มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

การเจริญจิตเสริมพลังทางใจ


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

การเจริญจิตเสริมพลังทางใจ

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษาวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทาง

วิชาการทางพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย  พุทธศักราช  ๒๕๕๐ พิมพ์ครั้งที่ ๑๕๐๐ เล่ม เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

บทที่ ๑  ภาวนา และ นิมิต

ปริกมฺม ภาวนา จ อุปจารปฺปนา

ตถา ปริกมฺม อุคฺคหญฺจ นิมิตฺตํ ปฏิภาคิยํ ฯ

ภาวนญฺจ นิมิตฺตญฺจ ติธา ติธา วิภาวเย

ตาฬีส กมฺมฏฺฐาเนสุ นโยยํ ปริทีปิโต ฯ

บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต

พระโยคาวจรพึงยังภาวนาและนิมิตให้เกิด โดยประเภทอย่างละ ๓ อย่างละ ๓ นี้ ท่านแสดงไว้ในกัมมัฏฐาน ๔๐

มีความหมายดังจะกล่าวต่อไปนี้

๑. บริกรรมนิมิต คำว่า บริกรรมแปลว่า การบำเพ็ญ ท่องบ่น หรือ กำหนดใจ นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย บริกรรมนิมิตจึงรวมแปลว่า เครื่องหมายที่กำหนด เครื่องหมายที่เพ่ง ในที่นี้ก็ได้แก่ กัมมัฏฐาน ๔๐ มี กสิณ เป็นต้นนั่นเอง

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเพ่งกัมมัฏฐานใด กัมมัฏฐานนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิต เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็ปฐวีกสิณที่เพ่งนั้นแหละ คือ บริกรรมนิมิต

๒. อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตติดตา หมายความว่า เมื่อเพ่งปฐวีกสิณจนดวงกสิณนั้นติดตา ไม่ว่าจะลืมตาอยู่หรือแม้จะหลับตา ก็เห็นดวงกสิณนั้นแจ่มแจ้งชัดเจนทุกกระเบียดนิ้ว จนกระทั่งว่าถ้ามีอะไรติดอยู่หรือมีรอยขีดอยู่ที่ดวงกสิณนั้นสักนิดเดียว ก็เห็นได้แจ่มชัด เหมือนหนึ่งว่า ลืมตามองเห็นอยู่ฉะนั้น

๓. ปฏิภาคนิมิต มีความหมายว่า นิมิตคือ ดวงปฐวีกสิณนั้นติดตาอยู่เหมือน กัน แต่ว่าสีแห่งกสิณตลอดจนริ้วรอยหรือตำหนิอย่างใด ๆที่ดวงกสิณนั้นจะไม่ปรากฏเลย คงปรากฏว่าดวงกสิณนั้นใส สะอาด บริสุทธิ์ ดุจดวงแก้วมณี ตลอดจนจะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นให้ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กลง ก็ได้ตามความปรารถนา

๔. นิมิตทั้ง ๓ ที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวโดยอาศัยกัมมัฏฐานที่มีรูปพรรณสัณฐาน สีสรร วัณณะนั้นเป็นหลัก เช่น กสิณ และอสุภะ เป็นต้น อันจะต้องเริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา ที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต จึงจะเห็นติดตาที่เรียกว่า อุคคหนิมิต ส่วนกัมมัฏฐานที่ไม่มีรูปร่าง เช่น อนุสสติ เป็นต้น ไม่ได้เริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา แต่เพ่งด้วยใจ คือ กำหนดใจให้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น คุณของพระพุทธเป็นต้นที่เพ่งด้วยใจนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต ครั้นจิตใจซาบซึ้งถึงพระคุณนั้นอย่างชัดเจนแน่แน่วจนกระชับจับใจเช่นนี้ ก็เรียกว่าอุคคหนิมิต เหมือนกัน แต่เป็นอุคคหนิมิตติดใจ ไม่ใช่อุคคหนิมิตติดตาเหมือนอย่างก่อน

๕. สมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตทั้ง ๔๐

ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีได้ในกัมมัฏฐาน ๒๒ เท่านั้นคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑

แม้แต่ อัปปมัญญา ๔ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ที่ถึง อัปปนาภาวนา (คือถึงฌาน) ก็ไม่ถึง ปฏิภาคนิมิต เป็นได้เพียง อุคคหนิมิต เท่านั้น

๖. บริกรรมภาวนา คำว่า ภาวนา แปลว่า อบรมให้มีขึ้น อบรมให้เกิดขึ้น และให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น บริกรรมภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมให้มีการกำหนดใจขึ้น อบรมให้เกิดการท่องบ่นในใจขึ้น การบำเพ็ญให้มีขึ้น

กัมมัฏฐานที่กำลังเพ่งอยู่นั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต ภาวนาจิตที่มีบริกรรมนิมิตเป็นอารมณ์นั่นแหละ ได้ชื่อว่า บริกรรมภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็ได้ชื่อว่า บริกรรมสมาธิ

นิมิตที่ถึงกับติดตาติดใจนั้น เรียกว่า อุคคหนิมิต แต่ภาวนาจิตที่มีอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ ก็ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา (บริกรรมสมาธิ) อยู่อย่างเดิม

๗. อุปจารภาวนา คำว่า อุปจาระ แปลว่า ใกล้ บริเวณรอบ ๆ ดังนั้น อุปจารภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมใกล้เข้าไปแล้ว หมายความว่าใกล้จะได้ฌานแล้ว ใกล้จะถึงอัปปนาภาวนาแล้ว

การเพ่งกัมมัฏฐานจนถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อใด เมื่อนั้นแหละได้ชื่อว่า อุปจารภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อุปจารสมาธิ

๘. อัปปนาภาวนา คำว่า อัปปนา แปลว่า แนบแน่น หมายความว่า แนบอยู่กับอารมณ์นั้นจนแน่นแฟ้น ไม่โยกคลอน หรือแส่ไปในอารมณ์อื่น อีกนัยหนึ่งแปลว่า ทำลายกิเลสมีนิวรณ์ เป็นต้น ดังนั้น อัปปนาภาวนา จึงรวมมีความหมายว่า อบรมจนแนบแน่นในอารมณ์ที่เพ่ง กิเลสไม่สามารถมารบกวนได้

ต่อจากนี้ อุปจารภาวนา เกิดขึ้นแล้ว ก็เพ่งปฏิภาคนิมิตนั้นโดย อุปจารสมาธิให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ พยายามรักษาจนปฏิภาคนิมิตนั้นแนบแน่น ไม่ให้หายไปได้แล้ว ฌานจิตก็ย่อมจะเกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ได้ชื่อว่า อัปปนาภาวนา เมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อัปปนาสมาธิ

๙. กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นอารมณ์ของบริกรรมภาวนา ได้ทั้งหมด ในกัมมัฏฐาน ๑๐ ได้แก่ อนุสสติ ๘ (เว้นกายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัตถานะ ๑ ย่อมได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น อัปปนาภาวนา คือ ฌาน ไม่เกิด

ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๐ อันได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ และอรูป ๔ ย่อมสำเร็จได้ถึงอัปปนาภาวนา คือ ฌาน

บทที่ ๒ ปลิโพธ

ผู้ปรารถนาที่จะเจริญกัมมัฏฐาน จะเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม เบื้องต้นจะต้องตัด ปลิโพธ คือเครื่องกังวลใจต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ ห่วงใย เป็นกังวล ไม่สงบระงับ ไม่สามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานนั้น ๆ ได้ ปลิโพธ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่ที่อาศัย เช่น เป็นภิกษุก็ห่วงไปว่า ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสีย ก็จะมีภิกษุอื่นมาอยู่กุฏิแทน เมื่อกลับไปก็จะไม่มีที่อยู่ มิฉะนั้นก็เกรงไปว่า ฝนจะรั่ว ปลวกจะขึ้น

๒. กุลปลิโพธ ห่วงบริวารว่านเครือ ตลอดจนผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปัฏฐาก เกรงว่าจะห่างเหินขาดตอนกันไปเสีย

๓. ลาภปลิโพธ ห่วงรายได้ เกรงว่าลาภผลที่ตนเคยได้อยู่ จะลดน้อยหรือเลื่อนลอยไปเลย

๔. คณปลิโพธ ห่วงพวกพ้อง ลูกน้อง ลูกศิษย์ และมิตรสหายที่เคยสั่งสอน ช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกันอยู่

๕. กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่กำลังทำค้างอยู่ หรือที่จะลงมือทำในเร็ววันนี้ เช่น ปลูกบ้าน ปลูกเรือน ขุดบ่อ ก่อศาลา สร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญ เป็นต้น

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล กะไว้ว่าจะไปโน่นไปนี่ ต้องมีเวลาเตรียมตัว เตรียมข้าวของทองเงินต่าง ๆ

๗. ญาติปลิโพธ ห่วงพ่อแม่ ลูกเมีย พี่น้อง ครูบาอาจาารย์ จะขาดผู้ปรนนิบัติ หรือผู้ปกครองดูแลอุ้มชู

๘. อาพาธปลิโพธ ห่วงว่ากำลังไม่สบายอยู่ หรือฤดูนี้เคยไม่สบาย เกรงว่าจะเกิดเจ็บป่วยขึ้น กลัวจะเป็นลมเป็นไข้ต่าง ๆ นานา

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสียเกรงว่าจะเรียนไม่ทันเขา สู้เขาไม่ได้ ถ้าเป็นครูอาจารย์ ก็ห่วงการสอนศิษย์

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงอิทธิฤทธิต่าง ๆ อันการแสดงฤทธิหรืออภินิหารต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องบริหารอยู่เนือง ๆ ต้องหมั่นอบรมสมาธิให้มั่นคงอยู่เสมอ ถ้าละทิ้งไปนานนัก อาจเสื่อมไปจนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้

เฉพาะอิทธิปลิโพธนี้ เป็นเครื่องกังวลแก่การวิปัสสนาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น หาได้เป็นเครื่องกีดขวางทางสมถะไม่ เพราะการทำสมาธิยิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่สมถะมากเท่านั้น ส่วนการเจริญวิปัสสนา ถ้าสมาธิแก่กล้าเกินไป ก็ทำให้อินทรียไม่เสมอกัน วิปัสสนาไม่สามารถจะเกิดได้

เมื่อมีความตั้งใจเจริญภาวนา คือ เจริญกัมมัฏฐาน จนถึงกับตัดเครื่องกังวลใจดังที่ได้กล่าวนี้ได้แล้ว ยังจะต้องพิจารณาธรรมอีกหลายประการที่เรียกว่า สปายะ เสียก่อน ดังจะกล่าวต่อไปนี้

บทที่  ๓  สัปปายะ

สัปปายะ แผลงมาเป็น สปายะ คือ สบาย นั่นเอง หมายถึงธรรมอันเป็นที่สบายที่เหมาะสมแก่การเจริญกัมมัฏฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอุปการะให้มีความสงบระงับ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย สปายธรรมมีหลายประการ จำแนกเป็น ๔ บ้าง เป็น ๕  บ้าง ในที่นี้ขอกล่าวว่ามี ๗ ประการ คือ

๑. ที่อยู่อันเป็นที่สบาย ไม่ใกล้ทางสัญจรไปมา ไม่ใกล้บ่อน้ำ อันจะเกิดความรำคาญจากผู้คนไปมาจอแจพูดจากันจ้อกแจ้กไม่ขาดสาย แต่ควรเป็นสถานที่ที่วิเวก สงัดจากสิ่งที่รบกวนความสงบ และมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ต้องห่วงเรื่องคนร้าย

๒. ทางเดินอันเป็นที่สบาย หมายถึงทางที่จะเดินจงกรม ก็สะดวกสบาย ไม่ถูกแดดมากนัก ทางไปบิณฑบาตทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ก็ไม่ต้องเดินทวนตะวันให้แดดส่องหน้าแสงเข้าตา เพราะการถูกแดดมาก ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา อันเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ

๓. การฟังการพูดอันเป็นที่สบาย หมายความว่า ควรฟังหรือควรพูดในเรื่องที่จะโน้มน้าวจิตใจให้เกิด สัทธา วิริยะ และความสงบระงับ อันจะเป็นคุณแก่การเจริญกัมมัฏฐาน ให้เว้นการฟังการพูดที่ไม่เป็นสปายะนั้นเสีย

๔. บุคคลเป็นผู้ที่สบาย หมายถึงบุคคลที่จะติดต่อคบหา ควรเป็นผู้ที่มั่นในสีลธรรมชักจูงแนะนำไปในทางที่ให้เกิดความมักน้อย ความเพียร ความสงบระงับ ยิ่งเป็นผู้ที่เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นคุณมาก ให้เว้นจากบุคคลที่ฟุุ้งซ่านและมากไปในทางกามารมณ์ ในทางโลกียสุข

๕. ฤดูอันเป็นที่สบาย หมายถึง ความร้อนความเย็นของอากาศตามฤดูกาล เช่น บางฤดูก็ร้อนจัดมาก บางฤดูก็หนาวเสียเหลือเกิน หรือ กลางวันร้อนจัด แต่กลางคืนก็เย็นมากจนถึงกับหนาว อย่างนี้คงไม่สบายแน่ อาจเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย จำต้องเลือกให้เหมาะสมแก่ความเคยชินของตนที่พอจะทนได้

๖. อาหารอันเป็นที่สบาย หมายถึงว่า ควรบริโภคแต่อาหารที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเป็นประมาณโดยไม่ต้องคำนึงถึงรสของอาหาร แม้รสจะดีแต่ว่าเสาะท้องหรือทำให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ก็ควรงดเสีย เฉพาะภิกษุควรพิจารณาด้วยว่าตำบลนั้น อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับบิณฑบาตได้ไม่พอขบฉันหรือไม่ด้วย ส่วนผู้ที่มีผู้ส่งเสียอาหาร ก็ให้ทำความเข้าใจว่าอาหาร ที่เป็นชิ้นใหญ่ก็ให้หั่นให้เล็กพอควร ที่เป็นผักก็ตัดหรือม้วนให้พอดีคำที่มีกระดูกหรือก้างก็ให้จัดการเอาออกเสียให้หมดด้วย

๗. อิริยาบถอันเป็นที่สบาย หมายถึง อิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถใดทำให้จิตคิดพล่านไป ไม่สงบ ก็แสดงว่าอิริยาบถนั้นไม่เป็นที่สบาย จึงไม่ควรใช้อิริยาบถนั้น แต่เมื่อจำเป็นก็ให้ใช้แต่น้อย มีข้อที่ควรระวังในอิริยาบถนอนอยู่ว่า นอนเพื่อกำหนด หรือเพราะร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่นอนด้วยอำนาจแห่งโกสัชชะ เพราะหน่ายจากความเพียร

บทที่  ๔ กัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร ในที่นี้หมายถึง อาจาริยบุคคล ผู้เจริญกัมมัฏฐานไม่ว่าจะเป็นทาง สมถะ หรือวิปัสสนา ควรมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำชี้ทางผิดและทางถูกให้ เพราะอาจารย์ก็นับเป็นจำนวน ๑  ใน ๓ ที่โยคีบุคคลจะละเสียมิได้ คือ

อุปนิสฺสย  อยู่ในสำนักอาจารย์ผู้สามารถ

อารกฺข  รักษาอินทรียให้สมบูรณ์

อุปนิพทฺธ  ผูกจิตไว้ในอารมณ์กัมมัฏฐาน

เหตุนี้จึงนับว่า อาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง ผู้ที่จะเข้าเป็นศิษย์ต้องพินิจพิจารณาให้จงหนัก แต่ไม่ควรวิพากย์วิจารณ์ไปในทางที่เป็นโทษ เพราะอาจารย์ทุกท่านย่อมพากเพียรเกื้อกูล ให้เป็นคุณแก่ศิษย์ด้วยความเมตตากรุณา  ในวิสุทธิมัคค แสดงองค์คุณของอาจารย์ไว้ว่า

๑. ปิโย เป็นผู้มีสีล เป็นที่รัก น่าเลื่อมใส เป็นที่รักใคร่ของสรรพสัตว์ เพราะความสมบูรณ์แห่งสีล

๒. ครุ เป็นผู้มีใจคอหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง

๓. ภาวนีโย เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาแล้วด้วยดีทั้งการเรียนและการปฏิบัติ มีสีลาจารวัตรอันดีงามควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

๔. วตฺตา  เป็นผู้ที่สามารถแนะนำ ชี้แจงแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี และถูกต้องด้วย

๕. วจนกฺขโม  เป็นผู้ที่มีขันติอดทนพร่ำสอนศิษย์ไม่เข้าใจก็พยายามให้เข้าใจตามแนวทางแห่งการปฏิบัติ และอดทนต่อการกล่าวล่วงเกินของศิษย์และผู้อื่น ไม่หวั่นไหวต่ออิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์นั้น ๆ

๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา สามารถแสดงวิปัสสนาภูมิให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ด้วยวิธีการที่ สอนน้อย แต่ให้ทำมาก

๗. โน ฐฏฺฐาเน นิโยชเย บอกทางที่ถูกให้

นอกจากนี้แล้วในมหาฏีกา  ยังแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ควรเป็นอาจารย์ไว้อีกดังนี้ คือ

๑. สทฺธาสมฺปนฺโน โหติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์

๒. สีลสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสีล คือมีมารยาทอันดีงาม

๓. สุตสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการศึกษา  สามารถแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี

๔. จาคสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ยอมเสียสละ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

๕. วิริยสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว

๖. สติสมฺปนฺโน ถึงพร้อมแล้วด้วยสติ ไม่เผลอ ไม่ประมาท

๗. สมาธิสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสมาธิ มีจิตตั้งมั่น ไม่ฟุุ้งซ่าน ไม่กระสับ กระส่าย

๘. ปญฺญาสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยปัญญา

บทที่ 

ข้อที่ควรเว้นในการเจริญกัมมัฏฐาน

๑. กมฺมารามตา ประกอบกิจอื่นเสีย เช่น เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ สวดมนต์ เป็นต้น อันไม่ใช่กิจในการเจริญกัมมัฏฐาน

๒. ภสฺสรามตา มัวแต่คุยกันเสีย ไม่ตั้งใจกำหนด

๓. นิทฺทารามตา มัวแต่เห็นแก่นอน นอนมากทำความเพียรน้อย โยคีบุคคลนอนแต่น้อยเพียงคืนละ ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๒ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกาก็พอ กลางวันห้ามนอน จงนึกถึงคำเก่าที่กล่าวไว้ว่า คชาพี ฤาษีผอม นั้นเป็นเครื่องเตือนใจ

๔. สงฺคาณิการามตา พอใจคลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ ไม่ชอบอยู่ตามลำพังโดยเฉพาะ

๕. อคุตฺตทฺวารตา ไม่สำรวมทวารทั้ง ๖ ด้วยดี

๖. โภชเน อมตฺตตญฺญุตา ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค คือกินอิ่มเกินไป คะเนว่าอีก ๕ คำจะอิ่ม ให้หยุด เป็นพอดี

๗. ยถาวิมุตฺตํ จิตฺตํ น ปจฺจเวกฺขติ จิตจับอารมณ์ใด ไม่กำหนดอารมณ์นั้น หรือจิตตกไปโดยอาการใด ไม่กำหนดรู้โดยอาการนั้น

ข้อที่ควรปฏิบัติในการเจริญกัมมัฏฐาน

นอกจากต้องปฏิบัติตามนัยที่ตรงกันข้ามกับข้อที่ควรเว้น เช่น ประกอบแต่กิจที่เพ่งกัมมัฏฐานโดยไม่ประกอบกิจอื่น ตั้งใจกำหนดโดยไม่คุยกับผู้อื่น เป็นต้น ทั้ง ๗ ข้อนั้นแล้ว ยังมีข้อที่ควรปฏิบัติอยู่อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญอันควรยกขึ้นมากล่าวในที่นี้นั้น ได้แก่

๑. ต้องมีขันติ มีความอดทนพร้อมทั้ง ๓ ประการ คือ

  ก. อดทนต่อความยากลำบาก

  ข. อดทนต่อทุกขเวทนา

  ค. อดทนต่อความเย้ายวนของกิเลส

๒. เพื่อให้ขันติธรรมนั้นสมบูรณ์ จะต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเจริญกัมมัฏฐานว่า แม้เนื้อจะเหือด เลือดจะแห้ง คงเหลือแต่ หนัง เอ็น กระดูก ก็จะไม่ท้อถอยละเลิกไป จนกว่าจะบรรลุถึงธรรมที่กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่นี้

๓. เพื่อให้สมประสงค์ตามข้อ ๒ จะต้องกระทำอินทรียให้เสมอกัน คือ สัทธากับปัญญาจะต้องเสมอกันคู่หนึ่ง วิริยะกับสมาธิอีกคู่หนึ่งนี้ก็จะต้องให้เสมอกันด้วย ทั้งนี้เพราะ

  ถ้าสัทธากล้า  ก็ทำให้เชื่ออย่างงมงาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล

  สัทธา  อ่อน  ก็ทำให้ความเลื่อมใสน้อยเกินควร ชวนจะให้เลิกปฏิบัติ

  ปัญญา  กล้า  ทำให้คิดออกนอกลู่นอกทาง

  ปัญญา  อ่อน  ทำให้ไม่เข้าถึงเหตุผลตามความเป็นจริง

  วิริยะ  กล้า  ทำให้คิดพล่าน ฟุ้งซ่านไป

  วิริยะ  อ่อน  ทำให้เกียจคร้าน

  สมาธิ  กล้า  ทำให้ติดในความสุขนั้นเสีย

  สมาธิ  อ่อน  ทำให้ไม่ถึงอุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา

  ส่วน สติไม่มีเกิน มีแต่ขาดอยู่ร่ำไป

เมื่อได้กล่าวมาถึงเพียงนี้ นับว่ามีพื้นพอที่จะลงมือเริ่มปฏิบัติได้แล้ว ในชั้นต้นนี้ จะกล่าวถึง วิธีเจริญสมถกัมมัฏฐาน แต่โดยย่อพอเป็นสังเขปต่อไป

การเจริญกสิณกัมมัฏฐาน

จะได้กล่าวถึง การเจริญปฐวีกสิณพอเป็นตัวอย่างโดยย่อ ๆ แต่อย่างเดียว กสิณที่เหลืออื่น ๆ อีก ๙ กสิณ ก็เจริญในทำนองเดียวกัน

๑. เมื่อทำดวงปฐวีกสิณเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำมาตั้งเฉพาะหน้า ให้ห่างสัก ๒ ศอก พอมองเห็นได้ถนัด แล้วจงนั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง จึงจะนั่งได้ทน นั่งได้นาน แล้วลืมตาดูดวงกสิณ ให้ใจจดจ่ออยู่ที่อารมณ์ คือ ที่ดวงกสิณที่เพ่งนั้น อาการเช่นนี้เรียกว่า วิตก คือ ยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์ และจง ประคองจิต ไว้ไม่ให้แส่คิดไปอย่างอื่น ให้คงคิดและเพ่งอยู่แต่ในอารมณ์ คือ ดวงกสิณนั้นแต่อย่างเดียว อาการเช่นนี้เรียกว่า วิจาร ดวงกสิณที่เพ่งนั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต จิตที่เพ่งบริกรรมนิมิตนี้เรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนานี้เป็นไปได้ด้วยอำนาจ บริกรรมสมาธิ

ข้อนี้เป็นการเห็นด้วยนัยน์ตา เป็นการเห็นทางจักขุทวาร

๒. ลืมตาเพ่งดวงกสิณให้ทั่วทั้งดวงกสิณ ให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งทุกกระเบียดนิ้ว ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร เช่นว่ามีเศษผงนิดหนึ่งติดอยู่ตรงนี้ มีรอยบุ๋มตรงนั้น เป็นรอยขีดตรงโน้น ให้จิตแน่วแน่ในดวงกสิณนั้น ในอารมณ์นั้น ประคองไว้ไม่ให้จิตตกไปจากอารมณ์นั้น

๓. ลืมตาเพ่งจนเห็นว่าจำได้ทั่วทุกส่วนในดวงกสิณนั้นแล้ว ก็ให้ลองหลับตาดู จะติดตา คือ เห็นดวงกสิณเหมือนดังลืมตาเห็นนั้นหรือไม่ ถ้ายังเห็นไม่ชัดก็ให้ลืมตาดูใหม่ ทำเช่นนี้แล้วเช่นนี้อีก จนเมื่อหลับตาก็เห็นดวงกสิณนั้นชัดเจนทุกส่วนทั่วทั้งดวงกสิณ แม้จนกระทั่งเศษผง รอยบุ๋ม รอยขีดอยู่ตรงไหนบ้าง ก็เห็นชัดหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นิมิตที่เห็นติดตาเช่นนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต จิตที่นึกเห็นอุคคหนิมิตนี้ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนานี้เป็นไปได้ด้วยอำนาจแห่งบริกรรมสมาธิ ตอนนี้เป็นการเห็นโดยทางมโนทวาร คือ ทางใจ

๔. หลับตาเพ่งเช่นนั้น หรือลืมตาโดยไม่ได้มองดวงกสิณ ก็ติดตาเห็นดวงกสิณชัดเจนอยู่อย่างนั้น นิมิตก็ไม่คลาดคลายหายไป เพ่งหนักเข้า อุคคหนิมิตนั้นจะชัดเจนจนกระทั่งใส สะอาดประดุจดวงแก้วมณี เศษผง รอยบุ๋ม รอยขีด ที่เคยเห็นก็ค่อยจางหายไป ดวงกสิณจึงใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก นิมิตที่เห็นเช่นนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต และปฏิภาคนิมิตนี้อาจขยายให้ใหญ่ หรือย่อให้เล็กลงได้ตามความปรารถนาด้วย จิตที่นึกเห็นปฏิภาคนิมิตนี้เรียกว่า อุปจารภาวนา เป็นไปด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธิ คือใกล้จะได้ฌานแล้วละ เป็นการเห็นทางใจ ทางมโนทวารเช่นเดียวกับข้อ ๓

ถึงขั้นนี้ก็สามารถประหาณนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เป็นปฏิปักษ์กับสมาธินั้นได้แล้ว แต่ยังเป็นแค่กามาวจรสมาธิ มีกำลังยังไม่มาก ยังไม่แน่นอน ยังไม่แนบแน่นมั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ

๕. เพ่งปฏิภาคนิมิต ด้วยอุปจารภาวนาเช่นนั้น ให้เป็นไปโดยสมบูรณ์จนอารมณ์ คือ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่หายไป แต่แนบแน่นในจิตประทับติดอยู่ในใจยิ่งนัก รูปาวจรปฐมฌาน ก็ย่อมเกิดขึ้น ที่รูปาวจรปฐมฌานเกิดขึ้นนี้โดยอาศัยปฏิภาคนิมิต ด้วยอำนาจแห่ง อัปปนาภาวนา อันเรียกตามอำนาจแห่งสมาธิว่าเป็น อัปปนาสมาธิ

ฌานจิตนี้สามารถข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม การข่มนิวรณ์ได้ด้วยอำนาจแห่งฌานนี้แหละที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน

๖. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ และองค์ฌานทั้ง ๕ ที่ทำหน้าที่ข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ องค์ฌานใด ข่มนิวรณ์อะไร อย่างไรนั้น ได้กล่าวแล้วในปริจเฉทที่ ๑ ตอนรูปาวจรจิต ตรงนิวรณ์ของฌานและการเผานิวรณ์ (วิตก เผา ถีนมิทธนิวรณ์, วิจาร เผาวิจิกิจฉานิวรณ์, ปีติ เผาพยาปาทนิวรณ์, สุข เผาอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์, เอกัคคตา เผา กามฉันทนิวรณ์)

วสิตา หรือ วสีภาวะ

๗. วสี คือความชำนาญ ความแคล่วคล่องว่องไว

ผู้ที่ได้รูปาวจรฌานดังที่ได้กล่าวแล้ว จะเข้าฌานสมาบัติก็ดีจะเจริญสมถภาวนาต่อเพื่อให้ได้ทุติยฌานก็ดี จะต้องมี วสี ในปฐมฌานนั้นเสียก่อน คือต้องหมั่นเข้าปฐมฌานจนชำนาญ มีความแคล่วคล่องว่องไวถึง ๕ ประการ ได้แก่

(๑) อาวชฺชนวสิตา ชำนาญในการนึกเข้าฌาน อีกนัยหนึ่งว่า ชำนาญในการกำหนดพิจารณาองค์ฌานแต่ละองค์ โดยวิถีจิตที่ติดต่อกันไปตามลำดับ โดยมีภวังคจิตคั่นไม่มากนัก

(๒) สมาปชฺชนวสิตา ชำนาญในการเข้าฌานได้โดยรวดเร็ว

(๓) อธิฏฺฐานวสิตา ชำนาญในการหยุดอยู่ในฌานเป็นเวลาช้าเร็วกี่ชั่วโมง กี่วัน ก็จะอยู่ในฌานสมาบัติได้ตามกำหนดที่ได้ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าไว้นั้น

(๔) วุฏฺฐานวสิตา ชำนาญในการออกจากฌานได้โดยว่องไว ไม่ให้เกินเวลาที่ตนได้อธิษฐานไว้

(๕) ปจฺจเวกฺขณวสิตา ชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิตอันเกิดในลำดับแห่งมโนทวาราวัชชนะติดต่อกันเป็นลำดับไป โดยมีภวังคคั่นไม่มากนัก

อาวัชชนวสี กับปัจจเวกขณวสี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ต้องเกิดด้วยกันเสมอ เพราะที่เรียกว่า อาวัชชนวสีนั้นยกเอามโนทวาราวัชชนจิตเป็นประธาน ส่วนปัจจเวกขณวสีนั้น ยกเอาชวนจิตเป็นประธาน ซึ่งก็อยู่ในวิถีจิตเดียวกันนั่นเอง

เมื่อปฐมฌานลาภีบุคคล มีวสีในปฐมฌานแคล่วคล่องว่องไวเป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถจะเข้าฌานสมาบัติ หรือเจริญภาวนาต่อไปเพื่อให้ถึงทุติยฌานได้

๘. ปฐมฌานลาภีบุคคล จะต้องเข้าปฐมฌานบ่อย ๆ จนชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ ก็จะเห็นโทษของวิตก จึงประสงค์จะละวิตกอันเป็นสิ่งที่หยาบนั้นเสีย เพื่อให้ถึงทุติยฌานซึ่งประณีตกว่า ต้องเริ่มเพ่งปฏิภาคนิมิต ที่ตนเคยได้นั้นแล้ว กระทำให้เป็นอารมณ์อย่างแนบแน่นแน่วแน่ในดวงใจ จนกระทั่งทุติยฌานจิตเกิดขึ้น

๙. ฌานลาภีบุคคล ปรารถนาจะเจริญให้ถึง ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ ตามลำดับแห่งฌาน จะข้ามไปลัดไม่ได้

๑๐. กสิณ ๑๐ นี้ใช้เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญสมถภาวนาได้ตั้งแต่ ปฐมฌาน ตลอดไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน คือถึงรูปฌานได้ทั้ง ๕ ฌาน

การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน

การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน มีรายละเอียดในวิธีการอยู่ไม่น้อย เช่น เบื้องต้นจะต้องรู้ว่า ศพอยู่ที่ไหน ทิศใด ตายเมื่อไร เพราะถ้าตายใหม่ ๆ ก็ไม่ให้พิจารณา ด้วยว่าอาจเกิดราคะขึ้นมาได้ ก่อนไปก็ให้บอกเล่าเก้าสิบกับสหธัมมิกด้วยกันเพื่อเป็นหลักฐาน ให้ไปคนเดียว จดจำทางและเครื่องหมายระหว่างทางให้แม่นยำ ไปถึงก็ให้สังเกตว่า ศพอยู่ตรงไหน ใกล้อะไรที่พอเป็นที่สังเกตได้ ให้ไปยืนที่เหนือลม ประมาณกึ่งกลางศพ อย่าใกล้นัก แล้วพิจารณากำหนดโดยสี(เป็นศพคนขาว คนดำ), โดยวัย(แก่ หนุ่ม), โดยสัณฐาน(ให้รู้ว่านี่ศีรษะ นี่ท้อง นี่เท้า), โดยทิศ(แต่สะดือขึ้นมาเป็นทิศเบื้องบน แต่สะดือลงไป เป็นทิศเบื้องล่าง), โดยที่ตั้ง(เราอยู่ตรงไหน ศพอยู่ตรงไหน), โดยส่วนต่าง ๆ (ศีรษะ แขน ขา ลำตัว), โดยที่ต่อ(ต่อที่แขน ขา เอว), โดยช่อง(ช่องปาก จมูก หู), โดยที่ลุ่ม(บ่อตา บ่อคอ บ่อท้อง), โดยที่ดอน(หน้าผาก หน้าอก ตะโพก), โดยรอบ ๆ ด้าน (ทั่วตัว), จนนิมิตเกิดขึ้น, นิมิตกลับเสื่อมหายไป และจำแนกอสุภะที่ควรแก่จริต เหล่านี้เป็นต้น

เนื่องจากสภาพของบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย แตกต่างจากความเป็นอยู่ในสมัยก่อนโน้นมากมาย แม้แต่ในชนบทก็เห็นจะหาอสุภะสำหรับเพ่งได้ยากเต็มที ดังนั้นจึงของดไม่อธิบายรายละเอียดและวิธีการตามที่กล่าวไว้ข้างบนนั้น ถ้าต้อง การทราบรายละเอียด ขอให้ดูในหนังสือวิสุทธิมัคค ตอนสมาธินิเทส

ในที่นี้จึงขอรวบรัดกล่าวว่า การเจริญอสุภกัมมัฏฐานก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกสิณกัมมัฏฐานนั่นแหละ

อสุภกัมมัฏฐานนี้เจริญภาวนาได้เพียง ปฐมฌาน เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่า อสุภะเป็นอารมณ์ที่ไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียด น่ากลัว และเป็นอารมณ์ที่หยาบอีกด้วย ภาวนาจิตของผู้เจริญกัมมัฏฐานเช่นนี้จะตั้งมั่นอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยวิตกเป็นหลัก ซึ่งเป็นของธรรมดาเหลือเกินที่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น ศพคนเช่นนี้ ใคร ๆ ก็ไม่อยากคิดอยากนึกอยากเห็น ถ้าไม่มีวิตกเป็นหลักคอยค้ำจุนยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อสุภะแล้ว ภาวนาจิตนั้นก็ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้ เหตุนี้อสุภะจึงเป็นกัมมัฏฐานให้ได้เพียงปฐมฌานที่มีวิตกประกอบอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถที่จะให้ได้ถึงทุติยฌานขึ้นไป เพราะฌานเหล่านั้นเป็นฌานที่ปราศจากวิตก

การเจริญอนุสสติกัมมัฏฐาน

อนุสสติ ๑๐ เจริญให้ถึงฌานได้เพียง ๒ คือ กายคตาสติ ๑ และ อานาปาณสติ ๑ ดังได้กล่าวแต่ตอนต้นมาครั้งหนึ่งแล้ว

๑. การเจริญ กายคตาสติ เป็นการกำหนดพิจารณากาย ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ประชุมกันด้วยโกฏฐาส ๓๒ หรือ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

โกฏฐาส ๓๒ คือ อาการ ๓๒ นั้น แบ่งเป็น ๖ หมวด แต่ละหมวดได้แก่อะไรบ้าง มีรายละเอียดแจ้งในคู่มือปริจเฉทที่ ๖ ตอนมหาภูตรูป ตรงปฐวีธาตุ มี ๔ หมวดเป็นอาการ ๒๐, ตรงอาโปธาตุ มี ๒ หมวด เป็นอาการ ๑๒ นั้นแล้ว ขอให้ดูที่นั่นด้วย

(อาการ ๒๐ มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ใส้ใหญ่, ใส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง อาการ ๑๒ มี ดี, เสมหะ, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, มันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, น้ำมูตร)

๒. โกฏฐาส ๓๒ นี้ ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ก็เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาภาวนา แต่ถ้าพิจารณาโดยความเป็นบัญญัติ โดยความเป็นสิ่งปฏิกูล ก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน สมถภาวนา ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสมถภาวนาเท่านั้น

๓. ในชั้นต้นให้พึงท่องจำโกฏฐาส ๓๒ นี้เป็นหมวด ๆ ไป และแต่ละหมวดก็ให้คล่องทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม กลับไปกลับมาจนขึ้นใจ แล้วจึงพิจารณาในอาการ ๓๒ นั้นเป็น ๕ นัย คือ

  ก. พิจารณาโดย  สี  ว่าเป็นของปฏิกูล

  ข. พิจารณาโดย  สัณฐาน  ว่าเป็นของปฏิกูล

  ค. พิจารณาโดย  ทิศ  ว่าตั้งอยู่เบื้องสูงหรือเบื้องต่ำ

  ง. พิจารณาโดย  โอกาส  ว่าตั้งอยู่ตรงไหน

  จ. พิจารณาโดย  ปริจเฉท  ว่าไม่ปะปนกับส่วนอื่น

๔. พิจารณาอาการ ๓๒ แต่ละอาการโดยนัยทั้ง ๕ นั้น ตามลำดับไปทุกอาการ บางอาการก็จะเห็นได้ชัด บางอาการก็จะเห็นไม่ชัด ที่ไม่ชัดก็ให้ละไป จนเหลืออาการที่ชัดที่สุดแต่อาการเดียว ให้กำหนดอาการที่ชัดนี้เป็นบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนาไปจนกว่า อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏขึ้น ซึ่งเป็น อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา คือถึง ปฐมฌาน

๕. กายคตาสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญสมถภาวนาได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเพราะโกฏฐาสต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด จึงต้องอาศัยวิตกเป็นหลักคอยค้ำจุนหนุนจิตให้ยกขึ้นสู่อารมณ์นั้น ๆ ทำนองเดียวกับ อสุภกัมมัฏฐานที่กล่าวแล้วข้างต้น ขอให้ทบทวนดูที่นั่นด้วย

๖. การเจริญอานาปาณสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ซึ่งดู ๆ ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้สะดวกสบายนัก เพราะอาจเผลอตัว ไม่มีความรู้สึกตัว คือขาดสติสัมปชัญญะได้ง่าย จริงอยู่การเจริญภาวนาไม่ว่าจะอาศัยกัมมัฏฐานใดๆ จะต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ขาดสติสัมปชัญญะ คือ เผลอตัวเมื่อใดเมื่อนั้นก็ขาดจากการเจริญภาวนา จะเรียกว่าเป็นการเจริญภาวนาหาได้ไม่ โดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจนี้ ลมหายใจยิ่งละเอียดสุขุมมากเท่าใด ก็ยิ่งเผลอตัวได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น เผลอตัวได้ง่ายกว่ากัมมัฏฐานอย่างอื่น เหตุนี้ในวิสุทธิมัคคจึงกล่าวว่า การเจริญอานาปาณสตินี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มีปัญญากล้า และเฉียบแหลม หาควรแก่ผู้ที่มีปัญญาน้อยไม่

๗. สถานที่ที่จะเจริญอานาปาณสติกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเลือกได้สถานที่ดังจะกล่าวต่อไปนี้ก็จะเป็น

คำสำคัญ (Tags): #จิต
หมายเลขบันทึก: 512362เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

 

ก. เสนาสนะในป่าที่สงัด เหมาะแก่ฤดูร้อน เหมาะแก่ผู้ที่มีโมหจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ เสมหะ

ข. เสนาสนะที่อยู่โคนต้นไม้ หมายถึงใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เงียบเชียบ เหมาะแก่ฤดูหนาว เหมาะแก่ผู้ที่มีโทสจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่น้ำดี

ค. เสนาสนะที่เป็นเรือนว่าง ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อยู่ในที่วิเวก เหมาะแก่ฤดูฝน เหมาะแก่ผู้ที่มีราคจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ธาตุ

๘. การกำหนดลมหายใจนี้ จำแนกไว้เป็น ๔ หมวด แต่ละหมวดก็มี ๔ นัย จึงรวมเป็น ๑๖ นัยด้วยกัน

หมวดที่ ๑

ก. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกยาวและเข้ายาว

ข. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกสั้นและเข้าสั้น

ค. กำหนดให้รู้ในกองลมทั้งปวงในเวลาหายใจออกและเข้า คือให้รู้ว่าเบื้องต้น ของลมหายใจออกนั้นอยู่เหนือสะดือ เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่ช่องจมูก และเบื้องต้นของลมหายใจเข้านั้นอยู่ที่ช่องจมูก เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่เหนือสะดือ จะรู้ได้ต่อเมื่อตั้งใจกำหนดอย่างแน่แน่ว

ง. ให้รู้ในกายสังขาร คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าที่สงบ คือการหายใจนั้นแผ่ว เบา ละเอียด ยิ่งขึ้นทุกที ถ้าไม่ตั้งใจกำหนดอย่างจริงจังก็จะเผลอไม่รู้สึกตัว

หมวดที่ ๒

ก. กำหนดให้รู้แจ้ง ปีติในเวลาหายใจออกและเข้า หมายความว่า กำหนดตามหมวดที่ ๑ จนได้ฌานแล้ว มีวสีภาวะทั้ง ๕ แล้ว ก็ให้ยกองค์ฌาน คือ ปีตินั้นเพ่งโดยวิปัสสนาภาวนาจนเห็นปีติในลักษณะ ๓ คือ ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ให้เพ่ง ปีติ เพราะผู้ที่ได้ฌานต้น ๆ นั้น ปีติ มักจะปรากฏเด่นชัดกว่าองค์ฌานอื่น

ข. กำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้า มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือ จตุตถฌานนั้น ความสุขในองค์ฌานย่อมปรากฏชัด จึงกำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้าได้สะดวก

ค. กำหนดให้แจ้งใน จิตตสังขาร คือ เวทนา สัญญา ในเวลาหายใจออกและเข้า

ง. กำหนดให้แจ้งในการยังจิตตสังขารให้สงบ ในเวลาหายใจออกและเข้า ซึ่งผู้ที่ได้ฌานใด ๆ ก็สามารถกำหนดรู้ได้

หมวดที่ ๓

ก. กำหนดให้แจ้งในจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า คือให้รู้จิตที่เป็นไปด้วยรูปฌานทั้ง ๕

ข. กำหนดให้แจ้งในความบันเทิงของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึง ปีติ ที่ประกอบด้วยฌานนั้น ๆ

ค. กำหนดให้แจ้งในจิตที่เป็นสมาธิ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายทั้ง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

ง. กำหนดให้แจ้งในความพ้นของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงความพ้นทั้ง ๒ อย่าง คือพ้นด้วยสมาธิ ก็พ้นจากนิวรณ์ ๕ หรือพ้นจาก วิตก วิจาร ปีติตามลำดับขององค์ฌาน ถ้าพ้นด้วยวิปัสสนาก็พ้นจากวิปัลลาสธรรม มีนิจจสัญญา เป็นต้น

หมวดที่ ๔

ก. กำหนดตามเห็นอนิจจัง ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงตามเห็นความไม่เที่ยงในรูปขันธ์ ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ และในวิญญาณขันธ์

ข. กำหนดตามเห็นวิราคะ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงพ้นจากราคะด้วยอำนาจของวิปัสสนา หรือด้วยมัคคจิต ๔ ความพ้นทั้ง ๒ นี้เรียกว่า วิราคานุปัสสนา

ค. กำหนดตามเห็นความดับ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงความดับของทุกข์ สมุทัย หรือความดับของ วยะ ขยะ คือ ความดับสิ้นไปของสังขารนั้น

ง. กำหนดตามเห็น  ความสละในการยึดมั่น ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึง ละการยึดถือด้วยอุปาทาน มีอัตตวาทุปาทาน เป็นต้น ด้วยอำนาจของวิปัสสนา

ในอานาปาณสติ ๑๖ นัยนี้ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง ๓ รวม ๑๒ นัยนั้นกล่าวรวมทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย ส่วนในหมวดที่ ๔ นั้น กล่าวเฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว

หมวดที่ ๑ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌาน และสงเคราะห์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๒ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌานถึงจตุตถฌาน และสงเคราะห์ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๓ สงเคราะห์ด้วยฌานทั้ง ๕ และสงเคราะห์ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๔ กล่าวเฉพาะ วิปัสสนา

๙. อานาปาณสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานที่สามารถเจริญสมถภาวนา ให้ถึงได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน

๑๐. อนุสสติ ๑๐ นั้นได้กล่าวมาแล้ว ๒ เพราะที่สามารถเข้าถึงฌานได้ คือ กายคตาสติ ๑ และอานาปาณสติ ๑

ส่วนที่เหลืออีก ๘ ไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

ก. พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ และอุปสมานุสสติ รวมอนุสสติ ๗ นี้ไม่สามารถเข้าถึงฌานได้ เพราะเหตุว่า เป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งมาก และเป็นอารมณ์ที่กว้างขวางมาก

ข. มรณานุสสติอีก ๑ นั้น นอกจากเป็นอารมณ์ที่ลึกซึ้งมากแล้ว ยังเป็นอารมณ์ปรมัตถอีกด้วย สมถภาวนาไม่สามารถจับอารมณ์ปรมัตถได้ เว้นแต่อากาสานัญจายตนกุสล ๑ กิริยา ๑ และอากิญจัญญายตนกุสล ๑ กิริยา ๑ รวมจิต ๔ ดวงนี้เท่านั้น จึงจะเป็นอารมณ์ที่สามารถให้ถึงฌานได้ นอกจากนี้ต้องเป็นอารมณ์บัญญัติจึงจะถึงฌาน

อนึ่ง มรณานุสสติ การระลึกถึงความตายที่จะพึงมาถึงตนนั้น ก็เพื่อให้เกิดความสลดใจ แต่ว่าถ้าไม่มีความแยบคายในการระลึกแล้วอาจเป็นโทษ เช่นนึกถึงความตายของผู้ที่เรารักใคร่ ย่อมเกิดความโศกเศร้า นึกถึงความตายของผู้ที่เราเกลียด ย่อมเกิดความชอบใจ ครั้นมานึกถึงความตายของตนเอง ก็จะเกิดความกลัว ทำให้จิตใจหวาดหวั่นไป

เหตุนี้จึงมีข้อแสดงว่า การระลึกถึงความตาย ต้องนึกด้วยความแยบคาย โดยอาการ ๘ นัย คือ

(๑) ความตายนี้เปรียบดังเพชฌฆาตที่จ้องจะประหารอยู่เป็นนิจ แม้ตัวเราก็ถูกจ้อง อยู่ตลอดเวลา

(๒) ความตายนี้ย่อมเข้าถึง ความฉิบหาย วิบัติ พลัดพราก จากทรัพย์สมบัติ ลาภยศ ญาติพี่น้อง ซึ่งเราก็จะเป็นเช่นนี้เข้าสักวันหนึ่ง

(๓) ความตายนี้ไม่เห็นแก่หน้าไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผู้มีบุญ มีอำนาจ มีทรัพย์ มียศ มีปัญญา ก็ตายไปแล้วมากกว่ามาก เราเองก็จะต้องตายแน่

(๔) ความตายมีอยู่ทั่วกายในอวัยวะทุกส่วน แม้หมู่สัตว์ที่อยู่ภายนอก และที่อาศัยเบียดเบียนอยู่ภายในร่างกาย ก็สามารถทำให้ตายได้ทุกเมื่อ เราก็ไม่พ้นอย่างนี้ไปได้

(๕) อายุนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถาวรแข็งแรง เป็นของทุพพลภาพ ที่ยังคงดำรงอยู่ได้ ก็อาศัยอยู่ได้ด้วยธรรมทั้ง ๔ คือ ลมหายใจ, อิริยาบถทั้ง ๔, ความร้อนความเย็น และอาหาร หากธรรมทั้ง ๔ นี้แม้แต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นไปตามปกติ เราก็จะตายเป็นแน่นอน

(๖) ระลึกว่า ความตายนี้ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายแต่อย่างใดเลย นิมิตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

  ก. ชีวิตํ  ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า  ชีวิตนี้จะอยู่นานสักปานใดจึงจะตาย

  ข. พยาธิ  ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า  จะตายด้วยโรคอะไร

  ค. กาโล  ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า  จะตายเวลาไหน

  ง. เทหนิกฺเขปนํ  ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า  จะตายที่ตรงไหน

  จ. คติ  ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า  เมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน

(๗) ระลึกว่าอายุของมนุษย์นี้น้อยนัก อย่างมากไม่ใคร่ถึง ๑๐๐ ปี ก็จะต้องตายไปแล้ว จึงควรทำความดี ประกอบการกุสล ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะความตายจักมาถึงเราในบัดนี้ก็ได้

(๘) ระลึกว่า ชีวิตนี้ เป็นอยู่ มีอยู่ คงอยู่ ชั่วขณะนิดเดียว กล่าวโดยทางปรมัตถ ก็ปรากฏอยู่ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ได้ชื่อว่า สัตว์เกิดแล้ว จิตตั้งอยู่ ก็ได้ชื่อว่าสัตว์นั้นเป็นอยู่ และเมื่อจิตดับไป จิตไม่เกิดสืบต่อไปอีกในภพนี้ ก็ได้ชื่อว่า สัตว์นั้นตายเสียแล้ว

พึงระลึกถึงความตาย โดยความแยบคายตามนัยแห่งอาการ ๘ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็จะเป็นที่ตั้งแห่งความสลด เป็นเหตุให้เบื่อหน่าย ไม่ยินดีในภพ ปราศจากความตระหนี่ เบิกบานในการบริจาคทาน มีการขวนขวายน้อย มีความเป็นอยู่โดยความไม่ประมาทตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรในกุสลกรรม ไม่หวาดหวั่นต่อความตาย และไม่งมงายในเวลาตายด้วย

การเจริญอัปปมัญญากัมมัฏฐาน

อัปปมัญญากัมมัฏฐาน ซึ่งมีจำนวน ๔ นั้น แต่ละกัมมัฏฐาน มีอารมณ์ มีองค์ธรรม และสิ่งที่ประหาณ ดังนี้

๑. เมตตา มี ปิยมนาปสัตตบัญญัติ คือ สัตว์อันเป็นที่รักเป็นอารมณ์ในการแผ่เมตตาจิต องค์ธรรมของเมตตาได้แก่ อโทสเจตสิก ซึ่งประหาณโทสะ ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย ความทำลาย

๒. กรุณา มี ทุกขิตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์เป็นอารมณ์ในการแผ่ความกรุณา องค์ธรรมของกรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก ซึ่งประหาณวิหิงสา ความเบียดเบียน ความซ้ำเติม

๓. มุทิตา มี สุขิตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่กำลังมีความสุขความสบายอยู่นั้น เป็นอารมณ์ในการที่พลอยชื่นชมยินดีไปด้วย องค์ธรรมของมุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก ซึ่งประหาณอิสสา ความริษยา เห็นเขาได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ อรติความไม่ยินดีด้วย

๔. อุเบกขา มี มัชฌัตตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่ไม่มีทุกข์ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสุขนั้น เป็นอารมณ์ในการที่วางเฉยต่อสัตว์นั้น ๆ องค์ธรรมของอุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งประหาณอคติ ความลำเอียงเพราะชอบกัน(ฉันทาคติ), เพราะชังกัน(โทสาคติ), เพราะลุ่มหลงเมามัว(โมหาคติ), หรือเพราะกลัว (ภยาคติ)

เมตตากัมมัฏฐาน

หิตาการปฺปวตฺติลกฺขณา  มีความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจในอันที่จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

หิตูปสํหารรสา  มีการทำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย อย่างใกล้ชิด เป็นกิจ

อาฆาตวิยนปจฺจุปฏฺฐานา  มีการบำบัดความแค้น เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณาเมตตา

มนาปภาวทสฺสนปทฏฺฐานา  การพิจารณาแต่ความดีที่น่าพึงพอใจของสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีการนึกถึงสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม เป็นเหตุใกล้

พฺยาปาทูปสโม สมฺปตฺติ   สงบความพยาบาทลงได้เป็นเวลานาน เป็นความสมบูรณ์ของเมตตา

สเนหสมฺภโว วิปตฺติ  การเกิดขึ้นแห่งตัณหาที่เหนียวแน่น เป็นความเสื่อมเสียของเมตตา

ราโค อาสนฺนปจฺจตฺถิโก  ราคะ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา

พยฺาปาโท ทูรปจฺจตฺถิโก  พยาบาทเป็นข้าศึกไกลของเมตตา

๑. เมตตามีอานิสงส์ ถึง ๑๑ ประการ คือ

(๑) สุขํ สุปฺปติ  สบายในเวลาหลับ

(๒) สุขํ ปฏิพุชฺฌติ  สบายในเวลาตื่น

(๓) น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ   ไม่ฝันเห็นเรื่องที่ลามก

(๔) มนุสฺสานํ ปิ โย โหติ  เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป

(๕) อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ  เป็นที่รักของอมนุษย์

(๖) เทวตา รกฺขนฺติ  เทวดาย่อมคุ้มกันรักษา

(๗) นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ก็ดีย่อมไม่กล้ำกรายต่อผู้นั้น

(๘) ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ  จิตผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นได้เร็ว

(๙) มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ  สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส

(๑๐) อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ  ในเวลาใกล้มรณะย่อมเป็นผู้มีสติ

(๑๑) อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต  เมื่อมรณะย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุด ถึงพรหมโลกได้

๒. เมตตา ที่ว่าองค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก นั้น พึงเข้าใจว่า อโทสเจตสิกทั้งหมดจะเป็นเมตตาไปทุกครั้ง ก็หาไม่ อโทสะเป็นเจตสิกที่่ประกอบกับโสภณจิตทั่วไปได้อยู่แล้ว เพียงแต่สวดมนต์ ไหว้พระ ใส่บาตร รักษาสีล อ่านหนังสือธรรม เหล่านี้อันเป็นจิตมหากุสล อโทสเจตสิกก็เข้าประกอบอยู่ทุกขณะ แต่ว่าขณะนั้น เมตตาไม่มี ไม่ประกอบ เพราะเมตตานั้น นอกจากไม่โกรธ ไม่เกลียดชังแล้ว ยังประสงค์ให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขอีกด้วย ยกตัวอย่าง เช่น มีผู้ลอบตีนาย ก. เมื่อนาย ก. ถูกตีแล้ว อาจไม่โกรธ เพราะคิดว่าเป็นกรรมของตัวจึงได้ถูกตี แค่นี้เป็น อโทสะ แต่ถ้านาย ก. ไม่โกรธแล้วยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ที่ลอบตีว่า จงหมดเวรหมดกรรมกันเสียที ขออย่าให้ถูกจับและได้รับโทษเลย จงปลอดภัยและมีความสุขต่อไปเถิด คิดได้ดังนี้เป็นเมตตา มีอานิสงส์สูงกว่าอโทสะมากนัก แต่ว่าผู้ที่จะถึงขั้นนี้ก็หาได้ยากมาก นอกจากจะได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว

๓. ก่อนฝึกแผ่เมตตา พึงทราบว่า เมตตานี้ทำลาย โทสะ และเมตตานี้เป็นที่ตั้งมั่นแห่งขันติ

โทษของโทสะ ทำให้ใจขุ่นมัว กลัดกลุ้ม เร่่าร้อน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าไม่มีความยับยั้งใจแล้ว ก็ถึงขั้นทำลาย ทำลายผู้อื่น ตลอดจนทำลายตนเอง ทำลายทั้งทรัพย์สมบัติ ชีวิตและคุณงามความดี

คุณของขันติ ทำให้มีความอดทน อดทนต่อความยากลำบากตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ อดทนต่อความทุกข์เวทนา อดทนต่อความยั่วเย้าของกิเลส

เมื่อเห็นโทษของโทสะ และเห็นคุณของขันติแล้ว ก็ฝึกแผ่เมตตาโดยมี ข้อที่พึงกำหนดดังต่อไปนี้ จะเป็นข้อหนึ่งข้อใดแต่เพียงข้อเดียวก็ได้ คือ

  ก. อเวรา  จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกัน

  ข. อพฺยาปชฺชา  จงเป็นผู้ไม่พยาบาทต่อกัน

  ค. อนีฆา  จงเป็นผู้ที่ปราศจากทุกข์

  ง. สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ  จงมีแต่ความสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง

๔. ผู้ที่มีเมตตาและแผ่เมตตาได้อย่างสะดวกใจนั้น จะต้องหมั่นฝึกอยู่เสมอ ในขั้นต้นต้องฝึกแผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นสักขีพยานว่าตนเองปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ ต้องการมีอายุยืน กลัวตาย ฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น ฝึกดังนี้บ่อย ๆ หนักเข้า เมตตาจิตก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย

๕. เมื่อแผ่เมตตาให้แก่ตนเองได้คล่องด้วยความสะดวกใจแล้ว ก็ขยายการแผ่ให้เป็นวงกว้างออกไปตามลำดับ คือ

  ก. อัตตะ  แผ่ให้แก่ตนเอง

  ข. ปิยะ  แผ่ให้แก่ผู้ที่รักใคร่

  ค. มัชฌัตตะ  แผ่ให้แก่ผู้ที่ไม่รักไม่ชัง

  ง. เวรี  แผ่ให้แก่ผู้ที่เป็นศัตรู

๖. บุคคลที่จะแผ่เมตตาให้ก่อนไม่ได้นั้น มี ๔ จำพวก คือ

ก. อปิยบุคคล ผู้ที่เราไม่รักใคร่ เมตตาจะไม่เกิด เกิดแต่ความไม่พอใจ เพราะเราไม่มีความรักใคร่ชอบพอนั่นเอง

ข. อติปิยบุคคล ผู้ที่เรารักใคร่มาก เมตตาก็จะไม่เกิด เกิดแต่ความวิตกกังวลและโสกะ เพราะเรามีความรักใคร่มากนั่นเอง

ค. มัชฌัตตบุคคล ผู้ที่เราไม่รักและก็ไม่ชัง เมตตาจะไม่เกิด เพราะสิ่งที่ชวนจะให้เกิดความเคารพรักใคร่นั้นไม่มี ด้วยว่าไม่มีทั้งความยินดีและยินร้าย

ง. เวรีบุคคล ผู้ที่เป็นศัตรูแก่เรา เมตตาจะไม่เกิด เกิดแต่ความโกรธ ความเกลียด เพราะผู้นั้นเป็นศัตรูต่อเรา

๗. บุคคลที่จะแผ่เมตตาให้ไม่ได้นั้น มี ๒ จำพวก คือ

ก. ผู้ที่ตายไปแล้ว เพราะถ้าจะแผ่ให้แก่บุคคลจำพวกนี้ก็จะไม่ถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

ข. แผ่เจาะจงให้แก่ผู้ที่มีเพศตรงกันข้ามกับตนก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ ฉันทะ ราคะ เกิดขึ้น แต่เมตตาจิต ไม่เกิด

ราคะ กับ เมตตา ต่างกันตรงที่ ราคะนั้นเพ่งเล็งถึงความ สวยงามแห่งร่างกาย ของผู้อื่นเป็นฐานที่เกิด ส่วนเมตตานั้นเพ่งเล็งถึงความ งดงามแห่งจิตใจ ของผู้อื่น เป็นฐานที่เกิด

๘. เมื่อแผ่ให้แก่ตนเอง แผ่ให้แก่ผู้อื่นตามลำดับดังกล่าว จนสะดวกใจแล้ว ก็ขยายให้กว้างออกไปอีกเป็น ๓ นัยดังที่มีชื่อเรียกว่า อโนทิโสผรณา ๑ โอทิโสผรณา ๑ และทิสาผรณา ๑

การแผ่เมตตาที่เรียกว่า อโนทิโสผรณา นั้นเป็นการแผ่ไปโดยไม่จำกัดบุคคล ๕ จำพวก คือ

ก. สพฺเพสตฺตา  สัตว์ทั่วไปทั้งหลาย

ข. สพฺเพปาณา  สัตว์ที่มีลมปราณ (มีชีวิต) ทั้งหลาย

ค. สพฺเพภูตา  สัตว์ที่ปรากฏทั้งหลาย

ง. สพฺเพปุคฺคลา  สัตว์ที่เป็นบุคคลทั้งหลาย

จ. สพฺเพอตฺตภาวปริยาปนฺนา  สัตว์ที่ครองอัตตภาพทั้งหลาย

การแผ่เมตตา ที่เรียกว่า โอทิโสผรณา นั้นเป็นการแผ่ไปโดยจำกัดบุคคล ๗ จำพวก คือ

ก. สพฺพาอิตฺถิโย  เพศหญิงทั้งหลายโดย ลิงฺค

ข. สพฺเพปุริส  เพศชายทั้งหลาย

ค. สพฺเพอริยา  พระอริยทั้งหลายโดย ปุคฺคล

ง. สพฺเพอนริยา  ผู้ไม่ใช่อริยทั้งหลาย

จ. สพฺเพเทวา  เทวดาทั้งหลาย

ฉ. สพฺเพมนุสฺสา  มนุษย์ทั้งหลายโดย ปฏิสนฺธิ

ช. สพฺเพวีนิปาติกา  อบายสัตว์ทั้งหลาย

การแผ่เมตตา ที่เรียกว่า ทิสาผรณา นั้น เป็นการแผ่ให้แก่สัตว์ทั่วไปทั้ง ๑๐ ทิศ โดยไม่คำนึงไม่จำกัดถึงสัตว์ถึงบุคคลเป็นที่ตั้ง ว่าจะเป็นสัตว์เป็นบุคคลชนิดไหนประเภทใด

๙. อโนทิโสผรณา แผ่ไปโดยไม่จำกัด บุคคลมี ๕ จำพวก เรียกว่ามี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีข้อที่พึงกำหนดได้ ๔ ข้อคือ อเวรา อัพยาปัชชา อนีฆา และสุขีอัตตานัง เรียกเสียว่า ๔ กระแส ดังนั้น ๕ ฐานแต่ละฐานมี ๔ กระแสจึงเป็น ๒๐ กระแส

โอทิโสผรณา แผ่ไปโดยจำกัดบุคคล มี ๗ จำพวก เรียกว่า มี ๗ ฐาน แต่ละฐานมี ๔ กระแส จึงเป็น ๒๘ กระแส

ทิสาผรณา แผ่ไป ๑๐ ทิศ มีบุคคลทั้งที่ไม่จำกัด ๕ จำพวก และที่จำกัด ๗ จำพวก รวมมี ๑๒ ฐาน แต่ละฐานมี ๔ กระแส ก็เป็น ๔๘ ใน ๔๘ นี้ มีทุกทิศทั้ง ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๔๘๐ กระแส

รวม อโนทิโสผรณา ๒๐ กระแส โอทิโสผรณา ๒๘ กระแส และทิสาผรณา ๔๘๐ กระแสเข้าด้วยกัน จึงเป็นอันว่า การแผ่เมตตาจิตทั้งหมดนั้นมีได้ถึง ๕๒๘ กระแส

ที่ว่า ทิสาผรณา แผ่ไป ๑๐ ทิศนั้น นับดังนี้ สัตว์ทั้งหลายที่มีจิตก็ดี ไม่มีจิตก็ดี บรรดาที่มีชีวิต อันมีอยู่ใน ทิศเบื้องบน จนถึง อกนิฏฐพรหมนั้น ๑ ทิศ ที่มีอยู่ในทิศเบื้องต่ำ ถึงอวีจิมหานรก นั้น ๑ ทิศ และที่มีอยู่ใน ทิศเบื้องขวาง นั้นอีก ๘ ทิศ จึงรวมเป็น ๑๐ ทิศด้วยกัน

๑๐. ผู้อบรมการแผ่เมตตาที่ปรารถนาให้ถึงฌาน จะต้องแผ่เมตตาจนให้สำเร็จถึง สีมสัมเภท ด้วย เพราะสีมสัมเภทนี้ สงเคราะห์ประหนึ่งว่า เป็นปฏิภาคนิมิตแห่งเมตตากัมมัฏฐาน

สีมสัมเภท แปลว่า ทำลายขอบเขตของเมตตา หมายความว่าผู้สำเร็จในสีมสัมเภทนั้น ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตเสมอภาค ไม่เอนเอียงไปใน ๔ บุคคล คือ อัตตะ ตนเอง, ปิยะ ผู้ที่รักใคร่, มัชฌัตตะ ผู้ที่ไม่รักและก็ไม่ชัง, เวรี ผู้ที่เป็นศัตรู

มีตัวอย่างแสดงไว้ว่า มีพวกโจรมาล้อมบุคคลทั้ง ๔ ที่ว่ามานี้ จะจับไปฆ่าบูชายัญคนหนึ่ง โดยถามว่าจะให้จับใครไป ถ้าจะบอกให้จับศัตรูหรือจับผู้ที่ไม่รักไม่ชังไป ก็แน่ชัดว่าผู้นั้นยังไม่ถึงสีมสัมเภท แม้ตนเองจะยอมให้จับโดยรับกรรมนี้เสีย เอง อย่างนี้ก็นับว่าไม่ถึงซึ่งสีมสัมเภทอยู่นั่นเอง เพราะเมตตานั้นยังมีขอบเขตอยู่ ต่อเมื่อมีจิตเสมอภาค จนชี้ไม่ได้ว่าจะให้จับใคร เช่นนี้จึงจะกล่าวได้ว่าถึงสีมสัมเภทอัน สงเคราะห์หรือนับเนื่อง เข้าในปฏิภาคนิมิตแล้ว

๑๑. สรุปการเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ตามลำดับแต่ต้นจนกระทั่งได้ฌานนั้นดังนี้ คือ

ก. แผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อน แล้วแผ่ให้แก่ปิยบุคคล แก่มัชฌัตตบุคคล และแก่เวรีบุคคล ตามลำดับ ระหว่างที่แผ่เมตตาเช่นนี้เป็น บริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนา บริกรรมสมาธิ

ข. เมื่อมีเมตตาจิต ในบุคคลทั้ง ๔ ที่เป็นนิมิตแก่การภาวนานั้นแล้ว (แต่ยังไม่ถึง สีมสัมเภท) เมื่อนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น อุคคหนิมิต แต่ยังเป็น บริกรรมภาวนา บริกรรมสมาธิอยู่

ค. ครั้นจิตของโยคีนั้นสำเร็จถึงสีมสัมเภทแล้ว ก็ ถือเหมือนว่า เป็นปฏิภาคนิมิต และเป็นอุปจารภาวนา เป็นอุปจารสมาธิ

ง. พยายามเจริญเมตตาภาวนาต่อไปโดย อโนทิโสผรณาเมตตา ๕ , โอทิโส ผรณาเมตตา ๗, ทิสาผรณาเมตตา ๑๐ จนกระทั่งได้ฌาน ถึง อัปปนาสมาธิ

๑๒. เมตตากัมมัฏฐาน เจริญสมถภาวนาได้ถึงปฐมฌาน เป็นต้นไปตามลำดับจนถึงแค่ จตุตถฌานเท่านั้น

กรุณากัมมัฏฐาน

ปรทุกฺขาปนยนาการปฺปวตฺติลกฺขณา  มีความเป็นไปแห่งกายวาจาใจในอันที่จะบำบัดทุกข์ของผู้อื่นให้ปราศไป เป็นลักษณะ

ปรทุกฺขาสหนรสา  มีการอดกลั้นนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของผู้อื่นและอยากช่วยเหลือ เป็นกิจ

อวิหิสาปจฺจุปฏฺฐานา  มีการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณากรุณา

ทุกฺขาภิภูตานํ อนาถภาวทสฺสนปทฏฺฐานา การพิจารณาเห็นบุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ไร้ที่พึ่ง เป็นเหตุใกล้

วิหิสูปสโม สมฺปตฺติ  ความสงบลงแห่งโทสจิตตุปปาท ในอันที่จะทำการเบียดเบียนสัตว์ เป็นความสมบูรณ์แห่งกรุณา

โสกสมฺภโว วิปตฺติ  การเกิดขึ้นแห่งความเศร้าโศก เป็นความเสื่อมเสียของกรุณา

เคหสิตํ โทมนสฺสํ อาสนฺน ปจฺจตฺถิกํ  ความเสียใจที่เนื่องด้วยกามคุณ อารมณ์เป็นศัตรูใกล้

วิหิสา ทูรปจฺจตฺถิกํ  ความเบียดเบียนสัตว์ เป็นศัตรูไกล

๑. กรุณา มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ เช่นเดียวกันและเหมือนกันกับอานิสงส์ของเมตตา

๒. ในการแผ่กรุณานั้น ชั้นต้นให้กำหนดถึงผู้ที่ได้รับความลำบากอยู่ว่า ถ้าพ้นจากความลำบากนี้เสียได้ก็จะดีมาก แล้วก็บริกรรมว่า อยํ สตฺโต ทุกฺขา มจฺจตุขอให้ผู้นี้จงพ้นจากความทุกข์เถิด

ถ้าไม่มีผู้ที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่ ก็ต้องแผ่ให้แก่ผู้ที่จะได้รับความทุกข์ในวันข้างหน้า โดยบริกรรมเช่นเดียวกันกับที่กล่าวไว้ข้างบนนี้

๓. ลำดับต่อไปให้แผ่ให้แก่ ปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม ปิยปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอบุคคลทั้งหลาย อันเป็นที่รักของข้าพเจ้าจงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเถิด

๔. ต่อไปให้แผ่ให้แก่ มัชฌัตตบุคคล โดยบริกรรมว่า มม มชฺฌตฺต ปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอบุคคลทั้งหลายที่ข้าพเจ้ามิได้รักมิได้ชัง จงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเถิด

๕. ครั้นแล้วให้แผ่ให้แก่ เวรีบุคคล โดยบริกรรมว่า มม เวรีปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอบุคคลทั้งหลายที่เป็นศัตรูแก่ข้าพเจ้า จงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเถิด

๖. การแผ่เมตตา มีหัวข้อที่พึงกำหนด ๔ อย่าง แต่การแผ่ความกรุณามีหัวข้อที่พึงกำหนดอย่างเดียวว่า จงพ้นจากความทุกข์ เท่านั้น และแผ่ขยายให้กว้างออกได้เป็น ๓ นัย คือ

อโนทิโสผรณากรุณา ๑ โอทิโสผรณากรุณา ๑ และ ทิสาผรณากรุณา ๑ ทำนองเดียวกับเมตตา

อโนทิโสผรณากรุณา แผ่กรุณาไปโดยไม่จำกัดบุคคล มี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียวจึงคงเป็น ๕ กระแส

โอทิโสผรณากรุณา แผ่กรุณาไปโดยจำกัดบุคคล มี ๗ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียว จึงคงเป็น ๗ กระแส

ทิสาผรณากรุณา แผ่กรุณาไปทั้งจำกัดบุคคล ๗ และไม่จำกัดบุคคล ๕ รวมเป็น ๑๒ ฐาน แผ่ไป ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๑๒๐ กระแส

รวมทั้ง ๓ นับได้ ๑๓๒ กระแส จึงเป็นอันว่าการแผ่กรุณาทั้งหมดนั้นมีได้ ๑๓๒ กระแส

๗. การแผ่ความกรุณา ก็ต้องแผ่จนให้สำเร็จถึง สีมสัมเภท เช่นเดียวกันทำนองเดียวกับเมตตา

๘. ผู้ที่เราปรารถนาแผ่ความกรุณาให้นั้น เป็นอารมณ์ คือ เป็นนิมิต จึงเรียกว่า บริกรรมนิมิต คือเอาเป็นอารมณ์พร่ำบ่นในใจ จิตที่หน่วงเอาบริกรรมนิมิตมาพร่ำบ่นนั้นเรียกว่า บริกรรมภาวนา และที่เป็นบริกรรมภาวนาขึ้นมาได้ ก็ด้วยอำนาจแห่งบริกรรมสมาธิ

๙. บริกรรมตามนัยแห่งข้อ ๒ ถึงข้อ ๕ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ จนจิตใจแน่วแน่ในการแผ่ความกรุณาแก่บุคคลเหล่านั้นแล้ว แม้จะยังไม่ถึง สีมสัมเภทก็ตาม นิมิตนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น อุคคหนิมิตแล้ว แต่ทางฝ่ายจิตยังเป็น บริกรรมภาวนา บริกรรมสมาธิ อยู่

๑๐. ครั้นจิตของโยคีบุคคลนั้นสำเร็จถึง สีมสัมเภทกรุณาแล้ว ก็ถือเสมือนว่านิมิตนั้นเป็นปฏิภาคนิมิต ส่วนภาวนานั้นเป็นอุปจารภาวนา สมาธินั้นเป็นอุปจารสมาธิ

๑๑. พยายามเจริญกรุณาภาวนาต่อไปโดย อโนทิโสผรณากรุณา ๕, โอทิโส ผรณากรุณา ๗ และ ทิสาผรณากรุณา ๑๐ จนกระทั่งได้ฌาน นิมิตนั้น คงเรียกว่า อุคคหนิมิต ภาวนานั้นเรียกว่า อัปปนาภาวนา และสมาธินั้นก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

๑๒. กรุณากัมมัฏฐาน เจริญสมถภาวนาได้ถึง ปฐมฌาน เป็นต้นไปตามลำดับ จนถึงแค่จตุตถฌาน เท่านั้น

 

มุทิตากัมมัฏฐาน

ปโมทนลกฺขณา  มีการบันเทิงใจในคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุข ของผู้อื่น เป็นลักษณะ

อนิสฺสายนรสา  มีการไม่ริษยาในคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุข ของผู้อื่น เป็นกิจ

อรติวิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา  ทำลาย ความริษยา เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณามุทิตา

ปรสมฺปตฺติทสฺสนปทฏฺฐานามีการรู้เห็นความเจริญด้วยคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุขของผู้อื่น เป็นเหตุใกล้

อรติวูปสโม สมฺปตฺติ  มีความสงบจากความไม่พอใจในสมบัติของผู้อื่น เป็นความสมบูรณ์แห่งมุทิตา

ปหาสสมฺภโว วิปตฺติ  ความสุข รื่นเริง โอ้อวด กำหนัด เกิดขึ้นเป็นความเสื่อมเสียของมุทิตา

เคหสิตํ โสมนสฺสํ อาสนฺน ปจฺจตฺถิกํ  มีความดีใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็นศัตรูใกล้

อรติ ทูรปจฺจตุถิกา  ความไม่ยินดี ไม่สบายใจ ในความเจริญของผู้อื่น เป็นศัตรูไกล

๑. มุทิตา มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ เช่นเดียวกัน และเหมือนกันกับอานิสงส์ของเมตตา

(๑) สุขํ สุปฺปติ  สบายในเวลาหลับ

(๒) สุขํ ปฏิพุชฺฌติ  สบายในเวลาตื่น

(๓) น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ   ไม่ฝันเห็นเรื่องที่ลามก

(๔) มนุสฺสานํ ปิ โย โหติ  เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป

(๕) อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ  เป็นที่รักของอมนุษย์

(๖) เทวตา รกฺขนฺติ  เทวดาย่อมคุ้มกันรักษา

(๗) นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ดีย่อมไม่กล้ำกรายต่อผู้นั้น

(๘) ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ  จิตผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิคือตั้งมั่นได้เร็ว

(๙) มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ  สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส

(๑๐) อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติในเวลาใกล้มรณะ ย่อมเป็นผู้มีสติ

(๑๑) อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต  เมื่อมรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุดถึงพรหมโลกได้

๒. ในการแผ่มุทิตาจิตนั้น ชั้นต้นให้แผ่แก่สุขิตสัตว์ ที่เป็นสหายรักใคร่ชอบพอเป็นอันมาก อติปิยบุคคลก่อน โดยบริกรรมว่า อยํ มม สหายโก ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอผู้ที่เป็นสหายที่รัก จงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๓. ต่อไปก็แผ่ให้แก่ ปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม ปิยปุคฺคลา ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอให้บุคคลทั้งหลายอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า จงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๔. จากนั้นแผ่ให้แก่ มัชฌัตตบุคคล โดยบริกรรมว่า มม มชฺฌตฺต ปุคฺคลา ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอบุคคลทั้งหลายที่ไม่ใช่ที่รักที่ชังของข้าพเจ้า จงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๕. ลำดับนั้นแผ่ให้แก่ เวรีบุคคล โดยบริกรรมว่า มม เวรีปุคฺคลา ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุขอให้ผู้ที่เป็นศัตรูต่อข้าพเจ้าทั้งหลายจงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๖. การแผ่มุทิตา มีหัวข้อที่พึงกำหนดแต่อย่างเดียวว่า จงอย่าให้สูญเสียความสุขที่กำลังได้รับอยู่ และแผ่ขยายให้กว้างออกไปได้เป็น ๓ นัยอย่างเดียวกับกรุณา ดังนั้น มุทิตา นี้ จึงมีการแผ่ได้ ๑๓๒ กระแสเท่ากันกับ กรุณา

อโนทิโสผรณามุทิตา แผ่มุทิตาไปโดยไม่จำกัดบุคคลมี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียว จึงคงเป็น ๕ กระแส

โอทิโสผรณามุทิตา แผ่มุทิตาไปโดยจำกัดบุคคลมี ๗ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียว จึงคงเป็น ๗ กระแส

ทิสาผรณามุทิตา แผ่มุทิตาไปทั้งจำกัดบุคคล ๗ และไม่จำกัดบุคคล ๕ รวมเป็น ๑๒ ฐาน แผ่ไป ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๑๒๐ กระแส

รวมทั้ง ๓ นัยได้ ๑๓๒ กระแส จึงเป็นอันว่าการแผ่มุทิตาทั้งหมดนั้นมีได้ ๑๓๒ กระแส

๗. การแผ่มุทิตาจิต ก็ต้องแผ่จนให้ถึง สีมสัมเภท เช่นเดียวกัน ทำนองเดียวกับ กรุณา และเมตตา

๘. การเจริญมุทิตาจนถึงอัปปนาภาวนา อัปปนาสมาธิ คือเกิดฌานจิตนั้น ก็เป็นไปทำนองเดียวกับกรุณากัมมัฏฐาน

๙. มุทิตา เจริญได้เพียง จตุตถฌาน เช่นเดียวกับ เมตตา และกรุณา ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้นอีกเหมือนกัน

อุเบกขากัมมัฏฐาน

สตฺเตสุมชฺฌตฺตาการปฺปวตฺติลกฺขณา  มีอาการเป็นไปอย่างกลาง ในสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

สตฺเตสุสมภาวทสฺสนรสา  มีการมองดูสัตว์ทั้งหลายด้วยความเสมอกัน เป็นกิจ

ปฏิฆานุนยวูปสมปจฺจุปฏฺฐานา  มีความสงบจากความเกลียด และไม่มีความรักในสัตว์ทั้งหลาย เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณาอุเบกขา

กมฺมสฺสกา สตฺตา เต กมฺมสฺส รุจิยา สุขิตา วา ภิวสฺ สนฺติ ทุกฺขโต วา มุจฺจิสฺสนฺติ ปตฺตสมฺปตฺติโต วา น ปริหายิสฺสนฺตีติ เอวํ ปวตฺตกมฺมสฺสกตาทสฺสนปทฏฺฐานา 

ปัญญาที่พิจารณา เห็นการกระทำของตนเป็นของตนเองเป็นไปอย่างนี้ว่า “สัตว์ทั้งหลายมีการกระทำของตนเป็นของตนเอง สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จะมีความสุขหรือพ้นจากความทุกข์ หรือจักไม่เสื่อมจากโภคสมบัติของตนที่มีอยู่เหล่านี้ ด้วยความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย” เป็นเหตุใกล้

ปฏิฆานุนยวูปสโม สมฺปตฺติ  การสงบจากความเกลียด และไม่มีความรัก เป็นความสมบูรณ์ของอุเบกขา

เคหสิตาย อญฺญาณุเปกฺขาย สมฺภโว วิปตฺติ  การเกิดขึ้นแห่งอญาณุเบกขา โดยอาศัยกามคุณอารมณ์ เป็นความเสื่อมเสียแก่อุเบกขา

อญาณุเปกฺขา อาสนฺน ปจฺจตฺถิกา   การวางเฉยด้วยอำนาจแห่งโมหะ เป็นศัตรูใกล้

ราคปฏิฆา ทูรปจฺจตฺถิกา  ราคะ และโทสะ เป็นศัตรูไกล

๑. โยคีผู้เจริญ อุเบกขากัมมัฏฐาน จะต้องเป็นผู้ที่ได้ถึงรูปาวจรจตุตถฌาน โดยอาศัย เมตตา กรุณา มุทิตา กัมมัฏฐาน อย่างหนึ่งอย่างใดมาเสียก่อน จึงจะเจริญอุเบกขากัมมัฏฐานต่อไปได้

๒. เริ่มต้นแผ่ให้แก่ มัชฌัตตบุคคลก่อน โดยบริกรรมว่า อิเม ปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความไม่สูญเสียจากความสุขก็ดี ย่อมแล้วแต่กรรมของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๓. ต่อมาให้แผ่ให้แก่ ปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม ปิยปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลทั้งหลายอันเป็นที่รัก ย่อมมีกรรมเป็นของของตน ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความไม่สูญเสียจากความสุขก็ดี ย่อมแล้วแต่กรรมของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๔. จากนั้นแผ่ให้แก่ อติปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม อติ ปิยปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลที่เป็นที่รักใคร่เป็นอย่างมาก ย่อมมีกรรมเป็นของของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๕. ลำดับนั้นแผ่ให้แก่ เวรีบุคคล โดยบริกรรมว่า มม เวรีปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลทั้งหลายที่เป็นศัตรูต่อข้าพเจ้า ย่อมมีกรรมเป็นของของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๖. การแผ่อุเบกขา มีหัวข้อที่พึงกำหนดแต่อย่างเดียว ดังกล่าวแล้วและแผ่ขยายให้กว้างออกไปได้เป็น ๓ นัยอย่างเดียวกับ กรุณา และมุทิตา ดังนั้นอุเบกขา จึงแผ่ไปได้ ๑๓๒ กระแสเท่านั้น

อโนทิโสผรณาอุเบกขา แผ่อุเบกขาไปโดยไม่จำกัดบุคคล มี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียวจึงคงเป็น ๕ กระแส

โอทิโสผรณาอุเบกขา แผ่อุเบกขาไปโดยจำกัดบุคคล มี ๗ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียวจึงคงเป็น ๗ กระแส

ทิสาผรณาอุเบกขา แผ่อุเบกขาไปทั้งจำกัดบุคคล ๗ และไม่จำกัดบุคคล ๕ รวมเป็น ๑๒ ฐาน แผ่ไป ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๑๒๐ กระแส

รวมทั้ง ๓ นัย ได้ ๑๓๒ กระแส จึงเป็นอันว่า การแผ่อุเบกขาทั้งหมดนั้นมีได้ ๑๓๒ กระแส

๗. การแผ่อุเบกขา ก็ต้องแผ่จนให้ถึง สีมสัมเภท เช่นเดียวกันทำนองเดียวกับเมตตา กรุณา มุทิตา นั้น

๘. การเจริญ อุเบกขา จนถึง อัปปนาภาวนา อัปปนาสมาธิ คือเกิดปัญจมฌานจิตนั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับ เมตตา กรุณา มุทิตา ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นนี้อีกเหมือนกัน

๙. อุเบกขากัมมัฏฐาน เป็นการเจริญสมถภาวนาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดปัญจมฌาน ฌานเดียวเท่านั้นเอง

อัปปมัญญากัมมัฏฐานถึงฌานไม่เท่ากัน

ผู้เจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา กัมมัฏฐาน ๓ อย่างนี้ สำเร็จอย่างสูงได้เพียงรูปฌานเบื้องต่ำ ๔ คือแค่ จตุตถฌาน เท่านั้นเอง ทั้งนี้เพราะ

เมตฺตาทโย ตโต ปุพฺพา โทมนสฺส ช นิสฺสท โสมนสฺสา วิปฺปโยคา เหฏฺฐา จตุกฺกฌานิกา ฯ

พรหมวิหารเบื้องต้นทั้ง ๓ มี เมตตาเป็นต้น เหล่านี้เป็นเหตุให้พ้นจากโทสะอันเกิดจากโทมนัส จึงประกอบด้วยโสมนัสอยู่เสมอ แยกกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงสำเร็จได้แต่รูปฌานเบื้องต่ำ ๔

มีความหมายว่า

เมตตากัมมัฏฐาน  เป็นเหตุให้พ้นจาก  การพยาบาทปองร้าย

กรุณากัมมัฏฐาน  เป็นเหตุให้พ้นจาก  วิหิงสาความเบียดเบียน

มุทิตากัมมัฏฐาน  เป็นเหตุให้พ้นจาก   อนภิรติ ความไม่ชื่นชมยินดีต่อความสุขความดีของผู้อื่น

อันการพยาบาทปองร้ายก็ดี ความเบียดเบียนซึ่งกันและกันก็ดี ความไม่ชื่นชมยินดีต่อความสุขหรือความดีของผู้อื่นก็ดี ธรรมเหล่านี้ก็ได้แก่ โทสะ อันเกิดจากโทมนัสเวทนา เมื่อได้เจริญกัมมัฏฐานอันเป็นเหตุให้พ้นจากโทสะ พ้นจากโทมนัสแล้ว จิตใจผู้นั้นย่อมจะต้องเกิดโสมนัส ด้วยเหตุนี้ ฌานที่เกิดจาก เมตตา กรุณา มุทิตา ภาวนาทั้ง ๓ นี้ จึงได้แต่เพียงรูปฌานเบื้องต่ำ ๔ ซึ่งเป็นฌานที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา

ส่วนผู้ที่เจริญอุเบกขากัมมัฏฐาน สำเร็จได้เฉพาะรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียว เพราะอุเบกขาพรหมวิหารนี้ มีการวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย แม้สัตว์นั้นจะกระทำสักการะบูชาตน ตนก็ไม่มีความยินดี จะกระทำร้ายตน ตนก็ไม่มีความยินร้าย ดังนี้ แม้ว่าในขณะเจริญอุเบกขากัมมัฏฐานนี้ เบื้องต้นที่ยังอยู่ในกามชวนะนั้นอาจจะเกิดพร้อมกับโสมนัสบ้าง อุเบกขาบ้างก็ตาม แต่เมื่อเข้าถึงอัปปนาชวนะแล้ว จะต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาพรหมวิหาร จึงสามารถถึงรูปา วจรปัญจมฌานโดยเฉพาะอย่างเดียว

การเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐาน

๑. กัมมัฏฐานบทนี้เป็นการพิจารณาอาหารด้วยความเป็นปฏิกูล พิจารณาโดยอาการ ๙ นัย คือ

(๑) โดยการไปหา ก็ต้องเหยียบย่ำไปในสิ่งปฏิกูล บางทีถึงกับต้องท่องน้ำย่ำโคลนเลอะเทอะน่าเกลียด

(๒) โดยการบริโภค ต้องเจือปนกับน้ำลายและมูลฟัน ถ้าเคี้ยวอาหารนั้นแล้วคายออกมาดูก็จะเห็นว่าน่าเกลียดมาก

(๓) โดยที่อยู่ เมื่อกลืนอาหารล่วงลำคอไปแล้ว ก็ไปอยู่ปนกับน้ำลาย น้ำเหลือง น้ำดี น้ำเลือด ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูลด้วยกันทั้งนั้น

(๔) โดยเป็นของหมักหมม เพราะบริโภคเพิ่มเติมอยู่ทุกวันตลอดอายุ และไม่มีการชำระล้างลำไส้หรือกระเพาะแต่อย่างใด ๆ เลย ปล่อยให้หมักหมมอยู่ไม่รู้ว่ากี่ปี

(๕) โดยยังไม่ทันย่อย เมื่ออาหารที่กลืนกินเข้าไปนั้นยังไม่ทันย่อย อาจบูดเหม็น เพราะปะปนกันจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

(๖) โดยย่อยแล้ว ก็เหลือแต่กาก ที่จะถ่ายออกมา แต่เมื่อยังไม่ทันถ่ายออก ถ้ามองแลเห็นคงจะขยะแขยงไม่น้อย

(๗) โดยผลของอาหาร อาหารส่วนมากย่อมสำเร็จผลมาจากเนื้อสัตว์ ซึ่งเท่ากับว่าบริโภคทรากอสุภะ อันเป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้น

(๘) โดยการหลั่งใหล ขณะบริโภคเข้าไป กระทำโดยเปิดเผย มีความชื่นชมยินดี ร่าเริง และบริโภคทางปากช่องเดียว แต่เมื่อเวลาไหลออกมา ไหลออกมาเป็นหลายทาง เป็นขี้ไคล ขี้ตา ขี้หู เป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล จึงต้องกระมิดกระเมี้ยน และมีความสะอิดสะเอียนมาก

(๙) โดยความเปรอะเปื้อน ในเวลาบริโภคก็เปรอะเปื้อน อย่างน้อยก็เปื้อนปาก เปื้อนมือ และในเวลาไหลออก ยิ่งเปื้อนเปรอะเลอะเทอะใหญ่ ล้วนแต่ปฏิกูลทั้งเข้าทั้งออก

๒. เมื่อได้กำหนดพิจารณาดังนี้ จะเห็นได้ว่า กพฬีการาหาร คือ อาหารที่กลืนกินเข้าไปล้วนแต่ปฏิกูล ยิ่งเห็นความปฏิกูลปรากฏชัดเท่าใด ก็จะคลายความกำหนัดยินดีในการบริโภค ไม่บริโภคด้วยความอยาก ด้วยหวังความเอร็ดอร่อย แต่บริโภคเพื่อบรรเทาความทุกข์เวทนาที่เกิดจากความหิว ดังทีี่ว่ากันเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า อยากอย่ากิน หิวจึงกิน

๓. การเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐานนี้ อย่างมากก็ได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น ไม่สามารถที่จะถึงอัปปนาภาวนา คือถึงฌานได้

การเจริญจตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐาน

๑. กัมมัฏฐานบทนี้ได้แก่ การกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ อันได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วาโย บางทีก็เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน หรือเรียก ธาตุมนสิการะ (การใฝ่ใจในธาตุ) ก็มี ซึ่งมีความหมายเป็นอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ชื่อ

๒. ถ้ากำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ถึงลักษณะของธาตุนั้น ๆ อย่างที่เรียกว่าพิจารณาโดยความเป็นปรมัตถว่า ปฐวีมีลักษณะแข็งและอ่อน อาโปมีลักษณะเกาะกุมและไหล เตโชมีลักษณะเย็นและร้อน วาโยมีลักษณะเคร่งตึงและไหว อย่างนี้เป็นวิปัสสนาภาวนา

๓. ถ้ากำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ถึง สสัมภาระ คือ ที่มีสะสมอยู่ภายในร่างกายก็ดี ภายนอกก็ดี พิจารณาโดยความเป็นบัญญัติ หน่วงมาเป็นอารมณ์ มาเป็นนิมิต มีบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อย่างนี้ก็เป็นสมถภาวนา สมถกัมมัฏฐาน

๔. ในการกำหนดธาตุนี้ มีความพิสดารมาก ในที่นี้จะขอกล่าวแต่โดยย่อ พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น คือ

(๑) พิจารณาโดยเนื้อความ คือ ให้รู้ชื่อ รู้ความหมาย รู้ความทรงไว้ของธาตุนั้น ๆ

(๒) พิจารณาโดยเป็นหมวด ๆ คือ ในร่างกายคนเรานี้ หมวดธาตุดิน มี ๒๐, ธาตุน้ำ ๑๒, ธาตุไฟมี ๔, ธาตุลมมี ๖, รายละเอียดแจ้งในปริจเฉทที่ ๖ ตอนมหาภูตรูป ๔ นั้นแล้ว

ธาตุดิน ๒๐ มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ไส้ใหญ่, ไส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง

ธาตุน้ำ ๑๒ มี ดี, เสมหะ, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, มันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, น้ำมูตร

ธาตุไฟ ๔ มี อุสมาเตโช ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอืุนพอสบาย, ปาจกเตโช ไฟที่ย่อยอาหาร, ชิรณเตโช ไฟที่บ่มให้ร่างกายทรุดโทรมเหี่ยวแห้ง, สันตาปนเตโช ไฟที่ทำให้ร้อนเป็นไข้ได้ป่วย

ธาตุลม ๖ มี ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน, ลมที่พัดลงสู่เบื้องต่ำ, ลมที่อยู่ในช่องท้อง, ลมที่อยู่ในลำไส้, ลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกาย, ลมหายใจเข้าออก

(๓) พิจารณาโดยความที่อาศัยกัน คือ ปฐวีธาตุเป็นที่รองรับไว้ให้ตั้งอยู่ได้ อาโปธาตุเกาะกุมยึดไว้ไม่ให้กระจัดกระจาย เตโชรักษาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยไป วาโยทำให้ทรงอยู่และเคลื่อนไหวไปมาได้

(๔) พิจารณาโดยลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะ หน้าที่การงาน ผลปรากฏ และเหตุใกล้ที่ให้เกิดธาตุนั้น ๆ

(๕) พิจารณาโดยสมุฏฐาน ว่าอาการ ๓๒ ของมนุษย์นั้น อาการใดเกิดจากอะไรเป็นสมุฏฐาน

(๖) พิจารณาโดยความต่างกันและเหมือนกัน ต่างกันเพราะ ลักขณาทิจตุกะต่างกัน สมุฏฐานก็ต่างกัน เหมือนกันเพราะเป็นรูปเหมือนกัน แตกดับด้วยความเย็นความร้อนเหมือนกัน

(๗) พิจารณาโดยความเกิดร่วมกัน ธาตุทั้ง ๔ นี้จะต้องเกิดร่วมกันเสมอในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

(๘) พิจารณาโดยความเป็นภายในและภายนอก เหล่านี้เป็นต้น ความละเอียดนั้นหาดูได้ในวิสุทธิมัคค ตอนสมาธินิเทศ

๕. การเจริญจตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐาน โดยความเป็นสมถภาวนานี้ สามารถให้ถึงได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น ไม่สามารถเจริญได้ถึงอัปปนาภาวนา คือถึงฌานได้

การเจริญอรูปกัมมัฏฐาน

๑. อรูปกัมมัฏฐาน หมายถึง เอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่เจาะจงเอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปนั้น ก็เพราะปรารถนาจะไปเกิดในภูมิที่ไม่มีรูป ให้มีแต่เพียงนามเท่านั้น ที่ปรารถนาเช่นนี้ด้วยเหตุผลของบุคคล ๒ พวก

๒. พวกหนึ่งมีความสำคัญว่า บุคคลที่จะทุกข์ก็เพราะมีรูปกายเป็นสื่อนำทุกข์มาให้ เช่น การตีรันฟันแทงกันก็ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บก็ดี เกิดความหิว ความกระหายก็ดี ตลอดจนการกำหนัดรักใคร่ซึ่งกันและกันก็ดี ล้วนแต่เกิดเนื่องมาจากรูปร่างกายทั้งสิ้น ถ้าปราศจากรูปร่างกายแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะไม่เกิด เพราะไม่มีที่อาศัยให้เกิด ก็เกิดเบื่อหน่ายในรูปร่างกาย จึงปรารถนาจะเป็นบุคคลที่ไม่มีรูป มีแต่จิตใจเท่านั้น

๓. อีกพวกหนึ่งไม่ได้ปรารภถึงโทษของรูปร่างกายอย่างที่กล่าว แต่เห็นว่าฌานที่ต้องอาศัยรูปเป็นอารมณ์นั้น หยาบกว่าฌานที่ไม่ใช้รูปเป็นอารมณ์ สมาธิที่เกิดจากรูปก็ต้องหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ใช่รูป ดังนั้น สมาธิที่เกิดจากอรูปฌานต้องมีกำลังมั่นคงและประณีตมาก ปรารถนาจะได้ฌานที่ประณีตยิ่ง และมีกำลังมั่นคง จึงเจริญอรูปกัมมัฏฐาน

๔. ผู้ที่จะเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จะต้องเป็น รูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคล คือบุคคลที่ได้รูปฌาน ๕ มาแล้ว และมีวสีภาวะในฌานทั้ง ๕ นั้นโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีด้วย จึงจะเจริญอรูปกัมมัฏฐานได้ อรูปกัมมัฏฐานมี ๔ ได้แก่

ก. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง 

  อากาสานัญจายตนฌาน

ข. อากาสานัญจายตนฌาน  เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง

  วิญญาณัญจายตนฌาน

ค. นัตถิภาวบัญญัติ  เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง 

  อากิญจัญญายตนฌาน

ง. อากิิญจัญญายตนฌาน เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง  

  เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

๕. ผู้ต้องการถึง อากาสานัญจายตนฌาน ต้องกระทำอากาสบัญญัติที่ได้มาจากการเพิกกสิณทั้ง ๙ (เว้นอากาสกสิณ) ให้เป็นอารมณ์ อากาสบัญญัติที่ได้มาจากเพิกกสิณแล้วนั้น มีชื่อว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ ซึ่งบางทีก็เรียกกันสั้น ๆ ว่า อากาสบัญญัติ เท่านั้นก็ได้ หน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมในใจว่า อากาโส อนนฺโต อากาโส อนนฺโต อากาสไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า อากาสไม่มีที่สิ้นสุดนี้ มีความหมายว่า ธรรมดาอากาสนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ ฉะนั้นจึงไม่มีเบื้องต้น คือ การอุบัติขึ้น และไม่มีเบื้องปลาย คือการดับไป นี่แหละที่เรียกว่า อนนฺโต ส่วนการบริกรรมนั้น จะใช้แต่เพียง อากาโส อากาโส หรือ อากาสํ อากาสํ เท่านี้ก็ได้

อนึ่ง ใน มิลินทปัญหา นิพพานปัญหา ได้แสดงคุณของอากาสไว้ ๑๐ ประการ ดังนี้

(๑) น ชียติ  ไม่แก่

(๒) น มียติ  ไม่ตาย

(๓) น จวติ  ไม่จุติ

(๔) น อุปฺปชฺชติ  ไม่เกิด

(๕) อปฺปสยฺหํ  ไม่มีใครข่มเหง

(๖) อโคจรคหณียํ  ไม่มีโจรลัก

(๗) อนิสฺสิตํ  ไม่มีที่พึ่งอาศัย

(๘) วิหงฺคคมนํ  เป็นทางไปของเหล่าวิหงค์

  (สัตว์ที่ไปในอากาศเวหา)

(๙) นิราวรณํ  ไม่มีอะไรกั้น

(๑๐) อนฺนตํ  ไม่มีแดนที่สุด

๖. เมื่อบริกรรมว่า อากาสไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่พะวงถึงนิมิตของกสิณที่จะเพิก แต่มาใฝ่ใจในความว่างเปล่าของอากาสบัญญัติ การใฝ่ใจย่อมทวีกำลังมากขึ้น สติก็จะตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ

ครั้นสติตั้งมั่นแน่แน่วจนสามารถเพิกปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ ซึ่งเป็นนิมิตกัมมัฏฐานที่ติดแนบแน่นใจอยู่นั้นเสียได้โดยเด็ดขาดในเวลาใด อากาสบัญญัติก็ปรากฏขึ้นในเวลานั้น อากาสานัญจายตนฌานก็เกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีนั้นด้วย เป็นอันว่าโยคีผู้นั้นถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ สำเร็จเป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล

๗. อากาสานัญจายตนฌานนี้ มีชื่อเรียกได้เป็น ๓ อย่าง คือ อรูปฌาน ๑  อากาสานัญจายตนฌาน ๑ และ ปฐมารุปปฌาน ๑

ที่เรียกว่า อรูปฌาน เพราะว่า ปัญจมฌานลาภีบุคคลนี้มิได้สนใจเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เป็นรูปเป็นอารมณ์แต่ประการใดเลย เมื่อฌานจิตเกิดขึ้น ฌานจิตนี้ก็ปราศจากรูปเป็นอารมณ์ ดังนั้นจึงเรียกว่า อรูปฌาน

ที่เรียกว่า อากาสานัญจายตน เพราะว่าฌานจิตนี้มีความมั่นคง ตั้งอยู่โดยไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยอากาสบัญญัติ ซึ่งไม่ปรากฏเบื้องต้น คือ ความเกิด เบื้องปลายคือความดับนั้นอยู่ที่ไหน ดังนั้นจึงเรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน

ที่เรียกว่า ปฐมารุปปฌาน เพราะว่าภายหลังที่ได้เว้นจากบัญญัติกัมมัฏฐานที่เกี่ยวกับรูปได้แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ได้ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นรูปกัมมัฏฐานได้แล้ว และมาถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูปเป็นอันดับแรก เป็นอันดับที่ ๑ จึงได้ชื่อว่า ปฐมารุปปฌาน

๘. อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีภาวะทั้ง ๕ ในอากาสานัญจายตนฌาน คล่องแคล่วเป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึงวิญญาณัญจายตนฌานได้

๙. ในการเจริญให้ถึง วิญญาณัญจายตนฌานก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับ อากาสานัญจายตนฌาน คือ

ชั้นต้นต้องไม่พะวง กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ อากาสบัญญัติ แต่ให้ไปใส่ใจในอากาสานัญจายตนฌาน ที่ตนถึงแล้วและดับไปแล้วนั้น โดยการพยายามพรากใจออกจากอากาสบัญญัตินั้นเสีย พากเพียรยึดหน่วงให้อากาสานัญจายตนฌานมาปรากฏแทน โดยบริกรรมว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ หรือ วิญฺญาณํ วิญฺญาณํ มีความหมายว่า หน่วงเอาวิญญาณ คือตัวที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นมาเป็นอารมณ์

๑๐. เมื่อพยายามเจริญอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป จนจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ อากาสบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระ แล้ว

๑๑. เจริญภาวนาต่อไป จนอากาสบัญญัติที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานสูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสบัญญัติ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากาสานัญจายตนฌานก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นแทน จิตที่มีอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์นี่แหละ มีชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌานจิต บุคคลที่ได้ที่ถึงวิญญาณัญจายตนฌานจิตนั้น เรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล

๑๒. วิญญาณัญจายตนฌาน เรียกว่า ทุติยารุปปฌาน ก็ได้ อันมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๒ เป็นขั้นที่ ๒

๑๓. ผู้ต้องการเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเป็น วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีในวิญญาณัญจายตนฌานนั้นจนชำนาญคล่องแคล่วทั้ง ๕ ประการ

๑๔. การเจริญให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน ก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับ วิญญาณัญจายตนฌาน กล่าวคือ

ชั้นต้นต้องเลิกพะวงถึงการเอาอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ พยายาม พรากอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌานนั้นให้ได้ ด้วยการหน่วงเอา นัตถิภาวบัญญัติ หรือ อภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไร มาเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ถือเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์ มีความหมายว่า ไม่มีอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ แม้แต่สักนิดเดียวหน่อยเดียวก็ไม่มี อันเป็นการพยายามก้าวล่วงอารมณ์ของทุติยารุปปฌาน ซึ่งเป็น ธมฺมนิยม คือ เป็นธรรมเนียม เป็นภาวะตามธรรมชาติของอรูปฌานชั้นที่สูงกว่า ย่อมก้าวล่วงอารมณ์ของอรูปฌานชั้นที่ต่ำกว่า ตามลำดับไป

๑๕. เมื่อได้พยายามบริกรรมนัตถิ กิญจิ อยู่เรื่อยๆ ไปจนจิตใจปราศจากความติดใจยินดีในอากาสานัญจายตนฌาน ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้นอุปจาระแล้ว

๑๖. ครั้นเจริญภาวนาต่อไปจนอากาสานัญจายตนฌาน ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐาน สูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้แล้วในเวลาใดเวลานั้นแหละนัตถิกิญจิ ก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน จิตที่มีนัตถิกิญจิเป็นอารมณ์นี้ก็คือ อากิญจัญญายตนฌาน เป็นฌานที่มีความไม่มีเป็นอารมณ์ โยคีที่ได้ที่ถึง อากิญจัญญายตนฌานนี้เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล

๑๗. อากิญจัญญายตนฌาน เรียกว่า ตติยารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันมิใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๓ เป็นขั้นที่ ๓

๑๘. อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองจนชำนิชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ แห่ง อากิญจัญญายตนฌานโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนาให้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้

๑๙. ต้องเริ่มเจริญโดยการพยายามพรากใจออกมาจาก หรือให้ก้าวล่วงจาก นัตถิภาวบัญญัติ แต่ให้หน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ให้ทิ้งอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน คือ นัตถิภาวบัญญัติเสีย และให้จับจิตที่มีอารมณ์ นัตถิภาวบัญญัติ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิตนั้นมาเป็นอารมณ์ในการบริกรรม โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ หรือ สนฺตํ สนฺตํ ปณีตํ ปณีตํ เท่านี้ก็ได้

ที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ เพราะอากิญจัญญายตนฌาน จิตที่หน่วงเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์นั้น เป็นจิตที่มีสัญญาที่ละเอียดมาก ประณีตมาก และสงบมากด้วย สัญญานั้นสงบและประณีตมากจนแทบจะไม่รู้สึกว่ามี

๒๐. เมื่อบริกรรมดังกล่าวนี้ ด้วยความพยายามเรื่อยไปไม่ทอดทิ้ง จนจิตใจปราศจากความยินดีหมดความติดใจใน นัตถิภาวบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระแล้ว

๒๑. ครั้นเจริญภาวนาต่อไป จนนัตถิภาวบัญญัติ ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานแก่อากิญจัญญายตนฌานนั้น ปราศจากไปจากจิตใจแล้ว ก้าวล่วงนัตถิภาวบัญญัติอารมณ์ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากิญจัญญายตนฌาน ก็จะปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน นัตถิภาวบัญญัติจิตที่มี อากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์นี้เอง ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บุคคลที่ได้ที่ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี่แหละที่มีชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคล

๒๒. ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้นมีความหมายว่า เป็นฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาที่ละเอียดที่ประณีต สมกับที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า เป็นฌานที่จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็ไม่เชิง

๒๓. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า จตุตถารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นอรูปฌานอันดับที่ ๔ ขั้นที่ ๔ อันเป็นอันดับที่สูงสุดแห่งอรูปฌาน และสูงสุดในบรรดาฌานสมาบัติทั้ง ๙

๒๔. ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญอรูปกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเจริญให้ถึงฌานได้ก็ดี แต่เมื่อกล่าวโดยนิมิตแล้ว มีเพียง อุคคหนิมิตเท่านั้น ไม่ถึงปฏิภาคนิมิต กล่าวโดยภาวนา ถึงอัปปนาภาวนา กล่าวโดยสมาธิก็ถึง อัปปนาสมาธิ

 

อภิญญา

๘.   ฐิตา ภิญฺญาปาท กนฺตุ  ฌานํ รูโป จรนฺติมํ

  ตญฺจ ฌานา วุฏฺฐายาธิฏฺ  เฐยฺยาทิกํ วิจินฺติย ฯ

๙.   ตํ ลาภาย ปริกมฺมํ  กุพฺพโต ฌานลาภิโน

  รูปาทิสฺวาลมฺพเนสุ  สมปฺเปติ ยถารหํ ฯ

ก็ฌาน มีรูปาวจรเป็นที่สุด มีอภิญญาเป็นบาทที่ตั้ง ย่อมแนบแน่นด้วยดีในอารมณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น ตามควรแก่พระโยคาวจรผู้มีปกติได้ฌาน ผู้ออกจากฌานนั้นแล้วพิจารณา ซึ่งอารมณ์อันตนพึง อธิฏฐาน เป็นต้น ทำบริกรรมอยู่เพื่อให้ได้ซึ่งอภิญญานั้น

มีความหมายว่า เมื่อผู้ได้ฌานสมาบัติปรารถนาทำอภิญญา ต้องเข้ารูปาวจร ปัญจมฌาน อันเป็นที่สุดแห่งรูปาวจรก่อน ออกจากรูปาวจรปัญจมฌานแล้วจึงอธิฏฐาน ตั้งความปรารถนาที่ตนประสงค์ให้เกิดอภิญญาเพื่อแสดงฤทธิอย่างนั้น ๆ อธิฏฐานแล้วก็เข้ารูปาวจรปัญจมฌานอีก เพื่อเป็นบาทให้เกิดอภิญญา ลำดับนั้นอภิญญาจิตก็จะเกิดและสำแดงฤทธิได้ตามประสงค์ จนสุดกำลังแห่งอภิญญา

ถ้าอภิญญาจิตยังไม่เกิด ให้ตั้งต้นเข้ารูปาวจรปัญจมฌานใหม่ ทำการอธิฏฐานอีก แล้วเข้ารูปาวจรปัญจมฌาน เพื่อเป็นบาทให้เกิดอภิญญา ทำอย่างนี้จนกว่าอภิญญาจะเกิด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่ามีรูปาวจรเป็นที่สุด คือต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌาน จึงจะเกิดอภิญญาได้

วิถีจิตที่ให้เกิดอภิญญานั้น ได้กล่าวแล้วในคู่มือปริจเฉทที่ ๔ ที่แสดงวิถีจิต ตอนอภิญญาวิถี

๑. ต้องเข้ารูปาวจรปัญจมฌานก่อน เพื่อเป็นบาทให้จิตมีกำลังกล้าแข็ง ซึ่งเรียกว่า ปาทกฌานวิถี วิถีจิตเป็นดังนี้

  น  ท  มโน  ปริ  อุป  อนุ  โค  ฌ  ฌ  ฌ  ฌ  ฌ  ภ

๒. แล้วก็อธิฏฐาน คือ ตั้งความปรารถนา ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่มั่นคงอย่างแรงกล้า ว่าประสงค์อภิญญาอย่างใด ซึ่งเรียกชื่อว่า อธิฏฐานวิถี เป็นกามวิถี ดังนี้

  น  ท  มโน  ช  ช  ช  ช  ช  ช  ช  ภ

๓. ต่อจากนั้นก็เข้ารูปาวจรปัญจมฌานอีก เรียก ปาทกฌานวิถีเหมือนกัน วิถีจิตเป็นดังนี้

  น  ท  มโน  ปริ  อุป  อนุ  โค  ฌ  ฌ  ฌ  ฌ  ฌ  ภ

๔. ลำดับสุดท้าย อภิญญาจิตก็จะเกิดขึ้นตามความปรารถนาที่ได้อธิฏฐานนั้น วิถีนี้จะเกิดอภิญญาจิตขณะเดียวเท่านั้น ดังนี้

  น  ท  มโน  ปริ  อุป  อนุ  โค  อภิญญา ภ

การอบรมสมาธิเพื่ออภิญญา

๑. ผู้ที่มีอภิญญาได้นั้น ตามปกติต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานและมีวสีภาวะจนสามารถเข้าฌานสมาบัติได้ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ครบถ้วนทั้ง ๙ ฌาน มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ได้เพียง รูปฌานสมาบัติ ๕ ก็มีอภิญญาได้ แต่ว่า ฌานลาภี ที่ได้ไม่ถึงรูปฌานทั้ง ๕ นั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีอภิญญา

๒. แม้แต่ ฌานลาภีบุคคลที่ได้ฌานสมาบัติทั้ง ๙ แล้ว จะมีอภิญญาโดยทั่วหน้าก็หาไม่ จะมีอภิญญาได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกฝนอบรมกันเป็นพิเศษอีกถึง ๑๔ นัยก่อน ดังต่อไปนี้

(๑) กสิณานุโลมโต เข้าฌานตามลำดับกสิณ ชั้นแรกเข้าฌานใดฌานหนึ่งด้วยปฐวีกสิณ ออกแล้วเข้าฌานนั้นด้วยอาโปกสิณ แล้วเตโช วาโย ต่อ ๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงโอทาตกสิณ ฝึกอย่างนี้ตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐๐ ครั้ง จนกว่าจะเป็น วสี (ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว)

(๒) กสิณปฏิโลมโต เข้าฌานย้อนกสิณ เริ่มต้นเข้าฌานใดฌานหนึ่งด้วย โอทาตกสิณ ออกแล้ว ย้อนมาเข้าด้วยโลหิตกสิณ ย้อนมาปีตกสิณ ย้อนมานีลกสิณ ย้อนมาต้นเรื่อยไปจนถึงปฐวีกสิณ ฝึกจนให้ชำนิชำนาญเป็นอย่างดียิ่ง

(๓) กสิณานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานใดฌานหนึ่งตามลำดับกสิณและย้อนกสิณ คือ ทำอย่าง (๑) หนึ่งเที่ยว แล้วทำอย่าง (๒) หนึ่งเที่ยว แล้วทำ (๑), (๒), (๑), (๒), สลับกันเช่นนี้ไปจนกว่าจะเป็นวสี

(๔) ฌานานุโลมโต เข้าตามลำดับฌาน โดยเริ่มแต่ปฐมฌาน แล้วทุติยฌาน ตติยฌาน เรื่อยไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฝึกอย่างนี้จนเป็นวสี

(๕) ฌานปฏิโลมโต เข้าย้อนลำดับของฌาน ตั้งต้นที่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วย้อนทวนมา อากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน ทวนมาถึงต้นจนถึง ปฐมฌาน จนกว่าจะเป็นวสี

(๖) ฌานานุโลมปฏิโลมโต เข้าตามลำดับฌาน และย้อนลำดับฌาน คือ ทำอย่าง (๔) หนึ่งเที่ยว จบแล้วทำอย่าง (๕) หนึ่งเที่ยว แล้วทำ (๔), (๕), (๔), (๕), อย่างละเที่ยวสลับกันไป จนกว่าจะเป็นวสี

(๗) ฌานุกฺกนฺติกโต เข้าฌานโดยข้ามลำดับของฌาน คือ

เข้าปฐมฌาน   โดยเพ่งปฐวีกสิณ

ข้ามทุติยฌานไปเข้า ตติยฌาน   โดยเพ่งปฐวีกสิณ

ข้ามจตุตถฌานไปเข้า ปัญจมฌาน   โดยเพ่งปฐวีกสิณ

ข้ามอากาสานัญจายตนฌานไปเข้า วิญญาณัญจายตนฌาน โดยเพ่ง วิญฺญาณํ อนนฺตํ

ข้ามอากิญจัญญายตนฌานไปเข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยเพ่ง เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ

ต้องฝึกอบรมอย่างนี้จนกว่าจะเป็นวสี

(๘) กสิณุกฺกนฺติกโต เข้าฌานโดยข้ามลำดับกสิณ คือ

เพ่งปฐวีกสิณ   เข้าปฐมฌาน

ข้ามอาโปกสิณ เลยไปเพ่งเตโชกสิณ   เข้าปฐมฌาน

ข้ามวาโยกสิณ เลยไปเพ่ง นีลกสิณ  เข้าปฐมฌาน

ข้ามปีตกสิณ   เลยไปเพ่ง โลหิตกสิณ  เข้าปฐมฌาน

ฝึกอย่างนี้จนเป็นวสี

(๙) ฌานกสิณุกฺกนฺติกโต ข้ามทั้งกสิณและข้ามทั้งฌานด้วย คือ

เพ่ง ปฐวีกสิณ  เข้า ปฐมฌาน

เพ่ง เตโชกสิณ    เข้า ตติยฌาน

เพ่ง นีลกสิณ    เข้า ปัญจมฌาน

เพ่ง วิญฺญาณํ อนฺนตํ   เข้า วิญญาณัญจายตนฌาน

เพ่งเอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อบรมจนเป็นวสี

(๑๐) องฺคสงฺกนฺติโต เข้ารูปฌาน ๕ โดยก้าวล่วงองค์ฌานไปตามลำดับ คือ

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าปฐมฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๕

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าทุติยฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๔ โดยก้าวล่วงวิตก

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าตติยฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๓ โดยก้าวล่วงวิจาร ได้อีก

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าจตุตถฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ โดยก้าวล่วงปีติ ได้อีก

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าปัญจมฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ โดยก้าวล่วงสุข ได้อีก

ฝึกจนเป็นวสี

(๑๑) อารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าฌานโดยเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน คือ เพ่ง ปฐวีกสิณเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  อาโปกสิณ   เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  เตโชกสิณ   เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  วาโยกสิณ   เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  นีลกสิณ   เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  ปีตกสิณ   เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  โลหิตกสิณ   เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง  โอทาตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

ฝึกจนเป็นวสี

(๑๒) องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าตามลำดับฌานและตามลำดับกสิณด้วยคือ

เพ่ง  ปฐวีกสิณ  เข้า   ปฐมฌาน

เพ่ง  อาโปกสิณ  เข้า   ทุติยฌาน

เพ่ง  เตโชกสิณ  เข้า  ตติยฌาน

เพ่ง  วาโยกสิณ  เข้า  จตุตถฌาน

เพ่ง  นีลกสิณ  เข้า  ปัญจมฌาน

เพ่ง ปีตกสิณ เพิกปีตกสิณ มีอากาสที่ว่างเปล่า ที่ชื่อว่า อากาสบัญญัติ เพ่งอากาสบัญญัตินี้จนเป็น อากาสานัญจายตนฌาน

เพ่ง โลหิตกสิณ เพิกโลหิตกสิณ มีอากาสที่ว่างเปล่า แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัตินี้ กลับไปสนใจในอากาสานัญจายตนฌานที่เกิดในสันดานของตน ด้วยการพิจารณาว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ จนเป็น วิญญาณัญจายตนฌาน

เพ่ง โอทาตกสิณ เพิกโอทาตกสิณ คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัติกลับไปสนใจในนัตถิภาวบัญญัติด้วยการพิจารณาว่า นตฺถิ กิญฺจิ จนเป็นอากิญจัญญายตนฌาน

เพ่ง อาโลกกสิณ เพิกอาโลกกสิณ คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัติ กลับไปสนใจในอากิญจัญญายตนฌานที่เกิดในสันดานของตน ด้วยการพิจารณาว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ จนเป็น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

ฝึกอบรมจนเป็นวสี

หมายเหตุ มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวตรงนี้ว่า ในการอบรมสมาธินี้ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๑ ได้กล่าวถึงองค์กสิณแต่เพียง ๘ มี ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ ครั้นถึงข้อ ๑๒ นี้กล่าวเลยไปถึง อาโลกกสิณด้วย ทั้งนี้เพราะ

ก. กสิณทั้ง ๑๐ นั้น อาโลกกสิณนี้สงเคราะห์เข้าใน โอทาตกสิณอยู่แล้ว และอากาสกสิณก็ไม่สามารถที่จะช่วยอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌานได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงกสิณทั้ง ๒ คือ อากาสกสิณ และอาโลกกสิณนี้ด้วย

ข. ในข้อ ๑๒ นี้ แสดงรูปฌานโดยปัญจกนัย จึงมี ๕ ฌาน อรูปฌานอีก ๔ ฌาน รวมเป็น ๙ ฌานด้วยกัน กสิณเพียง ๘ จึงไม่พอ ก็ต้องยกอาโลกกสิณ มา กล่าวด้วย เพื่อให้มีจำนวนพอดีกัน แต่ถ้าจะแสดงรูปฌานโดยจตุกนัย ก็ไม่ต้องกล่าวถึงอาโลกกสิณด้วย

ค. แม้ว่าอากาสกสิณ ไม่สามารถที่จะอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌาน แต่ก็เป็นกัมมัฏฐานให้เกิดรูปฌานได้ทั้ง ๕ ฌาน และใช้เพ่งเพื่อประโยชน์ในอันที่จะเนรมิตอากาศให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน หรือในน้ำ จนสามารถดำดินและอยู่ในน้ำได้

(๑๓) องฺคววฏฺฐาปนโต กำหนดรู้องค์ฌานไปตามลำดับ คือ

พิจารณารู้ว่า ปฐมฌาน  มีองค์ฌาน ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า ทุติยฌานมีองค์ฌาน ๔ ได้แก่ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า ตติยฌานมีองค์ฌาน ๓ ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า จตุตถฌาน  มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า ปัญจมฌาน  มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า อากาสานัญจายตนฌาน  มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า วิญญาณัญจายตนฌาน  มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า อากิญจัญญายตนฌาน  มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

ทั้งนี้จนกว่าจะเป็นวสี

(๑๔) อารมฺมณววฏฺฐาปนโต กำหนดรู้อารมณ์กัมมัฏฐาน คือ

เมื่อเข้าปฐมฌาน โดยมีปฐวีกสิณเป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณารู้ว่า ปฐวีกสิณ นี่แหละเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน

เมื่อเข้าปฐมฌาน โดยมีอาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ หรือ โอทาตกสิณ เป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณารู้ว่า กสิณนั้น ๆ แหละเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน

เมื่อเข้า ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน โดยมีกสิณใดเป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณาว่า กสิณนั้น ๆ เป็นอารมณ์ของฌานนั้น ๆ ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนี้

เมื่ออากาสานัญจายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีอากาสบัญญัติเป็นอารมณ์

เมื่อวิญญาณัญจายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามี อากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์

เมื่ออากิญจัญญายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์

เมื่อเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเกิดขึ้น

ก็พิจารณารู้ว่ามีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์

ทั้งนี้ต้องฝึกฝนอบรมจนเป็นวสี

สรุปความว่า การอบรมสมาธิเพื่อให้สามารถทำอภิญญาได้ดังที่กล่าวมาแล้วรวม ๑๔ นัยนี้ ก็ประสงค์จะให้ฌานลาภีบุคคลนั้น มีความชำนิชำนาญในกระบวนการเพ่งอารมณ์กัมมัฏฐาน ให้เข้าฌานได้แคล่วคล่องว่องไว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะก่อให้จิตมีสมาธิเข้มแข็งเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้มีอำนาจจนสามารถให้รูปาวจรปัญจมฌานอภิญญาเกิดขึ้นตามความปรารถนา การฝึกฝนอบรมสมาธิให้กล้าแข็งนี้ ฌานลาภีบุคคลจะมีวิธีอื่นใดเพิ่มขึ้นอีกก็ได้

กสิณใดแสดงฤทธิอะไรได้

เมื่อได้ฝึกฝนอบรมตามนัยทั้ง ๑๔ นั้น จนเป็นวสีภาวะ คือ มีความชำนิชำนาญยิ่ง พอควรแก่การที่จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ได้แล้ว ก็ยังจะต้องเลือกกสิณที่จะใช้เป็นอารมณ์สำหรับเข้ารูปาวจรปัญจมฌานที่เป็นบาทให้เกิดอภิญญานั้น ให้ถูกต้องเหมาะสมกับฤทธิที่จะแสดงนั้น ๆ ด้วย คือ

๑. ปฐวีกสิณ สามารถที่จะให้เกิดความแข็งในอากาศหรือในน้ำ จน เดิน ยืน นั่ง นอน ในอากาศ ในน้ำได้ ทำทางที่ยาวไกลให้สั้นและใกล้ ทำทางที่สั้นใกล้ให้ยาวให้ไกล เนรมิตให้เป็นวัตถุต่าง ๆ เช่น ภูเขา ป่าไม้ บ้านเรือน ตลอดจนเนรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้

๒. อาโปกสิณ สามารถทำให้ดินเหลว จนดำดินและโผล่ขึ้นมาจากดินได้ ทำให้ฝนตก ทำให้เป็นคลอง หนอง บึง แม่น้ำ ทะเล ตลอดจนทำให้เป็นน้ำพวยพุ่งออกจากร่างกายได้

๓. เตโชกสิณ สามารถทำให้เกิดควัน เกิดไฟไหม้อะไร ๆ ก็ได้ ทำให้เกิดแสงสว่างเห็นอะไร ๆ ได้ ทำให้ผู้อื่นร้อน เมื่อตายก็ทำให้เกิดไฟเผาศพตนเองได้ ตลอดจนทำให้เป็นไฟพุ่งพ่นออกจากร่างกายได้

๔. วาโยกสิณ สามารถทำให้เกิดความหวั่นไหว เช่น แผ่นดินไหว ทำให้เกิดลม เกิดพายุ ทำให้ลมหยุด ทำให้ตัวเบา เหาะลอยไปได้ ทำให้เร็วเหมือนลม ตลอดจนทำให้ของหนักเป็นของเบา และของเบาทำให้หนักก็ได้

๕. นีลกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีเขียว  ออกจากกายได้  ทำให้เกิดมืดคลุ้มเหมือนเวลากลางคืน เนรมิตวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียว สีมรกตได้

๖. ปีตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีเหลืองออกจากกายดุจทองคำ  ทำให้วัตถุ ุต่าง ๆ เป็นสีเหลือง ตลอดจนเนรมิตให้เป็นทองคำก็ได้

๗. โลหิตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีแดงออกจากกาย ทำวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสีแดง เป็นแก้วมณีสีแดงได้

๘. โอทาตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีขาวออกจากกาย ทำให้วัตถุต่าง ๆ เป็นสีขาว ทำให้เกิดเป็นเงิน ทำให้เกิดแสงสว่าง กำจัดความมืดได้

อนึ่ง ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญโอทาตกสิณนี้ย่อมห้ามเสียซึ่งถีนมิทธะที่จะมาทำให้เกิดความหดหู่ท้อถอยต่ออารมณ์ที่เพ่งนั้นได้ด้วย

๙. อากาสกสิณ สามารถทำให้เกิดเป็นช่องว่าง เช่น ในน้ำ ในดิน ในภูเขา ในกำแพง เป็นต้น จนสามารถเดินผ่านไป หรือ ยืน นั่ง นอน ในที่นั้น ๆ ได้ โดยไม่ติดขัดอย่างใด ๆ เลย

๑๐. อาโลกกสิณ สามารถทำให้เกิดความสว่างในที่ที่ต้องการได้ ทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในที่ที่มีสิ่งปกปิด เช่น ในภูเขา ใต้ดิน ในห้อง ในหีบ เหมือนกับตาทิพย์

เมื่อมีวสีภาวะและเลือกกสิณได้ถูกต้องแล้ว ก็สามาถให้เกิดอภิญญาสำแดง ฤทธิได้สมตามความปรารถนา

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล    นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท