าลม อิสระเสรีไปไหน ๆ ได้ทันทีรวดเร็ว ตามี หูมี มือมี เท้ามี แขนมี ขามี มีศีรษะ แต่ขาดอวัยวะภายใน หัวใจ ตับ ปอด สมอง เลือด อุจจาระ ปัสสาวะไม่มี ไม่มีระบบประสาท วิญญาณไม่มี ขันธ์ 5 รูปนาม ความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานไม่มี กายทิพย์นิพพานจะปรับเปลี่ยนใหญ่เล็กลงได้ แต่จิตนิพพานยังคงอยู่เป็นสุขยอดเยี่ยมบรรยายอย่างไรก็ไม่มีวันเข้าใจ หรือหมดสิ้นเพราะพระนิพพานมีทุกอย่างที่โลกไม่มี มีความมหัศจรรย์สมปรารถนาทุกประการ มีความรู้ยิ่งอยากรู้อะไรรู้ได้ทันที นอกจากว่า จิตของท่านผู้นั้นสัมผัสสภาวะพระนิพพานได้พระไตรปิฎก เล่มที่ 30 หน้า 293

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

  พระนิพพานเป็นธรรมชาติเปิดเผย มีความเป็นสุขมากกว่าพระราชา และมีความสุขกว่าทิพย์ของสวรรค์ พรหมสมบัติ พระนิพพานมีอยู่ในจิตของพระอริยเจ้าทั้งหลาย จิตพระอริยเจ้า ไม่ยึดติดกับร่างกายขันธ์ จิตท่านจึงไม่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ไม่มีสังขาร สัญญา วิญญาณ เวทนาเข้ามาครอบงำ ไม่มีความหวั่นไหว กระวนกระวายเร่าร้อนในร่างกาย ไม่มีมานะยึดมั่นในร่างกายซึ่งเป็นของปลอม

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจบ จิตของพระภิกษุทั้ง 60 รูป เข้าใจในพระธรรม จิตของพระภิกษุสละเลิกยึดติดในร่างกายแล้วหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย เพราะจิตไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 อีกต่อไปพระไตรปิฎก เล่มที่ 25 หน้า 527

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบปัญหาของเทวดาดังนี้

  1. อะไรเป็นเพื่อนของคน

  ความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยเป็นเพื่อนของคน

  2. อะไรย่อมปกครองคนนั้น

  ปัญญาความรู้ความฉลาดย่อมปกครองคนนั้น

  3. อะไรทำให้คนเกิด

  ตัณหาความอยากเกิดทำให้คนเกิด

  4. อะไรของคนนั้นย่อมวิ่งพล่าน

  จิตของคนนั้นย่อมวิ่งพล่านฟุ้งซ่านไปทั่ว

  5. อะไรเวียนว่ายในทะเลทุกข์

  คนสัตว์เวียนว่ายในทะเลทุกข์

  6. อะไรเป็นที่พำนักที่พักของสัตว์นั้น

  กรรมเป็นที่พักของคนสัตว์

  7. อะไรบัณฑิตกล่าวว่าผิด

  ราคะ โทสะ บัณฑิตกล่าวว่าผิด

  8. อะไรสิ้นไปตามคืนและวัน

  วัน อายุ สิ้นไปตามคืนและวัน

  9. อะไรเป็นมลทินของพรหมจรรย์

  กามราคะ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นมลทินของพรหมจรรย์

  10. อะไรมิใช่น้ำแต่เป็นเครื่องชำระล้าง

  ความบริสุทธิ์ของศีล สมาธิ ปัญญา ล้างกิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน

  11. อะไรเป็นมิตรในเรือนตน

  บิดามารดาเป็นมิตรในเรือนตน

  12. อะไรเป็นมิตรของคนมีธุระ

  เพื่อนเป็นมิตรของคนมีธุระ

  13. อะไรเป็นมิตรติดตามถึงชาติหน้า

  ผลบุญของทานศีลภาวนาติดตามถึงภพหน้า

  14. อะไรเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย

  ลาภยศสรรเสริญเจริญสุข คนรัก บุตรธิดา เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย

  15. อะไรเป็นสหายในโลกนี้

  ภริยา-สามี เป็นสหายในโลกนี้

  16. อะไรเป็นภัยใหญ่ของคนสัตว์ในสงสาร

  การมีขันธ์ 5 รูปร่างกาย ขันธ์ 5 เป็นภัยใหญ่ของคนสัตว์ในวัฏฏสงสาร

  17. อะไรยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา

  ทาน ศีล ยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา

  18. อะไรตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ

  จิตตั้งมั่นศรัทธาในพระตถาคตแล้วง่ายต่อการสำเร็จประโยชน์พระนิพพาน

  19. อะไรเป็นรัตนะที่พึ่งของคนทั้งหลาย

  ความรู้ว่าโลกแปรปรวนเป็นทุกข์สูญสลาย ว่างเปล่าเป็นอนัตตาเป็นรัตนะที่พึ่งของคนทุกคน

  20. อะไรหนอย่อมทรุดโทรม

  คนสัตว์ วัตถุทุกอย่างในโลกย่อมทรุดโทรม

  21. อะไรหนอเป็นอันตรายแก่ธรรม

  ความลุ่มหลงในลาภยศสรรเสริญโลกียสุขเป็นอันตรายต่อโลกุตตรธรรม

  22. อะไรหนอละได้ยากในโลกนี้

  ความอยากได้ในโลกียสมบัติ ความสุขทางกาย ละได้ยากในโลกนี้

  23. คนสัตว์เป็นอันมากติดอยู่ในอะไร

  ติดอยู่ในความอยาก ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สุขทางร่างกาย

  24. อะไรหนอเป็นแสงสว่างในโลก

  ปัญญาความรู้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นสุขจริง เพราะเป็นอนัตตา สูญสลายว่างเปล่า เป็นจิตของพระอริยเจ้า เป็นแสงสว่างในโลก

  25. อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่

  สติ- ความระลึกนึกถึงความตาย ตั้งใจมุ่งตรงเพื่อพระนิพพานเป็นเครื่องตื่นอยู่

  26. บุคคลฆ่าอะไรเสียได้จึงเป็นสุข

  บุคคลฆ่าความโกรธเสียได้จึงเป็นสุข

  29. บุคคลฆ่าอะไรเสียได้จึงไม่โศกเ ศร้า

  บุคคลฆ่าความหลงในรูปกายเราเขาเสียได้จึงไม่เศร้าโศก

  30. แสงสว่างในโลกนี้มีกี่อย่าง

  แสงสว่างในโลกนี้มี 4 อย่างคือ

  1) แสงสว่างจากดวงอาทิตย์

  2) แสงสว่างจากดวงจันทร์

  3) แสงสว่างจากดวงไฟ, ไฟฟ้า

  4) แสงสว่างจากแสงธรรม นำจิตคนสัตว์เข้านิพพาน

  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญแสงธรรม ประเสริฐ ทำให้โลกอยู่เป็นสุขและเป็นแสงนำทางไปแดนเอกันตบรมสุขตลอดกาล คือ แสงแห่งพระนิพพาน

  จิตพระอริยเจ้า จิตพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์มีแสงฉัพพรรณรังสีรัศมี 6 ประการ เป็นแสงแห่งพระคุณความดี คือ บุญบารมี มีมากน้อยแตกต่างกัน เทพเทวดา พรหมก็มีแสงแห่งรัศมีกายทิพย์ มากน้อยจากอานิสงค์ผลบุญที่ปฏิบัติด้วย ทาน ศีล สมาธิ ภาวนา พระไตรปิฏก เล่มที่ 25 หน้า 63

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

 ชอบค่ะ ขอพิมพ์ไว้อ่านบ่อย ๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท